Test Report: KEF Q300
Uni-Q 2-way bookshelf speakers
มงคล อ่วมเรืองศรี
KEF (Kent Engineering & Foundry) ได้รับการก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ.1961 โดย Raymond Cooke ผู้เคยทำหน้าที่ Technical Director ให้แก่ Wharfedale จากการนำชื่อสถานที่ตั้งของบริษัท ณ Nissen Hut ริมฝั่งน้ำ River Medway ใกล้ๆ กับ Maidstone ใน Kent ประเทศอังกฤษ มาใช้เป็นชื่อบริษัทของเขา โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การออกแบบสร้างตัวขับเสียงชั้นเยี่ยมจากวัสดุใหม่ๆ และรังสรรค์ระบบลำโพงชั้นยอดด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย K1 คือผลงานการออกแบบระบบลำโพงรุ่นแรกสุดของเขา ที่ได้นำเอาวัสดุแปลกใหม่ Polystyrene และ Melinex มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไดอะแฟรม
เกริ่นนำ
จากการที่ Raymond Cooke นั้นแนบชิดกับทาง BBC ในฐานะการทำหน้าที่สำคัญใน Engineering Designs Department มาตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะก่อตั้ง KEF เขาจึงมีส่วนสำคัญในการออกแบบระบบลำโพงมอนิเตอร์รุ่นต่างๆ ของ BBC อย่างเช่น LS5/1A ซึ่งต่อมาได้มีพัฒนาการมาเป็นลำดับ กระทั่งก้าวมาสู่ความสำเร็จอย่างมากกับ BBC LS3/5a ระบบลำโพง Broadcast Monitor รุ่นสุดดังของวงการ จากฝีมือการสรรสร้างตัวขับเสียงของ Raymond Cooke ด้วยการใช้มิดเรนจ์/วูฟเฟอร์รุ่น B110 ที่ใช้ Bextrene มาขึ้นรูปเป็นตัวกรวยลำโพง (Cone) และทวีตเตอร์รุ่น T27 ที่ใช้ Melinex มาขึ้นรูปเป็นตัวโดมลำโพง (Dome)
ในปีค.ศ.1962 KEF นั้นก็โด่งดังอย่างมากอีกครั้งจากความสำเร็จในการออกแบบไดรเวอร์สุดพิเศษ B139 ที่มิได้มีไดอะแฟรมเป็นรูปทรงกลมอย่างธรรมดาทั่วไป หากมีลักษณะเป็น Racetrack Shaped (ละม้ายคล้ายตัวลำโพง 6 x 9) และถูกนำไปใช้ในการออกแบบระบบลำโพงรุ่น Celeste ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในระบบลำโพงวางหิ้งที่ให้เสียงเที่ยงตรงอย่างมากของวงการ
นับแต่นั้นระบบลำโพงของ KEF ก็ได้สร้างสมชื่อเสียงความสำเร็จอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด กระทั่งโด่งดังอย่างมากกับ Model 104 ในฐานะความเป็น Reference Series รุ่นแรกสุดซึ่งออกจำหน่ายในปีค.ศ.1973 และแล้วในปีค.ศ.1988 KEF ก็ได้พุ่งเป้าการพัฒนาไปสู่การออกแบบและรังสรรค์สร้างตัวขับเสียงแบบใหม่ที่ให้สมรรถนะทางเสียงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ภายใต้ชื่อ Uni-Q System
