What HI-FI? Thailand

Test Report: AudioQuest : Carbon (USB)

Test Report: AudioQuest : Carbon (USB)

การุณชาติ พุกกะเวส

 AudioQuest ชื่อนี้เชื่อนักเล่นทุกท่านย่อมรู้จัก ผมรู้จักตอนอ่านบททดสอบจากหนังสือว่าเป็นสายลำโพงที่ “แพง” ที่สุดในโลก นั่นคือ Audioquest : Dragon

AudioQuest ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1980 จึงเป็นสายที่มีประวัติยาวนาน ไว้ใจได้เลย โดย Mr.Bill Low ซึ่งประวัติโดยละเอียดหาอ่านได้ทางเว็บไซต์ www.audioquest.comข ปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่ที่ 2621 White Road, Irvine, CA 92614 USA

ในไลน์อัพทั้งหมด ถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มสายอะนาลอก, สายดิจิตอล, สาย HDMI, สายลำโพง, สายไฟเอซี, ตัวถอดรหัส และอุปกรณ์เสริม

ครั้งนี้จะทดสอบไลน์อัพกลุ่มสายดิจิตอล ซึ่งแบ่งออกดังนี้ HDMI, USB (เครื่อง Apple), USB Audio, Mini USB, USB 3.0, Ethernet, FireWire, Optical, Coaxial, AES/EBU Digital เรียกว่าหากคุณต้องการสายแบบดิจิตอล ขอให้บอกมาเถอะ..เพราะในแต่ละกลุ่มมีสายประมาณ 4-9 รุ่นให้เลือก (สายกลุ่ม HDMI มีให้เลือกเยอะที่สุด) ชวนปวดหัวไม่น้อยเลยทีเดียว

 

สำหรับวันนี้ การมาอย่างรวดเร็ว และรุนแรงของคอมพิวเตอร์ออดิโอได้กลายเป็นที่กล่าวขวัญในวงกว้าง แม้แต่เอ / วี รีซีฟเวอร์รุ่นใหม่ๆ หรือกลุ่มเครื่องเสียงไฮเอนด์ต่างเริ่มมีคุณสมบัตินี้รองรับไว้แล้ว!! โดยระบุใช้ช่องต่อ USB (Type B) เป็นมาตรฐาน

AudioQuest เรียกสายกลุ่มนี้เป็น USB Audio มีทั้งหมด 6 รุ่น เริ่มจากรุ่นเล็กไปรุ่นใหญ่ คือ Pearl / Forest / Cinnamon / Carbon / Coffee / Diamond

ผมเลือกเอามือวางลำดับ 3 คือ AudioQuest : Carbon (USB) มาชิมลาง และชื่อรุ่น Carbon นี้ทาง AudioQuest ได้ใช้เป็นชื่อรุ่นกับสายดิจิตอลเกือบทุประเภทเลยย่อมไม่ธรรมดาแน่ ส่วนกับชื่อ Carbon ปกติ ใครที่ได้ยินต่างคิดว่าเหม็นๆ ดำๆ พากันรังเกียจ แล้วเมื่อมาใช้เป็นชื่อรุ่นของสายละจะเป็นอย่างไร? ได้เวลาที่จะได้ยินประสิทธิภาพกันแล้วครับ…

 

คุณสมบัติพิเศษ AudioQuest : Carbon (USB)

– ตัวนำทองแดงแบบ Long Grain Copper

– เคลือบเงิน (มีส่วนผสมของเงิน 5%)

– ชีลด์ 3 กัน ด้วยกรรมวิธี Noise-Dissipation System (NDS)

– ใช้ตะกั่วคุณภาพสูง (Wave Solder) ของ Audioquest ในการเชื่อม

– ภายนอกหุ้มผ้าถัก ช่วยดูดซับคลื่นต่างๆ ได้ดี

 

ลักษณะทั่วไป AudioQuest : Carbon (USB)

AudioQuest : Carbon (USB) เส้นนี้ใช้งานมาแล้ว ผ่านการใช้งานมาอย่างหนักหน่วง แต่ก็ยังคงประสิทธิภาพที่เหมือนใหม่เลย ใส่ในซองมา ไม่มีกล่องมาให้ ผมจึงไม่ทราบว่าในกล่องบรรจุอะไรมา หรือมีสเปคอื่นๆ นะครับ

