What HI-FI? Thailand

Test Report: de-vialet 110

Test Report: de-vialet 110

(อินทีเกรทแอมป์ที่ทั่วโลกจับตามองไม่กะพริบ)

ไมตรี ทรัพย์อเนกสันติ

            ปกติเครื่องขยายที่ทำงานแบบ Class A แท้ๆ จะให้เสียงที่มีรายละเอียดสูงสุด สอดใส่จิตวิญญาณได้เป็นธรรมชาติที่สุด เสียงเกลี้ยงสะอาดที่สุด ตอบสนองฉับไวที่สุดมันคือภาคขยายในอุดมคติแต่ข้อเสียอย่างยิ่งยวดคือ

  1. ประสิทธิภาพต่ำมาก ถ้าต้องการกำลังขับแค่ 100 W RMS/ ข้าง ที่ 6 โอห์ม จะต้องจ่ายกำลังจากภาคจ่ายไฟถึงไม่ต่ำกว่า 400 W RMS/ ข้าง นั่นหมายความว่า ถ้าอินทีเกรทแอมป์ของเราระบุกำลังขับต่อเนื่อง 100 W RMS/ ข้าง ที่ 6 โอห์ม ก็หมายความว่า เราต้องทำภาคจ่ายไฟให้จ่ายกำลังได้ถึงเกือบ 900 W RMS (ประสิทธิภาพของภาคขยาย Class A แท้ๆ ในทางทฤษฎีได้สูงสุดไม่เกิน 25%) นั่นคือข้อ 2
  2. ตัวเครื่องต้องใหญ่โตมากๆ อย่างอินทีเกรทแอมป์ 100 W RMS/ ข้าง ที่ยกตัวอย่าง ตัวเครื่องจะต้องมีขนาดสูงเป็นศอก ลึกศอกครึ่ง หน้ากว้างเกือบ 2 ศอก และหนักไม่ต่ำกว่า 40 กก. เนื่องจาก ข้อ 3
  3. กระแสในเครื่องจะสูง เพราะแม้ไม่มีสัญญาณ มันก็กินกระแสสูงสุด ผลคือ อุปกรณ์ชิ้นส่วนจะต้องมีขนาดใหญ่มาก หม้อแปลงมหึมโหฬารครับ ระบายความร้อนมหึมายังกับเสื้อสูบเครื่องยนต์รถ ความร้อนสูงลิบ พอๆ กับเสียบเตารีด 200 W 4 – 5 ตัวแช่ไว้! ส่งผลให้ ข้อ 4
  4. ราคาไปโลด แค่เพาเวอร์แอมป์ (ไม่มีปรีแอมป์) กำลังขับ Class A 100 W RMS/ ข้าง ที่ 8 โอห์ม เตรียมไว้ได้เลย 4 – 6 แสนบาทเป็นอย่างน้อย ถ้าเป็นแยกเครื่องจะ 1 CH (DUAL MONO) ก็เป็นล้านบาท
  5. เนื่องจากเครื่องจะร้อนมากๆ ขนาดเอานิ้วแตะแช่แค่ 10 วินาทีก็พองแล้ว บางคนว่าเอามาทอดปลาได้ นั่นหมายความว่า บวกค่าไฟปกติได้เลยอีกเดือนละ 2,000 บาท เป็นอย่างน้อย

กินไฟทั้งตัวเครื่องขยาย และเครื่องปรับอากาศที่ต้องทำงานหนักขึ้น (คอมวิ่งไม่หยุดแน่)

จากปัญหาเหล่านี้ทำให้แอมป์ Class A แท้ไม่เป็นที่นิยม อินทีเกรทแอมป์ส่วนมากที่คุยว่าเป็น Class A กำลังขับเกิน 30 W RMS/ ข้าง ที่ 8 โอห์ม แถมตัวเครื่องก็ไม่ใหญ่โตอะไร ครีบระบายความร้อนก็ไม่ล้นหลาม ราคาต่ำกว่า 200,000 บาท ให้เข้าใจได้เลยว่าไม่ใช่ Class A แท้ มักเป็น Sliding Class A คือ ถ้าเร่งโวลลุ่มไม่มาก เช่น 10 – 15 W/ ข้าง มันจะทำงานแบบ Class A แท้ แต่ถ้าเร่งกว่านั้นมัจะเคลื่อนตัวไปสู่การทำงานแบบ Class AB ปกติทั่วๆ ไป (จะหนักไปทาง A หรือทาง B ว่ากันอีกที ถ้าวัตต์ระบุสูงๆ เป็น 100 W/ ข้าง ก็น่าจะหนักไปทาง B มากกว่า A) บ้างก็ทำงานแต่ Class A ในภาคปรี, ภาคต้นที่ถัดมา แต่ภาคขาออกที่ไว้ขับดันลำโพง จะเป็น Class AB ปกติ ไม่ใช่ A ตลอดจากเข้าถึงออกสุดท้าย

เนื่องจากแอมป์ Class A แท้จะร้อนอย่างยิ่ง เหมือนกับเรากำลังเผาอะไหล่ต่างๆ ภายในเครื่อง นึกไม่ออกเลยว่ามันจะมีอายุสั้นลงขนาดไหน

