Test Report: Denon CEOL-Series N8

0

Test Report: Denon CEOL-Series N8

Network CD Receiver

พิพัฒน์ คคะนาท

 denon-ceol-rcd-n8-4

ชุดเครื่องเสียงประเภทที่เรียกว่า Mini หรือ Micro Audio System น่าจะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยเฉพาะกับชุดประเภทที่เป็นแบบแยกชิ้น คือแยกลำโพงออกจากเครื่องอีเล็คทรนิคส์ โดยอิเล็กทรอนิกส์นั้นมักจะเป็นแบบชิ้นเดียวที่รวมสื่อความบันเทิงอย่างหลากหลายเอาไว้ในหนึ่งเดียว แบบว่าเล่นเพลงจากซอฟต์แวร์ อาทิ แผ่นซีดี-ออดิโอได้ ผนวกภาครับจูนเนอร์ในตัวเพื่อว่าสามารถรับฟังข่าวสาร หรือรายการบันเทิงจากคลื่นความถี่ของสถานีวิทยุได้ เป็นต้น

ซึ่งน่าจะเป็นรูปแบบของการเล่นเครื่องเสียง – ในความหมายของการฟังเพลง – – สำหรับใครที่ออกจะเอาจริงเอาจัง หรือว่าพิถีพิถันในเรื่องของเสียงมากกว่าปกติสักเล็กน้อย

ที่บอกว่าออกจะเอาจริงเอาจัง หรือว่าพิถีพิถันในเรื่องของเสียงมากกว่าปกติสักเล็กน้อย, นั้น ก็เนื่องเพราะแม้ปัจจุบันสื่อความบันเทิงประเภทชิ้นเดียวที่สามารถให้ความสุนทรีย์จากเสียงดนตรีได้อย่างมีคุณภาพ เช่น ลำโพงบลูทูธ หรือ Bluetooth Speaker ที่รองรับการใช้งานได้อย่างสะดวกผ่านทางการเล่นแบบ Streaming Audio ก็ตาม แต่กับใครบางคนแล้วยังต้องการคุณภาพเสียงที่เหนือไปกว่าการให้บรรยากาศเสียงดนตรีชั้นดี เช่นที่ลำโพงบลูทูธคุณภาพสูงประเภทชิ้นเดียวส่วนใหญ่สามารถให้ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม

คุณภาพเสียงที่ว่าเหนือไปกว่าก็คือการแยกแยะเสียงสเตรีโอ ซ้าย/ขวา ที่สามารถสัมผัสได้อย่างมีอรรถรสจากลำโพงคู่สเตรีโอ ซ้าย/ขวา การได้รับรู้ถึงมิติ เวทีเสียง ตลอดจนตำแหน่งแห่งหนของชิ้นเครื่องดนตรีที่สัมผัสได้นั้น สำหรับใครบางคนแล้ว – นั้น, คือความอิ่มเอมในการได้เสพสุนทรียรสจากเสียงดนตรีอย่างแท้จริง

ซึ่งนั้นเป็นสิ่งที่ลำโพงสเตรีโอแบบบลูทูธชิ้นเดียวที่แม้จะมีคุณภาพสูงปานใด ก็ยากที่จะให้ออกมาเสมอได้ เพราะข้อจำกัดของโครงสร้างตู้นั่นเอง นอกจากบางรุ่น อาทิ JBL Authentic L16 ที่ได้เคยลองเล่นแล้วนำมาเล่าสู่กันฟังเมื่อสักปีกว่าที่เพิ่งผ่านพ้น เนื่องเพราะแม้จะเป็นลำโพงแบบ Wireless Streaming ชิ้นเดียว แต่การออกแบบนั้นมีลักษณะเป็น Three-Way Speaker System เสมือนมีลำโพงสเตรีโอ ซ้าย/ขวา อยู่ในโครงสร้างเดียวกันที่เป็นแบบตู้นอนยาว ที่สามารถให้ภาพลักษณ์ของเสียงในความหมายของ Stereo Sound ออกมาได้อย่างน่าทึ่งมาก

กลับมาที่ชุดเครื่องเสียงแบบ Mini/Micro Audio System กันต่อ ที่บอกว่ากำลังกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยเฉพาะกับผู้ที่พิถีพิถันในการเล่นเครื่องเสียง ก็เนื่องเพราะด้วยชีวิตของผู้คนสมัยใหม่ หรือประดาชาว Urbanista นั้น ส่วนใหญ่มักจะอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมที่เกาะเกี่ยวไปกับ Mass Transit ซึ่งพื้นที่ภายในห้องพักที่แม้จะเป็นแบบ Studio ก็มีราคาค่างวดสูงลิ่ว ที่ทุกวันนี้แทบจะขายกันเป็นตารางฟุตแล้ว เพราะฉะนั้นแต่ละตารางนิ้วภายในห้องจึงต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นั้นเองที่ทำให้การเล่นเครื่องเสียงแบบเดิมๆ ที่แม้จะเป็นสเตรีโอ ซิสเต็ม แบบแยกชิ้นชุดเล็กๆ ที่แม้จะใช้ลำโพง Bookshelf ขนาดวูฟเฟอร์ 6 นิ้ว ก็ยังต้องใช้พื้นที่สิ้นเปลืองไม่น้อยเลย

