Test Report: DENON DP-300F

0

Test Report: DENON DP-300F turntable

“ใช้งานง่าย ได้เสียงดี …เกินกว่าที่คาด”

ม่อนฟ้า ศรีมงคล

 den-2013000

…ย้อนอดีตไปในช่วงแผ่นเสียงครองโลก ซีดียังไม่อุบัติขึ้น ดิจิตอลยังอยู่ในยุคตั้งไข่ ใครต่อใครที่มีกะตังค์และเป็นนักเล่นเครื่องเสียงประเภท “นักฟัง” หรือเคร่งครัดพิถีพิถันในเรื่องของสมรรถนะทางเสียง อย่างที่ทุกวันนี้เรียกกันว่า “ออดิโอไฟล์” มักนิยมเล่นแผ่นเสียงกันทั้งนั้น (แต่ผู้คนส่วนใหญ่รวมทั้งออดิโอไฟล์บางคนก็ให้ความนิยมชื่นชอบในการเล่นคาสเซ็ตเทปกันทั่วไป กระทั่ง Walkman นั้นเป็นที่คลั่งไคล้ ต้องได้มาครอบครอง เฉกเช่นความชื่นชอบ iPod ในปัจจุบัน) จะมีบ้างที่ถูกอกถูกใจในการใช้ open reel มาเป็นแหล่งสัญญาณอยู่บ้างเหมือนกัน

 

เครื่องเล่นแผ่นเสียงที่เหล่าออดิโอไฟล์ในยุคนั้น หมายปองกันตาเป็นมัน หนีไม่พ้น “Linn LP12” ในฐานะเจ้าแห่งเครื่องเล่นแผ่นเสียงระบบ Suspension ชั้นยอดของโลก ในขณะที่เครื่องเล่นแผ่นเสียงระบบ Non-suspension ชั้นเยี่ยมอย่าง Rega นั้น น้อยนักที่จักได้รับความสนใจ ซึ่งอาจเป็นเพราะ Rega มีราคาถูกกว่า Linn อยู่อักโข ค่านิยมของผู้คนซึ่งยึดติดอยู่กับว่า -ของดีนั้นมีอยู่ แต่จำเพาะของแพงเท่านั้น- จึงไม่ใคร่จะได้สนใจกัน

 

อีกอย่างระบบ Suspension นั้นก็ดูจะมีหลักการทำงานที่ให้ผลใช้งานได้อย่างเป็นรูปธรรม ในการป้องกันและสลายพลังงานแรงสั่นสะเทือนรอบข้าง มิให้ไปส่งผลรบกวนต่อการทำหน้าที่แกะรอยอักขระขรุขระบนผิวแผ่นเสียงออกมาเป็นสัญญาณไฟฟ้าอันแผ่วเบาของหัวเข็ม ยิ่งกว่าระบบ Non-suspension (ต้นตำรับโดย Roy Gandy เจ้าสำนัก Rega) ที่อาศัยหลักการทางฟิสิกส์ ซึ่งผู้คนทั่วไปมักไม่เข้าใจ กลายเป็นความไม่ศรัทธา ไม่เชื่อว่าจะให้ผลใช้งานได้เป็นจริงเป็นจัง

 

ระบบ Non-suspension นั้นอาศัยหลักการทางฟิสิกส์ในการ “ยับยั้ง” พลังงานแรงสั่นสะเทือนรอบข้าง มิให้ไปส่งผลรบกวนต่อการทำหน้าที่อันถูกต้อง แม่นยำ (อย่างที่ควรจะเป็น) ของหัวเข็ม ในขณะที่ระบบ Suspension นั้นอาศัยหลักการของคอยล์สปริงมาใช้ “แขวนลอย” ฐานย่อยที่ติดตั้งทั้งแพลตเตอร์และโทนอาร์มเอาไว้ ให้มีสภาพ “เกือบ” เป็นอิสระต่อพลังงานแรงสั่นสะเทือนจากฐานแท่นเครื่อง และมวลอากาศรายรอบ

 

ทั้งนี้หลักการทางฟิสิกส์ที่ถูกนำมาใช้ในการ “ยับยั้ง” พลังงานแรงสั่นสะเทือนรอบข้างนั้น อธิยายความได้ดังนี้ สสารหรือวัตถุใดๆ ในโลกนี้ ล้วนมีค่าจำเพาะของการสั่นสะเทือนอย่างที่เรียกว่า “ค่ากำทอน” หรือเรโซแนนซ์ (resonance) อยู่เฉพาะของใครของมัน สสารต่างสถานะกัน หรือวัตถุต่างชนิดกันก็จะมีค่ากำทอนที่ว่านี้แตกต่างกันไปด้วย อีกทั้งสสารที่ต่างสถานะกันก็ยังมีคุณสมบัติในการนำ-พาคลื่นความถี่เสียงได้ช้า-เร็วแตกต่างกันไปด้วยเช่นกัน อย่างที่เรา-ท่านล้วนทราบกันดีว่า โลหะกับไม้นั้น โลหะจะมีคุณสมบัติในการนำ-พาคลื่นความถี่เสียงได้เร็วกว่าไม้ ในขณะที่ระหว่างของเหลว หรือน้ำกับอากาศนั้น คลื่นเสียงความถี่ต่างๆ ก็จะเดินทางในของเหลว หรือน้ำได้ดีกว่านั่นเอง

