Test Report : KEF LSX II LT

0

ก่อนอื่นต้องขอกล่าวทักทายท่านผู้อ่านที่น่ารักทุกท่านอีกครั้ง หลังจากที่ผมห่างหายจากงานเขียนรีวิวส์เครื่องเสียงไปนานมาก ตั้งแต่ช่วงที่มีโควิดใหม่ๆ ซึ่งช่วงนั้นทำให้ต้องให้ความสำคัญกับงานประจำ และคนในครอบครัวมากเป็นพิเศษ การกลับมาเขียนในครั้งนี้ เรียกได้ว่าต้องเคาะสนิมกันยกใหญ่ กว่าจะจบมาเป็นบทความได้ เลทส่งต้นฉบับจน ท่าน บก. ตามแล้วตามอีก แต่ก็ทำให้ได้พบบรรยากาศ และ ความรู้สึกสนุกๆ ที่ห่างหายไปนานจากการรีวิวส์เครื่องเสียงกลับมา ทำให้รู้สึกว่า ชีวิตคือการเดินทาง ไม่ว่าเราจะเดินทางไปที่ใด เจอเหตุการณ์ ทั้งร้าย และ ดีอย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของการเดินทาง คือการที่เราได้พบเจอสิ่งใหม่ๆ ระหว่างทาง ถ้าเรามุ่งแต่ว่าจะรีบไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง เรามักจะพลาดความสวยงามระหว่างทาง ถึงแม้สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่หลายท่านยังบ่นกันไม่หาย แต่ถ้าเรามองย้อนกลับไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราก็ได้ยินแต่คำว่า “เศรษฐกิจปีนี้แค่ เผาหลอก ปีหน้าเผาจริง” ได้ยินวนๆ มาแบบนี้ไม่น้อยกว่า 3-4 ปี ทำให้เราระรึกถึงสัจธรรมที่ว่า ความแน่นอน คือความไม่แน่นอน ปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นได้สมอ เราก็ทำได้เพียงแค่กำหนดจุดหมายปลายทางว่าเราอยากจะไปที่จุดไหน จะไปด้วยทิศทางไหน แล้วก็พยายาม ป้องกันในสิ่งที่เราคิดได้ว่าอาจจะเกิดขึ้น และ หาทางแก้ไขในสิ่งที่เราคาดไม่ถึงระหว่างทาง วนไปเรื่อยๆ โดยไม่ลืมที่จะชื่นชมความสวยงามระหว่างเส้นทางที่เดินไป ก็หวังว่าท่านผู้อ่านทุกท่านจะได้เพลิดเพลินกับการอ่านบทความทดสอบลำโพง KEF LSX II LT ในครั้งนี้ และเพลิดเพลินไปกับการฟังเพลง เล่นเครื่องเสียงที่เรารักต่อไปครับ เพื่อให้การเดินทางของเรามีความสุขตลอดการเดินทาง และสามารถผ่านเรื่องต่างๆ ไปได้และทำให้เรามีประสพการณ์เพิ่มพูนมากขึ้นจนสามารถคาดการณ์ในสิ่งต่างๆ ได้แม่นยำขึ้น และพร้อมรับมือความท้าทายใหม่ๆ ที่จะมาถึงในอนาคตตลอดไปครับ ว่าแล้วเราก็มาเข้าเรื่องการทดสอบลำโพง KEF LSX II LT กันเลยดีกว่าครับ นอกเรื่องกันมาเยอะแล้ว

KEF LSX II LT เป็นลำโพงรุ่นเล็กสุดในกลุ่ม Wireless Hifi Speaker ของ KEF ซึ่งถือเป็นเจนฯ ที่ 2 ของลำโพงในรูปแบบนี้ ซึ่งทำให้เห็นว่ามีการพัฒนาไปมากในหลายๆ ด้าน โดยความน่าสนใจของ KEF LSX II LT คือการเป็นลำโพงที่อยู่ในช่วง ราคาที่ผมมักได้ยินคนถามหา เมื่อมีความสนใจอยากเข้ามาเริ่มเล่นเครื่องเสียง เพราะเมื่อมีบทสนทนากันแล้วรู้ว่าผมรีวิวส์เครื่องเสียง แล้วอยากเข้ามาเล่นด้วย เมื่อถามว่ามีงบเท่าไหร่ มักได้ยินตัวเลขแถวๆ ทั้งชุด ราวๆ 5 หมื่นบาท มักเป็นตัวเลขที่ได้ยินบ่อยๆ ซึ่งเมื่อก่อนผมก็จะนึกถึง ลำโพงเล็ก 1 คู่ และ อินทิเกรทแอมป์ที่รองรับการเล่นดิจิตัลที่พอจะตอบโจทย์การใช้งานพื้นฐานได้ แต่ก็ต้องบอกว่า ตัวเลือกค่อนข้างจะจำกัดมาก บางตัว มีโน่น ไม่มีนี่ บางตัวมีครบ ก็เกินงบไปไกล ทำให้คำถามนี้ เป็นคำถามที่ค่อนข้างยากที่จะแนะนำได้ตรงตามความต้องการ แต่ในวันนี้เมื่อ KEF LSX II LT เป็นลำโพงที่ถูกผนวกเข้ากับภาคขยาย และการรองรับการใช้งานในแบบดิจิตัลที่เรียกได้ว่าครบถ้วนแทบทุกรูปแบบที่ใช้งานในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นขั้วต่อดั้งเดิมอย่าง Optical ที่ปัจจุบันอาจจะได้ใช้งานหากคุณยังเล่นแผ่นซีดีที่เก็บสะสมอยู่ หรือแม้กระทั้ง USB เมื่อต่อใช้งานกับคอมพิวเตอร์ แต่ส่วนที่น่าจะเป็นการใช้งานหลักที่ตอบโจทย์การใช้งานในปัจจุบันได้เป็นอย่างดีอย่างเช่นพอร์ท RJ45 ซึ่งก็คือการต่อสายแลนเข้ากับอินเตอร์เน็ทบ้านเพื่อสั่งใช้งานจากมือถือซึ่งก็รองรับแทบทุก App ที่ใช้งานในปัจจุบัน ซึ่งการใช้งานในรูปแบบนี้ มือถือจะเป็นเพียง Controller หรือตัวสั่งเลือกเพลง แต่ตัวลำโพงจะเป็นตัวที่ดึงข้อมูลผ่านจาก Server ของผู้ให้บริการ Streaming โดยตรง ซึ่งไม่ว่าจะเป็น Spotify, Tidal, Amazon Music, Qobuz,  Deezer, QQ,  Internet Radio และ Podcast ฯลฯ ก็รองรับได้หมด หรือถ้ามีการใช้งาน app ที่นอกเหนือไปกว่านี้ ก็สามารถเชื่อมต่อด้วย Bluetooth แทนได้อีกด้วย หรือถ้าหากคิดจะใช้งานร่วมกับ Smart TV ต้องถือว่าเป็นไฮไลท์ของ KEF LSX II LT เนื่องจากมีช่อง HDMI ARC ที่สามารถรับสัญญาณเสียงจาก TV ได้ ซึ่งเป็นฟังชั่นที่คนถามหากันมาก และอินทิเกรทแอมป์ในระดับราคานี้ยังมีตัวเลือกให้เล่นน้อยมากๆ จนน่าตกใจว่าทำไมยังไม่มีผลิตออกมาขายกันเสียที เรียกได้ว่า KEF LSX II LT รองรับการใช้งานในปัจจุบันในรูปแบบดิจิตัลได้เป็นอย่างดีจริงๆ ส่วนถ้าหากต้องการเล่นแผ่นเสียง หรืออยากได้อนาล๊อคอินพุท ก็ต้องเพิ่มเงินเล็กน้อยเพื่อเล่นลำโพงรุ่น LSX II ซึ่งลักษณะคล้ายกัน และสามารถรองรับ Roon, MQA และมีเพิ่มช่อง AUX in มาให้เล่นกับแหล่งสัญญาณอนาล๊อคเช่นเครื่องเล่นแผ่นเสียง รวมทั้งการเปลี่ยนระบบการเชื่อมต่อระหว่างลำโพงทั้ง 2 ข้าง จากที่ LSX II LT จะใช้เป็น USB C ซึ่งหากต้องการซ่อนสายอาจจะหาซื้อสาย USB C ยาวๆ ยากนิดหน่อย โดยใน LSX II จะเชื่อมต่อแบบไร้สาย หรือจะเป็นสายแลนก็ได้ ทำให้มีความยืดหยุ่นในการจัดวางมากขึ้น