ในทางกลับกัน

ภาคขยายแบบ Class D ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ที่มาของมันคือ ความต้องการที่จะได้ภาคขยายเสียงกำลังขับสูงมาก เพื่อใช้กับโทรศัพท์สื่อสารเคลื่อนที่ ที่ใช้กับทหาที่ออกไปรบในสนามรบชื่อย่อยๆ ที่สภาพแวดล้อมหนวกหูสุดๆ เช่น กำลังต่อสู้ติดพันกัน เสียงปืนกลเต็มไปหมด, เสียงปืนใหญ่, ระเบิด, รถถัง ฯลฯ ต้องทำให้ดังได้มากที่สุด (บ่อยๆ ใช้หูฟังเสียบไม่ได้ จะสื่อสารกับเพื่อนทหารข้างนอกข้างๆ ไม่ได้) นอกจากนั้นภาคขยายที่ใช้ในเครื่องบินทหารก็ต้องให้เสียงได้ดังที่สุดพอที่จะเอาชนะเสียงเครื่องยนต์ เสียงใบพัด เสียงลม

ทั้ง 2 สถานการณ์ต่างมีความต้องการที่ตรงกันคือ ภาคขยายต้องกินไฟน้อยที่สุด แต่ดังที่สุด (ประสิทธิภาพสูงที่สุด) อีกทั้งต้องมีขนาดเล็กที่สุด เบาที่สุด แทบไม่ต้องมีครีบระบายความร้อน (ไม่ร้อนมาก เพราะทหารต้องถือ, หอบหิ้วไปตลอด)

นี่คือที่มาของการคิดค้นจนได้ภาคขยายแบบ Class D ที่มีประสิทธิภาพสูงมากถึงเกือบ 90% แถมมีขนาดเล็ก อุปกรณ์น้อยชิ้น แทบไม่ต้องมีระบบระบายความร้อน (นอกจากวัตต์สูงๆ)

แต่ปัญหาของ Class D คือ

  1. เสียงห่วย ทั้งแห้ง ทั้งทื่อ หาความน่าฟังอะไรไม่ได้เลย
  2. ตอบสนองความถี่ได้จำกัด ไม่ต้องหวังจะใช้ขยายเสียงกลางสูงถึงสูงๆ เพราะการต้องใช้ตัวกรองไฟมากรองคลื่นความถี่สูงจาก Class D ทิ้งที่ขาออก ไม่ได้ไปเผาลำโพง จะทำให้ตอบสนองได้แต่ช่วงเสียงต่ำ (จึงมักใช้กับแอมป์ขับซับแอคทีฟ)
  3. จากข้อ 2 ทำให้ความสามารถของภาคขยายขาออกในการหยุดการสั่นค้างของดอกลำโพง (DF) แย่ลงมากๆ ได้แค่ 60 – 70 ก็หรูแล้ว ทำให้ทุ้มเบลอยานคราง ส่งผลต่อกลาง (แม้ขับด้วยภาคขยาย Class AB อยู่) พลอยเบลอไปด้วย ระบาดไปถึงแหลมด้วย พูดง่ายๆ แอมป์ Class D จึงเหมือนเป็น “ตัวซวย” ในระบบเครื่องเสียงกันเลย

นักออกแบบทุกคนรู้ปัญหา รู้วิธีแก้ แต่ทำไม่ได้ เพราะอะไหล่และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยังรองรับวิธีแก้ไม่ได้

จนเมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีอุปกรณ์, อะไหล่ เพื่อการนี้ออกมาทำให้เราเริ่มเห็นภาคขยาย Class D ที่ขยายเสียงได้ครอบคลุมตลอดช่วงความถี่ตั้งแต่ต่ำถึงสูงได้แล้ว (เห็นครั้งแรกในวงการเครื่องเสียงรถยนต์ เรียก FULL RANGE CLASS D แต่สุ้มเสียงก็ยังไม่ดีเท่า CLASS AB ที่ดีๆ ไม่ต้องไปเทียบถึง CLASS A ด้วยซ้ำ)

ผมเชื่อว่าการจะทำภาคขยาย CLASS D ให้เสียงดีนั้น ต้องระดับอภิมหาพระกาฬจริงๆ ต้องรู้และเก่ง “ทุกเรื่อง” แถมต้องมีหูที่ฟังเป็น, ฟังเก่งด้วย (ตรงนี้สำคัญที่สุด)

วันหนึ่งโลกก็ได้รู้จัก de-vialet

de-vialet เป็นบริษัทฝรั่งเศสที่ก่อตั้งโดยทีมวิศวกรที่คร่ำหวอดเชี่ยวชาญด้านสื่อสารระดับ TOP ของโลก อย่างบริษัท นอร์ธ ท็อป และคงเป็นนักเล่นนักฟังเครื่องเสียงไฮเอนด์ด้วย เพิ่งก่อตั้งมาไม่กี่ปีนี้เอง แค่วางตลาดอินทีเกรทแอมป์รุ่นแรก d-Premier (200 W RMS/ข้าง) ก็สร้างความฮือฮาให้แก่วงการเครื่องเสียงไฮเอนด์ไปทั่วโลก จากรายงานทดสอบจากสื่อสิ่งพิมพ์ทั่วโลกร่วม 10 หัว ทั้งจีน, ญี่ปุ่น, รัสเซีย, อังกฤษ, อเมริกา, ฯลฯ เรียกว่าทำกันไม่ทันขาย

ข้อเด่นของอินทีเกรทแอมป์ de-vialet ทุกรุ่นคือ

  1. ประสิทธิภาพกำลังขับที่สูงมาก เริ่มจาก 240 W RMS/CH ที่ 6 โอห์ม (รุ่น 240), 170 W RMS/CH ที่ 6 โอห์ม (รุ่น 170), 110 W RMS/CH ที่ 6 โอห์ม (รุ่น 110 ที่ทดสอบ) โดยตัวเครื่องมีขนาดบางมาก 1 – 2 นิ้ว เท่านั้น! แถมน้ำหนักก็เบาพอที่จะเอาไปแขวนกับผนังบ้านก็ได้ (มีชุดติดตั้ง)
  2. ตัวเครื่องกะทัดรัด สวยงาม ลงตัวได้กับไลฟ์สไตล์สมัยใหม่พร้อมรีโมทไร้สายที่ปุ่มน้อยที่สุดในโลก แต่สวย, หรูหราที่สุดในโลก
  3. การเชื่อมต่อสารพัด โดยทุกรุ่นมีภาคแปลงสัญญาณดิจิตอลเป็นอะนาลอกในตัว (DAC) ระดับซุปเปอร์ DAC กันเลย รับสัญญาณดิจิตอลจาก PC ภายนอกมาใช้ DAC ในตัวมันได้

