Test Report: CASTLE Richmond Anniversary (2-way Bookshelf Speakers)
…เล็กพริกกะเหรี่ยง
มงคล อ่วมเรืองศรี
หากจะพูดถึง ‘Richmond’ ของ CASTLE แทบจะเรียกได้เลยว่า ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมๆ กับแบรนด์นี้ได้เลยทีเดียว ดังนั้นการออกจำหน่าย ‘Richmond Anniversary’ จึงเสมือนเป็นวาระการเฉลิมฉลองของ Castle Acoustics (ชื่อเดิมที่ใช้เรียกกัน) ย้อนอดีตไปสู่ยุครุ่งเรือง ก่อนที่จะมาอยู่ภายใต้การถือครองธุรกิจของ International Audio Group (IAG) ในปัจจุบัน
ผลิตภัณฑ์หลักของ CASTLE กอปรด้วยระบบลำโพงรุ่นต่างๆ บรรจุอยู่ใน 5 ซีรี่ส์ด้วยกัน ภายใต้ฝีมือการออกแบบของ Peter Comeau ผู้เป็นหัวหน้าทีมวิศวกร โดยที่ ‘Richmond Anniversary’ ได้ถูกจัดวางไว้เป็นซีรี่ส์พิเศษ แยกออกมาต่างหาก ซึ่งจริงๆ แล้ว “Richmond” นั้นเคยเป็นระบบลำโพง “รุ่นเล็กสุด” ของ CASTLE ในตระกูล Classic Series ที่คุณภาพเสียงที่ออกมานั้น “คับแก้ว” เกินราคาในสมัยเมื่อ 30 กว่าปีที่ล่วงมา ขนาดที่ว่าในปีค.ศ.1981 นั้น ‘Richmond’ ได้รับการยกย่องให้เป็น “Best Buy Hi-Fi Choice มาแล้ว “Richmond Anniversary” จึงเป็นรุ่นพิเศษเพื่อการหวนรำลึกนึกถึง “เจ้าเล็กพริกขึ้หนู” นี้ของ CASTLE ในแบบ Limited Edition นอกเหนือจากที่ CASTLE ได้เคยนำ ‘Richmond’ ออกมาปัดฝุ่น ปรับปรุงเป็นรุ่น “Richmond 3i” ในปีค.ศ.2004
….แน่นอน “Richmond Anniversary” ยังคงต้อง “ถอดแบบ” มาจาก Richmond ดั้งเดิม แต่ด้วยกาลเวลาที่ผันผ่าน หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป Richmond Anniversary จึงได้รับการปรับปรุงใหม่ให้ไฉไลกว่าเก่า ภายใต้โครงร่างภายนอกที่แทบไม่แตกต่างจากเวอร์ชั่นดั้งเดิม (‘Richmond’ เป็นชื่อปราสาทเก่าแก่สมัย Saxon ของอังกฤษตั้งอยู่ใน North Yorkshire)
Designed in UK./ Manufactured in PRC.