ในช่วงแรก เนื่องจากผมได้รับลำโพง KEF LSX II LT และขาตั้งสำหรับตั้งพื้นรุ่น S1 Floor stand และ ขาตั้งสำหรับตั้งบนโต๊ะรุ่น P1 Desk pad จึงขอเริ่มต้นด้วยการใช้งานคู่กับขาตั้ง S1 ในแบบของการฟังเพลง 2 แชแนลโดยปรกติทั่วไปก่อน ซึ่งขา S1 ก็ออกแบบมาคู่กันเป็นอย่างดี มีช่องร้อยเก็บซ่อนสายไฟ สายเชื่อมต่อต่างๆ ไว้ในตัวขาตั้ง เพื่อความเรียบร้อยสวยงามในการติดตั้ง และมีสกรูที่ใช้ยึดตัวลำโพงให้ติดเป็นชิ้นเดียวกับขาตั้ง เพื่อให้ลำโพงนิ่ง มั่นคง สามารถถ่ายทอดเสียงเบสได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งในคราวนี้ เมื่อลำโพงมีขนาดเล็ก ผมจึงทดสอบด้วยการนำไปใช้ในห้องออกกำลังกายขนาดราวๆ 3.8 คูณ 3.8 เมตร เพื่อให้เหมาะสมกับขนาดลำโพง และน่าจะมีความใกล้เคียงสภาพการใช้งานจริงของคนทั่วไป ซึ่งได้เปิดใช้งานวนไปตลอดเวลาราว 1 สัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจว่าลำโพงพ้นระยะเบิร์นอินเรียบร้อยแล้ว โดยเมื่อเดินออกกำลังกายก็เลือก Playlist เพลงร๊อคเก่าๆ ฟังเพลินๆ ระหว่างเดิน เมื่อเดินเสร็จเพลง November rain ก็ขึ้นมาพอดี ต่อด้วย Bohemian Rhapsody สิ่งที่เรียกร้องความสนใจจากผมได้คือ การระบุตำแหน่งชิ้นดนตรีที่มีความเที่ยงตรงของเฟสดนตรีตามแบบลำโพงเล็กที่สามารถทำได้ดี ซึ่งที่มาของความเที่ยงตรงทางเฟสนี้มาจากการออกแบบชุดตัวขับเสียงแบบ Coaxial ที่นำ Tweeter ไปวางไว้ตรงกลางของ Mid-Range โดยเฉพาะระบบ Uni-Q ของ KEF ที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มามากกว่าสิบเจนเนอเรชั่นยาวนานหลายสิบปีจน KEF ถือว่าเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบตัวขับเสียง Coaxial ทำให้มีความเที่ยงตรงมากๆ แต่เนื่องจากเป็นลำโพงขนาดเล็ก ซึ่งจะมีข้อจำกัดในส่วนของเบสบ้าง จะพบว่าเสียงพื้นฐานค่าเบื้องต้นจากโรงงาน จะเน้นการใช้งานแบบลำโพงคู่เดียว จึงมีการจูนเสียงให้มีปริมาณเบสต้นที่มากขึ้นเล็กน้อย เหมือนพยายามเบ่ง ให้เสียงคล้ายลำโพงใหญ่ ซึ่งทำให้ย่อหย่อนความชัดเจนลงไปบ้าง จึงทำให้ผมตัดสินใจเปลี่ยนการทดสอบเป็นระบบ 2.1 ด้วยการเพิ่มซับฯ SVS SB2000 pro เข้ามาในระบบ เนื่งจาก KEF LSX II LT มีการออกแบบช่อง Subwoofer out ไว้ให้แล้ว และใน App KEF Connect ก็ออกแบบมารองรับการเล่น 2.1 อย่างครบถ้วน ซึ่งจริงๆ แล้วก็แอบเสียดายเล็กๆ ที่ไม่ได้รับ ซับฯ ของ KEF มาด้วย เนื่องจากเมนูการปรับตั้งค่าระบบ 2.1 จะมีการเลือกรุ่น KEF Subwoofer ที่ใช้งานได้ ซึ่งเข้าใจว่าจะมีการให้ค่า Pre-set บางอย่างที่ช่วยให้ลำโพงหลัก และ ซับฯ ทำงานได้กลมกลืน ราบรี่นมากยิ่งขึ้น โดยในคราวนี้ผมทดลองปรับจูนจนได้จุดตัดความถี่คร่าวๆ ที่ 80Hz และปรับความดังที่เหมาะสมกันระหว่างลำโพงหลัก และ ซับฯ โดยเมื่อลองเปิด November rain อีกครั้งพบว่า ปริมาณเบสต้นเหมือนจะลดลง

