Test Report: EPOSE ELAN 10

0

Test Report: EPOSE ELAN 10

(ลำโพงเล็กใจใหญ่)

ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

 

EPOELAN10-3

          ลำโพง EPOSE จากประเทศอังกฤษ เป็นยี่ห้อเก่าแก่หลายสิบปีทีเดียว ในอดีตเท่าที่ผมเคยฟัง (และทดสอบ) เมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้ว เรียนตรงๆ ว่า โอเค เสียงมันราบรื่นเสมอๆ กันดี (FLAT) แต่ออกจะทึบไปหน่อย แห้ง และขาดความตื่นเต้นเร้าใจ (ขาด DYNAMIC) ออกไปทาง หน่อมแน้มไปหมด มิติเสียงก็ไม่น่าพูดถึงเท่าไร เป็นลำโพงที่ใครจะมองข้ามไปก็ได้ มีตัวเลือกอื่นๆ ที่ดีกว่าอีกพอควรในตลาด นี่คือ ความประทับใจ (แง่ลบ) ในอดีต

แต่วันนี้ สถานการณ์เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง หลังจากผมทดสอบ EPOSE ELAN 10 เสร็จสิ้นทัศนคติของผมต่อลำโพงค่ายนี้คงต้องปรับปรุง ใหม่หมด!

ELAN 10 เป็นลำโพงวางหิ้ง ในตระกูลใหม่ล่าสุดของ EPOSE ที่มาแทนตระกูล Mi ในอดีต โดยดึงเทคโนโลยีมาจากตระกูล EPIC ที่ลือลั่น

ELAN 10 เป็นลำโพงตู้ปิด 2 ทาง มีรูระบายอากาศกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณนิ้วครึ่งอยู่ด้านหลัง ขั้วลำโพงแบบไบ-ไวร์ คุณภาพสูง (Bindingpost) แผงเชื่อมสายชุดเสียงสูงกับเสียงต่ำชุบทอง และห่อหุ้มด้วยพลาสติกใสกันช๊อตอย่างดี บ่งบอกถึงความพิถีพิถัน แม้ส่วนปลีกย่อย

ด้านหน้าจะทำเป็นแผงไม้หนาเกือบ 1 นิ้ว เสียบประกบปิดด้านหน้าบังไม่ให้เห็นขอบดอกลำโพง และรูขันนอต (แผงนี้ดึงออกได้ มีนอตโลหะ 4 ตัว เป็นตัวล็อค ทำได้เนียนดีมาก) ตัวแผงนี้ยังลบมุมขอบทั้ง 4 ด้าน ช่วยลดเสียงสะท้อนกวนจากขอบมุม (DIFFRACTION) ช่วยให้มิติเสียงดีขึ้น รายละเอียดดีขึ้น ชัดเจนขึ้น

ดอกลำโพงเสียงแหลมเป็นโดมนิ่ม (สีดำ) ขนาด 25 มม. วอยซ์ แช่ในแม่เหล็กเหลว แม่เหล็กนีโอไดเมียม

มีปากแตรกลม (ฮอร์น) รอบโดม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ (ความดัง) แม่เหล็กจะใหญ่พอๆ กับขนาดปากแตรเลย (สายลำโพงภายในเป็นแกนเดี่ยวเข้าดอกลำโพง จะใช้วิธี “บัดกรี” (ไม่ใช้หัวตัวยูเสียบ) ซึ่งเป็นวิธีที่ดีกว่าใช้หัวเสียบมาก (ควรเลิกไปได้แล้ว) ดอกลำโพงกลางทุ้มกรวยขอบยาง ขนาดกรวย โพลีโพรไพลีน 156 มม. – วอยซ์ 25 มม. ทนความร้อนสูง มีหัวจรวด (เป็นพลาสติกโปร่ง ไม่ตัน) อยู่ตรงกลางเป็น PHASE PLUG ช่วยรีดเร่งเสียงจาก “กลางกรวย” ให้วิ่ง มาทัน เสียงจากขอบกรวย ช่วยเพิ่มตัวตนของเสียงให้มีทรวดทรงดีขึ้น และกลมกลืนกับเสียงจากดอกแหลมมากขึ้น ตัวโครงสร้าง (FRAME) ของดอกกลางทุ้มเป็นเหล็กหล่อ แน่นหนา แกร่งมากแม่เหล็กขนาดใหญ่มาก ห่อหุ้มด้วย (น่าจะเป็นสังกะสีชุบ) ป้องกันสนามแม่เหล็กรั่วไปกวนจอภาพ (เห็นทำกันแบบนี้แทบทุกยี่ห้อ 95% ในท้องตลาด จริงๆ ควรเลิกได้แล้ว เดี๋ยวนี้ใช้จอ LCD กันแล้ว ปัญหานี้แทบลืมได้เลย การไม่ห่อหุ้มแม่เหล็ก เสียงจะเปิดโปร่ง อิสระกว่า เต็มที่กว่า กลางกับแหลมจะกลมกลืนกันได้ขึ้นอีก)

