Test Report: Cayin 265 Ai Class A อินทีเกรทแอมป์

0
Cayin 265 Ai Class

Cayin 265 Ai Class A อินทีเกรทแอมป์

(กว่าจะเป็นสุดยอดอินทีเกรทแอมป์)

ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

 

 

Cayin 265 Ai Class
Cayin 265 Ai Class

 

Cayin เป็นเครื่องเสียงระดับคุณภาพจนถึงไฮเอนด์ จากประเทศจีนที่ทั่วโลกจับตามองไม่กะพริบ เนื่องจาก Cayin บุกจริง เอาจริง มีทั้งเครื่องทรานซิสเตอร์ เครื่องหลอด ปรี, เพาเวอร์แยกชิ้น (โมโนและสเตอริโอ) เครื่องเล่น CD (ทรานซิสเตอร์, หลอด) คุณภาพที่เกินราคา (มาก) ทำให้ Cayin โตวันโตคืนอย่างน่ากลัว

Cayin 265 Ai เป็นทรานซิสเตอร์อินทีเกรทแอมป์ ภาคขยายทุกภาคทำงานแบบ Class A กำลังขับ 40 W.RMS/CH ที่ 8 โอห์ม

รูปทรง

ด้วยแผงหน้าเป็นอะลูมิเนียมหนาเกือบ 1 นิ้ว ขึ้นรูปโค้งเว้า สวยงามสง่าระดับไฮเอนด์ ครีบระบายความร้อนขนาดใหญ่เต็มขั้นอยู่ซีกซ้าย, ขวา ปุ่มกดปิด-เปิด (MAIN) อยู่ด้านหลัง ปุ่มปิดออกจาก STANDBY อยู่หน้าซ้ายด้านล่าง (กดเปิดแล้วดวงไฟ LED ที่อยู่เหนือปุ่มจะค่อยๆ เปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีเขียว พร้อมใช้งาน) ทุกครั้งที่ปิดเครื่องเปิดใหม่ ปุ่มหมุนโวลลุ่มขนาดใหญ่จับถนัดมือดีมาก (ตรงกลาง) จะหมุนคืนกลับมาที่ตำแหน่งต่ำสุดเพื่อความปลอดภัย ปุ่มกดสวิตช์เลือกขาเข้า (INPUT) จะคืนไปอยู่บนสุด ต้องกดไล่เข้า INPUT ที่เราเลือกไว้อีกทีเช่นกัน (ดวงไฟ LED สีน้ำเงินติดไล่บอก)

ด้านหลังเครื่องจะเห็นช่องรับสัญญาณเข้าแบบบาลานซ์ 1 ชุด แบบ RCA 5 ชุด (CD, DVD, TUNER, TAPE AUX) ช่องต่อออกไปบันทึกเทป 1 ขั้วลำโพงแบบ Binding Post อย่างดี ขั้วสายไฟ AC ถอดได้ สวิตช์ปิด-เปิดหลัก (MAIN)

265 Ai มาพร้อมรีโมทไร้สาย (เลือก INPUT, ปิด-เปิด, โวลลุ่มดัง-ค่อย, ตัดเสียง (MUTE))

ภายใน จะเห็นหม้อแปลงกลมขนาดใหญ่ 2 หม้อ แยกจ่ายไฟอิสระแก่ภาคขยายซีกซ้าย-ขวา ตัวเก็บประจุขนาดใหญ่ ข้างละ 4 ตัว โวลลุ่มต่อก้านหมุนไปด้านหลังเพื่อทางเดินสัญญาณลัดตรงที่สุด พูดง่ายๆ ว่า ภายในเป็น DUAL MONO ปรี-เพาเวอร์แอมป์นั่นเอง

265 Ai ใช้รีเลย์ในการตัดต่อสัญญาณ ทำให้ลัดตรงได้ดีที่สุด ภาคขยายไม่ใช้การป้อนกลับแบบลบ (NFB) มากๆ ไม่มีปุ่มปรับเสียงทุ้ม, แหลมใดๆ

สเปคจากโรงงาน

กำลังขับต่อเนื่องที่ 8 โอห์ม                                       40 W.RMS x 2 CH (Class A)

ความถี่ตอบสนอง                                                       20 Hz-35 Hz

ความเพี้ยน THD                                                       0.12%

อัตราส่วนสัญญาณต่อเสียงกวน (S/N)                     92 dB

ความไวขาเข้า  (ที่กำลังออกระบุ)                              400 mV.