ซึ่งเป็นไปตามที่ต้องการเพราะ KEF LSX II LT ไม่ถูกใช้งานเกินกำลัง และส่งผ่านหน้าที่ยากๆ ของการสร้างความถี่ต่ำให้ซับฯ แทน ทำให้เสียงร้อง เปียโน กีต้าร์ ต่างก็สะอาดมีรายละเอียดมากขึ้น เสียงแตกของกีต้าร์ ก็มีความรู้สึกถึงพลังงานที่พุ่งออกมามากขึ้น เพราะหมอกคลุมเครือของย่านกลางต่ำจนถึงเบสต้นหายไป ต่อด้วย I don’t wanna miss some thing มีเกนเสียงร้องที่บันทึกมาดังกว่า November rain ชัดเจนเมื่อลดตวามดังลงมาให้เสียงร้องดังใกล้เคียงกัน จะพบว่าอารมณ์เพลงจะถูกปูด้วยเสียงเบสต่ำเป็นฐานให้รู้สึกอบอุ่น เสียงเครื่องสายเป็นแบ๊คกราวน์ให้แสดงความเด่นของเสียงร้องเป็นหลัก เมื่อเป็น enter sandman เกนจะเบาลงตามยุคการบันทึก เมื่อเพิ่มความดังขึ้นเล็กน้อยจะพบการริฟกีต้าร์ และกลองที่หนักแน่น ดุดัน ซึ่งเมื่อทำการเซทคร่าวๆ ได้ตามนี้แล้ว การเซทตำแหน่งลำโพง 2.1 แบบค่อนข้างละเอียดมากขึ้นจะสามารถทำได้ โดยเนื่องจาก Kef จะมีลำโพงขวาเป็นตัวเมนที่เสียบไฟเข้า และทำการเชื่อมต่อสาย USB C ไปที่ลำโพงอีกข้าง ในการเริ่มเซทเสียงแบบละเอียด ผมจะทำการปิดซับวุฟเฟอร์ก่อน แล้วให้ลองเซทลำโพงข้างเดียวก่อน โดยเริ่มด้วยการปลดสาย USB C ระหว่าง 2 ลำโพงออก เสียงจะออกที่ลำโพงขวาข้างเดียว เริ่มโดยวางตำแหน่งให้ลำโพงขวาคร่าวๆ ให้อยู่ราวๆ ยอดด้านขวาของสามเหลี่ยมด้านเท่ากับตำแหน่งนั่งฟังก่อน จากนั้นปรับตำแหน่ง โดยระยะห่างผนังหลังถึงลำโพง จะมีผลต่อเสียงเบส ก็ให้หาระยะที่เสียงกลางต่ำลงไปถึงเบส มีความราบเรียบ ไม่รู้สึกว่ามีเสียงบูมกวนเสียงกลาง แต่ก็ไม่ห่างมากจนเสียงเบสหาย มีแต่กลางแหลม ซึ่งคำถามสุดฮิตคือ “ห่างผนังหลังเท่าไหนถึงดี” ก็ต้องขอบอกว่า ไม่มีตัวเลขตายตัว แพราะแต่ละห้อง สภาพอคุสติกต่างกัน เอาเป็นว่าให้ใช้หูฟังก็ราวๆ ว่าฟังแล้วได้ยินเสียงร้อง ได้ยินรายละเอียดของเครื่องดนตรีหลักต่างๆ ได้ดี ติดตามโน๊ตเพลงได้ง่าย ไม่ถูกเบสกลบ โดยที่สามารถได้ยินเสียงเครื่องดนตรีพวกที่เป็นย่านความถี่ต่ำ อย่างเช่น เบสไฟฟ้า กลองกระเดื่อง ก็ต้องสามารถติดตามหัวโน๊ตได้ ไม่บางเบาจนแทบไม่ได้ยิน ไม่ดังกลบเสียงร้อง ก็จะพอเรียกได้ว่า พอดีๆ ไม่มากไม่น้อย ส่วนระยะห่างผนังด้านขวาถึงลำโพงจะมีผลต่อย่านกลางต่ำ และการวางตำแหน่งชิ้นดนตรี คือถ้าต่อลำโพงข้างขวาข้างเดียว เสียงที่เราได้ยิน จะเป็นส่วนผสมของ เสียงจากลำโพงขวา และเสียงที่สะท้อนจากผนังห้อง ดังนั้น ถ้ามีแต่เสียงจากลำโพงขวาอย่างเดียว เราควรจะได้ยินตำแหน่งเครื่องดนตรีทุกชิ้นออกมาจากตรงตัวลำโพงเป๊ะๆ แต่ในความเป็นจริง เมื่อรวมกับเสียงสะท้อนผนังห้องแล้วจะเป็นการรวมเสียงจากหลายแหล่งกำเนิดเข้าด้วยกัน ซึ่งสมองเราจะรับรู้ตำแหน่งเสียงที่ห่างออกมาจากตัวลำโพง โดยแต่ละความถี่ก็อาจจะมีตำแหน่งที่ต่างกัน หากระยะห่างยังไม่เหมาะสม กระจายตัวของเสียงความถี่ต่างๆ จะเป็นกลุ่มก้อนหลวมๆ ส่วนระยะห่างผนังข้างที่เหมาะสมคือระยะที่เสียงแต่ละย่านความถี่มีการรวมตัวกันเหมือนออกมาจากจุดเดียวกัน ยิ่งโฟกัสให้แม่นยำได้เท่าไหร่ โดยที่โทนบาลานซ์ของแต่ละความถี่ยังสมดุลดีติดตามโน๊ตได้ดี ก็แปลว่า มาถูกทางแล้ว และมันควรจะเกาะกลุ่มอยู่ไม่ห่างจากลำโพงขวามากนัก ไม่ควรจะห่างออกไปจนเลยผนังด้านขวาออกไป โดยทั่วไปจะเลยออกไปทางใกล้ผนังขวาอีกเล็กน้อยอาจจะราวไม่เกินครึ่งเมตร