ที่สำคัญคือ มันทำงานบนพื้นฐานของโปรแกรม (SOFT WARE) จึงสามารถ “สั่นหรือโปรแกรม” ในเครื่องเพิ่มวงจรตัดแบ่งเสียง EQ ความละเอียดสูงได้ (ปรับได้ทุก Paraneter), เพิ่มวงจรดัดแบ่งเสียงอิเล็กทรอนิกส์ได้ (กรณีจะเล่นแบบไบแอมป์, ไตรแอมป์), พ่วงภาคขยายซ้าย, ขวา เป็นโมโนแอมป์ (บริดจ์แอมป์) ได้ (รุ่น 110 ทำไม่ได้)

ภาคขยายหัวเข็มจานเสียง (PHONO EQUALIZER) ที่สามารถปรับแต่งความต้านทานเชิงซ้อนขาเข้า (Input Impedance) เท่าใดก็ได้ เลือกอัตราขยายได้ (ไม่ว่าหัว MM, MC) ปรับกราฟการถอด RIAA ของระบบการบันทึกแผ่นเสียงได้ละเอียด พูดง่ายๆ ว่า ซุปเปอร์ภาคขยาย PHONO ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ไม่ต้องมานั่งซื้อหัวเข็มหลากรุ่น หลากยี่ห้อ นับแสนๆ บาท เพื่อเหมาะกับแผ่นเพลงแต่ละประเภท และต้องคอยตั้งเข็มที่เป็นชั่วโมงๆ อีกต่อไป

สามารถโอนถ่ายข้อมูลแบบไร้สาย (Streaming เพลง) จากโทรศัพท์มือถือ, โน้ตบุ๊ก, PC, Media Server, iPad ฯลฯ เข้า de-vialet ไปออกลำโพงได้ รวมทั้งใช้ App ของ de-vialet แปลงเครื่องมือเหล่านี้ให้กลายเป็นรีโมทไร้สายสำหรับควบคุม de-vialet ได้ด้วย

ระบบ Streaming เพลงของ de-vialet จะเป็นแบบพิเศษของเขาที่คุยว่าระดับซุปเปอร์ HD ซึ่งเท่าที่ผมเคยลองฟัง การ Streaming จาก iPad (บันทึกแบบ WAV) ยิงคลื่นเข้า de-vialet รุ่น d-Premier เทียบฟังตรงจากแผ่น CD (ใช้ DAC ใน de-Premier เอง) ถือว่าน่าประทับใจมากประมาณว่าได้ 90% ของแผ่น (อัลบั้มเดียวกัน แผ่น CD เดียวกันด้วย) แพ้นิดเดียวตรงที่ทรวดทรงมิติเสียงสู้จากแผ่นไม่ได้ แต่ก็ไม่ถึงกับน่าเกลียด (น่าฟังกว่าที่เคยฟังจาซุปเปอร์ไฮเอนด์ชุด DAC/STREAMING/ภาคจ่ายไฟ 3 ชิ้นแยกราคาประมาณ 1.4 ล้านบาทเสียอีก!)

  1. เนื่องจาก de-vialet ทำงานบนโปรแกรมจึงสามารถอัพเกรดปรับปรุงได้ในอนาคต (de-vialet ปัจจุบันทั้ง 3 รุ่น 110, 170, 240 เป็นการอัพเกรดล่าสุด Version 6.0 แล้ว) ผู้บริโภคจึงจะได้คุณภาพที่ปรับปรุงดีขึ้นไม่มีวันตกข่าว หรือต้องขายเครื่องเก่าทิ้ง ซื้อรุ่นใหม่กว่าอย่างไม่รู้จบ

De-vialet ทำได้อย่างไร

ในเรื่องคุณภาพเสียงที่สื่อสิ่งพิมพ์เกือบทั่วโลกยกย่องว่า ระดับไฮเอนด์ได้เลยก็เนื่องจาก de-vialet ฉลาดมากในการทำภาคขยายเสียงเล็กๆ ที่ทำงานแบบ ULTRA LINEAR CLASS A เอาไว้เป็นตัวอ้างอิงที่จะสั่งให้ภาคขยายพลังสูง Class D ทำงาน, ปฏิบัติตัวทุกอย่างตาม Class A จะบงการ จึงเรียกว่า ADH (A, D HYBRID แอมป์) ผลคือ คุณภาพเสียงระดับซุปเปอร์ Class A แท้แต่พลังขับสูงกว่า Class AB ทั่วไปมาก อีกทั้งทำให้ตัวเครื่องมีขนาดบางกะทัดรัด ไม่หนักมาก แถมสวยหรูอีกต่างหาก

 

 

สเปคจากโรงงานของ 110

กำลังขับต่อเนื่อง                                             110 W RMS/CH ที่ 6 โอห์ม (ใช้โปรแกรมตั้งกำลังขับได้ 50 – 110 W) หม้อแปลงกลมขนาดใหญ่บางพิเศษขดลวด 4 ชุดต่อข้าง

ความเพี้ยน THD+NOISE                               0.001% (ขับเต็มตามสเปคระบุ)

ความเพี้ยน IMD (SMTPE)                             0.001%

อัตราส่วนสัญญาณต่อเสียงกวน (S/N)           130 dB (un-weighted)!!

