Test Report: B.M.C ARCADIA SPEAKER
หัสคุณ
B.M.C คือเครื่องเสียงระดับไฮเอนด์แบรนด์น้องใหม่ในบ้านเรา ถ้าจำไม่ผิด B.M.C เคยเปิดตัวในงาน WHAT AUDIO-VIDEO SALES 2012 ที่จัดขึ้น ณ โรงแรม วินเซอร์ สวีทส์ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2555 หรือปีที่แล้วด้วยอินทีเกรทแอมป์ รุ่น CS2
B.M.C ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ. 2009 ใน KASSEL ประเทศเยอรมัน โดยทีมงานผู้บริหาร และนักออกแบบที่ได้นำเอาวิชาความรู้ และประสบการณ์ทางดนตรีที่สั่งสมมาอย่างยาวนานมาพัฒนาเป็นเครื่องเสียงที่มีความยอดเยี่ยมทั้งในแง่ของคุณภาพและการออกแบบ เพื่อตอบสนองถึงความต้องการของผู้ที่หลงใหลในอรรถรสทางดนตรีอย่างลึกซึ้ง ทาง B.M.C เริ่มจากการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานของเครื่องเสียงในระดับไฮเอนด์ จากนั้นก็ได้มีการค้นคว้า และทดลองวงจรอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อการถ่ายทอดความเป็นดนตรีที่สมจริง ด้วยความมุ่งมั่นดังกล่าว ส่งผลให้ชื่อเสียงของ B.M.C เป็นที่ยอมรับ และเติบโตอย่างรวดเร็วในหมู่ออดิโอไฟล์ ทางทีมงานของ B.M.C เชื่อในความคิดนอกกรอบที่ไม่มีการจำกัดกรอบความคิดแบบเก่าๆ ตามที่นักออกแบบโดยทั่วไปยึดถือ เพื่อจุดมุ่งหมายที่สำคัญ ก็คือการนำเสนอเสียงดนตรีที่มีความสมจริงเพื่อให้คุณรู้สึกเสมือนอยู่ที่นั่น และกำลังฟังดนตรีที่กำลังบรรเลงอยู่จริง
ผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่ง MANAGING DIRECTOR ของ B.M.C ก็คือ JUAN CARLOS CANDEIAS ISAAC ถ้าจะดูประวัติของ B.M.C ที่เพิ่งจะก่อตั้งมาไม่นานนัก นักเล่นหลายท่านคงจะเข้าใจว่า B.M.C นี้เป็นมือใหม่ในวงการเป็นแน่ แต่จริงๆ แล้วแนะนำให้จับตาดูที่คีย์แมนคนสำคัญอย่าง JUAN CARLOS CANDEIAS ISAAC เพราะเพียงแค่ชื่อเสียงเรียงนามแล้วก็นับว่ามีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลย ตัว CARLOS CANDEIAS (ขออนุญาตเรียนชื่ออย่างสั้นๆ) นั้นแม้จะมีสัญชาติเป็นชาวเยอรมัน แต่จริงๆ แล้วเขาเป็นลูกครึ่งสเปนกับโปรตุเกส นั่นจึงเป็นที่มาของคำนำชื่อว่า JUAN ซึ่งในภาษาสเปนก็คือคำว่า JOHN นั่นเอง
ตัว CARLOS CANDEIAS นั้นมีความสนใจในเครื่องเสียงตั้งแต่มีอายุได้เพียงแค่ 6 ขวบ พอย่างเข้าสู่ปีที่ 8 เขาก็เริ่มประกอบลำโพงขึ้นมาเองเป็นคู่แรก และแทบไม่น่าเชื่อว่า เจ้าลำโพงคู่นั้นยังคงอยู่กับ CARLOS CANDEIAS มาจนถึงปัจจุบัน และยังใช้งานได้เป็นปกติอีกด้วย! ในวัยเด็กของ CARLOS CANDEIAS ยังได้ถูกคัดเลือกให้ไปเป็นนักร้องนำ (LEAD SINGER) ของวงประสานเสียง CLASSICAL CHOIR ที่มีชื่อเสียง ซึ่งเคยได้ร่วมแสดงพร้อมกับวงออร์เคสตร้าชื่อดังอย่าง BERLIN PHILHARMONIC ORCHESTRA หลายครั้งด้วยกัน ที่สำคัญยังมี 2 ครั้งที่กำกับโดยวาทยากรชื่อดังระดับโลกอย่าง HERBERT VON KARAJAN อีกด้วย
เมื่อ CALOS CANDEIAS อายุได้ 13 ปี ไฮฟิเดลิตี้ก็กลายมาเป็นงานอดิเรกของเขา โดย CARLOS ได้เริ่มศึกษาเครื่องเสียงคุณภาพสูงตั้งแต่จุดเริ่มต้นกันเลยทีเดียว ในระยะเวลาเพียงแค่ 1 ปี CARLOS ก็สามารถโมดิฟายเครื่องเสียงชิ้นนั้นให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นได้ ต่อมาเมื่อ CARLOS CANDEIAS เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย BERLIN TECHNICAL UNIVERSITY ในสาขา ELECTRONIC ENGINEERING เขาก็ได้เริ่มก่อตั้งบริษัท CANDEIAS ENGINEERING ขึ้นในปีค.ศ. 1986 ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะรังสรรค์ความเป็นดนตรีด้วยคุณภาพที่สูงสุดนั้นเอง ด้วยพื้นฐานทางเทคโนโลยี และประสบการณ์ที่สั่งสมพร้อมกับการตกผลึกทางความคิดมาอย่างยาวนาน ถูกนำมารวมกันเพื่อจุดประสงค์เดียว คือ การนำเสนอความเป็นดนตรีในแนวทางที่มีความเป็นธรรมชาติที่สุด CARLOS CANDEIAS เชื่อมั่นในความเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์ และศิลป์ที่มีอยู่ในตัวเขา และนี่คือสิ่งที่ทำให้ CANDEIAS ENGINEERING มีความพิเศษ และแตกต่างไปจากบริษัทอื่นๆ
