What HI-FI? Thailand

Test Report: JBL LS60

Test Report: JBL LS60

3.5-way Floorstanding Speakers

มงคล อ่วมเรืองศรี

…ไม่จำเป็นต้องเท้าความใดๆ สำหรับ JBL ที่นับเป็นหนึ่งผลิตภัณฑ์ชั้นยอดของโลก ที่มีเกียรติประวัติสืบสานต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันอยู่ภายใต้ “ครอบครัว” ของ Harman International ที่ยังมีอีกมากมายหลายเนมแบรนด์อยู่ภายใต้ครอบครัวเดียวกันนี้ :- AKG®, Audioaccess®, Becker®, BSS®, Crown®, dbx®, DigiTech®, Harman Kardon®, Infinity®, JBL®, Lexicon®, Mark Levinson®, Revel®, QNX®, Soundcraft® และ Studer®.

 

ซึ่งจริงๆ แล้ว JBL มีผลิตภัณฑ์แยกย่อยออกเป็นหลายซีรี่ส์ด้วยกัน สำหรับ LS Series นี้จัดอยู่ในระดับชั้น Performanceä “ซีรี่ส์ล่าสุด” ของ JBL และนับเป็นผลงานชิ้นสำคัญร่วมกันระหว่างวิศวกรระดับมันสมองรุ่นใหม่ไฟแรงของ JBL – Charles Sprinkle กับนักออกแบบชั้นยอดรุ่นเก๋าของ Ashcraft Design – Daniel Ashcraft ซึ่งได้เคยฝากผลงานอันเกรียงไกรไว้ให้กับ JBL มาแล้วมากมายถึงกว่า 20 ปี “Ashcraft” จบการศึกษาจาก Art Center College of Design และยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ JBL รุ่นสำคัญๆ ที่ได้จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ Project Everest DD55000 ในปีค.ศ.1986, Project K2 S9500 ในปีค.ศ.1988 ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็น Project K2 S9800 ในปีค.ศ.2000 และ Project Everest DD66000 ในปีค.ศ.2006

 

ส่วน “Sprinkle” แรกทีเดียวนั้นได้เข้ามาเป็นวิศวกรฝึกหัด (engineering intern) ให้กับ Harman International ก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาในปีค.ศ.2003 และเข้าร่วมงานกับทาง JBL นับเนื่องจากนั้น “Sprinkle” แม้จะเป็น -น้องใหม่- แต่ทว่าได้ฝากผลงานมาแล้วมากพอควรเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น JBL Cinema Visionä, Venueâ, JBL Cinema Sound และ JBL Control NOWä ซึ่งสำหรับ LS Series นี้ “Sprinkle” ยังได้ฝากฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์ในการออกแบบตัวขับเสียงต่ำขึ้นมาใหม่ตามแนวคิดของเขา กับทั้งยังได้ปรับปรุงการออกแบบลักษณะของปากฮอร์นที่ใช้ใน LS Series ด้วยเช่นกัน ทั้ง Sprinkle และ Ashcraft ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อการรังสรรค์ LS Series นี้โดยเฉพาะ

 

LS Series ได้รับการแนะนำตัวสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรกในปีค.ศ.2008 กอปรด้วยลำโพง 4 รุ่น ที่ครอบคลุมเผื่อการใช้งานได้ทั้งในลักษณะของมิวสิก เลิฟเวอร์ และโฮม เธียเตอร์ควบคู่กัน เริ่มจาก “LS40” compact bookshelf speaker และแบบตั้งวางพื้นโดยตรง (floor-standing speaker) อีก 2 รุ่น ”LS60” กับ ”LS80” (ที่ถือได้ว่าเป็น flagship สำหรับ LS Series นี้) รวมไปถึง ”LS120P” ซึ่งเป็นลำโพงซับวูฟเฟอร์ และ ”LS Center” สำหรับการทำหน้าที่เซ็นเตอร์ แชนแนล

 

ทั้งนี้จุดเด่นสำคัญของ LS Series อยู่ที่การนำเอาเทคโนโลยีระดับสูงที่ประสบสำเร็จอย่างงดงามมาแล้วมากมายจากลำโพงระดับสูงหลายต่อหลายรุ่นของ JBL นั่นคือ Bi-Radial constant-directivity high-frequency horn มาบรรจุไว้ นอกจากนี้ในส่วนของตัวตู้ลำโพงนั้น JBL ก็ได้ให้ความสำคัญกับ LS Series อย่างเต็มที่ ด้วยการใช้ high-mass MDF construction อันเป็นเทคนิควิธีโครงสร้างตัวตู้ลำโพงแบบเดียวกับ Synthesis series ที่จัดอยู่ในระดับชั้นที่สูงกว่า (Everest, K2, Atlas ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ทั้งสิ้น) อีกทั้งยังได้ออกแบบรูปทรงตัวตู้ให้เป็นแบบ wedge shaped (รูปลิ่ม) ร่วมกับผนังตัวตู้ที่มีลักษณะโค้งมน ยังผลให้ไร้ซึ่งด้านที่ขนานกันเพื่อป้องกันเรโซแนนซ์อันไม่พึงประสงค์