สายลำโพงภายในที่เข้าดอกลำโพงทั้งสองเป็นสายแข็ง มีการเบิ้ลสายแต่ละขั้ว และห่อด้วย (โฟม, ผ้าเทป ฯลฯ ) แยกสายเข้าดอกทั้งสองไม่ให้แตะกัน

มีการใส่ใยโปลี่ (สีขาว) อัดแน่นเกือบเต็มปริมาตรภายในตู้ไม่สนใจที่จะใช้เสียงก้องในตู้มาเพิ่ม “ปริมาณ” ทุ้มแบบลวงๆ (ทุ้มของ ELAN 10 จึงแค่สมตัว ไม่บวมเกินจริง และกระชับ, สะอาด) ผนังตู้ไม้ 18 มม. (MDF)

ภายในตู้มีการทำวงไม้ และดามภายในตู้อย่างเต็มขั้นดีมากผิดคาด กับลำโพงแค่วางหิ้ง และราคาขนาดนี้ (ลองเคาะตู้ภายนอกดูจะแข็งแกร่ง, นิ่งดุจเคาะปูนทีเดียว) ส่งผลให้ตัวตู้มีน้ำหนัก เอาเรื่องพอควรเลย

วงจรแบ่งเสียงภายในประกอบด้วยขดลวดแกนอากาศที่ไปดอกแหลมแกนเหล็กใหญ่ยาวอีก 1 ตัว ไปกลางทุ้ม ตัวเก็บประจุโพลีโพรไพลีน ขนาด 100 V. 2 ตัว ตัวต้านทานมีทัลอ็อกไซด์แบบกลมยาว (ไม่ใช่เซรามิก) 3 ตัว ไม่มีตัวป้องกันดอกลำโพงที่จะบั่นทอนคุณภาพเสียง ชิ้นส่วนแต่ละตัวเหล่านี้ วางห่างกันพอควรบนแผงวงจร (ถูกต้อง, ควรเป็นเช่นนี้) แผงวงจรคุณภาพดี

การกรองความถี่เสียงน่าจะเป็น 12 dB Oct ทั้งตัดเข้าดอกแหลม และจ่ายให้ดอกกลางทุ้ม

ELAN 10 ถือว่าไม่เกินวัตต์ เร่งโวลลุ่มที่แอมป์แค่ 44.3 ก็ดังลั่นห้องฟังผมแล้ว ความไวอยู่แถวๆ 89 dB SPL/W/M ความต้านทานน่าจะ 4 โอห์ม

ตอบสอนงความถี่ 51 Hz – 25 kHz รับกำลังขับได้สูงสุด 100 W. (ดนตรี, ไม่ Clip) แนะนำใช้กับภาคขยาย 25-100 W. ตัดแบ่งความถี่ที่ 3.2 kHz

ตัวตู้สูง 12.2 กว้าง 7.2 ลึก 9.7 นิ้ว หนัก 6.1 กก.

