Test Report: FUSE MUSIC MUSE V2
หัสคุณ
ในช่วงเดือนมีนาคมปีนี้ อากาศในบ้านเราก็ร้อนระอุขึ้นกว่าปีก่อนๆ จนรู้สึกได้ นี่ขนาดยังไม่ถึงเดือนเมษายนที่มักจะเป็นเดือนที่มีอุณหภูมิสูงหรือร้อนมากที่สุดของทุกปี ทำเอาหลายๆ ท่านเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น สำหรับผู้ใหญ่อย่างเราๆ ท่านๆ ยังต้องระวังกันเลยเพราะอาจจะเป็น”โรคลมแดด”ได้ ฉะนั้นจึงต้องระวังและพยายามดื่มน้ำให้มากๆหน่อยในช่วงนี้ กับเด็กๆ โดยเฉพาะกับเด็กเล็กๆ ยิ่งต้องใส่ใจดูแลกันเป็นพิเศษครับ
สำหรับอากาศที่ร้อนซะขนาดนี้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้นั่งฟังเพลงในห้องฟังที่มีแอร์เย็นฉ่ำ หรือหาโอกาสหลบมุมเข้าห้างสรรพสินค้าเพื่อคลายความร้อน หรือมีโอกาสก็ไปเดินเที่ยวงานมอเตอร์โชว์ หรืองานเครื่องเสียงที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคมคาบเกี่ยวไปถึงต้นเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ สำหรับในวงการเครื่องเสียง ก็ดูจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่แบรนด์ใหม่ๆ ออกตามกันมาไม่น้อย แต่ราคาค่าตัวนี่สิ… กลับขยับตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก อาจจะพูดได้เลยว่าไกลเกิน”เอื้อมถึง”มากขึ้นไปทุกทีจนเกินระดับตัวเลข 7 หลักไปแล้ว ถ้าครอบครัวไม่รวย บางทีอาจจะต้องถูกหวย ถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 หรือมีราชรถมาเกย สงสัยคงจะหาโอกาสยากในการจะขยับขยายขึ้นไปครอบครองเครื่องเสียงดีๆ ในระดับไฮเอนด์ได้สักชุดจริงๆ
อาจจะเป็นด้วยเหตุนี้ละกระมังที่ทำให้อุปกรณ์เสริม หรือแอ็คเซสเซอรี่ยังเป็นทางเลือกที่ดี และคุ้มค่าในการปรับปรุงชุดเครื่องเสียงเดิมที่ใช้อยู่มากกว่าการเปลี่ยนเครื่องใหม่ ซึ่งมีนักเล่นหลายท่านยังแคลงใจว่าถ้าเปลี่ยนใหม่แล้วมันจะดีกว่าเก่ามากพอจนคุ้มค่ากับการลงทุนที่ทุ่มลงไปหรือไม่ สำหรับเครื่องเสียงเองก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนรุ่นมีพัฒนาการลูกเล่น หรือ FEATURE ที่ก้าวทันตามยุคสมัย อุปกรณ์เสริมหรือแอคเซสเซอรี่เองก็มีการปรับปรุง พัฒนา และเปลี่ยนรุ่นตามไปด้วยเช่นกัน ดั่งคำที่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นนิรันดร์นั่นเอง
สำหรับอุปกรณ์เสริมอย่างฟิวส์ตัวน้อยเองก็หนีไปพ้นสัจธรรมดังกล่าวด้วยเช่นกันดังจะเห็นได้จากที่มีวางจำหน่ายในปัจจุบันที่มีการปรับปรุงและเปลี่ยนรุ่นมาเป็นระยะๆ ฟิวส์ที่จะกล่าวถึงในครั้งนี้ก็คือ ฟิวส์ของค่ายมิวสิกมิวส์ (MUSIC MUSE) ที่ได้รับการพัฒนามาเป็น VERSION 2 หรือเรียกสั้นๆ ว่า V2 ครับ
MUSIC MUSE
สำหรับมิตรรักนักเพลงที่พลาดหนังสือ WHAT HI-FI? ฉบับที่ 320 ปี่ที่ 27 ของเดือนมิถุนายน 2555 ก็ขออนุญาตกล่าวที่มาของแบรนด์ MUSIC MUSE ไว้สักนิด MUSIC MUSE นั้นก่อเกิดขึ้นจากการรวมตัวของทีมงานที่มีประสบการณ์ในการฟังดนตรีมาอย่างโชกโชน มีความรักในเครื่องเสียง และที่สำคัญก็คือ การเสาะแสวงหาถึง “ความเป็นดนตรี” ที่ถูกถ่ายทอดผ่านเครื่องเสียงให้มีความใกล้เคียงกับเสียงดนตรีจริงๆ โดยมีการปรุงแต่งที่น้อยที่สุดนั่นเอง บนหนทางแห่งการแสวงหานี่เองที่ทำให้ทีมงานแต่ละคน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ได้มารวมตัว และหล่อหลอมอุดมการณ์เข้าด้วยกัน เพื่อที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่สามารถจะถ่ายทอดดนตรีให้มีความสมจริง และมีความใกล้เคียงกับดนตรีจริงอย่างที่ควรจะเป็น