 

LS Series นี่นับเป็น advanced technology “ล่าสุด” ของ JBL โดยผสมผสานทั้งหลักปรัชญาการออกแบบที่ JBL มีประสบการณ์อยู่อย่างเต็มเปี่ยม ร่วมกับ Bi-Radial horn/compression driver configuration ที่ JBL ได้พัฒนาขึ้นใหม่ จนสร้างชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่ยอมรับกัน อย่างเช่น JBL Project K2 และJBL Project DD66000 โดยที่ตัวขับเสียงสูงที่ใช้อยู่ใน LS Series นั้นล้วนเป็นแบบ constant-directivity HF compression driver และ UHF ring tweeter ซึ่งติดตั้งอยู่บนแผงหน้าตัวตู้ที่ผ่านการออกแบบและคิดคำนวณอย่างละเอียดโดยคอมพิวเตอร์ เพื่อให้มีความพลิกผันทางค่าเฟส และการสูญเสียสัญญาณที่น้อยที่สุด

 

ทั้งนี้ในส่วนของตัวขับเสียงต่ำก็ได้รับการปรับปรุงใหม่ให้มีสมรรถนะสูงขึ้น ซึ่งเป็นแบบ natural pulp-cone woofer เพื่อให้ได้เนื้อเสียงเบสที่เอิบอิ่ม-เข้มข้น เหมาะสมการใช้งานร่วมกับตัวขับเสียงสูงแบบใหม่ดังกล่าว “natural pulp-cone” มีคุณสมบัติอันครบถ้วนทางด้านโครงสร้างสำหรับการเป็นไดรเวอร์ที่ดี ทั้งในแง่ความเบาต่อมวล ควบคู่ความแข็งแรงของเนื้อเยื่อ-เส้นใย เนื่องเพราะ-natural pulp-cone-นั้นมีลักษณะของ internal damping ในอัตราที่สูงมาก ทำให้ช่วยลดทอนผลกระทบที่เกิดจาก internal cone resonance และ breakup ไปพร้อมๆ กัน

 

นอกจากนี้ JBL ยังได้ปรับเปลี่ยนในส่วนของวอยซ์คอยล์ที่ใช้ด้วยการเลือกใช้กระบอกวอยซ์คอยล์ที่เป็นแบบ KAPTON former ร่วมกับการขยายขนาดกระบอกวอยซ์คอยล์ให้ใหญ่ขึ้น “KAPTON former” นั้นให้ผลดีทั้งในแง่ของการช่วยกระจายระบายความร้อน ควบคู่กับความแข็งแกร่ง ทำให้สามารถพันลวดทองแดงบนแกนวอยซ์คอยล์ได้จำนวนรอบที่มากขึ้นกว่าธรรมดา แน่นอนว่าด้วยจำนวนรอบที่มากขึ้นนั้นย่อมจะส่งผลต่อค่าความเข้มของเส้นแรงแม่เหล็กที่ได้ ดังนั้นวูฟเฟอร์รุ่นใหม่ของ JBL จึงมีความฉับไวต่อการตอบสนองสัญญาณ (transient response) ที่สูงมาก ในขณะเดียวกันก็มีค่าความผิดเพี้ยนที่ต่ำมากๆ ด้วยเช่นกัน

 

ความเป็น LS60

LS 60 เป็นระบบลำโพงวางพื้น (floor-standing) รูปลักษณ์เพรียวบางสูงฉลูด อย่างที่เรียกกันว่า Tower Style แบบ 3.5-ทาง โดยมีขนาดมิติภายนอก 1017 x 222 x 343 ม.ม. (สูง x กว้าง x ลึก) พร้อมด้วยน้ำหนักแต่ละข้างอันหนักอึ้งถึง 26.6 กก.ทีเดียว ภายใต้ระบบการทำงานแบบ 3.5-ทาง (3.5-way) “LS60” จึงได้รับการติดตั้งตัวขับเสียงเอาไว้ถึง 4 ตัวในแต่ละข้าง โดย Bass Driver หรือ วูฟเฟอร์ที่ใช้นั้นมีขนาด 165 ม.ม. (6.5 นิ้ว) ซึ่งเป็นวูฟเฟอร์แบบใหม่ “pure pulp-cone woofer” ฉาบเคลือบผิวไว้ด้วยสารโพลีเมอร์ (polymer-coated) ที่ JBL เรียกขานว่า ‘PolyPlasä’ ทั้งยังขึ้นรูปโครงยึดตัวลำโพงด้วยอะลูมินั่มหล่อ (cast-aluminum frame) ซึ่งเป็นฝีมือการออกแบบของ Charles Sprinkle ติดตั้งไว้จำนวน 2 ตัวทำงานร่วมกัน และแต่ละตัวนั้นจะมี “ขอบเขต” การทำงานที่-ต่างกัน-ทว่า-คาบเกี่ยว-กัน