ถ้ามองอย่างผิวเผินแล้ว CARLOS CANDEIAS อาจจะเป็นนักคิดและนักออกแบบที่มีความหยิ่ง ทะนง และมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ซึ่งสิ่งนี้อาจจะทำให้เกิดความหลงไหลจนกลายเป็นการปิดกั้นตัวเองไปอย่างน่าเสียดาย แต่ CARLOS CANDEIAS กลับเป็นนักคิด และนักออกแบบที่เปิดกว้าง และพร้อมที่จะแชร์เทคโนโลยีของตนเองให้กับบริษัทอื่นๆ ไม่เพียงเท่านั้น CARLOS CANDEIAS ยังสนับสนุน และทำงานอยู่เบื้อหลังของเหล่าบริษัทชื่อดังต่างๆ ในงานแบบ ODM/OEM ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก เขาเชื่อมั่นในการทำงานที่จริงใจ และมิตรภาพที่ยาวนาน ทาง CANDEIAS ENGINEERING รับที่จะพัฒนาอุปกรณ์ออดิโอแบบ HIGH FIDELITY ในแบบ ODM เป็นหลักมาอย่างยาวนาน จนเมื่อปี 2002 ที่ทาง CANDEIAS ENGINEERING ได้ขยายงานออกไปซึ่งสามารถรองรับการออกแบบ รวมทั้งแนวความคิดของงานชิ้นหนึ่งตั้งแต่เริ่มต้น ไล่เรียงไปจนจบกระบวนการจนแพ็คเป็นหีบห่อสำเร็จ
จวบจนถึงปีค.ศ. 2009 ที่ JUAN CARLOS CANDEIAS ISAAC ได้ตัดสินใจก่อตั้ง B.M.C AUDIO ขึ้นเพื่อรังสรรค์เครื่องเสียงในแนวความคิดของเขาเอง ซึ่งก็คือการนำเสนอความเป็นดนตรีที่มากกว่าสิ่งอื่นใด (MORE MUSIC AND LESS OF EVERYTHING ELSE)
B.M.C ARCADIA SPEAKER
หลังจากที่ B.M.C ปล่อยอินทีเกรทแอมป์รุ่น CS 2 ออกมาให้ได้ยลโฉมกันไปแล้ว ทาง B.M.C ก็นำเสนอลำโพง ARCADIA ตามออกมา ซึ่ง ARCADIA นั้นถือว่าเป็นลำโพงในระดับเริ่มต้น (FIRST ENTRY) ที่ทาง B.M.C ตั้งใจจะนำเสนอออกมา 3 SERIES ด้วยกัน
ARCADIA เป็นลำโพงตั้งพื้น 3 ทาง แบบ FULL RANGE PASSIVE BI-POLAR ที่มีวูฟเฟอร์ขนาด 11” ถึง 2 ตัว ด้วยกัน ขนาดของ ARCADIA อยู่ที่ 285 x 1200 x 518 มม. (ก x ส x ล) หลายท่านอาจจะสงสัยว่าระบบลำโพงแบบ BI-POLAR นั้นทำงานอย่างไร และอะไรคือเหตุผลที่ทาง B.M.C เลือกที่จะออกแบบ ARCADIA ให้เป็นลำโพงแบบ FULL RANGE BI-POLAR ?
ลำโพงแบบ BI-POLAR นั้นจะใช้ไดรเวอร์ที่เหมือนกันจำนวน 2 ชุด โดยกำหนดให้ชุดแรกยิงเสียงออกทางด้านหน้าเหมือนกันกับลำโพงโดยทั่วไป และเลือกใช้ไดรเวอร์จำนวนเท่ากันที่เหมือนกันอีก 1 ชุด ติดตั้งอยู่ทางด้านหลัง และยิงเสียงออกไปทางด้านหลัง โดยไดรเวอร์ทั้ง 2 ชุดจะทำงาน และต่อถึงกันในแบบ IN-PHASE หรือมีเฟสตรงกัน ไม่เหมือนกับลำโพงแบบ DI-POLAR ที่จะยิงเสียงกลับเฟสกัน หรือแบบ OUT OF PHASE
สำหรับข้อดีของลำโพงแบบ BI-POLAR นั้นก็คือ ความสามารถในการถ่ายทอดขนาดของซาวด์สเตจที่กว้างใหญ่ สามารถขยายตัวออกไปทั้งทางด้านข้าง และทางด้านหลังได้ ในขณะที่ลำโพงโดยทั่วไปจะถ่ายทอดซาวด์สเตจ และความลึกที่อยู่ตรงกึ่งกลาง (CENTER) ได้ดี แต่จะด้อยลงมากกับซาวด์สเตจทางด้านข้าง ทาง B.M.C จึงใช้การออกแบบ การกระจายเสียงแบบ BI-POLAR เพื่อถ่ายทอดซาวด์สเตจที่มีความสมบูรณ์ และสมจริงยิ่งขึ้น