 

จากหลักการดังกล่าว จึงทำให้เกิดแนวความคิดที่ว่า หากนำเอาสสารหรือวัตถุ 2 ชนิด (หรือกว่านั้น) ที่ต่างกันมา “ผนึก” หรือยึดติดกัน ย่อมสามารถก่อให้เกิดผลของการ “ยับยั้ง” พลังงานแรงสั่นสะเทือนรอบข้างได้ อันเนื่องมาจากการที่คลื่นความถี่เสียงนั้นเดินทางผ่าน “ตัวนำ” ต่างชนิดกันได้ดี-ด้อยไม่เท่ากัน การส่งผ่านคลื่นความถี่เสียงระหว่างสสารต่างสถานะกัน หรือวัตถุที่ต่างชนิดกันจึงเกิดการ “เหลื่อมค่า” ของการนำ-พาคลื่นความถี่เสียง และด้วยค่ากำทอนที่แตกต่างกัน การนำ-พา หรือการส่งผ่านคลื่นความถี่จากพลังงานแรงสั่นสะเทือนรายรอบ จากสสารหรือวัตถุชนิดหนึ่งไปยังสสารหรือวัตถุอีกชนิดหนึ่งจึงเป็นไปอย่าง “จำกัด” ทำให้พลังงานแรงสั่นสะเทือนรายรอบถูกลดทอนลงได้อย่างมาก

 

อันจะเห็นได้ว่าระบบ Non-suspension นั้นมีหลักการอันแตกต่างจากระบบ Suspension โดยสิ้นเชิง ซึ่งแม้ว่าหลักการของระบบ Non-suspension ดูจะเข้าใจได้ยาก (แต่หากเข้าใจในเรื่อง “ระฆังแตก” หรือ“ระฆังร้าว” ก็จะพอนึกภาพออก) ทว่าในความเป็นจริงนั้น ด้วยความที่ระบบ Non-suspension มีความซับซ้อนที่น้อยกว่า ทั้งจากอุปกรณ์ที่ใช้และความไม่ยุ่งยากในการปรับแต่ง (tune-up) เมื่อเทียบกับระบบ Suspension ….นี่เองที่ส่งผลให้ “ปัจจัย” ต้นทุนในการผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงระบบ Non-suspension นั้นต่ำกว่าต้นทุนในการผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงระบบ Suspension อยู่มากทีเดียว

 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับครับว่า แผ่นเสียงนั้นได้ถึงเวลาฟื้นคืนชีพขึ้นมาแล้ว-อย่างช้าๆ และมีแนวโน้มที่จะยังคงดำเนินเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ แม้จะอยู่ในระดับค่อยเป็นค่อยไปก็ตาม แต่ความนิยมนี้ก็ค่อยๆ ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ จนถือเป็น “ที่หวัง” ทางการตลาดของบรรดาบริษัทผู้อุปกรณ์ทั้งหลาย ที่ต่างก็ค่อยๆ ทยอย “ปล่อย” ผลิตภัณฑ์ทางด้านนี้ออกสู่ตลาด หลังจากที่ถึงกับต้องเก็บเข้าลิ้นชักไปกันโดยทั่วหน้าในช่วงดิจิตอลบูม

บริษัทวิจัยตลาด นีลเส็น ซาวด์สแกน ที่ใช้ข้อมูลค้าปลีกซึ่งไม่รวมอัลบั้มที่ทางวงดนตรีเป็นผู้จำหน่ายเองโดยตรงพบว่า ยอดจำหน่ายแผ่นเสียงในสหรัฐอเมริกาช่วงปีคศ. 2010 อยู่ที่ 2.8 ล้านแผ่น และเพิ่มเป็น 3.9 ล้านแผ่นในปีคศ. 2011 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างนี้ในอัตราที่น่าสนใจ นับตั้งแต่ช่วงปีคศ. 2012-13 เป็นต้นไป

แม้ว่านี่จะเป็นตัวเลขที่นับว่า ยังห่างไกลมากกับยอดขายปีละกว่า 300 ล้านแผ่นในสหรัฐอเมริกาช่วงยุคทศวรรษปี ‘70 ทว่าก็นับว่าเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากยอดขายจำนวนแค่หลักไม่กี่แสนแผ่นในยุคแผ่นซีดีครองโลกช่วงกลางทศวรรษปี ’90 ขณะเดียวกันยอดขายแผ่นซีดีในสหรัฐอเมริกาที่เคยสูงถึง 600 ล้านแผ่นในช่วงปีคศ. 2005 กลับลดลงเหลือไม่ถึง 200 ล้านแผ่น ในปีที่ผ่านมา โดยที่แผ่นซีดีนั้นยังคงคิดเป็น 61 % ของอัลบั้มเพลงที่ขายได้ทั้งหมด

