What HI-FI? Thailand

Test Report: JBL STUDIO 180

Test Report: JBL STUDIO 180

(มีใครกินยาผิด !)

ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

                STUDIO 180 เป็นลำโพงวางพื้นรุ่นล่าสุดจาก JBL อเมริกาที่เก่าแก่กว่า 60 ปี เป็นหนึ่งในตระกูล STUDIO 1 ออกแบบเพื่อการฟังเพลงได้อย่างถูกใจ และดูหนังได้อย่างสมจริง

ดอกลำโพงเสียงแหลมโดม CMMD (โดมโลหะกับเซรามิก) ที่แกร่งแต่เบา โดยมีการเว้าบริเวณด้านหน้าดอกเป็นวงรีแบบ 2 วง ตั้งฉากกันเรียก Bi-Radial waveguide ช่วยควบคุมการกระจายเสียง และลดการสะท้อนในห้อง ให้บริเวณนั่งฟังได้กว้างในแนวนอน ดอกลำโพงเสียงกลางกรวย PolyPlas ขนาด 4 นิ้ว ดอกลำโพงเสียงทุ้มกรวย PolyPlas 6 ? นิ้ว ทั้ง 3 ดอก มีการป้องกันสนามแม่เหล็กกวนจอภาพ ระบบลำโพงเป็นแบบ 3 ทาง ขั้วลำโพงชุบทองไบ-ไวร์ (binding post) วงจรแบ่งความถี่ SSP (Straight-Line Signal Path) ให้เสียงตอบสนองความถี่ได้ราบรื่นทั้งมุมฟังแนวตั้งและแนวนอน

สเปคจากโรงงาน

ความถี่ตอบสนอง                                   45 Hz ~ 22 kHz (-3 dB)

จุดแบ่งความถี่ที่                                      800 Hz, 3.2 kHz (6 dB/octave)

แนะนำให้ใช้กับภาคขยายไม่เกิน         200 W

ความไว (2.83 V/1 เมตร)                     89 dB

รับกำลังขับได้                                          90 W. ต่อเนื่อง/360 W. สวิงสูงสุด

ความต้านทาน                                         8 โอห์ม

ขนาดตู้ (สูง x กว้าง x ลึก)                    40 x 7 7/8 x 13 1/8 นิ้ว

หนัก                                                           17.5 กิโลกรัม

การทดสอบ

จากเครื่องเล่น CD T+A D10 (หลอด) ออกสายเสียง Madrigal CZ-Gel 2 (RCA) เข้าช่อง Input 5 ของอินทีเกรทแอมป์ Mark Levinson No.383 (100 W/CH ที่ 8 โอห์ม, 200 W.RMS/CH ที่ 4 โอห์ม) ออกสายลำโพง Furukawa S-2 (ตามทิศ) แยก 2 ชุด เข้าแหลม 1 ชุด, ทุ้ม 1 ชุด ไม่ให้สายแตะกัน ยกสายสูงหนีพื้นห้องด้วยตั้งหนังสือพิมพ์สูง                1 คืบ และอีกตั้งหนัก 6 กก. ทับบนสาย หัวสาย WBT บานาน่าด้านลำโพง, WBT หางปลาเงินด้านแอมป์ สายไฟ AC ไม่ให้แตะกัน ฟังทดสอบทิศทางขาเสียบ ระวังมิให้สายไฟแตะกัน เต้าเสียบตัวเมียที่ผนังเป็นฮับเบลสีส้ม (สายไฟ AC ของ No.383 เสียบอยู่)

ลำโพงซ้าย, ขวา ห่างกันประมาณ 2.2 เมตร ห่างจากจุดนั่งฟังประมาณ 3.6 เมตร ห้องฟังประมาณ 3.85 x 9 x 2.2 เมตร บุฟองน้ำเก็บเสียง Sonex (สีขาว) จากเยอรมันทั้ง 4 ด้าน พื้นปูพรม มีของเยอะพอควร ไม่มีปัญหาก้อง ไม่ใช้รีโมท, ไม่มีจอ LCD/PLASMA, PC หรือมือถือ ปิดทุกเต้าเสียบตัวเมียที่ไม่ใช้ในห้องด้วยแผ่นกันสนามแม่เหล็ก