สำหรับชื่อ MUSIC MUSE นั้นมีที่มาจากเทพนิยายของกรีก โดย MUSE นั้นมาจาก MUSES หมายถึงเทพธิดาทั้ง 9 องค์ ซึ่งเป็นธิดาของเทพซีอุส (ZEUS) เทพผู้ยิ่งใหญ่แห่งเทือกเขาโอลิมปัส ธิดาทั้ง 9 นี้เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านศิลปะ และการแสดงต่างๆ รวมทั้งการขับขานบทเพลงที่มีท่วงทำนองที่สุดแสนจะไพเราะ ให้กับเหล่าทวยเทพทั้งหลายได้รับฟังกัน ถือได้ว่าเป็นผู้ที่ดลใจให้เกิดความคิดที่สร้างสรรค์รวมทั้งแรงบันดาลใจให้แก่เหล่านักศิลปะ ส่วนคำว่า MUSIC นั้นก็หมายถึง “ความเป็นดนตรี” นั่นเอง
MUSIC MUSE V2
หลังจากที่ทาง MUSIC MUSE ได้ปล่อยฟิวส์ออกมาอาละวาดได้สักประมาณปีเศษๆ ทางทีมงานก็ได้เริ่มคิดค้นกรรมวิธีที่จะปรับปรุง และพัฒนาศักยภาพทางเสียงให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิม ว่าอันที่จริงแล้วฟิวส์ของทาง MUSIC MUSE เองก็มีคุณภาพที่ดีมาก นับว่าเป็นฟิวส์ที่มีความคุ้มค่า คุ้มราคา ควรค่าแก่การแนะนำให้ใช้เป็นอย่างยิ่ง จัดอยู่ในระดับ BEST BUY ก็เห็นจะไม่ผิดนัก แม้แต่ผมเองก็เลือกใช้ในชุดทดสอบเพื่อการอ้างอิงด้วยเช่นกัน คณะลูกขุนรวมทั้งนักเล่นนักฟังหลายท่าน ที่ได้มีโอกาสลองนำไปใช้ต่างก็เกิดอาการ “กลัว” มือไม้สั่นเทา หมดเรี่ยว หมดแรง เมื่อมีการพูดคุยว่าให้ลองถอดเจ้าฟิวส์ MUSIC MUSE ออกแล้วหาโอกาสลองของใหม่ดูบ้าง เพราะเกือบทุกท่านที่ได้ลองใส่ลองไปในเครื่องแล้ว เกิดอาการถอดไม่เป็นกันเป็นแถว เกิดอาการกลัวว่าถ้าลองถอดออกแล้วละก็ ซุ่มเสียงอันแสนไพเราะมันจะอันตธานหายตามไปด้วย สำหรับบางท่านที่ทำใจถอดออกได้ก็เพราะมีความต้องการอัพเกรดซิสเต็มให้ใหญ่ขึ้น หรือดีขึ้น เครื่องนะพอเปลี่ยนได้ แต่ฟิวส์ตัวน้อยยังไงก็ขอเก็บไว้ก่อนละกัน เท่าที่ได้พูดคุยก็เป็นอย่างนั้นกันจริงๆ
เมื่อตั้งใจและตัดสินใจแล้ว ทางทีมงาน MUSIC MUSE ก็เริ่มขบวนการกันเลย ใช้เวลาประมาณกว่าครึ่งปีในการทดลอง มีการส่งฟิวส์ไปผ่านขบวนการ ZERP (ZERO EFFECT REFINING PROCESS) ที่มีการทดลองโดยปรับเปลี่ยนกรรมวิธีทั้งในเรื่องของขั้นตอน และระยะเวลา เมื่อทำตัวต้นแบบได้จำนวนหนึ่ง ก็นำมาทดลองฟังกันอย่างจริงจังทุกครั้งไป เมื่อยังไม่ได้ตามที่ต้องการก็มีการแก้ไขปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดกันอย่างพิถีพิถัน สำหรับฟิวส์ที่ผ่านกระบวนการแล้วยังไม่ได้คุณภาพเสียงตามที่ตั้งใจไว้ หรือสอบไม่ผ่านก็จะถูกคัดทิ้งไม่สามารถนำมาทำซ้ำ หรือทำใหม่ได้อีก ดังนั้นกรรมวิธีดังกล่าว จึงสิ้นเปลืองทั้งเวลา แรงงาน รวมทั้งความมุ่งมั่นอุตสาหะ และทุนรอน เท่าที่ทราบทาง MUSIC MUSE หมดฟิวส์ไปประมาณเกือบ 100 ตัว อันที่จริงทางทีมงานของ MUSIC MUSE เองนั้นก็มีประสบการณ์ และมีความช่ำชองในการฟังดนตรีอย่างหาตัวจับยากอยู่แล้ว แต่ทางทีมงานก็ให้ความกรุณาโดยการส่งฟิวส์ตัวอย่าง (ที่คิดว่าทำได้สมบูรณ์แล้ว) มาให้ฟังเป็นระยะๆ พร้อมกับขอคำติชมกันตามระเบียบ ซึ่งทำให้ได้เห็นความพยายามของทีมงานที่ทุ่มเทลงไปในฟิวส์ตัวน้อยอย่างมาก
พวกเขาไม่ได้คิดเรื่องของการขายเลย ว่าจะจำหน่ายได้มากหรือน้อยแค่ไหน เพราะต้องยอมรับความจริงว่า ณ ปัจจุบันมีฟิวส์ยี่ห้อใหม่ๆ ออกมาวางจำหน่ายกันอยู่ไม่น้อยเลย แต่ทางทีมงานของ MUSIC MUSE กลับให้น้ำหนักกับผลซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายที่มีพื้นฐานมาจากแนวความคิดที่อ้างอิงจากกระบวนการทางวิทยศาสตร์ เพื่อจะพิสูจน์ถึงแนวความคิด และสามารถนำมาประยุกต์ให้เกิดเป็นผลสำเร็จได้จริงๆ เท่านั้น
กรรมวิธีใหม่ THE NEW REFINING ZERP
