Test Report: Focus Audio FS68 LE 2-way Stand-mounted Speakers

0

Test Report: Focus Audio FS68 LE 2-way Stand-mounted Speakers

มงคล อ่วมเรืองศรี

 FOCUS_AUDIO_FS_6_50f8fff365e19

ปัจจุบัน Focus Audio ยังคงเป็นบริษัทผู้ผลิตระบบลำโพงรายเล็กๆ ในแคนาดา ทว่าก็ได้ชื่อว่า พิถีพิถันยิ่งนักในการผลิตและคัดสรรเกรดอุปกรณ์ใช้งาน  จากไลน์การผลิตรุ่นลำโพงในอดีตที่เคยถือว่า Signature Series นั้นลือลั่นเป็นที่สุด (มีอยู่ 3 รุ่นด้วยกัน ในตอนนั้น อันได้แก่ FS68, FS78 และ FS88) ก็ได้ถูกขยายไปสู่ Master Series ที่ถือเป็นระดับท้อปสุด และรองลงมาเป็น Prestige Series (ที่เพิ่งออกไลน์มาใหม่ล่าสุด เพื่อเชื่อมต่อเป็นข้อกลางระหว่าง Master Series กับ Signature Series) จากนั้นจึงจะมาเป็น Signature Series (ที่ถือว่า อยู่ในระดับกลางค่อนไปทางสูง) แล้วก้อมาจบลงที่ Classic Series (ที่ถือเป็นระดับ Entry Level) ทั้งนี้ Focus Audio ยังมีไลน์การผลิตในกลุ่มอินทีเกรทแอมป์พ่วงท้ายเพิ่มเติมเข้ามาอีก 2 รุ่นด้วยกัน ณ วันนี้ (Sonata กับ Prelude)

ชื่อ Focus Audio นั้นคงไม่มีอะไรต้องบรรยายให้มากความ สำหรับผู้ที่อยู่ในวงการสักสิบ-ยี่สิบปี รับรองต้องมีประสบการณ์ที่ประทับใจกับรุ่น FS68 ระบบลำโพงวางหิ้งตัวเล็กๆ จากฝีมือการออกแบบของ Kam Leung (ร่วมกับ Roger Kwong) ที่สร้างความลือเลื่องในด้านการชำแหละ-แจกแจงรายละเอียดและสภาพเวทีเสียง จนกระทั่งได้รับการยอมรับถูกจัดอันดับติดหนึ่งในสี่ของจตุรเทพแห่งระบบลำโพงขนาดเล็กจากหลายต่อหลายสำนักในอดีต และในอีกหลายปีถัดมา FS68 ได้ถูกยกระดับ มีพัฒนาการปรับเปลี่ยนขึ้นมาเป็นรุ่น FS68 SE (Special Edition) เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 10 ปีของ Focus Audio ที่แรกเริ่มก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ.1993

ซึ่งก็แน่นอนว่า FS68 SE ยังคงได้รับยกย่องให้เป็น Top 5 แห่งสุดยอดลำโพงเล็กอีกเช่นกัน และนับจากนั้นในอีก 10 ปีถัดมา FS68 SE ก็ได้ถูกแทนที่ด้วยรุ่น FS68 LE ที่แม้ว่าเมื่อดูผาดๆ จากภายนอก ก็แทบจะไม่มีอะไรที่ต่างออกไป ทว่าภายในนั้นซ่อนอะไรอยู่เยอะแยะครับ อีกทั้งในหน้าเว็บไซต์ของ Focus Audio ก็ยังได้จัดแยก ‘FS68 LE’ ไว้ต่างหาก แม้ว่าจะรวมอยู่ในกลุ่ม Signature Series ก็ตามที …อย่างนี้ต้องมีดีแน่ๆ ครับ สำหรับการมี ‘LE’ (Limited Edition) เป็น Suffix ต่อท้ายเยี่ยงนี้