 EPOELAN10-4

การทดสอบ

          ELAN 10 คู่ที่ทดสอบ น่าจะผ่านการใช้งานพอควร อย่างไรก็ตาม ผมก็มาเบิร์นอิน (ด้วยเพลงอีก ร่วม 2 ชั่วโมง ขณะลองโน่นนี่)

จากเครื่องเล่น CD T+A 1260 R ต่อออกสายเสียง MADRIGAL CZ-GEL 2 (หัว RCA) เข้า INPUT 5 ของอินทีเกรทแอมป์ MARK LEVINSON NO. 383 บาลานท์แอมป์แท้ IN ถึง OUT (100 W.RMS/CH ที่ 8 โอห์ม, 200 W.RMS/CH ที่ 4 โอห์ม) ออกสายลำโพง FURUKAWA S-2 (ตามทิศ) หัว WBT หางปลา (เงิน) ด้านแอมป์, WBT บานาน่าด้านลำโพง สองชุดแยกอิสระเข้า ELAN 10 ที่วางอยู่บนขาตั้ง TARGET 24 HJ เอาหน้ากากลำโพงออก (ไม่ได้แกะออกมาใส่) เอียงลำโพงปรับให้ได้ทั้งทรวดทรงเสียง และสุ้มเสียงดีที่สุด ยกสายลำโพงสูงหนีพื้นห้อง (พรม/ปูน) หนีโครงเหล็กภายในปูนยกสูงประมาณ 1 คืบ ด้วยตั้งกระดาษพิมพ์ดีด (เอากระดาษสีแดงที่ห่อออก) 2 รีม เอาอีก 1 รีมแยกสายลำโพงชุดแหลมกับชุดทุ้มไม่ให้แตะกัน (ชุดแหลมกับทุ้มห้ามสลับกัน) และอีก 4 ตั้งทับบนสายซ้าย, ขวา ทำเหมือนกัน (สายเสียง ซ้าย, ขวา ก็ไม่ให้แตะกัน)

          ลำโพงซ้าย, ขวา ห่างกันประมาณ 2 เมตรกว่า ห่างจากจุดนั่งฟังประมาณ 3.6 เมตร ห้องฟังประมาณ 3.85 x 9 x 2.5 เมตร ผนังมีฟองน้ำเก็บเสียง SONEX สีขาว (จากเยอรมัน) พื้นพรม มีของอื่นๆ มากพอควรในห้อง ไม่ก้อง ปัดลมแอร์ยิงลงหลังลำโพง (25 องศา C พัดลมที่ LOW) ไม่มีโน้ตบุ๊ค, PC, LCD, PLASMA, รีโมท, iPad (Tablet), โทรศัพท์มือถือ, นาฬิกาควอตช์ (ไฟฟ้า), WiFi, LAN ใดๆ ในห้องเสียง (มี WiFi รั่วจากภายนอกประมาณ 6 SPOT…เซ็ง) สายไฟ AC ของ NO.383 ไปเสียบใช้กับ T+A CD, ของแอมป์เองใช้ของ CHORD เข้า เต้าเสียบตัวเมีย ฮับเบลสีส้มที่ผนัง นอกห้องเสียงมีหัวปลั๊กกรองไฟ PHD 2 เสียบอยู่ 2 หัว (ช่วยได้มากทีเดียว น่าใช้มาก หัวละแค่ 2,900 บาท)

ในห้องผมทำระบบระบายกระแสค้างในตัวถังเครื่องลงดิน (ระบาย EDDY CURRENT) ให้ T+A (ดีขึ้น 30%!!)

มีกล่องผลึก CRYSTAL PACK วางกลางห้อง (หมุนหาทิศทางด้วย ให้ได้เสียงโฟกัสที่สุด) มีผลึกดูดคลื่นอะมิทิส ขนาด 3 ฝ่ามือ อยู่ด้านขวาของ T+A กับอีก 1 ฝ่ามือ ด้านขวาที่นั่งฟังอีก 2 แท่งด้านซ้าย และที่กลางห้องติดขวา ขณะทดสอบไม่มีการใช้รีโมทใดๆ (ไม่มีในห้อง)

มีข้อควรระวัง ในการทดสอบชั่วโมงแรก ผมรู้สึกว่าเสียงมันทึบคลุมเครือ ถอยจม ตื้อๆ อั้นๆ สับสน และแกว่ง ไม่อยู่ในร่องในรอย จนเกือบถอดใจ คืนของไป

ทันใดนั้น เอะใจ ชะโงกไปดู อ้าวสายไฟ AC ที่เข้าแอมป์ NO.383 แตะอยู่กับ ขยุ้มสายไฟ AC ที่ไม่ได้ใช้ มีไว้ใช้พ่วงหัวแร้งบัดกรีจึงจัดการเอาสายขยุ้มนี้ออก เท่านั้นแหละ หนังคนละม้วนเลย!

