What HI-FI? Thailand

Test Report: DYNAUDIO DM2/7

Test Report: DYNAUDIO DM2/7

(เพื่อคนที่เกลียด DYNAUDIO)

ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

วันนี้ ข้อครหานั้นได้ถูกลบหมดเกลี้ยงด้วยตระกูลใหม่ล่าสุด DM Series ซึ่ง DYNAUDIO ตั้งใจทำมาแบบตระกูลไฮเอนด์ แต่ราคาที่ใครๆ ก็จับต้องได้ แถมคุณภาพเสียงที่ “ไปได้ทุกงานไม่ขี้เลือกหรือเกี่ยงแอมป์

เราจะมาดูว่า DYNAUDIO DM2/7 จะทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน จะยังคงกลิ่นอายแห่งเสน่ห์ของ DYNAUDIO ได้ขนาดไหน

จุดเด่น DM 2/7

สเปคจากบริษัท

ความถี่ตอบสนอง                                                                 50 Hz~23 kHz (±3 dB)

ความไว                                                                                  86 dB/ 2.83 V./ 1m.

รับกำลังขับได้ (IEC)                                                             มากกว่า 150 W.

ความต้านทาน                                                                       4 โอห์ม

ขนาดตู้ (กว้าง×ยาว×ลึก)                                                    215 × 355 × 265 มม.

หนัก 7.5 กก.

ทำใน (MADE IN)                                                                   DENMARK (เดนมาร์ก)

ราคาตั้ง                                                                                  32,500 บาท/ คู่

(ต่อรองได้)

ผลการทดสอบ

จากเครื่องเล่น Blu-ray OPPO BDP-105 (ปรับปรุงภาคจ่ายไฟโดย PERFECT POWER 2,500 บาท (ขอแนะนำเลยครับ ใครเล่น OPPO ไม่ว่า 103, 105, 103D, 105D ทั้งภาพและเสียงจะดีขึ้นอย่างฟังออก มองเห็น…เบิร์นอิน 25-30 ชั่วโมงนะครับ ต่อออกสายเสียง MADRIGAL CZ-GEL 2 (หัว RCA) เข้า CD INPUT ของอินทีเกรทแอมป์ MOON 250i (50 W.RMS/CH ที่ 8 โอห์ม, 100 W.RMS/CH ที่ 4 โอห์ม…เท่ากับว่า DM2/7 ด้วยภาคขยาย 100 W.RMS/CH…ไม่ต้องห่วง DAMPING FACTOR ของ MOON มากกว่า 200 (8 โอห์ม) ถ้าที่ 4 โอห์ม อย่างแย่ก็ยังมากกว่า 100 ถือว่าโอเครับได้) จาก MOON ต่ออกสายลำโพง FURUKAWA S-2 (เดินตามทิศ) หัว WBT ล็อคได้ (สาย S-2 ชุดนี้ผมไว้ต่อกับลำโพงซิงเกิ้ล-ไบไวร์โดยเฉพาะ แยกขาดจาก S-2 อีกชุดที่ไว้ต่อกับลำโพงไบ-ไวร์โดยเฉพาะ (คือใช้ S-2 แยกชุดแหลม, ชุดทุ้ม)) เพื่อป้องกันปัญหา MEMORY EFFECT ของสาย ลำโพง DM 2/7 วางอยู่บนขาตั้ง TARGET 24 HJ (ของอังกฤษแท้ๆ สมัยเกือบ 30 ปีมาแล้ว) เอาหน้ากากลำโพงออก (เสียงจะเปิดโปร่งขึ้น มิติโฟกัสมีทรวดทรงขึ้น นิ่งขึ้น) เอียงลำโพงเข้าหาจุดนั่งฟัง (ห่างจากลำโพง 3.6 เมตร, ลำโพงซ้าย-ขวา ห่างกันประมาณ 2 เมตร) ปรับเอียงลำโพงทีละนิดๆ จูนจนได้ทั้งสุ้มเสียงครบและทรวดทรงดีที่สุด ห้องฟังขนาด 3.85 × 9 × 2.5 เมตร รอบๆ ห้องมีฟองน้ำเก็บเสียง SONEX (รุ่นทำในเยอรมัน มีสีขาว) ภายในห้องมีของเยอะพอควร (ทั้งแผ่น, ทั้งหนังสือ) ไม่ก้องแน่ ปัดลมแอร์ลงหลังตู้ลำโพง (25 องศา C)