 

วูฟเฟอร์ตัวล่างจะทำงานครอบคลุมตั้งแต่ช่วงความถี่ต่ำสุดขึ้นไปจนถึง 400 เฮิรตซ์ ในขณะที่วูฟเฟอร์ตัวที่ 2 จะยังคงสภาวะการทำงานครอบคลุมขึ้นไปจนถึง 2,000 เฮิรตซ์ เพื่อให้การ “ส่งมอบ” ภาระการทำงานไปสู่มิดเรนจ์นั้นมีความราบเรียบ-ระรื่น ให้ความกลมกลืน-ต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกัน โดยมิดเรนจ์ที่ใช้ “รับไม้ต่อ” นั้นเป็นแบบ pure-titanium compression driver (176Nd) ขนาด 50 ม.ม. (2 นิ้ว) เสริมด้วย bi-radial horn อันเลื่องชื่อ ลิขสิทธิ์เฉพาะของ JBL ทำงานควบคู่กับทวีตเตอร์ที่พัฒนาขึ้นใหม่ “UHF (Ultra High Frequency) ring radiator tweeter” (015M) แบบ polyimide diaphragm ขนาด 19 มม. (3/4 นิ้ว) ซึ่งทั้ง diaphragm, surround และ voice-coil superstructure นั้นหล่อขึ้นมาเป็นชิ้นเดียวกันโดยตลอด ความสูญเสียทางด้านการส่งผ่านพลังงานจึงน้อยมากๆ สัญญาณเสียงสูงที่ได้จึงเพียบพร้อมในรายละเอียด กับทั้งยังใช้ EOSä (Elliptical Oblate Spheroidal) waveguide ติดตั้งด้านหน้า เสริมด้วยการใช้ระบบแม่เหล็ก “นีโอไดเมี่ยม” ที่ให้ค่าความเข้มเส้นแรงแม่เหล็กที่สูงมากอีกด้วย

 

ว่ากันตามจริงแล้วนั้นประโยชน์สำคัญในการเลือกใช้ตัวลำโพงวูฟเฟอร์จำนวน 2 ตัว ทำงานร่วมกัน แทนที่จะใช้วูฟเฟอร์ขนาดใหญ่เพียงตัวเดียว ส่งผลดีอย่างมากต่อความฉับไวในการตอบสนองต่อสัญญาณเสียง ช่วยให้การเปิดเผยต่อรายละเอียดต่างๆ ทั้งในช่วงย่านความถี่เสียงต่ำและช่วงย่านความถี่เสียงกลางที่คาบเกี่ยวต่อเนื่องกันทำได้ดียิ่งขึ้น เพราะตัวลำโพงขนาดเล็กก็ย่อมที่จะมีความฉับไวในการตอบสนองได้ดีกว่าวูฟเฟอร์ขนาดใหญ่ ไม่เนิบนาบ แช่มช้า อุปมาอุปไมได้กับรถปิคอัพ 2-3 คันกับรถสิบล้อ 1 คันนั่นแล ทำให้ได้มาซึ่งรายละเอียดเสียงช่วงย่านความถี่เสียงต่ำ-กลางที่ดีขึ้น ครบถ้วนตามต้นฉบับสัญญาณมากขึ้น โดยไม่มีปัญหาข้อด้อยในด้าน “ความถี่ตอบสนอง” และ “น้ำหนัก” ของเสียงในช่วงย่านความถี่ต่ำ

 