ขณะที่ส่วนที่เหลือนั้น ซึ่งถือเป็นส่วนใหญ่ก็คือ ยอดดาวน์โหลดเพลงในรูปแบบของไฟล์เพลงดิจิตอล ที่คิดกันว่าน่าจะมียอดรวมอยู่ประมาณ 125 ล้านอัลบั้ม ตลอดช่วงปีคศ. 2012 ที่ผ่านมา นี่ยังไม่นับรวมยอดดาวน์โหลดเพลงแบบ single ที่คาดว่าจะเกิน 1,500 ล้านครั้งเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ซึ่งนี่แสดงให้เห็นถึง “จุดจบ” ของงานเพลงในรูปแบบอัลบั้มซึ่งดูเหมือนจะมาถึงก่อนกำหนดกระนั้นหรือ

el_dp-300f_angle

ค่ายเพลงหลายต่อหลายค่ายพากันแถลงออกมาว่า จะหยุดผลิตผลงานเพลงออกจำหน่ายในรูปแบบซีดีภายในสิ้นปีคศ. 2012 ทว่าโดยแท้ที่จริงแล้วนี่เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ทั้งในแง่เศรษฐกิจ-อุตสาหกรรม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ซีดี” นั้นได้แทรกซึมเข้าไปอยู่ในทุกครัวเรือนอย่างยาวนาน จนกลายเป็นฟอร์แมทดิจิตอลที่ผู้คนยอมรับและรู้จักกันมากที่สุด โดยแผ่นซีดีนั้นยังคงถูกผลิตออกมา แต่ก็ลดปริมาณลงมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการเพิ่มขึ้นของการดาวน์โหลดไฟล์เพลงดิจิตอล และเป็นที่น่าเชื่อได้ว่า ในช่วงเวลาไม่ถึง 1 ทศวรรษนับจากนี้ แผ่นเสียงอาจจะกลับมาผงาด และเป็นฟอร์แมทที่ยึดครองตลาดแทนแผ่นซีดีก็เป็นได้ ในฐานะของการเป็นฟอร์แมท “ที่จับต้องได้” ต่างจากการเล่นไฟล์เพลงดิจิตอล

ย้อนกลับมาดูที่ DENON ซึ่งเก่าก่อนเลยนั้น นับได้ว่าเป็นหนึ่งในจ้าวยุทธจักรสำคัญของวงการแผ่นเสียง ที่มีทั้งโรงงานผลิตแผ่น ผลิตอุปกรณ์ต่างๆ สารพัดอย่างครบวงจร ทั้งเครื่องเล่นแผ่นเสียงและหัวเข็มคุณภาพสูง ที่เคยได้ขึ้นชื่อระดับตำนาน ระบบขับเคลื่อนแบบมอเตอร์ต่อตรงอย่าง Direct Drive – DENON นี่แหละที่นับเป็นต้นตำรับ โดยพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในการแผ่กระจายเสียงระดับมืออาชีพ อย่างที่เรียกกันว่า โปรเฟสชั่นแนล (professional) จนกลายมาเป็นที่นิยมนำมาใช้ในบ้านเรือน (home-used) โดยมีระบบ Quartz-locked เป็นตัวควบคุมความแม่นยำของรอบหมุนให้เที่ยงตรงตามสปีดที่ปรับตั้งไว้ในขณะเล่นแผ่นเสียง

โดยทั่วไปสปีดในการเล่นแผ่นเสียงที่นิยมใช้งานในการรับฟังจะมีอยู่ 2 ระดับ ด้วยกันนั่นคือ 33 1/3 rpm (round per minute หรือรอบต่อนาที) กับที่ 45 rpm แต่ก็มีอยู่บ้างที่แผ่นเสียงบางอัลบั้มอาจจัดทำไว้ที่ระดับ 78 rpm ซึ่งจริงๆ แล้วความเร็วรอบหมุนขนาดนี้มักจะใช้สำหรับการเล่นแผ่นครั่งซะละมากกว่า ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นแผ่นไวนีล (vinyl) เช่นทุกวันนี้ ทว่ามีบางช่วงอยู่เหมือนกันที่บางสำนักทั้งของไทยและเทศก็ออกแผ่นเสียงไวนีลที่เล่นด้วยสปีด 78 สำหรับการเล่นกับแผ่นเสียงที่มีขนาด 10 นิ้ว ทว่าเนื่องด้วยความเร็วรอบหมุนที่สูงขนาดนั้นทำให้ในแต่ละหน้าของแผ่นเสียงสามารถบรรจุเพลงไว้ได้เพียงแค่เพลงเดียวเท่านั้น ประมาณสัก 3-4 นาทีเป็นอย่างสูง ความนิยมจึงเทียบไม่ได้กับสปีด 33 1/3 และ 45 รอบต่อนาทีอย่างที่กล่าว (เร็วๆ นี้ก็กำลังจะมีแผ่นเสียงเพลงไทยของค่าย Impression ขนาด 12 นิ้ว ที่ตัดแผ่นด้วยระดับความเร็วรอบหมุน 78 rpm ออกจำหน่ายเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกของบ้านเรา)

 Denon-DP-300-F

 