ทางออกก็คือต้องมองหา Mini/Micro Audio System คุณภาพสูงๆ มาใช้นั่นเอง

และกับชุดเครื่องเสียงที่นำมาพูดคุยเล่าสู่กันฟังเที่ยวนี้ คือ Denon CEOL-Series N8 นับเป็นหนึ่งในไม่กี่ชุดของเครื่องเสียงประเภทสเตรีโอ ซิสเต็ม ที่สามารถตอบโจทย์ที่ว่านั้นได้อย่างลงตัวยิ่ง

คือด้วยรูปลักษณ์และขนาดอันกะทัดรัดนั้น นอกจากจะสามารถหาที่ตั้งวางได้อย่างเหมาะสมภายในห้องที่มีพื้นที่ค่อนข้างจำกัดแล้ว ยังให้ประสิทธิภาพการทำงานอันยอดเยี่ยม ที่นำมาซึ่งคุณภาพเสียงอันน่าฟังยิ่งนัก

 denon-ceol-rcd-n8-2

Denon CEOL-Series

Mini/Micro Stereo System

CEOL-Series ของ Denon เป็นชุดเครื่องเสียงขนาดกะทัดรัดในอนุกรมที่มีความหมายว่า ‘เพลง’ ตามภาษาไอริช ออกแบบมาเพื่อเน้นการให้เสียงดนตรีที่สดใส มีชีวิตชีวา ขณะเดียวกันก็แฝงความเป็นธรรมชาติของความเป็นดนตรีเอาไว้อย่างครบถ้วน

เจตนารมณ์ในการรังสรรค์ CEOL-Series นั้น Denon ต้องการให้เป็นชุดเครื่องเสียงที่รองรับการใช้งานของผู้คนรุ่นใหม่ได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งในแง่ของความสามารถในการรองรับการใช้งานด้านเสียงดนตรีได้อย่างหลากหลาย ขณะเดียวกันก็เป็นชุดเครื่องเสียงที่ให้ความสะดวกในการใช้งานอย่างยิ่งยวด ชนิดที่มิพักต้องเสียบต่ออะไรอื่นให้วุ่นวาย นอกจากการเดินสายลำโพงจากเครื่องอีเล็คทรอนิคส์ไปยังตู้ลำโพงเท่านั้นเอง

กล่าวสำหรับ CEOL-Series N8 ที่เห็นนี้ ได้ถูกออกแบบมาเป็นสื่อดนตรีในลักษณะที่เรียกว่า Network CD Receiver ซึ่งนั่นหมายความว่านอกจากรองรับการเล่นแผ่น CD-Audio พร้อมผนวกภาครับวิทยุ FM Stereo ในตัวแล้ว ยังสามารถรองรับการใช้งาน Internet Radio ทั้งแบบการเชื่อมต่อไร้สายผ่าน LAN Wi-Fi และผ่านทางสาย Ethernet ได้อย่างสะดวกและให้ความคล่องตัวสูง อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้นำ Digital Source และ Analogue Source ภายนอกมาต่อใช้ใช้งานร่วมได้อีกอย่างละชุด ผ่านทางช่องเสียบอินพุทที่แผงหลังเครื่อง

โดยที่แผงหน้าเครื่องยังมีอะนาลอก อินพุท แบบ Mini-Jack 3.5 mm สำหรับให้นำเครื่องเล่นพกพาจำพวก Media Player มาต่อเล่นได้ด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมี USB Port ให้สำหรับนำไฟล์เพลงที่เก็บไว้ใน USB Device มาเสียบต่อเพื่อเล่นกลับได้อย่างสะดวกผ่านพอร์ททางด้านหน้าของแผงหน้าปัด

อีกทั้งบนฝาหลังเครื่องยังออกแบบให้มีลักษณะเป็น iDocking เพื่อนำอุปกรณ์อย่าง iPod และ iPhone มาตั้งวางเพื่อใช้งานร่วมได้อย่างคล่องตัวมาก

ซึ่งจะเห็นได้ว่าภายใต้ภาพลักษณ์และขนาดที่ค่อนข้างกะทัดรัดนั้น CEOL-Series N8 ของ Denon ซิสเต็มนี้สามารถรองรับการใช้งานเพื่อการเล่นเพลงได้อย่างหลากหลายมากจริงๆ

