Test Report: Golden Ear Technology AON 3

0

Test Report: Golden Ear Technology AON 3

(สัมผัสซุปเปอร์ทวีตเตอร์)

ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

14 Grille off_1029

            บริษัทลำโพง Golden Ear Technology เป็นบริษัทเพิ่งก่อนตั้งใหม่ๆ โดยมีหัวเรือคือนาย SANDY GROSS อดีตผู้ร่วมก่อตั้งและออกแบบลำโพง Polk Audio ที่โด่งดังทั่วโลก โดย SANDY ไปเทียบเชิญนักออกแบบ และผู้ก่อนตั้งลำโพงหลายๆ ยี่ห้อที่พวกเขาเกษียณหมดแล้ว และขายออกไปให้แก่นายทุนใหม่ที่เน้นแต่เรื่องผลกำไร มากกว่าศิลปะแห่งเสียง

SANDY GROSS มีแนวคิดที่จะทำลำโพงที่เสียงดีที่สุด แบบเหลือเชื่อด้วยสนนราคาที่ชาวบ้านจับต้องได้ จึงย้ายฐานการผลิตร่วมมือจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อให้โครงการนี้มีความเป็นไปได้ ตัวอย่างก็เช่น AON 3 ลำโพงวางหิ้งที่กล้าให้ซุปเปอร์ทวีตเตอร์ ด้วยสนนราคาแค่คู่ละ 1,000 เหรียญ US เท่านั้น!

triton_6-800x800

AON 3 มีจุดเด่น คือ

  1. ดอกแหลม HVFR (High-Velocity Folded Ribbon Tweeter) โดยตัวไดอะเฟรมทำจากฟิล์มทนความร้อนได้สูง แม่เหล็กเป็นนีโอไดเมียมแรงสูง ใช้หลักการบีบดีดอากาศออกมาจากร่องของแผ่นฟิล์มที่พับหยักคล้ายหีบเพลง (น่าจะเป็นหลักเดียวกับดอกแหลม HAIL AIR MOTION TRANSFORMER ของ ดร.ออสการ์ เฮล เมื่อ 40 ปีที่แล้ว) ซึ่งให้เสียงแหลมไปได้ถึง 35 kHz อีกทั้งให้มุมกระจายเสียงกว้างเป็นพิเศษ, การสวิงเสียงฉับไว, ความเพี้ยนต่ำ
  2. ดอกกลางทุ้มขนาด 7 นิ้ว มี Phase Plug เป็นหัวจรวดแฉกช่วยยิงเร่งความเร็วเสียงบริเวณกลางกรวย (Multi-Vaned Phase Plug หรือ MVPP) โครงลำโพงที่โปร่งต่อแรงอัดอากาศไม่กีดขวางทางลม สรีระของตัวกรวยออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์ แม่เหล็กแรงสูง ตัวแกนวอยซ์คอยล์เป็นกระบอก Kapton ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 1 นิ้ว ทนความร้อนได้สูง ให้การตอบสนองความถี่ได้กว้างมากๆ โดยปราศจากการโด่งของเสียง
  3. 2 ข้างของตู้มีแผ่น (โฟม?) กลมแบนที่ขยับเข้าออกได้ (สวนทางกัน) (คล้าย PASSIVE CONE) เพื่อช่วยยืดให้เสียงทุ้มลงได้ลึกสุดๆ ดุจใช้ระบบตู้แบบท่อวกวน (Transission Line) แต่จะให้เสียงที่กระชับกว่า ฉับไวกว่า
  4. ตัวตู้ทรงปิรามิด ดอกแหลมอยู่ด้านบนของตู้ (หน้าแคบลง) ทำให้มุมกระจายเสียงกว้างเต็มที่ การเป็นทรงปิรามิดช่วยลดเสียงก้องค้างภายในตู้ ตัวตู้ห่อหุ้มด้วยผ้าดำทุกด้าน ด้านบนเป็นพลาสติกสีดำชัดเงาประกบขั้วลำโพง Single Wire มีตัวติดไว้แขวนลำโพงได้

