Test Report: Gauder Akustik (Isophon) Arcona 40
2-way Stand-mounted Speakers
มงคล อ่วมเรืองศรี
ก่อนอื่น ต้องขอบอกว่า Gauder Akustik นั้นไซร้ ก็คือ Isophon ในอดีตนั่นเอง อันมีที่มาจากชื่อของ Dr.Roland Gauder ผู้เป็นเจ้าของบริษัท และทำหน้าที่ออกแบบลำโพง Gauder Akustik ทุกรุ่นในปัจจุบัน ซึ่งเหตุผลของการเปลี่ยนชื่อ Isophon มาเป็น Gauder Akustik ก็เพราะว่า แบรนด์Isophonนั้นเก่าแก่มาก ย้อนหลังไปได้กว่า 80 ปีทีเดียว โด่งดังกับการผลิตตัวลำโพง (Drivers) ออกจำหน่าย ให้นักเล่นเครื่องเสียงประเภท D.I.Y. ซื้อไปประกอบลงตู้กัน กระทั่งมาถึงปัจจุบัน Dr.Roland Gauder ได้เข้าถือครองกิจการโรงงานที่ทำการประกอบลำโพงให้กับทาง Isophon กอปรกับ Dr.Roland Gauder นั้นมีความรู้-ความเชี่ยวชาญในแนวทางการออกแบบลำโพงในทฤษฎีใหม่ๆ อันทันสมัย จึงต้องการให้ผู้คนในวงการเครื่องเสียงไม่ยึดติดกับแบรนด์-Isophon-เดิม ก็เลยถือโอกาสเปลี่ยนชื่อมาเป็น Gauder Akustik เพื่อสร้างแบรนด์อิมเมจใหม่ ในความเป็นระบบลำโพงระดับไฮเอนด์แบบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์
เกริ่นนำ
ถ้าเข้าไปเยี่ยมชม Gauder Akustik ผ่านทางเว็บไซต์ของเขา จะพบว่า Gauder Akustik จำแนกระบบลำโพงเอาไว้เป็น 4 ซีรี่ส์ด้วยกัน เริ่มจาก Arcona (ถือเป็นระดับ Entry-level) ถัดขึ้นมาเป็น Vescona; Cassiano; FRC (ที่เป็นลำโพงเซนเตอร์โดยเฉพาะ) แล้วก้อ Berlina ที่ถือว่า เป็นระดับท้อป เฉพาะอย่างยิ่งรุ่น Berlina RC11 ที่เป็น Flagship ซึ่งได้สร้างชื่อลือชาไว้มากถึงขนาดติดอันดับ Best Loudspeaker in the World เมื่อปี 2012
สำหรับ Arcona Series นี่เพิ่งจะบังเกิดขึ้นมาล่าสุดในปีนี้เองนะครับ (2015) สดๆ ร้อนๆ เลยทีเดียว และที่สำคัญแม้จะได้ชื่อว่าเป็นซีรี่ส์น้องเล็กระดับคุ้มค่าน่าใช้ แต่ทาง Dr.Roland Gauder ก็ได้ประเคนใส่เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าไปอัดแน่นไว้เต็มที่ ในขณะที่ปัจจัยราคาต้องนับว่า พอจะไขว้คว้ากันได้ ไม่ยากเย็นนักสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่รักจะเล่นระบบลำโพงไฮเอนด์ โดยที่ Arcona Series จะมีให้เลือก 4 รุ่นด้วยกัน : Arcona 40, Arcona 60, Arcona 80 และ Arcona 100 ไล่เรียงจากรุ่นเล็กสุดไปจนถึงรุ่นใหญ่สุด ภายใต้จุดเด่นอันแตกต่างด้วยการใช้ทวีตเตอร์แบบ Air-Motion-Transformer หรือเรียกย่อๆ ว่า AMT
