Test Report: B.M.C. MCCI
MC phono preamplifier
เกริ่นนำ
หากย้อนอดีตกลับไปเมื่อครั้งที่ยังไม่มี CD ถือกำเนิดขึ้นมา ตัวกลางในการเก็บบันทึกและก่อกำเนิดสัญญาณสำคัญที่ยอมรับกันทั่วไปว่า มีคุณภาพเสียงได้ความเป็น ไฮ-ฟิเดลิตี้สูงสุดก็คือ แผ่นเสียง ซึ่งปรีแอมป์และอินทีเกรทแอมป์ทุกเครื่องที่ถูกผลิตขึ้น ล้วนต้องมีวงจรภาคขยายสัญญาณหัวเข็มติดตั้งมาด้วยเสร็จสรรพ อย่างน้อยก็ต้องพร้อมรองรับกับการขยายสัญญาณจากหัวเข็มแบบ แม่เหล็กเคลื่อนที่ หรือ Moving Magnet (MM) แต่หากสุดยอดกันจริงๆ แล้วก็ต้องรองรับได้กับการขยายสัญญาณจากหัวเข็มแบบ ขดลวดเคลื่อนที่ หรือ Moving Coil (MC) ที่สามารถปรับค่าอิมพีแดนซ์และค่าคาปาซิเตอร์ได้อย่างละเอียด เพื่อให้ได้มาซึ่งสมรรถนะของหัวเข็มที่นำมาใช้งานได้อย่างเต็มที่
เมื่อกาลเวลาผันผ่านความนิยมใน CD ได้แทรกตัวเข้ามาแทนที่การรับฟังจากแผ่นเสียง นับตั้งแต่ปีค.ศ.1980 ที่ CD ได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นต้นมา (จากการที่เก็บรักษาและใช้งานง่ายทั้งยังพกพาสะดวก) หลายต่อหลายบริษัทผู้ผลิตแอมปลิไฟเออร์ต่างทยอยตัดวงจรภาคขยายสัญญาณหัวเข็มออกไป เพราะไม่มีความจำเป็นในการใช้งาน* ปัจจุบันเรา-ท่านจึงแทบจะไม่พบช่องรับสัญญาณขาเข้าที่มีตัวอักษรกำกับว่า “PHONO” กันเลย ปรีแอมป์และอินทีเกรทแอมป์ในทุกวันนี้ส่วนใหญ่จึงทำหน้าที่รับเฉพาะสัญญาณขาเข้าที่เป็น “Line Level” เท่านั้น
ใครก็ตามที่ยังคงความนิยมในแผ่นเสียง จึงต้องขวนขวายหาอุปกรณ์ภาคขยายสัญญาณหัวเข็มมาใช้งานเพิ่มเติม เพื่อทำการขยายสัญญาณอ่อนๆ เพียงไม่กี่มิลลิโวลต์จากหัวเข็ม MM หรือไม่ถึง 1 มิลลิโวลต์เสียด้วยซ้ำจากหัวเข็ม MC ให้มีความแรงของสัญญาณ (ค่าดีบีสูง/ค่าทีเอชดีต่ำสุด) ในระดับ Line Level พอเพียงที่จะพ่วงต่อสัญญาณขาออกเข้าสู่ช่อง AUX ของปรีแอมป์หรืออินทีเกรทแอมป์ที่ใช้งานอยู่ในระวาง แท้จริงแล้วหน้าที่ของอุปกรณ์ภาคขยายสัญญาณหัวเข็มยังมีแฝงเร้นอยู่อีก นอกเหนือจากที่กล่าวแล้ว ทั้งยังเป็นประการสำคัญที่สุดด้วย
ในการบันทึกแผ่นเสียงนั้นเขาจะตัดกรองเอาค่าความถี่ต่ำๆ ทิ้งไป เพราะร่องแผ่นเสียงนั้นขนาดของมันไม่สามารถรองรับกับขนาดความยาวช่วงคลื่นของความถี่ต่ำๆ ได้ ในขณะที่ค่าความถี่สูงๆ ก็จะถูกขับเน้นขึ้นไป เพื่อให้มีขนาดอันเหมาะสมกับร่องแผ่นเสียงและการทำงานของหัวเข็ม ตามที่มีมาตรฐานของ RIAA (Record Industries Association of America) กำหนดไว้ เมื่อเราเล่นแผ่นเสียงหัวเข็มจะครูดไปตามผนังร่องแผ่นเสียงทั้ง 2 ข้างเกิดเป็นสัญญาณไฟฟ้าที่มีแรงดันอ่อนมาก 2 แชนแนล (ในระบบสเตอริโอ) ขึ้นมา ส่งต่อให้กับภาคขยายสัญญาณหัวเข็มเพื่อทำหน้าที่ขยายแรงดันไฟฟ้าที่อ่อนมากนั้นให้แรงขึ้น ทั้งยังต้องทำการอิควอไลซ์ (equalizing) สัญญาณที่ได้นั้นให้มีความถูกต้อง (ตรงตามมาตรฐานที่กำหนดของ RIAA) ด้วยการ “สร้าง” สัญญาณความถี่ต่ำขึ้นมา พร้อมๆ กับ “กด” สัญญาณความถี่สูงลงไปอย่างพอเหมาะพอสม นี่แหละคือประการสำคัญอันเป็นที่สุด
ดังนั้นใช่ว่า ใครคิดอยากจะทำอุปกรณ์ภาคขยายสัญญาณหัวเข็มขึ้นมาใช้งานก็ทำได้ง่ายๆ เหมือนการออกแบบแอมปลิไฟเออร์ เพราะจะต้องทราบข้อมูลว่า จะต้องสร้างหรือสังเคราะห์สัญญาณความถี่ต่ำขึ้นมาจากสัญญาณความถี่เสียงกลางที่มีอยู่เป็นหลักนั้นสักกี่ดีบี และจะต้องลดระดับสัญญาณความถี่เสียงสูงลงไปจากเดิมสักกี่ดีบี จึงจะมีความกลมกลืนกับสัญญาณเสียงโดยรวม ฟังแล้วสอดคล้องต้องกันเป็นธรรมชาติ เบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริงให้น้อยที่สุด ไหนยังจะต้องคำนึงถึงเรื่องของเกนการขยายสัญญาณที่ต้องสูงมาก (จากสัญญาณที่อ่อนมากๆ ให้มีระดับความแรงสัญญาณที่แรงพอ) ในขณะที่ยังจะต้องรักษาค่าความผิดเพี้ยนทางเสียงไว้ให้ต่ำสุดๆ ไปพร้อมๆ กัน ทั้งหลายทั้งปวงจึงเป็นเรื่องท้าทายความสามารถของผู้ที่คิดจะออกแบบอุปกรณ์ภาคขยายสัญญาณหัวเข็มขึ้นมาใช้งานหรือจำหน่าย
สมัยก่อนที่ปรีแอมป์และอินทีเกรทแอมป์ยังคงมีช่องรับสัญญาณขาเข้า “PHONO” อยู่นั้น ว่ากันว่าเกือบครึ่งหรือกว่า 1 ใน 3 ของต้นทุนการผลิต จะเป็นราคาค่าตัวของภาคขยายสัญญาณหัวเข็มนั้นเลยเชียวแหละ เพราะต่างก็แข่งขันกันในเรื่องค่า “ความแม่นยำ” ของการตอบสนองช่วงความถี่เสียงตามมาตรฐานของ RIAA (RIAA response accuracy) ว่าใครจะทำได้เบี่ยงเบนไปน้อยที่สุด ซึ่งเคยถือกันว่าหากเบี่ยงเบนไปเพียง -/+ 1 ดีบีก็นับว่า เจ๋งสุดๆ ระดับจ้าวยุทธจักรกันแล้วเมื่อสมัยยี่สิบกว่าที่ล่วงมา
inside … B.M.C.