GETAON3-4

สเปค

ความถี่ตอบสนอง                                38 Hz – 35 kHz

ความไว                                                90 dB

ความต้านทาน                                     8 โอห์ม

แนะนำให้ใช้กับภาคขยาย                   10 – 250 W/CH

ดอกลำโพงเสียงแหลม                       HVFR

ดอกลำโพงเสียงกลาง/ทุ้ม                 กรวย 7 นิ้ว

แผงกลมกระจายทุ้มลึก                       ขนาด 8 นิ้ว ข้างตู้ (x2)

ขนาดตู้                                                กว้าง 9 นิ้ว, สูง 14 นิ้ว, ลึก 11 นิ้ว

หนัก                                                     15 ปอนด์ (สุทธิ)

GoldenEarAon3back

การทดสอบ

AON 3 ที่ได้มาทดสอบเป็นคู่ใหม่แกะกล่อง จากเครื่องเล่น CD T+A 1265 R ต่อออกสายสัญญาณเสียง MADRIGAL CZ-GEL 2 (หัว RCA) เข้าอินทีเกรทแอมป์ Mark Levinson No.383 (100 W.RMS/CH ที่ 8 โอห์ม, 200 W.RMS/CH ที่ 4 โอห์ม เป็นบาลานท์แอมป์แท้จากเข้าถึงออก) ออกสายลำโพง FURUKAWA S-2 (ตามทิศ) หัว WBT หางปลา (เงิน) ด้านแอมป์ หัว WBT บานาน่าด้านลำโพง สายลำโพง S-2 ชุดนี้เอาไว้ทดสอบลำโพง Single Wire โดยเฉพาะ ไม่ใช่เอาสาย S-2 ไบ-ไวร์อีกชุดมาทำ Single ทดสอบ AON 3 วางบนขาตั้ง TARGET 24 HJ เอียงลำโพง (TOE IN) เข้าหาตำแหน่งนั่งฟัง ขยับให้ได้ทั้งสุ้มเสียง และมิติมีทรวดทรงดีที่สุด สายไฟ AC ของแอมป์ No.383 เสียบที่เต้าเสียบตัวเมียฮับเบลสีส้มที่กำแพง มีหัวเสียบปลั๊ก AC ตัวผู้ที่เป็นตัวกรองไฟของ PHD 2 เสียบอยู่ที่ไฟขาเข้าห้องเสียง 2 หัว (น่าใช้มาก PHD 2 ราคาแค่ 29,000 บาท/หัว ช่วยให้เวทีเสียง, มิติเสียง, สุ้มเสียงดีขึ้นเอาเรื่องเลย ใครสนใจ 08-1347-0904)

ที่เครื่องเล่น CD T+A ผมทำระบบระบายกระแส EDDY CURRENT ลงกระทะเหล็กเอาไว้ (ดูทดสอบอินทีเกรทแอมป์ SOKEN DAV C20 ในเล่มนี้) ช่วยได้ถึง 30% (!) มีผลึกอะมิทิสขนาด 2 ฝ่ามืออยู่ข้างขวาของเครื่อง CD อีก 1 ฝ่ามือ ที่พื้นด้านขวาที่นั่งฟัง มีกล่องผลึกควอตซ์รวม (CRYSTAL HEALING PACK ของ JUDY HALL) 1 กล่องวางอยู่กลางห้อง หมุนหันให้ได้มิติเสียงโฟกัสดีที่สุด กล่องนี้มีผลึกตัวอย่งเท่าปลายนิ้วก้อย 12 ชนิด 12 หลุม พร้อมหนังสือเรื่องผลึกบำบัดนี้ (กล่องนี้ราคา 850 บาท) ช่วยดูดคลื่นวิทยุความถี่สูง (RF) จาก WiFi (6 SPOT จากนอกบ้านรั่วเข้ามา), คลื่นสถานีวิทยุ/ทีวี/ดาวเทียม, คลื่นจากโทรศัพท์/cell site, จากโน้ตบุ๊ก/PC/จอ LCD, จากรีโมทไร้สาย ฯลฯ บอกได้เลยว่าฟังออกเห็นผลชัดมาก