ทั้งนี้ JBL ระบุว่า LS60 สามารถครอบคลุมช่วงการตอบสนองความถี่เสียงได้กว้างมาก ตั้งแต่ 48 เฮิรตซ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึง 38,000 เฮิรตซ์กันเลยทีเดียว ด้วยค่าความไวเสียง 87 ดีบี ที่ค่าความต้านทาน 6 โอห์ม และในส่วนของวงจรตัดกรองแบ่งช่วงความถี่ของ LS60 นั้นเป็นแบบ staggered-crossover network design ที่กำหนดจุดตัดแบ่งช่วงความถี่เอาไว้ถึง 3 ช่วงด้วยกัน โดยให้ความสำคัญกับการ “คร่อมทับทาบกัน” ระหว่างภาระการทำงานของวูฟเฟอร์ทั้ง 2 ตัว ช่วงความถี่ต่ำสำหรับภาระการทำงานของวูฟเฟอร์ตัวแรกนั้นกำหนดไว้ที่ 400 เฮิรตซ์ (6 ดีบี/ออคเทฟ) และกำหนดไว้ที่ 2,000 เฮิรตซ์ (24 ดีบี/ออคเทฟ) สำหรับภาระการทำงานของวูฟเฟอร์ตัวที่สอง

 

ส่วนจุดตัดแบ่งช่วงความถี่เสียงระหว่างเสียงกลางกับเสียงสูงนั้นกำหนดไว้ที่ 8,000 เฮิรตซ์ (24 ดีบี/ออคเทฟ) นอกจากนี้วงจรตัดกรองแบ่งช่วงความถี่ยังได้เลือกใช้คาปาซิเตอร์ถึง 3 ประเภทมาใช้งาน รวมทั้ง polypropylene film cap. เพื่อการถ่ายทอดเสียงสูงที่มีไดนามิกและเปี่ยมในรายละเอียด ส่วนขั้วต่อสายลำโพงเป็นแบบ Bi-wired binding-post ชุบเคลือบทองอย่างดี

 

ตัวตู้ลำโพงของ LS60 ได้รับการคาดโครงคร่าวอย่างแข็งแกร่ง ทำให้มีความเสถียรสูงและน้ำหนักมากเอาการ ระบบการทำงานตัวตู้ที่สูงฉลูดของ LS60 นั้น ทาง JBL ยังคงไว้ซึ่ง “ภาพลักษณ์” ที่ตามติดความเป็น JBL มาโดยตลอด ด้วยระบบตู้เปิด (bass reflex) ท่อเปิดติดตั้งอยู่ด้านหลังของตัวตู้ (rear-ported) จนมองกันว่า JBL นั้นไซร้เชี่ยวชาญในด้านระบบลำโพงแบบตู้เปิด (bass reflex) นี้เป็นพิเศษไปเลยทีเดียว ทั้งๆ ที JBL บางทีก็มีบางรุ่นบางซีรี่ส์ที่ออกแบบมาเป็นตัวตู้ปิดสนิท (closed-box) มิได้มี -ท่อเปิด- ใดๆ อย่างเช่น LS120P ที่เป็นลำโพงซับวูฟเฟอร์อยู่ใน LS Series นี้ก็ยังเป็นแบบ seal-enclosure

 

ผลการรับฟัง

คาดว่า LS60 ที่ได้รับมาน่าจะผ่านพ้นระยะการรัน-อินมาพอสมควรแล้ว เพราะเพียงแค่แรกรับฟังหลังพ้นพันธนาการออกมาจากกล่อง ก็สัมผัสได้ถึงบุคลิกเสียงของ LS60 ที่ให้ความรู้สึกที่บ่งบอกว่า “LS60” นี้ค่อนข้างจะมีลักษณะเสียงที่แตกต่างออกไปจากแนวทางของ JBL รุ่นก่อนๆ ที่เคยได้รับฟัง – – เป็นบุคลิกเสียงที่ไม่รุกเร้า-เคร่งครัด และให้ความผ่อนคลาย ไม่ใช่ประเภทโช๊ะเช๊ะ-กระดี๋กระด๋า ทว่าให้ความสดใส กระชับ กระฉับกระเฉง และโปร่งกระจ่าง ควบคุมจังหวะท่วงทีได้ดี สามารถให้ “อณูเสียง” ของความถี่สูงที่มีความกังวานช่ำชุ่มนุ่มนวลอย่างเป็นธรรมชาติ และหางเสียงที่ทอดตัวไปได้ไกลสุดๆ จริงๆ ฟังแผ่น SACD ได้สภาพบรรยากาศอันอบอวลสมจริง (Showcase / OPUS 3 / CD 21000; Showcase 2005 / OPUS 3 / CD 22050; 30th Anniversary Celebration Album / OPUS 3 / CD 22060)

 