Bernd Hugo และ Carlos Candeias ได้ร่วมกันก่อตั้ง B.M.C. Audio GmbH ขึ้นมาในเดือนมกราคม ปีค.ศ.2009 ด้วยการใช้ชื่อที่ย่อมาจากชื่อเต็มๆ ว่า “Balanced Music Concept” โดยมีจุดมุ่งหมายในอันที่จะสรรค์สร้างเครื่องเสียงระดับ state-of-the-art ในระดับราคาที่พอเหมาะพอสม-ไม่โอเวอร์ ซึ่งเพื่อการนี้นั้น เฉพาะแผนกออกแบบและสำนักงานใหญ่ของ B.M.C. Audio GmbH จึงตั้งอยู่ในเยอรมนี ในขณะที่ฝ่ายการผลิตทั้งหมดล้วนตั้งอยู่ที่โรงงานในประเทศจีน (ซึ่ง BMC Audio GmbH เป็นเจ้าของ โดยลงทุนเองทั้งหมด) ทั้งนี้เพื่อให้สามารถดำรงรักษาระดับราคาไว้ได้อย่างที่ต้องการ ภายใต้การควบคุมอย่างสุดพิถีพิถันนำโดย ‘Carlos Candeias’
ย้อนหลังกลับไปดูภารกิจการงานต่างๆ ในอดีตที่ผ่านมาของ Candeias มั่นใจได้เลยว่า เขามีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง ‘เกินพอ’ ที่จะทำงานให้แก่ B.M.C. ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง Candeias เป็นบุตรคนที่ 7 ของครอบครัวอันเข้มแข็งแห่งตระกูลผู้อพยพชาวโปรตุเกส-สเปนซึ่งได้ก่อตั้ง “Candeias Audio Electronics” ขึ้นมาในปีคศ.1986 ซึ่งจากการที่เขาใฝ่ศึกษาจึงร่ำเรียนทางด้านวิศวกรที่ Berlin Technical University Candeias และได้เข้าทำงานอย่างใกล้ชิดกับบริษัทผู้ผลิตญี่ปุ่น “C.E.C.” และ Candeias เองก็ยังได้ทำการออกแบบและผลิตชิ้นส่วนที่ซับซ้อนมากๆ ให้แก่แบรนด์ดังๆ ด้วยเช่นกัน (แน่นอนละว่า ‘Aqvox company’ ของอดีตภริยาจะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายออกแบบ)
เหนืออื่นใด, Candeias ได้ทำการจดสิทธิบัตรใหม่ๆ และได้สรรค์สร้างเทคโนโลยีที่ให้ผลใช้งานแล้วขึ้นมา อาทิเช่น LEF วงจรไร้ผลกระทบทางค่าโหลด (load-effect free) ซึ่งได้ถูกนำไปใช้ในเครื่องเล่นซีดีของ C.E.C. เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ end-to-end dual-differential architectures ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ปล่อยออกสู่ตลาดภายใต้แบรนด์ BMC ณ ขณะนี้ได้ถูกสร้างขึ้นบนกรอบงานทางเทคนิคของ Candeias เอง
B.M.C. Audio GmbH นับว่า แตกต่างจากบรรดาคู่แข่ง, Candeias ไม่ใคร่จะคุ้นชินนักกับการกำหนดราคา เนื่องจากว่าตัวเขานั้นพยายามที่จะดำรงรักษาผลิตภัณฑ์ B.M.C. ให้มีราคาไม่แพงนัก สามารถที่จะให้ผู้คนส่วนใหญ่ในตลาดออดิโอไฟล์ซื้อหาได้ (แนวนโยบายทางด้านราคาของเขาดูเหมือนว่าจะได้รับอิทธิพลจากกลยุทธ์ทาง Vincent และ NAD มากกว่าจะเป็นจากทางด้านไฮเอนด์ซึ่งถือเป็นคู่แข่งในฟีลด์เดียวกันโดยตรง)
เมื่อ Candeias ได้ตัดสินใจดำเนินงานธุรกิจของเขาในจีนนั้น Candeias ถึงกับประกาศว่า “เครื่องเสียงระดับปลายสุดขั้วนั้นนับเป็นกลยุทธ์ที่ผิดพลาด” เพราะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หลากหลายมากมายเพียงเพื่อความสุขสำหรับคนเพียงแค่ไม่กี่คน B.M.C. ดำเนินงานเสมือนเป็นบริษัทที่มุ่งเน้นสำหรับคนทั่วทั้งโลกอย่างแท้จริง เนื่องเพราะในเชิงของเทคโนโลยีและคุณภาพ ผลิตภัณฑ์ B.M.C. พุ่งเป้าไปที่ความเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพในระดับมาตรฐานสูงสุดๆ โดยมีระดับราคาที่ต้องถือว่า ‘น่าจับตามอง’
เป้าประสงค์ของ B.M.C. อยู่ที่การออกแบบผลิตภัณฑ์ในลักษณะ modular อันโดดเด่น ซึ่งได้รับผลประโยชน์อย่างมากต่อการอัพเกรดได้ในอนาคต และการมีตัวเลือกต่างๆ อยู่เคียงข้างพัฒนาการอันรุดล้ำนำหน้าทางด้านเทคโนโลยีอย่างคงเส้นคงวาตลอดไป ซึ่งแม้แต่ผลิตภัณฑ์ระดับ state-of-the-art ในแวดวงอุปกรณ์ไฮเอนด์ ณ ตอนนี้, ก็อาจเป็นเพียงแค่ของเก่าในวันข้างหน้า ด้วยเหตุนี้ แต่ละผลิตภัณฑ์ของ B.M.C. จึงสามารถทำการอัพเกรดเพื่อสงวนรักษาสมรรถนะระดับ state-of-the-art ไว้ให้คุ้มค่ากับการลงทุนของลูกค้า