ทาง B.M.C มิได้เพียงแค่เลือกเอาวัสดุ หรืออุปกรณ์ที่มีจำหน่ายอยู่ในตลาด นำมาประกอบกันขึ้นเป็นลำโพงเท่านั้น แต่ทาง B.M.C ได้พัฒนา และวิเคราะห์เจาะลึกลงไปถึงการทำงานของลำโพงอย่างแท้จริง เพื่อให้ ARCADIA เป็นลำโพงที่ถึงพร้อมสมบูรณ์ทั้งทางเทคโนโลยี การออกแบบที่มีความลงตัวและดูล้ำสมัย เริ่มตั้งแต่ตัวตู้ของ ARCADIA ที่ถูกออกแบบให้ทำงานในระบบตู้ปิด (CLOSED BOX) ตู้ลำโพงนั้นทำขึ้นจาก CERAMIC – COMPOUND ที่ทาง B.M.C เรียกมันว่า MEGALITH ซึ่งทาง B.M.C ได้พัฒนามาตั้งแต่ปีค.ศ. 2002 ตู้ MEGALITH นี้ ถูกผลิตขึ้นด้วยวัสดุชนิดพิเศษ ที่มีส่วนผสมของ ALUMINUM – OXIDE – BASED CERAMICS ที่มีขนาดที่แตกต่างแบบ MULTIPLE GRAIN SIZES ถูกนำมายึดติดกันด้วย COMPLEX ACRYLIC พิเศษที่มีคุณสมบัติที่เหนือกว่า EPOXY หรือ PHENOLIC โดยทั่วไป ตัว ACRYLIC ที่ใช้ใน ARCDIA จะมีความแข็งแรง และคงทนเป็นเวลานานนับทศวรรษ
ด้วยตัวตู้แบบ BALANCED MEGALITH นี้ ตัวตู้จึงจะมีความเหนียวแน่น และแกร่งเป็นพิเศษ สามารถจะต้านทานต่อแรงดันอากาศที่มากระทำได้ดี ช่วยลดการเกิดความผิดเพี้ยนทางความถี่ที่จะส่งผลต่อเสียงเบส (BASS) และเสียงกลางที่อาจจะเป็นการเพิ่มหรือแต่งเติมสีสัน (COLORATION) ทำให้เสียงนั้นขาดความเที่ยงตรง และผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง อีกทั้งยังสามารถลดคลื่นความสั่นสะเทือนที่เดินทางมาจากไดรเวอร์ และลดปริมาณของการเกิดเรสโซแนนซ์ หรือการสั่นค้างได้ดีกว่าผนังตู้ที่ทำจากไม้ นอกจากนี้ MEGALITH ยังมีคุณสมบัติที่สามารถทนต่อสภาวะอากาศฝุ่น และทนต่อความร้อนได้ดีอีกด้วย จริงๆ แล้วการประกอบส่วนต่างๆ ของตัวตู้แทบจะเหมือนกับการเชื่อมต่อทางเคมี ที่สามารถจะเชื่อมส่วนต่างๆ เข้าเป็นเนื้อเดียวกันอย่างไร้รอยต่อใดๆ ทั้งสิ้น ทาง B.M.C ยืนยันว่าด้วยการออกแบบดังกล่าวสามารถจะกำจัดค่าเรสโซแนนซ์ที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนตัวของไดรเวอร์ (BASS – REFLEX RESONANCE) ที่เกิดขึ้นภายในตัวตู้ได้เป็นอย่างดี เปรียบเหมือนกับการเป่าลมหรืออากาศเข้าไปในขวดที่ว่างเปล่าอย่างไงอย่างงั้น
ตัวตู้ของ ARCADIA ยังเสริมความแกร่งในแนวตั้ง ด้วยการเสริมผนังด้านข้างทั้ง 2 ด้าน โดยแบ่ง และไล่เรียงออกเป็น 3 ระดับ โดยมีสัดส่วนความสูงอยู่ที่ประมาณ 3 ใน 4 ส่วนของลำโพง ซึ่งช่วยทำให้ ARCADIA ดูเพรียวบางขึ้นกว่าความเป็นจริง และดูสวยงามจนสามารถนำไปไว้ในห้องทั่วไปได้อย่างลงตัว ไม่เพียงเท่านั้น เนื่องจากการทำตู้ลำโพงของ ARCADIA แทบจะเป็นการหล่อออกมาจากแม่พิมพ์ หรือ MOLD ดังนั้นสีของตู้จึงมิได้มีการนำมาพ่นในภายหลัง แต่เป็นการผสมสีเข้าไปในวัสดุพิเศษอย่าง ALUMINUM – OXIDE – BASED CERAMICS และ COMPLEX ACRYLIC ตั้งแต่ต้น จากนั้นจึงนำมาพ่นเคลือบด้วยแล็คเกอร์แบบเคลือบเงาอีกที ด้วยวิธีนี้จะมีข้อดีตรงที่ถ้าตัวตู้เกิดรอยขีดข่วนแบบขนแมวแล้วจะสามารถเช็ดหรือขัดเบาๆ ได้โดยที่จะไม่ไปทำลายผิวของตู้ลำโพงแต่อย่างใด
ใน ARCADIA เลือกใช้ทวีตเตอร์แบบ AIR MOTION TRANSFORMER ด้านหน้า 1 ชุด และด้านหลังอีก 1 ชุด ทวีตเตอร์ AIR MOTION TRANFORMER (AMT) ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นโดย DR.OSKAR HEIL ตั้งแต่ในช่วงปีค.ศ. 1960s หลักการทำงานนั้นจะแตกต่างไปจากทวีตเตอร์แบบ RIBBON, PLANAR MAGNETIC และ EUECTROSTATIC ทั่วไป ทวีตเตอร์แบบ AMT จะทำงานโดยใช้แผ่นไดอะเฟรมที่ทำขึ้นจาก MYLAR หรือ POLYETHY LENE หรือ POLYESTER หรือ POLYIMIDE ที่มีความหนาเพียง 0.0005 นิ้วเท่านั้น นำมาจีบ (PLEATED) และยึดติดเข้าไว้ในกล่องสนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูง ซึ่งจะถูกบังคับให้เปิด และปิดตามสัญญาณของดนตรี อากาศจะถูกผลักผ่านแผ่นไดอะเฟรมเพื่อให้เกิดการขยับตัว และทำให้เกิดเสียง นี่จึงเป็นที่มาของชื่อว่า AIR MOTION TRANSFORMER ข้อดีของทวีตเตอร์แบบ AMT มีจุดเด่นที่ตัวแผ่นไดอะเฟรมนั้นจึงมีความแข็งแกร่งไม่เปราะบางเหมือนกับแผ่นริบบอน อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพที่เหนือกว่าทวีตเตอร์แบบ RIBBON, ELECTROSTATIC และ PLANAR MAGNETIC