สายไฟ AC ที่เข้า MOON 250i เป็นสายไฟ CHORD สีม่วง (7 พันกว่าบาท) สายไฟ OPPO 105 ยกมาจากสายไฟ AC ของอินทีเกรทแอมป์ Mark Levinson No.383 สายไฟ AC ของจอ LCD TOSHIBA FULL HD 23 นิ้ว ต่อผ่านสายไฟ AC ของ CHORD รุ่นน้ำเงิน (หัวเชื่อมต่อ IEC/ 3 ขา ของ WOW PRO) สายไฟ AC ทั้ง 3 เครื่องนี้ต่อขอไฟ AC จากกล่องกรองไฟ PHD POWER STATION ผมนับถือตัวกรองไฟนี้ มันแทบไม่มีโอกาสอั้นกระแสเลย อีกทั้งใช้แล้วมีแต่ดีขึ้น “ยกแผง” ไม่ใช่ดีบางอย่าง, เสียบางอย่าง มันแทบไม่มีบุคลิกส่วนตัวใดๆ เลย แถมเลือกเฟสไฟขาออก/ ขาเข้า ได้ด้วย(จำเป็นมาก ทำไมไม่มียี่ห้อใดในโลก คำนึงถึงกันเลย!)

ผมยังมีหัวปลั๊กเสียบกรองไฟของ PHD 2 อีก 3 หัวเสียบอยู่ในห้องเสียงกับอีก 5 หัว แผงไฟก่อนเข้าห้องเสียง (PHD 2 แค่ 2,900 บาท/ หัว ถูกด้วย ได้ผลดีด้วย ใช้งานง่ายมากๆ ด้วย)

สายไฟ AC ที่เข้ากล่องกรองไฟ PHD ผมใช้สายไฟ FURUKAWA CB-10 3 เส้น แยกอิสระทิศทางถูกต้องหมด ไม่ใส่ท่อหด (ท่อพลาสติก หนังงูใดๆ พวกนี้มีแต่กดการสวิงกระแสทั้งนั้น) หัว WATTGATE ทั้งตัวผู้ตัวเมียห่อพันหลวมๆ กับสายด้วย ผ้าคาร์บอนไฟเบอร์ เคยเอาสายนี้ไปเทียบกับสายไฟ AC สำเร็จรูป ระดับเกือบ 3 หมื่นบาท กินเขาหมด สายนี้ไปเข้าเต้าเสียบตัวเมียที่กำแพงที่เป็นของ MONITOR ACOUSTICS รุ่นสีเทา+แผงปิด (รุ่นสูงสุด) (ดีมากๆ จะทำให้ชุดเครื่องเสียงของคุณดีขึ้นทุกกรณี 30-40% ทีเดียว!) แพงเอาเรื่องครับ แต่ดีจริงทั้งภาพและเสียง (เบิร์นอินไม่ต่ำกว่า 50-100 ชม. นะครับ)

ผมมันชอบลองของ แหกกฎเกณฑ์ คิดแต่ว่า ทำอย่างไรจะปรับปรุงชุดที่ใช้อยู่ อุปกรณ์ที่ทดสอบอยู่