KEF ทำการพัฒนาตัวลำโพง ต้นแบบ ของ Uni-Q มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1988 หลังจากทาง NASA ได้พัฒนาแม่เหล็กชนิดใหม่ Neodymium เป็นผลสำเร็จได้ไม่นาน โดยใช้ชื่อเรียกขานรูปแบบการทำงานไว้ว่า Co-Incident Drive Unit เพื่อแสดงถึง ความโดดเด่น ในลักษณะการทำงานของตัวลำโพงแบบนี้ที่สามารถให้ ความสอดคล้องต้องกัน ของเสียงได้ตลอดช่วงย่าน เนื่องจากใช้ทวีตเตอร์ (ตัวขับเสียงสูง) ติดตั้งอยู่ใน ใจกลาง มิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ (ตัวขับเสียงกลาง/ต่ำ) ทำให้นี่เป็นครั้งแรกของโลกจริงๆ ที่ได้ก่อให้เกิดตัวลำโพงในแบบ Single Point Source
ซึ่งแวดวงนักออกแบบลำโพงต่างก็ยอมรับกันมานานแล้วว่า ตัวลำโพงในแบบ Point Source นั้นสามารถให้ความสอดคล้องต้องกันของจินตภาพ (Image) และสภาพเวทีเสียง (Soundstage) รวมทั้งความกลมกลืนกันของเสียงได้ดีเยี่ยมยิ่งกว่าระบบลำโพงแบบธรรมดาที่แยกการติดตั้งทวีตเตอร์และมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ไว้ต่างหากจากกัน (แม้จะอยู่ใกล้ชิดติดกันก็ตาม) ในลักษณะระบบลำโพงแบบ หลายทาง (2-ทางขึ้นไป)
เคล็ดลับความสำเร็จของ Co-Incident Drive Unit (ซึ่งต่อมาใช้ชื่อเรียกขานกันทางการค้าว่า Uni-Q Speaker) อยู่ที่วิศวกรของ KEF สามารถบรรจุแม่เหล็ก Neodymium ขนาดเล็ก ที่ให้ค่าความเข้มเส้นแรงแม่เหล็กสูงมาก ลงไปไว้ในช่องว่างกลางกระบอกวอยซ์คอยล์ของมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ ทำให้สามารถติดตั้งทวีตเตอร์ไว้ตรงตำแหน่งเสมอแนววอยซ์คอยล์ หรือ คอ (Neck) ของตัวมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ได้พอดี ดังนั้นความต่างทางค่าเวลาของจุดกำเนิดเสียงทั้งสอง (ทวีตเตอร์และมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์) จึงเป็น ศูนย์ ประหนึ่งว่า เสียงทุกเสียงตลอดช่วงย่านความถี่ตอบสนองนั้นเปล่งออกมาจากตัวลำโพงเพียงตัวเดียวที่มีสภาพเป็น Single-Point Source อย่างแท้จริง
ผลลัพธ์ทางเสียงที่เปล่งออกมาจากตัวลำโพงแบบ Single-Point Source นี้จะมีความสมานเสมอกัน-ประจวบเหมาะกันพอดี ณ ค่าเวลาที่เสียงนั้นๆ ก่อเกิดขึ้นมาอย่างแท้จริง อีกทั้งการที่ทวีตเตอร์ถูกติดตั้งลงไปอยู่ในใจกลางของมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ยังก่อให้เกิดข้อดีประการที่ 2 ควบคู่กันไปด้วยนั่นคือสิ่งที่เรียกว่า MATCHED DIRECTIVITY