นอกจากนี้ Arcona Series ยังได้รับการปรับเปลี่ยนตัวไดรเวอร์ (วูฟเฟอร์-มิดเรนจ์) ใหม่ เพื่อให้สอดรับกับทวีตเตอร์แบบ AMT อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกที่ Dr.Roland Gauder ได้ออกแบบวงจรตัดกรองช่วงความถี่ที่มีความชันมากถึง 50 ดีบีขึ้นมาใช้งานสำหรับ Arcona Series นี้โดยเฉพาะ (ถอดแบบมาจากรุ่น Berlina RC-11)
คุณลักษณ์
Arcona 40 นับเป็นระดับประถมต้นของ Arcona Series ก็คงไม่ผิดนัก สำหรับใครที่อยากเริ่มต้นกับ Gauder Akustik รุ่นนี้ถือว่าเหมาะมาก นับตั้งแต่ระดับราคาที่ไม่แรงจนเกินจะไขว่คว้า, ขนาดกะทัดรัด ไม่ใหญ่โตจนคับห้อง, รูปลักษณ์ทันสมัย มีเทคโนโลยีใหม่ๆ บรรจุไว้เพี้ยบ ไปจนถึงเรื่องของคุณภาพเสียง ซึ่งแน่นอนว่า Dr.Roland Gauder ย่อมต้องไม่ปล่อยให้เป็น Weakest Link ของ Gauder Akustik โดยที่เขายิ่งต้องพยายามสร้างความประทับใจให้ผู้คนที่ได้รับฟัง Arcona 40 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในความเป็น Gauder Akustik จนอยากก้าวย่างไปสู่ซีรี่ส์ที่สูงยิ่งขึ้น-เมื่อพร้อม
Arcona 40 เป็นระบบลำโพงแบบ 2-ทาง วางขาตั้ง ตู้ปิดสนิท ที่สะดุดตาด้วยรูปทรงตัวตู้ที่โค้งมนทางด้านข้างเรียวลู่ไปทางด้านหลัง อย่างที่มักจะเรียกขานตัวตู้ลำโพงรูปทรงนี้ว่า “หยดน้ำ” เพื่อให้ผนังตู้ด้านข้างไม่ขนานกัน ช่วยในด้านของการลดสภาพความถี่คลื่นค้าง หรือ Standing Wave บ่อเกิดแห่งเรโซแนนซ์ เป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม รวมไปถึงการใช้ตัวขับเสียงใหม่มาติดตั้ง ทั้งวูฟเฟอร์/มิดเรนจ์ และทวีตเตอร์ โดยในส่วนของวูฟเฟอร์/มิดเรนจ์ที่มีขนาด 7 นิ้วนั้น มิได้ใช้เป็น Ceramic Cone ของ Accuton เฉกเช่นในซีรี่ส์ที่สูงขึ้นอย่าง Berlina (นัยว่า ราคาแพงมากจนอาจส่งผลให้ Arcona Series มีราคาแพงจนเกินไป) โดยได้ปรับเปลี่ยนมาใช้เป็นแบบ Aluminum Cone/Plastic-Coated ที่ทาง Gauder Akustik เรียกขานว่า XPluse diaphragm