ซึ่งถ้าคุณเซทลำโพงข้างแรก ได้โทนบาลานซ์ที่ดี ติดตามรายละเอียดแต่ละโน๊ตได้ครบ นักร้องยืนร้องอยู่แถวๆ ลำโพงขวาแล้ว ก็แปลว่ามาถูกทางมีแววดีแล้ว ค่อยต่อลำโพงซ้าย ทีนี้สิ่งที่เคยได้เมื่อตอนต่อลำโพงขวาข้างเดียวจะถูกเสียงจากลำโพงซ้ายเข้ามากวน เบสที่เคยสะอาดดี ตำแหน่งเสียงร้องที่เคยนิ่งชัดเป๊ะก็จะเบลอหายไป สิ่งที่ทำคือ ไม่ต้องไปยุ่งกับลำโพงขวาแล้ว เพราะตำแหน่งมันได้แล้ว ให้ขยับลำโพงซ้ายตามขั้นตอนข้างต้น เพื่อกู้เสียงที่ต้องการคืนมา แต่คราวนี้จะมีส่วนที่ต่างออกไปเล็กน้อยคือ ระยะห่างผนังข้างซ้าย กับลำโพงซ้าย เราจะไม่ได้ฟังเพื่อให้เสียงร้องไปกองอยู่แถวลำโพงซ้ายแล้ว เพราะตอนนี้มีเสียงจากลำโพงทั้ง 2 ข้าง เสียงที่เราต้องได้ยินจึงควรเป็นเสียงที่มีการกระจายตัวของเครื่องดนตรีทุกชิ้นเป็นสามมิติ มีซ้ายขวา หน้าหลัง บนล่าง อย่างที่ควรจะเป็นแล้ว เช่นเสียงร้อง โดยทั่วไปก็จะบันทึกมาอยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างลำโพงทั้ง 2 ข้าง (อยู่ตรงหน้าเราพอดี) หรือถ้ามีนักร้องมากกว่า 1 เช่นร้องคู่ ก็จะมีการแพนเสียงเอียงหลบมาทางซ้าย และขวา เหมือนคนยืนร้องอยู่ข้างๆ กัน ซึ่งถ้าเราปรับตำแหน่งลำโพงซ้ายให้ได้เสียงที่สามารถบอกตำแหน่งชิ้นดนตรีได้ตามนี้แล้ว โดยที่ได้ปริมาณเสียง เบส กลาง แหลม ที่มีความสมดุลกันดี ไม่มีเสียงย่านไหน โด่งนำเยอะเกิน ไม่มีย่านไหนวูบเบาไปจนไม่สามารถติดตามรายละเอียดได้ ก็จะสรุปได้ว่าเราได้ตำแหน่งลำโพงที่เหมาะสมแล้วสำหรับระบบ 2 แชแนลซึ่งถึงจุดนี้จะลองสลับกลับไปฟังลำโพงขวาด้านเดียวดูก็จะต้องพบว่า โทนเสียงต้องเหมือนกับตอนฟังลำโพง 2 ข้าง เพียงแต่ความดังลดลง และชิ้นดนตรีจะรวมเป็นจุดเดียว เมื่อเช็คแล้วเป็นตามนั้น ถ้าปริมาณเบสที่ได้ เพียงพอต่อความต้องการแล้ว เปิดได้ดังพอใจโดยไม่เกินข้อจำกัดของ Woofer คือ เปิดดังเท่าที่พอใจแล้วเสียงไม่มีอาการเสียงกลางเครียดแข็งเกร็ง เบสไม่บวมเบลอกวนให้กลางขุ่นมัวจับรายละเอียดยาก ถ้าไม่มีอาการพวกนี้ และเบสลึกเป็นที่พอใจแล้ว ก็สามารถจบที่ 2 แชแนลได้เลย ไม่จำเป็นต้องไป 2.1 แต่หากเมื่อเปิดดังแล้วความชัดเจนลดลง คลุมเครือ หรือ แข็งเกร็ง แปลว่า Woofer ถูกใช้งานเกินขีดจำกัดแล้ว เริ่มมีความเพี้ยนมากจนรับรู้ได้ ก็ถึงเวลาเติม Subwoofer ให้เป็น 2.1 เพื่อแบ่งเบาภาระของ Woofer ลำโพงหลักแล้ว ซึ่งในการทดสอบครั้งนี้ ผมลง app KEF Connect เพื่อเข้าไปตั้งค่าลำโพงหลักให้ตัดความถี่ที่ต่ำกว่า 80 Hz ออกมาจ่ายให้ Subwoofer ซึ่งใน App จะสามารถปรับแยกกันระหว่างจุดตัดความถี่ของลำโพงหลัก และ ความถี่ กับความดังของซับ แยกกันได้เป็นอิสระ ซึ่งตรงนี้ ถือว่ามีความยืดหยุ่นมาก เพราะสามารถกำหนดจุดตัดให้มีช่วงความถี่ที่ ซ้อนทับกัน เพื่อเพิ่มความดังในช่วงจุดตัด หรือจะปรับให้มีช่วงดิปของความถี่ตอบสนองเพื่อแก้ปัญหาเบสบวมจากข้อจำกัดทางอคุสติกห้องได้ด้วย โดย SVS SB2000 pro เป็นซับฯ ตู้ปิด ขนาดเหมาะสมที่จะใช้คู่กัน เนื่องจากในคราวนี้ทางตัวแทนจำหน่ายส่งมาเฉพาะลำโพง KEF LSX II LT แต่ใน app มีเมนูให้เลือกรุ่นซับฯ ของ KEF ด้วย ซึ่งเข้าใจว่าจะมี preset ค่าบางอย่างเพื่อให้ใช้งานคู่กันได้อย่างเหมาะสมเพิ่มเข้ามาด้วย และเนื่องจาก KEF มี rca sub out 1 ช่อง และสามารถตัดความถี่จากตัวลำโพงได้ ผมจึงต่อสาย rca เข้าช่อง LFE ของ SVS เพื่อให้จัดการทุกอย่างจาก KEF Connect ซึ่งจริงๆ แล้วก็ใช้แค่การเซทความถี่ Low pass fillter ที่ 80Hz และปรับความดังซับฯ ที่ 0dB (ที่ตัวซับตั้งไว้ -20dB) ก็ได้เสียงที่กลมกลืนกันแล้ว ซึ่งการวางซับในชุด 2.1 จุดที่ง่ายที่สุด และหวังผลได้ค่อนข้างดี คือกึ่งกลางระหว่าง 2 ลำโพง ห่างผนังหลังแนวๆ เดียวกับลำโพง ซึ่งซับก็ควรเลื่อนหาตำแหน่งที่เบสมีความราบเรียบเหมาะสมกับห้องด้วย ซึ่งวิธีการก็เหมือนการเลื่อนลำโพงหลัก คือระยะหน้าหลัง ที่ดึงห่างผนังหลังออกมา จะมีผลต่อเบสลึก ไม่เพียง ปริมาณ แต่ในรูป ความสมดุลของแต่ละความถี่ด้วย คือโดยทั่วไป เรามักได้ยินคำกล่าวว่า ถ้าเลื่อนลำโพงเข้าชิดผนังหลัง ปริมาณเบสจะเยอะ และเมื่อดึงห่างออกมา เบสจะบางลง ซึ่งในความเป็นจริง ผมพบว่าไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป อยากให้ลองฟังการกระจายตัวของความถี่เสียงที่ระบบสามารถให้ได้มากกว่า ถึงตรงนี้ หลายท่านอาจจะงง มันคืออะไร