ถ้าสังเกตให้ดี ฟิวส์ระดับออดิโอเกรด ที่มีวางจำหน่ายอยู่ในตลาด ณ ขณะนี้ ส่วนใหญ่กว่า 90% จะนิยมนำไปผ่านกระบวนการคไรโอเจนิคส์ (CRYOGENIC TREATMENT) ซึ่งเป็นกระบวนการในการจัดการให้อนุภาคของวัตถุ มีการเรียงตัวที่ชิดกันมากขึ้น มีการไล่สิ่งปนเปื้อนต่างๆ ที่มีอยู่ในวัตถุตัวนำออกไปด้วยการใช้ความเย็นในระดับอุณหภูมิที่ต่ำมากเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็คือการทำให้วัตถุนั้นมีความแข็ง และแกร่ง มากขึ้นกว่าเดิม มีการจัดเรียงอนุภาคของวัตถุที่เปลี่ยนแปลง และแตกต่างไปจากเดิม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็มีส่วนทำให้บุคลิกของเสียงในวัตถุนั้นๆ มีความแตกต่างไปจากเดิมด้วยเช่นกัน อีกทั้งกระบวนการคไรโอเจนิคส์ของแต่ละเจ้าแต่ละบริษัท ถ้ามองเพียงคร่าวๆ ก็จะมีกรรมวิธี และขั้นตอนที่คล้ายคลึงกัน แต่ถ้าลงลึกไปในรายละเอียดแล้วละก็ แต่ละเจ้าจะมีขั้นตอน และรายละเอียดของกรรมวิธีที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับความละเอียดรวมทั้งประสบการณ์ที่แตกต่างกัน จึงทำให้ฟิวส์ที่ถูกนำไปผ่านกระบวนการคไรโอเจนิคส์นั้น มีคุณภาพเสียงที่แตกต่างกันไปตามกรรมวิธีของแต่ละบริษัทที่ไม่เหมือนกัน
ด้วยเหตุนี้เองที่ทางทีมงานของ MUSIC MUSE จึงมองว่าด้วยกรรมวิธีคไรโอเจนิคส์ดังกล่าว อาจจะเปรียบได้กับการปรุงแต่ง หรือเสริมเติมบุคลิกของเสียงเข้าไปในวัตถุนั้นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทางทีมงานของ MUSIC MUSE จึงได้พยายามคิดค้นกรรมวิธี หรือกระบวนการจัดการที่ดีกว่า โดยให้ความสำคัญกับการลดทอนบุคลิกของเสียงที่มีอยู่ในวัตถุนั้นๆ ให้มีน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อการนำเสนอคุณภาพเสียงอย่างถูกต้องตรงไปตรงมา มีความใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุด
ทาง MUSIC MUSE จึงได้ค้นพบกระบวนการที่มีชื่อเรียกว่า ZERP (ZERO EFFECT REFINING PROCESS) ที่สำคัญกระบวนการ ZERP นั้นเกิดขึ้นจากภูมิปัญญาของคนไทยล้วนๆ ไม่ได้มีการทำซ้ำดัดแปลง หรือคัดลอกมาจากที่ไหนอย่างแน่นอน สามารถยืดอกพูดได้เต็มปากว่า เป็นหนึ่งไม่มีสองแน่ๆ ครับ สำหรับกระบวนการ ZERP นั้นทำที่ประเทศสิงคโปร์ โดยใช้เครื่องจักรในวงการอุตสาหกรรมที่นำมาทำการดัดแปลง เพื่อให้ได้แนวทางตามที่ทางทีมงาน MUSIC MUSE คิดขึ้น สำหรับขั้นตอนและกรรมวิธีนั้น ทาง MUSIC MUSE ต้องขอปิดไว้เป็นความลับ เท่าที่ได้สอบถามอย่างจริงจัง หนึ่งในทีมงานของ MUSIC MUSE เปิดเผยว่ามันเป็นกรรมวิธีที่มีแนวคิดคล้ายๆ กับการทำกระบวนการ DEGAUSSING หรือรู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่าเป็นการ DEMAGNETIZING ซึ่งก็เป็นกระบวนการในการล้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีอยู่ในวัตถุให้หมดไป ซึ่งขั้นตอนในการปฏิบัตินั้นเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ อีกทั้งมีขั้นตอนและกรรมวิธีที่สลับซับซ้อน รวมทั้งเรื่องของเวลาด้วย ซึ่งต้องมีความเคร่งครัดในทุกขั้นตอน ผิดพลาด หรือคลาดเคลื่อนไม่ได้อย่างเด็ดขาด
หลังจากที่ฟิวส์ MUSIC MUSE ถูกนำออกวางจำหน่ายก็ได้รับการตอบรับที่ดี เท่าที่ได้ลองสอบถามข้อมูลก็พบว่า นักเล่น นักฟังเกือบทั้งหมด ฟังออกถึงความแตกต่างได้ง่าย มีบ้างบางส่วนที่อาจจะรู้สึกว่าไม่ถูกใจนัก เพราะฟิวส์ MUSIC MUSE ไม่ได้เติมเต็มในสิ่งที่คาดหวัง หรือให้บุคลิกตามที่ตนต้องการ ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องปกติครับ ต่อมาทางทีมงาน MUSIC MUSE ก็ได้ระดมสมองถกเถียงกันว่ามีความเป็นไปได้ไหมที่จะทำให้ฟิวส์ MUSIC MUSE ตัวน้อยนั้นมีคุณภาพเสียงที่ดียิ่งขึ้นไปกว่าเดิม หลังจากได้ข้อสรุป และเริ่มเดินหน้าก็ใช้เวลาประมาณกว่าครึ่งปี ทางทีมงาน MUSIC MUSE จึงสามารถพัฒนากระบวนการ ZERP ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง และเรียกกรรมวิธีนี้ว่า THE NEW REFINING ZERP เมื่อได้ลองปรับและแก้ไขจนสมบูรณ์แล้ว ทางทีมงาน MUSIC MUSE ก็ได้จัดส่งฟิวส์ MUSIC MUSE V2 มาให้ทดลองใช้ ซึ่งเป็นฟิวส์ขนาด 20 มม. มีด้วยกัน 3 ค่า ได้แก่ 1A, 3.15A และ 6.3A