จากแผ่น Live in Amerrica ของ KITARO (Geffen Records GEFD-24323) ก็พบว่าช่วงต้นของเพลงแรกที่มีเสียงฟ้าร้องครืนครั่นนั้น Sydney สามารถถ่ายทอด-บ่งบอกออกมาอย่างน่าทึ่งมาก ทรงพลังคำรามคำรน สะท้านสะเทือนดีทีเดียว โดยเสียงฟ้าร้องนั้นลอยอยู่ข้างบน ซึ่งมิใช่ว่าลอยอยู่เหนือลำโพงหรอกนะ หากแต่ลอยตัวขึ้นไปสูงอยู่ในระดับเพดานห้อง ให้บรรยากาศอันสมจริงกันเลยทีเดียว ทั้งยังสัมผัสได้ถึงหนังหน้ากลองกระเดื่องที่ตึงแน่น และส่งมอบแรงปะทะเป็นระลอกที่รับรู้ได้

 

จากนั้นหยิบเอาแผ่น Happy Trails (Round-up 2) ของ TELARC มาเปิดฟังแค่เพลงแรกที่เป็นเสียงต้อนฝูงวัวของเหล่าคาวบอย ก็รับรู้ถึงความตลบอบอวลคละคลุ้งของฝุ่นผงธุลีดินที่ “LS60” ถ่ายทอดออกมา ชนิดที่ว่าน่าทึ่งมากทีเดียว ต่อด้วยแผ่นซีดี POSTCARDS ของสังกัด RR recording (RR-61CD) ที่สามารถโชว์ศักยภาพในการส่งมอบสภาพบรรยากาศเสียงได้โดดเด่นมาก ในเพลงที่ 4 จะรับฟังความสดหวานของเสียงประสาน สามารถได้ยินเสียงสูดลมหายใจของนักร้องประสานเสียงกว่า 200 ชีวิต The Turtle Creek Chorale ได้อย่างชัดเจน

 

การรับฟังจากออร์เคสตร้าได้เสียงกระหึ่ม กึกก้อง ไม่มีที่ติ พร้อมบ่งบอกสภาพความกว้าง-ลึกของซาวด์สเตจให้ได้สัมผัสรับรู้ และยังแผ่ออกมาโอบล้อมบริเวณด้านหน้าลำโพงอีกด้วย ในด้านความสูงนั้นสามารถไล่ระดับตั้งแต่แนวต่ำกว่าทวีตเตอร์ลงมา-เสมอแนวเดียวกับทวีตเตอร์-สูงเลยตัวตู้ลำโพงขึ้นมา กระทั่งลอยเด่นอย่างมีปริมณฑลอยู่ท่ามกลางระหว่างลำโพง พร้อมด้วยความลึกที่ทำเอาถึงกับอึ้ง…! ซึ่งรับรู้เสมือนว่า ผนังหลังห้องฟังนั้นทะลุถอยออกไปอีกไกล ทั้งยังแยกเป็นแถว/ชั้นของเสียง บ่งบอกตำแหน่งแห่งที่ของเสียงที่เกิดขึ้นได้แน่นอน พร้อมด้วยละอองอณูของมวลเสียง (เมื่อรับฟังจากแผ่น Telarc ชุด Pink Panther และ Victory at sea รวมทั้งแผ่น POMP&PIPES! ของ REFERENCE RECORDINDS)

 

ในส่วนช่วงย่านความถี่เสียงต่ำนั้น ทรงพลัง อิ่มใหญ่ และหนักแน่น แต่ไม่อวบอ้วนอุ้ยอ้าย ซึ่งนอกจากจะให้น้ำหนักที่ดีแล้วความฉับไวในจังหวะจะโคนยังแม่นยำมากๆ อีกด้วย ซึ่งเมื่อรับฟังจากแผ่น Fourplay (Warner-Pioneer WPCP-4463) …โอ้โฮ ทั้งแผ่ใหญ่ทั้งหนักแน่นครับ มีความสดใส ฉับไวของรายละเอียดเสียงดนตรีพวกเครื่องเคาะสารพัด จังหวะจะโคนของเสียงเบสและกลองกระเดื่องแม่นยำและฟังได้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเสียงกีตาร์-เสียงเปียโน-เสียงไวโอลิน-เสียงเครื่องสายทั้งหลายเรียกได้ว่า แทบจะมองเห็นเป็นเส้นสายที่สั่นไหวกันเลยทีเดียว เช่นเดียวกับแผ่นซีดีชุด Planet Drum ของ MICHEY HART (Rykodisc RCD 10206) ที่ LS60 สามารถส่งมอบการแยกแยะตำแหน่งชิ้นดนตรีที่บรรเลงประโคมพร้อมกันได้ ตรงโน้น ตรงนี้ ไม่มีสับสน พร้อมด้วยสภาพเสียงที่เปี่ยมด้วยมวลบรรยากาศของโถงบันทึกเสียงขนาดใหญ่ออกมาให้ได้รับรู้