นับเป็นบทเรียน (ราคาแพง) ที่พวกเรา ควรได้ตระหนัก และตรวจตราอย่างรอบครอบในการไปฟังทดสอบที่ไหน (ตามบ้าน, ตามโชว์รูมร้านค้า, ตามบูธในห้าง)

MusicHall-Setup

แผ่นระนาดเอก (ไทลำภู) เพลง 3 เสียงตีระนาดเป็น เม็ดๆ ได้ไม่เลว แต่เสียงฉิ่งยังดูแผ่กว้างแทนที่จะโฟกัส แคบกว่านี้ อย่างไรก็ตามมันก็นิ่งไม่ว๊อกแว๊กเสียงฉิ่งพลิ้วสั่นระริก มีจังหวะจะโคนดี ถ่ายทอดอากัปกิริยาได้ดี เสียงระนาดมีทรวดทรงดี รวมทั้งกลองแขกด้วย เสียงโดยรวมเป็นกลาง ตื่นตัว กังวาน (SPACIOUS ดี) เพลง 4 ขึ้นต้นสงัดใช้ได้เสียงตีระนาดเป็นตัวๆ ใช้ได้แต่อยากให้หัวโน้ตโฟกัสแคบกว่านี้ เพื่อสอดรับกับตัวโน้ต (ความถี่ต่ำกว่า) ที่มีทรวดทรงโฟกัสกว่า (เป็นไปได้ว่าอุปกรณ์ วงจรตัดเสียงสูงออกดอกแหลม ขาย้อนทิศ (DIRECTION) รวมทั้งสายลำโพงที่ดอกแหลมด้วย) อย่างไรก็ตามโดยรวมก็น่าฟัง เสียงมีน้ำหนัก กระแทกกระทั้นได้ดี (DYNAMIC ดี) เพลง 5 ขึ้นต้นสงัดเท่าเพลง 4 (ปกติควรสงัดกว่า แต่ก็โอเค) เสียงตีระนาดเป็นตัวๆ ดี อีกครั้งที่รู้สึกว่าหัวโน้ต หรือเสียงตีกระทบยังออกแบนๆ ไม่มีทรวดทรงโฟกัสให้รายละเอียดหัวโน้ต เสียงผิวดี แยกความซับซ้อนของเสียงได้ดี ตื่นตัวนิ่ง ไม่ว๊อกแว๊ก ไม่มั่ว เพลง 6 เสียงตีระนาดขึ้นต้นอยู่ลึกไปหลังเวที ด้านขวา เสียงระนาดเป็นเม็ดๆ ดีกว่าด้านซ้ายเล็กน้อย (เป็นที่บันทึก?) เสียงฉิ่งพลิ้ว ระรัวได้ดี (เห็นได้ชัดว่า ดอกแหลมคุณภาพดีเอาเรื่องเลย) เพลง 7 เสียงจะดัง, เข้มข้นกว่าหน่อย แต่ไม่ต่างกันมากนัก เพราะ ELAN 10 ก็ให้เสียงเพลงอื่นๆ ก่อนหน้านี้เข้มข้นดีอยู่แล้ว เพลง 8 เสียงตีกลองตะโพนใหญ่สมตัวไม่ถึงกับมหึมา และให้ทรวดทรงดี ตามด้วยเสียงตี (ตบ) กลองไล่จากขวาไปซ้าย ติดตามได้ตลอด แต่มิติยังไม่แยกชัดเป็นตัวๆ ไล่ไป แต่ก็บ่งบอกอากัปกิริยาว่าใช้แผงนิ้วตบหน้ากลองได้จะแจ้งดี เพลง 9 ขึ้นต้นเงียบสงัดดีมากตามด้วยเสียงตีรัวระนาดไล่จากซ้ายไปกลางเวที เสียงรัวให้รายละเอียดดี สังเกตว่า ดอกลำโพงของ ELAN 10 น่าจะตอบสนองได้ฉับไว และกระชับดีมากๆ จึงแยกเสียงตรงจากเสียงตามมาได้ดีทำให้สังเกตได้ว่า บางครั้งมีเสียงเหมือนการกระเพื่อมขึ้นลงของเสียงซ่า (จากเนื้อเทป ตอนทำมาสเตอร์?) ในการทดสอบที่กล่าวมานี้ ผมมีโทรศัพท์มือถืออยู่ที่เอว เปิดเอาไว้ จากนั้นผมเอาโทรศัพท์ไปไว้นอกห้อง เท่านั้นแหละ บ่อนแตก ทุกเสียง มีทรวดทรง 3D ดีขึ้นมาก เสียงแหลมอันเป็นหัวโน้ต ที่ผมบ่นว่ามันแบนแผ่ออก ก็กลับโฟกัสคมชัด ให้ทรวดทรงที่สอดรับลงตัวซ้อนทับกับเสียงกลางทุ้ม (ตัวโน้ต) ได้เป็นก้อน, เม็ดเดียวกันเลย