 DSC_0103

คุณลักษณ์

นัยว่า FS68 LE นั้นได้รับการรังสรรค์ขึ้นมาเป็นพิเศษ ในฐานะ 20th Anniversary Edition เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบปีที่ 20 ของ Focus Audio (มีสีผิวตัวตู้ให้เลือกได้ 2 สีด้วยกัน คือ Piano Black Finish กับ Piano Rosewood finish) มิติภายนอกของ “FS68 LE” ถือเป็นระบบลำโพงวางหิ้ง หรือ ระบบลำโพงขนาดเล็กตั้งวางบนขาตั้งธรรมดาทั่วไป ทว่าผิวภายนอกนั้น –วาววับจับใจ– อย่างกับเปียโนสวยงามมาก ไม่ต่างไปจาก FS68 และ FS68 SE เมื่อในอดีต…

คุณทราบไหมล่ะว่า ผิวนอกตัวตู้ลำโพงของ Focus Audio นั้นผ่านขั้นตอนการทำสี (Finished) ซ้ำๆๆๆ เพื่อให้มีชั้นผิวนอกที่หนากว่าธรรมดา (อาจจะ 1 ถึง 2 มม.เลยทีเดียว) ทั้งนี้เพราะ Kam Leung ระบุว่า การทำสีภายนอกตัวตู้ลำโพงให้หนามากๆ (ด้วยการใช้สีพ่นรถยนต์และเคลียร์แล็คเกอร์) จะมีส่วนช่วยในการควบคุมลักษณะเรโซแนนซ์ของตัวตู้ ควบคู่กับการใช้วัสดุ MDF อย่างหนามาขึ้นรูปเป็นตัวตู้ลำโพง โดยที่แผงหน้ากับแผงด้านข้างจะใช้ MDF ที่มีความหนาต่างกัน เพื่อช่วยควบคุมลักษณะเรโซแนนซ์ของตัวตู้ไว้มิให้อยู่ในโหมดเดียวกัน (จะได้ไม่เสริมกันจนมากเกินไป)

FS-68 LE มีระบบการทำงานเป็นแบบ 2 ทาง ภายใต้มิติขนาดตัวตู้ภายนอกกว้าง 7 นิ้ว ลึก 10 นิ้ว และสูง 13 นิ้ว น้ำหนักตัว 9 กก.ต่อข้างโดยประมาณ ตัวตู้นั้นมีความแข็งแกร่งทางโครงสร้างบึกบึนเป็นพิเศษ ผนังตู้ด้านข้าง, ด้านบน และด้านหลังขึ้นรูปจากวัสดุ MDF ที่มีความหนา 1 นิ้ว ในขณะที่แผงหน้าตัวตู้จะมีความหนาถึง 2 นิ้ว ส่วนระบบตัวตู้เป็นแบบ ตู้เปิด หรือ Bass-Reflex โดยมีท่อระบายเบสเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 40 มม. ยาวประมาณ 140 มม. ติดตั้งอยู่ด้านหลังตัวตู้ โดยวางตำแหน่งให้อยู่ใกล้เคียงกับแนวติดตั้งทวีตเตอร์บนแผงหน้าตู้ ซึ่งปลายท่อจะผายออกเล็กน้อย

ตัวขับเสียงกลาง/ต่ำ หรือ วูฟเฟอร์/มิดเรนจ์มีขนาด 5.5 นิ้ว ซึ่งคัดสรรจาก Eton ในเยอรมัน วัสดุตัวกรวยนั้นเป็น Hexacone Composite ที่ขึ้นรูปจาก NOMEX (วัสดุที่มีความทนทานต่ออุณหภูมิความร้อนได้สูง และทนต่อการกัดกร่อนของสารเคมีได้ดีเยี่ยมด้วยเช่นกัน จึงเป็นที่นิยมใช้กันมากในแวดวงรถแข่งสูตรหนึ่ง หรือ Formula 1) โดยมีลักษณะภายในคล้ายกับรังผึ้ง (Honeycomb) แล้วจึงนำเคฟลาร์ (Kevlar) มาหุ้มทับพื้นผิวด้านหน้าและด้านหลัง ดังนั้น Hexacone Composite จึงมีโครงสร้างคล้ายกับแซนวิช (Sandwich) ซึ่งมีโครงสร้างรังผึ้งที่เป็นวัสดุ NOMEX นั้นคั่นอยู่ระหว่างกลาง ขนาบหน้าและหลังไว้ด้วยวัสดุเคฟลาร์ อันว่า เคฟลาร์ นั้นมีคุณสมบัติน้ำหนักเบา แต่กลับมีความแข็งแรงสูงมากๆ (สามารถทนต่อแรงยืดตัว หรือ Elongation ได้เหนือกว่าเหล็กกล้า หรือ Steel ถึง 1,000 เท่า)