สำหรับมิดเรนจ์นั้นทาง B.M.C เลือกใช้มิดเรนจ์แบบ KEVLAR – HONEY – COMB SANDWICH ขนาด 6.1 นิ้ว ไดอะเฟรมเคฟลาร์นั้นมีคุณสมบัติที่สำคัญก็คือมีน้ำหนักเบา แต่มีความแข็งแรงที่สูงเป็นพิเศษ มีความเพี้ยนต่ำพร้อมกับมีความเหนียวสามารถทนต่อแรงยืดตัว (ELONGATION) ที่เหนือกว่าเหล็กถึง 1,000 เท่า! ยิ่งตัวไดอะเฟรมเคฟล่าร์นี้มีโครงสร้างแบบรังผึ้ง (HONEY COMB) ยิ่งทำให้มีน้ำหนักที่เบาขึ้นแต่ยังคงรักษาความแกร่งที่ดีได้ดังเดิม ใน ARCADIA ใช้มิดเรนจ์ถึง 2 ตัว ต่อ 1 ชุด วางขนาบทวีตเตอร์ทั้งทางด้านบนและด้านล่างแบบ SYMMETRY ชุดไดรเวอร์จะยิงเสียงออกทางด้านหน้า 1 ชุด และทางด้านหลังอีก 1 ชุด
ใน ARCADIA เลือกใช้วูฟเฟอร์ขนาด 11 นิ้ว แบบ KEVLAR-HONEY COMB SANDWICH จำนวน 2 ตัว ด้วยกัน โดยจัดวางให้ไดรเวอร์ยิงเสียงออกทางด้านข้าง จุดเด่นของวูฟเฟอร์นอกจากใช้ไดอะเฟรมที่ขึ้นรูปจากเคฟลาร์แบบรังผึ้งแล้วยังเลือกใช้ระบบแม่เหล็กแบบ MULTI-MAGNET DRIVE จำนวน 6 ชุด ด้วยกัน ตัวแม่เหล็กจะมีขนาดเล็ก มีจำนวน 6 ชิ้น วางเรียงกันล้อมรอบวอยซ์คอยล์มีลักษณะคล้ายกับกลีบดอกไม้ ข้อดีของการใช้แม่เหล็กขนาดเล็กจำนวน 6 ชิ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไดรเวอร์โดยทั่วไปที่ใช้แม่เหล็กขนาดใหญ่ชิ้นเดียวก็คือ สามารถลดการรั่วไหลของกำลังแม่เหล็กได้ดีกว่า และยังสามารถให้ความเข้มของเส้นแรงแม่เหล็กที่ดีกว่า มีความสม่ำเสมอที่มากกว่าซึ่งจะส่งผลให้การทำงานของไดรเวอร์มีความถูกต้องและเที่ยงตรงที่สุด
สำหรับวงจรครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์กนั้นทาง B.M.C ได้แยกออกมาไว้ภายนอกโดยแยกเป็นกล่องอิสระสำหรับลำโพงแต่ละข้างเพื่อลดการรบกวนทั้งจากคลื่นแม่เหล็ก รวมทั้งแรงผลักของอากาศภายใน ( INTERNAL SOUND PRESSURES ) การแยกชุดวงจรครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์กไว้ภายนอก ยังช่วยให้ทาง B.M.C สามารถที่จะปรับปรุงและพัฒนาวงจรให้ดียิ่งขึ้นแบบ UPGRADABLE เพื่อคุณภาพเสียงที่ดีขึ้นในอนาคต ทาง B.M.C ยังได้เลือกใช้การเชื่อมต่อระหว่างชุดวงจรครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์ก กับตัวลำโพงโดยใช้ขั้วต่อแบบ 28 JACKS ของ NEUTRIK SPEAKON CONNECTOR มีการแยกขั้วต่อออกเป็น 2 ชุดแบบไบ-ไวร์สำหรับทวีตเตอร์/มิดเรนจ์และวูฟเฟอร์ แต่สำหรับขั้วต่อเพื่อเชื่อมสายลำโพงที่มาจากแอมปลิไฟเออร์นั้นจะเป็นขั้วไบดิ้งโพสต์แบบซิงเกิ้ลไวร์ชุบทองอย่างดีของ CMC USA. และขั้วต่อแบบ NEUTRIK SPEAK ON CONNECTOR มาให้อีก 1 ชุด
ตัวตู้ของชุดครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์กก็ขึ้นรูปจาก MEGALITH CERAMIC – COMPOSITE เช่นกัน ในวงจรครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์กนั้น ทาง B.M.C ได้เลือกใช้อุปกรณ์ที่คัดสรรมาอย่างดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นคอยล์แกนอากาศขนาดใหญ่ คาปาซิเตอร์แบบ POLYPROPYLENE และ POLYSTYRENE รีซีสเตอร์แบบเมทัลฟิล์ม ที่มีความเที่ยงตรงสูง และเพื่อคุณภาพเสียงที่เป็นยอด
ARCADIA ถูกผลิตออกมามี 2 สีด้วยกัน ประกอบด้วย สีดำและสีขาวแบบ WHITE SATIN เคลือบเงาแบบ HIGH GLOSS FINISH สำหรับคู่ที่ได้รับมาทดสอบนั้นเป็นสีดำ
สเปค ARCADIA มีดังนี้
3-way passive bipolar speaker
Woofer : 2 x 278 mm (11″), Kevlar / Honeycomb cone, 6 magnet drive, 50mm voice coil.
