Test Report: B.M.C BDCD 1.1 เครื่องเล่น CD ระบบสายพาน

0

Test Report: B.M.C BDCD 1.1 เครื่องเล่น CD ระบบสายพาน (เป็นอะไรที่น่าลองฟังดู)

ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

 Destination_HiFi_Best_Products_BDCD11_Front

ในโลกนี้มีเครื่องเล่น CD ระดับไฮเอนด์ ไม่กี่เครื่องที่ใช้ระบบขับเคลื่อนแผ่นแบบสายพาน และเครื่องเล่น CD B.M.C จากเยอรมัน รุ่น BDCD 1.1 เป็นหนึ่งในนั้น

BDCD 1.1 (พัฒนาจากรุ่น BDCD 1) ใช้การขับเคลื่อนสายพานจากมอเตอร์มาหมุนจานอะคริลิกขนาดใหญ่, หนักเพื่อความเสถียรที่ช่วยตุนแรงในการหมุนแผ่นอีกที

การสั่น ซึ่งปกติ B.M.C ใช้มอเตอร์พิเศษ ที่ใช้ในวงการอากาศ หรือทหาร ก็มีน้อยอยู่แล้ว การสั่นจะถูกดูดซับด้วยสายพานจนไม่เหลือไปถึงจานหมุนอะคริลิก

ตัวจานเองด้วยน้ำหนัก, แรงเหวี่ยง มันจะช่วยให้แผ่น CD หมุนอย่างนิ่งขึ้น ความเร็วเที่ยงตรงขึ้น

 

BDCD1.1AcrylStabCNC

 

ผลดีของระบบสายพาน

  1. ตัดการสั่นจากมอเตอร์ไม่ให้ไปถึงแผ่น CD
  2. ระบบลูกปืนของกลไกการเล่นแผ่น CD เทียบได้กับระบบจานเสียง
  3. จานทับแผ่นอะคริลิกจะตัดการกระเพื่อม และการสั่นค้างจากแผ่น CD
  4. การที่จานนี้มีแรงหนืดของการเริ่มต้นหมุนสูง ทำให้ได้การหมุนที่เงียบสนิท และราบรื่น
  5. การพยายามป้องกันปัญหาข้อ 1 – 5 ไว้ก่อน แต่เริ่มต้นการทำงานของวงจรเซอร์โวที่คอยตรวจสอบ, แก้ไข, ปรับแต่งตลอดเวลา เพื่อรักษาการอ่านเม็ดสัญญาณจากแผ่น CD ให้ได้แม่นที่สุด ก็จะทำงานน้อยลง, สงบ, ห่างออกไปมาก หรือแทบไม่ต้องทำงาน จึงไม่ไปป่วนภาคจ่ายไฟ และภาคอื่นๆ ในเครื่อง
  6. เป็นไปได้ว่า หัวอ่านเลเซอร์อยู่ไกลห่างจากตัวมอเตอร์ ก็น่าจะลดคลื่นสัญญาณรบกวนได้ไม่มากก็น้อย

การใช้โครงหลักของเครื่องที่หนักแน่นบึกบึนด้วยอะลูมิเนียม และสลักขึ้นมา ยิ่งช่วยให้นิ่งยิ่งขึ้น

กรณีที่ซื้อ BDCD 1.1 แบบไม่มีภาคแปลงสัญญาณดิจิตอลเป็นอะนาลอก (DAC) ก็เป็นการใช้ตัวมันเป็นเครื่องเล่นแผ่นอย่างเดียว (TRANSPORT) ซึ่งสามารถปล่อยสัญญาณดิจิตอลแยกอิสระ 4 ชุด (หัว BNC ระดับอาชีพ) นั่นคือสัญญาณนาฬิกา (Clock) 1 ชุดต่อ สายเชื่อมต่อ 1 เส้น (MCK, BCK, DATA, สัญญาณเสียงดิจิตอล LRCK) ทั้งหมดเรียก Superlink วิธีนี้ทำให้สัญญาณนาฬิกาหลัก (Master Clock) จะอยู่ใกล้ DAC ภายนอกที่สุด

กรณีที่ใครซื้อ BDCD 1.1 ที่มี DAC ในตัว ก็มีโอกาสได้ใช้ภาคเสียงออกแบบอะนาลอกที่ใช้เทคนิค การอัดฉีดกระแสแบบไร้ความเพี้ยน และไม่ขึ้นกับวงจรขาข้าวของเครื่องเสียงที่มาต่อรับเสียงอะนาลอกจาก BDCD 1.1 (B.M.C เรียกว่า Current Injection/Load-Effect Free)