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ตัวกรวยลำโพงแบบ Hexacone Composite นี้ จึงมีความแข็งแกร่งยิ่งกว่ากระดาษ ,POLYPROPYLENE หรืออะลูมิเนียม และแม็กนีเซียมที่มีมวลเท่าๆ กัน (แต่เบากว่ามาก) วูฟเฟอร์/มิดเรนจ์ดังกล่าวยังได้ติดตั้งเฟสปลั๊ก (Phase Plug) ทดแทนการใช้ดัสท์แคปตามปกติ (สั่งทำเป็นพิเศษโดย Kam Leung เพื่อใช้ในลำโพงของ Focus Audio เท่านั้น ทั้งนี้เฟสปลั๊กแบบดังกล่าวจะพบเห็นได้ในตัวลำโพงของ Eton ตระกูล Symphony รุ่น 7-372/32 HEX)

ทาง Focus Audio ได้ให้ชื่อเฟสปลั๊กนี้ว่า Heat Pipe Configuration เนื่องเพราะเฟสปลั๊กนี้ ที่มีลักษณะเป็นแท่งกระบอกพลาสติก และมีการบากเป็นร่องไว้ที่รอบๆ ส่วนปลายของเฟสปลั๊กเพื่อช่วยในการระบายความร้อน อีกทั้งเฟสปลั๊กนี้ก็จะทำหน้าที่ควบคุมมวลของอากาศที่เกิดจากการผลักดันของตัวกรวยลำโพง โดยแทบจะปราศจากแรงต้าน (อันเนื่องมาจากดัสท์แคปเช่นปกติ) ทั้งยังช่วยลดความเพี้ยน หรือ Distortion ให้ลดน้อยลง และมีส่วนช่วยให้เฟสสัญญาณมีความกลมกลืน-ต่อเนื่องกันดียิ่งขึ้นอีกด้วย  สำหรับขอบรอบตัวกรวยลำโพง หรือเซอราวด์นั้นจะเป็นยางธรรมชาติซึ่งให้ความทนทานสูง (นับว่า เหมาะกับภูมิอากาศร้อน-ชื้นแบบบ้านเรา)

วูฟเฟอร์/มิดเรนจ์นี้ออกแบบพิเศษให้มีระยะเคลื่อนตัวได้มากแบบ ‘Long-Throw’ เพื่อให้เกิดแรงผลักมวลอากาศให้เคลื่อนที่ได้มากกว่าธรรมดา ส่วนตัวขับเสียงสูง หรือ ทวีตเตอร์นั้นเป็นของ ScanSpeak รุ่น D2905/9300 แบบซอฟท์โดม หรือโดมอ่อนขึ้นรูปด้วยผ้าอาบน้ำยาขนาด 28 มม. (ร่วมๆ 2 นิ้ว) ซึ่งเป็นตัวขับเสียงความถี่สูงที่มีความพิเศษสุดๆ อยู่ในตัว (จะเป็นรองก็แต่ทวีตเตอร์รุ่น Revelator เท่านั้น) มีสารแม่เหล็กเหลว (Ferrofluid) ช่วยในการระบายความร้อนวอยซ์คอยล์บรรจุอยู่ นอกจากนี้ยังมี Rear air chamber หรือห้องกักอากาศเล็กๆ อยู่ที่ด้านหลังของแม่เหล็ก ซึ่งเจาะทะลุเป็นรูมาถึงด้านหลังของตัวโดม (ประหนึ่งว่า ทวีตเตอร์นี้มี ตัวตู้น้อยๆ เป็นของตัวเองกระนั้น) ช่วยในการตอบสนองความถี่ที่ราบเรียบเป็นพิเศษ