 

ในระดับการรับฟังที่ความดังปกติ คุณจะสัมผัสได้ในสภาพความแผ่กว้างของเสียงเต็มพื้นที่ห้อง ถอยลึกเข้าไปเลยผนังห้องฟัง แยกเป็นแถว/ชั้นของเสียงชัดเจน บ่งบอกตำแหน่งแห่งที่ของเสียงที่เกิดขึ้นได้แน่นอน พร้อมด้วยละอองอณูของมวลเสียง ควบคู่กับความสดใส ฉับไว ที่ให้รายละเอียดของสรรพเสียง แต่เมื่อคุณเผลอใจในความมันส์ของอารมณ์เพลงที่รับฟัง (อย่างเช่นการแสดงสด) ไปเร่งระดับความดังเสียงให้มากขึ้น…มากขึ้น…มากขึ้น เจ้า LS60 ก็จะยิ่งตอบสนองความสะใจได้อย่างน่าทึ่ง และตื่นเต้น โดยไร้ซึ่งความเบลอ หรือ มั่วสับสน-ตีรวนกันของเสียง เสียงทุกเสียงจะยังคงปรากฏเป็นแถวเป็นชั้นถอยลึกเข้าไปหลังแนวตั้งวางระบบลำโพง ไม่มีเสียงใดที่โผล่เลยล้ำหน้าตำแหน่งตั้งวางลำโพงออกมา มีแต่ความกระหึ่มกึกก้องอลังการ

 

LS60 บ่งบอกได้ถึงความต่อเนื่องของเวทีเสียงที่กว้างขวางและสภาพบรรยากาศการแสดงที่โอบล้อมตัวเรา ให้ความรู้สึกถึงสภาพเสียงที่ถอยลึกเข้าไปในเวทีอย่างชัดแจ้ง “จำแนก” ตำแหน่งแห่งที่-การวางตัวของเสียงแต่ละเสียง มีระดับสูง/ต่ำได้อย่างชัดแจ้งครบถ้วน ยิ่งฟังจากแผ่นที่บันทึกมาดีๆ (อย่างเช่น OPUS 3,Reference Recording, Proprius, BIS, Sheffield, เป็นต้น) จะยิ่งรู้สึกว่า LS60 นี่แทบจะกลายสภาพเป็น “ลำโพงล่องหน” ไปได้เลยเชียวแหละ…นี่คือความจริง

 

LS60 สามารถส่งมอบการ “ผลุดโผล่” ของรายละเอียดเสียงระยิบระยับ รวมทั้งสัญญาณเสียงฉับพลันได้อย่างทันทีทันใด ให้ทั้งความจะแจ้ง-แจ่มชัด-สดใส พร้อมการเปิดโปร่ง-โล่งกระจ่าง ไร้สภาพ “หมอกควัน” ปกคลุม โดยมิได้จัดจ้าจนแห้งผาก ขาดความอิ่มฉ่ำไป ลักษณะเสียงโดยรวมมีมวลมีน้ำหนักให้ความมีตัวตนของสรรพเสียง ช่วงย่านความถี่เสียงต่ำแผ่ใหญ่-แน่น มีเรี่ยวแรงพลัง และกระชับในจังหวะจะโคนที่ปลดปล่อยออกมา ทั้งยังตอบสนองลงไปได้ลึกอย่างน่าพึงใจ

 

ช่วงย่านความถี่เสียงกลางของ LS60 นั้นมีความฉ่ำชุ่มไม่แหบแห้ง ให้ความเป็นตัวตนของเสียง รับฟังเสียงหมู่เครื่องสาย (ไวโอลิน-วิโอลา-เชลโล) ได้น้ำหนัก-เนื้อหนังของเสียงอย่างสมจริง ในขณะที่ช่วงย่านความถี่เสียงสูงก็เต็มเปี่ยมในความละมุน ละไม และยังยืดขยายปลายหางเสียงออกไปได้ไกล ไม่มีการอัดอั้น หรือ โรยตัว (roll-off) อย่างรวดเร็วจนหดห้วน หางเสียงสูงๆ อย่างฉิ่ง-ฉาบ-เหล็กสามเหลี่ยมให้ความกังวานสมจริง

 