ผลของการทำดังกล่าวทั้งหมด ทาง B.M.C มั่นใจว่าผู้ใช้จะได้ยินเสียงที่ไม่มีความเป็นอะนาลอกเหลืออยู่ จะมีแต่เสียงที่อบอุ่น, ทรงพลัง ดุจฟังจากเครื่องเล่นระบบอะนาลอกกันเลย

Destination_HiFi_Best_Products_BDCD11_Rear_1024x1024

 

ผลการทดสอบ

จากเครื่องเล่น BDCD 1.1 ต่อออกสายเสียงบาลานท์ Madrigal CZ-Gel2 ไปเข้าช่อง INPUT 5 ของอินทีเกรทแอมป์ Mark Levinson No.383 (ใช้สายไฟ AC ของ CHORD ราคา 7 – 8 พันบาท) เต้าเสียบตัวเมียที่กำแพงเป็นของฮับเบลสีส้ม สายไฟ AC ของ BDCD 1.1 เอามาจาก No.383 มีหัวปลั๊กกรองไฟของ PHD 2 สองหัวเสียบเคียงคู่กัน ดักสัญญาณรบกวนในระบบไฟ AC (ตัวกรองนี่น่าใช้มาก ราคาถูก ได้ผลดีมาก สนใจโทร. 08-1347-0904) สายลำโพง FURUKAWA S-2 (ตามทิศ) 2 ชุด (หัว WBT เงิน…หางปลา) ด้านแอมป์ และ WBT บานาน่า ด้านลำโพง แยกสาย 2 ชุด ไม่ให้แตะกันด้วยกระดาษพิมพ์ดีด 1 รีม พร้อมยกสายลำโพงสูงจากพื้น 1 คืบ (ด้วยกระดาษพิมพ์ดีด 2 รีม) ทับบนสายชุดบนอีก 4 รีม ทั้งหมดเอากระดาษสีแดงที่ห่อออก

ด้านขวาของอินทีเกรทแอมป์ No.383 ที่หันมาทางเครื่องเล่น BDCD 1.1 มีแผ่นกระดาษ A3 ที่พ่นด้วยสเปรย์ GRAPHITE 2 แผ่น บังเอียงไว้ (ป้องกันคลื่นกวนจากระบบ CD)

ในห้องมีกล่อง CRYSTAL PACK วางกลางห้องช่วยดูดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไม่ใช้มากวนสมองเรา อีก 3 กล่อง อยู่ซ้ายหลัง, ขวาหลัง, ตรงหลังที่นั่งฟัง แต่ละกล่องจะหมุนจูนให้ได้เสียง, มิติดีที่สุด (เป็นกล่องใส่หนังสือเรื่องผลึกบำบัดของ JUDY HALL, แถมผลึกคริสตัล 12 ก้อน/12 ชนิด ขนาดปลายนิ้วก้อยมาด้วย ราคา 860 บาท/กล่อง)

มีก้อนผลึกอะมิทิสขนาด 4 กำปั้น วางอยู่ด้านขวาของ BDCD 1.1 ห่างออกไป 3 คืบ อีก 1 ก้อน (1 ฝ่ามือกว่า) อยู่พื้นด้านขวาที่นั่งฟัง

ลำโพงที่ใช้เป็น MONITOR AUDIO BR-5 (เอาหน้ากากออก) เป็น 3 ทางวางพื้น เอียงจูนให้ได้ ทั้งเสียงและมิติดีที่สุด ลำโพงวางห่างกันประมาณ 2 เมตร ห่างจากจุดนั่งฟัง 3 – 6 เมตร ห้องฟังขนาด 3.85 x 9 x 2.5 เมตร ผนังบุด้วยฟองน้ำเก็บเสียง SONEX (สีขาว, เยอรมัน) มีของให้ห้องมากพอควรไม่ก้อง

ไม่มีโทรศัพท์มือถือ, โทรศัพท์บ้าน, PC, โน้ตบุ๊ก, จอ LCD, จอ PLASMA, iPad, กล้องดิจิตอล ระบบ WiFi, LAN นาฬิกาไฟฟ้าควอตซ์ (ทั้งแขวนผนัง และข้อมือ), รีโมทไร้สาย ใดๆ ในห้อง