เฉกเช่นเดียวกับ FS68 และ FS68 SE สำหรับ FS68 LE ทุกๆ คู่จะถูกจัดวางตำแหน่งทวีตเตอร์บนแผงหน้าตัวตู้ลำโพงไว้เป็นแนวเอียงเฉียงออกจากกัน ในลักษณะของ Offset Mounted หรือจะเป็นกระจกเงาซึ่งกันและกัน (Mirror Image) ระหว่างลำโพงข้างซ้ายและข้างขวา (มิได้จัดวางไว้ในแนวกึ่งกลางแผงหน้าตู้ในทางแนวดิ่งอย่างที่นิยมกันโดยทั่วไป) การจัดวางทวีตเตอร์ในแบบ Offset Mounted นี้ก็เพื่อลดการหักเห หรือการสะท้อนของคลื่นเสียงบนแผงหน้าตู้อย่างที่เรียกกันว่า Diffraction นอกจากนี้ยังมีข้อดีในด้านช่วยให้การตอบสนองความถี่ในแนวแกน (On-Axis) มีความราบเรียบมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ที่สำคัญในส่วนของตัวขับเสียง ทั้งวูฟเฟอร์/มิดเรนจ์และทวีตเตอร์สำหรับ FS68 LE นั้น จะต้องผ่านการคัดสเปคและทำการแม็ชชิ่งระหว่างกันอย่างพิถีพิถัน ให้มีความแตกต่างอยู่ได้ไม่เกิน 1/4 ดีบีในแต่ละคู่ โดยที่ Serial Number ของ FS68 LE แต่ละคู่จะเหมือนกัน และถูกระบุไว้ที่ด้านหลังตัวตู้ลำโพงแต่ละข้างไว้เป็น A และ B

สำหรับวงจรตัดกรองช่วงความถี่เสียงใน FS68 LE นั้น ได้มีการย้ายตำแหน่งติดตั้งที่แตกต่างไปจาก FS-68 SE ทั้งยังได้รับการหล่อเรซินทับไว้อีกชั้น ซึ่งก็เนื่องเพราะเหตุผลดังต่อไปนี้ เพื่อลดการรบกวนภายในตู้; เพื่อลดความยาวของสายที่เชื่อมต่อภายในให้สั้นที่สุด; อุปกรณ์ที่ใช้ล้วนผ่านการคัดสรรอย่างพิถีพิถัน และเป็นระดับท้อปเกรดทั้งสิ้น อาทิ ขดลวดของคอยล์พันจากทองแดงความบริสุทธิ์สูงแบบ High Purity Litz Copper; คาปาซิเตอร์ชนิด โพลีโพไพลีนแบบ Ultra Fast ของ SOLEN รวมทั้งการใช้คาปาซิเตอร์ชนิด โพลีสไตรีน; การเดินสายภายในใช้เนื้อทองแดงแบบ Perfect Surface Copper Wire และเชื่อมต่อด้วยตะกั่วเงิน (Silver Solder)