เฉกเช่นบริษัทผู้ผลิตลำโพงส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่หันไปใช้บริการจากจีนแผ่นดินใหญ่ ในการใช้โรงงานที่นั้นเป็นฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุนลงจนพอที่จะแข่งขันทางการค้าได้ในตลาดโลก CASTLE เองก็เลือกสรรหนึ่งในโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่ใน Shenzen เป็นฐานการผลิต ภายใต้การควบคุมดูแลคุณภาพอย่างใกล้ชิด ก่อนที่จะส่งกลับมา Q.C. ที่บริษัทแม่ในอังกฤษ CASTLE เลือกโรงงานที่ว่าด้วยเหตุว่าเป็นผู้ผลิตที่เชี่ยวชาญด้านเฟอร์นิเจอร์มาช้านาน สามารถทำการผลิตผิวตัวตู้แบบ real wood veneered ได้อย่างที่ CASTLE ต้องการ และแน่นอนโรงงานผลิตนี้ยังใช้ฝีมือของคนล้วนๆ ทำการผลิตในแต่ละขั้นตอนอย่างพิถีพิถันแทนที่จะใช้หุ่นยนต์หรือเครื่องมือสารพัดอย่าง ชิ้นงานลำโพงแต่ละตู้จึงสวยงามไม่ต่างจากเฟอร์นิเจอร์ราคาแพง
คุณลักษณ์
“Richmond Anniversary” ยังคงเป็นระบบลำโพงวางขาตั้งขนาดกะทัดรัด-เล็กที่สุดของ CASTLE ด้วยเป้าหมายของการเป็น studio monitor ภายใต้รูปลักษณ์ตัวตู้ที่ดูสวยงามดุจงานเฟอร์นิเจอร์ ในแบบ 2-ทาง ตู้เปิดด้านหลัง ทำให้ผู้ฟังสามารถกำหนดลักษณะ “ความหนา” ของช่วงย่านเสียงต่ำที่รับฟังได้ตามรสนิยมความชื่นชอบ หรือตามสภาพลักษณะอะคูสติกของห้องที่ใช้ฟัง จากการตั้งวางตามระยะที่-หนีห่าง-จากตัวตู้ลำโพงไปยังผนังด้านหลัง ทว่ามิติขนาดตัวตู้ดูจะมีการปรับเปลี่ยนไปจาก Richmond ดั้งเดิมเล็กน้อย ความสูงยังคงเหมือนเดิมที่ 280 มม. ความกว้างเท่ากับ 165 มม.ทว่าความลึกเพิ่มไปอยู่ที่ 235 มม. หากแต่ความสำเร็จแท้จริงนั้นอยู่ภายในตัวตู้ซึ่งมีน้ำหนักถึง 5.1 กก.ในแต่ละข้าง
นั่นคือวิศวกรของ CASTLE สามารถลดทอนแรงสั่นสะเทือนทางโครงสร้างภายในตัวตู้ รวมถึงเรโซแนนซ์ของผนังตัวตู้ได้อย่างสัมฤทธิ์ผล ด้วยการใช้ multi-layer, composite panel materials ควบคู่กับ internal bracing หรือ การคาดโครงคร่าวภายในเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางโครงสร้างตัวตู้ ในขณะเดียวกันก็นำเอา bitumen damping pads มาแปะติดที่ผนังตัวตู้ พร้อมๆ กับการใช้ fibre weave (เส้นใยถักทอ) ในการซึมซับพลังงานเสียงภายใน และช่วยสลายแรงสั่นสะเทือน ซึ่งนี่ทำให้ “ตัวตู้” ของ Richmond Anniversary -เงียบสงัด- ไม่ส่งเสียงรบกวน-สอดแทรก ออกมาเจือปนกับเสียงแท้จริงของตัวลำโพง