ขณะฟังผมไม่ใส่สร้อย, นาฬิกา, ไม่มีพวงกุญแจ, บัตรแม่เหล็กต่างๆ ในกระเป๋า (พวกนี้มีผลทั้งนั้น) ปัดลมแอร์ (25 องศา C°, LOW) ลงหลังลำโพง

ปิดไฟนีออนที่นอกห้อง (ในครัว) ที่เริ่มมีเสียงดังจี๊ดเบาๆ (มีผล) ไม่มีการดมยาดมใดๆ (มีผลด้วย)

BDCD 1.1 ที่ได้มาทดสอบ เป็นเครื่องที่น่าจะผ่านการเบิร์นอินมานานแล้ว

จากแผ่นระนาดเอก (ไทลำภู) เพลง 3 เสียงตีระนาดเป็นเม็ดๆ ดีทีเดียว แยกแยะดีเก็บหางเสียงระนาดดี ดูเหมือนเสียงทั้งหมดจะออกเฉื่อยไปสัก 8% ของปกติ ใครที่ชอบอะไรสดๆ ว่องไวอาจรำคาญ แต่ถ้าใครชอบช้าหน่อยเพื่อเก็บเกี่ยวรายละเอียดสมอยาก เพราะมันแฉสิ่งเหล่านั้นได้ดี ไม่ว่าหัวโน้ตระนาด, เสียงฉิ่งอย่างไรก็ตาม บทที่มันเร่งความเร็วว่องไวขึ้น มันก็สนองตอบได้

เพลง 4 เสียงตีระนาดเป็นตัวๆ เม็ดๆ ดี เงียบใช้ได้ มีอะไรบางอย่างแปลกๆ บางครั้งเหมือนเสียงว่องไวขึ้นมานิดหน่อย แล้วก็ค่อยๆ เอื่อยลง เป็นอย่างนี้สักพักจนจบเพลง เพลง 5 ขึ้นต้นเงียบใช้ได้ (สังเกตว่าผมไม่ใช้คำว่า “สงัด” คือยิ่งกว่าเงียบกับทั้งเพลง 4 และ 5 เพลง 5 นี้ให้จังหวะจะโคนได้ดี รายละเอียดเสียงผิวหัวโน้ตระนาด และกรับดี เพลง 6 ขึ้นต้นเงียบดี เสียงตีระนาดยังไม่อยู่ลึกไปหลังเวทีมากนัก อย่างไรก็ตามมันก็ให้เสียงระนาดเป็นเม็ดๆ เต็มไปด้วยรายละเอียดได้ดี)

ฟังมาถึงตรงนี้ ผมเริ่มคุ้นเคยกับเสียงที่ออกอ่อนโยนของมัน (เทียบกับ T+A MP3000 HV ที่ตื่นตัว เข้มข้นสุดๆ…ดูทดสอบในเล่มนี้) ความอ่อนโยนของมันทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายดี ผมชอบที่มันผ่อนคลายแต่ไม่คลุมเครือยังเต็มไปด้วยรายละเอียดให้ชวนติดตาม ไม่เกิดอาการชวนเบลอจนน่าง่วง เพลง 7 เสียงตื่นตัวขึ้น 8% (ตามที่เขาบันทึกมาควรเป็น 10% เทียบกับเพลง 3, 4, 5, 6) ถ้าเครื่องเล่น CD ไม่ดี หลายเพลงที่ผ่านมา เสียงกรับจะออกแจ๋น ไม่ชวนฟัง แต่นี่ไม่มีอาการนั้นเลย เพลง 8 ขึ้นต้นเสียงตีกลองตะโพน ยังไม่ยิ่งใหญ่นัก ดูย่อส่วนลงมาสัก 25% เสียงตบกลองไล่จากขวาไปซ้ายทำได้ดี เห็นภาพพจน์ทีเดียว เวทีกว้างเกินพอเลย ให้ความเป็นดนตรีดีมาก เพลง 9 เสียงตีรัวระนาดไล่จากซ้ายไปขวามีรายละเอียดี ชวนติดตามตลอด ไม่รู้สึกว่าแค่ฟังผ่านๆ เพลง 10 เสียงตีระนาดเอก, ระนาดทุ้ม แยกแยะพอได้ แต่ขนาดของตัวโน้ตจากทั้งสองระนาดจะใกล้เคียงไปหน่อย ปกติจะต่างกันถึง 50% เหมือนกับว่าเสียงทุ้มต้นตอนล่างจะอ่อนแรงไปหน่อย (พอจะจับประเด็นได้ว่า นี่ไม่ใช่เครื่องเล่น CD ที่จะให้เสียงตูมตาม หนักหน่วง หรือ Impact มากนัก)