อุณหภูมิใช้งาน                                                           0-40 องศา C

ความชื้น                                                                      20-80%

ขนาดเครื่อง (กว้าง x ลึก x สูง)                                  440 x 480 x 145 มม.

น้ำหนักเครื่อง                                                              21.5 กิโลกรัม

CIMG0443 copy

ผลการทดสอบ

265 Ai ที่ได้มาทดสอบเป็นเครื่องใหม่เอี่ยม ผมเป็นคนแกะกล่องเองเลยจากเครื่องเล่น CD T+A 1265 (ทรานซิสเตอร์) ต่อออกสายเสียง MADRIGAL CZ-Gel 2 (RCA) เข้าช่อง TAPE IN ของ 256 Ai ลองฟังไล่ INPUT ไปทีละชุด พบว่า ช่อง TAPE ให้มิติเสียงโฟกัส, หลุดลอยออกมา มีลีลาดีที่สุด ช่อง INPUT อื่นๆ ก็ใกล้เคียง แต่ TAPE จะดีที่สุด สายไฟ AC ผมขอใช้ของ CHORD (สีม่วง) ที่ผมใช้กับอินทีเกรทแอมป์ Mark Levinson No.383 อยู่ (เส้นละ 7-8 พันบาท) เพราะขี้เกียจมานั่งเบิร์นอินสายไฟ AC ของ 265 Ai เอง

จาก 265 Ai ออกสายลำโพง FURUKAWA S-2 (ตามทิศ) 2 ชุด ขั้วสาย WBT บานาน่า ทั้งด้านแอมป์และด้านลำโพง แยกสายลำโพง S-2 เป็น 2 ชุดอิสระไปยังลำโพง MONITOR AUDIO BR-5 (เอาหน้ากากออก) ไม่ให้สายลำโพงทั้ง 2 ชุดแตะกัน แยกชุดสายและยกสายสูงหนีพื้นห้อง, ทับบนสายให้นิ่ง ด้วยตั้งกระดาษพิมพ์ดีด (2 ตั้งยกสาย, 1 ตั้งแยกสาย 2 ชุด, 3 ตั้งทับบนสาย ที่จะถูกสาย จะเอกากระดาษห่อ (สีแดง…มีตะกั่ว) ออก ทำเหมือนกันทั้งซ้ายและขวา ฟังทิศทางสาย, ขั้วไฟ, ระวังมิให้สายต่างๆ แตะต้องกันหรือพันทับตัวเองมีผลึกอะมิทิส ขนาด 3 ฝ่ามือ อยู่ข้างๆ เครื่องเล่น CD

 

CIMG0442

 

เอียงลำโพง (TOE IN) เข้ามาจัดให้ได้ทั้งทรวดทรงมิติเสียง และสุ้มเสียงครบ (ขยับกันทีละกระเบียดเลย) ลำโพงซ้าย-ขวาห่างกันประมาณ 2.2 เมตร นั่งฟังห่างจากลำโพงประมาณ 3.6 เมตร ห้องฟังขนาดประมาณ 3.85 x 9 x 2.2 เมตร พื้นปูพรม ผนังบุฟองน้ำเก็บเสียง SONEX (สีขาว, เยอรมัน) มีของอื่นๆ ในห้องพอควร ไม่มีจอ LCD/PLASMA, ไม่มี WiFi เดินอยู่ในห้อง (มีแต่รั่วเข้ามา 4-5 HOTSPOT จากภายนอก), ไม่มีโทรศัพท์มือถือ, iPod, PC, รีโมท, นาฬิกาควอตซ์ใดๆ (แม้แต่นาฬิกาข้อมือควอตซ์) เปิดเพลงเบิร์นอิน 265 Ai ประมาณ 8 ชั่วโมง ตอนเจาะแจะภายใน 265 Ai อีก 3 ชั่วโมง เปิดแอร์อุณหภูมิ 25 องศา ปัดลมแอร์พุ่งลงหลังลำโพง (พัดลมที่ LOW) ห้องไม่ก้อง เร่งโวลลุ่มแค่ประมาณ 8 นาฬิกา ก็ดังเต็มห้องแล้ว (คิดว่า 265 Ai น่าจะทำแบบ Sliding Class A คือ ถ้าเร่งโวลลุ่มไม่มากนัก (อาจจะ 1 ใน 4) ภาคขยายปรับตัวเองป็น Class A แท้ๆ เลย แต่ถ้าเร่งโวลลุ่มมากกว่านั้น มันจะขยับเป็น Class AB (แต่คงหนักไปทาง A มากกว่า B) เพราะถ้าเป็น Class A แท้ๆ ตัวเครื่องจะต้องใหญ่กว่านี้ 3-4 เท่านั้น ราคาก็คงทะลุ 200,000 บาทขึ้นไป