วัสดุตัวกรวยที่เป็น XPluse Diaphragm นั้น ใช้วัสดุ Aluminum มาขึ้นรูปตัวกรวย จากนั้น “หุ้มทับ” ผิวหน้าตัวกรวยอะลูมินั่มนี้ไว้ด้วยพลาสติกชนิดพิเศษ เพื่อช่วยทำหน้าที่ในการ Damped ตัวกรวยอะลูมินั่มนี้อีกชั้นหนึ่ง โดยไม่ไปเพิ่มภาระทางด้านมวลต่อน้ำหนักของตัวขับเสียง XPluse Diaphragm จึงได้ชื่อว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งในแง่ความเบาและความแข็งแกร่งต่อมวลที่สูงมาก จึงส่งผลดีอย่างมากๆ ต่อความฉับไวในการตอบสนองต่อสัญญาณเสียง ช่วยให้การเปิดเผยรายละเอียดเสียงต่างๆ ทั้งในช่วงย่านความถี่ต่ำและช่วงย่านความถี่เสียงกลางที่คาบเกี่ยวต่อเนื่องกันทำได้ดียิ่งขึ้น ไดนามิกเสียงจึงไม่เนิบนาบ-แช่มช้า แทบไม่ต่างไปจากที่ใช้อยู่ในซีรี่ส์ใหญ่ๆ
XPluse Diaphragm ที่มีมวลเบาแต่แข็งแรงมาก ทำให้สามารถรับภาระในการตอบสนองความถี่ได้เป็นช่วงกว้างมาก และยังสอดรับได้อย่างลงตัวกับทวีตเตอร์แบบ AMT ที่ดั้งเดิมนั้น Dr. Oskar Heil เป็นผู้คิดค้น-พัฒนาขึ้นมาแต่แรกเริ่ม จนต่อมาถูกนำไปแตกเหล่าแตกก่อออกไปอีกหลายรูปแบบที่มีลักษณะคล้ายๆกัน ทั้งนี้ทั้งนั้น Air Motion Transformer (AMT) ใช้วัสดุตัวนำอะลูมิเนียมทำเป็นแถบ (Strip) ยึดติดแน่นอยู่บนผิวไมลาร์ ไดอะแฟรม (Mylar Diaphragm) ที่แสนบางเบา (หนาเพียง 0.00055 นิ้ว-เท่านั้น) พับไป-พับมาหลายทบ จนมีลักษณะเป็นจีบๆ (Pleats) คล้ายคลึงกับลอนเครื่องดนตรีแอคคอเดียน (Accordion) แขวนอยู่ท่ามกลางเส้นแรงแม่เหล็กถาวร เวลาที่มีสัญญาณดนตรี (ในรูปสัญญาณไฟฟ้า) ส่งผ่านเข้ามาตัวนำอะลูมิเนียมก็จะถูกเหนี่ยวนำในลักษณะดึงและดันกับพลังแม่เหล็กถาวร
ทำให้ผิวไมลาร์ที่พับไปพับมาสะบัดตัว ก่อให้เกิดเป็นคลื่นเสียง (Sound) จากอาการบิดตัวระรัวเร็วๆ ไปผลักดันมวลอากาศที่แทรกตัวอยู่ระหว่างลอนแอคคอเดียน สัมพันธ์ตามช่วงจังหวะสัญญาณดนตรีที่ส่งเข้ามา และเนื่องจากทั้งไมลาร์ ไดอะแฟรมกับแถบตัวนำอะลูมิเนียมนั้นล้วนเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบามาก จึงสามารถสั่นไหวในช่วงจังหวะสัญญาณดนตรีความถี่สูงๆ ได้ดีเป็นพิเศษ ด้วยการมีอัตราเร่งอย่างฉับพลันทันใดที่สูงกว่าตัวขับเสียงแบบกรวย (Cone Type Driver) ถึง 5 เท่า
ซึ่งหากหันมาดูกันถึงเรื่องพื้นที่ผิวที่ใช้ในการผลักดันมวลอากาศของ AMT ที่มีขนาด 1 นิ้ว เมื่อคลี่ผิวไมลาร์ที่พับเป็นจีบๆ ทบไปทบมาจะพบว่า พื้นที่ผิวในการผลักดันมวลอากาศของ AMT นั้นกลับมีขนาดเท่าๆ กับตัวขับเสียงแบบกรวยราวๆ สัก 7 นิ้วเลยทีเดียว นั่นเท่ากับว่า AMT นั้นให้ระดับแรงดันเสียง หรือค่า spl ที่สูงมาก สูงยิ่งกว่าทวีตเตอร์แบบโดม (Dome Tweeter) ธรรมดาทั่วไปมากทีเดียว