เอียงลำโพง (TOE IN) ทีละนิดให้ได้ทั้งเสียงครบและมิติเสียงโฟกัสเป็นตัวตนที่สุด เอาหน้ากากออกปกติ

ปรับแอร์ไม่ให้ยิงลมมาโดนลำโพง (แอร์อยู่ตรงกลาง ระหว่างลำโพงทั้งสอง) จากแผ่นทดสอบของ The Absolute Sound TAS 2005, แผ่น “SIMPLY THE FINEST” Silk Road Music CD PRE-MASTERED AND ENHANCED BY PAULER ACOUSTICS (SRM 001 CD), แผ่น “ROUND MIDNIGHT” ของ JAIME VALLE (Top Music), แผ่น PUREST AUDIO NATURAL DYNAMICS DR11 VOL.1 (UNCOMPRESSED WORLD)

STUDIO 180 ให้เสียงได้น่าตื่นใจมาก เสียงทั้งหมดมีพลัง แน่นเปรี๊ยะ ไล่ตั้งแต่ทุ้ม, กลาง, แหลม ให้ทรวดทรงเสียงได้ดีตั้งแต่ทุ้มถึงแหลมล่าง แต่แหลมขึ้นไปยังออกแบนไปหน่อย เสียงทั้งหมดมีพลัง ตื่นตัวดุจไปฟังการแสดงสด ทุ้มอิ่มแน่นลึก เหมือนใส่ตู้ซับ 10 นิ้ว ACTIVE เสริมทุ้ม, กลาง, แหลม เชื่อมต่อเป็นเนื้อเดียวกันได้ดีมาก ที่เด่นชัดคือ ช่วงกลางถึงสูงเป็น “หนึ่งเดียว” โดดเด่นกว่า การใช้ดอกลำโพงเสียงกลางขนาดใหญ่กว่านี้ (ใหญ่กว่า 4 นิ้วขึ้นไป) ทำให้สามารถถ่ายทอด “อากัปกิริยา” ของการเล่นดนตรี ไม่ว่าเครื่องเป่า (แซกโซโฟน), เครื่องสี (ไวโอลิน, เชลโล), เสียงร้องออกมาอย่างมีอ่อนแก่ ทอดถอนจีบปากจีบคอ สอดใส่อารมณ์ได้ดีมาก ทำให้ฟังแล้วเพลินดีมากๆ (4 ชั่วโมงผ่านไปโดยไม่รู้ตัว) เสียงเกา, ดีดดับเบิ้ลเบสต้องพูดว่า “มันส์และอร่อย” มาก เสียงสีไวโอลินไล่คีย์ไปมาต่อเนื่องอย่างยิ่ง STUDIO 180 ให้ปลายแหลมที่ขึ้นได้สูง (น่าจะไม่ตำกว่า 28 kHz) ทุ้มที่อิ่มแน่น กระชับ ลงลึก บางเพลงยังกับใส่ซับ 15 นิ้ว! ไม่รู้สึกว่าทุ้มแยกตัวไปจากกลางกับแหลม มันเหมือนออกมาจากจุดเดียวกัน ลำโพงล่องหนเหมือนเสียงไม่ได้ออกมาจากดอกลำโพงเลย ให้รายละเอียดได้ดีแบบไม่จงใจเน้นให้ความกังวานได้ดีมาก ไม่ผสมปนเประหว่างความกังวานที่ตรงออกมาจากชิ้นดนตรี กับความกังวานของทั้งวง ความกังวานวิ่งหายลับไปหลังเวทีได้ ให้เสียงกว้างมาก, หลุดลอยออกมา และลึกเข้าไปหลังเวที สูง-ต่ำดี แผ่นไหนเพลงไหนที่บันทึกแบบเสียง 3 มิติ เซอราวด์ ก็จะเป็นเซอราวด์เลย มีเสียงโผล่มาอยู่ด้านหลังเราได้ด้วย ให้การสวิงเสียงค่อยสุดไปดังสุดได้กว้างดี ที่ทึ่งมากคือ มันฟ้องความแตกต่างของการบันทึกดี-เลว ของแต่ละแผ่นแต่ละเพลงได้เด่นชัดเอามากๆ แสดงถึงความเป็นกลางเอามากๆ ของมัน ว่าไปแล้ว ฟัง STUDIO 180 แล้ว นึกถึงลำโพงวางพื้นค่ายยุโรปอีกคู่ที่ราคาลดแล้วแสนกว่าบาท โอเค STUDIO 180 คงเป็นรองอยู่บ้าง แต่เป็นใครฟังเทียบแล้วก็ต้องบอกว่า STUDIO 180 ก็เหลือกินแล้ว เมื่อเทียบกัน (ราคาห่างกันเกือบ 6 เท่า !)