จุดโดดเด่นของ Richmond Anniversary อยู่ที่การจัดวางมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์เอาไว้ด้านบนทวีตเตอร์ มิได้ติดตั้งให้ทวีตเตอร์อยู่ด้านบนเหนือตำแหน่งตัวลำโพงมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์เช่นที่เรา-ท่านคุ้นตากัน แต่กลับติดตั้งวางทวีตเตอร์ไว้ด้านล่างตำแหน่งตัวลำโพงมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์เยื้องเป็นมุมกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ด้วยเหตุผลที่ว่า เพื่อให้ถูกต้องตามหลักการ time alignment นั่นเอง อีกทั้งยังก่อประโยชน์ในด้านที่ว่า ทวีตเตอร์ได้ถูกจัดวางไว้ในตำแหน่งที่แคบสุดบนแผงหน้าเพราะอยู่บริเวณใกล้ขอบมุมตัวตู้ จึงมีพื้นที่สะท้อน-ย้อนออกมาของเสียงจากแผงหน้าตัวตู้ที่น้อยกว่าธรรมดา ดังนั้น Richmond Anniversary ในแต่ละข้าง (ซ้าย-ขวา) จึงมีลักษณะเป็นเงาสะท้อนของกันและกัน (mirror image)
ซึ่งไดรเวอร์เหล่านี้ล้วนเป็น updated versions ที่ยกระดับพัฒนาการจาก Richmond 3 เพื่อให้สามารถตอบสนองต่ออุปกรณ์เครื่องเสียงยุคใหม่ๆ ที่ให้เรนจ์การทำงานได้อย่างกว้างขวางกว่าในสมัยอดีต ทว่ายังคงมีเป้าหมายของการส่งมอบลักษณะเสียงที่มีความถูกต้องเป็นธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นเสียงดนตรีหรือว่าเสียงใดๆ ทั้งยังต้องให้ความมีตัวตนของเสียงอย่างสมจริงอีกด้วย โดยมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ที่มีขนาด 130 มม.นั้นขึ้นรูปจากวัสดุ woven carbon fibre cone ที่ให้ค่าความแกร่งสูงในขณะที่มีมวลเบา ทำให้ตัวกรวยสามารถถูกขับเคลื่อนและหยุดยั้งได้อย่างฉับไว เพราะไม่สะสมพลังงานความเฉื่อยไว้ในตัว ส่วนทวีตเตอร์เป็นแบบ polyamide micro-fibre dome ขนาด 19 มม. ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่สามารถครอบคลุมช่วงความถี่ตอบสนองได้เป็นช่วงกว้างมาก
Peter Comeau ผู้ออกแบบได้กำหนดให้มิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ใน Richmond Anniversary ทำงานในแบบ pass band ซึ่งปล่อยให้มิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ได้ทำงานจนสุดสมรรถนะไม่ไปจำกัดขอบเขต จากนั้นเหนือขึ้นไปจึงเป็นภาระหน้าที่ของทวีตเตอร์เข้ามารับช่วงต่อไปจนครอบคลุมตลอดช่วงความถี่ตอบสนองขึ้นไปสุดซอยจริงๆ วงจรครอสโอเวอร์ของ Richmond Anniversary จึงสุดแสนเรียบง่ายและมีอุปกรณ์น้อยชิ้นสุดๆ ภายใต้ลักษณะการตัดกรอง/แบ่งช่วงความถี่แบบ Linkwitz-Riley ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ให้เหมาะสม-สอดคล้องกับการทำงานของไดรเวอร์โดยรวม ด้วยการใช้คอยล์แกนอากาศขนาดใหญ่ร่วมกับคาปาซิเตอร์แบบ polypropylene ส่วนค่าความไวเสียง (sensitivity) นั้นได้เพิ่มขึ้นมาจากรุ่นดั้งเดิมอีก 2 ดีบีมาอยู่ที่ 88 ดีบี โดยมีช่วงตอบสนองความถี่เสียงครอบคลุมตั้งแต่ 60 Hz – 20 kHz สามารถรองรับกำลังขับได้ในช่วง 15-80 วัตต์ พร้อมขั้วเสียบสายลำโพงแบบ ไบ-วายร์