และเนื่องด้วย “มวล” ที่น้อยมากๆ AMT จึงสามารถสั่นไหวขึ้นไปรองรับได้กับช่วงความถี่เสียงที่สูงมากยิ่งกว่าทวีตเตอร์แบบโดมธรรมดาจะทำได้ ในขณะเดียวกันก็ยังตอบสนองลงมาครอบคลุมในช่วงความถี่เสียงกลางตอนบนได้ดีอีกด้วย ทำให้ AMT มีข้อได้เปรียบในหลายๆ ด้าน ทั้งในแง่ของความฉับพลันทันใด จึงสามารถให้ไดนามิกเสียงที่ดีมาก ควบคู่กับระดับแรงดันเสียงที่สูง ทั้งยังสามารถแผ่ขยายขึ้นไปครอบคลุมช่วงความถี่สูงได้กว้างขวางมากเป็นพิเศษ กระทั่งในด้านของความทนทาน-ยืนยาวในการใช้งาน
นอกเหนือจากการใช้ XPluse Diaphragm ร่วมกับ AMT Tweeter แล้ว Dr.Roland Gauder ยังได้ใช้ทฤษฎีออกแบบวงจรตัดกรองความถี่แบบใหม่ขึ้นมาใช้สำหรับ Arcona Series โดยนำแนวคิดมาจาก Ultra-High Slope Frequency Crossovers ที่ใช้อยู่ใน Berlina Series RC11 ทว่าได้พัฒนาไปสู่รูปแบบของ Symmetrical Crossover เป็นครั้งแรก Arcona 40 จึงมีวงจรตัดกรองความถี่ที่มีค่า Slope ในการตัด-ชันสูงถึง 50 dB/Octave เลยทีเดียว บรรจุอยู่ในตัว
ซึ่งเรื่องนี้-ผม-ถือว่าแปลก และแตกต่างอย่างมาก เพราะว่าตามที่ศึกษามีความรู้กันมาตั้งแต่วย.(วัยเยาว์) จนมาเป็นสว. (สูงวัย) จดจำขึ้นใจไว้ว่า ยิ่งค่า Slope ในการตัด-ชันสูงขึ้นมากเท่าไหร่ (ค่า dB สูงๆ) ก็จะยิ่งมีผลต่อค่า Phase ของสัญญาณเสียงให้เบี่ยงเบนไปมากเท่านั้น โดยส่วนใหญ่นักออกแบบลำโพงจึงมักเลือกที่จะใช้วงจรตัดกรองความถี่ที่มีค่า Slope ในการตัด-ชันไม่สูงนัก มักจะอยู่ในช่วงระหว่าง 6-18 dB/Octave หรืออย่างเต็มที่ก็ไม่น่าจะเกินไปกว่า 24 dB/Octave
นี่แสดงว่า Dr.Roland Gauder เป็นนักออกแบบลำโพงแนวใหม่ ที่ต้องการให้ระบบลำโพงของเขาเป็น “ยุคใหม่” อย่างแท้จริง จึงไม่ยึดติดหลักคิด-ทฤษฎีแบบเก่าที่เคยใช้กันมานมนาน และหาญกล้าที่จะแหวกแนวคิดไปสู่การใช้ Ultra-High Slope Frequency Crossovers ที่มีอัตราความชันสูงมากขนาดนี้ ซึ่งก็ได้พิสูจน์ให้ประจักษ์กันไปแล้วในรุ่น Berlina RC11 จนสร้างความน่าทึ่งไปทั้งวงการ นอกจากนี้ Dr.Roland Gauder ยังได้แสดงให้เห็นถึงการเป็นนักออกแบบลำโพงแนวใหม่ในตัวเขา ที่ไม่ใคร่จะประนีประนอมอะไรง่ายๆ ด้วยการใช้ขั้วเสียบต่อสายลำโพงคุณภาพสูง WBT-Nextgen Binding Posts ติดตั้งมาให้สำหรับ Arcona 40 เพื่อให้การนำ-พาสัญญาณเสียงจากแอมป์สู่ลำโพงนั้นไม่เกิดลักษณะ “คอขวด”