อย่างที่ผมแนะนำไปข้างบน การฟังเสียงเบส ผมจะบอกให้ฟังที่ความสมดุลของโน๊ตเสียงดนตรี ซึ่งถ้าเราได้ยินแต่ละเครื่องดนตรี ชัดเจน ดังในปริมาณที่สมดุลกัน แปลว่าปริมาณของเสียงแต่ละความถี่สมดุลกันดี ซึ่งเสียงเบสก็เป็นเช่นเดียวกัน เมื่อเราถอยลำโพงชิดผนังมากไป ปริมาณ เบสต้นมักจะโด่งนำหน้าเบสลึก เราจะรู้สึกมีเสียงเบสมาก แต่ติดตามรายละเอียดไม่ได้ เมื่อดึงห่างผนังหลังออกมา เบสต้นที่เคยบวม จะลดลง เราจะได้ยินเบสลึกๆ ที่เป็นฐานเสียงให้ดนตรีทั้งวงชัดเจนขึ้น เบสลึกนี้จะต่ำกว่าโน๊ตดนตรี แต่เป็นฮาร์โมนิคจากเครื่องดนตรี ดังนั้นเราต้องสามารถรับรู้ความแตกต่างของแต่ละโน๊ตได้ เหมือนถ้านักดนตรีดับเบิลเบสเล่นโน๊ต C ฮาร์โมนิคต่ำๆ ของตัวดับเบิลเบสมันก็ต้องเป็น C ที่ต่ำลงมาด้วยเช่นกัน และเมื่อนักดนตรีเล่น D ฐานเบสที่ได้ยินมันก็ต้องเป็นฮาร์โมนิคมาจาก D ซึ่งมันควรจะรับรู้ได้ว่ามันต่างกันกับ C ซึ่งในความเป็นจริงมันอาจไม่ตายตัวขนาดนั้น แต่เราจะรับรู้ความแตกต่างของฐานเสียงในแต่ละโน๊ตได้ ซึ่งถ้ามันรู้สึกหึ่งๆ อื้ออึงอยู่ความถี่เดียว เสียงเดียว แปลว่ามีบางอย่างผิดปรกติแล้ว เช่น ระยะห่างไม่เหมาะสม หรือเปิดดังไป หรือมีสัญญาณกวนจากระบบไฟเข้าซับฯ แล้ว ซึ่งตำแหน่งซับที่ถูกต้องคือถอยห่างผนังหลังเท่าที่เราเริ่มได้ยินรายละเอียดของฐานเสียงเบสที่สามารถแยกแยะความแตกต่าง และติดตามรายละเอียดได้ ยิ่งแยกลงได้ลึกเท่าไหร่ ก็แสดงว่าชุดเราสามารถแจกแจงรายละเอียดได้ดีมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเราจะพบว่าตอนเล่น 2ch ถ้าเปิดดังไป รายละเอียดตรงนี้จะเริ่มหายไป เพราะ woofer ขยับตัวเกินขีดจำกัด และเมื่อเพิ่ม subwoofer เราควรต้องขยายข้อจำกัดด้านความถี่ต่ำให้สะอาดชัดเจนลงไปถึงความถี่ที่ต่ำกว่าลำโพงหลักเดิม จึงจะเรียกว่า มาถูกทาง ถ้าใส่ซับฯแล้วแยกแยะรายละเอียดได้น้อยลง แปลว่าซับฯ กำลังรบกวนการทำงานของชุด 2ch เดิม แปลว่า ปริมาณบางความถี่มากเกินไป คือ ระยะวางไม่ถูก หรือ เปิดซับฯ ดังเกินไป เพราะจุดตัด ในเมื่อเราใช้ active crossover ในตัว KEF ตัดที่ 80Hz ทั้งลำโพงหลัก และ ซับฯ แล้ว ความชันควรจะเหมาะสมกันดีแล้ว ถ้าเสียงจะไม่กลมกลืนกัน ต้องมาจาก ตำแหน่งวาง และ ความดัง ที่ไม่เหมาะสมแล้ว ซึ่งวิธีนี้สามารถนำไปปรับใช้กับการเซทชุด 2.1 อื่นๆ ได้เช่นกัน ซึ่งเมื่อเซทได้ชำนาญแล้วจะพบว่าสามารถประหยัดเงินในกระเป๋าไปได้ไม่น้อย เพราะชุด 2.1 ที่เซทลงตัว มักมีคุณภาพเสียงต่อราคาที่ถูกกว่าชุด 2ch ที่ให้คุณภาพเสียงเท่าเทียมกัน

เมื่อเซทอัพตำแหน่งลำโพงโดยละเอียดเสร็จแล้วก็มาถึงขั้นตอนการฟังทดสอบ ซึ่งผมจำลองการใช้งานของคนทั่วไปด้วยการเปิดเพลงจาก youtube ลองศิลปินไทยอย่างน้อง Alley บ้าง ในเพลงแรกลองเพลง At my worst https://youtu.be/2uaYCcH_i4I?si=xGJEzqD3gNB0ZqVW ที่ได้ร้องกันเจ้าของเพลง แถมยังร้องสดกับเปียโนจาก โต๋ อารมณ์เพลงจะมีความเอื้อนเสียงแบบ R&B เข้ามาผสมเล็กน้อย มีความหวานตลบอบอวลเหมือนบรรยากาศเพลงงานแต่งงาน เสียงเปียโนมีความสดใสกังวาลเป็นธรรมชาติดี เสียงร้องของ pink sweats จะมีความขุ่นกว่าที่คุ้นเคย พบว่าสาเหตุน่าจะมาจากในต้นฉบับ เข้าใจว่าใช้ไมค์คอนเดนเซอร์ซึ่งจะเก็บรายละเอียดย่านกลางสูงได้ดีกว่า ทำให้เสียงร้องมีความสดใสกว่า และเพื่อความมั่นใจทำให้ต้องลองหา At my worst มาลองฟัง https://youtu.be/8CEJoCr_9UI?si=Y9VXs8AiCzU8AG1r

ซึ่งพบว่า ในเสียงดนตรีที่มีความสดใส เสียงร้องจะมีการใส่ chest tone ให้มีฐานเสียงรู้สึกอบอุ่นขึ้นมา แนวๆ ถ้าให้นึกถึงเพลงไทย คงจะเป็นนึกถึง ชายคนหนึ่ง ของ ปีเตอร์ คอปฯ ที่เพิ่มความสดใสขึ้นมาอีก 3 เท่า แต่ยังมีความรู้สึกอบอุ่นของเสียงร้องอยู่

ในเพลง Make it hot

จะพบซาวน์เครื่องดนตรีที่เป็นอิเล็คทรอนิค หางเสียงห้วนสั้น

ส่วนใน piano version

ดนตรีจะดึงให้ซอฟลงมา คือยังมีความสดใส แต่ไม่ขนาดต้องลุกขึ้นมาเต้น เสียงร้อง Alley จะฟังออกถึงความต่างของไมค์ชัดเจน คือเสียงจะไม่ใสแบบในห้องอัด แต่จะได้เนื้อเสียงเพิ่มขึ้นมาแทน