ความเพี้ยนจากเครื่องร้อน                               วัดไม่ได้

ความต้านทานขาออก                                      ต่ำกว่า 0.001 โอห์ม (เท่ากับค่า damping factor 8000!! อะไรมันจะเก่งขนาดนี้)

การตอบสนองความถี่เสียง (DIGITAL IN)     DC – 60 kHz (-1 dB)

DC – 30 kHz (-0.1 dB)

DC – 87 kHz (-3 dB)

ที่ 8 ถึง 2 โอห์ม

(อะนาลอก IN ก็ได้ เหมือนกันแค่ที่ 0.1 Hz – 3 dB)

ภาคจ่ายไฟเป็นแบบ                                        Switch Mode Power Supply 600 W (สวิงสูงสุดได้ 2100 W) DAC T2 PCM 1792 (24 บิท 192 kHz) DSP 400 MHz, 4 CH 40 บิท 192 kHz

ขนาดเครื่อง (หนัก 5.65 กก.)                          383 (กว้าง) x 838 (ลึก) x 40 (สูง) มม.

 

ผลการฟังทดสอบ

จากเครื่องเล่น CD T+A 1265R ต่ออกสายดิจิตอล (COAXIAL) WYVIZARD รุ่น DREAM CATCHER (ต้องเสียบย้อนศร เอาลูกศรชี้ไปทางเครื่อง CD) ไปเข้าช่อง COAXIAL 1 ของ 110 (สายนี้จริงๆ เป็นสายเสียงอะนาลอก interconnect แต่จากสเปคที่ระบุว่าตอบสนองความถี่ได้สูงหลาย MHz เลย จึงได้ลองนำมาทำเป็นสายดิจิตอล COAXIAL ซึ่งก็ให้ผลที่ดีมากๆ เกือบเท่ากับสายดิจิตอล COAXIAL ของ MADRIGAL ราคา 16,000 บาท (สาย WYVIZARD จะสดตื่นตัวกว่านิดหนึ่ง)

นั่นหมายความว่า เรากำลังใช้ภาคแปลงสัญญาณดิจิตอลเป็นอะนาลอกในตัวเครื่อง 110 นั่นเอง ซึ่งเท่าที่เคยฟังเทียบๆ ภาค DAC ในอินทีเกรทแอมป์ของ de-vialet (เหมือนกันทุกรุ่น) ระดับพระกาฬทีเดียว

ลองเสียบ COAXIAL 2 เสียงไม่ออก อาจจะสั่งบล็อกเอาไว้ หรือถูกตัดต่อให้เป็น COAXIAL OUT? (คืออย่างที่ทราบ เราสามารถ “สั่ง/ตัดต่อ” การทำงาน, แจกงานของ de-vialet ได้โดยป้อนโปรแกรมเข้าไปทาง USB)

จากอินทีเกรทแอมป์ 110 ต่อออกสายลำโพง FURUKAWA S-2 (2 ชุด แยกอิสระ ไม่มีการแตะกัน, หัวสายลำโพง WBT รุ่นบานาน่าล็อคได้ทั้งด้านแอมป์ และด้านลำโพง เรียงสายตามทิศ อ่านยี่ห้อสายไล่จากแอมป์ไปลำโพง)

ผมใช้สายไฟ AC ของ CHORD ที่ใช้กับอินทีเกรทแอมป์ Mark Levinson NO.383 ที่เป็นเครื่องอ้างอิงของผมอยู่ เพราะไม่อยากมานั่งเบิร์นอินสายไฟ AC ที่ให้มากับ 110 ให้เสียเวลา (สายไฟที่เอามาเปลี่ยนก็คงประมาณไม่เกิน 10,000 บาท)

ลำโพงที่ใช้เป็น MONITOR AUDIO BR-5 (3 ทางวางพื้น, เอาหน้ากากออก) เอียงลำโพงปรับให้ได้ทั้งมิติและเสียงดีที่สุด เป็นธรรมชาติที่สุด

ที่นอกห้องฟัง ที่แผงจ่ายไฟเข้าห้องฟัง ผมเสียบหัวปลั๊กกรองไฟของ PHD 2 ไว้ 1 ตัว, และ PHD 1 (รุ่นเก่า) ไว้อีก 1 ตัว ได้ถือโอกาสลองฟังเสียบกับไม่เสียบ ผลดีของการใช้ฟังออกชัด เอาออกที่ฟังไม่ได้เลย (อย่าลืมว่า de-vialet 110 เป็น Class D (แม้ผสม A) ระบบไฟ AC จะยิ่งมีผลมหาศาล) (PHD 2 ผมผ่านอะแด็ปเตอร์ AC (1 ออก 2) ของ WONPRO 3 ขาเป็น 2 ขา แบนด้วย เพื่อไม่ให้ขากราวด์ของ PHD 2 ไปแตะโลหะใดๆ (อะแด็ปเตอร์ WONPRO รุ่นนี้รูกราวด์จะไม่มีชิ้นโลหะหนีบอยู่ อีกทั้งขากราวด์ PHD 2 เองก็ไม่ได้ต่ออะไรไว้ จะหักทิ้งก็เสียดายหัว WATT GATE อย่างดีที่ใช้)

ตัว PHD 2 ผมเอาสายรัดผมผู้หญิงขนาดเล็กรัดตัวหัวปลั๊กไว้ด้วย รัดแถวๆ ห่างจากขาปลั๊กประมาณ 3 มม. การเลื่อตำแหน่งสายรัดมีผลอย่างพอควรทีเดียวต่อเสียง/มิติเสียง ต้องใจเย็นค่อยๆ ลองฟังดู

