What HI-FI? Thailand

Test Report: High Fidelity Cables CT-1

Test Report: High Fidelity Cables CT-1

ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

 

สาย CT-1 จาก High Fidelity Cables เป็นสายที่ใช้ได้กับทั้งเชื่อมต่อเสียงอะนาลอก หรือสัญญาณดิจิตอล (หัว RCA เช่น จากช่องออก COAXIAL) จากข้อมูลที่แนบมากลับสาย บอกว่าเป็นสายที่มีการหล่อลื่นเคลือบปลายหัวเสียบด้วยสารที่บริษัทเรียกว่า Stabilant 22 ซึ่งเป็นของเหลวหล่อลื่นที่ไม่ทำให้ลัดวงจรไม่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศอันจะทำให้เกิดสนิมผุกร่อน เป็นตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสัมผัส เมื่อเสียบหัว RCA ตัวผู้ของสาย เข้าไปที่หัวรับ RCA ตัวเมีย จึงห้ามเอามือไปสัมผัสปลายหัวเสียบ หรือหาอะไรมาเช็ดออก ห้ามทำความสะอาดขั้วหัวเสียบของ CT-1

เวลาจะใช้ ก่อนอื่นทำความสะอาดขั้ว RCA ตัวเมียของเครื่องก่อนที่จะเอาหัว CT-1 เสียบเข้าไป (ด้วยอัลกอฮอลล์บริสุทธิ์ เป็นต้น) คือใช้สารที่ไม่ก่อให้เกิดอะไรเคลือบตกค้างอยู่)

สายของ CT-1 เรียก Magnetic Conduction Cable ทำมาอย่างมีทิศทางให้ดูที่ตัวหนังสือ และลูกศรที่สกรีนบนสาย โดยให้ลูกศรชี้ไปหาอุปกรณ์ที่สายจะปล่อยสัญญาณไปให้ ถ้าเสียบผิด เสียงจะทะแม่งๆ (จากผลของ PHASE)

ตัวหัวเสียบเป็นแบบ Pin-Lok กราวด์แบบวงแหวนยึด เวลาเสียบให้ดันแบบหมุนนิดๆ เข้าไป อย่าไปจับหัวหมุนปลอกแบบชนิดหัวล็อค มันไม่ใช้แบบนั้น

(หมายเหตุ เท่าที่ใช้หัว CT-1 จะค่อนข้างฟิตมากๆ และฟังทิศทางสายดูแล้ว ก็เป็นไปตามที่บริษัทระบุมา (ตามทิศทาง)

ตัวสายขนาดไม่ใหญ่นัก เหมือนเป็นสายเงิน หัวเสียบค่อนข้างยาว (ประมาณ 2 นิ้ว)

 

การทดสอบ

จากเครื่องเล่น CD T+A 1260R ต่อสายออก CT-1 (ตามทิศทาง) เข้าช่อง INPUT 5 ของอินทีเกรทแอมป์ Mark Levinson No.383 (บาลานซ์แอมป์แท้เข้าถึงออก) กำลังขับ 100 W.RMS/CH ที่ 8 โอห์มและ 200 W.RMS/CH ที่ 4 โอห์ม) ออกสายลำโพง FURUKAWA S-2 ตามทิศ (2 ชุด ชุดเข้าแหลม, ชุดเข้าทุ้ม) หัวสายหางปลา (โลหะเงิน) ของ WBT ด้านแอมป์ และหัวเสียบล็อคได้ (WBT) ด้านลำโพง

ที่เครื่องเล่น CD T+A เลือกชนิดกรองสัญญาณดิจิตอลชุด 3 (ที่ใช้ประจำ) โยกสวิตช์หลัง T+A ไปทีกรองความถี่สูงยิ่งทิ้ง (มิติจะดีกว่า)

ระวังมิให้สาย CT-1 ซ้ายและขวาแตะต้องกัน พูดง่ายๆ ว่า ทุกสายไม่ว่าสายไฟ AC, สายลำโพง, สายเสียง ไม่ให้แตะต้องกันหรือแตะต้องตัวเอง

สายลำโพงชุดเสียงสูงกับชุดเสียงต่ำจะถูกแยกไม่ให้แตะกัน หรือแตะพื้นห้อง (พรมบนปูน) โดยยกสายสูงหนีพื้นห้องด้วยตั้งกระดาษพิมพ์ดีดสูง 1 คืบ และสอดอีกตั้งแยกสายแหลม, สายทุ้มไม่ให้แตะกัน อีก 3 ตั้งทับสายตั้งที่แตะสายจะเอากระดาษสีแดงที่ห่อมาออก (สีมีตะกั่ว มีผลต่อเสียงได้)