 

Destination_HiFi_Best_Products_BDCD11_Inside_1024x1024

แผ่น RHYTHM BASKET, A Tasket, A Tisket, A Child’s ของ Brent Lewis เพลง 2 เสียงตีกลองท่อให้รูปทรงพอใช้ อยากให้อวบกว่านี้อีกนิด (คงเป็นเพราะทุ้มจะขาดมวล, น้ำหนักไปหน่อย แต่ก็ลงลึก ไม่ได้ห้วน) เสียงกังวานของเสียงตีท่อพอได้ ไม่ขนาดเน้นชัดๆ เวทีเสียงด้านลึกยังออกตื้นไปหน่อย (นาทีที่ 2.05 เสียงเงียบขาดหายไป 2 วินาที แล้วดังต่อตามปกติ) เพลง 3 เสียงตีกลองท่อซ้ายที, ขวาทีเข้าท่า มีเสียงหึ่งตามที่ เพลงที่ 4 เสียงพากวักน้ำ ก่อให้เกิดคลื่นกระฉอกใหญ่น้อยเต็มผิวน้ำ ซึ่ง B.M.C. ก็ทำได้ดีมากทีเดียว เห็นภาพพจน์คลื่นเหล่านี้เลย นาทีที่ 1.30 เสียงขาดหายไป 2 วินาทีอีกแล้วมาต่อ) BDCD 1.1 จะให้แต่ละเสียงตีกลองดังพอๆ กันตลอด ไม่ค่อยแยกแยะว่ามีดังน้อย, ดังมาก, ดังปานกลาง (DYNAMIC CONTRAST ยังไม่เดินชัดนัก) เพลง 5 เสียงรถไอน้ำเปิดหวูดวิ่งมาจากไกล ตามด้วยเสียงตีกลองท่อซ้าย, ขวาที่ลอยสูงหลุดตู้ได้ดีมาก เสียงตี, อากัปกิริยาถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างชวนติดตาม เพลง 6 เสียงไก่ขัน ไม่เปะตรงกลาง แต่เอียงไปทางขวาอยู่บ้าง เสียงสัตว์ต่างๆ จีบปากจีบคอดี แต่ไม่กระแทกเสียงมากนัก นาทีที่ 4 เสียงสารพัดสัตว์แห่กันมาล้นหลาม แผ่ออกมาหาเรา แต่ยังไม่ขนาดโอบล้อมมาหลัง เพลงที่ 7 เสียงม้าวิ่งหอบมาแต่ไกล (ไม่ไกลนัก) นับเสียงหอบได้ 5 ครั้ง (จาก 6 ครั้ง) ตามด้วยเสียงตีกลองฉวัดเฉวียนอยู่ระดับเหนือลำโพงเล็กน้อย ไม่เก่งขนาดค่อยๆ ลอยสูงจนถึงเพดานห้องได้ เพลง 10 เสียงในฟาร์มตอนเช้า ทั้งเสียงลม เสียงประตูอ้าออก, เสียงน้ำพุเล็กๆ เสียงระฆังลม, ระฆังราว BDCD 1.1 เก็บสิ่งเหล่านี้มาฉายให้เราดูได้ครบ ไม่รู้สึกว่ามีอะไรขาดตกบกพร่อง หรือถูกบดบังนาทีที่ 1.18 เสียงขาดหายไปอีก (2 วินาที ดูเหมือนตะกุกตะกักด้วย) ปกติเพลงนี้ฟังไปๆ ตั้งแต่เลยไปครึ่งเพลง หลายๆ เสียงจะลอยอยู่ระดับเพดานห้องได้ แต่นี้ได้ระดับปกติ (คือลำโพง) อย่างไรก็ตาม มันก็เก็บเกี่ยวรายละเอียดของน้ำเสียง, หัวโน้ต, เสียงผิว แต่ละโน้ตออกมาได้อย่างน่าประทับใจทีเดียว สรุปว่าฟังเพลินไม่ออกอาการน่าเบื่อ

 

หมายเหตุ อาการเสียงขาดหายน่าจะมาจากสภาพของแผ่นนี้ที่ใช้มานานมาก ผ่านศึกมาเยอะมากๆ และ BDCD 1.1 ถูกจูนมาแบบเป๊ะจริงๆ เพื่อเสียงดีที่สุด จึงจำเป็นต้องอ่อนไหวต่อสภาพแผ่น (แผ่นอื่นๆ เกือบ 10 แผ่น ที่ลองก็ไม่มีอาการนี้)