ครับ, ทั้งหมดนั้นคือภาพรวมของ Mini/Micro Stereo System ชุดนี้

denon-ceol-rcd-n8-7

CEOL-Series N8

Network CD Receiver

แม้จะมีภาพลักษณ์เป็นซิสเต็มแบบกะทัดรัด แต่ทั้งเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ที่เปรียบได้กับ Head Unit กับชุดลำโพงซ้าย/ขวา ต่างแยกบรรจุกล่องกัน ไม่ได้รวมเป็นบรรจุภัณฑ์กล่องเดียวเหมือนซิสเต็มส่วนใหญ่ที่เป็นประเภทเดียวกัน ซึ่งแต่ละกล่องที่แยกบรรจุนั้นมีโฟมกันกระแทกป้องกันเอาไว้อย่างแน่นหนา

ในกล่อง Head Unit ที่บรรจุเครื่อง Model RCD-N8 เอาไว้ นอกจากตัวเครื่องแล้วยังมีรีโมทคอนโทรล ที่มีขนาดค่อนช้างยาว (เกือบเท่าความยาวแผงหน้าปัดเครื่อง) อีกหนึ่งชิ้น กับสายไฟ AC แบบถอดแยกได้ (แต่ไม่ได้เป็นแบบมาตรฐาน IEC) อีกหนึ่งชุด

ส่วนภายในกล่องบรรจุลำโพงนั้น นอกจากมีชุดลำโพง Model SC-N8 แล้ว ยังมีสายลำโพงแบบแกนเดี่ยวให้อีกหนึ่งชุด โดยแต่ละเส้นมีความยาวประมาณ 1.50 เมตร

โครงสร้างเครื่องและลำโพงมีภาพลักษณ์ภายนอกเหมือนกัน คือเป็นแบบ Glossy Black หรือผิวดำเป็นเงามันวาวมะเมื่อม แลดูโดดเด่นและให้ความรู้สึกหรูหราดี แผงหน้าปัดทั้งเครื่องและลำโพงเป็นแบบโค้งเว้าไปด้านหลังด้วยองศาความโค้งระดับเดียวกัน รวมทั้งต่างมีมิติสัดส่วนของโครงสร้างที่ล้อรับกันอย่างลงตัว โดยความสูงของลำโพงนั้นประมาณสองเท่าของความสูงตัวเครื่อง ขณะที่ความยาวของแผงหน้าปัดเครื่องนั้น ประมาณได้กับสองเท่าของความกว้างของแผงหน้าลำโพง ขณะที่ความลึกของลำโพงนั้นประมาณ สองในสามของความลึกตัวเครื่อง

จากภาพรวมภายนอกทั้งตัวเครื่องและชุดลำโพงที่เห็น บ่งบอกความประณีตพิถีพิถันของงานฝีมือที่เอาใจใส่ในการกอปรกันขึ้นมาเป็นเครื่อง เป็นลำโพง ได้เป็นอย่างดี

แผงหน้าปัดของ Model RCD-N8 ตรงกึ่งกลางตอนล่างเป็นแผงดิสเพลย์ขนาดใหญ่ กินพื้นที่เกือบครึ่งของความสูง เหนือแผงดิสเพลย์ขึ้นไปป็นถาดรับแผ่นแบบเลื่อนออก/เข้า ด้านซ้ายมือของช่องถาดรับแผ่นในระนาบเดียวกันนั้น มีปุ่มกดสองปุ่ม ปุ่มหนึ่งเป็นปุ่มกดเปิด/ปิดเครื่อง อีกปุ่มที่ถัดเข้ามาด้านในเป็นปุ่มกดเลื่อนถาดรับแผ่น ส่วนที่มุมซ้ายตอนล่างของแผงหน้าปัดมีปุ่มกดเลือก Source กับพอร์ท USB ซึ่งอยู่ใต้ปุ่มเลือกแหล่งโปรแกรม

ทางด้านขวาของแผงหน้าปัดเครื่องในแนวระนาบเดียวกับช่องถาดรับแผ่นนั้น เป็นปุ่มกดวงกลมแบบ Cursor สี่ทิศทาง คือเลื่อนไปซ้าย/ขวา และเลื่อนขึ้น/ลง ส่วนกึ่งกลางวงกลมนี้เป็นปุ่มกด Enter รวมทั้งใช้เป็นปุ่มกด Play/Pause ขณะเล่นแผ่นซีดี-ออดิโอ ถัดลงมายังมุมล่างของแผงหน้าปัดด้านนี้ มีปุ่มกดเร่ง/ลดระดับความดังเสียง และใต้ปุ่มทั้งสองเป็นช่องเสียบขนาด 3.5 มิลลิเมตร สองช่อง ช่องแรกเป็นอินพุทสำหรับเครื่องเล่นพกพา อีกช่องเป็นเอาท์พุทสำหรับเฮดโฟน