ภายนอก ใช้โทนสีดำเป็นหลัก ด้านต้นทางมีหัวต่อทรงแบนขนาดเล็กสีดำ ด้านนึงมีสัญลักษณ์ USB ชุบโครเมียมมันวาว ส่วนอีกด้านสกรีนชื่อรุ่น Carbon ชุบโครเมียมมันวาว มีตัวนูนสกรีนยี่ห้อ AudioQuest ด้วย หน้าสัมผัสเป็นนิกเกิ้ล (ไม่เคลือบทอง) ตัวสายหุ้มผ้าและลวดถักสีดำ มองไม่เห็นการสกรีนใดๆ ด้านปลายทางมีหัวต่อทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดเล็กสีดำ ด้านนึงมีสัญลักษณ์ USB ส่วนอีกด้านสกรีนชื่อรุ่น Carbon ชุบโครเมียมมันวาว พร้อมมีตัวนูนสกรีนอักษรย่อว่า aq หน้าสัมผัสเป็นนิกเกิ้ล

มีการกำหนดทิศทางมาแล้ว ไม่สามารถสลับทิศทางใดๆ ได้นะครับ

 

อุปกรณ์ที่ใช้ทดลอง AudioQuest : Carbon (USB)

แหล่งโปรแกรม ; โน้ตบุ๊ค HP G42, CPU Core i3@2.53 GHz, RAM 2 GB

DAC ; Arcam : irDAC, Audiolab : M-DAC

เอ/วี รีซีฟเวอร์ ; Pioneer : VSX-LX70

เพาเวอร์แอมป์ ; Accuphase : A35, Audiolab : 8200P

ลำโพง ; Sonus Faber : Concerto Home / Concertino Home

สาย USB ; AudioQuest : Carbon

สายสัญญาณ ; Kimber Kable : Hero (RCA WBT-0144), Monster : Sigma Retro

สายลำโพง ; Kimber Kable : 8TC

สายไฟเอซี ; Voodoo Cable : Thunder (2014), Sine : Cassio PC, Supra : LoRad เบิ้ล 2 เส้น, Hovland : Mainline

ระบบไฟ ; ฟิวส์ Furutech : TF-15A, Marsh Sound Design : 10A, SB (Sound Box) : 5A, ปลั๊ก Wattgate : 381, Cruze First Audio : Maestro, ฝาครอบเต้ารับ FIM : 308-1, ตัวกรอง DC ของ Perfect Power : Super DC Filter, Wood Block : Versalab ตัวคุมไฟ Silicon : VR-100ie, ตัวกรองไฟ Monitor Acoustics : Glory A+

อุปกรณ์เสริม ; XAV #111, Audio Arts : Trisolators, Audio Arts : Classic II, Master Stand Base : 2217, ขาตั้ง Totem T4, Target Audio : ST50, ที่รองสาย Cable Elevator, Shunyata : Dark Field, Shunyata : Dark Field Mini, Cardas : Multi Blocks, Cardas : Notched Myrtlewood Blocks, ที่รองเครื่อง / ทิปโท JJ : Screw Cone, Hi-Fi Block ที่ทับเครื่อง Brightstar Audio : Little Rock, ก้อนอิทธิเจ, VPI : HW dB-5, XAV : EMX-9, อื่นๆ Cardas : RCA Cap, Omni Mount : PMD2

อุปกรณ์ควบคุมสภาพอะคูสติก ; แผ่นซับเสียงสูตร RPG, XAV : G-Sap เบอร์ 1, เบอร์ 2, XAV : Trap + XAV : Base Trap, จิ๊กซอว์ PRS, Room Tune : Michael Green Audio + Echo Tune

 

การติดตั้ง และการเซ็ทอัพ AudioQuest : Carbon (USB)

การติดตั้ง AudioQuest : Carbon (USB) ไม่ใช่เรื่องยาก โดยที่กำหนดให้ช่องต่อ USB (Type B) เป็นปลายทาง ซึ่งเป็นมาตรฐานไว้แล้ว ไม่สามารถสลับทิศทางใดๆ ได้นะครับ ซึ่งถ้าสายเดินผิดทิศทางมาจากโรงงานก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ AudioQuest : Carbon (USB) ได้มีการตรวจสอบจากโรงงานก่อน เพื่อไม่ให้ผิดทิศทาง จึงสบายใจได้

ตัวสายอ่อนโค้ง ดัดงอในองศาแคบๆ ได้ง่าย มีน้ำหนักเบา ไม่เป็นภาระขั้วต่อ

ไม่ต้องเซ็ทอัพใดๆ เสียบปุ๊ปฟังได้เลย

 

ผลการลองฟัง AudioQuest : Carbon (USB)

สำหรับ AudioQuest นอกจากมีสายไฟเอซีใช้งานเป็นส่วนตัวแล้ว ผมทดสอบไปบ้าง เช่น สาย HDMI, สายสัญญาณ RCA ซึ่งจะเป็นรุ่นสูง มีระบบ DBS ทั้งสิ้น ส่วนในครั้งนี้ตอนแรกอยากลองรุ่น Coffee ซึ่งเป็นรุ่นรองท๊อป และมีระบบ DBS เช่นกัน (เพราะผมว่าระบบ DBS ได้ผลจริง)