ในห้องจะเห็นกล่องหนังสือเรื่อง CRYSTAL POWER HEALING ของ JUDY HALLS (มาพร้อมกับตัวอย่างผลึกเล็กๆ 12 ก้อน) ราคากล่องละ 768 บาท วางอยู่กลางห้อง 1 กล่อง ด้านหลังที่ผมนั่งอีก 4 กล่อง เชื่อไหมว่าทั้งหมด ถ้าหันถูกทิศ (ฟังทดสอบเอา) มิติ, สุ้มเสียง จะดีขึ้นอย่างน่าทึ่ง เหมือนกับว่า มันช่วยดูดซับหรือสลายคลื่นความถี่สูงที่แผ่เข้ามาในห้อง ทั้งจาก WiFi, มือถือ ฯลฯ

พูดถึงผลึก ที่บนเครื่อง OPPO 105 ผมเอา (ผลึก) อาเกตแผ่นแบน บางกลมขนาดฝ่ามือกว่าๆ วางอยู่ด้านบน มีแท่งผลึกอ๊อบซีเดี่ยม 1 แท่ง (1 คืบ) วางอยู่ คู่กับก้อนกลมอ๊อบซีเดี่ยม (ขนาด 2 นิ้ว) รอบๆ แผ่นอาเกตมีแท่งควอตซ์สูง 1 คืบ 3 แท่ง ผลึกอะมิทิสขนาด 1 ฝ่ามือ ผอมยาววางมุมขวาเครื่องด้านนบน สุดท้าย (?) มี โครง ปิรามิดที่ทำจากการหล่อผลึกควอตซ์ สูง 1 ศอก วางครอบทั้งหมด (บน) อาเกต อีกที ทุกๆ ชิ้น ทุกๆ ก้อน ผมจะฟังทดสอบตำแหน่งที่วางไปทีละอย่าง เพื่อดูผลของแต่ละชิ้นๆ ไล่ไปเรื่อยๆ การจูนด้วยผลึกดังกล่าวช่วยให้รายละเอียดของเสียงดีขึ้น อะไรที่ฝังลึกๆ ซับซ้อนก็เข้าถึง หัวเสียงก็ดีขึ้น (TEXTURE) เวทีเสียงก็ชัด เปิด อะร้าอร่ามขึ้น

ที่สายไฟ AC ขาเข้าของทุกเครื่องด้านเครื่องมีก้อน มีก้อนทัวมารีนสูงครึ่งคืบวางอยู่ (ทั้ง OPPO105, MOON, จอ LCD, ขาเข้าของกล่องกรองไฟ PHD (ขาออกอีก 1 ก้อน)) ที่เต้าเสียบตัวเมียที่ผนัง (MONITOR ACOUSTICS) มีอีก 1 ก้อน

ห่างไปทางขวามือของ OPPO 105 มีผลึกอะมิทิสขนาด 4 ฝ่ามือห่างออกไปเกือบ 2 ศอก

ที่กล่องกรองไฟ PHD มีการทำระบบระบาย (EDDY CURRENT)

ที่ด้านหน้า MOON มีผ้าดำหนา ปิดดวงไฟ LED สีแดง (ที่ปุ่มกด CD IN) ที่ LED สีแดงที่ปุ่มหมุนโวลลุ่ม, LED สีน้ำเงินที่กลางเครื่อง พวกนี้ปิดแล้ว หัวโน้ต, หัววเสียงชัดเจน, โฟกัส เป็นตัวตนขึ้น

ที่จอ LCD TOSHIBA มีแท่งผลึกควอตซ์สูงครึ่งคืบ ปะติดอยู่ด้านหลังเครื่อง 3 แท่ง อะมิทิส 1 แท่ง

สายเสียง MADRIGAL CZ-GEL2 ที่ต่อจาก OPPO มา MOON สอดผ่านแท่งกรองน้ำ (เป็นเซรามิก) ยาว 12 นิ้ว 2 แท่งต่อซ้าย, 2 แท่งต่อขวา เชื่อไหมว่า ทำให้เสียงโฟกัส เปะๆ ขึ้น รายละเอียดดีขึ้น ลึกขึ้น (มันน่าจะช่วยป้องกันคลื่น RF กวนภายนอก) ที่สายภาพ HDMI (MONSTER HD 2000…ย้อนทิศ) จาก OPPO ไปจอ TOSHIBA ก็มีแท่งกรองน้ำ (Berg Field) อีก 2 แท่งเช่นกัน (เสียงโฟกัสนิ่งขึ้น)