อย่างไรก็ตาม ภายในห้องก็ไม่มีอุปกรณ์ส่งคลื่นกวนเหล่านี้ ไม่มีการใช้รีโมทใดๆ ไม่มีโทรศัพท์มือถือ, โน้ตบุ๊ก/PC/จอ LCD, ไม่มีนาฬิกาไฟฟ้า แม้แต่นาฬิกาข้อมือควอตซ์ (ก็มีผล), ไม่มีกล้องดิจิตอลใดๆ (พวกนี้ถึงปิดเอาถ่านออกก็ยังมีผล)

ปัดลมแอร์ (เปิดที่ 24 องศา C, ลม LOW ต่ำสุด) ให้ยิงลงด้านหลังลำโพง ไม่ส่ายกวนหน้าลำโพง ยกสายลำโพงสูงหนีพื้นห้อง (ปูน/พรม) ด้วยตั้งกระดาษพิมพ์ดีด 2 รีม (สูง 1 คืบ และทับบนสายอีก 3 รีม เอากระดาษสีแดงที่ห่อรีมออก)

ลำโพงซ้าย, ขวาห่างกันประมาณ 2 เมตร ห่างจากตำแหน่งนั่งฟังประมาณ 3.6 เมตร ห้องฟังขนาด 3.85 x 9 x 2.5 เมตร ผนังมีฟองน้ำเก็บเสียง SONEX, พื้นพรม มีของอื่นๆ พอควรไม่ก้องแน่นอน

ระวังมิให้สายเสียงซ้าย, ขวาแตะต้องกัน สายไฟก็พาดไม่ให้ถูกพื้น และโลหะต่างๆ หรือกล่องที่จะก้องเสียงได้ สายทุกเส้นไม่แตะกันไม่ม้วนแตะตัวเอง

ฟังครั้งแรก AON 3 มีผ้าดำห่อตู้มาตามปกติที่เขาทำมา ผมว่าเสียงจะออกทึบไปหน่อยมิติเสียงยังหุบๆ อยู่ จึงยกแผงครอบสีดำด้านบนออก กดปุ่มม้วนดึงสาย (ที่สาย) แล้วรูดให้สายยาวขึ้นเพื่อรูดผ้าคลุม ดำลงต่ำ ให้ทุกดอกลำโพงพ่นเสียงออกมาได้อิสระเต็มที่ที่สุด (ไม่สามารถรูดผ้าลงมาได้ล่างสุดติดที่หัวเสียบสายลำโพงด้านหลัง และตัวผ้าเองเย็บของมาตึง จึงเหลือผ้าด้านล่างประมาณ 3 นิ้ว รอบๆ ตู้)

ปรากฏว่าเสียงเปิด, โปร่งขึ้นถึง 30% เอาแผ่นปิดด้านบนตู้ออก เสียงโฟกัส, สด, นิ่ง, ชัดขึ้น 8% (จึงเอาออก)

การฟัง AON 3 อย่าลืมฟังทดสอบบวก, ลบลำโพงสลับให้เสียงลอยออกมาก่อน (สังเกตชัดที่เสียงกลางลงทุ้ม) ใหม่ๆ เสียงแหลมจะแบนฟังยาก จากนั้นลองเดินสายลำโพงตามทิศ, ย้อนทิศ (ขั้วเหมือนเดิมตามที่เช็คไว้) AON 3 จะขี้ฟ้องสิ่งเหล่านี้มากทีเดียว

AON 3 ไม่ค่อยกินวัตต์ เร่งโวลลุ่มที่ No.383 แต่ 4.0 – 42.1 ก็ดังเต็มห้อง แสดงว่าที่ระบุความไว 90 dB SPL/W/M ก็น่าจะเป็นตามนั้น

ก่อนฟังอย่างน้อยต้องเปิดเพลงเบิร์นอินไม่ต่ำกว่า 15 ชั่วโมง เสียงจึงจะลงตัวในระดับหนึ่ง และมีทรวดทรงโดยเฉพาะปลายแหลม (ใหม่ๆ จะแบน)