LS60 ให้ความละเมียดละไม อ่อนหวาน กังวาน นวลนุ่ม และพละพลิ้ว เป็นลักษณะน้ำเสียงที่เปี่ยมในความมีชีวิตชีวา LS60 นั้นเหมาะเจาะมากกับการรับฟังจากแนวเพลงร้องที่จะรับรู้ได้ถึงความลอยตัวของเสียงนักร้อง แยกออกมาจากพื้นเสียงดนตรีที่กำลังบรรเลง มีเนื้อมีหนังมีชีวิตมีวิญญาณ (ลมหายใจ) ให้ความกลมมนมีตัวตนของเสียง ยิ่งฟังยิ่งเพลิดเพลิน โดยเฉพาะรายละเอียดเสียงเล็กๆ น้อยๆ หรือประกายเสียงอันแผ่วเบา ที่อุบัติขึ้นอย่างฉับพลันทันใด อย่าว่าแต่เสียงสูดลมหายใจเลย เสียงขึ้นจมูกแบบเป็นหวัดก็ยังถูกฟ้องออกมาได้

 

นอกจากนี้ลักษณะน้ำเสียงของ LS60 นั้นยังเป็นเสียงที่มีความกลมกลืนต่อเนื่องนวลเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน สดใส สะอาด มีมวลมีน้ำหนัก ให้ความมีตัวตน มีลมหายใจ พร้อมด้วยคึกคัก กระฉับกระเฉง ไม่โฉ่งฉ่าง ฟังแล้วสดชื่น-เร้าใจ ไร้อาการเสียงเดินหน้า (forward) หรือว่า จัดจ้า แม้ว่าจะรับฟังในระดับความดังเสียงที่เร่งขึ้นมากกว่าปกติก็ตาม หางเสียงสูงๆ อย่างฉิ่งฉาบให้ความกังวานการทอดตัวได้ยาวไกล มีความพละพลิ้วลอยตัว บ่งบอกเสียงลมพ่น-กัดหูน้อยๆ ของเครื่องดนตรีประเภท brass และเสียงลมเป่า-เป็นละอองของเครื่องดนตรีประเภท woodwind ได้สมจริงมาก

 

ความฉับไวในการตอบสนองสัญญาณ (ไดนามิกเสียง) นับเป็นเรื่องที่ต้องชื่นชม โดยเฉพาะการบ่งบอกรายละเอียดในช่วงย่านความถี่เสียงต่ำควบกล้ำช่วงย่านเสียงกลาง อันสืบเนื่องจากการใช้วูฟเฟอร์ที่มีขนาดเหมาะสม-สอดรับกับภาระการทำงาน อีกทั้งการออกแบบให้วูฟเฟอร์ตัวที่ 2 รับภาระการทำงานที่กว้างขึ้น จึงส่งผลให้เสียงช่วงเบสตอนบน สอดรับ-กลมกลืนกับช่วงเสียงกลางตอนล่าง ก่อนที่จะส่งต่อให้มิดเรนจ์รับภาระการทำงานที่ต่อเนื่องกัน จากแผ่นเพลงร้องของ ALR-JORDAN ชุด VOICES เริ่มฟังเพลงแรกจากเสียงร้องของ Cheryl Wheeler น้ำเสียงนั้นเปี่ยมด้วยรายละเอียด และชัดเจนมากกับการออกเสียงอักขระ กระทั่งเสียงขยับริมฝีปาก อีกทั้งสุ้มเสียงก็ยังมีมวลน้ำหนักและให้ความกังวานสมจริงดังเสียงมนุษย์

 

จากแผ่นซีดีชุด “บาง-COCK : BANG-กอก” ของวงฟองน้ำ ที่เสียงแตรวงตอนค่อยๆ เดินใกล้เข้ามาในช่วงต้นเพลงที่ 5 นั้น มีระลอกคลื่นอากาศเป็นมวลแผ่ออกมา เสียงกลองใหญ่ที่มีแรงอัดอากาศกระแทกกลับเป็นระลอกตามจังหวะการตีก็เด่นชัดจนจับรู้สึกได้ ตามต่อด้วยเพลงแรกในแผ่นซีดีชุด “The Hunter” (Private Music 261947) เสียงร้องที่สอดแทรกเบาๆ คลอเคล้ากับเสียงของ Jennifer Warnes ช่วงกลางๆ บทเพลงนั้น สดใส และละเมียดละไมมากทีเดียว ทั้งยังจำแนกระยะห่างออกจากเสียงของ Jennifer Warnes ได้ถนัดชัดเจนจริงๆ

 