(หัวปลั๊ก PHD 1 เป็น 2 ขาอยู่แล้ว)

สายไฟ AC ของเครื่องเล่น CD T+A ผมยกมาจากสายไฟ AC ของ No.383 เต้าเสียบตัวเมียที่สายไฟ AC ของ 110 เสียบอยู่เป็นของฮับเบลสีส้มระวังมิให้สายต่างๆ แตะต้องกัน หรือม้วนรัดตัวเอง สายไฟไม่แตะพื้นห้อง (ปูน/พรม ในปูนมักมีโครงเหล็ก)

สายลำโพงยกสูงลอยหนีพื้นห้องด้วยตั้งกระดาษพิมพ์ดีดสูง 2 รีม และอีก 1 รีม คั่นกลางระหว่างสายลำโพงชุดแหลมกับสายชุดทุ้ม อีก 4 ตั้งทับบนสายทั้งหมด เอากระดาษห่อ (สีแดง) ของรีมออก (สีมีตะกั่วจะกวนได้)

ลำโพงซ้าย, ขวา วางห่างกันประมาณ 2 เมตร ที่เคยระบุว่า 2.2 เมตร น่าจะแค่ 2 เมตร นั่งห่างจากลำโพงประมาณ 3.6 เมตร ห้องฟังประมาณ 3.85 เมตร x 9 เมตร x 2.5 เมตร ฝาผนังบุฟองน้ำเก็บเสียง SONEX (รุ่นเยอรมันสีขาว) ในห้องมีของพอควรไม่ก้องแน่

ไม่มีโทรศัพท์มือถือ, โทรศัพท์บ้านไร้สาย, โน้ตบุ๊ก, PC, iPad, Galaxy, นาฬิกาไฟฟ้า, รีโมท, จอ LCD/PLASMA, กล้องดิจิตอล ภายในห้อง

พอดีผมเห็นโฆษณาขาย “กระทะเหล็ก” (รูปปลาขนาด 1 ศอก x 1 คืบกว่าๆ) ราคาลดจากสองพันกว่าบาทเหลือ 1680 บาท ผมชอบใจที่เป็นเหล็กหล่อ กระแสเอ็ดดี้ (EDDY CURRENT) น่าจะไหลคล่องได้รวดเร็วทั่วถึงทั้งกระทะที่สุด ไม่ใช่เหล็กเป็นชิ้นๆ มาขัน/บัดกรีเชื่อมกัน อีกอย่างคือ เป็นยี่ห้อไฮเอนด์ของฝรั่งเศส ซึ่งน่าจะทำด้วยเหล็กหล่อ คุณภาพสูงมาก (ยิ่งดึงดูดกระแสเอ็ดดี้ได้ดีขึ้นไปอีก) อีกข้อคือ ตรงปากปลาเขาทำเป็นรูกลมมาแล้ว เราก็แค่หานอตแบบมีแหวนหมุนกระชับกันมาสอดเพื่อนำสายเชื่อมมาพันรอบนอตนี้ได้เลย

ผมจัดการเดินในห้างโลตัสก็ได้นอตมา 2 – 3 ขนาด ประมาณขนาด 10 นิ้ว ก้อย แล้วก็ให้ร้านเครื่องเสียงรถยนต์หน้าปากซอยช่วยเอาสว่านคว้านรูนี้อีกนิดจนสอดนอตได้พอดี (การคว้านจะช่วยลบสารเคลือบกระทะออก ทำให้เราเข้าถึงตัวเนื้อเหล็กจริงๆ ได้เต็มที่)

ผมใช้สายไฟรถยนต์ FURUKAWA รุ่น CB-10 ที่ยังพอมีเหลือ (ตอนนี้หลังจากทำชุดถังขยะเอ็ดดี้ไป 2 ชุด ก็หมดแล้วครับ) เดินตามทิศอ่านยี่ห้อสายจากเครื่องมากระทะเป็นสะพานเชื่อม

มีเทคนิคสำคัญคือ ต้องเอาตัวนำของสายผูกกับนอตตัวถังกระทะและนอตด้านตัวเครื่องโดยตรง อย่าผ่านแหวนคล้องใดๆ ขนาดผมใช้ก้ามปูชุบทองอย่างดี ขนาดไม่เล็กด้วย (ของ WBT) แล้วบัดกรีด้วยตะกั่วเงิน (WBT) อีกที ยังสู้ผูกโดยตรงไม่ได้เลย

อีกเทคนิคคือ สายเชื่อมนี้ต้องไม่แตะต้องตัวเอง, หรือโลหะใดๆ, ตัวกระทะต้องยกสูงหนีพื้นห้อง (ปูน/พรม/เหล็กใต้ปูน) อย่าแตะโลหะใดๆ

ผมได้ลองเพิ่ม “ถังขยะเอ็ดดี้” ให้แก่เครื่องเล่น CD T+A 1265R ก่อน (โชคดีมากที่เขามีขั้วลงดินมาให้ด้วย อยู่ท้ายเครื่อง)

จากการฟังเทียบใช้กับไม่ใช้ต้องเรียนตรงๆ ว่า โอ้โห พอใช้ที่กลางห้องมี กล่องผลึก (Crystal Pack) วางอยู่ โดยหมุนหาทิศที่ให้เสียง/มิติดีที่สุด (อ่านรายงานทดสอบ CRYSTAL PACK ในเล่มนี้ประกอบ) บอกได้เลยว่ามีผลอย่างมาก เราหวังให้ CRYSTAL PACK ช่วยดูดซับ และสลายทิ้งคลื่นขยะความถี่สูง (RADIO FREQUENCY, RF) รอบๆ ตัวเรา (โดยเฉพาะพวกคลื่น WiFi ที่มี 6 – 7 คลื่นที่ซึมรั่วเข้ามา)