ซึ่งเมื่อทวีตเตอร์ลงไปอยู่ในใจกลางของมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ก็เท่ากับว่าทวีตเตอร์นั้นมีตัวกรวยของมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ที่ขนาบล้อมรอบอยู่นั่นแหละเป็นเสมือน มือที่เราป้องปากเวลาตะโกน จึงสามารถช่วยควบคุมทิศทางของเสียงที่เปล่งออกมาจากทวีตเตอร์นั้น ให้คลื่นเสียงพุ่งออกไปข้างหน้า พร้อมๆ กับถูกรวบรวมพลังงานเสียง อย่างเดียวกับที่โทรโข่ง หรือปากฮอร์นนั้นทำหน้าที่ของมัน เสียงช่วงความถี่สูงจึงเข้มข้นขึ้น ส่งผลให้เสียงความถี่สูงๆ นั้นมีความชัดเจนขึ้นด้วย
ฉะนี้เองที่ลำเสียงของช่วงความถี่สูง จึงมีลักษณะแผ่ออกเช่นเดียวกับตัวกรวยของมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ ซึ่งช่วยให้พื้นที่ในการรับฟังเสียงช่วงความถี่สูงนั้นกว้างขวางใกล้เคียง หรือเท่าเทียมกับช่วงความถี่กลางและต่ำตามไปด้วย การรับฟังเสียงนอกแนวแกนกระจายเสียงของตัวทวีตเตอร์ (Off-Axis Dispersion) ที่มักเป็นข้อด้อยของตัวลำโพงโดยทั่วไปนั้น จึงยังคงไม่ต่างไปจากการรับฟังอยู่ในเส้นแนวแกนกระจายเสียง ความถนัดชัดเจนของรายละเอียดเสียงช่วงความถี่สูงๆ ที่รับฟังก็จะไม่ขาดตกบกพร่องไป และยังสามารถรับฟังได้อย่างกว้างขวางทั่วทั้งพื้นที่ที่รับฟังเสียง (Listening Area)
อีกทั้งเสียงความถี่สูงๆ ที่เปล่งออกมาจากทวีตเตอร์ก็ยังผสมผสานไปกับเสียงช่วงความถี่กลางและต่ำตั้งแต่ต้นทาง (เพราะมีจุดกำเนิดคลื่นเสียงที่อยู่ร่วมแนวเดียวกัน) จนทำให้ความถี่เสียงตลอดทั้งช่วงย่านนั้นมีความกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันเลยทีเดียว การแยกแยะต่อสภาพจินตภาพเสียงสเตริโอ หรือ Stereo Imaging จึงให้ความสมจริงยิ่งขึ้นกว่าระบบลำโพงแบบ Multi-Point Source และด้วยข้อดีของ Uni-Q Speaker ที่ KEF พัฒนาขึ้นจึงทำให้ได้มาซึ่งความกลมกลืนกันของเสียง
รวมถึงความชัดเจนของจินตภาพและเวทีเสียงที่โดดเด่นกว่าระบบลำโพงธรรมดาทั่วไป โดยมิได้จำกัดบริเวณตำแหน่งนั่งฟังว่า จะต้องอยู่กึ่งกลางระหว่างลำโพงซ้าย-ขวาเท่านั้น (นั่งขยับไปทางใดทางหนึ่งมากกว่ากันมิได้) จึงจะเป็น Sweet Spot ที่เหมาะกับการรับฟังระบบเสียงสเตริโอได้คุณภาพดีที่สุดอย่างเช่นแต่เดิมมา นี่เองที่ KEF จึงได้ใช้สำนวนว่า Uni-Q : GREAT SOUND ALL AROUND THE ROOM
KEF นั้นได้ทำการพัฒนาหลักการ Uni-Q Speakers นี้อย่างต่อเนื่องมาเข้าสู่เจนเนอเรชั่นที่ 11 แล้วในปัจจุบัน กระทั่ง KEF ได้นำ Uni-Q Speakers ไปบรรจุเป็น Main Drivers หรือ ตัวลำโพงหลัก ที่ KEF นำไปใช้งานครอบคลุมอยู่ในแทบจะทุกระดับระบบลำโพงใช้งาน ไล่เรียงลงมาตั้งแต่ Concept Blade ที่ถือเป็นต้นทางแนวคิดการออกแบบในอีกหลายต่อหลายรุ่นถัดมา (ไม่มีการผลิตจำหน่าย), Muon