Midrange : 4 x 155 mm (6.1″), Kevlar / Honeycomb cone
Tweeter : 2 x Air Motion Transformer, extreme drive motor
“Megalith” ceramic-composite cabinet
External Crossover
Efficiency : 91dB / W / m
Nominal Impedance : 4 Ohm
Dimensions bottom (w, h, d) : 1200 x 285 x 518 mm (47.2 x 11.2 x 20.4″)
Dimensions top (w, h, d) : 1200 x 195 x 518 mm (47.2 x 7.7 x 20.4″)
Weight : 90 kg (198 lbs) each speaker
: 17 kg (37.5 lbs) each crossover
Set Weight : 214kg (471 lbs)
ผลการทดลองฟัง
B.M.C ARCADIA ถูกบรรจุมาให้กล่องอะลูมิเนียมสีดำ ดูไปคล้ายๆ กับกล่องใส่เครื่องดนตรี หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในสตูดิโออย่างงัยอย่างงั้นด้วยน้ำหนักตัวที่ค่อนข้างมาก และการบรรจุกับกล่องที่แน่นเปรียะ ทำเอาพวกเราหนักใจไม่เบา อีกทั้งเมื่อคำนึงถึงการจัดวางในห้องฟังแล้ว น้ำหนักตัวของ ARCADIA ที่ 90 กก.ต่อข้างต้องนับว่าไม่เบาเลย เมื่อยกขึ้นวางแล้วก็ต้องฟังกันให้ครบจบกระบวนความในคราวเดียว ไม่สามารถะย้ายออกเพื่อปรับเปลี่ยนไป ฟังลำโพงคู่อื่นได้ ซึ่งทำให้พวกเรารู้สึกหนักใจไม่น้อยด้วยเช่นกัน พวกเราจึงใช้เวลาในการเคลียร์คิวงานไปกว่า 2 ถึง 3 อาทิตย์ จึงจะสามารถนำเอา ARCADIA ขึ้นจัดวางได้ดั่งที่ตั้งใจไว้ จากนั้นก็ทำการรันอินอีกเกือบ 3 อาทิตย์ จึงได้ชักชวน พร้อมกับนัดแนะเหล่าสมาชิกลูกขุน ให้แวะเวียนเข้ามาฟังกัน ต่างกรรมต่างวาระ สำหรับซิสเต็มที่ไช้ร่วมในการฟังประกอบด้วย
เครื่องเล่นซีดี : MARANTZ CD 17 (CLOCK II), CD 11 MK II (CLOCK II)
ปรีแอมป์ : KRELL KSL, WYRED 4 SOUND ST PREAMP, ADCOM GFP- 750, MICHELL ORCA
เพาเวอร์แอมป์ : FORTE F5, KRELL KSA 50S, PASS ALEPH 5 ,ADCOM GFA-5800 ,MICHELL ALECTO MONO BLOCK
อินทีเกรทแอมป์ : INCRECABLE IAMP TIA 240, X-AMP X-30i SE
สายนำสัญญาณ : VAMPIRE AI-II (RCA, BAL XLR)
สายลำโพง : KIMBER KABLE 12 TC, VAMPIRE ST-II
สายไฟ AC : XAV XAC#5, MUSIC MUSE ‘JORMUNGANDR’ AC CABLE
ฟิวส์ : MUSIC MUSE V2
ห้องฟังขนาด 4×8 เมตร ได้รับการปรับแต่งอะคูสติก มาอย่างดี
เนื่องจาก B.M.C ARCADIA ถูกส่งมาพร้อมกับสายลำโพงของ KIMBER KABLE รุ่น 12 TC ที่มีการเข้าหัวของ NEUTRIK SPEAKON CONNECTOR เพื่อใช้ต่อเชื่อมระหว่างลำโพงกับชุดวงจรครอสโฮเวอร์เน็ทเวิร์คมาให้ อีกทั้งยังมีสายลำโพงของ KIMBER KABLE รุ่น 12 TC อีก 1 ชุด ที่ปลายด้านหนึ่งเข้าหัว NEUTRIK SPEAKON CONNECTOR เพื่อต่อเข้ากับกล่องวงจรครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์ก ในขณะที่ปลายอีกด้านหนึ่งนั้นจะเป็นขั้วต่อแบบบานาน่า เพื่อต่อเข้ากับแอมปลิไฟเออร์ ทั้งหมดมีมาเท่านี้ ไม่ได้มีทั้งคู่มือ, SPIKE หรือรายละเอียดใดๆมาให้ เท่าที่ได้ลองค้นหาข้อมูล ก็มีอยู่อย่างจำกัด ยิ่ง ARCADIA เป็นลำโพงแบบ FULL RANGE PASSIVE BI-POLAR ด้วยแล้วพวกเราจึงยิ่งให้ความสำคัญในการจัดวางเป็นอันดับแรก เพื่อให้ ARCADIA ได้เปล่งประสิทธิภาพ ออกมาให้ได้มากที่สุด