FS-68 LE ได้รับการระบุสเป็คฯ ไว้ว่ามีช่วงการตอบสนองความถี่เสียงครอบคลุมตั้งแต่ 45 เฮิรตซ์ ขึ้นไปจนถึง 25,000 เฮิรตซ์ อัตราเบี่ยงเบน +/- 3 ดีบี มีค่าความต้านทานรวม 8 โอห์ม ค่าความไวเสียง 85 ดีบี รองรับกำลังขับสูงสุด 200 วัตต์ ขั้วต่อสายลำโพงเป็นแบบ Gold Plated 5-Way Binding Posts ชุบเคลือบทองอย่างดี และมีขนาดขั้วต่อที่ใหญ่พอจะรองรับสายลำโพงขนาดใหญ่ๆ ได้สบาย (แต่จะสามารถรองรับขั้วต่อได้เฉพาะแบบก้ามปูและบานาน่าเท่านั้น) โดยมีมาให้ 2 ชุด พร้อมสำหรับการใช้งานแบบ Bi-Wired นอกจากนี้ Focus Audio ยังมอบ Adjustable Jumper ซึ่งชุบเคลือบทอง 24k ของ Cardas มาให้ด้วย

 DSC_0096

 ผลการรับฟัง

ต้องขอบอกว่า ลักษณะเสียงที่รับฟังได้จาก FS-68 LE จะมีความฉับไวได้ไดนามิกมากๆ ให้ความแจ่มกระจ่าง-สดใสในช่วงย่านเสียงสูง พร้อมด้วยหางเสียงที่มีประกายทอดตัวยาวไกล ในขณะที่ช่วงย่านเสียงกลางก็มีความสดสะอาด กระจ่างชัด และให้การจำแนก-แยกแยะรายละเอียดต่างๆ ได้อย่างโดดเด่น โดยที่ช่วงย่านเสียงต่ำนั้นก็เก็บตัวได้ไวไม่รุ่มร่าม ที่สำคัญรับรองว่า ไม่พลาดกับสภาพบรรยากาศการแสดงในสถานที่ที่บันทึกเสียงนั้นๆ  (Atmosphere)

ส่วนสมรรถนะทางด้านจินตภาพเสียง หรืออิมเมจนั้น FS68 LE สามารถบ่งบอกความกว้างของเวทีเสียงที่แผ่กว้างได้เลยตำแหน่งตั้งวางลำโพงทั้งซ้ายและขวาออกไปได้อย่างเป็นอิสระ การวางตำแหน่งของชิ้นดนตรีต่างๆ ทำได้นิ่งสนิท มีความมั่นคงไม่วูบวาบ แม้จะเปิดฟังที่ระดับความดังมากกว่าปกติก็ตาม FS68 LE ยังสามารถแสดงตำแหน่งแห่งที่ของชิ้นดนตรี และให้การแยกแยะระดับชั้นความลึกของสภาพเวทีเสียงที่ถอยลึกเข้าไปหลังตำแหน่งตั้งวางลำโพงได้ดีทีเดียว

ส่วนความสามารถในการถ่ายทอดขนาดและรูปวงของดนตรีที่รับฟัง หรือสเกลเสียงนั้น FS68 LE จะวางตัวอย่างเป็นกลางๆ สัดส่วนของสเกลเสียงที่ได้รับ จะสอดสัมพันธ์-ขึ้นอยู่กับแอมป์ที่ใช้ขับเป็นสำคัญ…!! (รวมไปถึงสมรรถนะของอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมในซิสเต็ม) ดังนั้นหากต้องการให้ FS68 LE สามารถส่งมอบสมรรถนะและคุณภาพเสียงออกมาได้อย่างที่ควรจะเป็น สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องหาแอมป์ประเภทมัดกล้ามดีๆ มาใช้งานร่วมกับมัน เพราะถ้าแอมป์ไม่ถึงก็ยากที่จะหวังได้เข้าถึงซึ่งตัวตนอันแท้จริง ของ FS68 LE

แรกเริ่มประเดิมเปิดฟังเจ้า FS68 LE นี้ด้วยแผ่นซีดี POSTCARDS ของสังกัด RR Recording : RR-61CD ในเพลงที่ 4 จะรับฟังความสดใสของเสียงประสาน สามารถได้ยินเสียงสูดลมหายใจของนักร้องประสานเสียงกว่า 200 ชีวิต The Turtle Creek Chorale ได้อย่างชัดเจน และในเพลงที่ 7 ,10 และ 11 ก็เช่นกัน การถ่ายทอดเวทีเสียงด้านลึกนั้นทำได้ดีทีเดียว