E700CF9B-87EA-4374-B4D4-A676D6C66E81-17955-0000125BAD1CD43E

แผ่นระนาดเอก (ไทลำภู) เพลง 3 เสียงตีระนาดเป็นเม็ดๆ ใช้ได้ เสียงฉิ่งพลิ้วได้ดีแม้จะผอมไปหน่อย เสียงฉับดูแจ๋นไปนิด ยังออกแบนไม่เป็นรูปลักษณ์ถ่ายทอดจังหวะจะโคนของการตีฉิ่งได้ดีน่าสนุก เพลง 4 ขึ้นต้นสงัดได้ดี เสียงตีระนาดเป็นตัวๆ ดี หัวโน้ตมีรายละเอียดดีมากทีเดียว รับรู้ได้ถึงผิวของไม้ระนาดเสียงโดยรวมออกกลมกล่อมไม่ทึบไม่เปิดสว่างเกิน, ตื่นตัว ไม่ก้าวร้าว ช่วงดนตรีโหมหลายชิ้นจะดูสับสนไปบ้างแต่ก็ยังแยกแยะอะไรๆ ได้ค่อนข้างดี เพลง 4 ขึ้นต้นสงัดพอได้ เสียงระนาดเป็นตัวๆ เป็นเม็ดๆ ดี รายละเอียดหัวโน้ตดี เสียงฉิ่งสั่นระริกพลิ้วดี แต่ขาดมวลไปหน่อย เสียงแถวๆ 600 Hz จะโด่งเล็กน้อยเป็นช่วงกว้างๆ เพลง 5 ขึ้นต้นสงัดพอกับ 4 เสียงระนาดจะออกอวบกว่าปกติหน่อย อยากให้หัวโน้ตระนาดคมกว่านี้อีกหน่อย การไล่ฮาร์โมนิกของทุ้ม, กลาง, แหลมยังไม่สอดรับส่งทอดกันเต็มที่นัก เช่น ฮาร์โมนิกด้านสูงของทุ้มบนยังไม่สอดเป็นเนื้อเดียวกับฮาร์โมนิกของกลางต่ำ เช่นเดียวกัน ฮาร์โมนิกด้านสูงของกลางยังไม่สอดรับลงร่องกับฮาร์โมนิกด้านต่ำของเสียงแหลม (จริงๆ แล้วคือขาดฮาร์โมนิกด้านต่ำของเสียงแหลมมากกว่า) ทำให้ปลายแหลมออกผอม ขาดมวลเนื้อหนังไปหน่อย อย่างไรก็ตามโดยรวมๆ ก็ฟังได้สนุกเพลิน เสียงโดยรวมไม่แห้ง อาจขาดความคมของหัวโน้ตระนาดไปบ้าง แต่ก็ทำให้ฟังสบายหูกับเพลงที่คมๆ แจ๋นๆ ความกังวานยังฟุ้งๆ แถวๆ ตัวโน้ต ไม่วิ่งกระจายไปหลังเวที เพลง 8 ขึ้นต้นเสียงกลองตะโพนลงได้ลึกอิ่มพอใช้ไม่ถึงกับมหึมา หรือทิ้งตัวลงพื้นห้อง เสียงตบหน้ากลองไล่จากขวาไปซ้ายอยากให้เสียงตบคมเข้มอีกนิด (ขาดเสียงผิวไปหน่อย…TEXTURE)