นี่ถือเป็นพันธะสัญญาแห่งปฐมบทของผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างได้เลยว่าเป็น “นวัตกรรม, เลิศหรู, สามารถอัพเกรดได้, ง่ายแก่การปรับตั้งและใช้งาน, สร้างสรรอย่างเยี่ยมยอด, สุ้มเสียงเปี่ยมในความเป็นดนตรี, เสาะหาโดยผู้ใช้, สามารถทำกำไรให้แก่ผู้ค้า, จัดส่งได้ฉับไว – และระดับราคาไม่แพงนัก” และนับต่อจากนี้ เรามาดูกันซิว่า มีอะไรอยู่ข้างในเจ้า “MCCI” – phono preamplifier ที่ทำหน้าที่รองรับการขยายสัญญาณเฉพาะหัวเข็ม MC เท่านั้น ทั้งยังต้องใช้การเสียบต่อสัญญาณขาเข้าเฉพาะแบบ Balanced เท่านั้น อีกด้วยซ้ำ …อะไรคือ วิสัยทัศน์ที่แตกต่างจากใครๆ ของ Candeias ที่บรรจุไว้ภายในผลิตภัณฑ์อันไม่ธรรมดานี้
อะไรซ่อนอยู่ภายใน MCCI
“B.M.C.’s Phono MCCI is exceptional, and easily among the best MC phono preamps at any price. Its sound was startingly good, and in some ways seemed to surpass that of virtually every other phono preamp I’ve heard, especially in terms of transparency, and of not imposing its own strong character, or any character, on the music.”,. …นี่คือ คำชื่นชมที่ Michael Fremer แห่ง Stereophile (June 2013) มีต่อ “MCCI” ของ B.M.C.
B.M.C. ออกแบบ ‘MCCI’ ไว้ให้ทำหน้าที่ phono preamplifier โดยเฉพาะสำหรับหัวเข็มแบบ MC เท่านั้น …ทำไมไม่ทำให้สามารถเลือกเล่นหัวเข็มแบบ MM ได้ด้วยเล่า ? หลายคนอาจมีคำถามนึกอยู่ในใจ …เราท่านที่เล่นแผ่นเสียง หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องใช้หัวเข็มเล่นแผ่นเสียง อย่างที่เรียกกันว่า cartridge นั้น มาทำการเก็บเกี่ยวข้อมูลต่างๆ ที่จารึกอยู่บนร่องแผ่นเสียง (groove) ให้แปรเปลี่ยนมาเป็นสัญญาณทางไฟฟ้า …อันว่า “หัวเข็ม” เล่นแผ่นเสียงนั้น ว่าไปแล้วก็แบ่ง หรือ จัดแยกประเภทได้ 3 ประเภทหลักๆ :- หัวเข็ม MM (moving magnet หรือ ประเภทแม่เหล็กเคลื่อนที่, MC (Moving Coil) ประเภทขดลวดเคลื่อนที่ และ MI (Moving Iron) ซึ่งจริงๆ แล้วหลักการทำงานแทบจะไม่ต่างจากหัวเข็มแบบ MM เพียงแต่ปรับเปลี่ยนให้ ‘แม่เหล็ก’ มา fix ติดตรึงอยู่กับที่ เช่นเดียวกับ ‘ขดลวด’ และใช้โลหะประเภทสาร ‘iron’ บริสุทธิ์ที่เบากว่ามาทำหน้าที่ในส่วนของ moving mass แทน หัวเข็มแบบ “MI” จึงมี “มวล” ที่เบายิ่งขึ้นกว่า Moving Coil เสียอีก …เพียงแต่ว่าไม่เป็นที่นิยมใช้กันนัก เมื่อเทียบกับหัวเข็มแบบ MC จึงมีอยู่เพียงแค่ไม่กี่ยี่ห้อเท่านั้นที่ทำการผลิตจำหน่าย
ซึ่งด้วยเหตุว่า ร่องแผ่นเสียงนั้นมีความซับซ้อนและละเอียดลออมาก หัวเข็มประเภท MC (Moving Coil) ที่ถือว่ามีมวลส่วนของการเคลื่อนไหวอย่างที่เรียกกันว่า moving mass นั้น – น้อยมากๆ เนื่องเพราะมีเฉพาะส่วนของคอยล์ (coil) หรือ ขดลวดอันเล็กจิ๋วเท่านั้นที่เคลื่อนไหว-สอดสัมพันธ์ไปบนร่องแผ่นเสียง อันคดโค้งและขรุขระได้อย่างตรงจังหวะ-ฉับไวมาก ซึ่งเมื่อ moving mass นั้นต่ำสุด หัวเข็ม MC จึงสามารถเก็บเกี่ยวข้อมูลต่างๆ บนร่องแผ่นเสียงได้ละเอียดลออมาก
ในขณะที่หัวเข็มประเภท MM (moving magnet) นั้น จะมีมวลในส่วนของการเคลื่อนไหว – มากที่สุด เพราะว่า ส่วนของการเคลื่อนไหวนั้นจะเป็น ‘แม่เหล็ก’ ที่มี ‘น้ำหนัก’ มากกว่าคอยล์ การเคลื่อนไหวไปตามร่องรอยอักขระบนร่องแผ่นเสียงนั้น จึงมีความละเอียดลออน้อยกว่าหัวเข็ม MC …ซึ่งยิ่งหากเป็นหัวเข็ม MC ประเภท low output อันมีจำนวนรอบของคอยล์ที่ใช้พัน -น้อย- ยิ่งกว่าหัวเข็ม MC แบบธรรมดา นั่นเท่ากับว่า moving mass นั้น “ต่ำสุดๆ ” อันหมายถึงว่า จักได้มาซึ่งรายละเอียดของข้อมูลที่ครบถ้วนมากยิ่งขึ้นไปอีก (ทว่าก็ต้องแลกมาด้วยค่าความแรงสัญญาณขาออกที่น้อยเอามากๆ )