DSC_0107

FS68 LE สามารถส่งมอบสภาพบรรยากาศเสียง (Atmosphere) ได้ราวกับเป็นละอองอณูฉาบทา ให้การแยกแยะลำดับชั้นของเสียงที่ซ้อนทับตำแหน่งกันทำได้ดีมาก การรับฟังจะรับรู้ได้ว่า เสียงสูงมีอาการ “เข้มข้น” เล็กน้อย แต่ไม่ถึงขนาดเจิดจรัสจัดจ้า ตามต่อด้วยแผ่น POMP & PIPES! ของสังกัด RR Recording : RR-58CD ซึ่งบอกตรงๆ ว่า ผมอยากจะลองดูว่า เมื่อเจ้า FS68 LE เจอเข้ากับลักษณะเพลงคลาสสิคที่ประโคมกึกก้อง โหมกระหน่ำ หนักหน่วงนั้น จะเป็นฉันใดกัน…

ซึ่งก็ต้องบอกว่า แม้จะไม่ถึงกับให้ความสะท้านสะเทือนเลือนลั่น แต่ก็จัดว่า สอบผ่านดีเกินคาด ใครจะไปนึกว่า ลำโพงตัวน้อยอย่างนี้จะให้เสียงต่ำที่ทอดตัวลงไปได้ลึกขนาดว่าน่าทึ่ง ซึ่งตามสเปคฯ ที่ระบุว่า ลงไปได้ลึก 45 เฮิรตซ์นั้น นับว่าเป็นเรื่องถ่อมตัว เพราะผมทดสอบด้วยแผ่นทดสอบค่าความถี่เสียงโดยเฉพาะพบว่า FS68 LE สามารถตอบสนองเสียงต่ำทิ้งตัวลงไปได้ถึงใกล้ๆ 35 เฮิรตซ์ครับ…!!!

ขนาดว่าเพลงจากออร์เคสตราเต็มวงยังสอบผ่าน ผมจึงลองนำแผ่นซีดีผลงานร็อกอมตะ PINK FLOYD ชุด THE WALL ของสังกัด MFSL หมายเลขแผ่น UDCD 2-537 มาเปิดฟัง ในเพลง In The Flesh นั้น …น่าทึ่งมากครับ ขอยืนยันไว้ตรงนี้เลยนะครับว่า สมรรถนะของ FS68 LE นั้นจะสามารถส่งมอบคุณภาพเสียงที่เยี่ยมยอดได้ ตามคุณภาพของแผ่นซีดีที่เปิดฟัง มิติความสูง – ความลึกของเวทีเสียงทำได้ดีเยี่ยมครับ ความใหญ่หนักแน่นของเสียงต่ำก็ส่งมอบออกมาอย่างเกินตัว ไมน่าเชื่อว่า ระบบลำโพงราคาไม่แพงอย่างนี้ จะให้ได้ถึงขนาดนี้ เสียงเด็กทารกนอนร้องต้นเพลงที่ 2 เหมือนเรามองเห็นเด็กร้องอยู่ตรงหน้าที่พื้นห้องฟัง

แล้วก็มาถึงชุดสุดยอดผลงานเพลงของอัจฉริยะนักประพันธ์เพลงและนักดนตรีกีตาร์ Ry Cooder ชุด JAZZ ของสังกัด  Warner Bros. 3197-2 ที่ผมหยิบจับนำออกมาฟัง เชื่อไหมครับว่า มันสมจริงมาก ให้ความชัดเจนแจ่มใสในทุกเสียง เหมือนเรานั่งฟังการเล่นดนตรีอยู่ต่อหน้า ไร้อาการเดินหน้า (Forward) จนชิ้นดนตรีชิดใกล้เกินจริง เป็นอีกครั้งที่ยืนยันถึงความเป็นระบบลำโพงที่สามารถถ่ายทอดสภาพบรรยากาศของการแสดงดนตรี / สภาพภายในโถงบันทึกเสียงออกมาได้อย่างชัดเจน