หลังจากที่ได้ลองขยับพร้อมกับปรับเปลี่ยนตำแหน่งการจัดวางลำโพง ARCADIA อยู่หลายรอบ ก็มาลงตัวที่ระยะห่างระหว่างลำโพงซ้าย และขวาที่ 2.00 เมตร ห่างจากผนังด้านหลัง 1.8 เมตร และห่างจากผนังด้านข้าง 0.82 เมตร จัดวาง ARCADIA แทบจะขนานกับห้องโดยมีมุมโทนอินเล็กน้อยเพียงประมาณ 5 องศาเท่านั้น ใต้ลำโพงได้จัดวางทิปโทของ MICHELL ไว้ 3 จุด สำหรับกล่องครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์กนั้นก็รองด้วยทิปโททองเหลือง 3 จุด ได้ลองเปรียบเทียบสายลำโพงของ KIMBER KABLE 12 TC ที่มากับลำโพงเปรียบเทียบกับสายลำโพงของ VAMPIRE ในห้องฟัง ผลปรากฏว่า สาย KIMBER KABLE จะให้เสียงที่อบอุ่นกว่า เนื้อเสียงมีมวลที่หนา และเข้มกว่า ในขณะที่สายประจำห้องของเราให้ความโปร่งใส และรายละเอียดที่ดีกว่า พวกเราจึงเลือกใช้สายลำโพงของ VAMPIRE ที่ใช้เป็นสายอ้างอิงในห้องฟังของเราตลอดการฟังทดสอบในครั้งนี้
ถือเป็นเรื่องปกติที่นักเล่นนักฟังเมื่อได้เห็นรูปร่าง และหน้าตาของ ARCADIA แล้ว มักจะคาดหวังว่า ลำโพงที่มีขนาดใหญ่ ใช้ไดรเวอร์หลายตัวคงจะให้เสียงที่ยิ่งใหญ่ กระหึ่มเต็มห้อง เสียงเบสน่าจะลงได้ลึกจนห้องสะเทือน แต่ถ้าได้ฟังจริงๆ แล้ว ARCADIA กลับไม่ใช้ลำโพงที่จะให้แนวเสียงไปในลักษณะนั้นอย่างเด็ดขาด ตรงกันข้าม ARCADIA กลับถ่ายทอดสรรพสำเนียง ขับขานเสียงดนตรี ออกมาอย่างราบเรียบ มีความนุ่มนวล และกลมกลืนดีเป็นพิเศษ
ลูกขุนหลายๆ ท่านที่ได้ฟัง ARCADIA จะมีแววตา ที่ค่อนข้างแปลกใจ เมื่อได้ฟัง ARCADIA เป็นครั้งแรก แต่ก็เป็นความรู้สึกเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เพราะจากนั้น ARCADIA ก็จะชักนำให้คุณเพลิดเพลินไปกับบทเพลงของดนตรี ตามแนวทางที่ ARCADIA ได้ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี
เริ่มจากเสียงร้องของ CLAIR MARLO (LET IT GO : SHEFFIELD LAB) ตามด้วย BARB JUNGR (WALKING IN THE SUN : LINN RECERDS) ไล่เรียงไปจนถึง JENNIFER WARNES (THE FAMOUS BLUE RAINCOAT) ลูกขุนทุกท่านรู้สึกได้ถึงความราบเรียบที่มีอยู่ในน้ำเสียงอย่างคงเส้นคงวา ท่านหนึ่งกล่าวชมว่า ARCADIA ให้ดุลเสียงที่ราบเรียบดี ไม่เน้น ไม่เรียกร้องความสนใจในทันที อีกท่านมองว่าเสียงของ ARCADIA นั้นมีความนุ่มนวล เนื้อเสียงไม่หนา มีความเป็นกลางที่ออกจะจืดชืดซะด้วยซ้ำเมื่อสัมผัสฟังในครั้งแรก แต่เมื่อฟังไปเรื่อยๆ ดูเหมือนว่า ARCADIA จะนำพาให้เราเพลินไปกับการฟังเพลง มากกว่าการจ้องจับผิด หรือหาจุดเด่นจุดด้อยในน้ำเสียงที่ได้ฟังกัน ในขณะที่ลูกขุนคอเบส จับสังเกตว่า เบสของ ARCADIA นั้นอิ่มแน่น แต่ลงได้ไม่ลึกอย่างที่คาดไว้ (EXOTIC DANCES FROM THE OPERA) อีกท่านถ่อมตนว่า เป็นนักฟังมือใหม่ แค่เพียงแวะเวียนผ่านมาโดยบังเอิญ ก็เลยได้โอกาส ถูกชักชวนให้เป็นลูกขุนกิตติมศักดิ์แบบสมทบ หลังจากที่ฟังผ่านไปสักพักใหญ่ก็กล่าวชม ARCADIA ว่าเป็นลำโพงที่เสียงดีจริง เพียงแต่น้ำเสียงยังไม่ค่อยจับใจหรือประทับใจนั่นเอง (JOHN MICHAEL MONTGOMERY : KICKIN’ IT UP)
ในการค้นหาตัวตนของ ARCADIA พวกเราได้ใช้แอมป์ปลิไฟเออร์หลายชุดด้วยกัน สิ่งหนึ่งที่สัมผัสฟังได้ก็คือ ARCADIA ยังคงรักษาความเป็นตัวตนของตัวเองไว้ได้อย่างเหนียวแน่น กล่าวคือ ARCADIA ยังคงรักษาน้ำเสียงที่ราบเรียบ นุ่มนวล ที่จะชักนำให้คุณเพลินไปกับการฟังเพลงได้อย่างไม่ลดละ โดยเฉพาะกับแอมปลิไฟเออร์ที่ให้ดุลเสียงที่ดี และมีความเป็นกลางด้วยแล้ว ARCADIA ยิ่งฉายแววในแนวดังกล่าวออกมาได้อย่างเด่นชัดยิ่งขึ้น