ผลการรับฟัง
ในคู่มือใช้งานของ Richmond Anniversary มิได้ระบุแนะนำลักษณะการตั้งวางใดๆ ไว้ ดังนั้นการรับฟังของผมจึงยึดหลักสามเหลี่ยมด้านเท่า ซึ่งขอแนะนำให้ตั้งวางระบบลำโพงแต่ละข้างห่างกันอย่างน้อย 1.5 เมตร และแนวตั้งวางระบบลำโพงห่างจากตำแหน่งนั่งฟังประมาณ 3 เมตร ส่วนระยะห่างจากผนังหลังลำโพงอย่างน้อยควรจะสัก 0.5 เมตร และระยะห่างจากผนังด้านข้างอย่างน้อยก็ควรจะสัก 0.8 เมตร โดยไม่จำเป็นต้องโท-อิน หรือ หากจะรับฟังในลักษณะของ near-field ในห้องเล็กๆ ก็ให้โท-อินราวๆ สักประมาณ 5-10 องศา
ซึ่งจากการรับฟังในห้องของผมพบว่าจะได้รับ “สิ่งดีที่สุด” จาก ‘Richmond Anniversary’ ได้ถึงขนาดที่ว่าเสมือนลำโพงทั้งคู่ล่องหนหายไป มีเพียงสรรพเสียงที่รับฟัง ที่มิได้เปล่งออกมาจากตู้ลำโพงเลยกระนั้น จากตำแหน่งตั้งวางห่างจากผนังหลังลำโพง 183 ซม. ห่างจากผนังด้านข้าง 145 ซม. ระยะห่างระหว่างระบบลำโพงทั้งสองอยู่ที่ 154 ซม. และตำแหน่งนั่งฟังจะอยู่ห่างจากแนวเส้นตั้งวางระบบลำโพงเกือบๆ 3 เมตร
ลักษณะเสียงที่รับฟัง ‘Richmond Anniversary’ จะมีความฉับไวมาก ให้ความกระจ่างสดใสในช่วงย่านเสียงสูง พร้อมด้วยหางเสียงที่มีประกายทอดตัวยาวไกล ช่วงย่านเสียงกลางที่แยกแยะรายละเอียดได้ดี ช่วงย่านเสียงต่ำเก็บตัวได้ไวไม่รุ่มร่าม ที่สำคัญรับรองว่า ไม่พลาดกับสภาพบรรยากาศการแสดงในสถานที่ที่บันทึกเสียงนั้น (atmosphere) แน่นอน จนต้องยกนิ้วให้ ส่วนในช่วงย่านเสียงกลางและสูง ต้องยอมรับครับว่า ‘Richmond Anniversary’ ให้ความละเมียดละไมดีมาก อ่อนหวาน กังวาน นวลนุ่มและพละพลิ้ว เป็นลักษณะน้ำเสียงที่เปี่ยมในความมีชีวิตชีวา
ทางด้านอิมเมจ-ซาวด์สเตจนั้น ‘Richmond Anniversary’ ดูจะมีความโดดเด่นมากเป็นพิเศษ สามารถจำแนกแยกแยะแถวชั้นของตำแหน่งชิ้นดนตรีได้อย่างมีอาณาบริเวณเป็นอิสระ ปราศจาการเบียดบัง กลบซ้อนทับกัน ทั้งยังถอยลึกเข้าไปหลังตำแหน่งตั้งวางระบบลำโพง พร้อมด้วยมวลอากาศรายรอบ สรรพเสียงที่ ‘Richmond Anniversary’ ถ่ายทอดออกมาจึงมีความอิ่มฉ่ำไม่แหบแห้ง ให้ความพละพลิ้ว เต็มเปี่ยมด้วยชีวิตชีวา พร้อมด้วย “สนามเสียง” ที่กว้างขวาง กระจายตัว มีการโอบล้อมของบรรยากาศรายรอบ พร้อมด้วยความลึกที่โดดเด่น