แผ่นระนาดเอก (ไทลำภู) เพลง 3 เสียงตีระนาดเป็นเม็ดๆ ดีมาก เสียงฉิ่งสดกังวานสั่นพลิ้ว มีน้ำหนักดีทีเดียว หลุดลอยออกมาหาเรา บางครั้งเหมือนมีลมหายใจของตัวโน้ต (AIRY) น่าสังเกตว่า ไม่ว่าจะเป็นระนาด, กลองแขก, ฉาบ ทั้งหมดให้หัวโน้ตได้ดีหมด นาทีที่ 2:30 ดนตรีทั้งหมดเร่งเร้าขึ้น แต่จังหวะจะโคนก็ยังสอดรับเป็นเนื้อเดียวกันได้ดี (Rhythm) เพลง 4 ขึ้นต้นเสียงระนาดมีหางเสียงกังวานเล็กน้อย ซึ่งไม่เคยสังเกตว่ามีจากลำโพงแทบทั้งหมด เสียงระนาดเป็นเม็ดๆ ดี หัวโน้ตชัดแต่ไม่เกินเลย สังเกตว่า หัวโน้ตกับตัวโน้ตซ้อนทับเป็นก้อนเดียวกันได้ดีเยี่ยม (ผลจากการใช้ดอกลำโพงเสียงกลาง 4 นิ้ว ที่ตามดอกแหลมทัน) ช่องไฟก็ดี ตลอดเพลงสังเกตให้ดีจะมี AIRY กับแทบทุกเสียง เพลง 5 ขึ้นต้นสงัดใช้ได้ ตามด้วยเสียงตีระนาดเป็นเม็ดและแฝงรายละเอียดซ้อนอยู่ได้ดีมาก นาทีที่ 0:42 เสียงระนาดชัดดีมาก (จริงๆ ไม่แน่ใจว่าเป็นเสียงฆ้องหรือเปล่า มีเสียงก้องนิดๆ ของช่องว่างในโลหะที่หนา) ช่วงหลายๆ เสียงประดังขึ้นมา ก็ไม่มั่ว แยกแยะได้ดีตลอดเช่นกัน ให้จังหวะจะโคนสอดรับกันได้ดี เพลง 6 ขึ้นต้นเสียงตีระนาดเป็นเม็ดๆ ตลอด และอยู่ลึกไปหลังเวที STUDIO 180 ให้เสียงโดยรวมออกเป็นกลางแต่มีเนื้อหนังน้ำหนักตื่นตัว ให้การสวิงเสียงอ่อนแก่ได้ดี (DYNAMIC ดี) ความกังวานดีแบบแยกแยะได้ ! ลำโพงล่องหนได้ดีมาก ขึ้นต้นเพลง 7 ยิ่งสังเกตเสียงอณูอากาศแตกตัวของเสียงระนาดได้ดีเป็นพิเศษ เพลง 8 ขึ้นต้นเสียงกลองตะโพนให้ทุ้มอิ่มแน่นลงลึกกระชับไม่เฟอะฟะ ตามด้วยเสียงตบหน้ากลองไล่จากขวาไปซ้ายที่ชัด มีน้ำหนักกว่าทุกครั้ง