สายลำโพงยกสูงหนีพื้น (ที่เป็นพรม/ ปูน…ในปูนมีโครงเหล็ก ซึ่งจะเหนี่ยวนำกับกระแสที่ไหลผ่านสายลำโพง) ด้วยตั้งกระดาษพิมพ์ดีด 2 รีมสูงจากพื้น 1 คืบ และอีก 3 รีมทับบนสาย/ ข้าง ให้สายนิ่ง (มีผลฟังออก)

ภายในห้องไม่มีระบบ WiFi/ LAN (นอกจากรั่วมาจากภายประมาณ 6~7 คลื่น) ไม่มี, โน้ตบุ๊ค, นาฬิกาไฟฟ้าใดๆ (แม้แต่นาฬิกาข้อมือ) กระเป๋าเสื้อไม่มีการ์ดแม่เหล็กใดๆ ไม่มีโทรมือถือ, iPAD, เกมส์, รีโมท (นอกจากของ OPPO ตัวเดียว) รีโมทแอร์ก็ตัวแสบทำให้มิติแย่ลงแบบเกินคาด (เชื่อว่าทุกห้องฟังมีรีโมทแอร์อยู่ ให้ลองเอาไปไว้นอกห้อง แล้วจะตกใจ…ที่ KARP AUDIO ผมก็ลองมาแล้ว)

อย่างที่บอก ความพิถีพิถันเหล่านี้ ไม่ได้เป็นตัวช่วย หรือแต่งเติมใดๆ หากแต่ เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมให้สะอาด บริสุทธิ์ที่สุด เพื่อจะได้ เข้าถึง อุปกรณ์ที่นำมาทดสอบได้จะแจ้ง ชัดเจน ที่สุด (แน่นอน รวมทั้งอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ร่วมกันในชุดทดสอบด้วย)

ทดสอบฟังเสียงหนัง

อย่างที่เรียนเสมอ เวลาจะทดสอบเสียงหนัง ต้องเลือกระบบเสียง 2 CH จาก OPPO 105 ไปที่ LT/RT ซึ่งมันจะนำ 5.1 CH จากแผ่น มาผ่านวงจรเข้ารหัส Dolby Surround Matrix โดยฝากร่องเสียงซ้ายหลัง, ขวาหลัง, เซ็นเตอร์ ซับ ไปกับคู่หน้า เหลือแค่ 2 CH ( L TOTAL, R TOTAL) เมื่อเราฟังจากจากช่องเสียงออก 2 CH (ไม่ใช่ L FRONT, R FRONT นะครับ) เข้าชุดสเตอริโอ 2 CH ลำโพง 1 คู่ สมอง จะทำการถอดการเข้าเซอราวด์จาก 2 CH นั้นมาเป็นเซอราวด์ 2 CH ลำโพง 1 คู่ ได้ (แต่ถ้าเราใส่แผ่น CD 2 CH ธรรมดา ก็จะเป็น 2 CH สเตอริโอธรรมดา แม้จะอยู่ที่ LT, RT)

ที่สำคัญ คือ ต้องฟังทดสอบแล้วลองสลับขั้วบวก, ลบ ของสายลำโพงหลังแอมป์ ให้ได้เสียงกระเด็นหลุดลอยออกมา ให้ถูกต้องไว้ก่อนเสมอ (โชคดีที่แม้ผมชอบฟังเสียงพากย์ไทย ก็ปรากฏว่าเป็นเฟส Absolute Phase เดียวกับเสียงเอฟเฟกต์ แทบทุกครั้ง 95%)