เริ่มแรกหยิบเอาแผ่นซีดีธรรมดา ผลิตแผ่นในอเมริกาชุด Live in America ของ KITARO ก็พบว่าช่วงต้นของเพลงแรกที่มีเสียงฟ้าร้องครืนครั่นนั้น ‘Richmond Anniversary’ สามารถถ่ายทอด-บ่งบอกออกมาอย่างน่าทึ่งมาก ทรงพลังคำรามคำรน สะท้านสะเทือนดีทีเดียว โดยเสียงฟ้าร้องนั้นลอยอยู่ข้างบน ซึ่งมิใช่ว่าลอยอยู่เหนือลำโพงหรอกนะ หากแต่ลอยตัวขึ้นไปสูงอยู่ในระดับเพดานห้อง ให้บรรยากาศอันสมจริงกันเลยทีเดียว
จากนั้นหยิบเอาแผ่น Happy Trails (Round-up 2) ของ TELARC มาเปิดฟังแค่เพลงแรกที่เป็นเสียงต้อนฝูงวัวของเหล่าคาวบอย ก็รับรู้ถึงความตลบอบอวลคละคลุ้งของฝุ่นผงธุลีดินที่ ‘Richmond Anniversary’ ถ่ายทอดออกมา ชนิดที่ว่าน่าทึ่งมากทีเดียว ต่อด้วยแผ่นซีดี POSTCARDS ของสังกัด RR recording ที่สามารถโชว์ศักยภาพในการส่งมอบสภาพบรรยากาศเสียงได้โดดเด่นมาก ในเพลงที่ 4 จะรับฟังความสดหวานของเสียงประสาน สามารถได้ยินเสียงสูดลมหายใจของนักร้องประสานเสียงกว่า 200 ชีวิต The Turtle Creek Chorale ได้อย่างชัดเจน
ตามด้วยแผ่น POMP & PIPES! ของสังกัด RR recording ซึ่งบันทึกมาดีมาก บอกตรงๆ ว่า ผมอยากจะรู้ว่าเมื่อต้องเผชิญเข้ากับลักษณะเพลงคลาสิก ที่โหมกระหน่ำ ประโคมกึกก้อง หนักหน่วงนั้น ‘Richmond Anniversary’ จะเป็นอย่างไร ก็ต้องบอกว่า “สอบผ่านดีเกินคาด” คุณจะไม่เชื่อเลยว่า ลำโพงตัวกระจ้อยสูงไม่เกินไม้บรรทัด จะสามารถรองรับกับแนวดนตรีคลาสสิกได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งสามารถบ่งบอกความอลังการของเสียง ไม่ว่าจะเป็นเพลงร้องประสานเสียงของผู้คนจำนวนเรือนร้อย เพลงประโคมของวงออร์เคสตร้าเครื่องดนตรีกว่าร้อยชิ้น ‘Richmond Anniversary’ ก็สามารถจำลองสภาพโถงบันทึกเสียงขนาดใหญ่ เอามาไว้ในห้องฟังโดยไม่มีอาการเบลอหรือเสียงแตกพร่า แม้ว่าจะรับฟังที่ระดับความดังเกิน 11 นาฬิกา …!
จากแผ่นซีดีชุด The Percussion Ensenble ของ Golden Strings Records จะรับฟังได้ถึงความลึกของเวทีเสียง และสนามเสียงที่แผ่กว้าง-แยกแยะแถวชั้น-ตำแหน่งเสียงที่ไม่ซ้อนทับกัน และไม่มีเสียงใดๆ ที่ล้ำหน้าเกินกว่าแนวตำแหน่งตั้งวางลำโพงออกมา บรรยากาศของโถงแสดงดนตรีเป็นอีกสิ่งที่ชัดเจนมาก ให้การรับรู้ถึงความโอฬารของสถานที่บันทึกเสียง พร้อมด้วยความกังวานของเสียงช่วยให้การรับฟังมีความอบอวลของมวลอากาศอย่างสมจริงในเหตุการณ์ที่รับฟัง