สำหรับที่แผงหลังของเครื่องไล่เรียงจากด้านซ้ายไปขวา ประกอบไปด้วยเสียบเสียบสาย AC In ขั้วเสียบต่อสายลำโพงแบบ Binding-Post ที่เป็นแบบคุณภาพสูง และแลดูมั่นคงแข็งแรงดี ถัดไปเป็น Sub-Woofer Out สำหรับเพิ่มพลังเสียงในย่านความถี่ต่ำด้วย Active Sub-Woofer จากนั้นก็เป็นปุ่มกด WPS (Wi-Fi Protected Setup) ถัดออกไปเป็นอินพุทแบบ RCA สำหรับแหล่งโพรแกรมอะนาลอก และ Optical Digital Input อีกหนึ่งชุดสำหรับเชื่อมต่อกับ Digital Source ส่วนอีกสองช่องสุดท้ายที่แผงหลังเครื่อง คือ Network สำหรับเสียบสาย Ethernet และขั้วเสียบเสาอากาศ FM แบบโคแอ็กเชียล 75 โอห์ม

ส่วนที่ด้านบนของตัวถังเครื่อง หรือที่เรียกกันว่าฝาหลังเครื่องนั้น ที่กึ่งกลางเซาะร่องเปิด/ปิดได้แบบกด ซึ่งเมื่อกดเปิดก็จะเห็นขั้วเสียบแบบ iDocking สำหรับใช้กับ iPod และ iPhone

สำหรับลำโพง Model SC-N8 นั้นเป็นลำโพงแบบสอง-ทาง ทำงานในระบบ Bass Reflex โดยมีพอร์ทหรือท่ออากาศขนาด 1-1/10 นิ้ว (โตกว่าเหรียญ 10 บาท เล็กน้อย) ที่กึ่งกลางตอนบนของแผงหลัง เหนือขั้วต่อสายลำโพงที่เป็นแบบ Binding-Post คุณภาพสูง ไดรเวอร์ที่ใช้ประกอบไปด้วยวูฟเฟอร์ ขนาด 4-3/4 นิ้ว และ Dome Tweeter ขนาด 1 นิ้ว จัดวางโดยเรียงตัวกันในแนวดิ่ง ให้การทำงานตอบสนองความถี่ 70 Hz – 20 kHz อิมพีแดนซ์ปกติ 6 โอห์ม โครงสร้างตู้ขึ้ยรูปด้วย MDF : Medium-Density Fiberboard

อย่างไรก็ตาม ลำโพงชุดนี้สามารถให้การทำงานในแบบตู้ปิดได้ เพราะที่พอร์ทด้านหลังนั้นมีแท่งฟองน้ำทรงกลมเนื้อละเอียดปิดเอาไว้ เพื่อให้เลือกใช้ว่าจะให้ลำโพงทำงานแบบตู้ปิด หรือเป็นแบบตู้เปิด (เมื่อดึงแท่งฟองน้ำออก) ในระบบ Bass Reflex

กล่าวสำหรับคุณสมบัติโดยภาพรวมของ Denon CEOL-Series N8 พอจะสรุปโดยสังเขปได้ว่า เป็นเครื่อง CD Receiver ที่สามารถเชื่อมต่อกับ iPod, iPhone ด้วยขั้วต่อ Docking บนฝาหลังเครื่อง ใช้รับฟัง Internet Radio หรือ Online Music ได้อย่างรวดเร็วด้วยการเชื่อมต่อทางสาย Ethernet หรือเชื่อมต่อแบบไร้สายผ่าน LAN Wi-Fi รองรับ Denon Remote App เพื่อใช้ iPhone หรือ iPod ควบคุมการทำงานของเครื่อง อีกทั้งยังสามรารถรองรับ AirPlay เมื่อเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ทั้ง Mac และ PC ที่อยู่ในวง LAN เดียวกัน ทำให้สามารถส่งไฟล์เพลง ไฟล์ดนตรี ที่มีอยู่ใน iTunes เข้ามายังเครื่องได้อย่างรวดเร็ว มีภาครับวิทยุ FM Stereo มีพอร์ท USB สำหรับเล่นเพลงที่มีในอุปกรณ์พกพาแบบ USB Device ได้อย่างสะดวก ภาคแอมปลิไฟเออร์ให้กำลังขับ 65W/Ch@4-Ohm, 1 kHz