รูปลักษณ์
ฟิวส์ MUSIC MUSE V2 มาในรูปโฉมใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม กล่าวคือ ตัวฟิวส์จะเป็นฟิวส์แก้วใส จากเดิมที่จะมีแถบโลโก้ MUSIC MUSE ที่เป็นสีเขียวปิดทึบทั้งหมด ในเวอร์ชั่นใหม่ หรือ V2 นั้นตัวฟิวส์จะมีแถบโลโก้แบบใสมองเห็นภายในได้ปรุโปร่ง โดยจะมีเพียงตัวโลโก้ของ MUSIC MUSE ที่เป็นสีเขียวเท่านั้น ตัวกล่องเองก็ได้รับการปรับเปลี่ยนให้แตกต่างไปจากเดิมด้วยเช่นกัน จากเดิมที่กล่องจะเป็นไม้เนื้ออ่อนที่มีลักษณะคล้ายกับสมุดโน้ตขนาดเล็กมาเป็นกล่องที่ทำขึ้นจากไม้ประดู่ มีขนาดที่เล็กกะทัดรัด ดูไปคล้ายๆ กับตลับใส่แหวนเพชร หรือเครื่องประดับมีค่าได้สอบถามไปยังทีมงาน MUSIC MUSE ก็ทราบว่าเพราะการปรับปรุงเป็นรุ่น V2 จึงได้ปรับเปลี่ยนให้มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เป็นที่สังเกตเห็นได้โดยง่าย เมื่อสอบถามว่าแล้วฟิวส์ MUSIC MUSE รุ่นเก่าละ ยังจะมีการผลิตออกจำหน่ายอีกหรือไม่ ก็ได้คำตอบว่าเมื่อพัฒนาให้มีคุณภาพเสียงที่ดีขึ้นแล้วก็คงจะไม่มีความจำเป็นที่จะทำรุ่นเก่าออกมาอีก ซึ่งอาจจะทำให้นักเล่นนักฟังเกิดความสับสนได้ง่าย
อีกครั้งกับคำถาม ทำไมฟิวส์ MUSIC MUSE จึงมีแต่แบบ FAST BLOW เท่านั้น!
ในระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา มีนักเล่นนักฟังหลายท่านที่คาใจกับคำถามเรื่องฟิวส์แบบ FAST BLOW และ SLOW BLOW ไม่น้อย อีกทั้งทำไมทาง MUSIC MUSE จึงทำออกมาเพียงแค่ 3 ขนาดเท่านั้นคือ 1A, 3.15A และ 6.3A ทำไมจึงไม่ทำออกมาหลายๆ ค่า เหมือนกับคู่แข่งที่มีอยู่ในตลาด เพราะเหตุนี้จึงมีนักเล่นนักฟังหลายท่านที่ไม่กล้าใช้ และหันไปเลือกใช้ฟิวส์ของเจ้าอื่นๆ ที่มีค่าตรงกับที่ติดมาในเครื่องแทน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกมาก
สำหรับเหตุผลอย่างละเอียดได้เคยอธิบายไปแล้วในหนังสือ WHAT HI-FI? ฉบับที่ 320 ฉบับเดือนมิถุนายน 2555 ท่านใดอยากทราบอย่างละเอียดก็ไปหาอ่านย้อนหลังได้ครับ ในครั้งนี้จึงขอชี้แจงแบบสั้นๆ ตามที่ทางทีมงานของ MUSIC MUSE ได้อธิบายไว้ว่าฟิวส์แบบขาดช้า หรือ SLOW BLOW นั้นถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ดึงกระแสไฟอย่างรุนแรงในช่วงเปิดใช้งานเป็นระยะเวลาสั้นๆ การกระชากไฟอย่างรุนแรงและรวดเร็วนั้นเกิดจากการที่กระแสไฟที่ไหลเข้ามาในฉับพลันทันทีและมีค่าสูงมากกว่าหลายเท่าของจำนวนค่าแอมป์ (A) ที่ระบุไว้บนฟิวส์ด้วยซ้ำ แต่ฟิวส์เหล่านี้ก็ไม่ขาดเนื่องจากในขั้นตอนของการผลิตฟิวส์แบบขาดช้านั้น จะมีการเพิ่มเนื้อวัตถุเพื่อช่วยในการหน่วงเวลา และทนต่อกระแสไฟได้มากขึ้น ดังนั้นฟิวส์เหล่านี้จึงทนทานและไม่ขาดง่ายๆ แต่ข้อเสียก็คือตัววัตถุโลหะที่ใส่เพิ่มเติมเข้าไปนั้นจะเป็นโลหะที่ไม่ดี มีค่าการเหนี่ยวนำไฟฟ้าที่ต่ำ แต่มีค่าความต้านทานต่อกระแสไฟที่สูง เจ้าวัตถุโลหะเหล่านี้ย่อมมีผลต่อการส่งกระแสไฟที่ถูกบิดเบือน และผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง จะว่าไปก็เหมือนกับการเลือกใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อที่มีคุณภาพต่ำนั่นเอง เปรียบได้กับการเลือกใช้สายนำสัญญาณ, สายลำโพง หรือสายไฟเอซีคุณภาพต่ำเพื่อใช้งานในซิสเต็มนั่นเอง