ลำโพงเป็น MONITOR AUDIO BR-5 (3 ทางวางพื้น) เอียงลำโพงเข้ามา (TOE IN) ให้ได้ดีที่สุดทั้งสุ้มเสียงครบ และทรวดทรงเป็น 3 มิติ (เอาหน้ากากออก)

สายไฟ AC ของ No.383 เสียบที่เต้าเสียบตัวเมียฮับเบล สีส้มที่กำแพง มีหัวปลั๊กไฟกรองไฟของ PHS 2 เสียบเคียงคู่อยู่ (ผ่านตัวแปลง 1 ออก 2 ของ WONPRO เพื่อยกขาดินของ PHD 2 ลอยไม่ต่อเชื่อม) ที่สายไฟ AC ของ T+A ก็ทำเหมือนกัน มี PHD 2 เสียบเคียงคู่อีกตัว (กับ WONPRO) หัวเสียบกรองไฟนี้ดีมาก ยิ่งใช้ยิ่งขาดไม่ได้เลย ดีทั้งภาพและเสียง (ราคาแค่ตัวละ 2,900 บาท)

ห้องฟังขนาด 3.85 x 9 x 2.2 เมตร บุฟองน้ำเก็บเสียง SONEX (สีขาว จากเยอรมัน) นั่งฟังห่างประมาณ 3.6 เมตร ลำโพงซ้าย-ขวา ห่างกันประมาณ 2.2 เมตร ห้องไม่ก้อง ไม่มีมือถือ, PC, LCD/PLASMA, WiFi, นาฬิกาควอตซ์, รีโมท, กล้องดิจิตอลใดๆ ในห้อง เปิดเพลงเบิร์นอินสาย CT-1เกือบ 20 ชั่วโมง เมื่อจะเริ่มทดสอบก็ปิดเครื่องหมดแล้วเปิดใหม่      แผ่นระนาดเอก (ไทลำภู) เพลง 3 เสียงตีระนาดแยกแยะได้ดีแต่ยังไม่โฟกัสเป็นเม็ดๆ หลุดลอยกระเด็นออกมาจากฉากหลังมาหาเรา อย่างไรก็ตาม มันก็ให้เสียงผิว (Texture) กระทบที่ดีเยี่ยมทุกๆ เสียง อย่างเสียงฉิ่งซึ่งคงจะสังเกตเสียงผิวของฝาฉิ่งได้ยาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้ มันก็ยังขุดคุ้ยออกมาให้ฟังได้ เพลง 4 ขึ้นต้นอาจไม่สงัดสุดอย่างที่เคย แต่เสียงตีระนาดที่ตามมาช่างให้เสียงได้ลงตัว ไม่กลมไป ไม่แข็งกร้าวไป เสียงฉิ่งสะบัด ระริก ฟังได้ชัดมากกว่าครั้งใด ที่น่าทึ่งคือ แม้แต่กลองแขกที่เป็นฉากหลังก็ยังรับรู้ได้ถึงเสียงผิว (รวมทั้งเสียงฉาบของเพลง 3 ด้วย) เสียงโดยรวมออกเป็นกลาง, ตื่นตัว แต่สุภาพพอ เพลง 5 เช่นกัน ปกติขึ้นต้นจะเงียบสงัดมากกว่าเพลง 4 อีก แต่นี่ฟังพอๆ กัน อย่างไรก็ตาม เสียงระนาดก็ยังเต็มไปด้วยรายละเอียดเสียงผิว เสียงกรับล้อเสียงอื่นๆ อย่างได้อารมณ์เหมือนคนเต้นโขน ย่ำเท้าซ้ายที, ขวาที พูดง่ายๆ ว่า ฟังสนุกเพลิน เพลง 6 เสียงตีระนาดเป็นตัวๆ อยู่ลึกไปหลังเวที อย่างเต็มไปด้วยรายละเอียด แม้ยังไม่เป็นเม็ดๆ โฟกัสชัดๆ แต่มันให้เสียงระนาดได้ลึกซึ้งที่สุดเท่าที่เคยฟังมา เหมือนคุณมองเข้าไปเห็นภายใน (LOOK IN SIDE หรือ LOOK THROUGH) เช่นเดียวกับตอนเริ่มต้นของเพลง 7 ต่อมา (ปกติจะฟังตื่นตัวกว่า, ดังเข้มกว่าเพลง 3, 4, 5, 6 แต่นี่ตื่นตัวพอๆ กันหมด) ฟังมาถึงตอนนี้ พอจับประเด็นได้ว่า สายนี้ให้เสียงผิวได้ดีเลิศ เสียงเป็นกลาง ตื่นตัว จังหวะจะโคนดี การสวิงเสียงโอเค ไม่ส่ออาการอั้น แต่อยากให้แยกแยะอ่อน-ดังได้ ละเอียดกว่าอีกหน่อย (ดูเหมือนอาจไม่ใช่เรื่องของ “ความดัง” แต่เป็นเรื่องของความถี่คู่ควบด้านต่ำ ที่อาจจะหดหายไปบ้าง ทำให้มวล, เนื้อของเสียงไม่ครบพอที่จะแจกแจงความแตกต่างของระดับเสียงได้อย่างเต็มที่ (DYNAMIC CONTRAST)         อาการนี้ฟังชัดขึ้นกับเสียงตะโพนตอนขึ้นต้นเพลง 8 ที่ออกจะขาดความอิ่มอวบ อลังการไปหน่อย รวมทั้งตอนไล่ตบกลองจากขวาไปซ้ายจะเหมือนตัวกลองมีรูปลักษณ์เป็น “กล่องแบนไม่ใหญ่นัก” ไม่ใช่กลองที่มีปริมาตร กลมใหญ่ลึกอย่างทุกที (เพราะความถี่คู่ควบด้านต่ำตกหล่นหายไป) อย่างไรก็ตาม เสียงฉาบเบาๆ ก็ให้เสียงผิวได้ อย่างไม่เคยพบมาก่อน เพลง 9 ปกติตอนขึ้นต้นจะสงัดมาก ซึ่งกับเพลงนี้ก็ดีขึ้น เสียงตีรัวระนาด ไล่จากซ้ายไปกลางเวที เสียงหัวโน้ตดี แต่ตัวโน้ต (BODY) หดหายไป ทำให้ขาดรูปลักษณ์อันเป็นกลุ่มก้อน เพลง 10 เสียงตีระนาดคีย์สูง คีย์ต่ำจากตัวระนาดทุ้ม, ระนาดเอก ฟังใกล้เคียงกัน ซึ่งปกติควรฟังอิ่มน้อยอิ่มมากต่างกัน (เรื่องของความถี่คู่ควบด้านต่ำดังกล่าวแล้ว)