แต่ในช่วงนี้ ผมมี DAC ในห้อง 2 เครื่อง ราคาตัวที่แพงสุดก็ไม่ถึง 3 หมื่นบาท ส่วนอีกตัวแค่หมื่นกว่าบาท หากจะใช้สาย Coffee ที่มีค่าตัวระดับหมื่นกลางต่อความยาว 1.5 เมตร อาจไม่เหมาะกับการชิมลางครั้งนี้ (วัดที่วงเงินเป็นหลัก) ดังนั้น AudioQuest : Carbon (USB) ยาว 1.5 เมตร ราคา 6 พันเศษ จึงน่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมกว่า เพราะบางท่านใช้ตัวถอดรหัส DAC แค่ระดับหมื่นกว่าบาทเช่นกัน จะให้ใช้สายแพงกว่าหรือแพงเท่าตัวเครื่อง หลายท่านคงรับไม่ได้แน่ๆ

สายเทียบครั้งนี้ คือสาย USB ที่ใช้ในเครื่องพริ้นเตอร์ธรรมดาละครับ ซึ่งผมพยายามดูเส้นที่ฉนวนใหญ่ที่สุดไว้ก่อน (พวกนี้มาตรฐาน AWM 2725 30V VW-1 ทนอุณหภูมิ 80 องศา)

ไฟล์ที่ใช้มีตั้งแต่ Hi-Res ชนิด Flac / WAV จนถึงไฟล์ธรรมดาอย่าง MP3

ผมฟังสายธรรมดาก่อน จากนั้นลองเปลี่ยน AudioQuest : Carbon (USB) เข้าไป โดยที่ไม่ได้ปิดเครื่อง เพื่อดูว่าจะเกิดเหมือนสาย HDMI หรือไม่ ปรากฎว่าไม่มีเสียงปุออกลำโพง ไม่มีการสปาร์คใดๆ ขณะเสียบเข้าหรือถอดออกสบายใจได้ ทำให้การเปรียบเทียบง่ายขึ้นเยอะ ลองนึกดูว่าต้องปิดคอมพ์แล้วเปิดใหม่เพื่อใช้งาน ต้องใช้เวลากี่นาทีกันครับ…ยิ่งฟังแล้วยังไม่มั่นใจก็ต้องฟังกันอีกหลายรอบ ต้องเสียเวลารอคอยไปเท่าไหร่?

สิ่งแรกเมื่อสลับ AudioQuest : Carbon (USB) เข้าไปแทนที ระดับโวลลุ่มนั้นไม่ต้องเร่งเท่าเดิม ลดลงนิดนึง ราว 1-2 dB แต่กลับกัน ผมก็ไม่ซีเรียสอะไรหากต้องเร่งเพิ่มขึ้น

ปลายแหลมดูสงบเสงี่ยม เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ฟุ้งจ้า หรือพุ่งเปิดเหมือนสายธรรมดา ทำให้ฟังแล้วไพเราะขึ้น แม้เร่งดังก็ไม่มีอาการแข็งกร้าวขึ้นมา ขณะที่สายธรรมดาเร่งโวลุ่มขึ้นแล้วฟังได้สัก 10 วินาทีก็ทนไม่ได้แล้ว มันจะดีอยู่ในเรนจ์ที่แคบๆ เร่งดังเมื่อไหร่ออกอาการทันที

เสียงปลายแหลมชิ้นดนตรีของเพลงไทย ไฟล์ MP3 เช่น ธงไชย / นรีกระจ่าง / คาราบาว / นูโว ฯลฯ มีความฉ่ำ ไม่แห้งผาก ไม่เน้นเสียงส…ซ…จนน่าเสียวฟัน ฟังแล้วสบายหูขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้คุณฟังเพลงไฟล์ MP3 ที่ราคาถูก (ไม่กี่สิบบาทไปจนถึงร้อยเศษ) และมีอย่างแพร่หลาย (ของฟรี) ได้ไพเราะขึ้นกว่าเดิม

เสียงปลายแหลมที่นุ่มนวล ฉ่ำหวาน ไล่ระดับแผ่วเบาได้ดี พลิ้วกังวานดี ทั้งหมดช่วยทำให้เสียงมีความเป็นไฮเอนด์มากขึ้น Jennifer Warnes : Famous Blue Raincoat เพลง Bird on a Wire (Flac บิทเรท 8xx Kbps) ชนิดที่ไม่ต้องกลับไปฟังเทียบกับสายธรรมดาเลยครับ

ย่านเสียงกลาง ถือว่าเป็นจุดเด่นของ AudioQuest : Carbon (USB) โดยรวมมีความสะอาดในพื้นเสียง เสียงหลักนุ่มนวล น่าฟัง ลื่นไหลดี ไม่ทึบเข้มเกินไป