หัวเข็ม MC ประเภท low output จึงถือเป็น “ราชันย์” แห่งหัวเข็มกันเลยทีเดียว ซึ่ง ‘MCCI’ ก็ได้รับการออกแบบไว้เพื่อการนี้อย่างสมบูรณ์แบบสุดๆ และเมื่อเป็นที่สุดแล้วไซร้ จึงมิพักต้องไปสนใจในหัวเข็มประเภทอื่น ‘MCCI’ จึงมีเพียงช่องเสียบ ‘input’ หนึ่งเดียวโดดๆ เท่านั้น ซ้ำยังจำเป็นต้องเสียบต่อเฉพาะแบบ Balanced Connection เท่านั้นอีกด้วย …อุ้ยโย่ว !! แล้วเราจะเสียบต่อได้อย่างไรในเมื่อเครื่องเล่นแผ่นเสียงส่วนใหญ่แทบจะร้อยทั้งร้อยที่ติดตั้งช่องเสียบ output มาเป็นแบบ Unbalanced (RCA)
“truly balanced” Current Injection (CI) input & LEF single ended class-A output stages
MCCI ได้รับการออกแบบวงจรภายในไว้เป็น “truly balanced” และขอยืนยันไว้ ณ ตรงนี้เลยว่า “ไม่” สามารถใช้อะแดปเตอร์มาทำการแปลงจากสัญญาณ Unbalanced มาเป็นแบบ Balanced ได้อย่างเด็ดขาด วิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่มีช่องเสียบ output เป็นแบบ Unbalanced ก็คือการใช้สายสัญญาณ ‘MONOS’ Pure Silver Interconnection Cable ของ B.M.C. ที่ทำมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ (ซื้อต่างหาก) ซึ่งปลายสายด้านเสียบรับสัญญาณขาเข้าจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงจะเป็นแบบ Unbalanced ส่วนปลายสายด้านเสียบจ่ายสัญญาณขาออกเข้าสู่ ‘MCCI’ จะเป็นแบบ Balanced
…หากแต่ลักษณะการเชื่อมต่อภายในของสายสัญญาณ ‘MONOS’ นี้จะมิได้ “ใช้งาน” ในส่วนของการกราวด์ (ground) นะครับ พูดให้เข้าใจง่ายๆ ได้ว่า ทางโรงงานเขาจะ terminated เฉพาะสายขั้วบวกและขั้วลบตรงๆ เลย ส่วนขั้วกราวด์จะปล่อยลอยไว้เฉยๆ ซึ่งตรงจุดนี้จะแตกต่างจากการใช้ตัวอะแดปเตอร์มาทำการแปลงจากสัญญาณ Unbalanced มาเป็นแบบ Balanced เพราะแทนที่ “ขั้วกราวด์” จะถูกปล่อยลอยไว้ แต่กลับถูกนำไป terminated เข้ากับขั้วลบด้วย ทำให้ระบบการทำงานของ ‘MCCI’ มองเห็นเป็นการ “ช็อต” สัญญาณไว้ เลยไม่ทำงาน ซ้ำร้ายยังอาจเป็นการ “ทำร้าย” วงจรภายในภาคการทำงานของ ‘MCCI’ เข้าให้อีกด้วย
ความจริงในคู่มือของ ‘MCCI’ ได้มีรายละเอียดของการปรับเปลี่ยนหัวเสียบต่อ (connector) จากแบบ Unbalanced หรือ RCA ให้เป็นแบบ Balanced หรือ XLR แนะนำไว้ด้วย เนื่องเพราะสัญญาณขาออกของหัวเข็มเล่นแผ่นเสียงนั้นจะเป็นแบบ Balanced โดยธรรมชาติอยู่แล้วด้วยกันทั้งนั้น – ขั้วเอ๊าต์พุทของหัวเข็ม MC ที่เป็นสีเทา (หรือ ขาว) จะเป็นขั้วบวก (+) หรือ Hot ของหัวเสียบต่อ (connector) แบบ Balanced (XLR) สำหรับแชนแนลซ้าย ในขณะที่ขั้วเอ๊าต์พุทของหัวเข็ม MC ที่เป็นสีแดงจะเป็นขั้วบวก (+) หรือ Hot ของหัวเสียบต่อ (connector) แบบ Balanced (XLR) สำหรับแชนแนลขวา
ส่วนขั้วเอ๊าต์พุทของหัวเข็ม MC ที่เป็นสีฟ้า (หรือ น้ำเงิน) จะเป็นขั้วลบ (-) หรือ Cold ของหัวเสียบต่อ (connector) แบบ Balanced (XLR) สำหรับแชนแนลซ้าย ในขณะที่ขั้วเอ๊าต์พุทของหัวเข็ม MC ที่เป็นสีเขียว จะเป็นขั้วลบ (-) หรือ Cold ของหัวเสียบต่อ (connector) แบบ Balanced (XLR) สำหรับแชนแนลขวา ดังจะเห็นได้ว่า ขั้วกราวด์ของหัวเสียบต่อแบบ Balanced (XLR) จะปล่อยลอยไว้เฉยๆ – แต่ถ้าจะ “ต่อ” ต้องอย่าให้ไปเกี่ยวข้องกับขั้วสัญญาณ โดยอาจจะต่อไว้ในลักษณะของการชีลด์ (shielded) กระนั้นในคู่มือของ ‘MCCI’ จึงได้ระบุไว้ด้วยว่า “หัวเข็มที่เป็นแบบ common ground นั้น -ไม่เหมาะ- ที่จะใช้งานร่วมกับ MCCI