จากแผ่นซีดี Chesky Records ชุด JAZZ SAMPLER & AUDIOPHILE TEST Vol.1 หมายเลขแผ่น  JD37 ทำเอาอึ้งและทึ่งเมื่อได้ฟัง ความแจ่มชัดในบรรยากาศเสียง สมรรถนะการแยกแยะตำแหน่งชิ้นดนตรีที่ไม่ซ้อนทับกัน ความสมจริงของเสียงทดสอบไม่ว่าจะเป็น “UP” ที่เสียงนั้นจะลอยตัวสูงขึ้นไปในอากาศเหนือตู้ลำโพง “OVER” ที่เสียงนั้นจะลอยตัวข้ามไปมาระหว่างลำโพง และ LATERAL ที่เสียงจะเดินเป็นเส้นตรงจากลำโพงข้างหนึ่งไปสู่ลำโพงอีกข้างหนึ่ง … อาจจะฟังดูเหลือเชื่อ แต่รับรองว่า ผมไม่ได้โม้จริงๆ ครับ

DIGITAL TEST ของสังกัด PIERRE VERANY หมายเลขแผ่น PV.788031/788032 เป็นแผ่นทดสอบอีกแผ่นที่ผมหยิบออกมาฟัง แล้วต้องพบกับความน่าทึ่ง (อีกแล้ว) เพราะแทร็คแรกของแผ่นนี้เขาบันทึกเสียงพลุ-ดอกไม้เพลิง ที่เขาจุดขึ้นในโอกาสเฉลิมฉลองเทศกาลของฝรั่งเศสนั้น มันสมจริงมากๆ ในบรรยากาศ สรรพเสียงต่างๆ ที่อยู่รายรอบตัวเรา เสียงผู้คนจำนวนมาก เสียงพลุ-ดอกไม้เพลิงที่พุ่งขึ้นไประเบิดแตกตัวในอากาศสูงเหนือศีรษะนั้น ราวกับเรากำลังอยู่ในเหตุการณ์นั้นทีเดียว และด้วยแผ่นนี้นี่แหละที่ทำให้ผมพบว่า ถ้าเราโท-อินเจ้า FS68 LE เข้ามาสัก 10 องศา สภาพบรรยากาศที่รับฟังได้นั้นจะสมจริงมากขึ้นกว่า ตั้งวางแบบหน้าตรง

หลังจากผมได้ฟังแผ่นซีดีชุด JAZZ AT THE PAWNSHOP (Proprius : PRCD 7779) และ CANTATE DOMINO (Proprius : PRCD 7762) ก็ได้รับบทสรุปสอดรับกันกับข้างต้น จึงขอยืนยันว่า ถ้าคุณต้องการระบบลำโพงดีๆ สักคู่ เอาไว้ฟังเพลงได้อย่างคุ้มค่า รับรองว่า FS68 LE จะเป็นตัวเลือกที่จะไม่สร้างความผิดหวังให้เลยแม้แต่น้อย ทั้งยังสามารถไต่ระดับขึ้นไปเทียบเคียงกับลำโพงในระดับไฮ-เอนด์ที่มีราคาสูงกว่าหลายเท่าได้อย่างเต็มภาคภูมิ …คุณจะยิ่งรักมันมากขึ้นๆ หลังจากที่ได้รับฟังมันในทุกๆ ครั้ง ผมรับรอง ดูจากภายนอก FS68 LE อาจจะดูธรรมดา แต่ยิ่งฟังคุณก็จะยิ่งพบว่า มีความไม่ธรรมดาแอบแฝงอยู่ … ยิ่งฟังยิ่งสนุกรุกเร้าใจครับ ขอบอกจากใจจริง