รองรับไฟล์เสียงด้วยความละเอียดสูงสุดที่ระดับ FLAC 192 kHz/24-bit

ภายในออกแบบวงจรด้วยหลักการ Simple & Straight คือเรียบง่ายที่สุด และใช้ทางเดินสัญญาณสั้นที่สุด ซึ่งนอกจากจะให้การทำงานที่ถูกต้อง มีความเที่ยงตรงสูงแล้ว ยังปลอดการสูญเสียของสัญญาณอีกด้วย

และแม้โดยภาพรวมแล้วจะแสดงให้เห็นว่า Denon CEOL-Series N8 เป็นซิสเต็มที่สามารถให้การทำงานได้อย่างหลากหลายนั้น เราก็อาจเรียกเครื่องเสียงชุดนี้ว่าเป็นซิสเต็มที่ ‘พร้อมเล่น’ อย่างสะดวกและง่ายดายแบบ Plug & Play ได้เช่นกัน

denon-ceol-rcd-n8-5

CEOL-Series N8

กับ Nighthawk X6

ก่อนอื่นต้องบอกว่าเป็นความโชคดีของผม ที่หลังจากได้ลองเล่นเพลงในอากาศ จากการใช้งานผ่านไอ้เจ้า ‘ยานแม่’ เหยี่ยวราตรี หรือ Nighthawk X6 AC3200 ที่เป็นรหัสเฉพาะของ Netgear R8000 Tri-Band Wi-Fi Router แล้ว ยังไม่ทันได้ถอดเก็บลงกล่องเพื่อส่งกลับคืน ก็ให้บังเอิญได้ CEOL-Series N8 ชุดนี้มาลองเล่นต่อ

ทำให้มีโอกาสได้ลองเล่น ลองฟัง Internet Radio จากชุดเครื่องเสียงของ Denon ที่ทำงานกับเราเตอร์ตัวนี้ (อีกครั้ง) เพื่อดูว่าประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันของทั้งคู่เป็นอย่างไรบ้าง

จากแต่เดิมที่ลองเราเตอร์เล่น On-Line Music จาก NAS เป็นหลัก คราวนี้เสมอด้วยการลองเราเตอร์กับเพลงออน-ไลน์จากสถานีวิทยุดูบ้าง ว่าเป็นอย่างไร เพราะเงื่อนไขในการให้เสียงเพลง เสียงดนตรี ออกลำโพงจากต้นทางทั้งคู่นั้น ออกจะแตกต่างกันมากนะครับ เพราะแม้ว่าจะเป็นออน-ไลน์เหมือนกัน แต่ฟังจากวิทยุมันจะมีหลากหลายปัจจัยในการที่ทำให้คุณภาพเสียงด้อยลงไป

และประสิทธิภาพของเราเตอร์ก็นับเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่ง ซึ่งหากจะว่าสำคัญอย่างยิ่ง, ก็คงไม่ผิดนัก

สำหรับการลองเล่นหนนี้ต้องขอออกตัวก่อน ว่าแรกๆ นั้นผมค่อนข้างขลุกขลักเอาการ เพราะชุดเครื่องของ Denon ที่ได้มาเที่ยวนี้ สภาพบ่งบอกว่าน่าจะผ่านการใช้งานมาพอประมาณ ซึ่งนั้นนับเป็นการดีประการหนึ่งสำหรับผมที่ไม่ต้องเสียเวลารอการเบิร์นเครื่อง ด้วยเห็นอย่างนี้แล้วเชื่อได้ว่าพอเปิดปุ๊บก็สามารถฟังเอาการเอางานได้เลยทันที

แต่ที่บอกว่าขลุกขลักก็เนื่องเพราะไม่มีคู่มือการใช้งาน หรือ Owner Manual ให้มาด้วยน่ะซีครับ เรื่องของเรื่องก็เลยต้องใช้เวลาเปิดไป คลำไป นับนานก็มากชั่วโมงโขอยู่เหมือนกันล่ะครับ กว่าจะพอจับทางได้เป็นเงาๆ ว่าควรจะเริ่มต้นอย่างไร, โดยเฉพาะกับการเล่น Internet Radio เพราะการเข้าถึงเมนูต่างๆ แต่ละค่ายต่างก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันไป

อย่างไรก็ตาม ก่อนอื่นก็ต้องขอชื่นชม Head Unit ตัวนี้ก่อน ว่าเป็นเครื่องรุ่นใหม่ที่มีมารยาทใช้ได้เลย เพราะไปลามาไหว้แบบเปิดเครื่องก็มีตัวหนังสือ Hello ขึ้นมาทักทายบนจอดิสเพลย์ และเมื่อกดกสวิตช์ปิดการทำงานของเครื่องก็ขึ้นคำว่า Good-bye แล้วค่อยจางหายไป ต้องบอกว่าเป็นเครื่องที่ถูกสั่งสอนมาดีครับ (5-5-5)