ความโดดเด่นของ ‘MCCI’ นอกเหนือจากความเป็น truly balanced ของวงจรการทำงานแล้ว ยังได้ระบุไว้เป็น Current Injection (CI) input และ LEF single ended class-A output stages ทั้งยัง “ไร้ซึ่ง” การป้อนกลับ (global feedback free) อีกด้วย ซึ่ง “LEF” นั้น ก็คือ วงจรไร้ผลกระทบทางค่าโหลด (Load-Effect Free) ที่ Candeias ได้ทำการจดสิทธิบัตรใหม่ไว้ โดยที่ Candeias ได้อธิบายถึง LEF technology ไว้ว่าเป็นภาคขยายกระแส-รูปแบบใหม่ ใช้ local current servo เข้ามาแทนที่การใช้ overall negative feedback เพื่อแก้ไขความไม่เป็นเชิงเส้นของทรานซิสเตอร์ ซึ่งด้วยความเป็น Truly balanced นั้นหมายถึงการทำงานแบบ differential operation อันจักทำให้ single-ended operation จ่ายกระแสขาออกได้สูงขึ้น และยังไม่จำเป็นต้องใช้ global negative feedback
สำหรับ Current Injection (CI) input เป็นหลักการออกแบบที่ Candeias ได้จดทะเบียนสิทธิบัตรไว้เช่นกัน ความต่างหลักๆ สำหรับทะเบียนสิทธิบัตรของ B.M.C. มีพื้นฐานอยู่ความจริงที่ว่า CI input มิได้จำเป็นต้องใช้ช่องเสียบเฉพาะ แต่จำเป็นต้องใช้ interconnects แบบ XLR เท่านั้น โดยที่กระแสสัญญาณที่จ่ายออกมาจากแหล่งสัญญาณต้นทาง (หัวเข็ม) จะ -พุ่ง- เข้าสู่ ‘CI input’ (ซึ่งมีค่าความต้านทานต่ำ) และไหลผ่านเข้าสู่วงจรขยายสัญญาณโดยตรง ส่งผลให้ค่าแรงดันสัญญาณที่ได้รับ มีระดับที่เหมาะสมตามที่ได้มีการกำหนดไว้ สำหรับปลายทางขั้วเสียบต่อจ่ายสัญญาณขาออก
‘CI input’ ยังคงมีลักษณะเป็น “สัญญาณต้นฉบับ” นับจากแรกเริ่มจนกระทั่งพุ่งตรงมาสู่ค่าแรงดันขาออก ซึ่งนั้นหมายถึงว่า ค่าแรงดันขาเข้าได้รับการสร้าง ‘สำเนา’ สัญญาณขึ้นมาแค่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ค่าความผิดเพี้ยนจึงต่ำมากๆ นอกจากนี้ ‘CI input’ (current injection design) ยังส่งผลดีที่แตกต่างจากแบบ voltage input ที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไปใน 3 ประเด็นหลักด้วยกัน :- signal strength, damping และ amplification (การขยายสัญญาณ)
Signal Strength
ในความเป็นจริง หัวเข็ม Moving Magnet (MM) และ Moving Coil (MC) มี “ข้อดี” ที่ต่างกัน โดยหากป้อนสัญญาณขาออกของหัวเข็มแบบ MM เข้าสู่ ‘voltage amplifier input’ ก็จะทำให้ได้มาซึ่ง ‘output voltage’ ที่สูงมากกว่าหัวเข็มแบบ MC ถึงร่วมๆ 10 เท่า แต่ในทางกลับกัน หากป้อนสัญญาณขาออกของหัวเข็มแบบ MC เข้าสู่ ‘CI input’ ก็จะทำให้ได้มาซึ่ง ‘output current’ ที่สูงมากกว่าหัวเข็มแบบ MM ถึงร่วมๆ 10 เท่า
Damping
หากดูที่ input impedance ของ ‘MCCI’ จะพบว่ามีค่าต่ำมากๆ เพียงแค่ไม่ถึง 3 โอห์มด้วยซ้ำ ซึ่งนั่นดูจะผิดธรรมดามากๆ จากค่าที่เราได้พบเห็นจนคุ้นเคยกัน แต่ถ้าย้อนกลับไปทำความเข้าใจให้ตรงจุดสำหรับความเป็น ‘CI input’ ก็จะทะลุ-ปรุโปร่ง เนื่องเพราะ ‘CI input’ นั่น “จงใจ” ออกแบบให้มีค่าความต้านทานขาเข้าที่ต่ำมากๆ เพื่อที่จะให้กระแสสัญญาณขาเข้าจากหัวเข็ม MC นั้น -พุ่ง- เข้าสู่วงจรขยายสัญญาณโดยตรงอย่างทันทีทันใด และต่อเนื่องราบเรียบ ไม่เกิดการถูกลดทอน หรือ สูญเสียอะไรไปในรายละเอียดสัญญาณต้นฉบับ
Amplification