หากเป็นการ Blind Test รับรองว่า ใครๆ ที่ได้รับฟัง Richmond Anniversary จะต้องคิดว่า น่าจะเป็นเสียงของวูฟเฟอร์ขนาดไม่ต่ำกว่า 6.5 นิ้ว เพราะน้ำหนักของเสียงต่ำที่ส่งมอบออกมานั้นให้ความสมดุลที่ดีมาก …แน่นอนว่า แรงกระแทกกระทั้นจาก Richmond Anniversary อาจไม่อัดแน่นซะใจในความรู้สึก แต่ก็พูดได้ว่า ไม่ขาดแคลน… จากความรู้สึกของผมที่รับฟังบอกตามตรงว่า “น่าทึ่งมาก” ที่ไดรเวอร์ขนาดเพียงแค่ 13 ซม.จะถ่ายทอดเสียงทุ้มที่ทอดตัวลงไปลึกได้ขนาดนั้น
อานิสงส์ของมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ที่ทำจาก woven carbon fibre cone ได้ส่งผลออกมาดีมาก นอกจากจะให้น้ำหนักเสียงต่ำได้แน่นและกระชับแล้ว ยังสามารถติดตามจังหวะจะโคนของการไล่คอร์ดเบสได้อย่างมันในอารมณ์ ทั้งยังแยกแยะเสียงเบสกับกลองกระเดื่องได้ด้วยน้ำหนักเสียงที่ต่างกันชัดเจน ข้อดีที่สำคัญอีกประการของการใช้มิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ขนาด 13 ซม.นี้ก็คือ “ความกลมกลืนกัน” ของช่วงย่านเสียงกลางกับช่วงย่านเสียงต่ำ ที่เป็นเนื้อเสียงเดียวกันอย่างนวลเนียนไร้ตะเข็บช่วงรอยต่อ (seamless) สอดรับกับช่วงภาระขับขานของทวีตเตอร์ทำให้ได้รายละเอียดของช่วงย่านเสียงกลางที่มีมวล-น้ำหนักช่วยเพิ่ม “ความมีตัวตน” ของเสียงต่างๆ อย่างดีมากๆ ทีเดียว
เสียงกีตาร์-เสียงเปียโน-เสียงไวโอลิน-เสียงเครื่องสายทั้งหลายเรียกได้ว่า แทบจะมองเห็นเป็นเส้นสายที่สั่นไหวกันเลยทีเดียว น่าฉงนใจที่ ‘Richmond Anniversary’ มิได้ใช้ทวีตเตอร์แบบโดมโลหะ แต่กลับสามารถส่งมอบบุคลิกเสียงที่สดใส ฉับไว เปล่งประกาย ให้ความกังวานของหางเสียงสูงที่แจ่มชัด ทอดตัวยาวไกล พร้อมๆ กับความฉ่ำชุ่มนุ่มนวลอย่างเป็นธรรมชาติ
เมื่อหยิบจับแผ่นซีดีชุด a view from the edge ของศิลปิน Chekfield สังกัด American Gramophone เจ้า Richmond Anniversary จะทำให้คุณรู้สึกราวกับกำลังถูกโอบล้อมอยู่ด้วยสนามเสียง กระหนาบตัวคุณอยู่ทั้งด้านหน้า-ด้านหลัง และด้านข้าง สร้างความหฤหรรษ์ในขณะรับฟัง – น่าทึ่งมากๆ และจากแผ่นซีดีชุด A Meeting by The River ของสังกัด Water Lily Acoustics นอกจากจะราวกับ Ry Cooder และ Vishwa Mohan Bhatt กำลังนั่งดีด Bottleneck Guitar และ Mohan Vina อยู่ตรงหน้าเยื้องไปซ้าย-ขวาแล้ว หลังลึกเข้าไปยังมีนักดนตรีอีก 2 ท่านกำลังเล่นเครื่องเคาะจังหวะอยู่ …โอ้ โฮ สุดยอดครับ ไม่นึกว่าจะได้รับฟังอะไรอย่างนี้จากระบบลำโพงระดับราคาขนาดนี้เลยจริงๆ