สำหรับฟิวส์แบบขาดเร็ว หรือ FAST BLOW นั้น ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานกับพวกวงจร หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ต้องการความปลอดภัยสูง ตัวฟิวส์จึงมีการใช้วัตถุตัวนำที่มีความบริสุทธิ์มากกว่า ทำงานได้อย่างรวดเร็ว และสามารถตัดการทำงานได้ทัน เพื่อป้องกันโอกาสที่จะเกิดการช๊อต หรือไหม้ ที่จะสร้างความเสียหายให้กับวงจรในทันที นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทาง MUSIC MUSE เลือกใช้ฟิวส์แบบขาดเร็วเป็นหลัก
สำหรับฟิวส์ของ MUSIC MUSE ที่ทำออกมาเพียง 3 ขนาดนั้น ก็เพราะทางทีมงานของ MUSIC MUSE ได้เล็งเห็นว่าน่าจะครอบคลุมการใช้งานได้ทั่วถึง และเพียงพอ เนื่องจากฟิวส์ของ MUSIC MUSE ที่ผ่านกระบวนการ ZERP นั้นจะมีความฉับไวและทำงานได้รวดเร็วขึ้นกว่าฟิวส์แบบ FAST BLOW ที่มีค่าเท่ากันโดยทั่วไป ทางทีมงาน MUSIC MUSE จึงได้แนะนำวิธีการเลือกซื้อสำหรับผู้ที่สนใจไว้ดังนี้ ถ้าฟิวส์เดิมที่มีค่าตั้งแต่ 500 mA ไปจนถึงค่า 800 mA ก็ให้ใช้ขนาด 1A แทน สำหรับฟิวส์เดิมที่มีค่าตั้งแต่ 1A ขึ้นไปจนถึงค่า 2.5A ก็ให้เลือกใช้ขนาด 3A แทน และค่าตั้งแต่ 3A ขึ้นไป และไม่เกิน 6.3A ก็ให้เลือกใช้ค่า 6.3A แทน สำหรับนักเล่นบางท่านที่กลัวว่าการใช้ค่าฟิวส์ที่สูงกว่าฟิวส์เดิม จะมีผลทำให้เครื่องมีโอกาสเกิดความเสียหายได้หรือไม่นั้น ทางทีมงาน MUSIC MUSE อธิบายว่าการเลือกใช้ฟิวส์แบบขาดช้าที่ติดมาแล้วในเครื่องนั้น จะสามารถทนต่อการกระชากของไฟได้มากกว่าค่าแอมป์ที่ระบุไว้บนฟิวส์แต่เครื่องก็ยังทำงานได้เป็นปกติ ดังนั้นถ้าจะเปรียบเทียบกันแล้ว ฟิวส์เดิมที่ติดเครื่องมากลับจะมีความเสี่ยงมากยิ่งกว่าการเลือกใช้ฟิวส์แบบขาดเร็วของ MUSIC MUSE แต่มีค่าสูงกว่าเสียอีก
ผลการทดลองฟัง
ฟิวส์ของ MUSIC MUSE V2 จะอยู่กับพวกเรานานทีเดียว จึงมีโอกาสได้ลองกับหลากหลายซิสเต็ม อีกทั้งมีโอกาสแบ่งปันให้กับลูกขุนกิตติมศักดิ์บางท่านที่ไม่สะดวกเข้ามาร่วมฟัง หยิบยืมกลับไปฟังที่บ้าน สำหรับลูกขุนที่มีโอกาสเข้ามาร่วมฟัง ก็มากันแบบต่างกรรมต่างวาระ แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละท่าน จึงไม่ได้มีโอกาสฟังกันแบบครบทีมในครั้งเดียวกัน ดังนั้นผลของการฟังจึงขอนำมารวบรวมไว้ด้วยกันครับ
อุปกรณ์ที่ไช้ในการฟังประกอบด้วย
เครื่องเล่นซีดี : MARANTZ CD 11 MKII (CLOCK II)
: MARANTZ CD 17 (CLOCK II)
ปรีแอมป์ : ADCOM GFP 750, KRELL KSL
เพาเวอร์แอมป์ : XAMP X-120A
อินทีเกรทแอมป์ : INCRECABLE iAMP TIA-240 (UPGRADE VERSION BY INNER SOUND) X-AMP X25i, X-60i, AURA VA 100 EVOLUTION MK II
ลำโพง : SMALL ONE ‘CLASSIC’ B&W 805 S
สายนำสัญญาณ : VAMPIRE AI-II
สายลำโพง : VAMPIRE ST-II
สายไฟ AC : XAC # 5 (AC POWER CORD), MUSIC MUSE ‘THE PROTOTYPE’ AC CABLE
ห้องฟังขนาด 4 X 8 เมตร ได้รับการปรับแต่งอะคูสติกมาอย่างดี
ในการฟังฟิวส์ MUSIC MUSE V2 นั้นเราได้แบ่งการฟังเปรียบเทียบออกเป็นหลายลักษณะ ขึ้นกับความต้องการของคณะลูกขุนที่เข้ามาฟังในแต่ละครั้ง ซึ่งแตกต่างกันไป มีตั้งแต่การฟังเปรียบเทียบกับฟิวส์ธรรมดา ลูกขุนบางท่านซึ่งคุ้นเคยกับฟิวส์ MUSIC MUSE เป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้วก็ขอฟังเปรียบเทียบระหว่างรุ่นแรกกับรุ่น V2 เพราะอยากจะทราบว่ามีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน สำหรับบางกลุ่มก็ขอไล่เรียงอย่างละเอียดโดยขอฟังเปรียบเทียบกับฟิวส์ระดับออดิโอเกรดยอดนิยม เทียบกับ MUSIC MUSE รุ่นแรก แล้วจึงขยับมาเทียบกับรุ่น V2 เพื่อจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