นับเป็น “ผลดี” ที่ต่อยอดมาจากความที่ ‘ไม่มี’ การใช้ ‘I/V converter’ เฉกเช่นในวงจรขยายสัญญาณโดยทั่วไป เพราะการขยายสัญญาณจะ “ถูก” กระทำเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ค่าความผิดเพี้ยนจึงต่ำมากๆ กับทั้งยังใช้วงจรขยายสัญญาณแบบ ‘single ended class-A output stages’ – สัญญาณขาออกที่ได้รับจึงแทบจะเรียกได้เลยว่า “เหมือนกับ” สัญญาณต้นฉบับ (สัญญาณขาเข้า) ไม่มีผิดเพี้ยน รายละเอียดสอดแทรกต่างๆ ยังคงอยู่อย่างครบถ้วน การรับฟังจึง “แตกต่าง” อย่างชัดเจนจากทั่วไป ทั้งในแง่คุณภาพเสียงอันเที่ยงตรง และความอิ่มอุดมในรายละเอียดเสียง
‘MCCI’ มีเพียงแค่ 3 ปุ่มเท่านั้น จัดวางอยู่บนแผงหน้าเครื่อง เพื่อทำหน้าที่ ปรับระดับความสว่างของไฟส่องฟังก์ชั่นใช้งาน (DIM) – ปุ่มกดซ้ายมือ; เปิด/ปิดสภาวะการทำงาน (On/Off) – ปุ่มใหญ่กึ่งกลางแผงหน้าเครื่อง และ ระงับสัญญาณเสียงขาออก (Mute) – ปุ่มกดขวามือ ส่วนแผงหลังเครื่องจะติดตั้ง Input XLR (แชนแนลซ้าย-ขวา); Outputs (XLR และ RCA สำหรับแชนแนลซ้าย-ขวา) และช่องเสียบสายไฟฟ้าเข้าเครื่อง (AC IN) แบบ IEC -3 ขา โดยที่ ‘MCCI’ สามารถให้ค่าการตอบสนองความถี่เสียง 20-20,000 เฮิรตซ์ (+/- 0.25 ดีบี), ค่าความผิดเพี้ยนรวมต่ำกว่า 0.025 %, ค่าสัดส่วนสัญญาณต่อเสียงรบกวนดีกว่า 80 ดีบี, วงจรตัดกรองความถี่ที่ 10 เฮิรตซ์ (-6 ดีบี) โดยมีขนาดตัวเครื่อง 435x78x320 มม. (กว้างxสูงxลึก) น้ำหนัก 8 กก.
ผลการรับฟัง
แน่นอนครับ สำหรับ MC phono pre-amp ระดับนี้ การรับฟังด้วยแผ่นไดเร็กต์-คัทจึงจะสมศักดิ์ศรี ผมจึงประเดิมด้วยแผ่น “Pick up Test Record” ของ ortofon ในหน้า 2 ซึ่งเป็นการบันทึกเสียงของวง The Tivoli Symphony Orchestra …เอาแค่ว่าช่วงเริ่มต้นของแทร็คแรก ‘MCCI’ ก็สามารถเบิกโรงความสามารถในการสำแดงสภาพบรรยากาศอันอบอวลของสถานที่แสดง The Concert Hall of Copenhagen ได้อย่างประทับใจ เหมือนตัวเรากำลังเดินผ่านประตูเข้าไปสู่สถานที่นั้น ครั้นพอดนตรีเริ่มบรรเลง ไดนามิก-ความฉับพลันในเสียงดนตรีก็เริ่มพรั่งพรูออกมา พร้อมด้วยน้ำหนักเสียงของแต่ละชิ้นดนตรีที่ฟังดูสมจริง แม้แต่เสียงเพอร์คัสชั่นอันแผ่วเบา ที่ปรากฏอยู่ในวงเวทีเสียงชั้นหลังสุด
อิมเมจที่ปรากฏช่างแจ่มชัดอยู่ต่อหน้า ไล่ระดับเป็นแถวชั้นตื้น-ลึก พร้อมด้วยอาณาบริเวณเสียงอันแผ่กว้าง …ตามต่อด้วยแผ่น “Orchestrations Astromantic” โดยสังกัด RCA JAPAN (RDCE-6) ที่ต้องบอกว่าเป็น สุดยอดอลังการแห่งเสียงจากการรับฟังด้วย ‘MCCI’ เพราะให้บรรยากาศเสียงที่ช่างโอฬารมากๆ ความกระหึ่มกึกก้องของบทเพลงที่คุ้นหูจากเครื่องดนตรีกว่าร้อยชิ้น แผ่ไพศาลอยู่ต่อหน้า เครื่องดนตรีชิ้นนั้นชิ้นนี้ เรียงรายอยู่ตรงนั้นตรงนี้ในตำแหน่งเวทีเสียงที่ไล่ระดับความลึก-ตื้นอย่างชัดแจ้ง ต้องขอยืนยันครับว่า ‘MCCI’ สามารถทำให้เรารับรู้ได้ถึงมวลบรรยากาศที่โอบล้อมรอบตัวเราอย่างน่าทึ่ง มันชัดเจนยิ่งกว่าทุกครั้งที่ผมเคยรับฟัง อีกทั้งในเรื่องของน้ำหนักเสียงที่ให้ความมีตัวมีตนของเสียง เปล่งออกมาจากตำแหน่งตรงนั้นตรงนี้จริงๆ
“Boling Point” แผ่นไดเร็กต์-คัทชั้นเลิศของ Toshiba Pro-use Series (LF-95009) ที่รวมเอาศิลปินและนักร้องชั้นยอดมารวมไว้ เฉพาะอย่างยิ่งเสียงของ Mari Nakamoto ในเพลง My Funny Valentine และ Misty ที่สุดแสนซาบซึ้ง ลึกลงไปถึงแหล่งเสียงจากลำคอของเธอ เสียงกลองชุดที่ให้ความตึงของหนังหน้ากล้อง เสียงฉาบที่ใสกังวาน กำลังแกว่งสั่นระรัว เสียงแซกโซโฟนที่บ่งบอกถึงแรงลมที่เป่าพ่นออกมา เสียงเบสยืนที่ดึ๋งดั๋งหนักแน่นราวมองเห็นการสั่นของสายเบส