อย่าลืมลำโพงต้องเอียง TOE IN มิเช่นนั้นผลเซอราวด์จะแย่ลงมากๆ

จากเรื่อง LUCY (Blu-ray แผ่นแท้ ร่องพากย์ไทย) ผมเร่งวอลลูมที่รีโมท OPPO ประมาณปกติ เหมือนฟังกับลำโพงทั่วไป คือ 89-91 ก็ดังกระหึ่มคับร่องแล้ว

DM 2/7 ให้เสียงพูดที่ชัดถ้อยชัดคำ เป็นธรรมชาติอย่างยิ่ง รับรู้ได้ถึงการสอดใส่อารมณ์ลงในน้ำเสียง แบบน่าทึ่งมาก (น้องๆ ATC ที่โด่งดังในด้านนี้) ทำให้หนังดูได้อารมณ์ ได้ความรู้สึกแบบเข้าถึงจริงๆ ไม่เสแสร้ง ขณะเดียวกัน ก็เปิดเผย รายละเอียดหยุมหยิม เล็กๆ น้อยๆ ที่เราไม่เคยสังเกตว่า มีอยู่ ออกมาได้อย่างน่าฉงนทีเดียว

เรียนตรงๆ ว่า แต่เดิม ลำโพง DYNAUDIO ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายการนำมาดูหนังของผมเลย ด้วยการที่คุ้นกับเสียงแบบอวบอุ่น ช้าๆ ผ่อนคลายอันเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของ DYNAUDIO มาตลอด คือ ฟังเพลงโอเค แต่ดูหนังน่าจะไม่รอด น่าจะอุ้ยอ้ายไปหมด

เหลือเชื่อที่ DM 2/7 พลิกความเข้าใจไปเกือบสิ้นเชิง มันตอบสนองได้ฉับไวอย่างเหลือเฟือ ไม่ส่ออาการอืด, หนืดใดๆ เสียงกับภาพตรงกันเปะๆ เสียงออกสดใช้ได้ ไม่ถึงกับสดแบบโฉ่งฉ่าง แต่สดกำลังดีแบบในชีวิตจริง มากกว่าการแสดง ไม่มีคำว่าขุ่นทึบใดๆ ทุกอย่างเปิดโปร่งเกินพอ โอเค อาจไม่เร็ว, กระชับสุดๆ แบบลำโพงบางคู่ที่อาจฟังมันส์ สนุก ตื่นตัวกว่า ช่องไฟระหว่างตัวโน้ต, ระหว่างคำพูด อาจดีกว่า แต่ก็แปลก ต่อให้ช่วงนั้นเสียง อื้ออึง ซับซ้อน ปนเปอย่างไร กับ DM 2/7 ก็ยังรักษาการแยกแยะว่าอะไรเป็นอะไรได้อย่างไม่มั่ว หรือสับสนไปหมด

DM 2/7 ให้เสียงที่มีน้ำหนักดั อิ่ม ตลอดทุกช่องความถี่ ไล่ตั้งแต่ความถี่ต่ำ, กลาง, สูง ความถี่ต่ำอิ่มหนักมหึมา ทิ้งตัวลงพื้นห้องได้อย่างเหลือเชื่อ ดุจมีซับแอคทีฟช่วย ไม่เสียชื่อ DYNAUDIO ที่โด่งดังในเรื่องเสียงทุ้ม

ปกติเสียงดนตรีที่เป็นฉากหลังมักถูก ลืมๆ ไป แต่กับ DM 2/7 เสียงดนตรีจะมาหล่อเลี้ยงทั้งเรื่อง ช่วยเสริมเติมอารมณ์ได้อย่างชวนติดตามเอามากๆ

ในด้านมิติเสียง มันก็ให้ได้ดี ทิศทางเสียงตรงเปะๆ กับภาพที่ปรากฏบนจอ ไม่ว่า ตื้น-ลึก สูง-ต่ำ หน้า-หลัง (หลังตัวเราเลย!) บรรยากาศดุจอยู่ในเหตุการณ์ ดุจฟังระบบเซอราวด์เต็มขั้นได้เลย