ที่ต้องสั่งผลิตและมีจำนวนจำกัดเพียงแค่ 100 คู่เท่านั้น, Reference Series ที่ถูกนำไปใช้งานเป็นลำโพงมอนิเตอร์ในสตูดิโอชั้นนำหลายแห่ง, XQ Series สำหรับผู้พิถีพิถันในคุณภาพเสียงและสเตริโอ อิมเมจ, All new Q Series (ผู้มาใหม่ ภายใต้สโลแกน A Class Above) กระทั่ง Classic Q Series (ซึ่งก็คือ iQ Series เดิม ที่มีรูปลักษณ์ตัวตู้เป็นทรงหยดน้ำ) เว้นไว้แค่เพียง C Series ที่ถือเป็น Entry-level เท่านั้น
คุณลักษณ์
Q Series เป็นพัฒนาการใหม่ที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีมาจาก Concept Blade โดยตรง และเพิ่งจะเปิดตัวซีรี่ส์ไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี่เอง (Audiophile/Videophile คว้ามาทดสอบก่อนใคร) นับเป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องมาจนถึงรุ่นที่ 8 แล้วสำหรับซีรี่ส์ Q นี้ และนี่นับเป็นพัฒนาการที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้ง กระทั่งจำเป็นต้องใช้เป็น All new Q Series เพื่อบ่งบอกความนัย นับตั้งแต่รูปทรงตัวตู้ที่แต่เดิมนั้นจะมีรูปทรงเรียวคล้ายหยดน้ำ เพื่อให้ไร้ซึ่งด้านขนาน ก็จะถูกปรับเปลี่ยนเป็นทรงตู้แบบสี่เหลี่ยมสไตล์ดั้งเดิม (นัยว่าเพื่อให้เข้ากับเทรนด์ของยุคสมัยที่หันกลับมานิยมความเป็นรูปเหลี่ยม) ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งปริมาตรภายในตัวตู้ที่มากขึ้น โดยมิติขนาดนั้นมิได้ใหญ่โตขึ้น อันยังผลต่อเสียงทุ้มที่หนักแน่นยิ่งขึ้นด้วย
KEF จงใจออกแบบ Q Series (ใหม่) ให้มีศักดิ์ศรีระดับรองจาก XQ series ที่ถือเป็นหมายเลข 2 รองลงมาจากความเป็น flagship ของ Reference Series ดังนั้นจึงการันตีได้ว่า Q Series (ใหม่) มีสมรรถนะที่ไม่เป็นสองรองใครในระดับชั้นเดียวกัน โดยที่ Q Series (ใหม่) จะมีให้เลือกได้ทั้งแบบตั้งวางพื้น หรือ Floorstander จำนวน 3 รุ่น และแบบวางบนขาตั้ง หรือ Bookshelf จำนวน 2 รุ่นด้วยกัน ซึ่งมี Q100 เป็นรุ่นน้องเล็กสุด ถัดขึ้นมาก็จะเป็นรุ่น Q300 นี่แหละครับ
Q300 มีขนาดมิติภายนอกตัวตู้ 355 x 210 x 302 มม. น้ำหนักตัว 7.7 กก.ต่อข้าง ระบบตัวตู้เปิด (Bass Reflex) แบบ 2 ทาง ท่อเปิดด้านหน้า (มีฟองน้ำอะคูสติกอุดปากทางช่องระบายเสียงเบสอยู่ ซึ่งสามารถดึง-ถอดออกมา และใส่กลับเข้าไปได้ตามต้องการ) ตัวลำโพงมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์เป็นแบบ Aluminium Cone มีขนาด 6.5 นิ้ว (165 ม.ม.) และมีวอยซ์คอยล์ขนาดใหญ่ถึง 50 มม.เลยทีเดียว ในขณะที่ตัวลำโพงทวีตเตอร์ (ซึ่งฝังอยู่ในใจกลางตัวลำโพงมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์) เป็นแบบ Aluminium Dome มีขนาด 1 นิ้ว (25 มม.) พร้อมสิ่งที่เรียกว่า Tangerine Waveguide ติดตั้งเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นอยู่บนส่วนหน้าของตัวโดมเช่นเดิม