ครั้นลองนำแผ่นเพลงร้องมาเปิดฟังชุด Voice ของสังกัด ALR- JORDAN ไม่ว่าจะเป็นเสียงของ Cheryl Wheeler, Rebecca Pidgeon, Mary Stallings, Sara K., Alison Krauss, … ล้วนให้ความมีตัวมีตน มีชีวิตชีวา มีวิญญาณราวกับกำลังยืนร้องให้เราฟังกันสดๆ อยู่ต่อหน้าเลยจริงๆ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเสียงนักร้องหรือเครื่องดนตรีชิ้นใดก็ตามจะถูกถ่ายทอดออกมาด้วยองค์ประกอบต่างๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ
แน่นอนว่า Richmond Anniversary คงความโดดเด่นในด้านการถ่ายทอดสภาพบรรยากาศเสียงได้อย่างสมจริง เหมาะสมตามขนาดสถานที่ที่ทำการบันทึกเสียงนั้น เสียงทุกเสียงไม่หดห้วนโดยมีมวลอากาศทอดตัวเป็นอณูเสียงแผ่ขยายเป็นความกังวาน ไร้ซึ่งความจัดจ้านใดๆ มีแต่ความพละพลิ้ว เนียนนุ่ม ละมุนละไม (ออกไปทางหวานละมุน เมื่อถูกขับขานจากแอมป์ Class A) ยิ่งฟังก็ยิ่งเพลิน จนลืมเวลา …นับเป็นความประทับใจที่ไม่คิดว่าจะได้รับจากระบบลำโพงระดับราคาเพียงแค่นี้จริงๆ ครับ !! ขอย้ำ
สรุปส่งท้าย
ตัวเล็กแต่คุณภาพ “เยี่ยม” …..เสียงสด-กระจ่าง-เปี่ยมบรรยากาศ-เป็นธรรมชาติ – – – น่าจะเป็นนิยามที่ใช้บ่งบอก “ตัวตน” ของ Richmond Anniversary ได้อย่างตรงประเด็น ‘Richmond Anniversary’ นั้นเหมาะเจาะมากกับการรับฟังจากแนวเพลงร้องที่จะรับรู้ได้ถึงความลอยตัวของเสียงนักร้อง แยกออกมาจากพื้นเสียงดนตรีที่กำลังบรรเลง มีเนื้อมีหนังมีชีวิตมีวิญญาณ (ลมหายใจ) ให้ความกลมมนมีตัวตนของเสียง ยิ่งฟังยิ่งเพลิดเพลิน โดยเฉพาะรายละเอียดเสียงเล็กๆ น้อยๆ หรือประกายเสียงอันแผ่วเบา ที่อุบัติขึ้นอย่างฉับพลันทันใด อย่าว่าแต่เสียงสูดลมหายใจเลย เสียงขึ้นจมูกแบบเป็นหวัดก็ยังถูกฟ้องออกมาได้
ทว่าจากความที่ ‘Richmond Anniversary’ นั้นมีค่าความไวเสียงอยู่ในระดับปานกลาง ขอแนะนำให้เลือกใช้แอมปลิไฟเออร์ที่มีกำลังขับสัก 50 วัตต์ขึ้นไปมาใช้งาน จึงจะได้มาซึ่งสภาพเสียงที่ “เต็มอิ่ม” จาก Richmond Anniversary อย่างที่ควรจะเป็น กระนั้นจากการรับฟังก็มิได้รับความหนักหน่วง โหมกระหน่ำของช่วงความถี่เสียงต่ำจาก Richmond Anniversary อย่างกระหึ่มกึกก้องนัก แต่ทว่าตลอดช่วงที่รับฟัง ผมก็มิได้รู้สึกว่า ขาดแคลนแรงปะทะ (impact) แต่อย่างใด กลับจะรู้สึกว่า นี่น่าจะเป็นเคล็ดลับที่ทำให้ ‘Richmond Anniversary’ มีสุ่มเสียงที่เนียน ละเอียด สดใส และฉับไว รวมทั้งให้ความอวบอิ่มมีน้ำนวลตลอดช่วงภาระการทำงานของมัน…