ขณะเดียวกัน เสียงโดยรวมก็ดังขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 0.7 dB อย่างฟังออกชัด เสียงทั้งหมดกระเด็น หลุดลอยออกมาหาเรา อย่างถึงลูกถึงคนอย่างอิ่มแน่นเต็มที่ พร้อมกับเผยรายละเอียดความซับซ้อนของเสียงให้เรามองทะลุเข้าไปถึงไหนๆ รวมทั้งความกังวานที่เด่นชัดขึ้น เวทีเสียงที่โอ่อ่า และลอยสูงขึ้นอย่างชัดเจนมาก ตำแหน่งชิ้นดนตรีในวงก็ชัดเจนจับต้องได้ดีขึ้น พูดง่ายๆ ว่า ดีขึ้นทุกกรณี ไม่ต่ำกว่า 20% เป็นอย่างน้อย

นี่เป็นกรณีศึกษา อยากให้พวกเราตระหนัก และเอาใจใส่ปัญหาคลื่นวิทยุ ความถี่สูงตัวแสบที่ป่วนได้อย่างเด็ดดวงมาก นี่ขนาดห้องเสียงผม มีทั้งผลึกอะมิทิสก้อนเบ้อเริ่ม กับก้อนเล็กก้อนน้อยช่วยซับคลื่นความถี่สูง รวมทั้งกล่อง CRYSTAL PACK (ดูเล่มเดือนกันยายน) ที่ช่วยดูดซับคลื่นกวนอีกแรง ยังเห็นผลต่างได้ขนาดนี้ ถ้าห้องไม่มีตัวช่วยเหล่านี้ก็เอวัง ไม่รู้ได้ฟังอะไรที่อุบาทว์ขนาดไหน!