คุณลักษณ์

DENON “DP-300F” ก็นับเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงอีกรุ่นนึงที่จัดอยู่ในกลุ่มของระบบ Non-suspension ซึ่งได้รับการจัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ที่ปรารถนาการเล่นแผ่นเสียงอย่างเรียบๆ ง่ายๆ ทว่าในความเรียบๆ ง่ายๆ นั้นยังคงต้องสามารถให้คุณภาพเสียงที่ดีได้ในระดับนึง ซึ่งหมายถึง “ความคุ้มค่าต่อราคา” เป็นปัจจัยสำคัญ โดยที่โทนอาร์มบน “DP-300F” นั้นเป็นแบบ แขนตรง (straight type) ความยาว 9 นิ้ว และได้รับการติดตั้งหัวเข็มมาให้อย่างพร้อมสรรพจากโรงงาน โดยเป็นหัวเข็มแบบ MM (Moving Magnet) ซึ่งสามารถยืนยันได้ว่า ให้คุณภาพเสียงได้ “ดีกว่าที่ประเมินไว้” – มากทีเดียว จากการรับฟังจริง

 

แต่หากต้องการ “เปลี่ยน” ไปใช้หัวเข็มอื่น ก็สามารถกระทำได้ เพียงแต่ว่าต้องเลือกพิกัดน้ำหนักหัวเข็มที่จะนำมาใช้ให้อยู่ในช่วง 4.5-9.5 กรัม พร้อมการปรับตั้งค่าแรงกดหัวเข็มได้ในช่วง 0-4.0 กรัม ทั้งนี้ “DP-300F” ยังได้เอื้ออำนวยความสะดวกบวกความง่ายดายเอาไว้ให้ท่าน ในการ “สลับ-ปรับเปลี่ยน” หัวเข็มที่จะใช้ในยามต้องการ เพราะไม่ต้องมานั่งติดตั้ง หรือปรับตั้งค่าอะไรใดๆ ให้เหมาะสมกับหัวเข็มที่จะใช้เปลี่ยน เพราะทีมออกแบบ “DP-300F” ได้จัดแยกส่วนของ headshell (ใช้ติดตั้งหัวเข็ม) ให้สามารถถอดเปลี่ยนได้ (PCL-310BK) ไว้เสร็จสรรพ จึงเท่ากับว่า คุณสามารถที่จะมี headshell พร้อมหัวเข็มสะสมไว้ได้หลายๆ หัว เผื่อสำหรับการเลือกที่จะรับฟังเสียงจากหัวเข็มไหนได้ตามต้องการ และไม่ยุ่งยากแต่อย่างใด

 

ในส่วนของการเล่นนั้น DENON “DP-300F” มีปุ่มกดเพื่อเลือกสปีดที่จะใช้เล่นได้ 2 ระดับ (33 1/3 rpm กับ 45 rpm) พร้อมกับระบบควบคุมการทำงานอัตโนมัติ อย่างที่เรียกกันว่า Fully-automatic ร่วมกับการใช้ระบบขับเคลื่อนหมุนแพลตเตอร์แบบสายพาน (belt-drive) มิใช่แบบมอเตอร์ต่อตรง หรือDirect Drive อย่างที่ DENON นั้นใช้งานเช่นในอดีต ซึ่งในความเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ใช้ระบบขับเคลื่อนหมุนแพลตเตอร์แบบสายพานนั้น นับว่ามีความโดดเด่นอันเป็นยอมรับกันในเรื่องของ “การไม่ส่งต่อพลังงานแรงสั่นสะเทือน” จากมอเตอร์ที่ใช้ขับหมุนสู่ตัวแพลตเตอร์โดยตรง

 

ในขณะที่ระบบขับเคลื่อนแบบมอเตอร์ต่อตรง (Direct Drive) มักหนีไม่พ้น “ข้อครหา” ในเรื่องของมอเตอร์ที่ต่อแกนหมุนตรงสู่แพลตเตอร์โดยตรง ซึ่งหากไม่พิถีพิถันในการเลือกใช้มอเตอร์คุณภาพระดับสูง ถึงแม้จะมีระบบ Quartz-locked เป็นตัวควบคุมความแม่นยำของรอบหมุนให้เที่ยงตรงอันล้ำเลิศเพียงใดก็ตาม มอเตอร์ที่ใช้ขับหมุนก็ยังสามรถ “ส่งผ่าน” แรงสั่นสะเทือน (บางๆ จางๆ) เข้าสู่แพลตเตอร์ที่ใช้วางแผ่นเสียงได้ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพเสียงให้สามารถรับรู้ได้ ทำให้ในปัจจุบันระบบขับเคลื่อนหมุนแพลตเตอร์แบบ belt-drive นี้ได้รับความนิยมในวงกว้างมากยิ่งกว่าระบบขับเคลื่อนแบบ Direct Drive สืบเนื่องจากความราบเรียบระรื่นของรอบหมุน ที่ไร้ซึ่งอาการสะดุดเล็กๆ ถี่ๆ เป็นช่วงสั้นๆ นั่นเอง

 