เสียงที่ได้จะออกไปทางสว่าง, ใส, สด เสียงดังดีแต่น้ำหนักเสียงจะไม่เต็มที่สุด (ก็สมตามสเปคที่ 40 W.RMS/ข้างนั่นแหละ) ถือว่า โดยรวมๆ ฟังได้เฉกเช่นเดียวกับอินทีเกรทแอมป์กำลังขนาดนี้ ราคาพอๆ กัน ในท้องตลาด

การเจาะแจะ (เอาฝาบนออก)

จากนั้นผมจัดการแยกสายภายในแต่ละกลุ่ม ไม่ให้สายในกลุ่มแตะต้องกันเอง หรือแตะต้องน้อยที่สุด ปรากฏว่า เสียงมีมวลเนื้อหนังมากขึ้นประมาณ 8% เป็นตัวๆ มากขึ้น มีทรวดทรงดีขึ้น

ต่อมาผมหายางและแผ่นไม้บัลสา คือเท่าที่จะหาอะไรได้ที่ไม่ใช้โลหะมายกสายไฟสีดำที่ยิงจากหลังเครื่องไปหม้อแปลงไฟ ที่เดิมแนบแตะไปกับพื้นเครื่อง ให้สูงหนีพื้นเครื่อง ปรากฏว่า เสียงที่มีเนื้อหนัง ทรวดทรงดีขึ้น และหลุดลอยกระเด็นออกมาหาเรามากขึ้น สูง-ต่ำดีขึ้น เวทีเสียงโออ่าขึ้น ทุกอย่างดีขึ้นอีกประมาณ 8%

จากนั้นผมเอาไขควง 4 แฉกค่อยๆ ขันนอตที่อยู่ระหว่างขั้วรับ INPUT RCA ซ้าย, ขวา ของชุด TAPE IN ที่ใช้อยู่ออก เพื่อลดการรั่วกวนกันเอง (ทางสนามแม่เหล็กไฟฟ้า) ของสัญญาณซ้าย, ขวา ปรากฏว่า เสียงโฟกัสขึ้น รายละเอียดดีขึ้น (โฟกัสขึ้นประมาณ 10-12%) ฟังทิศทางฟิวส์หลังเครื่อง (ใต้สายไฟ AC) มองจากหลังเครื่องเข้าไปใช้ 250 V. อยู่ซ้ายมือ

ถึงตรงนี้ว่า โอเคมากแล้ว รวมๆ การดีขึ้นแบบทับซ้อนกัน จะได้ผลแบบทวีคูณ จากการฟัง น่าจะดีขึ้นร่วมๆ 25% อาการตื้อไม่มีอีกต่อไป การสอดใส่อารมณ์, ลีลาดีขึ้นสมกับเป็น Class A รายละเอียดหยุมหยิมดี น้ำเสียงสดแต่กลมกล่อม ไม่โพลน, สว่างเกิน ตอบสนองฉับไว ทรวดทรงมิติเสียงพอได้ ช่องไฟระหว่างชิ้นดนตรีดี ช่วงโหมหลายๆ ชิ้นไม่มั่ว น้ำหนักพลังเสียงเหลือเฟือ พอๆ กับภาคขยายระดับ 100 W.RMS/ข้าง (8 โอห์ม)