แผ่น RHYTHM BASKET, A Tasket, A Tisket, A Child’s ของ Brent Lewis เพลง 2 เสียงตีกลอง (ที่เป็นรูปท่อ) ล่าจากซ้ายไปขวา แม้จะได้ยินเสียงกลองจะแจ้ง ฟังเข้าท่าเลย แต่แปลกที่ตัวกลองกลับไม่โฟกัส ดูมัวๆ ไปหมด ไม่เป็นตัวตน แต่เสียงกังวานกลับดีมากอย่างน่าตื่นเต้นตอบสนองได้ฉับไวมาก เพลง 3 เสียงตีกลองท่อซ้ายที, ขวาทีชัดเจน เพลง 4 เสียงพายเรือ วักน้ำจะออกไปทางขวาง ซ้าย-ขวา มากกว่า จากลึกเข้าไปแล้วกวาดพายออกมาหาเราเสียงคลื่นกระฉอกน้อยใหญ่มีทรวดทรงดี สมจริงดีทีเดียว เสียงปลายแหลมต่างๆ จะออกผอมไปหน่อย แม้จะโฟกัสเป็นเส้นสายใช้ได้ แต่ยังขาดมวลเนื้อฮาร์โมนิกอยู่บ้างเสียงปลายแหลมจากอะไรๆ จึงฟังคล้ายกันไปหมด เพลง 5 เสียงรถจักรไอน้ำเปิดหวูดวิ่งมาแต่ไกล หวูดยังมีขนาดเล็กไปหน่อย และเท่ากันตลอด ไม่ใหญ่, เล็ก เสียงรัวระฆังก็เช่นกัน ฟังเหมือนๆ กันตลอด ตามด้วยเสียงตีกลองท่อซ้ายที, ขวาที มีรายละเอียด เพลง 6 เสียงไก่ขันอยู่ลึกไปหลังเวที ยังไม่โฟกัสเต็มที่นักแต่เสียงไก่ และวัว (และสัตว์อื่นๆ) ต่างก็ร้องแบบสอดใส่อารมณ์ จีบปากจีบคอได้ดีมากทีเดียวการจัดวางลำดับตื้นลึกทำได้ดี ดูเหมือนว่า ความถี่เสียงแถวๆ 3K-4 kHz จะโหว่ไปหน่อยเป็นช่วงแคบมาก แต่ก็พอทำให้ ลดความคมชัดของ “หัวโน้ต” เสียงกลางลงต่ำ เสียงโดยรวมจึงขาดความเข้มแข็ง คมชัดไปหน่อย (รวมทั้งความคมชัดของเสียงกลองเพลงที่ 2 ที่กล่าวแล้ว) นาทีที่ 4 ของเพลงนี้ เสียงสารพัดสัตว์ หลุดลอยออกมาหาเราเต็มไปหมด เยอะจริงๆ แม้จะไม่ขนาดโอบมาหลังได้ เพลง 7 เสียงม้าวิ่งหอบแฮกๆ มาแต่ไกล นับเสียงหอบ 6 ครั้ง ครบตามด้วยเสียงตีกลองท่อวนรอบๆ ลำโพงซ้าย และขวา ห่างออกมา และสูงขึ้นไม่เลว แต่ไม่ขนาดลอยสูงขึ้นๆ จนถึงเพดานห้องได้ (อย่างลำโพงบางคู่…แต่ก็น้อยคู่) เพลง 10 สารพัดเสียงในฟาร์มตอนเช้า จำแนกแจกแจงได้ดีมาก และมองทะลุเข้าไปเห็นได้ มีการกดการสวิงเสียงเล็กน้อย แต่ไม่น่าเกลียด (จริงๆ อาจเป็นเพราะการโหว่แคบๆ ที่ 3 K – 4 kHz ดังกล่าวแล้ว ทำให้เหมือนเสียงไม่คม, กระแทกเต็มที่ ทั้งๆ ที่ เสียงโดยรวมก็หลุดลอยออกมาได้ค่อนข้างโอเคเลย) เพลง 10 นี้ฟังไปๆ เสียงจะลอยสูงไปอยู่ที่เพดานห้องได้แต่ ELAN 10 ทำได้แค่สูงจากลำโพงกว่าปกติมากพอควรแต่ไปไม่ถึงเพดาน กับเพลงนี้เช่นกัน บอกได้ว่า ข้อติเรื่องปลายแหลมนั้น ไม่น่าเกลียด โดยรวมๆ ก็ยังถือว่ารับได้, ฟังได้ โอเคเลย