ทั้งนี้ขอย้อนมาที่ระบบ Fully-automatic นั้นเป็นอย่างไร ขออนุญาตอธิบายไว้สักหน่อย เผื่อสำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่เคยได้รู้จักมักจี่กับฟอร์แมทการเล่นแผ่นเสียงมาก่อน นั่นคือเมื่อท่านกดปุ่ม ‘START’ เพื่อเริ่มใช้งาน ระบบการทำงานใน DENON “DP-300F” ก็จะสั่งการให้สตาร์ทการหมุนแท่นวางแผ่น หรือplatter ตามระดับความเร็วรอบหมุนที่ได้เลือกไว้ (33 1/3 rpm หรือ45 rpm) แล้วจากนั้นจะค่อยๆ เลื่อนโทนอาร์มมายังตำแหน่งเริ่มต้นแทร็คแรก และค่อยๆ วางหัวเข็มลงบนแทร็คแรกของแผ่นเสียงนั้น โดยที่การกำหนดตำแหน่งการวางหัวเข็มนี้จะสัมพันธ์กับการกดปุ่มเลือกขนาด หรือ SIZE ของแผ่นเสียงที่นำมาเล่น ว่าจะเป็นแผ่นขนาด 7 นิ้ว (อย่างที่มักเรียกกันว่า single) หรือว่า 12 นิ้ว (อย่างที่มักเรียกกันว่า LP – Long Play)

จนเมื่อการเล่นแผ่นเสียงดำเนินไปกระทั่งสิ้นสุดลงในแต่ละหน้า ระบบการทำงานใน DENON “DP-300F” ก็จะสั่งการให้ยกโทนอาร์มขึ้นจากร่องแผ่นเสียง แล้วค่อยๆ เคลื่อนกลับเข้าที่พักโทนอาร์ม หรือarmrest และยุติการหมุนแท่นวางแผ่นลงในทันที ทั้งหมดนี้เป็นไปโดยอัตโนมัติ ผู้ใช้จึงไม่ต้องพะวง หรือกังวลกับการเล่นจนหมดแผ่นในแต่ละหน้า ซึ่งนี่ช่วยให้การเล่นแผ่นเสียงสำหรับ “มือใหม่” หรือผู้ที่เพิ่งเริ่มจะสนใจในการเล่นแผ่นเสียงนั้น ได้รับความสะดวกสบายขึ้นถือเป็นเรื่อง “เอาใจ” ผู้ที่เพิ่งเริ่มจะสนใจในการเล่นแผ่นเสียงได้ใช้งาน “DP-300F” อย่างสุดแสนง่ายดาย

el_dp-300f_angle

 

ความโดดเด่น

แท้จริงแล้ว การเล่นแผ่นเสียงนั้นไม่ว่าจะเลือกใช้หัวเข็มรูปแบบใด ก็ยังจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ขยายสัญญาณหัวเข็มอย่างหนีไม่พ้น เนื่องเพราะในขั้นตอนการจัดทำแผ่นเสียงนั้น มีกระบวนการสำคัญอันเนื่องมาจากขีดจำกัดของ “ขนาดร่อง” (groove) บนตัวแผ่นเสียงเองอยู่ประการนึงนั่นคือ จำต้องลดขนาดของสัญญาณช่วงความถี่ต่ำลงไป เพื่อมิให้มี “ความแรง” ของสัญญาณมากเกินไปจน-ทะลุ-ร่องแผ่นเสียง ในขณะที่ช่วงความถี่เสียงสูงนั้นก็จำต้องขยายความแรงสัญญาณให้มี “ปริมาณ” ที่มากยิ่งขึ้น เนื่องจากความละเอียดอ่อนของสัญญาณในช่วงความถี่สูงนั่นเอง ที่เล็กกระจิ๊ดริดเสียจนกระทั่งรูปสัญญาณธรรมดานั้นไม่แรงพอจะไปสร้าง “รอยจารึก” เป็นอักขระเสียงบนร่องแผ่นเสียงได้อย่างปกติ จำต้องขยายสัญญาณให้แรงขึ้นจนเพียงพอต่อการจารึกลงบนแผ่นเสียง

ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวนี้มีมาตรฐานสากลเป็นตัวกำหนด ด้วยระบบ RIAA ที่เมื่อทำการ “เล่นกลับ” (playback) แผ่นเสียงด้วยหัวเข็มจะแบบใดก็ตามที ระบบ RIAA ที่มีผนวกอยู่ในภาคขยายสัญญาณหัวเข็มทุกยี่ห้อ ทุกรุ่น ทุกแบบจะทำหน้าที่สำคัญในการ “พลิกผัน” กระบวนการดังกล่าวข้างต้นให้มาเป็น “ตรงข้าม” นั่นคือ –กด-ปริมาณสัญญาณเสียงสูงลงมาให้อยู่ในระดับปกติ พร้อมๆ กับ-ยกระดับ (สร้าง)- ช่วงความถี่เสียงต่ำ (ที่ถูกตัดทิ้งไป) ให้กลับคืนมาเป็นเช่นปกติ ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งรูปสัญญาณที่ครบถ้วนตลอดทั้งช่วงย่านความถี่เสียงอย่างสมควรที่จะเป็น ก่อนที่จะนำสัญญาณที่ได้ออกมานั้นป้อนออกสู่วงจรภาคขยาย หรือamplified ต่อไป