แน่นอนว่าครั้งนี้ ลูกขุนโดยส่วนใหญ่นั้นทราบดีถึงศักยภาพ และความร้ายกาจของฟิวส์ MUSIC MUSE รุ่นแรกเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว และก็เป็นไปตามคาด ลูกขุนส่วนใหญ่จะจับความแตกต่างในคุณภาพเสียงได้ในเวลาอันรวดเร็ว ท่านแรกจับความแตกต่างในเรื่องของความใส และรายละเอียดที่ MUSIC MUSE V2 ได้เปิดเผยรายละเอียดต่างๆ ออกมาได้อย่างเหนือความคาดหมาย “ฟิวส์ MUSIC MUSE เดิมก็นับว่าถ่ายทอดรายละเอียดได้ดีมากอยู่แล้ว แต่ใน V2 นี้กลับทำได้เยี่ยมกว่าเสียอีก” (CLAIR MARLO : LET IT GO) อีกท่านกล่าวชมในเรื่องของเสียงกลางที่ MUSIC MUSE V2 ถ่ายทอดออกมาด้วยความสะอาด มีความเป็นธรรมชาติ ไม่ดึงดูดความสนใจในทันทีที่ฟัง มีความราบเรียบที่ดีเป็นพิเศษ ที่แปลกก็คือในความราบเรียบดังกล่าวนั้น น้ำเสียงกลับถ่ายทอดความมีชีวิตชีวาออกมาได้ดีด้วยเช่นกัน (CAROL KIDD : NICE WORK)
ลูกขุนมือเก๋าในกลุ่มตั้งข้อสังเกตในเรื่องของความสงัดพร้อมกับสำทับว่า MUSIC MUSE V2 มีสัญญาณรบกวน หรือถ่ายทอด BACKGROUND NOISE ที่ต่ำมากเป็นพิเศษ ทำให้รายละเอียดรวมทั้งบรรยากาศของดนตรีที่แฝงอยู่อย่างแผ่วเบานั้น ถูกเปิดเผยให้ได้ยินแจ่มชัดยิ่งขึ้น (WHITNEY HOUSTON : I’LL ALWAYS LOVE YOU : THE BODYGUARD ORIGINAL SOUNDTRACK ALBUM : USA)
ถึงแม้ว่าฟิวส์ MUSIC MUSE V2 จะเป็นที่ถูกอกถูกใจ และถูกหูคณะลูกขุนหลายท่านก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีความเห็นที่แตกต่าง มีลูกขุนท่านหนึ่งเห็นว่า MUSIC MUSE รุ่นแรกนั้น ถ่ายทอดเสียงกลางที่มีตัวตนที่เด่นชัดและจะแจ้งกว่า ฟังแล้วมีความโดดเด่นจนรู้สึกได้ ( JOHN MICHEAL MONTGOMERY :KICKIN ‘ IT UP) อีกท่านกลับชอบความดุดัน และฉับพลันในเรื่องของเบสที่ MUSIC MUSE รุ่นแรกสามารถนำเสนอได้อย่างโดดเด่นกว่า MUSIC MUSE V2 (THE BEST OF FOURPLAY : WARNER BROS. USA)
แต่ถึงที่สุดแล้วมีสิ่งหนึ่งที่คณะลูกขุนทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันก็คือ ความเป็นดนตรีที่ MUSIC MUSE V2 นำเสนอออกมาอย่างเหนือชั้นด้วยคุณภาพเสียงที่มีความกลมกลืน เป็นธรรมชาติ มีความลื่นไหลที่ผู้ฟังจะค่อยๆ ซึมซับเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ยิ่งมีเวลาฟังที่ทอดนานออกไป ยิ่งเพิ่มพูนความเพลิดเพลิน และฟังระรื่นหูเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้เวลาที่จะต้องแยกย้าย มีหลายท่านอยากจะขอหยิบยืมกลับไปฟังที่บ้านต่อ แหม…ก็ฟังยังไม่อิ่มเลย เวลาทำไมมันเดินเร็วจัง แต่ก็ต้องพบกับความผิดหวัง เพราะฟิวส์ MUSIC MUSE V2 ที่ได้รับมานั้นมีเพียงขนาดละหนึ่งตัวเท่านั้น ยังมีลูกขุนบางท่านที่ยังไม่ได้เข้ามาฟัง ไว้สรุปผลเป็นที่เรียบร้อยแล้วจะส่งไปให้ฟังในภายหลัง อันที่จริงก็อยากจะส่งไปให้ทดลองฟังต่อดูเหมือนกัน แต่กลัวว่าถ้าฟิวส์เดินทางไปถึงแล้ว หวั่นใจว่าจะไม่ได้เดินทางกลับมาเป็นแน่
หลังจากที่สลายตัว ก็ได้เวลาเก็บตกรายละเอียดของฟิวส์ MUSIC MUSE V2 กับตามระเบียบครับ ในการเก็บตกนั้นก็เริ่มฟังโดยเปรียบเทียบฟิวส์ออดิโอเกรดแบรนด์ดังกับฟิวส์ธรรมดา จากนั้นจึงนำฟิวส์ออดิโอเกรดดังกล่าวมาฟังเปรียบเทียบกับฟิวส์ MUSIC MUSE รุ่นแรก และสุดท้ายจึงเปรียบเทียบฟิวส์ MUSIC MUSE รุ่นแรกกับฟิวส์ MUSIC MUSE รุ่นใหม่ V2 ตามลำดับ ด้วยเหตุผล 2 ประการคือหนึ่งก็เพื่อรื้อฟื้นความทรงจำจากที่ได้เคยฟังเปรียบเทียบไปเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว สองก็เพื่อกันไม่ให้หลงไปชื่นชมเฉพาะกับสิ่งที่ MUSIC MUSE V2 สามารถจะนำเสนอออกมาให้ได้ยิน