ซึ่งความแตกต่างระหว่างแต่ละคลิปที่สามารถแยกแยะรายละเอียดของเสียงร้อง ต้องยกให้เป็นความดีของลำโพง KEF LSX II LT ที่สามารถแจกแจงรายละเอียดย่านเสียงร้องได้ดี สามารถบอกความแตกต่างของรายละเอียดเทคนิคการร้อง ชนิดของไมค์ รวมถึง วิธีการจับไมค์ ซึ่งนักร้องที่จับแบบเอามือหุ้มมาที่หัวไมค์ ก็จะมีย่านความถี่กลางต่ำเพิ่มเข้ามาให้รู้สึกได้ทันที เรียกว่าเครื่องเสียงที่ดี ต้องสามารถถ่ายทอดสไตล์ความชอบของตัวศิลปินแต่ละคนที่เค้าต้องการสื่อสิ่งที่อยากให้คนฟังได้ยินออกมาให้เราสามารถรับรู้ได้ ปิดท้ายการเล่น Youtube ด้วยเพลง ลึกสุดใจ Piano&I https://youtu.be/pnym_YSDMII?si=qFmEOktgWFu2TV4z เสียงเปียโนที่มีมิติกว้าง ลึก มากกว่าเปียโนในอัลบัม ที่ต้องหลบให้เสียงกีต้าร์โปร่ง และเสียงพี่ก้องที่มีอายุมากขึ้น มีความสุขุมนุ่มลึกมากขึ้น ทำให้มีความน่าฟังมาก รู้สึกถึงการถ่ายทอดอารมณ์ที่มาจากความทรงจำที่อยู่ในส่วนลึกๆ ออกมาได้เป็นอย่างดีตอนแรกคิดว่าถ้าได้ Cello สักตัวมาสีไลน์เครื่องสายน่าจะออกมาสวยงามมากแต่เมื่อลองย้อนฟังอีกรอบก็พบว่าเปียโนตัวเดียวก็เพียงพอแล้ว KEF LSX II LT เมื่อเล่นแบบ 2.1 สามารถถ่ายทอดรายละเอียดได้ตั้งแต่โน๊ตสูงๆ ที่พริ้วไหวของเปียโนงลงมาถึงฮาร์โมนิคต่ำๆ ของแกรนเปียโนให้ครอบคลุมเนื้อหาสาระของเพลงได้เป็นอย่างดี

หลังจากนั้นเปลี่ยนมาเป็นการ Streaming โดยเพิ่มดีกรีความยากขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นเพลงประกอบภาพยนต์ Beauty and the beast หรือจะเป็นละครเวทีอย่าง Love never dies ก็สามารถถ่ายทอดอารมณในการร้องออกมาได้เป็นอย่างดี และต่อให้เป็น Beethoven Symphony No. 9 ก็สามารถถ่ายทอดความยิ่งใหญ่ออกมาได้สมตัว ซึ่งหากใช้งาน KEF LSX II LT เดี่ยวๆ อาจไม่สามารถเติมเสียงวง Symphony ได้ยิ่งใหญ่เต็มห้อง 4*4 ม. ต้องอาศัย subwoofer ช่วย แต่ก็เป็นเรื่องที่คาดหวังไว้แล้ว เพราะในงบประมาณเท่านี้ก็มักจะเล่นได้แต่ลำโพงเล็ก ซึ่งลำโพงเล็กในระดับราคานี้ ก็ยังไม่สามารถถ่ายทอดสเกลเสียงขนาดใหญ่ของซิมโฟนีได้ ต้องอาศัยการเล่น 2.1 ถึงจะพอมีความเป็นไปได้ ซึ่ง KEF LSX II LT นับว่าทำได้น่าประทับใจดี และจากสเป็คลำโพงที่ระบุให้ใช้ในห้อง 5-40 ตรม ดูจะเป็นคำแนะนำกว้างๆ สำหรับใช้ฟังเพลงเบาๆ ในรูปแบบ Background music มากกว่า เพราะ 40 ตรม นี่ต้องห้องเป็นห้องขนาด 5 คูณ 8 เมตร ซึ่งน่าจะใหญ่เกินไปที่จะเล่นในระดับความดังใกล้เคียงการแสดงดนตรีจริง ถึงแม้จะเล่นแบบ 2.1 ก็ตาม

ต่อมาเนื่องจาก KEF มีช่อง HDMI จึงเชื่อว่ามีผู้ใช้จำนวนไม่น้อยเอามาใช้ดูหนัง ซึ่งเข้าใจว่าถ้าอยากดูหนังให้ได้อรรถรสก็ควรเล่นในลักษณะ 2.1 ซึ่งผมได้ลองเปิด Pirate of the Carribian จาก Disny+ ด้วยความดังฉากปรกติแถวๆ 70dB (วัดคร่าวๆ ด้วยมือถือที่จุดนั่งฟัง) ซึ่งฉากที่เสียงดังหน่อยมีสวิงไปถึง 90dB ก็พบว่ายังทำงานได้ดี ไม่พร่าเพี้ยนอะไรดูหนังสนุกกว่าซาวน์บาร์ขึ้นมาอีกหลายระดับ ซึ่งน่าจะเหมาะกับจอราว 50-85 นิ้ว น่าจะกำลังดี ทดลองต่อ Apple TV เข้า TV และให้เสียงออกทาง HDMI(ARC) จาก TV ไปที่ลำโพง KEF สามารถส่งเสียงออกไปได้เรียบร้อยดี เปิดดู Star Wars Bad Batch ก็พบว่าเสียงต่างๆ มีความชัดเจนดี แต่หากต้องการเปลี่ยน setting ของลำโพง ต้องเปลี่ยน input เป็น Bluetooth และ ต่อ KEF connect กับมือถือก่อน การดูหนังโดยไม่ใช้ซับฯ พบว่าให้คุณภาพเสียงกลางได้ดีกว่า TV และ sound bar ขึ้นไปอีกระดับ ในส่วนของเสียงเบส ปริมาณอาจไม่มากเท่าซาวน์บาร์ที่มีซับฯตัวใหญ่ๆ ให้มาด้วย แต่มีความกระชับ กลมกลืนกับย่ายเสียงกลางได้ดี เสียงพูดมีความชัดเจน โดยเมื่อเปิดใช้งานซับฯ เสียงจะมีฐานเสียงที่ทรงพลังมาเสริมให้ซึ่งจะทำให้เราสามารถรับรู้ได้ถึงขนาดห้อง หรือสเกลเสียงความใหญ่โตของโถงพื้นที่ในแต่ละฉาก เช่นฉากในห้องก็จะรู้สึกว่าเล็กกว่า หรือโถงทางเดินจะก้องมากกว่า และเมื่อเป็นลานจอดยานที่เหมือนโกดังขนาดใหญ่ ก็รับรู้ได้ถึงความใหญ่ ที่ต่างจากพื้นที่เปิดด้านนอกฐานทัพ ซึ่งต้องบอกว่า Star Wars Bad Batch เป็น Animation ดังนั้นเสียงทั้งหมดเป็นการสังเคราะห์ขึ้นทั้งนั้น แต่การที่เสียงในทุกย่านความถี่มีความสะอาด ทำให้เราได้ยินถึงรายละเอียดของแต่ละฉาก ทำให้เราสามารถจิตนาการได้ถึงสถานที่ในฉากนั้นๆ ได้เหมือนไปอยู่ในสถานที่จริง