 DSC_0109

สรุปส่งท้าย

แม้ว่าทาง Focus Audio จะระบุถึงกำลังวัตต์ของแอมปลิไฟเออร์ที่แนะนำสำหรับ “FS68 LE” ว่าอยู่ในช่วง 20 ถึง 200 วัตต์/ข้างก็ตามที แต่ด้วยความที่ FS68 LE นั้นมีค่าอิมพีแดนซ์ปกติอยู่ที่ 4 โอห์ม (ซึ่งในการใช้งานจริง บางขณะค่าอิมพีแดนซ์อาจจะลดต่ำลงมาอยู่ที่ 3 หรืออาจจะลงไปเหลือเพียงแค่ 2 โอห์มเสียด้วยซ้ำ) รวมกับค่าความไวเสียง (Sensitivity) ซึ่งอยู่ที่ 85 dB/W/M เท่านั้น

จึงถือได้ว่า FS68 LE นี้เป็นลำโพงที่มี ความไว ในระดับค่อนข้างต่ำ ทำให้เรียกได้ว่า FS68 LE เป็นลำโพงที่ขับยากซึ่งต้องการพละกำลังแรงขับ (จำนวนวัตต์) ที่สูงมากสักหน่อย หรือจำเป็นที่จะต้องเลือกใช้แอมป์ประเภทที่ให้การจ่ายกระแสได้สูงเป็นพิเศษ (High Current) …กระนั้นก็ตาม Focus Audio – Signature Series รุ่น FS68 LE (Limited Edition) นี้ ถือได้ว่า เป็นลำโพงที่จัดเป็น “ตัวเลือก” ในลำดับต้นๆ ได้อย่างน่าสนใจยิ่ง ซึ่งถ้าหูถึง …เครื่องถึง และงบถึง แล้วละก้อ – นี่คือลำโพงที่แนะนำให้คุณต้องหาโอกาสไปรับฟังให้จงได้ เพราะถ้าพลาดก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่งนักจริงๆ ครับ !

เกือบลืมบอกไป… ตำแหน่งตั้งวางที่ผมใช้ในการรับฟัง FS68 LE เป็นดังนี้ครับ ระยะห่างระหว่างระบบลำโพงซ้าย-ขวาเท่ากับ 180 ซม. ตำแหน่งนั่งฟังห่างออกมาจากแนวระนาบตั้งวางระบบลำโพงเท่ากับ 270 ซม. ตำแหน่งตั้งวางระบบลำโพงของผมจะอยู่ห่างจากผนังข้าง 55 ซม. และห่างจากผนังหลังลำโพง 105 ซม. โดยใช้ขาตั้งไม้ตันความสูง 24 นิ้ว ซึ่งตอนแรกที่ฟัง ผมตั้งวาง FS68 LE ตามปกติ คือแบบหน้าตรง แต่ภายหลังพบว่า ถ้าทำการโท-อิน หรือวางเอียงข้างหันหน้าเข้าหากัน ทำมุมประมาณ 10 องศาจะดีกว่ามาก และขอแนะนำครับ

อุปกรณ์ร่วมใช้งาน :- เครื่องเล่นซีดี Marantz CD/DA-12; ปรีแอมป์ eXclusive C3a; เพาเวอร์แอมป์ eXclusive M3; สายสัญญาณ Van Damme; สายลำโพง Kimber Kable 8TC

อุปกรณ์เสริม :- XAV : EMX -9 (วางทับบน Marantz CD/DA-12, eXclusive C3a และ eXclusive M3); Entreq : Ground Box รุ่น MinimUs Silver + Earth Cable รุ่น Silver; MagicBoxAudio : Lunar 1 

 DSC_0094

รูปลักษณ์ :         4ดาว

สมรรถนะ :         4ดาว

คุณภาพเสียง :    5ดาว

โดยรวม :           4 ดาวครึ่ง

 

ขอขอบคุณ บริษัท อินเวนทีฟ เอวี จำกัด โทร. 0-2238-4078-9  ที่ได้เอื้อเฟื้อ Focus Audio FS68 LE มาให้ได้ทดสอบกันในครั้งนี้

 

………………………………………………………………………………………………………………………………………………