ในการฟังเปรียบเทียบนั้นผลปรากฏชัดเจนว่าฟิวส์ออดิโอเกรดนั้นมีคุณภาพเสียงที่ดีกว่าฟิวส์ธรรมดาอยู่ไม่น้อยเลย ให้ความชัดเจนที่มีความกลมกลืน และกลมกล่อมที่ฟังระรื่นหูดีเป็นพิเศษ แต่เมื่อนำฟิวส์ออดิโอเกรดไปเปรียบเทียบกับฟิวส์ MUSIC MUSE รุ่นแรกแล้วความแตกต่างในคุณภาพเสียงก็มีอยู่ไม่น้อยด้วยเช่นกัน “เหนือกว่าในทุกกรณี” คือคำสรุปง่ายๆ สั้นๆ แต่ได้ใจความของลูกขุนประจำคณะผู้มากประสบการณ์ที่บังเอิญแวะเข้ามาเยี่ยมเยียนทักทายแบบไม่ได้นัดหมาย พร้อมกับนั่งฟังด้วยกันในวันนั้น
ต่อไปก็ถึงคิวของฟิวส์ MUSIC MUSE V2 กันบ้างละ สิ่งแรกที่รู้สึกและสัมผัสฟังได้ในทันทีก็คือความกระจ่างใสในน้ำเสียง (THE BODYGUARD ORIGINAL SOUNDTRACK ALBUM : USA) สิ่งที่น่าแปลกก็คือ ตอนที่พวกเราฟังฟิวส์ MUSIC MUSE รุ่นแรกไปก่อนหน้านั้น ก็สามารถสัมผัสฟังได้ถึงความใสในน้ำเสียงที่เข้าใจว่าดีมากอยู่แล้ว แต่ MUSIC MUSE V2 กลับนำเสนอได้อย่างดีเยี่ยมยิ่งกว่า เสียงร้องของ WHITNEY HOUSTON นั้นมีความกระจ่างใส มีตัวตนที่เด่นชัดพร้อมกับการแจกแจงรายละเอียดทุกคำเอื้อนเอ่ยของเธอที่ค่อยๆ แผ่วเบาลง แต่ยังคงความกังวาน พร้อมกับแสดงบรรยากาศที่ห่อหุ้มเสียงของเธอออกมาให้สัมผัสฟังกันได้อย่างน่าทึ่ง (WHITNEY HOUSTON : I’LL ALWAYS LOVE YOU) เหมือนกับว่าฟิวส์ MUSIC MUSE V2 ได้นำเราเข้าไปสัมผัสถึงรายละเอียดที่ลึกซึ้งในระดับ INNER DETAIL ได้อย่างเหนือชั้น
กับเสียงร้องของป้า ELLA FITZGERALD ที่มีความราบเรียบที่ดีขึ้นเหมือนกับคุณป้าได้พัฒนาทักษะในการร้องให้มีความมั่นคง และนิ่งขึ้นในการถ่ายทอดพลังเสียงอันทรงพลัง ซึ่งแตกต่างไปจากเดิมที่คุ้นเคย น้ำเสียงนั้นเปิดเผยมีความกระจ่างใส และมีชีวิตชีวา โดยที่ไม่มีอาการเน้น หรือเค้นเสียงออกมาให้ได้ยินแม้แต่น้อย (ELLA FITZGERALD : FOREVER ELLA) นับเป็นอีกครั้งที่มีความรู้สึกเหมือนกับว่าเนื้อเสียงนั้นบางลงกว่าที่คุ้นเคยด้วยเช่นกัน แต่เมื่อพิจารณาถึงการขึ้นรูป และตัวตนของเสียงก็ยังคงดำรงตนไว้ได้อย่างมั่นคง อาจจะเป็นด้วยสัดส่วนของความกระจ่างใสที่มีปริมาณที่เพิ่มขึ้นรวมถึงรายละเอียดที่ถูกถ่ายทอดออกมาได้มากขึ้นนั่นเอง
เสียงของดับเบิ้ลเบสที่บรรเลงควบคู่ไปด้วยนั้นยังคงมีน้ำหนักที่มาพร้อมกับแรงปะทะที่มีการย้ำเน้นที่มั่นคง ที่สัมผัสฟังได้มากขึ้นก็คือความกระจ่างชัด และการแยกตัวเป็นอิสระที่ดีขึ้น แสดงให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างดนตรีที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน เสียงดับเบิ้ลเบสยังคงพลิ้วไหวไปด้วยน้ำหนักของแรงดีดพร้อมกับเสียงเบสที่ทอดตัวลงได้ลึกขึ้น แจกแจงรายละเอียดของความถี่ต่ำได้เด่นชัดกว่าเดิม
กับความเห็นของลูกขุนท่านหนึ่งที่ตั้งข้อสังเกตและรู้สึกว่าเสียงกลางเมื่อฟังผ่านฟิวส์ MUSIC MUSE รุ่นแรกนั้นมีตัวตนที่เด่นชัด และจะแจ้งกว่านั้นเมื่อได้ลองฟังเปรียบเทียบอย่างละเอียด ก็พบกับความจริงดังกล่าวเช่นกัน ฟิวส์ MUSIC MUSE รุ่นแรกนั้น นำเสนอเสียงร้องของ JOHN MICHEAL MONTGOMERY ในเพลง I SWEAR ออกมาได้อย่างแจ่มชัดมีตัวตนที่โดดเด่น และสามารถเรียกร้องความสนใจได้ในทันทีที่ฟัง แต่ถ้าวิเคราะห์กับแบบจับผิดแล้วจะพบว่าฟิวส์ MUSIC MUSE V2 นั้นนำเสนอน้ำเสียงที่มีความราบเรียบกว่า มีความเป็นธรรมชาติและมีกลมกลืนที่ดีกว่า โดยที่ไม่มีการขับเน้น หรือการพลักดันให้อิมเมจของเสียงร้องออกมาปรากฏตัวอย่างโดดเด่นจนฟังสังเกตได้ชัด และวางตัวล้ำหน้ามากกว่าแนวของดนตรีที่บรรเลงอยู่ทางด้านหลัง (JOHN MICHEAL MONTGOMERY : KICKIN’ IT UP)