 สรุป ผมให้คะแนนการดูหนัง 96% (เต็ม 100) ยิ่งเมื่อคิดถึงราคาค่าตัวของ DM 2/7 มันไม่แปลกที่จะพูดว่า นี่คือความมหัศจรรย์

 

ผลการฟังเพลงปิดจอแอลอีดี กดตัดสัญญาณภาพที่ OPPO

แผ่นระนาดเอก (ไทลำภู) เพลง 3 เสียงตีระนาดเป็นเม็ดๆ ตัวๆ ดีมาก ไล่เสียง อ่อนแก่ ค่อย-ดังได้ดี เสียงฉิ่งให้ฮาร์โมนิกได้ดีน่าประทับใจ เพลง 4 ขึ้นต้นสงัดใช้ได้ เสียงกรับให้รายละเอียดว่าเป็นแผ่นไม้ประกบกัน ไม่ใช่เอาแผ่นอะลูมิเนียมมาเปาะแปะกัน ให้จังหวะจะโคนได้ดี ฟังเพลิน ความกังวานโอเค เพลง 5 ขึ้นต้นสงัดใช้ได้พอๆ กับเพลง 4 เสียงระนาดเป็นทรวดทรงดี การสอดใส่อารมณ์ ลูกรับลูกล่อกันดี เพลง 6 ขึ้นต้นเสียงตระนาดอยู่ลึกไปหลังเวทีได้ดีมากและรักษทรวดทรงได้ดีตลอด ซ้าย-ขวา สมมาตรดีตลอด เพลง 7 ตื่นตัวขึ้นหน่อย (ไม่ทิ้งกันมาก) เพลง 8 เสียงกลองตะโพนอิ่มลึกใช้ได้ มีรูปลักษณ์ที่ดี เพลง 9 ขึ้นต้นสงัดดี ฟังออกว่าทุกเสียงแบนลง ทรวดทรงลดลงมาก แต่พอเพลง 10 ทรวดทรงกลับมาดี แสดงว่า DYNAUDIO ฟ้องได้ดีมาก เสียงโดยรวมราบรื่น ไม่สดมาก ไม่ขุ่นมัว ตอบสนองฉับไวตามธรรมชาติ ไม่เร็วเกิน หรือ หนืดช้า