หลังจากพอจะจับทางกดโน่น นี่ นั่น ว่าเครื่องไปทางไหน ทำอะไร เล่นอย่างไรได้บ้างแล้ว ผมก็เข้าสู่วิทยุอินเทอร์เน็ตก่อนเลย เพราะไหนๆ ก็ไหนๆ เราเตอร์ ‘ยานแม่’ ที่ถูกเสียบค้างไว้ทำหน้าที่เป็น Wireless AP (Access Point) ตั้งแต่คราวเอามาเล่นเพลง ก็เปิดมาตั้งแต่เช้าแล้ว ซึ่งหลังจากกด Enter ว่าจะเล่นนี่ละ แผงดิสเพลย์ก็เปลี่ยนจาก Internet Radio ไปเป็น Wait for network searching….. แต่พูดก็พูดเถอะนะครับ แรกที่หน้าจอเปลี่ยนนั้นผมอ่านไม่ทันดอกนะครับ คือเห็นแค่คำว่า Wait for แล่นขึ้นมาบนหน้าจอแว้บๆ ละสายตาหน่อยเดียว ยังไม่ทันเห็นคำว่าอะไรวิ่งตามมาเป็นภาษาให้อ่านได้ ชั่วแค่ละสายตาไปหยิบรีโมทคอนโทรล แล้วหันกลับมา ปรากฏว่าชื่อวง LAN ที่ผมตั้งเอาไว้ก็ปรากฏหราบนหน้าจอแล้ว

ซึ่งนั้นแสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพการส่ง หรือกระจายสัญญาณ จากเราเตอร์ต้องมาแรงแบบ ‘จัดเต็ม’ ทีเดียว ถึงได้เจอเร็วอย่างนั้น ซึ่งทำให้ผมอดจะตะหงิดใจไม่ได้ ว่าแล้วที่หน้าจอบอกให้รอตอนแรกนั้น มัน Wait for… อะไรหรือ และใช่อย่างที่ใจคิดหรือเปล่า

สุดท้ายอดรนทนความอยากรู้ไม่ได้ ผมก็เลยเดินไปปิดต้นทางซะเลย แล้วมาดูที่หน้าจอใหม่จนได้ความอย่างที่บอกเอาไว้ข้างต้น ว่า ‘รอการค้นหาเครือข่าย’ นั่นเองครับ แล้วจากนั้นสักพักใหญ่ๆ บรรดาเครือข่ายข้างเคียง (เน็ตของข้างบ้านนั่นแหละครับ) ก็ค่อยๆ โผล่มาให้เห็นทีละชื่อ ทีละชื่อ ให้พอหายตะหงิดใจ ก็เลยกลับไปกดสวิตช์เปิดต้นทางใหม่ เพื่อให้ Nighthawk X6 AC3200 หรือ Netgear R8000 ทำหน้าที่เป็น WAP ต่อไป

หลังจากใส่พาสเวิร์ดเพื่อเข้าสู่โลกเครือข่ายไร้พรมแดนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โลกของเสียงเพลง เสียงดนตรี ที่เป็นความชื่นชอบส่วนตัวของผมในทุกครั้งที่ฟังวิทยุจากอินเทอร์เน็ต ก็ได้นำความสุนทรีย์คืนกลับมายังผมอีกครั้ง

เพราะอย่างที่เคยบอกนั่นแผละครับ สำหรับผมแล้วผมพบว่าสถานีวิทยุทางอินเทอร์เน็ตนั้นคือโลกดนตรีที่ไร้พรมแดนอย่างแท้จริง เพราะคุณสามารถค้นหาทุกความชอบของความสุนทรีย์เชิงนี้ที่เป็นส่วนตัวได้อย่างหลากหลาย มากมายจนมิอาจเลือกได้ถูก ลำพังผมเพียงแค่สถานีเพลงคลาสสิก แจ๊ส และพวกเพลงเก่าๆ จำพวกมหาอมตะนิรันด์กาล, อะไรแถวๆ นั้น ก็มีให้เลือกฟังมากจนเลือกไม่ถูกเอาเลยก็ว่าได้

อย่างประเภทหลังนั้น มีอยู่สถานีที่ช่วงหนึ่งผมได้วิทยุอินเทอร์เน็ตแบบกระเป๋าหิ้วมาลองเล่น พอมาถึงห้องทำงานผมก็จะเข้าหาสถานีนี้ก่อนเลย คือ The Penthouse Radio กับรายการที่ชื่อ Timeless Standard & Top Shelf Music เพราะมีเพลงเก่าๆ ที่น่าฟังมาให้ฟังตลอด อย่างบางวันฟังเพลินจนไม่ได้เปลี่ยนไปฟังสถานีอื่นเลย