แผ่น Rhythm Basket, A Tasket, A Tisket, A Child’s ของ Brent Lewis เพลง 2 เสียงตีกลองท่อมีมวลทรวดทรงกำลังดี ไม่ผอม ไม่แบน ไม่อวบเกิน ให้ความกังวานดี ตอบสนองฉับไวกำลังดี เสียงต่างๆ มีมวลดีหมด ให้สุ้มเสียงที่ “ครบ” ในด้านเนื้อมวลเสียง (Harmonic ครบดี) นาทีที่ 2:29 เสียงเขย่าลูกกระพรวนเป็นเม็ดๆ ดี พูดง่ายๆ ว่า ทุกเสียงมีทรวดทรงดีหมด (ตอนนี้ลำโพงเบิร์นอินดีขึ้น) เพลง 4 ขึ้นต้นเสียงพายเรือวักน้ำชัดเจน เสียงคลื่นกระฉอกบนผิวน้ำหนาแน่นไปหมด คลื่นมีทรวดทรงดี นาทีที่ 3:59 เสียงตวัดปลายแหลมดีมากๆ สด เต็มไปด้วยรายละเอียดที่แฝงอยู่ เพลง 5 เสียงรถจักรไอน้ำเปิดหวูด พร้อมสั่นระฆังรัวมาแต่ไกลเจ้ามาหาเรา ตามด้วยเสียงตีกลองท่อซ้ายทีขวาทีที่น่าฟังมาก เพลง 6 เสียงไก่ขันอยู่ลึกไปหลังเวทียังไม่โฟกัสนัก แต่มีรายละเอียดดี สารพัดเสียงสัตว์ส่งเสียงอย่างมีวิญญาณ สมจริงดีมาก นาทีที่ 4 เสียงสัตว์ต่างๆ หลุดลอยออกมาถึงซ้าย, ขวาโอบมาเกือบหลัง น้องๆ เซอราวด์เลย

เพลง 7 เสียงม้าวิ่งหอบมาแต่ไกลตรงมาหาเรา ตามด้วยเสียงตีกลองท่อวนรอบๆ ลำโพงซ้าย, ขวา แล้วค่อยๆ สูงขึ้นๆ จนเกือบถึงเพดานห้องได้ เพลง 10 ขึ้นต้นสารพัดเสียงในฟาร์ม ไม่ว่าเสียงลม เสียงบานประตู (หน้าต่าง?) เปิด-ปิด เสียงน้ำไหลจากท่อ เสียงระฆังลม ซึ่ง STUDIO 180 ก็ถ่ายทอดแยกแยะสิ่งเหล่านี้ได้ดี นาทีที่ 1:14 เริ่มมีเสียงเคาะบางชิ้นลอยอยู่เกือบถึงเพดานห้องบางขณะ เพลงนี้ไว้โชว์ความสามารถปลายแหลม ซึ่ง STUDIO 180 ก็ทำได้เยี่ยมมาก แยกแยะปลายแหลมจากแต่ละตัวกำเนิดให้หลากหลายแตกต่างกันไปหมดได้เยี่ยมมาก แถมมีเนื้อหนัง มวล รายละเอียด

แผ่น The Greatest Alto Female Vol.1 เพลงร้องภาษาจีนของสุภาพสตรี เพลง 1 เสียงไวโอลินขึ้นต้นดีกว่าที่เคยฟังมาทั้งหมด ฟังออกว่ามี 2 โทนเสียง (กลางกับทุ้ม) ไม่ใช่โทนโดดอันเดียว พอเสียงร้องดังขึ้น เล่นเอาอึ้งเลย ทั้งมีน้ำหนักควบแน่นโฟกัสดีกว่าทุกครั้ง (อิทธิฤทธิ์ของดอกกลาง 4 นิ้ว อย่างแน่นอน) เสียงร้องที่จีบปากจีบคอ อากัปกิริยา รายละเอียดหยุมหยิม การสอดใส่อารมณ์ที่ดีมาก เพลง 2 อารีรัง ขึ้นต้นเสียงร้องหมู่ชายหญิงที่แยกแยะได้ดีมาก ตามด้วยเสียงตีกลองใหญ่ที่เล่นเอาผมช็อค! มันทั้งเป็นลูกแน่นเปรี๊ยะ มีน้ำหนักอิ่มมาก ลงลึก มีทรวดทรง หน้ากลองชัด กระชับ, ไม่เคยฟังได้ขนาดนี้มาก่อน ขณะกลองดังกระหึ่มเสียงร้องก็ถูกดึงจม ไม่เบลอ