นอกจาก CRYSTAL PACK แล้วผมยังได้เสริม “ความมหัศจรรย์” เข้าไปในการทดสอบครั้งนี้ เป็นครั้งแรก ด้วย (และต่อๆ ไปก็จะคงตัวเสริมนี้ไว้ตลอด)

โดยปกติเครื่อง (เสียง) ที่มีหม้อแปลงไฟไม่ว่าใหญ่เล็กแค่ไหน (รวมทั้งพวก “ขดลวด” ทั้งหลายที่อยู่ในวงจร) จะกระจายสนามแม่เหล็กออกมาตลอดเวลายุบ-ขยายตามสัญญาณที่เราป้อน สนามแม่เหล็กนี้จะไปเหนี่ยวนำให้ตัวเครื่อง (ฝาครอบ) เกิดกระแสไฟฟ้าไหลที่เรียกว่ากระแสเอ็ดดี้ (EDDY CURRENT) ในตัวถังเครื่อง กระแสเอ็ดดี้ก็จะสร้างสนามแม่เหล็กวูบวาบ ย้อนกลับมาสู่ภายในเครื่องป่วนวงจรต่างๆ

ทางแก้คือลดความเป็นตัวถังโลหะออกไปให้มากที่สุด เช่น ใช้กล่องไม้แทนกล่องเหล็ก หรือยก (ย้าย) หม้อแปลงไฟไปไว้ที่ท้าย (ตูด) เครื่อง อยู่ภายนอกไปเลย เอาฝากรอบเครื่องออก หรืออีกทาง…ขยะกระแสเอ็ดดี้

นั่นคือ หาแท่งเหล็กยิ่งหนาใหญ่ยิ่งดีมา 1 แท่น แล้วต่อสายไฟอย่างดี (ยิ่งคุณภาพสูงยิ่งดี) เชื่อมโลหะตัวถังเครื่องกับแท่นเหล็กนี้ เพื่อเป็นถังขยะ ดูดซับ กระแสเอ็ดดี้มาที่แท่นเหล็ก แล้วให้สลายตัวไปที่แท่นนี้ ไม่เหลือไปสร้างสนามแม่เลห็ย้อนกลับไปป่วนเครื่อง

ต้องเข้าใจว่า คนละประเด็นกับการเดินสายดินาของตัวเครื่อง นั่นเพื่อระบายสัญญาณรบกวน (NOISE) ลงดินไป (แท่งทองแดงฝังใต้ดิน) ไม่เกี่ยวกับ “สนามแม่เหล็ก” คนละปัญหาและเหตุการณ์ แล้วกลับไปฟังเมื่อถอดสายออกไม่ได้เลย คือเสียงทั้งหมดจะถอยจมไปที่ฉากหลังเวทีหมด น้ำหนักเสียงแย่ลง เสียงไม่กระเด็นหลุดลอยออกมาหาเรา (เรื่องของเครื่องเสียงก็เป็นอย่างนี้ ถ้าไม่ฟังเทียบมันก็โอเค รับได้ แต่เมื่อได้ฟังสิ่งที่ดีกว่าจริงๆ มักกลับไปฟังของเดิมไม่ได้เลย)

เหตุการณ์, อาการ ว้าวโอ้โห นี้เกิดกับเมื่อเพิ่มระบบถังขยะเอ็ดดี้ให้แก่ de-vialet 110 อีกชุด เช่นกัน เป็นอันว่าเรามีระบบถังขยะแยก 2 ชุด อิสระจากกันระหว่าง T+A กับ de-vialet

ข้อคิด ยิ่งเครื่องเสียงนั้นทำงานกับระบบดิจิตอลความถี่สูง (อย่าง T+A, เครื่องเล่น Blu-ray, DVD) และภาคขยายเสียงกำลังสูง ที่เป็น Class D หรือ ดิจิตอลแอมป์ ปัญหาขยะเอ็ดดี้นี้จะยิ่งมีผลมาก

มาถึงตรงนี้ทั้งมิติเสียง, สุ้มเสียงที่ได้จาก de-vialet 110 ถือว่าดีขึ้นมากประมาณ 30% แล้ว แต่ฟังๆ ไปเหมือนไม่อยู่ในร่องในรอย มิติเสียงแกว่ง, ยังมีหมอกฟุ้งรอบๆ ชิ้นดนตรี ทำให้ไม่โฟกัสนัก ทรวดทรงเสียงจะออกตีบ, เล็กไป ขาดความอวบ เวทีเสียงเหมือนยังมีม่านหมอก ความโอ่โถงเป็น “ห้อง” ที่วงเล่นอยู่ ยังออกเบลอๆ และแบนไปบ้าง คือยังไม่ HOLOPHONIC หรือ SPACE ความกังวานยังแห้งบ้างไม่เป็นตัวตนเท่าที่ควร ทุ้มยังไม่คมเต็มที่ กลางลงทุ้มยังเบลอๆ ไม่มีทรวดทรงที่เชื่อมถึงกัน เป็นเนื้อเดียวกัน จูนไปจูนมา (ที่กล่องผลึก) ได้เสียงมีทรวดทรง 3D ขึ้น แต่ก็กลับจืด นุ่มไปนิด ขาดความเร้าใจ เหมือนฟังแอมป์หมื่นกว่าบาททั่วๆ ไป

            จึงนำหัว RCA (WBT) ที่ภายในช๊อตแกนกลางลงปลอกด้วยเส้นทองแดง PCOCC จากสายลำโพง S-1 ของ FURUKAWA (เรียงตามทิศจากแกนกลางไล่ลงปลอก) (สาย CB-10 ข้างต้นก็เป็น PCOCC ทองแดงบริสุทธิ์ 99.9999% (9 หกตัว)