ทั้งนี้ในตัวของ DENON “DP-300F” ได้มีวงจร RIAA ที่ว่านี้ผนวกอยู่เรียบร้อยแล้ว เพียบพร้อมต่อการรองรับสัญญาณจากหัวเข็มแบบ MM ได้ทันที โดยใช้ชื่อเรียกวงจรดังกล่าวนี้ว่า built-in equalizer (สามารถเลือก “เปิด-ปิด” [ON/OFF] การทำงานได้ แต่ในขั้นตอนการปรับตั้งก่อนส่งเครื่องออกจากโรงงาน สวิตช์นี้จะถูกปรับตั้งมาเป็น “ON” สำหรับทุกๆ เครื่อง)

นั่นทำให้ผู้ใช้ “DP-300F” สามารถนำสัญญาณขาออกของ “DP-300F” ไปป้อนตรงเข้าสู่ช่องเสียบรับสัญญาณขาเข้าแบบ Line Level ของแอมปลิไฟเออร์ได้โดยตรง (เหมือนๆ กับการเล่นซีดี หรือจูนเนอร์ หรือเทป) ไม่จำเป็นต้องหาอุปกรณ์ภาคขยายสัญญาณหัวเข็มมาใช้เพิ่มเติมอีก โดยที่หากว่า ปรับตั้ง built-in equalizer ไว้เป็น ‘ON’ ค่าความแรงสัญญาณขาออกของ “DP-300F” ก็จะอยู่ที่ระดับ 150 มิลลิโวลต์ แต่หากปรับตั้ง built-in equalizer ไว้เป็น ‘OFF’ ค่าความแรงสัญญาณขาออกของ “DP-300F” ก็จะอยู่ที่ระดับ 2.5 มิลลิโวลต์

เว้นแต่ว่า ท่านได้ทำการเปลี่ยนหัวเข็ม จากเดิมที่ติดตั้งมาจากโรงงาน ไปใช้งานเป็นหัวเข็มประเภท MC (Moving Coil) ซึ่งทำให้จำเป็นต้องมีการ “ขยาย” ความแรงสัญญาณให้มากขึ้นไปอีกระดับ เพราะสัญญาณที่ได้จากหัวเข็มแบบ MC นั้นจะ –ต่ำกว่า- สัญญาณที่ได้จากหัวเข็มแบบ MM นับเป็นร้อยเท่าทีเดียวเชียวละ อย่างนี้ก็จำเป็นที่ท่านจักต้องทำการ ‘OFF’ (ปิดการใช้งาน) วงจร built-in equalizer ในตัวของ “DP-300F” ไว้ แล้วใช้อุปกรณ์ขยายสัญญาณหัวเข็มแบบ Head Amp หรือStep-up Transformer สำหรับหัวเข็ม MC มาทำการขยายสัญญาณ ก่อนส่งผ่าน-นำไปใช้งานเสียบต่อเข้าสู่ช่องรับสัญญาณขาเข้าแบบ Line Level ของแอมปลิไฟเออร์นะครับพณฯท่าน

EL_DP-300F-PSilver_D

สมรรถนะทางเสียง

หลังจากติดตั้งและปรับตั้ง “DP-300F” ตามคำแนะนำในคู่มือ โดยที่ผมเลือกที่จะปรับตั้งค่าแรงกดหัวเข็ม อย่างที่เรียกกันว่า tracking force ไว้ที่ประมาณ 1.8 กรัม ทั้งยังมิได้ “ปิด” (OFF) การทำงานของ built-in equalizer ภายในตัวของ “DP-300F” ลงแต่อย่างใด เพื่อให้ “ตรงจุด” ที่สุดสำหรับการใช้งาน ตามที่ “DP-300F” ได้รับการออกแบบมา จากนั้นเริ่มต้นการรับฟังคุณภาพเสียงจากแผ่นไวนีลชุด Imagine ของ John Lennon (Toshiba/Apple Records : EAS-80705) เป็นประเดิม ซึ่งทั้งหัวเข็ม MM และ built-in equalizer ที่ได้ติดตั้งและผนวกการใช้งานไว้เสร็จสรรพของ “DP-300F” สามารถส่งมอบความทึมทึบของเสียงเปียโน steinway ที่ Lennon เล่นและบันทึกเสียงไว้ในขณะประพันธ์คำร้องของเพลงนี้ที่บ้านของเขา แตกต่างจากความสด-กระจ่าง และมีน้ำหนักของเสียงดนตรีชิ้นอื่นๆ อย่างเสียงเบส, กลอง และ กีตาร์ รวมทั้งวงออร์เคสตร้าที่เล่นคลออยู่เป็นฉากหลังลึกเข้าไปในเวทีเสียงซึ่งบันทึกเสียงกันในสตูดิโอ แล้วนำมามิกซ์รวมกับเสียงเปียโนและเสียงร้องของ Lennon ในภายหลังได้อย่างจะแจ้ง-สมจริง

 

ฟังแล้วคิดถึง The Beatles จึงขอต่อด้วย LP รวมฮิตชุด The Beatles Ballads (Toshiba/EMI Odean : EAS-91006) ซึ่งคัดสรรบทเพลงไพเราะของ The Beatles มาบรรจุไว้ถึง 20 เพลง เริ่มจากเพลง Yesterday ฟังแล้วสะท้อนอารมณ์เศร้าได้ซาบซึ้งใจ โดยที่ “DP-300F” สามารถบ่งบอกเสียงแปร๋งๆ ของกีตาร์ออกมาได้สด-กระจ่างมาก เสียงร้อง ฮู ฮู ฮู ก็ฟังดูแทบจะเห็นเป็นปากจู๋เลยทีเดียว เสียงร้อง, เสียงกลองและดนตรีอื่นๆ แยกกันอยู่คนละแชนแนลก็ยังให้บรรยากาศความโปร่งโล่ง (space) ของแต่ละชิ้นดนตรีได้อย่างดี ฟังแล้วเพลินใจในเพลงของอัลบั้มนี้จริงๆ ครับ