แผ่น The Greatest Alto Female Vol.1 (Top Music) เสียงร้องเพลงจีนหวานๆ ของสุภาพสตรี เพลง 1 เสียงไวโอลีน, ไวโอล่าขึ้นต้นมีรายละเอียดดี ตามด้วยเสียงร้องที่เต็มไปด้วยรายละเอียด ถ่ายทอดอากัปกิริยา ห่อปาก ห่อลิ้น ทอดถอน ฯลฯ ออกมาให้แบบ “ตาเห็น” กันเลย ทำให้ฟังได้อารมณ์สุดๆ เสียงไวโอลีนคลออยู่ก็หวานหยด เพลง 2 (อารีรัง) ขึ้นต้นเสียงร้องหมู่ชายหญิงแยกแยะดีมาก ตามด้วยเสียงตีกลองใหญ่ที่ใหญ่มาก หนักหน่วง สะท้านห้อง หน้ากลองตึงเปรี๊ยะ (แต่เสียงดูจะช้าลงนิด เหมือนกด SLOW ดูภาพ) ตลอดเพลงเสียงกล้องดังเต็มห้องได้ตลอดเวลาทุกครั้งที่ตี ทำให้น่าตื่นเต้นดี เพลง 3 เสียงกีตาร์โปร่งเต็มไปด้วยรายละเอียดดีมากๆ และเป็นเส้นสายดี เสียงร้องที่โฟกัสดีขึ้น ชัดขึ้นกว่าเพลง 1, 2 เสียงเปียโนสั้น (Up Right) สมจริงดีเพลง 4 ขึ้นต้นเสียงกีตาร์โปร่ง, แบนโจ ฯลฯ เต็มไปด้วยรายละเอียด ดีกว่าที่เคยฟังๆ เสียงหีบเพลงปากสมจริง, เสียงเขย่าลูกกระพรวนเป็นเม็ดๆ ดี เสียงร้อง สด ชัด ตื่นตัวยิ่งขึ้น รื่นเริงขึ้น เสียงเดินดับเบิ้ลเบสหนักใช้ได้ แต่ไม่ขนาดทิ้งตัวลงพื้นห้องเต็มที่ เพลง 5 ขึ้นต้นเสียงกรุ้งกริ้งๆ ของปลายแหลมเต็มไปด้วยรายละเอียดแม้จังหวะที่เสียงทับซ้อนกันอยู่ เสียงอาจไม่สดขนาดเป็นประกายระยิบระยับ แต่ก็ไม่ถึงกับแห้ง เสียงเครื่องสายจีน (ดีด, สี) เป็นเส้นสายดี เสียงดับเบิ้ลเบสอิ่มหนักทิ้งตัวลงพื้นห้อง นอกจากแผ่น CD ข้างต้น ผมยังได้ฟังทดสอบอีกร่วม 10 แผ่น

KM3_BMC

 

สรุป ดูเหมือนผู้ออกแบบและผลิต BDCD 1.1 อยากให้เราได้ฟังอะไรที่มันผ่อนคลายแต่ชัดเจน ให้อารมณ์ และความรู้สึกแบบซึ้งๆ ดื่มด่ำ มากกว่าจะฟังกันแบบจับผิดติไปหมดอะไรประเภทนั้น บางทีคำว่า “เที่ยงตรง” กับ “ได้อารมณ์แบบฟังง่ายๆ” คุณก็ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง และแน่นอน BDCD 1.1 โอนเอนมาข้อหลังมากกว่าข้อแรก มันไม่ใช่ CD ที่คุณจะฟังกันแบบตูมตาม กระแทกกระทั้น เอามันส์ลูกเดียว โหดๆ อะไรประเภทนั้น เวทีเสียงกว้างเหลือเฟือ ให้ลำโพงคุณล่องหนได้ อาจไม่ขนาดเหมือนคุณอยู่ในเหตุการณ์ แต่ก็ได้บรรยากาศที่ชวนเพลินก่อนตัดสินใจลง

ทุนซื้อเครื่องเล่น CD ระดับไฮเอนด์ อยากให้หาโอกาสลองฟังดู นี่อาจเป็นสิ่งที่คุณถามหามานาน

 

ขอขอบคุณ ร้าน Music for Life โทร. 08-1752-1600 ที่เอื้อเฟื้อเครื่องมาให้ทดสอบในครั้งนี้