นำหัว RCA นี้มาเสียบช๊อตขาเข้า COAXIAL 2 (ที่ไม่ใช้) ของ de-vialet ปรากฏว่ามิติโฟกัสขึ้น นิ่งขึ้น มีทรวดทรงดีขึ้น สอดรับกันมากขึ้น

ถึงตรงนี้พลันก็นึกได้ว่า ก็เมื่อเราเอารีโมทต่างๆ ออกนอกห้องฟังหมดแม้แต่เวลาเปลี่ยนเพลงที่เครื่องเล่น CD T+A ก็ยังใช้วิธีกดที่ปุ่มที่เครื่องเอา

ก็แล้วจะยังปล่อยให้มีรีโมทของ de-vialet อีก 1 ตัว อยู่ในห้องทำไม แถมมันยังเป็นรีโมทแบบคลื่นวิทยุ ด้วย (ยิ่งกว่ารีโมทอินฟาเรด) เพื่อให้การใช้งานไม่ต้องกังวล จอรีโมทให้ตรงหน้าเครื่อง นั่งอยู่ตรงไหนในห้องก็ยังควบคุมได้ เผลอๆ ออกไปนอกห้อง (ไม่ไกลนัก) ก็ยังยิงได้

          คิดได้อย่างนี้ผมจึงนำรีโมทไปวางไว้ชั้นบนโน่น ห่างไปพอควรเลย คลื่นรีโมทไม่น่าจะมีผลถึง (อิทธิพลของรีโมททั่วไปที่เจอขนาดเอาถ่านออกก็ยังมีผล ต้องเอาตัวรีโมทไปไว้นอกห้องเลย)

ผลคือ มิติเสียงดีขึ้น โฟกัส, นิ่ง, มีทรวดทรงขึ้น น่าฟังขึ้น นักร้องผู้ชาย 4 คนร้องฟังออกว่าเสียงต่างกันมากขึ้น เปียโน 16 ล้านกับ 3 ล้านฟังออกว่าเสียงต่างกันมากขึ้น คือแจกแจง “บุคคลิกส่วนตัว” ของแต่ละเสียงได้หลากหลายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มาถึงขึ้นนี้ ผมก็ยังไม่ประทับใจอะไรหนักหนากับ de-vialet

สุดท้าย ผมลองขยับเครื่องเล่น CD T+A ที่เดิมติดกันและห่างจากตัวอินทีเกรทแอมป์ de-vialet 110 ไม่ถึงคืบ ให้ห่างออกไปอีกเกือบ 1 นิ้ว ปรากฏว่าทุกอย่างดีขึ้นอย่างฟังออกได้ทันที…เอาแล้วไง!

จัดการพยายามขยับ de-vialet ห่างออกไปบ้างได้อีก 1 ซม. ก็ดีขึ้นอีกหน่อย (จะแยกห่างมากจะยุ่ง เพราะสายต่างๆ เสียบอยู่ และระยะห่างจำกัดอย่างสายดิจิตอลจาก T+A มาแอมป์ก็เริ่มตึงแล้ว)

เมื่อแยกห่างไม่ได้มากกว่านี้ ผมจึงนำแผ่นกันสนามแม่เหล็ก (ที่ซื้อมาจากญี่ปุ่น) มาหักเป็นรูปตัว V สอดลงไประหว่างเครื่องทั้งสอง แต่ก็หาผ้าเช็ดหน้าทบหนาๆ มากั้นระหว่างแผ่นตัว V นี้กับตัวเครื่อง T+A (คือไม่ได้โลหะแตะกัน) (ไม่แตะ de-vialet อยู่แล้ว)

ปรากฏว่า หนังคนละม้วนเลยเสียงที่เคยคลุมเครือ ชวนง่วง (สัปหงกไป 2 ครั้ง) ก็กลับกระฉับกระเฉง ตื่นตัว สดชื่น เข้มข้นขึ้น โปร่งขึ้นมาก หัวโน้ตคมชัดขึ้น การตอบสนองเด็ดขาดฉับไวขึ้น (TRANSIENT ดีขึ้น) ทรวดทรง 3D ดีขึ้นตลอดตั้งแต่ความถี่สูงไล่ถึงความถี่ต่ำ (จากที่เคยโหว่ๆ แถวกลางลงต่ำ) ทุกเสียงเป็นตัวตน กระเด็นหลุดลอย เป็นลำดับชั้น ตื้น-ลึกดีขึ้น (FLOATING IN SPACE ดีขึ้น, PERSPECTIVE ดีขึ้น) ทุ้มเข้ม, ควบแน่น, กระชับ, หนักยิ่งขึ้น, สูง-ต่ำดีขึ้น, ความกังวานชัดขึ้น, ความเป็น HOLDGRAPHIC ดีขึ้นมาก การแยกแยะโทนเสียง, น้ำเสียง แต่ละชิ้นดนตรีดีขึ้น (PERSONALITY ของแต่ละเสียงดีขึ้นมาก) เรียกว่า เหมือนฟังแอมป์ Class A แท้ๆ ระดับหลายๆ แสนบาทเลย

ต่อมาผมนึกได้ว่ามี ผ้าคาร์บอนไฟเบอร์สาน ที่ยังพอเหลือสัก 1 คืบ x 1 ศอก (เอามาจากญี่ปุ่น แต่ทราบว่าบ้านเราก็พอหาซื้อได้) จึงเอามาปูวางด้านขวาของ de-vialet ที่ชิดกับ T+A ปรากฏว่า ทุกอย่าง ดีขึ้นไปอีก 8% จากที่ดีอย่างก้าวกระโดดแล้ว