อีกวันต่อมา ได้ลองฟังอีกที เป็นเรื่องแปลกที่เสียงกลับแบนลง (เมื่อคืนที่ดีนั้น ตอนดึก 4-5 ทุ่มแล้ว) ความอวบหายไป

ในที่สุด ลองฟังเช็คทิศทางของหัวเสียบตัวยูของสายไฟ (เส้นสีแดง) ที่มาเข้าแผงขาออกซ้าย, ขวา (ใกล้ขดลวด ZOBEL NETWORK) เลือกที่ได้มิติโฟกัสกว่า (เดิมเขาเสียบมาซ้าย, ขวา ไม่เหมือนกัน ด้านหนึ่งตัวยูคว่ำ, ด้านหนึ่งตัวยูหงาย (ตกลงคว่ำทั้งคู่)

เอาไฟฉายส่องดูที่สายลำโพงจากแผงภาคขยายขาออกไปขั้วลำโพงด้านหลังภายในเครื่องเขาเอาสายลบของซีกซ้ายมัดกับสายลบของซีกขวา จึงจัดการแยกออกไม้ให้กวนกัน รวมทั้งแยกสายลบ (สีดำ) กับสายบวก (แดง) ออกจากกันด้วย พร้อมกับพยายามดัดสายที่เขาหักศอกมา ให้เหยียดโค้งออกเท่าที่จะทำได้ (การหักศอกสาย ไม่ว่าสายอะไร มักทำให้สายกร้าว)

พร้อมกับพยายามไม่ให้สายแพสีขาว (2 ชุด) ที่อยู่ติดกัน ไปแตะขั้วลำโพงนั้น (แม้จะมีปลอกยางหุ้มอยู่ก็ตาม) ปรากฏว่า มิติโฟกัสขึ้น มีรูปทรงขึ้นจริง (จริงๆ อยากยกสายแพสีขาวที่พาดกลางเครื่องนี้หนีห่างพื้นเครื่องด้วย)

ย้อนกลับมาหาสายสีดำที่เป็นสายไฟยิงจากหลังเครื่องมาเข้าหม้อแปลงกลมที่ได้เอาแผ่นยางยกสายไว้ (หนีพื้นเครื่อง) รู้ว่ายกยิ่งสูงจะยิ่งไปชนกับใต้แผงวงจรที่สายลอดผ่านอยู่ด้านล่าง ซึ่งแน่นอนว่าต้องไปถูกขั้วอุปกรณ์ และเส้นลายแผงวงจรนั้น เล็งไปเล็งมา ในที่สุด ตัดสินใจถอดนอตยึดขาตั้งแผงวงจรนี้แล้วเอาขาตั้งออก (มีนอตยึดอีกตัวใต้เครื่อง) จากนั้นขยับสายนี้ออกมาจากใต้แผงวงจร เอาไปเกาะที่ข้างแผงวงจรด้านนอก ไม่โดนสายอะไร ปรากฏว่า เสียงเป็นตัวตน ทรวดทรง และหลุดลอยออกมาหาเรามากขึ้น

ที่แปลกก็คือ เมื่อแยกสายเชื่อมหัวบาลานซ์ (BALANCE IN) ด้านในเครื่องที่มีการมัดร่วมกันของบาลานซ์ซ้ายและขวา ออกจากกัน ไม่แตะกัน เสียงโฟกัส มีรูปลักษณ์ดีขึ้น! สิ่งที่ทำมาทั้งหมด ใช้เวลาตอนค่ำ 3 วัน (วันละ 6 ชั่วโมง) เพราะต้องฟังทดสอบไป-มาตลอดเวลา