โดยเจ้าครีบทรงกลีบส้ม Tangerine Waveguide นี้ (ซึ่งก็ได้รับการพัฒนารูปทรงใหม่ด้วยเช่นกัน) จะทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนตัวของคลื่นเสียงให้มีสภาวะที่สมดุลไม่ถูกมวลอากาศจากการเคลื่อนตัวของมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ในขณะทำงานมารบกวน-ป่วนปั่น รวมทั้งยังช่วยควบคุมทิศทางการกระจายตัวของลำเสียงช่วงความถี่สูง ให้สามารถครอบคลุมพื้นที่-บริเวณนั่งฟังได้แผ่กว้างมากเป็นพิเศษ ยิ่งกว่าทวีตเตอร์โดมธรรมดา ส่งผลให้ไม่จำเป็นต้องนั่งฟังอยู่เฉพาะแนวกึ่งกลางระหว่างระบบลำโพงซ้าย-ขวาก็สามารถสัมผัส-รับรู้ได้ถึงสภาพจินตภาพเสียงสเตริโอ หรือ Stereo Imaging ได้อย่างสมบูรณ์
Q300 สามารถครอบคลุมช่วงความถี่ตอบสนองได้ตั้งแต่ 42 เฮิรตซ์ ขึ้นไปจนถึง 40,000 เฮิรตซ์กันเลยทีเดียว (-/+3 ดีบี) จุดตัดกรองช่วงความถี่ถูกกำหนดไว้ที่ 2,500 เฮิรตซ์ ค่าความไวเสียง 87 ดีบี ค่าความต้านทานปกติ 8 โอห์ม พร้อมรองรับอัตรากำลังขับได้ในช่วง 15 – 120 วัตต์ ที่สำคัญได้รับการ Magnetic Shielded อย่างดี (ด้วยจุดประสงค์ครอบคลุมการใช้งานได้ทั้ง Audiophile และ Home Theatre)
โครงสร้างตัวตู้ของ Q300 ถูกขึ้นรูปจากวัสดุ MDF (Medium Density Fiberboard) ที่ให้ค่าความแกร่งสูงทว่ามวลต่ำ โดยมีรูปทรงตัวตู้ที่ถูกปรับเปลี่ยนจากรูปทรงโค้งมนละม้ายคล้าย หยดน้ำ มาเป็นทรงกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าตรงๆ เช่นระบบตัวตู้ดั้งเดิมของ KEF ทำให้ได้มาซึ่งปริมาตรภายในตัวตู้ที่เพิ่มขึ้นมาอีก 30 % ส่งผลถึงเรื่องของเสียงเบสที่ตอบสนองลงไปได้ลึก และหนักแน่นยิ่งขึ้น โดยที่โครงสร้างภายในนั้นได้รับการเสริมด้วย วัสดุคาดโครง เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของตัวตู้โดยรวม
นอกจากนี้ในส่วนของมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ยังได้รับการปรับเปลี่ยนไปใช้ขอบรอบตัวลำโพง (Surround) รูปแบบใหม่ ที่มิได้เป็นลอนโค้งแบบเดิมๆ ที่เรา-ท่านเห็นกันคุ้นตา ซึ่ง KEF เรียกขานว่า Z-Flex Surround เพื่อให้การขยับขับเคลื่อนตัวกรวยลำโพงเป็นไปในลักษณะที่ราบเรียบสมดุลยิ่งขึ้น (ไม่แกว่งโย้ไป-มาในขณะตัวกรวยลำโพงกำลังเคลื่อนที่) อีกทั้งในส่วนของทวีตเตอร์ก็ยังได้เปลี่ยนจากขนาด ¾ นิ้วไปใช้เป็น 1 นิ้ว เพื่อเพิ่มสมรรถนะในการรองรับกำลังขับได้มากขึ้นกว่าเดิม ทั้งยังช่วยขยายแนวการกระจายเสียงให้แผ่กว้างขึ้นทั้งในแนวดิ่งและแนวระนาบอีกด้วย