(ผมเจาะแจะกับ de-vialet มา 5 ชั่วโมงแล้ว! ไม่นับ 2 วันที่แล้วอีก 4 ชั่วโมง)

เป็นไปได้ว่า de-vialet ต้องการการเบิร์นอินอย่างน้อยร่วม 10 ชั่วโมง, ข้อสอง ก่อนฟังควรอุ่นเครื่อง (ภาคขยาย Class A ในเครื่อง) ไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง (นี่คือเหตุผลที่ทางผู้ผลิต แนะนำให้เสียบปลั๊กไฟ AC แช่ไว้แม้จะปิดเครื่องแล้ว เพื่ออุ่นภาคขยาย Class A ไว้ตลอดเวลา (กินไฟน้อยมาก) ดูเหมือนจะต่ำกว่า 1 W และเครื่องก็แค่อุ่นๆ แต่ถ้าห้องปิดทึบ หรือติดตั้งเครื่องในที่อับ ก็ควรปิดถอดปลั๊กออกดีกว่า เพื่อความปลอดภัย

ในกรณีที่ใช้งานจริงๆ จึงควรแยกตัว de-vialet ให้ห่างจากตัวเครื่องเล่น CD มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

ผลสุดท้าย

มาถึงขั้นนี้ เรียนได้เลยว่า เสียงและมิติที่กำลังฟังอยู่ น่าตื่นเต้นมาก เสียงทั้งหมด หนักแน่น ควบแน่น เต็มไปด้วยพลัง (DENSITY, SOLID) ออกไปทางตื่นตัว, สด, เข้มแข็ง, กระฉับกระเฉง (ACTIVE, LIVE, DYNAMIC) ตอบสนองได้ฉับไวอย่างสมจริง (TRANSIENT RESPONSE) รายละเอียดของหัวโน้ตที่ดีเยี่ยม (TRANSIENT DETAIL), ช่องไฟช่องว่าระหว่างตัวโน้ต หรือเสียงร้องที่สงัดเงียบ (INTER SILENCE) ดีมาก เสียง, มิติที่นิ่งสนิทไม่วอกแวก (FIRM, STABLE) การสอดใส่อารมณ์ของนักร้อง, นักดนตรีที่ยอดเยี่ยม (FEELING, LIVE EMOTION) มันตื่นตัวแต่ก็ผ่อนคลาย (DYNAMIC, IMPACT, RELAX) รายละเอียดหยุมหยิม, รายละเอียดแม้ค่อยสุดๆ (DETAIL, LOW LEVEL DETAIL) ไม่มีมั่ว แม้ช่วงโหมหลายๆ ชิ้น (ไม่ MUDDY, เบลอ, จม ยังคงเป็นชิ้นเป็นอันได้), ทรวดทรงนัดร้อง/ชิ้นดนตรีที่เป็น 3 มิติ (3D IMAGE) สวิงเสียงได้กว้างจากค่อยสุดๆ ไปดังสุดไม่ส่ออาการอั้นตื้อ (HUGE DYNAMIC RANGE, EXCELLENCE DYNAMIC CONTRAST) มีความเป็นดนตรีสูงมาก (MUSICALITY)

เวทีเสียงโอ่อ่าอลังการ (HUGE SOUND STAGE OPEN EXPAND) ไป 360 องศากันเลย ทั้งลอยออกมา, ลึกเข้าไป, กว้าง, โอบ, สูง-ต่ำ มันไม่ใช่อินทีเกรทแอมป์ที่จะให้เสียงหวานหยด, โรแมนติกจนอยากหาอกสาวซบ, อบอุ่นจนต้องไปเร่งเครื่องปรับอากาศ หรือพลิ้วระริกน่าตื่นใจแต่ฟังนานๆ น่าเบื่อ พูดง่ายๆ ว่า มันเป็นแอมป์ที่ให้ “เสียงจริง, ความจริง” เที่ยงตรงอย่างไม่มีการอำพราง มันจะฟ้อง “ทุกอย่าง” ที่คุณกระทำต่อมัน หรือสิ่งแวดล้อมต่อมัน และแน่นอน มันเป็นแอมป์จอมแฉ (MONITOR) ที่จะตีแผ่ ทุกคุณภาพของการบันทึก, การทำแผ่น, อุปกรณ์ที่พ่วงเล่นกับมัน (โคตรมอนิเตอร์ว่างั้นเถอะ) มันซื่อสัตย์ที่จะเผยทุกอย่างโดยไม่เกรงใจใคร การได้ฟังครั้งแรก (ภายใต้เงื่อนไขที่ถูกต้องทั้งหมดดังกล่าวแล้ว) เป็นใครก็จะต้องเหลียวกลับมาฟัง มันจะดึงดูด และติดจะกร่าง (เพราะไม่เอาใจหูไหนๆ ทั้งนั้น) แต่เมื่อฟังไปนานๆ คุณจะเริ่มคุ้นเคย และไว้ใจมันอย่างที่สุด คุณจะมอบทุกอย่างให้มันเป็นผู้ตัดสิน (แบบเปาปุ้นจิ้น) จากนั้นจะเป็นเรื่องยากอย่างที่สุดที่คุณจะหาแอมป์สักตัวที่จะถูกใจคุณ (ไม่ใช่แค่ถูกหู!) ไม่ว่าราคาจะแพงลิบสักแค่ไหน!!

(หมายเหตุ ฝาหลังไม่ให้สอดครอบไว้ เคยลองกับ de-vialet d-Premier ครอบแล้วมิติฟุ้ง)

 

ขอขอบคุณ บริษัท เอวี อินเทลลิเจนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด โทร. 08-1617-1308 ที่เอื้อเฟื้อเครื่องมาให้ทดสอบในครั้งนี้

Exit mobile version