เพลง 4 ยิ่งแสดงศักยภาพของ STUDIO 180 ขึ้นไปอีก ไม่ว่าเสียงร้อง, เสียงเครื่องสาย (ดีด) เสียงร้องที่ให้อากัปกิริยาที่ชัดแจ้งอย่างไม่เคยได้ยินมาก่อน เสียงเขย่าลูกกระพรวนเป็นเม็ดๆ การแยกเสียงหีบเพลงปากออกจากเสียงหีบเพลงชัก เพลง 5 ขึ้นต้นเสียงกรุ๊งกริ๊งปลายแหลมที่มีทรวดทรงไม่ว่าแหลมไหน สดใส มีประกายและติดหวานนิดๆ ให้เสียงอณูอากาศได้ดี เสียงเครื่องสายทั้งสีและดีดและสมจริงดีมาก ดับเบิ้ลเบสอิ่มแน่นลึกมีน้ำหนัก

แผ่น Wood ของ Brian Broomberg เพลง 1 ขึ้นต้นเสียงดีดดับเบิ้ลเบสเป็นเส้นสายสมจริงทั้งขนาดและน้ำเสียงดีเยี่ยม นาทีที่ 1:19 เสียงดนตรีต่างๆ ขึ้น ทำได้อลังการดี ทุ้มที่ทิ้งตัวลงพื้นห้อง ฉาบที่สดใสเป็นเส้นของหางม้า เปียโนที่กังวาน สด สมจริงมาก ที่ต้องจารึกคือ เพิ่งฟังออกว่า มีเสียงตีกลองชุดเบาๆ แทรกมาด้วย (ทั้งๆ ที่ฟังเพลงนี้มาเป็นร้อยครั้งแล้วมั้ง) ก็แปลกใจว่า ทำไมไม่มีเสียงกลองชุด มีแต่ชุดฉาบ นอกจากนั้น STUDIO 180 ยังให้การสวิงเสียงได้ดีมาก (DYNAMIC) แต่ละเสียงเป็นพระเอกหมด ไม่มีดนตรีชิ้นไหนกลบกันเอง หรือฟังเสมอกันเป็นพรืด ยิ่งเพลง 3 เดี่ยวดับเบิ้ลเบส ต้องพูดว่า มันส์หยด

 

สรุป

เรียนตรงๆ ว่า ครั้งแรกที่เห็นหน้าตาของ STUDIO 180 จากเว็บไซต์นอก ก็คิดอกุศลว่า JBL คงแค่เปลี่ยนโฉมหน้าตาให้มันประหลาดกว่าชาวบ้าน เสียงก็คงยังงั้นๆ เหมือนเดิมๆ แต่เมื่อได้ฟังจริงๆ เล่นเอาอึ้งเลย ลืมได้เลยกับลำโพง JBL ทุกตระกูลที่ขายกันอยู่ในปัจจุบันบ้านเรา (ไม่นับประเภทเป็นแสนบาทขึ้นไป) มันออกแนว LX Series แต่มิติรายละเอียดดีกว่า พูดง่ายๆ นี่เป็นลำโพง JBL ที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยฟังตลอด 40 ปี ที่ผ่านมาในวงเงิน 100,000 บาทลงมา! (ดีทุกแง่มุมด้วย !) … เกิดอะไรขึ้นกับ JBL !

 

หมายเหตุ : STUDIO 180 ราคาคาดว่าน่าจะอยู่ที่ 26,000 บาท/คู่ (ราคาต้องตรวจสอบกับบริษัทอีกที)

 

ขอขอบคุณ บริษัท มหาจักรดีเวลอปเมนท์ จำกัด โทร. 0-2256-0020 ที่เอื้อเฟื้อลำโพง JBL STUDIO 180 ในการทดสอบครั้งนี้

Exit mobile version