แผ่น Rhythm BASKET, A Tasket, A Tisket, A Child’s ของ Brent Lewis เพลง 2 เสียงตีกลองท่อ มีทรวดทรงที่ดีไม่รู้สึกทะแม่งๆ ไล่จากซ้ายไปขวา ตำแหน่งเปะๆ ดีมาก ที่ชอบมากคือ เสียงกังวานที่วิ่งหายไปหลังเวทีของแต่ละครั้ง ทำได้ดี รับรู้ถึงขนาดห้องได้เลย (Space) เพลง 3 เสียงตีกลองท่อซ้ายที, ขวาทีสมมาตรดีมาก เพลง 4 เสียงพายวักน้ำรับรู้ได้ดี เสียงคลื่นแผ่เต็มผิวน้ำ ปลายแหลมที่มีเนื้อหนัง (ฮาร์โมนิก) รายละเอียด แต่อาจไปได้แค่ประมาณ 22 kHz~25 kHz คงไม่สูงไปกว่านั้น ก็ถือว่า เกินพอแล้ว ดีกว่าประเภทไปได้ถึง 30 kHz ขึ้นไปแต่ผอมบางเป็นเส้นไม่มีมวลเนื้อ (ฮาร์โมนิก) เพลง 5 เสียงรถจักรไอน้ำวิ่งมาแต่ไกล ใกล้เข้ามาๆ ให้ความตื้นลึกได้สมจริงดี ตามาด้วยเสียงตีกลองท่อ ซ้ายที ขวาที เสียงดีมากๆ (คารวะ 1 จอก) เพลง 6 เสียงไก่ขันขึ้นต้นอยู่ลึก (พอควร…อยากให้ลึกขึ้นอีกสักนิด) ขันแบบตั้งใจดี รวมทั้งสัตว์อื่นๆ ก็จีบปากจีบคอกันถ้วนหน้า จากเพลงนี้จับประเด็นได้ว่า DYNAUDIO ให้ความถี่ควบคู่ (ฮาร์โมนิก) ได้ดีมาก แบบธรรมชาติ ไม่ใช่แบบหลอกหูด้วยการกดสวิงเสียงไว้ (ให้เสียงออกอวบอ้วนหลอกว่าเสียงมีเนื้อหนังดี) นาทีที่ 4 ของเพลงนี้ เสียง “ฝูง” สารพัดสัตว์ แผ่ออกมาหาเรา ซ้าย, ขวา เยอะแยะไปหมด แต่ยังไม่ขนาดโอบมา ซ้ายหลัง, ขวาหลังได้ แย่จัง เพิ่งรู้ว่าช่วงนี้มีเสียงช้างร้องขึ้นมาทีหนึ่งด้วย! เพลง 7 เสียงม้าวิ่งหอบฮักๆ มาแต่ไกล แล้วใกล้เข้ามาๆ ถึงตัวเรา โอเค มันไม่ขนาดโชว์เสียง เม็ดฝุ่นทรายกระเด็นกระดอนตอนม้าหยุดกะทันหัน (ต้องลำโพงที่ไปได้ขนาด 30 kHz ขึ้นไปจึงจะมีตรงนี้) แต่ก็โชว์เสียงหอบอ่อนแก่ของม้าได้ดี ตามด้วยเสียงตีกลองท่อวนรอบลำโพงซ้าย, ขวา หลุดลอยออกมาได้ดีมาก สูงเหนือตู้แต่ยังไม่เก่งขนาดลอยสูงขึ้นๆ จนเกือบถึงเพดานห้อง (ลำโพงทั่วไปเฉลี่ยต่ำกว่า 50%ที่จะทำได้) เพลง 9 เสียงตีกลองท่อ ซ้ายที, ขวาที ให้น้ำเสียงได้ดีทีเดียว เวทีกว้างมาก เพลง 10 เสียงสารพัดในฟาร์มตอนเช้า มีมาเยอะทีเดียว แต่ยังไม่เก่งขนาดแยกขาดว่าอะไรเป็นอะไรแบบชัดๆ อย่างไรก็ตาม กับเพลงนี้ มันก็ให้เสียงวิ่งลอยอยู่บนเพดานห้องได้ค่อนข้างโอเคเลย (90%) อาจไม่ขนาดติดกับเพดานเลย (ห่างลงมาซัก 10-20%) เก่งแล้วครับ มีลำโพงที่แพงกว่านี้เป็นเท่าตัวก็ยังทำไม่ได้ขนาดนี้