ELANFRT_zps3a86fc2a

            แผ่น THE GREATEST ALTO FEMALE VOL.1 (Top Music) เสียงร้องเพลงจีนหวานๆ ของสุภาพสตรี เพลง 1 เสียงดนตรีขึ้นต้น หลุดแผ่ลอยออกมาได้น่าประทับใจมาก ตามด้วยเสียงร้องที่อาจจะออกด้านๆ ทึบขุ่นไปบ้าง ไม่เปิดโปร่งทะลุ (ความถี่ 3 K – 4 kHz ถูกเฉือนออก) อย่างไรก็ตามก็แก้ตัวได้ด้วยเสียงจีบปากจีบคอ, เสียงลมผ่านไรฟัง เสียงลมปลายลิ้นที่ยังอยู่ครบ แต่ว่าไปแล้ว กับเพลงที่แจ๋นๆ กร้าวๆ สากๆ หู ข้อด้อยนี้จะกลับเป็นตัวช่วยทันที ทำให้ฟังสงบขึ้นกลมกล่อม ผ่อนคลายขึ้น…ก็ว่ากันไป เพลง 2 (อารีรัง) ขึ้นต้นเสียงร้องประสานแยกแยะได้ดีตามด้วยเสียงตีกลองใหญ่ที่ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าใหญ่แน่ แต่ไม่ขนาดมหึมาล้นหลามบานตะเกียงแต่จะออกไปทางคมควบแน่นมาก ตามด้วยทุ้มลึกที่ไม่กระพือหลอกว่า “มันใหญ่มหึมา” หากแต่ลึกแบบทิ้งตัวลงพื้นห้องได้เลย หน้ากลองก็ตึงเปรี๊ยะ ไม่มีหย่อนยาน เพลง 4 ขึ้นต้นเสียงดีด เครื่องสายเป็นเส้นสายแต่บางครั้งแบน, บางครั้งมีทรวดทรงเหมือนกับว่ามีการหักล้างทางเฟสกันเป็นบางครั้งระหว่างเสียงจากดอกกลางทุ้มกับดอกแหลม แต่ก็ถือว่า ไม่น่าเกลียด ถ้าไม่ได้เพ่งเล็งจับผิดกัน โดยทั่วๆ ไป แหลมยังถือว่ามีทรวดทรงใช้ได้ เพลง 5 ขึ้นต้นเสียงกรุ๊งกริ๊งไปได้สูงไม่เลว (AIRY ไม่เลว) น่าจะไปได้เต็มเกิน 20 kHz พอควรเสียงเครื่องสายดีด, สี ไม่เลว แต่ยังไม่ขนาดกระเด็นหลุดลอยเป็นเส้นๆ หรือหวานลึกซึ้ง ทุ้มลงได้ลึก ความอิ่มหนักพอประมาณ ไม่ขนาดเป็นลูกๆ ก็ถือว่าพอเพียงแล้ว เสียงร้องปกติจะเปิดสนุกกว่าเพลงต้นๆ แต่ก็กลับพอๆ กัน

แผ่น AYA, Stockfisch บันทึกมาโหดๆ ทุ้มระดับสะท้านห้อง แหลมระดับสุดรูหู การเล่นมิติเสียง สูง-ต่ำ แผ่ออกมา เสียงร้องหลายๆ สไตล์ทั้งผู้ชาย, ผู้หญิง ถ้าเครื่องเสียงไม่เจ๋งจริง มีสิทธิ์จอด, ถูกฟ้องตีแผ่ล่อนจ้อน ปรากฏว่า ELAN 10 สอบผ่านฉลุย น่าฟังทุกเพลง ออกเกินตัวเกินคาดในแทบทุกรูปแบบ

elan10-cherry-pair

สรุป ผมคงพูดไม่ได้ว่า นี่คือลำโพงในอุดมคติ สุดยอดไร้เทียมทาน ELAN 10 ยังคงมีข้อดีเป็นส่วนใหญ่ แม้จะมีส่วนติบ้างเล็กน้อย แต่ที่แน่ๆ มันดีเกินความคาดหวังของผมพอควรทีเดียวเป็นความดีที่ลำโพงต้องระดับเฉียดแสนบาท/คู่ จึงจะให้ได้ ดูจากวงจรแบ่งเสียงของ ELAN 10 ก็ไม่ได้อะร้าอร่าม มากมายอะไร ส่อให้เห็นว่า ความดีนั้นต้องยกให้กับฝีมือผู้ออกแบบ จูนเสียง และตัวตู้ (ที่แข็งแกร่งดีเกินค่าตัวไปไกล) รวมทั้ง ดอกลำโพง ที่ไม่ธรรมดาเลย ทั้งดอกแหลม และดอกกลางทุ้ม ที่ให้น้ำเสียง, โทนเสียง, บุคลิกเสียง สอดรับกันได้ดีมากๆ ซึ่งหาได้ยากมากๆ กับลำโพงวางหิ้ง ราคาขนาดนี้

   นี่ไม่ใช้ลำโพงที่จะให้ใครมาดูถูกง่ายๆ หรือแกล้งมองผ่านๆ มันไป ถ้าคุณมีงบประมาณ 28,000 บาท (ลดแล้ว และน่าจะซื้อได้ จากราคาตั้ง 32,000 บาท) นี่คือลำโพงวางหิ้งที่เข้าท่ามากที่สุดคู่หนึ่ง เท่าที่ผมเคยทดสอบมา

ขอขอบคุณ KOMFORTSOUD CO.,LTD. โทร. 0-2321-0384-5 ที่เอื้อเฟื้อเครื่องมาให้ทดสอบในครั้งนี้