ก็จะให้เปลี่ยนได้ไงล่ะครับ แบบว่าประดี๋ยว Frank Sinatra ก็มากับเพลง Send in the Clowns ประเดี๋ยว Shirley Bassey ก็มาส่งเสียงเจื้อยแจ้ว I (Who Have Nothing) ไรงี้ เดี๋ยวก็มีเสียง Margie Nelson กับเพลง Moon River เผลอๆ ก็ได้ยินเสียงของ Jane Monheit กับเพลง Over the Rainbow คือมีทั้งนักร้องเก่าๆ ที่เป็นต้นฉบับ กับนักร้องใหม่ที่เอาเพลงเก่ามา Cover อย่างน่าฟัง มาเปิดให้ฟังตลอด แล้วจะไม่ให้ติดใจได้อย่างไรล่ะครับ เพราะประดามีพรรค์นี้มิอาจหาฟังได้ในบ้านเราจริงๆ โดยเฉพาะเปิดให้ฟังกันทั้งวันทั้งคืนแบบนี้ ด้วยอารมณ์ประมาณนี้ หาไม่ได้เอาเลยครับ

นั้น, ยกตัวอย่างมาเพียงแค่สถานีเดียวที่ถูกจริตนะครับ ด้วยที่จริงช่วงเดือนกว่าๆ ที่ผมได้ลองเล่นวิทยุเครื่องนั้น ผมพบสถานีเพลงคลาสสิกดีๆ จากแถบสแกนดินเวีย พบสถานีเพลงบลูส์ที่เข้าที และอะไรอื่นที่น่าฟังอีกพอประมาณทีเดียว ชนิดที่ว่าช่วงนั้นหากเผลออยู่กันนานกว่านั้นอีกหน่อย ผมอาจจะลืมห้องฟังไปเลยก็เป็นได้

หรืออย่างหนนี้ก็เช่นกัน หลังจากลองฟังสถานีโน่น นี่ นั่น อยู่สองสามวัน ช่วงหลังๆ ตั้งแต่เช้าเข้าห้องมาเปิด CEOL-Series N8 ซิสเต็มนี้แล้ว (ทุกครั้งที่เปิดเครื่อง ที่แผงหน้าจอดิสเพลย์ก็แสดงความพร้อมให้อัพเดท Firmware หากไม่ทำอะไรต่อก็จะกลับไปยังสถานีวิทยุอินเทอร์เน็ตสุดท้ายที่ฟังก่อนปิดเครื่อง) เสียงเพลงจากสถานี Audio Emotion HD Radio ก็อยู่เป็นเพื่อนผมไปตลอดจนหมดวัน หรือออกจากห้องไปนั่นแหละครับ ทั้งนี้ก็เนื่องเพราะแต่ละช่วงดนตรีที่สถานีนี้นำมาให้ฟังในรายการนั้น มันช่างน่าฟังไปหมด เพราะมีครบทั้ง Light Classic, Classical, Standard, Blues อีกทั้งบางช่วงยังมี Smooth Jazz มี Pop แซมเข้ามาสลับอารมณ์ได้อย่างลงตัว และให้ความอิ่มเอมในอารมณ์อย่างมาก

ที่สำคัญคือคุณภาพเสียงนั้น สมกับที่เป็น HD Radio จริงๆ เพราะหนนี้ซิสเต็มที่เล่นเป็นแบบแยกชิ้นด้วยลำโพง ซ้าย/ขวา จึงมีรายละเอียดรวมทั้งมิติและเวทีเสียงที่ให้รับรู้ได้ถึงความเป็น Stereo Sound อย่างแท้จริง ที่น่าทึ่งอีกประการหนึ่งก็คือตั้งแต่ค้นพบสถานีนี้ ปรากฏว่าที่แผงหน้าจอนั้นแสดงให้เห็นว่าสัญญาณมาเต็ม 100% ตลอดเวลา ผิดกับช่วงแรกๆ ที่ลองเปิดฟังจากสถานีโน่น นี่ นั่น พบว่าส่วนใหญ่แล้วสัญญาณจะมาไม่เต็มร้อย บางแห่งมาร้อยละ 60-70 ด้วยซ้ำ

อ้อ, อย่างไรก็ตาม ที่สัญญาณมาแบบแรงแบบ ‘จัดเต็ม’ นี้ ต้องยกความดีความชอบให้กับ Access Point ไร้สาย ‘ขั้นเทพ’ ที่ชื่อ Netgear R8000 เจ้าของรหัส ‘เหยี่ยวราตรี’ X6 AC3200 ตัวนี้ด้วย เพราะมีส่วนร่วมอย่างเป็นสำคัญนั่นเอง

 denon-ceol-rcd-n8-1

สรุป

กล่าวโดยรวมหลังจากลองเล่นเพื่อสัมผัสคุณภาพเสียงอย่างจริงจังจาก CD-Audio พบว่า Denon CEOL-Series N8 ซิสเต็มนี้ให้น้ำเสียงที่มีจังหวะจะโคนของความเป็นดนตรีได้ดี มีโทนเสียงที่อบอุ่น แต่ก็ให้เบสที่กระแทกกระทั้นเกินตัว ซึ่งเมื่อหลอมรวมกันแล้วก็เป็นบุคลิกเสียงที่น่าฟัง ชวนให้ฟังได้นานแบบสบายๆ