มีเพียงกับชุดแอมปลิไฟเออร์ของ KRELL เท่านั้น ที่ได้เพิ่มเติมความรู้สึกถึงรายละเอียดรวมทั้งสเน่ห์ กับความหวานเข้าไปได้อย่างพอเหมาะ ซึ่งช่วยเพิ่มอรรถรสในการฟังเพลงอย่างได้อารมณ์ และโดดเด่นอย่างยากจะปฏิเสธ นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ JUAN CARLOS CANDEIAS ISAAC ได้เพียรพยายามนำเสนอ ซึ่งก็คือความเป็นดนตรีที่มากกว่าสิ่งอื่นใด (MORE MUSIC AND LESS OF EVRYTHING ELSE) เพราะ ARCADIA นั้นสามารถถ่ายทอดน้ำเสียงที่มีความเป็นกลาง ไม่เน้นเด่นเฉพาะในย่านเสียงใดเป็นหลัก เพื่อเรียกร้องความสนใจในเวลาอันสั้น และจะรักษาคุณลักษณะทางเสียงตามนี้ไว้ แต่ก็สามารถจะแปรเปลี่ยนไปตามแนวเสียงของเครื่องที่นำมาใช้งานร่วมกัน พร้อมกับแสดงความแตกต่างเหล่านั้นออกมาให้ได้ยิน
จะว่าไปแล้ว ARCADIA นั้นสามารถถ่ายทอดคุณภาพเสียงออกมาได้ดี มีความกลมกลืนที่ดี โดยเฉพาะกับย่านเสียงกลาง พร้อมกับขยายอาณาบริเวณของความกลมกลืนครอบคลุมย่านเสียงออกไป ทั้งทางด้านกลางสูง และกลางต่ำ เสียงกลางนั้นนุ่มนวล ละเมียดละไม มีมวลเสียงและความหนาที่เพียงพอ ซึ่งพอเพียงที่จะสะกดหรือแสดงให้เห็นตัวตนได้เด่นชัด (CAROL KIDD : NICE WORK) น้ำเสียงมีความราบเรียบ และต่อเนื่อง กับเสียงร้องของป้า ELLA FITZGERALD ด้วยแล้ว ความราบเรียบและความต่อเนื่องดังกล่าวยิ่งปรากฏขึ้นอย่างแจ่มชัด ( ELLA FITZGERALD : FOREVER ELLA )มีความเป็นธรรมชาติในแบบ ที่ลูกขุนท่านหนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า น้ำเสียงของ ARCADIA ออกจะจืดชืด แตกต่างไปจากนี่ เคยฟังมาจากลำโพงคู่อื่นๆ ARCADIA ยังคงลักษณะของมวลเสียงดังกล่าวขึ้นไปถึงในย่านกลางสูง เสียงเปียโนที่บรรเลงโดย HOROWITZ จะมีมวลเสียงและความอบอุ่นในปริมาณที่มากกว่าที่คุ้นเคยในขณะเดียวกันความร่าเริง และความสดใสที่แฝงไว้ในการเล่นดูจะถูกลดทอนลงไปด้วยเช่นกัน (HOROWITZ IN MOSCOW : DG) ตอกย้ำกันอีกครั้งด้วยการบรรเลงไวโอลินของ ISAAC STERN ที่มีความราบเรียบต่อเนื่องนำพาให้คุณเพลินไปการบรรเลงได้ดี ถึงแม้เสียงของไวโอลินจะถูกถ่ายทอดออกมาอย่างโดดเด่น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าน้ำเสียงของไวโอลินนั้น ดูจะเป็นการตั้งใจเล่น รู้สึกถึงความเป็นระเบียบมากขึ้นจนอาจจะลดหย่อนความมีชีวิตชีวาลงไปกว่าที่คุ้นเคย (ISAAC STERN : “HUMORESQUE”)
เสียงแหลมของ ARCADIA จะมีมวลเสียงที่บางลงเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับเสียงในย่านกลางและกลางสูง แต่ ARCADIA ก็นำเสนอเสียงแหลมที่แจกแจงรายละเอียดได้ดีมีความโปร่ง และเป็นอิสระอย่างโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นหางเสียงหรือความกังวานของไวบราโฟนที่บรรเลงโดย LARS ERSTRAND ในเพลง BODY AND SOUL (LARS ERSTRAND AND FOUR BROTHERG : OPUS 3) หรือบรรยากาศของฮอลล์ รวมทั้งเสียงการไอของผู้ฟังใน MOSCOW CONSERVATORY ที่ ARCADIA สามารถถ่ายทอดออกมาให้ได้ยิน (HOROWITZ- LIVE IN MOSCOWS :DG) เป็นเสียงรายละเอียดที่ถูกห้อมล้อมไว้ด้วยอากาศอย่างเป็นอิสระแบบ AIRY เป็นรายละเอียดที่มีความกระจ่างชัดที่ไม่ขึ้นขอบ และเป็นธรรมชาตินี่คือความโดดเด่นของทวีตเตอร์ AIR MOTION TRANSFORMER (AMT) ที่นำเสนอออกมาได้อย่างเหนือชั้น