“Finesse” หนึ่งในแผ่นไดเร็กต์-คัทเพียงไม่กี่อัลบั้มของ Nautilus Recordings (NR-22) ผลงานสุดแสนไพเราะของ John Klemmer ที่ให้คุณภาพเสียงดีมากๆ เสียงเพอร์คัสชั่นกรุ๊งกริ๊งกังวานจับใจ แม้แต่หางเสียงที่ค่อยๆ จางหายไปก็ช่างเป็นอะไรที่ธรรมชาติมากจริงๆ เสียงแซกโซโฟนที่ให้ความสมจริงด้วยมวลอากาศที่ถูกเป่าพ่นเป็นแรงลมพุ่งออกมา ชัดเจนขนาดที่ว่าได้ยินเสียงน้ำลายน้อยๆ เข้าไปขังอยู่ในลิ้นเสียงของแซกโซโฟน… แม้กระทั่งเสียงหวดแซ่ลงไปบนฉาบอย่างฉับพลันก็เปล่งประกายออกมาสดใส ให้พลังไดนามิกแห่งเสียงจากแผ่น direct-cutting ได้ครบชัดมาก ยิ่งฟังยิ่งเพลินใจครับสำหรับอัลบั้มนี้เมื่อรับฟังผ่าน ‘MCCI’
“Pavane Pour Une Infante Défunte” หนึ่งในผลงานชั้นสุดยอดของ L.A. 4 ด้วยแผ่นไดเร็กต์-คัทของสังกัด East Wind Records (EW-10003) ถูก ‘MCCI’ บ่งบอกเส้นสายลวดลายทักษะการเล่นกีต้าร์ของ Laurindo Almeida ได้อย่างรวดเร็ว ฉับไวน่าประทับใจ เสียงกลองชุดฝีมือของ Shelly Manne ก็ให้น้ำหนักและระบุตำแหน่งสูง-ต่ำของฉาบได้ชัดแจ้งมาก เสียงเบสยืนที่ร่ายลีลาระดับเทพโดย Ray Brown ก็ให้ความหนักแน่นสาแก่ใจ ราวเห็นเส้นสายกำลังสั่นแกว่งไกว เสียงแซกโซโฟนโดย Bud Shank ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ราวเห็นเป็นตัวเป็นตนกำลังโยกตัวโอนเอนตามท่วงทำนองเพลง
‘MCCI’ จะทำให้คุณได้เข้าถึงห้วงอารมณ์เพลงที่รับฟังได้อย่างมีอรรถรสที่แตกต่างจากความคุ้นชินที่เคยได้รับ ทั้งในแง่ของมวลบรรยากาศรายรอบอันอบอวล รายะเอียดเสียงต่างๆ ที่ให้ความมีตัวตน รวมไปถึงเรื่องของความถูกต้องของ timbre ในเสียงแต่ละเสียง การให้ความฉับพลันทันใดอันเปี่ยมในน้ำหนักเสียงอย่างสมจริง แม้แต่ช่วงปลายหางเสียงอันแผ่วเบา ความกังวานทอดยาว และพละพลิ้วราวอณูเสียงของปลายเสียงสูงๆ ที่เปิดโปร่งอย่างมากๆ ล้วนเป็นความน่าประทับใจที่ชักจูงให้เราหยิบจับแผ่นโน่นแผ่นนี้มาเปิดฟังต่อเนื่องกันไปอย่างเพลินใจ
“Direct from L.A.” แผ่นไดเร็กต์-มาสเตอริ่ง ผลงานของ The Great Jazz Trio ในสังกัด East Wind Records (EW-10005) ทำเอาตัวเราจมกลืนเข้าไปในบรรยากาศลาตินผสมกลิ่นอายของบลูส์จนอดไม่ได้ที่จะกระดิกเท้าและดีดนิ้วมือตาม จนต้องหยิบเอาชุด “I’m Old Fashioned” อีกหนึ่งผลงานของวงนี้ (East Wind Records หมายเลขแผ่น EW-8037) ที่มี Sadao Watanabe ร่วมเป่าแซกฯด้วยมาฟังต่อเนื่องกัน ‘MCCI’ สามารถเปิดเผยรายละเอียดเสียงต่างๆ ในช่วงย่านเสียงกลางได้อย่างโดดเด่นมีชีวิตชีวา ได้ยินเสียงลมเป่าพ่นออกมาเบาๆ แจ่มชัด พร้อมด้วยสมรรถนะการแยกแยะตำแหน่งชิ้นดนตรี 3-4 ชิ้นได้เป็นอิสระ มีตำแหน่งแห่งที่แน่ชัด พร้อมกับความเปิดโปร่งของมวลบรรยากาศในสถานที่แสดง
“The Three” ผลงานชั้นสุดยอดของ Joe Sample, Ray Brown และ Shelly Manne ภายใต้แผ่นไดเร็กต์-คัทของสังกัด East Wind Records (EW-10001) เป็นอีกอัลบั้มที่ผมรับฟังอย่างปลื้มปิติในใจ เสียงที่ได้ฟังแผ่กว้างเป็นปริมณฑลอยู่ในเวทีเสียงที่ชัดเจน โปร่งกระจ่าง ให้พลังไดนามิกได้เด็ดขาด ฉับไวมาก ฟังแล้วนึกถึงอัลบั้ม “MISTY” ของสังกัด สามหนูตาบอด (TBM-30) ที่ถูกนำมาจัดทำใหม่ในวาระครบรอบ 25 ปีของอัลบั้มนี้โดย RTI …โอ้ว แม่เจ้า ไดนามิกแจ่มแจ๋วจริงๆ เลยครับ น้ำหนักเสียงก็ให้ความเป็นตัวเป็นตน อย่างกับกำลังมาบรรเลงเล่นให้เราฟังอยู่ตรงหน้า
‘MCCI’ สามารถทำให้เราได้เข้าถึงซึ่งความสมจริงแห่งเสียง ที่เปี่ยมไปด้วยพลัง เรี่ยวแรงปะทะ ความฉับพลันทันใด รวมทั้งน้ำหนักเสียงอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน ทั้งยังให้เสียงที่มีมิติ มีตัวตน มีห้วงอารมณ์ความรู้สึกของดนตรี รวมถึงความเป็นธรรมชาติของเสียงแต่ละเสียงที่บังเกิดขึ้นมาอย่างมีชีวิตชีวา สามารถจับตำแหน่งการแยกแยะแถว-ชั้นของเสียง พร้อมด้วยความโปร่งโล่งในมวลบรรยากาศ สารพัดเสียงสอดแทรกต่างๆ ที่ถือเป็นรายละเอียดก็สดใส กระจ่างมาก และให้ทิศทางที่มาของเสียงนั้นๆ อย่างแจ่มชัด