เช่นเดียวกับพละกำลังในย่านอัพเปอร์เบสที่ฟิวส์ MUSIC MUSE รุ่นแรกนำเสนอด้วยแรงปะทะและน้ำหนักที่โดดเด่นจะแจ้งกว่า เรียกได้ว่าเข้าทางนักฟังคอเบสเลยทีเดียว แต่กับฟิวส์ MUSIC MUSE V2 ใหม่นี้แม้น้ำหนัก และแรงปะทะจะลดทอนความดุดันลง แต่กลับทดแทนด้วยความกลมกลืนที่มีความละเอียด และมีชั้นเชิงที่ดีกว่าไดนามิกแม้จะไม่ตึงและโดดเด่นเหมือนเดิม แต่การย้ำเน้นหนักเบาก็ถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างเป็นอิสระ และกระจ่างชัดกว่าเดิม (PAT COIL : STEPS : SHEFFIELD LAB CD-31 : USA)
ปิดท้ายกันด้วยบทเพลงคลาสสิกที่ฟิวส์ MUSIC MUSE V2 สามารถนำเสนอซาวด์สเตจทางด้านกว้างที่ขยายตัวเลยลำโพงทั้งทางด้านซ้ายและขวาออกไปอย่างเป็นอิสระ มีความกว้างและรูปวงที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเหนือกว่าฟิวส์ MUSIC MUSE รุ่นแรกอย่างเด่นชัด พร้อมกับการแสดงช่องว่างช่องไฟ หรือระยะห่างระหว่างดนตรีที่ดีเยี่ยม เครื่องดนตรีต่างๆ บรรเลงกันอย่างเป็นอิสระ โดยยังคงความพร้อมเพรียง และรวดเร็วในช่วงโหมได้เป็นอย่างดี สำหรับสัดส่วนความลึกก็แสดงระดับชั้นที่ถอยลึกลงไปภายในซาวด์สเตจได้ดี แม้จะไม่โดดเด่นเท่าด้วยกว้างก็ตาม ถ้าถามว่าเมื่อเปรียบกับฟิวส์ MUSIC MUSE รุ่นแรกแล้วมีความแตกต่างกันอย่างไร ผลปรากฏชัดว่าฟิวส์ MUSIC MUSE รุ่นแรกนั้นนำเสนอรูปวงที่แคบกว่า แต่มีการจัดวางซาวด์สเตจในแบบถอยหลัง หรือ LAID BACK มากกว่าสัดส่วนด้านลึกเหมือนกับจะได้เปรียบกว่าเล็กน้อย ในขณะที่ฟิวส์ MUSIC MUSE V2 นำเสนอการจัดวางซาวด์สเตจที่วางตัวอยู่ในแนวระนาบของลำโพงเป็นหลัก จากนั้นจึงขยายอาณาบริเวณออกไป ตามสัดส่วนโดยรอบ (EXOTIC DANCES FROM THE OPERA : R&R)
เมื่อฟังกันจนครบเสร็จสิ้นกระบวนความกันแล้ว ได้ส่งฟิวส์ MUSIC MUSE V2 ไปให้กับลูกขุนกิตติมศักดิ์ที่ช่วงนี้ติดธุระไม่สามารถเดินทางเข้ามาร่วมฟังด้วยได้ ให้ท่านช่วยแสดงความคิดเห็นติชมได้ตามสะดวกหลังจากเวลาผ่านไปประมาณหนึ่งอาทิตย์ โทรศัพท์ก็ดังขึ้นพร้อมกับเสียงที่ส่งมาตามสาย “แรกๆ ก็ยังชอบเจ้าฟิวส์ MUSIC MUSE รุ่นเดิมเป็นมั่นเป็นเหมาะ แต่พอได้ฟังเจ้า MUSIC MUSE V2 ไปได้สักหลายวันและลองเปรียบเทียบฟังดูอีกที ก็ต้องยอมรับว่า MUSIC MUSE V2 นั้นเหนือกว่าจริงๆ สำหรับฟิวส์นะ ขอไม่ส่งคืนแล้วนะ ไม่อยากถอดออก ช่วยถามและแจ้งมาด้วยว่าราคาค่าตัวอยู่ที่เท่าไหร่ ไว้จะโอนเงินไปให้ อ้อ! ถ้าเป็นไปได้ฝากสั่งเพิ่มให้อีก 2 ชุดเลยนะ” เห็นไหม…ว่าแล้วเชียว
สรุป
นับเป็นปรากฏกาณณ์อีกครั้งที่ฟิวส์ MUSIC MUSE ได้กลับมาสร้างความประหลาดใจ และประทับใจเป็นครั้งที่ 2 ฟิวส์ MUSIC MUSE V2 ได้แสดงให้เห็นว่าถ้าทีมงานที่มีความมุ่งมั่น และทุ่มเทที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนให้ดีขึ้นจริง ต้องถือว่าเป็นงานที่ยากและมีความท้าทายอยู่ไม่น้อยเลย แต่ทีมงานของ MUSIC MUSE ก็สามารถทำได้สำเร็จอย่างน่าชื่นชม ถึงแม้ว่าแอคเซสเซอรี่ หรืออุปกรณ์เสริมโดยเฉพาะฟิวส์นั้นจะมีผลิตภัณฑ์ที่ออกตามกันมามากมาย หลากหลายยี่ห้อ อีกทั้งตลาดนั้น ก็ดูจะมีความอิ่มตัวอยู่พอประมาณ แต่ฟิวส์ MUSIC MUSE V2 ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่โดดเด่น และน่าสนใจมากเกินกว่าจะมองข้ามไปได้จริงๆ
กับสนนราคาที่ทราบมาว่ามีราคาจำหน่ายอยู่ที่ชุดละไม่เกิน 2,000 บาท ก็ต้องถือว่าฟิวส์ MUSIC MUSE V2 ยังคงเป็นฟิวส์ที่มีคุณภาพคุ้มค่า คุ้มราคาในระดับแนะนำ (RECOMMEND) ได้อย่างไม่ลังเลเลยครับ
สำหรับฟิวส์ MUSIC MUSE V2 ก็ได้รับการบรรจุอยู่ในซิสเต็ม ชุดอ้างอิงของพวกเราตามระเบียบแล้วครับ ส่วนใครสนใจก็ติดต่อไปได้ที่ร้าน INNER SOUND ที่หมายเลข 08-5139-1516 และ 08-6599-0126
ขอขอบคุณร้าน INNER SOUND โทร. 08-5139-1516, 08-6599-0126 ที่เอื้อเฟื้อฟิวส์ MUSIC MUSE มาให้ทดสอบในครั้งนี้