Arcona 40 มีมิติภายนอก 36 x 21 x 33 ซม. (สูง x กว้าง x ลึก) น้ำหนัก 12 กก. ค่าความไวเสียง 91 ดีบี มีค่าความต้านทาน 4 โอห์ม หากแต่มิได้ระบุถึงช่วงค่าความถี่ตอบสนองว่าครอบคลุมตั้งแต่เท่าไหร่ถึงเท่าไหร่ ทว่ารับรองว่า ความถี่สูงนั้นไปได้ไกลมากๆ แน่ อันเนื่องมาจาก AMT Tweeter
ผลการรับฟัง
ฟังได้ “มันส์” จริงๆ ครับ สำหรับเจ้า Arcona 40 คุณจะอึ้งกับ ความกว้างใหญ่ ของเวทีเสียงที่ Arcona 40 ส่งมอบออกมา โดยในเวทีเสียงอันโอฬารนั้นจะให้สภาพความเป็น 3 มิติ ทั้งแผ่กว้าง สูงใหญ่ และมีระยะถอยลึกแยกแยะเป็นแถวเป็นชั้นชัดเจน เว้นช่วงว่างระยะห่างของแต่ละชิ้นดนตรีอย่างแจ่มชัด เป็นลักษณะเสียงแบบที่เรียกได้ว่าหลุดตู้ ซึ่งอาจจะพูดได้ว่า เจ้า Arcona 40 นี้ให้ลักษณะเสียงที่ Forward น้อยๆ ทำให้เรา-ท่านรับรู้ได้ถึงเสียงชิ้นดนตรีที่ กระโดด-กระเด็น ออกมา เสมือนหนึ่งว่า กำลังนั่งรับฟังอยู่ชิดใกล้กับชิ้นดนตรีนั้นๆ การรับฟังจึงให้ความสนุก คึกคัก รุกเร้าใจ การใช้ทวีตเตอร์แบบ AMT ซึ่งนับว่า ได้เปรียบกว่าทวีตเตอร์แบบโดมธรรมดา ในแง่ของรายละเอียดเสียงที่ส่งมอบออกมา
บวกกับการใช้มิดเรนจ์/วูฟเฟอร์แบบ XPluse Diaphragm ซึ่งมีมวลที่เบามาก เมื่อเทียบกับขนาดไดรเวอร์ (7 นิ้ว) ในขณะที่ในด้านความแข็งแกร่งต่อมวลนั้นก็ไม่เป็นสองรองใคร ช่วงย่านความถี่เสียงต่ำที่ Arcona 40 ปลดปล่อยออกมานั้นจึงกระชับ-ฉับไวในจังหวะจะโคนที่ปลดปล่อยออกมา ทั้งยังทิ้งทอดตัว-ยืดขยายลงไปได้ลึกมาก บวกกับความแผ่ใหญ่อย่างเกินตัว Arcona 40 จึงสามารถส่งมอบการผุดโผล่ของรายละเอียดเสียง รวมทั้งสัญญาณเสียงฉับพลันได้อย่างทันทีทันใด ให้ทั้งความจะแจ้ง-แจ่มชัด-สดใส พร้อมการเปิดโปร่ง-โล่งกระจ่าง ไร้สภาพหมอกควันปกคลุม
ในด้านบุคลิกเสียงของ Arcona 40 นั้น นับว่า สด-สะอาด ฉับไว เต็มเปี่ยมในความมีชีวิตชีวา ให้ความเริงร่า น่าฟัง ปราศจากความโฉ่งฉ่าง คมกร้าน ทั้งยังให้ความลอยตัวของเสียงที่ดีเยี่ยม สุ้มเสียงของ Arcona 40 ให้เรี่ยวแรงปะทะ และน้ำหนักเสียงได้อย่างครบเครื่อง โดยมิได้จงใจให้เน้นเสียงเบสที่หนักหน่วง ดุดัน (อย่างเกินจริง) สรรพเสียงที่ Arcona 40 ถ่ายทอดออกมานั้น เปี่ยมด้วยรายละเอียด ให้การจำแนกแยกแยะลักษณะเสียงจำเพาะ-เฉพาะตัวของแต่ละเสียง (Timbre) ได้ดีทีเดียว มีฮาร์โมนิกเสียงที่เยี่ยมยอด