แผ่น RYTHEM BASKET, A Tisket, A Tasket, A Child ของ Brent Lewis เสียงตีกลองท่อกับเพลงเด็กๆ เพลง 2 เสียงตีกลองท่อเป็นไปดังคาด ออกจะขาดรูปลักษณ์ความเป็นท่อ (เป็นทรงท่อ) แต่ก็ให้เสียงผิวได้ดี โดยเฉพาะกับเสียงเล็กๆ น้อยๆ อื่นๆ อย่างที่ไม่เคยพบ เพลง 4 เสียพายเรือวักน้ำให้เสียงขณะพายลากไปบนผิวน้ำได้อย่างชัด, เข้มกว่าทุกครั้ง แม้เสียงคลื่นที่ผิวน้ำจะไม่หลากหลายขนาดเต็มไปทั้งผิวน้ำ แต่ก็รับรู้ได้ไม่น้อย โดยเฉพาะเสียงน้ำกระเซ็น CT-1 จะโปรยปรายมากกว่าทุกครั้ง แน่นอน ทุกๆ เสียงในเพลง ไม่ว่าเสียงเขย่าเม็ดทรายในกระบอก, เสียงเครื่องเคาะ (แหลม), ฯลฯ มันช่างอุดมไปด้วยรายละเอียดไปหมด อีกทั้งเวทีเสียงที่กว้าง เพลง 5 เสียงรถจักรไอน้ำวิ่งมาจากไกล เข้ามาหาเรา ทำได้ดีมาก (PERSPECTIVE) เสียงตีรัวระฆังก็ชัดดี (แม้จะขาดทรงไปบ้าง) เพลง 6 เสียงไก่ขันอยู่ลึกไปหลังเวทียังไม่ตรงกลางเปะ (เอียงไปขวานิดหนึ่ง) ยังไม่โฟกัสนัก ควรเข้าใจก่อนว่า แผ่นนี้ผู้บันทึกจัดวาง แต่ละเสียงแบบจงใจ โชว์ที่ทาง ตำแหน่งเป็นพิเศษ ด้วยวงจรเล่น PHASE เยอะมาก จึงใช้ทดสอบเรื่อง PHASE ได้ดีมาก (เฟสไม่แน่จริง มิติ, ทรวดทรง, ตำแหน่ง เวทีเสียงจะบิดเบี้ยวไปหมด ออกมาทะแม่งๆ) นาทีที่ 4 ของเพลง 4 นี้ CT-1 ให้สารพัดเสียงสัตว์ห้อมล้อมตัวเราเต็มไปหมด แม้ว่าจะแยกแยะไม่ค่อยชัดว่าอะไรเป็นอะไรนัก แต่ก็มีบางตัว ขนาดว่าแทบมาส่งเสียงอยู่หน้าเราห่างออกไปแค่ศอกกว่าอย่างไม่เคยพบ เพลง 7 เสียงม้าวิ่งหอบมาแต่ไกล แจ๋วมาก ได้ยินเสียงหายใจรด 2 ครั้ง ก่อน (ปกติไม่สังเกต) ตามด้วยเสียงหอบแฮกๆ ครบ 6 ครั้ง (อย่างค่อนข้างชัด) เสียงตีกลองท่อวนรอบลำโพงซ้าย และขวา ยังไม่โฟกัสเป็นทรวดทรงชัด (ดูวอกแวก) และไม่ลอยสูงถึงเพดานห้องได้ แค่เรี่ยๆ ระดับลำโพง เพลง 10 ขึ้นต้นสารพัดเสียงในฟาร์มตอนเช้า ซึ่ง CT-1 ก็ถ่ายทอดออกมาได้แบบเก็บทุกเม็ด ไม่มีเสียงจากอะไรจะตกหล่นได้ แม้ว่าแต่ละเสียงดอกจะฟังคล้ายๆ กันไปหมด แต่ก็ยังคงความน่าสนใจ เพลงนี้ฟังไปๆ หลายๆ เสียงจะเริ่มอยู่สูงจนถึงเพดานห้องได้ ซึ่ง CT-1 ทำได้บ้าง 1 – 2 ครั้งกับบางเสียง ไม่สามารถทำได้บ่อยๆ เท่าที่ควร หลายๆ เสียงยังขาดมวล (BODY) ที่จะมาช่วยความเป็นตัวตน, ทรวดทรง, โฟกัส แต่ความดีเลิศเรื่องเสียงผิว, เสียงกระทบ, อากัปกิริยา ทำให้มันเอาตัวรอดได้สบาย ยิ่งกว่าชดเชยได้ ด้านปลายแหลม CT-1 ก็ทำได้ดีหายห่วงจริงๆ