อย่างบางวันที่เปิดฟังดนตรีคลาสสิกจากวิทยุอินเทอร์เน็ตนั้น ฟังได้เพลินตลอดทั้งวันอย่างไม่รู้เบื่อ ซึ่งบางคราวเป็นงานซิมโฟนีจากออร์เคสตราวงใหญ่ ที่บางช่วงบางตอนของบางลีลา (Movement) น้ำเสียงที่ให้ออกมาน่าสนใจมาก ถึงกับต้องวางมือจากงานเพื่อหันไปฟังเสียงอย่างจริงจัง โดยเฉพาะช่วงที่แต่ละชิ้นเครื่องดนตรีโหมประโคมขึ้นมาพรอ้มๆ กันนั้น มันเปี่ยมไปด้วยพลังและให้ความยิ่งใหญ่ของเสียงอย่างไม่น่าเชื่อ ว่าจะมาจากลำโพงที่สูงแค่คืบ

อีกทั้งยังสามารถแยกแยะรายละเอียดเสียงที่เป็นความต่างในความเหมือนออกมาให้รับรู้ได้อยู่ในทีอีกด้วย

และเมื่อพิจารณาถึงภาพรวมทางด้านคุณสมบัติที่กอปรกันขึ้นมาเป็นซิสเต็มแล้ว CEOL-Series N8 ชุดนี้ มิเพียงเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนรุ่นใหม่ ที่ให้ใช้งานได้อย่างสะดวก หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจากวิทยุอินเทอร์เน็ต จากแผ่นซีดี จากอุปกรณ์ยูเอสบี หรือจากเครื่องเล่นพกพา อีกทั้งยังเปิดอากสให้นำแหล่งโพรแกรมอื่นทั้งอะนาลอก และดิจิตอล มาต่อร่วมเพื่อให้ใช้งานร่วมได้อย่างสะดวกเท่านั้น

หากยังมีขนาดที่กะทัดรัด และภาพลักษณ์ที่สามารถนำไปตั้งวางได้อย่างลงตัวกับทุกมุมห้องได้อย่างสะดวก โดยที่ชุดลำโพงนั้นให้การกระจายเสียงออกมาครอบคลุมพื้นที่ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์

และขอแนะนำอย่างยิ่งสำหรับการนำไปใช้งานในสำนักงานขนาดย่อมๆ แบบ Home Office ที่ในเวลางานก็เปิดวิทยุอินเทอร์เน็ตเป็น Background Music ฟัง เพราะจะเพลินไปกับเสียงดนตรีที่มีความต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ด้วยส่วนใหญ่จะไม่มีโฆษณามาให้ระคายเคืองความรู้สึกที่ต้องรับรู้แต่อย่างใด หลังเลิกงานแล้วก็สามารถใช้เป็นซิสเต็มฟังเพลงเพื่อความผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี

หรือหากจะฟังอย่างเอาเรื่องเอาราว, ซิสเต็มนี้ก็ให้สุ้มเสียงออกมาได้อย่างเอาการเอางานล่ะครับ

สุดท้ายแล้ว, เมื่อนำไปใช้ในออฟฟิศ ก็ใคร่ขอแนะนำให้ลงทุนเราเตอร์ประสิทธิภาพสูงๆ เพราะจะได้ความคุ้มค่าสูงสุด ทั้งในแง่ของงานการและความบันเทิง ดังเช่นที่ผมขลุกอยู่กับไอ้เจ้า ‘ยานแม่’ เวลานี้ ที่ต้องบอกว่ามันให้การกระจายสัญญาณที่ ‘จัดเต็ม’ มากจริงๆ จนแทบไม่อยากจะถอดออกแล้วล่ะครับ

เรื่องของเรื่อง, เดี๋ยวคงต้อง ‘หาเรื่อง’ ไปหาอะไรมาลองเล่นแบบจำเป็นต้องใช้งานเราเตอร์ตัวนี้ต่อ จะได้มีเรื่องอ้าง – ยังไม่ต้องส่งคืนไง – – (5-5-5) – – –

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

 

ขอบคุณ บริษัท มหาจักรดีเวลอปเม้นท์ โทร.0-2610-9671-2  ที่เอื้อเฟื้อ Denon CEOL-Series N8 มาให้ทดลองฟังในครั้งนี้

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++