รวมถึงความอวบอิ่มมีน้ำมีนวล และความมีตัวตนของทุกสรรพเสียง สามารถจำแนกรายละเอียดเสียงต่ำๆ อย่างลีลาการโซโลกลองได้ชัดเจนมาก ทั้งยังให้ความกลมกล่อม ละมุนละไม มีสภาพมวลบรรยากาศ (Atmosphere) การบ่งบอกความลึกในเวทีเสียงก็ทำได้ดีมาก เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงย่านเสียงกลางและสูงนั้น ต้องบอกตรงๆ ครับว่า Arcona 40 ให้ความละเมียดละไมดีมาก อ่อนหวาน กังวาน นวลนุ่ม และให้ความมีตัวมีตน เป็นลักษณะน้ำเสียงที่เปี่ยมในความมีชีวิตชีวาจริงๆ
สรุปส่งท้าย
กระนั้นก็ตาม Arcona 40 มิใช่ว่าจะเป็นลำโพงประเภท เสียงสะดุดโสตประสาทตั้งแต่แรกเริ่มรับฟัง ผันผ่านเวลาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จะพบว่าเป็นลำโพงที่ฟังสบายให้ความเพลิดเพลิน ครบถ้วนด้วยความเป็นดนตรี สามารถส่งมอบเวทีเสียงที่แผ่กว้าง และให้การแยกแยะแถว-ชั้นความลึกอย่างมีมิติ พร้อมทั้งอิมเมจที่คงที่ ในทุกระดับความดังที่รับฟัง ทั้งยังมีเสน่ห์ที่สำคัญอยู่ตรงรายละเอียดและความฉับพลัน-ทันใดของสรรพเสียง อันน่าจะเป็นผลมาจากการใช้ทวีตเตอร์แบบ AMT นั่นเอง
อีกทั้ง Arcona 40 ก็มิได้ขับยากอย่างที่คิดไว้ในตอนแรก สืบเนื่องมาจากค่าความไวเสียงที่ระบุไว้ จัดอยู่ในระดับปานกลาง – เพาเวอร์แอมป์ Class A แท้ๆ 50 W/ch ตัวเก่งของผม สามารถ “เอาอยู่” และ “เข้ากันได้” อย่างดียิ่งกับเจ้า Arcona 40 ได้อย่างน่าประทับใจ
อุปกรณ์ร่วมใช้งาน : เครื่องเล่นซีดี Marantz CD/DA-12; ปรีแอมป์ Luxman C-5000a; เพาเวอร์แอมป์ Accuphase P-102; ลำโพง Tannoy System 10 DMT II; สายสัญญาณ Van Damme; สายลำโพง SAEC SPC-650
อุปกรณ์เสริม : XAV : EMX -9 (วางทับบนปรีแอมป์ และเพาเวอร์แอมป์); Entreq : Ground Box รุ่น Silver MinimUs + Eartha Cable รุ่น Silver; MagicBoxAudio : Lunar 1
รูปลักษณ์ – 4 ดาว
สมรรถนะ – 5 ดาว
คุณภาพเสียง – 4 ดาวครึ่ง
โดยรวม – 4 ดาวครึ่ง
ขอขอบคุณ บริษัท ปิยะนัส กรุ๊ป โทร. 0-2746-4302-4 ที่ได้เอื้อเฟื้อ Gauder Akustik Arcona 40 มาให้ได้ทดสอบกันในครั้งนี้