หลายต่อหลายแผ่นที่หยิบมาฟังให้ลักษณะมวลอากาศที่ห้อมล้อม อบอวล มีความกังวานก้อง และเสียงสะท้อน-บ่งบอกสภาพบรรยากาศของโถงการแสดงหรือสถานที่ใช้บันทึกเสียงได้ชัดเจนมาก (เพลง Besame Mucho และ The Shodow of Your Smile โดย ART PEPPER อัลบั้ม “Live in Tokyo” ตัดแผ่นโดย JVC หมายเลขแผ่น VIC-6372 ; JOHN KAIZON NEPTUNE & MU’RYO อัลบั้ม “SHOGUN” ตัดแผ่นโดย TOSHIBA/EMI หมายเลขแผ่น ETJ-85009 ; ANDREW POWELL & THE PHILHARMONIA ORCHESTRA PLAY THE BEST OF THE ALAN PARSON PROJECT หมายเลขแผ่น MFSL1-175) และจากแผ่น “I Robot” สุดโปรดของผม ผลงานของ The Alan Parson Project (Mobile Fidelity Records หมายเลขแผ่น MFSL 1-084) ก็ถูกบ่งบอกสารพัดสารพันเสียงสอดแทรกต่างๆ ผุดโผล่ออกมาจากตรงนั้น-ตรงนี้-ตรงโน้นราวกับรายรอบตัวเรา มันจะแจ้งมากๆ สะอาดสะอ้านและแจ่มชัดให้ทิศทางที่มาของเสียงนั้นๆ อย่างสมจริง
จังหวะท่วงที (pace) ของเสียงที่รับฟังจาก ‘MCCI’ กระชับ กระฉับกระเฉง ฟังแล้วอิ่มเอิบใจ สบายอารมณ์ เป็นเสียงที่ให้ทั้งความผ่อนปรนและคึกคักอยู่ในที บทจะโหมกระหน่ำก็แผดสนั่นไม่อัดอั้น ในขณะที่เสียงเล็กๆ น้อยๆ แทรกซ้อนปลีกย่อยทั้งหลายก็ยังให้ออกมาได้อย่างมีตัวตน และลอยตัวเป็นอิสระ ไม่ห้วนทู่แข็งเกร็ง หรือจมตัวไปกับประดาเสียงที่ประโคมขึ้นมา แม้ว่าจะแผดสนั่นแต่องศาความโปร่งใส มีช่องว่างระหว่างชิ้นดนตรี และมวลบรรยากาศห้อมล้อมก็มิได้ลดลงเลย (“Pomp & Pipes” : Reference Recordings RR-58) พร้อมทั้งมิติเสียงที่รับรู้ได้ครบทั้งกว้าง-สูง-ลึก ขนาดที่ว่าห้องฟังนั้น ขยายใหญ่ขึ้นไปกว่าเดิมมาก สอดสัมพันธ์กับสเกลดนตรีที่รับฟัง แต่หากนำแผ่นเสียงระบบ Direct-cut หรือแผ่นประเภท super-cut ทั้งหลายมาเปิดฟัง รับรองว่า คุณจะต้องอุทาน …!! อย่างตื่นใจในความรู้สึก เพราะห้องฟังของคุณจะเสมือนว่า ด้านลึกที่ราวกับว่า ผนังหลังห้องล่องหนหายไป (ทะลุเลยผนังหลังห้องจริงๆ ออกไป) พร้อมทั้งไดนามิกที่ลื่นไหลและฉับพลันทันใด ‘MCCI’ ช่างเยี่ยมยอดจริงๆ ฟังแล้วติดใจ ลืมไม่ลงเลยละครับ
สรุปส่งท้าย
โดยรวมแล้ว B.M.C. ‘MCCI’ ชี้ชัด-ฟันธงได้เลยว่า เป็นอัญมณีแห่ง MC Phono Preamplifier ที่มีราคาจับต้องได้โดยแท้ ภายใต้รูปลักษณ์ตัวเครื่องที่ดูเป็นสไตล์ของ B.M.C. – นี่สามารถส่งมอบรายละเอียดได้อย่างน่าพิศวง พร้อมด้วยพื้นฉากหลังของเสียงที่เงียบสนิท รวมทั้งเวทีเสียงอันสมจริง โดยยังคงถนอมไว้ซึ่งไดนามิกในระดับเยี่ยมยอด พร้อมด้วยรายละเอียดระยิบระยับ…
…อาจมี ‘ข้อห้าม’ อยู่บ้างบางประการสำหรับ ‘MCCI’ ตามที่ได้ระบุไว้ในคู่มือ แต่ในขณะเดียวกัน ‘MCCI’ ก็สามารถให้ ‘ข้อดี’ ตามที่มีการปรับตั้งปลีกย่อยระบุไว้ในคู่มือเช่นกัน (Gain Adjustment, RIAA-Equalisation, Subsonic Filter และ Low End Corrections) ซึ่งควรจะทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ตั้งแต่ก่อนเริ่มใช้งาน เพื่อมิให้ท่านมีอันต้อง “พลาด” ในความแท้จริงแห่งคุณภาพเสียงที่รับฟังได้จาก ‘MCCI’ เฉพาะอย่างยิ่งความเป็น ‘CI input’ นั้น “แจ่มชัด” ในรายละเอียดเสียงระยิบระยับชนิดเกินคาด เสียงต่างๆ ล้วนมีไดนามิก-ความฉับพลัน รวมทั้งน้ำหนักแม้กับเสียงอันแผ่วเบาระดับละอองอณูเสียง มันเป็นความ “น่าทึ่ง” ชนิดที่จักกัดกินใจไปอีกนานเท่านาน หาก “มองข้าม” ปล่อยให้ ‘MCCI’ ผ่านเลยไปอย่างจงใจ โดยไม่ได้ฟัง…!! – มันเยี่ยมยอดมากๆ (ขอย้ำอีกครั้ง) ผมขอรับรอง
ขอขอบคุณ Music For Life โทร.081-752-1600 ที่เอื้อเฟื้อเครื่องมาให้ทดสอบในครั้งนี้