และจากแผ่น The Kroumata Percussion Ensemble (BIS CD-232) ที่เป็นการบันทึกเสียงสารพัดเครื่องเคาะจังหวะ ทั้งกลองเล็ก-กลองใหญ่ ฆ้องไทย-ฆ้องใหญ่-ฆ้องยักษ์ รวมถึงระนาดฝรั่ง ที่บรรเลงแบบโชว์ไดนามิกเสียงไว้อย่างสะใจ “LS60” ก็บ่งบอกออกมาให้รับรู้ถึงทรานเชียนต์ (transient) และทิมเบอะ (timbre) อันแม่นยำของเสียงดนตรีแต่ละชิ้นแต่ละประเภท รวมทั้งสภาพบรรยากาศของโถงบันทึกเสียงก็ได้ถูกถ่ายทอดออกมาให้เราสัมผัสรับรู้ถึงมวลอากาศที่โอบล้อมตัวเราอย่างสมจริงอีกด้วย

 

ปิดท้ายการรับฟังด้วย “CANTATE DOMINO” ที่ “LS60” สามารถแจกแจงรายละเอียดออกมาอย่างน่าตะลึง เสียงทุ้มที่ทอดตัวลงไปลึกถึงก้นบึ้ง พร้อมด้วยแรงสั่นไหวของมวลอากาศเป็นระลอก กระทั่งเสียงออร์แกนท่อที่ราวกับได้พ่นเป็นลมเป็นมวลอากาศออกมาให้รับรู้ เมื่อถึงคราเป็นเพลงร้อง เสียงนั้นก็กระจายไม่กระจุกตัว รับรู้ได้ถึงตำแหน่งแห่งที่ พร้อมด้วย “ความสูง” ของเสียงนั้นๆ ที่ลอยตัวอยู่เหนือลำโพงขึ้นไปชัดเจน พร้อมด้วยสภาพบรรยากาศเสียงภายในโถงของโบสถ์ที่ใช้บันทึกเสียงนั้น …ช่างอบอวลจริงๆ

 

 

สรุปส่งท้าย

“LS60” ความฉ่ำชุ่ม ละมุนละไม ให้ลักษณะเสียงที่เปิดโปร่ง โล่งสบาย พร้อมด้วยความมีชีวิตชีวา มีมวลบรรยากาศให้สัมผัสรับรู้ได้ไม่แห้งผาก ทั้งยังให้มุมกระจายเสียงที่แผ่กว้าง ที่สำคัญยังรับฟังได้ถึงความสูงและความลึกในซาวนด์สเตจอย่างน่าทึ่ง ซึ่งแม้ว่า ‘LS Series’ นี้ จริงๆ แล้วจัดเป็น entry-level อยู่ในระดับชั้น Performanceä ของ JBL แต่ทว่าได้รับการทุ่มเท-เอาใจใส่ในการออกแบบ-ผลิตเป็นอย่างมาก ทำให้สมรรถนะและคุณภาพเสียงที่ได้รับนั้น นับว่า “โดดเด่น” เกินระดับราคาเป็นอย่างมาก ใครๆ ที่อยากจะสัมผัสกับความเป็น JBL แบบกลั่นๆ เนื้อๆ ภายใต้ระดับราคาที่คุ้มค่า ไม่สูงเกินจะไขว่คว้า “” นี่แหละคือ -คำตอบ- ที่ “ต้อง” หาโอกาสรับฟังให้ได้

 

…..กระนั้นความรู้สึกที่ได้รับฟังบ่งบอกว่า “LS60” ค่อนข้างจะมี ‘ความพิเศษ’ ที่แตกต่างออกไปจากรุ่นอื่นๆ ของ JBL ที่ผมเคยได้รับฟัง ซึ่งหลังจากที่ค่อยๆ เลื่อน ค่อยๆ ขยับ เพื่อปรับเปลี่ยนตำแหน่งตั้งวาง ทีละเซนต์สองเซนต์แล้วลองรับฟังอยู่อย่างนี้หลายต่อหลายวัน ต้องขอบอกไว้เลยว่า ‘จำเป็น’ อย่างยิ่งที่คุณจะต้อง “ใส่ใจ” ในเรื่องตำแหน่งตั้งวางเจ้า “LS60” มากอยู่สักหน่อย ขอให้ใช้ใจร่มๆ เพิ่มขึ้นอีกสักนิด… ค่อยๆ ปรับตั้งหาตำแหน่งตั้งวาง คุณก็พร้อมจะได้รับ “ความไม่ธรรมดา” จากเจ้า “LS60” ตอบกลับไปให้คุณได้ภาคภูมิใจ เฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ชื่นชอบการ “จับสัมผัส” สเตอริโออิมเมจ – – – ขออนุญาตทิ้งท้ายไว้อย่างนี้ครับ

 

ขอขอบคุณ บริษัท มหาจักรดีเวลลอปเมนท์ จำกัด โทร. 0-2256-0020-9 ที่เอื้อเฟือ JBL LS60 ในการทดสอบครั้งนี้

………………………………………………………………………………………………………………………………………………

Exit mobile version