เพลง The Tennessee Waltz (Flac บิทเรท 6xx Kbps) อัลบั้ม Holly Cole Trio : Don’t Smoke in Bed เสียงร้องแหบๆ อยู่ลึกเข้าไป มีความนุ่มนวล ติดหวาน ให้ความออดอ้อนได้น่าประทับใจ คลุกเคล้าด้วยเสียงเป่าหีบเพลง ให้บรรยากาศที่ดีมาก

ส่วนถ้าฟังสายธรรมดา จะพบว่าเสียงมันมีสากเสี้ยนเต็มไปหมด!!

ศิลปิน Chie Ayado ในเพลง Tears in Heaven อัลบั้ม Good Life (Flac บิทเรท 2,7xx Kbps) เสียงร้องนั้นอิ่มเอิบมีพลังเสียงที่ดีมาก ลื่นไหล พื้นเสียงสะอาด อักขระดี ฟังเพลงได้ชัดเจนสมจริงขึ้น เสียงลูกคอเป็นชั้นๆ ไทมิ่งดี ไม่เร่งเร้าเกินไป

เสียงความถี่ต่ำออกแนวอบอุ่น มีบอดี้ที่สมดุลย์ ไม่บูสท์เบสให้ล้นหลามเกินจริง หรือออกแนวแข็งกระแทกกระทั้น

การตีกลองเต็มไปด้วยน้ำหนักที่ดี สะอาด ไม่เบลอบวม กังวานพอเหมาะ (ขึ้นกับลำโพงที่ใช้ด้วย) Hotel California ของ The Eagle (Flac บิทเรท 9xx Kbps)

มิติเวทีเสียงถือว่าดีเยี่ยม ให้ทั้งด้านกว้าง และด้านลึกที่ลงตัว พอๆ กัน วางเวทีออกไปทาง Laid Back แต่ไม่มากนัก

ผมมีเพลงเดียวกัน แต่มี 2 ไพล์ไว้เทียบกัน ระหว่าง Flac บิทเรท 5,1xx Kbps และ WAV บิทเรท 16,9xx Kbps แน่นอนว่าแบบหลัง ให้เวทีเสียงกว้างขวางกว่าชัดเจน ชิ้นดนตรีโฟกัสดีขึ้น สมจริงขึ้น มีตัวตนที่แน่นอนกว่าเดิม ปลดปล่อยไดนามิคที่รุนแรง มีพลังมากกว่าเดิม

Harry Belafonte At The Carnegie Hall ไฟล์ริบจากแผ่นทอง ให้บรรยากาศในฮอลล์ที่กว้างขวาง โอ่อ่า ด้านกว้างนี่เสียงหลุดออกมาผนังข้างได้ง่ายดาย และแทบจะเห็นการเคลื่อนไหวของ Belafonte กันเลย!!

 

ทริคในการเล่น AudioQuest : Carbon (USB)

พยายามยกลอยสาย AudioQuest : Carbon (USB) อย่าให้ไปแตะกับสายอื่นๆ หรือทำให้ตัวสายนิ่งสนิท ไม่แกว่งไปมาขณะเล่น จะให้คุณภาพที่สูงสุดครับ

 

บทสรุป AudioQuest : Carbon (USB)

สำหรับใครก็ตามที่กำลังเข้าสู่โลกของคอมพิวเตอร์ออดิโอ ฟังเพลงจาก “ไฟล์เพลง” ทั้งแบบ Hi-res มาจนถึง MP3 ไม่ว่าจะใช้ DAC แยกอิสระ หรือรวมอยู่ในปรี / อินทีเกรทแอมป์ / เอวี รีซีฟเวอร์ และกำลังมองหาสาย USB เส้นแรกในชีวิตที่คุ้มค่าคุ้มราคา…

ใจเรียกร้อง สมองสั่งให้มือพิมพ์ว่า พี่น้องครับ อย่ามัวหาสายระดับ 1-3 พันเลยครับ ไม่นานก็ต้องเปลี่ยนกันอีก เติมเงินอีกนิดเลือก AudioQuest : Carbon (USB) เส้นนี้เถิด จริงอยู่แม้ว่าตัวสายเองเกิดมาเป็นสายดิจิตอล ทว่าเสียงนั้นมีความเป็น “อะนาลอก” จริงๆ ครับ..

– Look; รูปลักษณ์สวยหรู มีผ้าถักช่วยดูดซับคลื่นต่างๆ

– Like; โทนัลบาลานซ์ยอดเยี่ยม ราคาไม่แพง

– Love; เสียงมีความเป็น “อะนาลอก”

Exit mobile version