ด้านหลังตัวตู้ของ Q300 ได้รับการติดตั้งขั้วต่อสายลำโพงแบบ Binding Posts ขนาดใหญ่มาให้ 2 ชุด ซึ่งได้รับการชุบเคลือบผิวสัมผัสอย่างดี พร้อมต่อการใช้งานในลักษณะของ Bi-Wired ได้อย่างง่ายดาย โดยทาง KEF ได้ออกแบบแผงขั้วต่อสายลำโพงของ Q300 ไว้อย่างชาญฉลาด หากผู้ใช้ปรารถนาจะใช้งานการเสียบต่อในแบบ Single-Wired ก็ไร้ซึ่งความจำเป็นในการใช้สายเชื่อมต่อระหว่างขั้วลำโพงทั้ง 2 ชุด โดยได้ทำเป็นปุ่มหมุนเล็กๆ ทำหน้าที่เลื่อนสะพานเชื่อมต่อสัญญาณระหว่างขั้วลำโพงขึ้น เมื่อต้องการใช้งานในแบบ Single-Wired หรือว่าเลื่อน สะพาน เชื่อมต่อสัญญาณระหว่างขั้วลำโพงนี้ลง เมื่อต้องการใช้งานในแบบ Bi-Wired ได้ตามต้องการอย่างสะดวกสบาย
คุณภาพเสียง
พูดบอกได้เลยว่าเสียงยิ่งใหญ่เกินตัวแม้ว่าขนาดของ Q300 จะมิได้ใหญ่โตอะไรนัก ทว่าช่วงย่านความถี่เสียงต่ำที่รับฟังกลับยิ่งใหญ่อลังการ เสียงเบสต่ำๆ สามารถตอบสนองออกมาได้อย่างไร้ปัญหา (Dotou Banri / Ondekoza – JVC : VICG-60201) จากการรับฟังแผ่นซีดีธรรมดาผลิตในอเมริกาชุด Live in America ของ KITARO (GEFD-24323) ในเพลงที่ 5 Matsuri เสียงสะเทือนเลื่อนลั่นของกลองใหญ่ญี่ปุ่น (Kodo) Q300 ทำได้ หนักหน่วง เกินตัวจริงๆ เพียบพร้อมด้วยแรงสั่นกระพือเป็นระลอกคลื่นของหนังหน้ากลองที่ Kitaro ประเคนฟาดไม้ลงไป
เมื่อรับฟังจากแผ่น Showcase (Opus3 CD 21000) Q300 สามารถให้ความกลมกล่อม นวลเนียน ละเมียดละไมของสรรพเสียง รวมถึงสมรรถนะการถ่ายทอด-บ่งบอกจินตภาพและสภาพเวทีเสียงที่ดูจะมีความโดดเด่นมากเป็นพิเศษ สามารถให้การรับรู้ถึงสภาพเสียงที่นอกจากจะแผ่กว้าง จนสามารถสร้างความรู้สึกโอบล้อมของบรรยากาศเสียงแล้ว ยังถอยลึกเข้าไปหลังตำแหน่งตั้งวางระบบลำโพงเป็นปริมณฑลเสียงอยู่หลังตำแหน่งตั้งวางลำโพง สามารถจำแนกแยกแยะแถวชั้นของตำแหน่งชิ้นดนตรีได้อย่างมีอาณาบริเวณเป็นอิสระ ปราศจาการเบียดบัง กลบซ้อนทับกัน ทั้งยังไล่ระดับความสูง/ความเตี้ยของสรรพเสียงได้อย่างสมจริง พร้อมด้วยมวลอากาศรายรอบของสภาพบรรยากาศเสียง (Teach Me Tonight – Opus3 CD 8421)