CIMG0419

ถึงตรงนี้ ถือได้ว่า เสียงเป็นตัวตนขึ้น การฟุ้งลดลงมาก เสียงยื่นออกมา, ลึกเข้าไป สีสูงต่ำดีขึ้น เวทีเสียงสะอาดโปร่งขึ้น ความกังวานดีขึ้นมาก เวทีเสียงโอ่อ่ากระจายกว้างออกขึ้น พูดง่ายๆ ว่า ดีกว่าสภาพเดิมสุด ค่อนข้างเยอะมาก (สัก 50% เป็นอย่างน้อย)

อย่างไรก็ตาม ถึงกระนั้นก็รู้สึกว่า เสียงไม่นิ่ง มีอาการวอกแวก บางครั้งเหมือนมีทรวดทรงไม่เลวแต่ฟังไปๆ ก็กลับฟุ้งไม่นิ่ง ทรวดทรงโดยรวมยังออกแบนไปหน่อย (แม้จะดีขึ้นพอควร) น้ำเสียงของดนตรีต่างชิ้นในวงยังดูลักลั่น ไม่กลมกลืนกัน โดยเฉพาะเรื่องมวลเสียง (BODY) ยังถือว่า ควรดีกว่านี้ (ก็ยังแปลกใจว่า เสียงอิ่มๆ ของคืนเมื่อวานมันหายไปไหน อย่างไรก็ตาม การเจาะและคืนนี้ ทำให้เสียงโปร่งทะลุ, ละเอียด, สะอาด, พลิ้วขึ้น ความคลุมเครือของความอวบนั้นลดลง

ในที่สุด ตัดสินใจเอาแผ่นตะกั่วที่มียางเหนียวในตัว (ที่เอามาจากญี่ปุ่น) ตัดแผ่นเล็กๆ ปิดที่ช่องรับสัญญาณรีโมทด้านซ้าย ปรากฏว่า ต้องร้องว่า โอโหเฮะ!

CIMG0431

มิติเสียงมีทรวดทรงขึ้นมาก โฟกัส นิ่งสนิทไม่วอกแวก ไม่ฟุ้ง เสียงหลุดลอยออกมาหาเราดีขึ้นมาก เวทีเสียงอะร้าอร่ามขึ้น กว้าง แผ่ออก ลึกไปหลังเวที ยื่นแบมาหาเรา ความอลังการของเวทีเสียงเป็นสิ่งบ่งบอกได้อย่างดีว่า ได้จากการแยก “ทุกภาค” จากขาเข้าถึงขาออก อิสระจากกัน 100% อีกทั้งทำให้ได้การสวิงเสียงที่ฉับไว หนักแน่น ดุจกำลังฟังภาคขยายข้างละ 100 W.RMS/CH ที่ 8 โอห์ม (จริงๆ จะบอกว่า เหมือนฟังภาคขยาย 200 W.RMS/CH ที่ 8 โอห์ม ก็เกรงว่าจะหาว่า พูดเกินจริงไปหรือเปล่า

พูดได้เต็มปากว่า ฟัง 265 Ai สภาพปกติเดิมจากโรงงาน เทียบกับตอนนี้ ต้องเรียกว่า หนังคนละม้วนเลย ต่างกันเกิน 100% เหมือนคนละเครื่อง คนละยี่ห้อ ตอนนี้แนวเสียงของ 265 Ai ออกไปในแนวเดียวกับอินทีเกรทแอมป์ Mark Levinson No.383 (ราคา 300,000 บาท) ที่ผมใช้อยู่ เป็นแต่ว่าความอิ่มของกลางลงต่ำ Mark จะอิ่มกว่า 25% อย่างไรก็ตาม เป็นใครได้มาฟัง 265 Ai ตอนนี้ผมเชื่อว่า “ช๊อค” จะบอกตัวเองว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้ทั้งมิติเสียง, สุ้มเสียง, เวทีเสียง, บรรยากาศสุดยอด แบบนี้จากอินทีเกรทแอมป์ (40 W+ 40 W) ราคา 49,500 บาทอย่างนี้

ขอขอบคุณ บริษัท ดิจิตอลไฮไฟ มีเดีย จำกัด โทร.0-2880-8241-6

ที่เอื้อเฟื้อเครื่องมาให้ทดสอบในครั้งนี้