แผ่น The Greatest Alto Female VOL.1 (TOP MUSIC) เสียงร้อง (ส่วนใหญ่ 99% เพลงจีน) ของสตรีเสียงหวาน เพลง 1 เสียงร้องของเธอสอดใส่อารมณ์ได้ดีมาก DYNAUDIO ตีแผ่ อากัปกิริยา จีบปากจีบคอ ตั้งใจร้องแบบทุ่มอารมณ์เศร้าเต็มที่ออกมาได้อย่างชวนติดตามตลอด (ทั้งๆ ที่ฟังไม่รู้เรื่อง (ภาษาจีน)) เพลง 2 (อารีรัง เพลงเกาหลี) ขึ้นต้นด้วยเสียงร้องหมู่ประสานชายหญิง แยกแยะได้ดี ตามด้วยเสียงตีกลองที่ “ใหญ่” ขนาด 2 เมตร! ทั้งอิ่ม แน่น หนักลึก (ลึกสุดๆ อาจไม่เก็บตัวแบบกระชับ 100% ก็น่าจะได้สัก 90% ก็โอเค รับได้ไม่ก่อให้เกิดเสียงหึ่งน่ารำคาญ) พูดง่ายๆ ยังกับฟังลำโพงขนาด 12 นิ้ว (ซับเสริม) ไม่เสียชื่อ DYNAUDIO ที่โด่งดังในเรื่องทุ้มที่คนอื่นอิจฉามาตลอด เพลง 3 ขึ้นต้นเสียงเกากีตาร์โปร่งเป็นเส้นสายดีมาก คลอด้วยเสียงเปียโนที่สดใสสมจริง ไม่ส่ออาการว่า 2 เสียงนี้จะทับซ้อนผสมมั่วกัน (ลำโพงที่ให้ ฮาร์โมนิก ไม่ดีไม่ครบ จะเป็นดังกล่าว) เพลง 4 (เสียงร้องจะมีทรวดทรงกว่า 1, 2) ซึ่ง DYNAUDIO ชี้ประเด็นนี้ออกมาชัดแจ้ง ได้อารมณ์มากขึ้นอีก การเดินเบสที่ลงลึกทิ้งตัวลง เสียงเขย่าลูกกระพรวนที่เป็นเม็ดๆ พองาม เพลง 5 เสียงกรุ้งกริ้งของปลายแหลม มีรายละเอียด สดพองาม อาจไม่ขนาดเป็นประกายระยิบระยับ (ความถี่ระดับ 30 kHz ขึ้นไป) แต่รับรองว่า ไม่ถึงกับน่าเกลียดหรืออับทึบ เสียงเครื่องสายจีน ให้รายละเอียดดีทั้งสีและดีด ฟังออกว่าเป็นเส้นสายเส้นๆ ทุ้มก็หนักทิ้งตัวลงพื้นห้องกระชับดี ใครว่า DYNAUDIO เสียงทึบ มาฟังคู่นี้จะเปลี่ยนคำพูดทันที

แผ่น WOOD ของ Brian Broomburg เน้นการโชว์เสียงดับเบิ้ลเบส ในสไตล์แจ๊สฟังสบายๆ เพลง 1 ขึ้นต้น เสียงเกาสายดับเบิ้ลเบสเป็นเส้นสายอิ่มแน่นหนา ลงลึก มีรายละเอียด กระชับ ไม่มีเบลอ แกว่ง นิ่งมั่นคง ช่วงต่อมาที่กลองชุด (ฉาบ), เปียโน มารับ อ่มแน่น โอ่อ่าดี ฉาบที่รับรู้กิริยาอาการตีสัมผัสของแฉกับตีขอบ เปียโน (อัพไรท์) สีสด มีน้ำหนัก, กังวาน โอเค ช่องว่างระหว่างชิ้นดนตรีในวงอาจไม่สงัด สะอาดเต็มที่ (นี่อาจเป็นจุดอ่อนบ้างของลำโพงคู่นี้ คือ ช่องว่าง, ความเปิดโปร่งทะลุ (Transparency), ช่องไฟระหว่างตัวโน้ตระหว่างคำพูด (Inter-Silence)) อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้มาคือ เสียงที่ฟังกันเอง ไม่จงใจจิกหูให้หันมาฟัง มันจึงให้เสียงที่ผ่อนคลาย (แต่ไม่คลุมเครือ เสมอกันไปหมด) หากแต่ตื่นตัวชวนติดตาม

สรุป การฟังเพลงผมให้เฉลี่ย 90% (เต็ม100) ผมไม่คิดว่ามันจำให้ใครผิดหวังได้เลยในแง่นี้ ไม่ว่าคุณจะหูเพลงร้องหรือบรรเลง ลูกทุ่ง, ลูกกรุง, แจ๊ส, ป๊อป, คลาสสิก, นิวเอจ แต่ถ้าหูซาดิสม์ก็คงต้องนิมนต์ไปข้างหน้า

 

ขอขอบคุณ บริษัท เอลป้า ชอว์ จำกัด โทร. 0-2256-9683-5 ที่เอื้อเฟื้อลำโพงมาให้ทดสอบในครั้งนี้

Exit mobile version