เนื่องจาก Richmond Anniversary เป็นระบบลำโพงแบบวางขาตั้ง ความสูงของขาตั้งจึงเป็นเรื่องสำคัญ อันส่งผลต่อคุณภาพเสียงและสมรรถนะของระบบลำโพงโดยตรง ซึ่งผมพบว่า ขอให้ใช้ขาตั้งที่มีความสูง 24 หรือ 26 นิ้วไปเลย จะให้ผลทางด้านอิมเมจ-ซาวด์สเตจและการรับรู้ถึงสภาพบรรยากาศเสียงที่ดีกว่าขาตั้งที่เตี้ยกว่านี้ครับ
หมายเหตุ : ไล่ย้อนหลังไปในปีค.ศ.1932, บุรุษนามว่า Gilbert Briggs จากเมือง Bradford ได้ก่อตั้งบริษัท The Wharfedale Wireless Company ขึ้นมา ด้วยจุดประสงค์ในการออกแบบและผลิตลำโพงที่สามารถให้กำเนิดสรรพเสียงได้อย่างแม่นยำ ถูกต้องเป็นธรรมชาติ-มากที่สุดเท่าที่จะทำได้-ในยุคสมัยนั้น ซึ่งนั่นนับเป็นมรดกตกทอดที่มอบสู่การก่อกำเนิดขึ้นของ Castle Acoustics ที่แยกตัวออกมาจาก Wharfedale ในเวลาต่อมา …ทว่าในอีกร่วมๆ 20 ปีถัดมาเหล่าผู้ก่อตั้งในวัยใกล้เกษียณก็ได้ส่งผ่านกิจการสู่ผู้สืบทอดรุ่นที่ 2 ซึ่งล้วนเป็น “เลือดใหม่-กลุ่มใหม่” มิใช่กลุ่มผู้ก่อตั้งดั้งเดิม และต่างก็มองเห็นว่า –น่าจะขายกิจการนี้ออกไป- เนื่องเพราะการเจริญเติบโตอย่างมากของ Wharfedale เองนั่นแหละเป็นสาเหตุ
ในช่วงยุคปี’60-70, กิจการของ Wharfedale ขยายตัวอย่างมาก ถึงขนาดได้รับขนานนามว่า “British hi-fi” และจากการขยายตัวนี้ทำให้ขั้นตอนการผลิตจำต้องได้รับการปรับเปลี่ยนจากการผลิตด้วยมือล้วนๆ มาสู่แนวทางของ mass production ซึ่งแน่นอนย่อมต้องส่งผลสะท้อนสู่เรื่องของ-คุณภาพ-ในเวลาต่อมา ดังนั้นเพื่อดำรงรักษาความเป็น Wharfedale ไว้ กิจการในเครืออย่าง Castle Acoustics จึงถูกขายออกไป ทำให้ ‘CASTLE’ ในทุกวันนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของ International Audio Group หรือ IAG ซึ่งมีสองศรีพี่น้องชาวไต้หวัน Bernard และ Michael Chang เป็นเจ้าของ ฐานใหญ่ตั้งอยู่ในเมือง Huntingdon สหราชอาณาจักร โดยได้ครอบครองแบรนด์ต่างๆ ที่เคยได้ชื่อ “British hi-fi” มาอยู่ในมือ ดังนี้ Wharfedale, Quad Electroacoustics, Mission, Tag McLaren, Audiolab และ Castle Acoustics
แน่นอนว่าทาง IAG คงมิได้บริหารจัดการ CASTLE แต่เพียงลำพัง โดยยังคงจัดจ้าง Peter Comeau ผู้เป็นบุตรชายของหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Castle Acoustics ให้ทำหน้าที่ the head of engineering – หัวหน้าทีมวิศวกรของ CASTLE อย่างเต็มตัว
ขอขอบคุณ บริษัท อินเทนเนีย จำกัด โทร.0-2934-6997 ที่เอื้อเฟือ CASTLE Richmond Anniversary มาให้ได้ทดสอบกันในครั้งนี้
………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..