ความฉับไวในการตอบสนองเป็นอีกเรื่องที่ต้องยกย่อง ไม่ว่าจะเป็นในช่วงย่านความถี่เสียงต่ำ ,ช่วงย่านเสียงกลาง รวมทั้งช่วงย่านเสียงสูง (A Selection From Test-Records 1, 2 & 3 – Opus3 CD 19520) อันน่าจะสืบเนื่องจากการที่ตัวขับเสียงแบบ Uni-Q (ขนาด 6.5 นิ้ว) นั้นไม่มีดัสท์แคป จึงไร้แรงต้านของมวลอากาศในขณะขยับเขยื้อนเคลื่อนตัว เนื่องเพราะตรงใจกลางตัวลำโพง Uni-Q มีทวีตเตอร์ขนาด 25 มม. (1 นิ้ว) ติดตั้งอยู่แทนที่ดัสท์แคปนั่นเอง ทั้งยังให้มุมกระจายเสียงที่กว้างขวาง สามารถครอบคลุมพื้นที่ได้แผ่กว้าง ทำให้ในขณะรับฟังเราสามารถจำแนก แยกแยะ แถวแนว ตำแหน่งของจินตภาพเสียงออกมาให้รับรู้ได้อย่างชัดเจน ทั้งยังถ่ายทอดอาณาบริเวณเสียงได้อย่างไม่ซ้อนทับกันอีกด้วย
เรา-ท่านสามารถรับฟังเสียงหมู่เครื่องสาย (ไวโอลิน-วิโอลา-เชลโล) ได้น้ำหนัก-เนื้อหนังของเสียงอย่างสมจริง ในขณะที่ช่วงย่านความถี่เสียงสูงให้ความพละพลิ้ว เปี่ยมด้วยความมีชีวิตชีวา และยืดขยายปลายหางเสียงออกไปได้ไกลมาก ไม่มีการอัดอั้น หรือ โรยตัว (Roll-Off) อย่างรวดเร็วจนหดห้วน หางเสียงสูงๆ อย่างฉิ่ง-ฉาบ-เหล็กสามเหลี่ยมให้ความกังวาน-ทอดตัวไปยาวไกล มีความพละพลิ้วลอยตัว บ่งบอกเสียงลมพ่น-กัดหูน้อยๆ ของเครื่องดนตรีประเภท Brass และเสียงลมเป่า-เป็นละอองของเครื่องดนตรีประเภท Woodwind ได้น่าทึ่งมาก (Ein Straussfest ของ TELARC : CD-80098)
การตอบสนองความถี่เสียงกลาง-สูงนั้นนับเป็นจุดโดดเด่นที่สำคัญของ Q300 โดยเป็นเสียงที่มีความกลมกลืนต่อเนื่องนวลเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน สดใส สะอาด ให้ทั้งมวลและน้ำหนัก (แรงกระทบ-ปะทะ) ให้ความมีตัวตน มีลมหายใจ พร้อมด้วยคึกคัก กระฉับกระเฉง ไม่โช่งฉ่าง ฟังแล้วรู้สึกคึกคัก รุกเร้าใจ สามารถให้การจำแนก-แยกแยะเสียงดนตรีที่ซ้อนทับกันนั้นได้แจ่มชัดมาก การรับฟังจึงได้รายละเอียดเสียงที่ ครบ ยิ่งขึ้นกว่าที่เคย (Katinka Wilson / One Life – Opus3 CD 22032) ทว่าขอแนะนำให้ถอดหน้ากากออกในเวลารับฟัง จะทำให้การรับรู้จินตภาพนั้นสดใส ชัดเจนขึ้น
ลองหยิบเอาแผ่น Happy Trails (Round-Up 2) ของ TELARC มาเปิดฟังแค่เพลงแรกที่เป็นเสียงต้อนฝูงวัวของเหล่าคาวบอย ก็รับรู้ถึงความตลบอบอวล-คละคลุ้งของฝุ่นละอองที่ Q300 ถ่ายทอดออกมา ชนิดที่ว่าเกินราคาค่าตัวของมันมากทีเดียว (ต้องขอยกย่องและยอมรับในสมรรถนะของตัวขับ Uni-Q นี้จริงๆ ครับ) เช่นเดียวกับจากการรับฟังแผ่นซีดีชุด DIGITAL TEST ของสังกัด PIERRE VERANY หมายเลขแผ่น PV.788031/788032 ที่เป็นแผ่นทดสอบเสียงโดยเฉพาะ ก็ได้พบกับความน่าทึ่งจริงๆ เพราะแทร็คแรกของแผ่นนี้เขาบันทึกเสียงพลุ-ดอกไม้เพลิง ที่ได้จุดขึ้นในโอกาสเทศกาลเฉลิมฉลองของฝรั่งเศสนั้น มันสมจริงมากๆ ในบรรยากาศ สรรพเสียงต่างๆ ที่อยู่รายรอบตัวเรา เสียงผู้คนจำนวนมาก เสียงพลุ-ดอกไม้เพลิงที่พุ่งขึ้นไประเบิดแตกตัวในอากาศสูงเหนือศีรษะนั้น ราวกับเรากำลังอยู่ในเหตุการณ์นั้นทีเดียว