เสียงในย่านกลางต่ำไม่ว่าจะเป็นเสียงร้องของ JOHN MICHAEL MONT-GOMERY หรือ LOUIS ARMSTRONG ARCADIA จะถ่ายทอดออกมาด้วยมวลเสียงที่อิ่มใหญ่ แยกแยะรายละเอียดได้ดีพอประมาณ มีน้ำเสียงที่ชวนฟัง สปีดของดนตรีแม้จะกระชับ แต่ด้วยความกลมกลืน และราบเรียบของน้ำเสียงจะทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าสปีดของดนตรีจะถูกดึงให้ช้าลงเล็กน้อยเพื่อให้คุณได้ซึมซับอรรถรสของดนตรีได้เพิ่มขึ้น อัพเปอร์เบสนั้นถูกถ่ายทอดออกมาอย่างทรงพลัง มีเนื้อที่แน่นเป็นพิเศษ เบสต่ำๆ ลงได้ลึกพอประมาณ การแยกแยะรายละเอียดของเบสต่ำ ทำได้ไม่ดีนัก ดูเหมือนไดรเวอร์จะมีการยั้งตัวที่รวดเร็ว จึงทำให้เบสต่ำเก็บตัวลงอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน
สำหรับสมรรถนะทางด้านอิมเมจนั้น ARCADIA สามารถตรึงตำแหน่งต่างๆ ได้นิ่ง การขึ้นรูปของอิมเมจจะอยู่ในขั้นดี การจัดวางรูปวงจะวางตัวเดินหน้า (FORWARD) ล้ำออกมากว่าแนวระนาบของลำโพงพร้อมกับขยายตัวลงไปทางด้านหลัง แต่ด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบจึงทำให้ไม่ค่อยรู้สึกถึงอาการที่รุกเร้าหรือเรียกร้องความสนใจจนเกินงาม ซาวด์สเตจทางด้านกว้างสามารถแผ่ขยายอาณาบริเวณออกไปจนเลยตัวลำโพงทั้งซ้าย และขวาได้อย่างเป็นอิสระ และด้วยระบบ BI-POLAR ลำโพง ARCADIA จึงสามารถถ่ายทอดขนาดของวงและเวทีที่ขยายตัวออกไปทางด้านข้างรวมทั้งแสดงอาณาบริเวณที่ถอยลึกลงไปทางด้านหลังได้อย่างโดดเด่น ซึ่งถือว่าเป็นคุณลักษณะที่ไม่ค่อยได้พบเจอแม้แต่ในลำโพงระดับไฮ-เอ็นด์ที่มีราคาแพงทั้งหลายทั่วไป ต้องนับว่าลำโพง ARCADIA ได้แสดงความสามารถในการถ่ายทอดซาวด์สเตจ ออกมาให้ได้ยินจนเป็นที่ประจักษ์ตามที่ JUAN CALOS CANDEIAS ISAAC ได้ตั้งใจออกแบบไว้อย่างสมบรูณ์ ในขณะที่ซาวด์สเตจทางด้านลึกก็นำเสนอออกมาได้ดี สามารถแสดงช่องวางระหว่างดนตรี ที่แบ่งออกเป็นลำดับ ถอยลึกลงไปภายในซาวด์สเตจได้ดี
สรุป
ARCADIA จาก B.M.C ถึงแม้ว่าจะเป็นลำโพงในระดับ เริ่มต้น หรือ FIRST ENTRY แต่ทาง B.M.C ก็ได้รวบรวมเอาเทคโนโลยี ที่มีความก้าวหน้าในการออกแบบลำโพง ไม่ว่าจะเป็นวัสดุชั้นเลิศในการทำตู้ อุปกรณ์เน็ตเวิร์กนี้ได้ผ่านการคัดสรรมาอย่างดี อีกทั้งไดรเวอร์ที่เลือกใช้ก็มีคุณภาพสูง รวมทั้งความใส่ใจในการแยกวงจรครอสโอเวอร์เน็ทเวิร์คออกมาไว้ในตู้ภายนอกอีกชุดหนึ่งเพื่อความสะดวกในการอัพเกรดคุณภาพเสียงให้ดียิ่งขึ้นได้ในอนาคต
สิ่งดีๆทั้งหมดเหล่านี้ได้ถูกรวบรวมบรรจุไว้ใน ARCADIA เพื่อเป็นลำโพงในระดับชั้นเยี่ยม ที่สำคัญก็คือคุณภาพเสียงที่ราบเรียบ กลมกลืนมีความเป็นธรรมชาติ ตามที่ JUAN CARLOS CANDEIAS ISAAC ได้พยายามรังสรรค์ ขึ้นตามแนวคิดที่ว่า MORE MUSIC AND LESS OF EVERYTHING ELSE ซึ่งก็คือการนำเสนอความเป็นดนตรี ที่มากกว่าสิ่งอื่นใด แน่นอนว่า ARCADIA ก็ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการนำเสนอเพื่อแสดงให้เห็นถึงความหมายของคำดังกล่าวออกมาได้เป็นอย่างดี
เมื่อคำนึงถึงราคาค่าตัวของลำโพง ARCADIA ซึ่งน่าจะอยู่ในระดับไฮเอนด์ที่นักเล่นนักฟังน้อยคนนัก จะมีโอกาสได้ครอบครองเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ แต่ถ้าคุณต้องการลำโพงที่สามารถถ่ายทอดดนตรี ให้ความเป็นดนตรี ไม่มีอะไรมากกว่านั้น แล้วละก็ ARCADIA ถือว่าเป็นลำโพงที่น่าสนใจไม่น้อยอีกคู่หนึ่งในขณะนี้ครับ.
ขอขอบคุณร้าน Music For Life โทร. 08-1752-1600 ที่เอื้อเฟื้อลำโพงมาให้ทดสอบในครั้งนี้