ถัดมาเป็นส่วนของการทดสอบใช้งาน KEF LSX II LT ควบคู่กับเพลทรองสำหรับตั้งโต๊ะรุ่น P1 Desk pad ซึ่งการปรับค่าของ KEF Connect จะพบลำโพงเมื่ออยู่ใน Network เดียวกัน ไม่สามารถต่อ Bluetooth แล้วสั่งได้ เนื่อจากตอนลองเปลี่ยนมาใช้งานแบบตั้งโต๊ะ ตอนแรกตั้งใจจะเชื่อมต่อระหว่าง Notebook กับลำโพงด้วย USB C จึงไม่ได้เสียบสาย LAN เข้ากับตัวลำโพง และตั้งใจจะเซทค่าง่ายๆ จาก KEF Connect ในโทรศัพท์มือถือ ด้วยการต่อ Bluetooth พบว่า สามารถเชื่อมต่อได้ เปิดเพลงจากมือถือได้ แต่ใน KEF Connect จะไม่พบลำโพง ไม่สามารถเซทค่าอะไรได้ แต่เมื่อเสียงสาย LAN ปุ๊ป KEF Connect ก็พบลำโพงปั๊บ สามารถเข้าไปเซทค่าได้ทันที ซึ่งในการใช้งานแบบตั้งโต๊ะ จะมี Desk mode ซึ่งจะมีการเซทค่าเริ่มต้นมาที่ -3dB ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการลดความดังของเสียงความถี่ต่ำลง เนื่องจากสภาพอคุสติกที่มีตัวโต๊ะช่วยสะท้อนเสียงเบสขึ้นมาเสริม คล้ายการที่เราเอาลำโพงวางที่มุมห้อง ซึ่งโต๊ะที่ผมทำการทดสอบก็เป็นโต๊ะพลาสติกพับง่ายๆ ขนาด ลึก 80 ซม. กว้าง 2 เมตร วางชิดผนังปูนด้านหลังลำโพง จำลองการใช้งานแบบ Home studio ที่โต๊ะทำงานวางชิดผนัง ผู้ใช้งานนั่งหันหน้าเข้าผนัง ซึ่งเมื่อนั่งกึ่งกลางความกว้างโต๊ะ ลำโพงจะอยู่ห่างหูราวๆ 1 ช่วงแขน หรือประมาณ 1 เมตร โดยหน้าลำโพงจะห่างจากกำแพงด้านหลังราว 1 ฟุต โดยวางเป็นระยะราวๆ 3 เหลี่ยมด้านเท่า โทอินหน้าลำโพงเข้าหาผู้ฟัง เนื่องจากเป็นการฟังแบบ Near field พบว่าเมื่อวางลำโพงบนโต๊ะตรงๆ ถึงแม้ตัวลำโพงจะมีขายางเล็กๆ ติดมาใต้ตู้ สามารถวางได้มั่นคงเรียบร้อยดีแล้ว แต่ตำแหน่ง Tweeter จะอยู่ต่ำกว่าหูอยู่ร่วมฟุต ทำให้เสียงแหลมดูจะมีปริมาณน้อยไปนิด ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่โตอะไรมากมาย เนื่องจาก KEF Connect สามารถปรับชดเชยเสียงแหลมได้ที่ Treble trim ซึ่งค่าเริ่มต้องเป็น 0 dB ซึ่งเมื่อทำการปรับตำแหน่งให้เหมาะสม และทำการปรับจูนด้วย KEF Connect แล้วพบว่าลงตัวที่ Desk Mode -3.5 dB และ Treble trim +0.5dB จะได้ปริมาณเสียงในแต่ละย่านที่มีความชัดเจนกลมกลืนกัน ซึ่งค่านี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ผมพบว่ามีความลงตัวกับสภาพอคุสติกภายในห้องทดสอบเท่านั้น หากนำไปใช้ในห้องอื่น ค่าอาจต่างจากนี้ไปได้