แผ่น RHYTHM BASKET, A Tasket, A Tisket, A Child’s ของ Brent Lewis เพลง 2 เสียงตีกลองท่อมีทรวดทรงพอควรแต่จะออกหนาๆ ไม่กลมนัก ความกังวานดี ยิ่งแผ่นนี้ยิ่งฟังออกว่าแหลมต่ำน้อยไปหน่อย ทำให้หัวโน้ตต่างๆ ออกมนๆ ไปหมด ไม่คมชันเท่าที่ควร เพลง 4 เสียงพายวักน้ำทำได้ไม่เลว เสียงคลื่นลูกใหญ่เต็มท้องน้ำ (ขาดลูกเล็ก ลดหลั่นกันลงไปหน่อย) การตอบสนองฉับไว เวทีเสียงกว้าง รายละเอียดหัวโน้ตดี (เสียงกลองท่อ) ดังกล่าวแล้ว เหมือนความถี่แถวๆ 2 kHz – 5 kHz จะแหว่งหายไป ทำให้ขาดความคมของเสียงกลาง แต่ปลายแหลมยังสดใส กรุ้งกริ้งดีทีเดียว เพลง 5 เสียงรถจักรไอน้ำเปิดหวูดวิ่งมาแต่ไกล หวูดจะทึบไปนิด ตามด้วยเสียงตีกลองท่อที่คีย์สูง ให้รายละเอียดหัวโน้ตได้ดี ความกังวานของตัวภายในกลองทำได้ดี เพลง 6 เสียงไก่ขันอยู่ลึกไปหลังเวทียังไม่โฟกัสเท่าที่ควร ออกฟุ้ง เสียงสัตว์ต่างๆ จีบปากคอดี แต่ยังไม่แสดงการอ่อนแก่ของเสียงได้ดีนัก ฟังดังเสมอๆ กันหมด (Dyanamic Contrast ยังไม่เท่าไร) ทรวดทรงของมิติเสียงยังไม่ได้เท่าไร โดยเฉพาะถ้าดนตรีขึ้นหลายๆ ชิ้นพร้อมๆ กัน จะเหมือนทรวดทรงลดลง (ปัญหาตู้สั่น) นาทีที่ 4 ของเพลงนี้ เสียงสัตว์ต่างๆ แต่หันมาเป็นฝูง แผ่ออกมาหาเรา แต่ยังไม่ขนาดโอบมาหลังซ้าย, หลังขวา แต่ก็มากันเยอะดีทีเดียว เพลง 7 เสียงม้าวิ่งหอบมาแต่ไกล 6 หอบครบ ตามด้วยเสียงตีกลองต่อซ้ายทีขวาทีวนไปวนมายังไม่ขนาดลอยสูงขึ้นๆ จนถึงเกือบเพดานห้องได้ เพลง 9 เวทีกว้างดีมาก เพลง 10 เสียงในฟาร์มแยกแยะได้ไม่เลว แต่เวทีเสียงยังอยู่ระดับปกติ ไม่สูงถึงเพดานห้องอย่างที่ควรจะเป็น

แผ่น The Greatest Alto Female Vol.1 (Top Music) เสียงร้องเพลจีนหวานๆ ของสุภาพสตรี เพลง 1 เสียงร้องหวานจีบปากจีบคอ เสียดายที่ความถี่ความสูงหายไป ช่วงหนึ่งดังกล่าวแล้ว ทำให้ลดความชัดเปิดโปร่งของเสียงลงไปพอควร รวมทั้งความคมชัดของมิติเสียงด้วย เพลง 2 (อารีรัง) ขึ้นต้นเสียงประสานชาย-หญิงแยกแยะได้ดี ตามด้วยเสียงตีกลองใหญ่ ที่มีเสียงตีกระทบพอได้ (หนักไปกลางต่ำ) เสียงกลองกระชับดี แม้ไม่ใหญ่มหึมา หรือลงลึกขนาดขากางเกงไหว แต่ก็ไม่น่าเกลียดแน่ อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ทุ้มลึกไม่ได้กระพือเบลออย่างที่เกรงไว้ก่อน เพลง 3 เสียงร้องบันทึกดีกว่าเพลง 1 เสียงเปิดโปร่ง โฟกัสขึ้น แต่ก็ยังไม่ถือว่าไม่ดีเท่าที่ควร (ขาดกลางสูง) แต่โดยรวมๆ ก็ฟังกันได้เพลินดี เพลง 4 เสียงร้องเปิดขึ้นอีก ทำให้โฟกัสดีขึ้น พูดง่ายๆ ว่าถ้าปลายแหลมบันทึกมาเน้นๆ ก็จะเหมือนดีขึ้น แต่ก็รู้สึกว่าปลายแหลมโดดๆ อยู่ เสียงเขย่าลูกกระพรวน ลูกเล็กไปหน่อย เสียงเครื่องสายเป็นเส้นสายได้ไม่เลว ออกหวาน เพลง 5 ขึ้นต้น เสียงกรุ้งกริ้งของปลายแหลมดอกสดใส กรุ้งกริ้งดี (AIRY ดี) ไปได้ไกล (ถึง 30 kHz แน่ๆ) เสียงเดินเบสอิ่มลึกเป็นลูกได้ไม่เลว (ไม่เบลอ) เสียงร้องจีบปากจีบคอฟังเพลิน