แผ่น THE ALTO FEMALE VOL 1 (TOP MUSIC) เสียงร้องเพลงจีนเย็นๆ ของสุภาพสตรี เพลง 1 เสียงร้องของเธอออกบางไปหน่อย (ขาดมวล) แต่ก็ถ่ายทอดอากัปกิริยาได้อย่างเหลือๆ จีบปากจีบคอ เสียงลมหายใจ เสียงลมรอดไรฟัน เสียงริมฝีปาก แปลกมาก เพลงนี้ทรวดทรงของเสียงต่างๆ หายหมด และไม่โฟกัสเอาเสียเลย เพลง 2 (อารีรังเพลงเกาหลี) เสียงชาย-หญิงร้องหมู่ขึ้นต้นที่แยกแยะได้ดี ตามด้วยเสียงตีกลองใหญ่ที่ใหญ่แน่แต่ไม่ขนาดมหึมาแต่ก็อลังการ (แปลกที่เสียงกลองเอียงไปด้านขวา ปกติจะอยู่ตรงกลาง ฟังชัดว่าเสียงร้องมีมวล, ทรวด, โฟกัสดีกว่าเพลง 1 มาก ที่ชอบคือ เสียงตีกระทบกลองชัดดี เพลง 3 ขึ้นต้นเสียงดีดกีตาร์โปร่งเป็นเส้นสายดี เพลงนี้เช่นกัน เหมือนด้านขวาชัดเจนเป็นตัวตนกว่าในบางครั้ง) แม้เสียงร้องจะยังคงตรึงนิ่งตรงกลางตามปกติ (รวมทั้งเสียงกีตาร์ตอนท้ายๆ ก็ตรงกลางดี และลอยออกมาได้ดีตอนจนเพลง) เพลง 4 เสียงกีตาร์โปร่งอยู่ตรงกลางเปะ เสียงร้องโฟกัสมีทรวดทรงพอๆ กับเพลง 3 ลอยออกมาหาเราได้ดี สอดใส่อารมณ์ได้ดีกว่าเพลง 1, 2, 3 นิด (จริงๆ ควรมากกว่าเพลง 1 พอควรเลย) เสียงเขย่าลูกกระพรวนเป็นเม็ดๆ พอควร แต่ออกลูกเล็กไปนิด เสียงเดินดับเบิ้ลเบสกระพรวนเป็นเม็ดๆ พอควรแต่ออกลูกเล็กไปนิด เสียงเดินดับเบิ้ลเบส ชัด เข้นทิ้งตัวลงพื้นใช้ได้ เพลง 5 ขึ้นต้นเสียงกรุ้งกริ้งหลากหลายที่ขึ้นต้นทำได้ดีมาก (AIRY ดี) เสียงดีดสีเครื่องสายจีนน่าฟังมาก จากเพลงนี้สรุปได้เลยว่าเรื่องปลายแหลมของ CT-1 ชั้นหนึ่งเลย การถ่ายทอดอากัปกิริยา อารมณ์ดีมาก (เสียงสีเครื่องสายจีน ให้อารมณ์ดีที่สุดเท่าที่เคยฟังจากแผ่นนี้) เสียงเดินดับเบิ้ลเบสแน่, ลึก, กระชับ, เข้มข้นตลอด