ซึ่งเท่าที่ดูค่าที่สามารถปรับได้ใน KEF Connect น่าจะเพียงพอสำหรับใช้งานในสภาพอคุสติกทั่วไปแล้ว หากท่านพบปัญหาว่าช่วงกว้างของการปรับตั้งไม่มากพอไม่สามารถปรับให้ได้เสียงที่ต้องการได้ อาจต้องกลับมาทบทวนว่า สภาพอคุสติกในห้องมีสภาพสุดโต่ง เช่นซับ หรือ สะท้อนความถี่ไหนมากผิดปรกติ หรือ รสนิยมของท่าน ต้องการเสียงย่านใดย่านหนึ่งมากเกินสมดุลหรือไม่ ซึ่งในการใช้งานรูปแบบนี้ ผมจะทดสอบแบบไม่ใช้ Subwoofer เนื่องจากการฟังระยะใกล้ ใช้ความดังน้อยกว่า และด้วยสภาพอคุสติกของโต๊ะและผนังหลังที่มีการเสริมพลังงานเสียงเบสอยู่แล้ว ทำให้ต้องปรับลดเบส เพิ่มแหลมอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยมีความจำเป็นที่จะต้องใช้งาน Subwoofer เว้นเสียแต่ว่าท่านต้องการฐานความถี่ต่ำแบบสั่นสะเทือนมาจากพื้น อาจสามารถนำ Subwoofer มาวางใต้โต๊ะใช้งานร่วมกันได้ และเนื่องจากทางผู้แทนจำหน่ายได้ส่งขาตั้งรุ่น P1 Desk pad มาให้ด้วย ซึ่งตัว P1 นี้จะเป็นเพลทโลหะสามารถขันสกรูยึดเข้ากับลำโพง เพื่อยกให้สูงขึ้นจากพื้นโต๊ะอีกเล็กน้อย และมีการออกแบบให้เอียงหน้าลำโพงขึ้นเล็กน้อย เพื่อชดเชยระยะที่ Tweeter ของลำโพงซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับหู เป็นการปรับให้มุมการกระจากเสียงของ Tweeter เข้าใกล้ตำแหน่งหูมากขึ้น ซึ่งผลที่ผมคาดหวังไว้ก่อนจะต่อใช้งาน P1 คือคาดว่าเสียงแหลมจะเยอะขึ้น ซึ่งก็เป็นไปตามคาด คือเมื่อใช้งาน P1 แล้ว เสียงแหลมที่เคยปรับชดเชยไว้ที่ +0.5dB ก็ต้องลดลงมาเป็น +0.25dB เพราะถึงแม้จะปรับมุมเงยขึ้นมาแล้ว แต่ก็ยังต่ำกว่าหูเล็กน้อย ซึ่งในการฟังแบบ Near field จะได้ยินความแตกต่างตรงจุดนี้ได้ค่อนข้างชัดเจน แต่จุดที่เหนือความคาดหมายคือ เสียงเบส เนื่องจากเมื่อใส่ P1 เข้าไปแล้วพบว่าเบสที่ได้มีความสะอาดกระชับมากขึ้น และมีปริมาณมากขึ้นด้วย ซึ่งทำให้ต้องปรับ Desk mode จาก -3dB เป็น -4dB และเบสที่ได้ก็ยังมีความแน่นกระชับมากขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดเจนซึ่งเหตุผลที่เป็นเช่นนี้เนื่องจาก P1 มีการออกแบบที่มีสปริงรองหัวสกรูที่ใช้ยึดกับตัวตู้ลำโพงด้วย ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแยกแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากตัวลำโพงให้ส่งผ่านมาที่ผิวหน้าโต๊ะน้อยลง และขนาดของฐานที่มีความกว้างมากขึ้น ทำให้ตำแหน่งขายางทั้ง 4 จุดของฐานอยู่ห่างกันมากขึ้น เป็นการขยายขนาด Foot print ของลำโพงให้กว้างขึ้น ทำให้ลำโพงตั้งได้มั่นคงขึ้น และกระจายแรงสั่นสะเทือนลงไปบนโต๊ะในบริเวณที่กว้างขึ้น เสียงเบสจึงสะอาดขึ้น เพราะเสียงรบกวนจากโต๊ะลดลง และเมื่อเสียงสะอาดขึ้นก็จะรู้สึกว่าเสียงเบาลง จึงสามารถเพิ่มความดังของลำโพงได้ ซึ่งเมื่อเพิ่มความดังขึ้นโดยที่ความเพี้ยนลดลง ก็จะสามารถได้ยิน ไดนามิค และรายละเอียดของดนตรีที่มีความอิ่มเข้ม เต็มความรู้สึกมากกว่าเดิม ซึ่งเมื่อต่อใช้งาน P1 แล้ว ผมพบว่าเพียงพอกับการใช้งานแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ Subwoofer แล้ว

ดังนั้นหากต้องการใช้ KEF LSX II LT ในลักษณะตั้งบนโต๊ะทำงาน ฟังเป็น Near field monitor หากฟังลำโพงเดิมๆ แล้วเบสยังไม่สะใจ อยากจะเพิ่ม Subwoofer แนะนำเป็นอย่างยิ่งว่าต้องลอง P1 Desk pad ก่อน เพราะให้ผลเป็นที่น่าพอใจมากในเรื่องของคุณภาพเสียงที่ได้ ยกเว้นท่านต้องการลมจาก Subwoofer มาปะทะขนหน้าแข้ง ซึ่ง P1 ไม่สามารถให้ได้เนื่องจากเสียงจะรับรู้ได้จากลำตัวช่วงบนเท่านั้น แต่ถ้ามองที่คุณภาพเสียงทุกย่านที่ได้เพิ่มขึ้นมา และความง่ายในการใช้งานที่ไม่จำเป็นต้องปรับจูนมากเหมือนการต่อใช้งาน Subwoofer แล้ว P1 ถือเป็นคำตอบที่ออกแบบมาส่งเสริมคุณภาพเสียงของ KEF LSX II LT เมื่อวางใช้งานบนโต๊ะได้เป็นอย่างดี ซึ่งถึงแม้สุดท้ายปลายทางท่านตั้งใจจะใช้งานแบบ 2.1 มี Subwoofer แน่ๆ ก็ยังสมควรใส่ P1 Desk pad ก่อน แล้วค่อยเติม Subwoofer เนื่องจากการใส่ P1 จะช่วยยกระดับทั้งเสียง เบส กลาง แหลม ให้มีความชัดเจนมีคุณภาพมากขึ้นทั้งหมดทุกย่านความถี่ ซึ่งถึงแม้การฟังแบบ Desktop near field monitor จะให้ขนาดสเกลของเวทีเสียงที่เล็กกว่าการฟังแบบ 2.1 บนขาตั้ง S1 Floor stand แต่ยังคงให้คุณภาพเสียงได้น่าประทับใจในระดับที่เหนือความคาดหมายสำหรับลำโพงราคาขนาดนี้ไปค่อนข้างมาก ซึ่งเรียนตามตรงว่าก่อนหน้านี้ หากมีคนมาถามผมให้แนะนำเครื่องเสียงในงบ 5 หมื่น ในความคิดผมจะมีแต่ความพยายามจะจับคู่ลำโพงเล็กงบราวๆ 2 หมื่นบาท กับอินทิเกรทแอมป์ในงบ 2 หมื่นบาท ที่หลายครั้งต้องมองหารุ่นที่มี DAC ในตัวด้วย ซึ่งถ้าเป็นหลังจากนี้ ถ้ามีคำถามเดิม ผมน่าจะถามกลับไปว่า “อยากเล่นแผ่นเสียง หรือ จำเป็นต้องใช้แหล่งสัญญาณอนาล็อกบ้างไม๊?” ถ้าคำตอบคือ ไม่มี ก็สามารถจบที่ KEF LSX II LT ได้ ส่วนถ้าจะเล่นแผ่นเสียงก็เพิ่มงบอีกหน่อยไปที่ KEF LSX II ซึ่งเหมือนกันแทบทุกอย่างแต่เพิ่มช่องอนาล็อกทำให้สามารถต่อเครื่องเล่นแผ่นเสียงได้ และถ้าถามว่า “จำเป็นต้องเพิ่ม Subwoofer ไม๊” คงจะตอบว่า ถ้าใช้งานบนโต๊ะ แค่ KEF LSX II LT+P1 Desk pad ก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าต้องการนำไปใช้เป็นชุดฟังเพลงหลัก หรือต่อใช้งานร่วมกับทีวีขนาดใหญ่ นั่งห่างออกมา 2-3 เมตร ต้องการเสียงสเกลใหญ่เต็มห้อง ก็จะแนะนำว่าให้ใช้ KEF LSX II LT+S1 Floor stand+Subwoofer ดีๆ สักตัว ก็สามารถได้ชุดฟังเพลงที่มีคุณภาพคุ้มราคามากๆ ชุดหนึ่งซึ่งมีความเรียบง่ายใช้งานสะดวกมากๆ ครับ