            แผ่น AYA (Stock Fish) (CD ที่ก๊อบปี้จาก SACD) (แผ่นจีน แผ่นแท้หาไม่ได้แล้ว) เพลง 1 เสียงสุภาพสตรีพูดชัดถ้อยชัดคำดี เพลง 4 เสียงกลองใหญ่ อิ่ม ต่ำลึกดีมาก เสียงฆ้องชัดดี แยกแยะมิติดี ติดตามได้ตลอด หน้า-หลัง สูง-ต่ำ ลำโพงล่องหนดีมาก พูดง่ายๆ ว่าเสียงเกินตัว เพลง 5 เสียงผู้ชายร้อง ชัดถ้อยชัดคำดี (รายละเอียดหัวคำดี) เสียงไวโอล่าลงลึกแยกจากเสียงร้องได้ดี เสียงแบนโจติดตามได้ตลอด ทุกอย่างดูเข้าท่า เสียดายที่ขาดช่วงกรองสูงไปนิด ไม่อย่างนั้นจะเอาเรื่องมากเลย เพลง 6 เสียงดนตรีแจ๊ส ฟังสนุกแบบสงบๆ ไม่สดนัก เสียงดับเบิ้ลเบสหนักหน่วงดี บันทึกสไตล์โบราณๆ แบบเสียงจานเสียง

14 Grille on_1030

สรุป

ถ้าคุณกำลังมองหาลำโพงที่ให้รายละเอียดหัวโน้ตได้แบบสุดๆ วิธีเดียวคือ ต้องเป็นลำโพงที่มีดอกเสียงแหลมที่ครอบคลุมความถี่ได้สูงเกิน 30 kHz ไม่ใช่แค่ 20 kHz หรือ 25 kHz อย่างระบบลำโพง 95% ในท้องตลาดนั้นคือ ต้องมีดอกซุปเปอร์ทวีตเตอร์ แย่หน่อยที่เฉพาะดอกแหลมซุปเปอร์ทวีตเตอร์ที่มีขายกันในตลาด คู่หนึ่งก็ต้องมี 5 – 6 หมื่นบาทขึ้นไปถึง 1 ล้านบาท! ระบบลำโพงที่มีดอกวซุปเปอร์ทวีตเตอร์ด้วยจึงมีราคาทะลุ หรือเฉียดแสนบาทต่อคู่ทั้งนั้น

วันนี้ AON 3 นำเสน่หาของซุปเปอร์ทวีตเตอร์มาให้คุณได้สัมผัสด้วยสนนราคาแค่ประมาณ (ลดแล้ว) คู่ละ 29,000 บาท (โปรโมชั่น) นับเป็นสิ่งที่หาได้ยากมากในวงการนี้ แค่ตรงนี้ก็คุ้มแล้ว

แน่นอน นี่ไม่ใช่ความมหัศจรรย์ที่ AON 3 ทำราคาได้ต่ำขนาดนี้ โดยจะไม่มีจุดอ่อนตามราคา กฎแห่งความจริงที่ว่า “คุณจ่ายอย่างไร ก็ได้อย่างนั้น มักถูกต้องเสมอ AON 3 ก็เช่นเดียวกัน คุณต้องรู้ที่จะ “เล่น” กับมันได้แก่

 