แผ่น WOOD ของ Brian Bromburg เพลง 1 เสียงดีดดับเบิ้ลเบส ซึ่ง CT-1 ให้เส้นสายที่ดีมาก โฟกัส, ชัด, นิ่ง ควบแน่นเปรี๊ยะโฟกัสได้ตลอดเวลา ทุ้มลึกอาจไม่มหึมาแต่ก็พอทีเดียว พูดง่ายๆ ว่ามันค่อนข้างสมจริงเป็นอย่างมากๆ ครั้นดนตรีชิ้นอื่นๆ ขึ้น เสียงฉาบชัดดี (อาจดูว่าฉาบบางไปนิด), เสียงกลองชุด สังเกตได้ชัดกว่าทุกครั้ง (โดยเฉพาะการลากแฉหรือหางม้าไปบนผิวกลอง) ปกติไม่สังเกตดีๆ เสียงกลองชุดจะถูกกลบ เสียงเปียโนน่าฟังแต่ยังไม่โฟกัสเท่าที่ควร เพลง 2 บอกได้ว่า CT-1 ให้เสียงดับเบิ้ลเบสได้มหึมาไม่เบา แถมลงลึกกระชับ เสียงเคาะฉาบดี, ทุกอย่างดีขึ้น แม้โฟกัสแต่ละตำแหน่งชิ้นดนตรียังไม่เปะๆ แต่โดยรวมก็น่าฟังมากๆ ฟังเพลินจริงๆ กับแผ่น AYA ค่าย StockFish ปกติแผ่นนี้จะเป็น SACD แต่ปัจจุบันหาไม่ได้แล้ว เห็นมีแต่ที่ก๊อปปี้ของจีนเป็น CD ปกติ (ซึ่งก็หายากมากเช่นกัน)

แผ่น AYA เป็นแผ่นที่ร้านขายเครื่องเสียงชอบใช้ทดสอบ เนื่องจากบันทึกเสียงทุ้มมาอย่าง “เหลือจนล้น” ทั้งเป็นลูกและลงลึก กลางจะไม่ค่อยเปิดโปร่งเท่าไรนัก แหลมโอเค แต่ยังไม่ขนาดสุดๆ (ยังไม่ AIRY นัก) ที่เด่นอีกข้อคือ ให้เวทีเสียงกว้างมาก บางครั้งสูงถึงเกือบเพดานห้อง แต่ความกังวานยังไม่เปิดโปร่ง (TRANSPARENT เต็มที่) เสียงร้อง, พูด ชัดถ้อยชัดคำดีมากใน 2 – 3 เพลง แต่ก็ยังไม่ขนาดทะลุถึงขุมขน