 

อารมณ์บรรเจิดนึกถึงสมาชิกสำคัญของ The Beatles อีกคนขึ้นมา “Paul McCartney” นั่นเอง ในอัลบั้มชุดสุดดัง Band On The Run อัลบั้มที่ได้รับการโหวตโดยนิตยสาร Rolling Stoneให้เป็นลำดับที่ 418 ของ The 500 Greatest Albums of All Time ในเพลงนี้จะได้ยินเสียงเคาะฉาบ cymbal เบาๆ อยู่ลึกเข้าไปในแชนแนลซ้าย เสียงกีตาร์เล่นอยู่ลึกเข้าไปในแชนแนลขวา เสียงซินธีไซเซอร์อยู่ลึกเข้าไปตรงกลางของเวทีเสียง และเสียงร้องของ McCartney อยู่ข้างหน้ากึ่งกลางวงเวทีเสียงชัดเจน พอจังหวะเพลงเข้าสู่ท่อนเร่งเร้า สารพัดเสียงดนตรีที่ประเคน-ประโคมขึ้นมาก็แจ่มชัดให้ความซะใจ โดยที่สภาพเวทีเสียงยังคงไม่เปลี่ยนแปลง …. “DP-300F” ทำได้แจ่มมากครับ

 

ทีนี้หันไปหาแนวเพลงแจ๊สจากบรมครูของวงการนาม Dave Brubeck ดูบ้าง ซึ่งผมหยิบจับเอาผลงานชุดสุดดังที่นักฟังจักต้องมี อัลบั้มชุด Time Out นั่นเอง (ชุดนี้ผมมีแผ่นของสังกัด CBS/SONY ที่จัดทำแผ่นนี้ไว้ในปีคศ.1969 โดยใช้หัวตัดแผ่นสุดพิเศษ “SX 68” ของ NEUMANN แห่งเยอรมนี มีรหัสแผ่น SONP 50129) กับต้นตำรับเพลง Take Five บอกได้คำเดียวครับว่า “ลั่น” จริงๆ ครับ “DP-300F” จำแนกความแตกต่างจากธรรมดาออกมาชัดเจน เสียงกลองเล่นคุมจังหวะอยู่ขวา เสียงเปียโนก้องกังวานอยู่ซ้าย ในขณะที่เสียงเบสและแซกโซโฟนอยู่ตรงกลางของวงเวทีเสียง แล้วก็ถึงกับขนลุก เมื่อ “DP-300F” ทำให้ได้ยินสำเนียงเสียงบาริโทน แซกฯของ Mulligan เป่าออกมาเป็นเสียงฟังว่า “You’ve Come Home” ตามชื่อเพลง ชัดเจนมากๆ …ทึ่งเลยละครับ

 

“DP-300F” ทำให้คุณต้องคิดมากเรื่องราคา เพราะว่าถูกมากๆ เมื่อเทียบกับสมรรถนะและคุณภาพเสียงที่ได้รับ …ไปต่อด้วยการรับฟังด้วยเพลง Hey Jude ที่ศิลปินผู้หลงใหลในขลุ่ยญี่ปุ่น “John KAISON Neptune” ได้นำมาปรับทำเป็นเพลงบรรเลงสุดไพเราะเกินบรรยาย บรรจุไว้ในอัลบั้มชุด KAISAN ของสังกัด DAM Records สำเนียงเลียง หวานใส เยือกเย็นของ shakuhachi จากการเป่าของ Neptune ให้ความเป็นตัวเป็นตน มีมวลมีน้ำหนักเสียง ได้ยินแม้กระทั่งเสียงลมที่ไหลรั่วออกมาจากรูขลุ่ย

 

กับเพลง Explore ในหน้าแรกของแผ่น KAISAN นี้แหละ “DP-300F” ได้บ่งบอกถึงสรรพคุณความพิเศษของแผ่นในสังกัด DAM Records ที่นอกจากจะมีมวลบรรยากาศเสียงในห้องบันทึกเสียงแล้ว ตำแหน่งแห่งที่ของเสียงจากชิ้นดนตรีต่างๆ ยังกระจ่างชัดในวงเวทีเสียงที่กว้างขวาง รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างเสียงเคาะเพอร์คัสชั่นตรงนั้นตรงนี้ก็ผุดโผล่ขึ้นมาอย่างทันทีทันใด ฉับไวมาก

 