  1. ถ้าคุณไม่เกี่ยงว่า แม่บ้านจะเหล่เอา ก็จง “เปลื้องผ้า” ห่อหุ้มตัวมันออกให้มากที่สุด หรือเอาคัตเตอร์กรีดตัดออกไปเลย เสียงจะโปร่ง สด พลิ้ว ขึ้นเยอะ แถมมิติหลุด เปิดอิสระขึ้นด้วย
  2. เอาฝาครอบด้านบนออก เสียงจะนิ่ง, สด, โฟกัส, ไดนามิกขึ้น
  3. ขอย้ำอีกครั้งต้องเบิร์นอิน (ด้วยดนตรี) อย่างน้อยที่สุด ชั่วโมงขึ้นไป ไม่อย่างนั้นเสียงจะออกมาทะแม่งๆ (ทุ้มลึกเบลอ, กลางสูงถึงสูงแบน, ทรวดทรงไม่ดี, ช่วงดนตรีหลายชิ้นจะมั่ว, เสียงฉากหลังเบลอ)
  4. ถ้าต้องการ “สุ้มเสียง” ครบ (กลางสูงไม่โหว่ดังที่ผมทดสอบเจอ) ควรนั่งฟังอย่าห่างมาก กรณีเอียงลำโพงเข้าหาจุดนั่งฟัง ระยะทางระหว่างตู้ซ้ายไปตู้ขวา ต้องเท่ากับตู้ซ้าย หรือตู้ขวา มายังตำแหน่งนั่งฟัง โดยอาจต้องยอมสูญเสีย ทรวดทรงเสียง (3D) ช่วงกลางๆ ไปบ้าง (ฟุ้งแบนขึ้น)

ตรงนี้อย่างไปโทษลำโพง ดอกแหลมซุปเปอร์ทวีตเตอร์ราคาขนาดนี้มักไม่มี “แรงถีบ” ที่จะยิงเสียงแหลมต่ำได้ไกลนัก ดอกแหลมซุปเปอร์ทวีตเตอร์แพงๆ เฉพาะแม่เหล็กก็ขนาด 1 กำปั้น (ผู้ชาย) แล้วบางยี่ห้อขนาดกว่า 2 กำปั้น (ผู้ชาย) (ราคาคู่ละ 1 ล้านบาท)

  1. จริงๆ AON 3 เป็นลำโพงที่มีแรงดี ผมอยากดัดแปลงจัดภายใน (สาย, อุปกรณ์, ทิศทาง) เชื่อว่าสามารถทำให้ดีขึ้นได้อีกพอควรทีเดียว (แต่ราคาก็จะพอกพูนขึ้นด้วย)

AON 3 เป็นลำโพงที่มีศักยภาพที่ดี กลางอิ่ม (กลางต่ำ) กลางสูงอาจตกลงบ้าง (ทำให้มิติโฟกัสไม่ได้เต็มที่ และเสียงลดคม, สดไปหน่อย) แต่ปลายแหลมก็ไปได้ไกล ไม่น่าจะต่ำกว่า 30 kHz สบายๆ โดยสะอาดเกลี้ยงพลิ้วระยิบระยับใช้ได้ (AIRY) ทุ้มอาจไม่เป็นลูกหนักหรือกระทุ้งคมๆ แต่รับรองว่าอิ่ม, ลงลึกได้อย่างน่าอัศจรรย์ระดับซับวูฟเฟอร์ได้เลย โดยหางทุ้มไม่เบลอจนน่าเกลียดด้วย ให้จังหวะจะโคนได้ดี ฟังเพลิน สนุก มีความเป็นดนตรีสูงทีเดียว รายละเอียดดี เสียงเกลี้ยงสะอาด ไม่แจ๋น, บาดหู หรืออู้ก้องใดๆ ถ่ายทอดอากัปกิริยาของนักดนตรี นักร้องได้ดีมาก ให้เวทีเสียงได้กว้างโอ่อ่า สูง-ต่ำดีถึงดีมาก กับบางเพลงที่จงใจบันทึกมาอย่างนั้น ลำโพงล่องหนได้เต็มที่

 

ส่งท้าย AON 3 อาจไม่ใช่ลำโพงที่ดีเลิศไปหมดทุกแง่มุม แต่เรียนตรงๆ มันท้าทายการซื้อไปดัดแปลงปรับปรุงอย่างยิ่ง ถ้าทำได้อย่างถูต้องแล้วละก็ คุณอาจได้ลำโพงที่คุณภาพเขย่าคู่ละเกินแสนบาทได้ โดยลงทุนแค่ 3 หมื่น – 4 หมื่นบาท เท่านั้น (รวมค่าโมเต็มที่)

ขอขอบคุณ บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด โทร. 0-2640-3000 ที่เอื้อเฟื้อเครื่องมาให้ทดสอบในครั้งนี้