กับแผ่นนี้ CT-1 จะช่วยเรื่องความเปิดโปร่งได้บ้าง (เท่าที่จะมีอยู่กับที่บันทึกมา) แต่น่าแปลกที่ช่วงเสียงทุ้มหายไปเยอะทีเดียว โอเคอาจมาจากบุคลิกของ CT-1 เองที่ไม่ได้เอาใจ “หูเบส” สักเท่าไร แต่ในแง่มุมอื่น CT-1 ก็ให้ได้ดีมากกับแผ่นนี้

โดยรวมๆ สาย CT-1 น่าจะเหมาะกับชุดที่เสียงออกไปทางอวบอิ่มเป็นทุนเดิมอย่างลำโพง DYNAUDIO, เครื่องเสียง MARANTZ, MCINTOSH (ไม่ใช่รุ่นหลังๆ นี้) เครื่องหลอด หรือยิ่งถ้าชุดมีระบบซับวูฟเฟอร์ช่วยด้วยจะยิ่งเข้าเป้าเลย

 

สรุป

ยิ่งฟัง ยิ่งยอมรับว่า CT-1 ไม่ใช่สายตลาดๆ ที่จะมองข้ามได้เลย ผู้ออกแบบได้พยายามนำเสนอรายละเอียดของเสียงผิวกระทบออกมาได้อย่างดีเลิศน่าทึ่งจริงๆ (แบบว่าไม่ใช้วิธีสร้างหัวโน้ตให้สวิงกระฉูดเพื่อหลอกหูว่า รายละเอียดดี) CT-1 จึงให้รายละเอียดได้อย่าง “สบายหู” ที่สุด มันไม่เคย “กระชาก” หูให้คุณต้องหันไปฟังมัน มันจะออกมาแบบง่ายๆ และผ่อนคลาย รอให้คุณเข้าไปหาขณะเดียวกันมันก็ถ่ายทอดความเป็นดนตรี สอดใส่อารมณ์ได้อย่งชวนติดตาม ฟังเพลินได้อารมณ์ ดูเหมือนผู้ออกแบบ และทำ CT-1 จะเน้น “เอาความจริง, เสียงจริง” เข้าสู้มากกว่าการ “แต้มสีสัน” เพื่อรักแรกพบ

อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็คงหนีไม่พ้นกับคำว่า “คล้องจองกัน” ตราบเท่าที่การบันทึกเสียง, การผสมเสียง (MIX) ในห้องบันทึกเกือบทั้งหมด ไม่มีใครใส่ใจที่จะเหลียวมาให้ความสำคัญกับ คุณภาพสาย อย่างพวกเรานักเล่นระดับหูทอง ไม่มีวันที่สายระดับนี้ (หรือพูดให้ถูก เครื่องเสียง, อุปกรณ์เสริมข้างเคียง ที่พวกเราพิถีพิถันแสวงหากัน) จะได้เล็ดลอดไปสถิตในวงการบันทึกเสียง พวกเขาจึง “จูน” เสียงสำหรับอุปกรณ์สายพื้นๆ ที่พวกเขาใช้กันเป็นอาจินต์

ผลคือ อย่างดีที่สุดที่สายระดับสุดยอดอย่าง CT-1 หรือยี่ห้ออื่นใด (รวมทั้งเครื่องเสียงในส่วนอื่นๆ ที่นักเล่นใช้) จะทำได้ ก็คือ ถ่ายทอด, คาย การชดเชยโน่นี่ต่ออุปกรณ์, สายต่างๆ ที่วงการบันทึกเสียงดักดานใช้กันอยู่ ออกมาอย่างซื่อสัตย์ เราจึงได้สัมผัสความหลากหลายแห่งฝีมือและคุณภาพการบันทึก และแน่นอนรวมทั้งความทะแม่งต่างๆ ที่อาจเหลือล้น และก็อาจบกพร่องอย่งไม่น่าเชื่อ ด้วยการทำตนอย่างซื่อสัตย์ที่สุดของอุปกรณ์เครื่องเสียงที่แวดวงนักเล่นพวกเราใช้กันอยู่

 

ขอขอบคุณ ร้านนิค สตูดิโอ โทร. 0-2642-1224 ที่เอื้อเฟื้อสายมาให้ทดสอบในครั้งนี้

Exit mobile version