เมื่อรับฟังจากแผ่น LP ชุด “Moreover” (The Great Jazz Trio : East Wind Records หมายเลขแผ่น 27PJ-1003) ทำเอาตัวเราจมกลืนเข้าไปในบรรยากาศลาตินผสมกลิ่นอายของบลูส์จนอดไม่ได้ที่จะกระดิกเท้าและดีดนิ้วมือตาม จนต้องหยิบเอาชุด “I’m Old Fashioned” อีกหนึ่งผลงานของวงนี้ (East Wind Records หมายเลขแผ่น EW-8037) ที่มี Sadao Watanabe ร่วมเป่าแซกฯด้วยมาฟังต่อเนื่องกัน “DP-300F” สามารถเปิดเผยรายละเอียดเสียงต่างๆ ในช่วงย่านเสียงกลางได้อย่างโดดเด่นมีชีวิตชีวา ได้ยินเสียงลมเป่าพ่นออกมาเบาๆ แจ่มชัด พร้อมด้วยสมรรถนะการแยกแยะตำแหน่งชิ้นดนตรี 3-4 ชิ้นที่แยกเป็นอิสระ ในขณะที่ให้ความเปิดโปร่งของมวลบรรยากาศในสถานที่แสดง

 

แล้วก็ต้องรู้สึกทั้งอึ้งและทึ่งพร้อมๆ กัน เมื่อหยิบจับเอา “folk singer” ผลงานการบันทึกเสียงที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดของ Muddy Waters ซึ่ง Classics Records นำเอาผลงานของ Chess Records มาทำการตัดแผ่นใหม่ และปั้มบนแผ่นไวนีล 200 gram “Quiex SV-P” (หมายเลขแผ่น LPS 1483) มาเปิดฟัง …ไม่น่าเชื่อว่า “DP-300F” จะถ่ายทอดเสียงอวบใหญ่มีน้ำหนักของ Muddy Waters ได้ราวกับว่า Muddy Waters มานั่งอยู่ต่อหน้าเรา ราวตัวเราได้เข้าไปนั่งฟัง Muddy Waters ขณะกำลังทำการบันทึกเสียงอยู่กระนั้น เสียงสูดลมหายใจ เสียงเกากีตาร์ เสียงกระตุกสายเบสยืน รวมถึงบรรยากาศของห้องที่บันทึกเสียงนั้นชัดเจนมาก ทั้งยังได้ยินเสียงใครก้าวเท้าเดินเบาๆ ออกมาด้วยละ

 

เสียงเป่าแซกฯของ John Klemmer จากแผ่น “Finesse” ที่ตัดมาสเตอร์สดๆ แบบไดเร็กต์-คัท (Nautilus Records หมายเลขแผ่น NR 22) ให้เสียงมวลอากาศที่ถูกเป่าพ่นออกมา ขนาดที่ว่าได้ยินเสียงน้ำลายน้อยๆ เข้าไปขังอยู่ในลิ้นเสียงของแซกโซโฟนอย่างสมจริง และกระทั่งเสียงฟาดแซ่ลงไปบนฉาบอย่างฉับพลันก็เปล่งประกายออกมาฉับพลัน ให้พลังไดนามิกแห่งเสียงจากแผ่น direct-cutting ได้ครบชัดมาก ยิ่งฟังยิ่งเพลิดครับสำหรับอัลบั้มนี้

 

แม้กระทั่งการบรรเลงออร์เคสตร้าวงใหญ่ที่ประโคม-คำรนอย่างแผ่น Andrew Powell & The Philharmonia Orchestra Play The Best of The Alan Parson Project (Mobile Fidelity Records หมายเลขแผ่น MFSL 1-175) “DP-300F” ก็ยังให้เสียงที่มีมิติ มีตัวตน มีห้วงอารมณ์ความรู้สึกของดนตรี มีความเป็นธรรมชาติของเสียงแต่ละเสียงที่บังเกิดขึ้นมาอย่างมีชีวิตชีวา สามารถจับตำแหน่งการแยกแยะแถว-ชั้นของเสียง พร้อมด้วยความโปร่งโล่งในมวลบรรยากาศ

 

กระทั่งว่าสารพัดเสียงสอดแทรกต่างๆ จากแผ่น “I Robot” ผลงานของ The Alan Parson Project (Mobile Fidelity Records หมายเลขแผ่น MFSL 1-084) ก็ถูก “DP-300F” บ่งบอกออกมาราวกับรายรอบตัวเรา มันจะแจ้งมากๆ สะอาดสะอ้านและแจ่มชัดให้ทิศทางที่มาของเสียงนั้นๆ ขอย้ำทิ้งท้ายไว้อีกครั้งว่า อย่าได้ดูแคลน “DP-300F” อันเนื่องมาจากระดับราคา แต่ขอให้ได้ฟัง “DP-300F” อย่างพินิจพิจารณา แล้วคุณจะรู้ว่า การเริ่มต้นเล่นแผ่นเสียง ด้วยการเลือกใช้ “DP-300F” เป็นแหล่งกำเนิดสัญญาณต้นทางนั้น “น่าทึ่ง” มาก จน-เกินคาด-ขนาดไหน บวกกับความสะดวกสบายในการใช้งานที่ได้รับ เทียบกับเงินตราที่จ่ายออกไป คุ้มค่ามากจริงๆ …ขอฟันธงครับ

ขอขอบคุณบริษัท มหาจักรดีเวลอปเมนท์ จำกัด โทร. 0-2610-9671-2 ที่เอื้อเฟื้อเครื่องมาให้ทดสอบ