สรุปส่งท้าย
ส่วนใหญ่ผมจะใช้แผ่นของ OPUS3 เป็นหลักในการประเมินผลการรับฟัง เนื่องเพราะต้องยอมรับในฝีมือการบันทึกเสียงของ Jan-Eric Persson ที่สามารถให้องค์ประกอบครบถ้วนทั้ง Depth of Image, Timbre และ Dynamics อย่างที่คอออดิโอไฟล์ล้วนต้องการในขณะรับฟัง โดยใช้ขาตั้งไม้ตันความสูง 24 นิ้วมาตั้งวาง Q300 ในขณะรับฟัง โดยมีระยะห่างจากผนังด้านข้างซ้าย-ขวาอยู่ที่ 42 นิ้ว ส่วนระยะห่างจากผนังหลังลำโพงนั้นเท่ากับ 38 นิ้ว ซึ่งระยะห่างระหว่างระบบลำโพงทั้งสองข้างก็จะอยู่เท่ากับใกล้ๆ 60 นิ้ว ส่วนตำแหน่งนั่งฟังจะอยู่ห่างจากแนวเส้นตั้งวางระบบลำโพงราวๆ 90 นิ้ว และปรับมุมโท-อินระหว่างลำโพงทั้ง 2 ข้างเข้ามาประมาณ 10 องศาครับ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก Q300 เป็นระบบลำโพงแบบ Bookshelf หรือ Stand-Mount ความสูงของขาตั้งจึงเป็นเรื่องสำคัญ อันส่งผลต่อคุณภาพเสียงและสมรรถนะของ Q300โดยตรง ผมขอแนะนำว่า ถ้าคุณนั่งฟังบนโซฟา ให้เลือกใช้ขาตั้งที่มีความสูง 21 นิ้ว แต่ถ้านั่งฟังบนเก้าอี้ธรรมดาแบบผมละก้อ ขอให้ใช้ขาตั้งที่มีความสูง 24-26 นิ้วครับ และจากการที่ Q300 มีแท่งฟองน้ำอะคูสติกเตรียมมาให้พร้อมสรรพ ก็เพื่อเผื่อว่า หากคุณต้องการกลายสภาพการทำงานของระบบตัวตู้จากเบส รีเฟล็กซ์ไปเป็นแบบ กึ่งปิดกึ่งเปิด ในลักษณะของ Vari-Q (ลดพลังและความใหญ่ของเสียงเบสลงมา โดยตัดการเชื่อมต่อของมวลอากาศภายในห้องฟังกับมวลอากาศภายในตัวตู้ลำโพง)
โดยผมขอแนะนำว่า ถ้าห้องที่ใช้ฟัง Q300 นั้นเล็กมาก ควรปล่อยให้แท่งฟองน้ำอุดอยู่ในท่อเช่นนั้น เพื่อจำกัด ปริมาณ เสียงต่ำ ป้องกันการเกิดเสียงอู้-ก้อง อันเนื่องจากสัดส่วนของห้องที่ไม่เพียงพอต่อการรองรับความถี่เสียงที่ต่ำมากๆ ตั้งแต่ 40 หรือ 30 เฮิรตซ์ลงไป ทำให้กลายเป็นปัญหาเสียงเบสที่ไม่เคลียร์ ไร้จังหวะจะโคน และยังส่งผลไปลดทอนความแจ่มชัด สดใสในรายละเอียดของช่วงย่านเสียงกลางเสียอีกด้วยซ้ำ
อุปกรณ์ร่วมใช้งาน :- เครื่องเล่นซีดี Marantz รุ่น CD/DA-12, อินทีเกรทแอมป์ Class A รุ่น L-560 ของ Luxman , สายสัญญาณและสายลำโพงของ XAV
อุปกรณ์เสริม :- XAV : EMX -9 (วางทับบน Marantz CD/DA-12), Entreq : Ground Box รุ่น MinimUs Silver + Earth Cable รุ่น Silver, MagicBoxAudio : Lunar 1
ขอขอบคุณ บริษัท โฮมไฮไฟ จำกัด โทร. 0-2884-4 ที่ได้เอื้อเฟื้อ Q300 มาให้ได้ทดสอบกันในครั้งนี้
รูปลักษณ์ : ☆☆☆
สมรรถนะ : ☆☆☆
คุณภาพเสียง : ☆☆☆☆
โดยรวม ☆☆☆ 1/2