AUDIO PHYSIC STEP 25 (บางอย่างที่หาได้ยาก)
ไมตรี ทรัพย์อเนกสันติ
Audio Physic STEP 25 เป็นลำโพงคุณภาพไฮเอนด์จากเยอรมันแท้ๆ (MADE IN GERMANY) เป็นลำโพงวางหิ้ง 2 ทาง ตู้เปิด (มีรูกลมระบายอากาศอยู่ด้านหลัง) ขั้วรับสายลำโพงแบบ binding post ซิงเกิ้ลไวร์
ดอกลำโพงเสียงแหลมเป็น HHCT II (Hyper-Holographic Cone Tweeter) ที่ทาง Audio Physic อ้างว่าไม่ให้บุคลิกเสียงส่วนตัวใดๆ
ปกติดอกลำโพงเสียงแหลมที่ใช้ตัวกระจายกำเนิดเสียงแบบกรวย (Cone) มักเป็นดอกถูกๆ หาได้ตามบ้านหม้อ ดอกแหลมรุ่นใหม่ๆ ตัวกำเนิดเสียงมักเป็นโดมที่ใช้วัสดุที่เบา หรือนิ่มแต่พวกนี้มักต้องมีรูปทรงที่พิสดารต่างๆ กันไป เพื่อให้แกร่งและเสถียร แต่พวกโดมมักจะเสื่อมเมื่อใช้ไปไม่นาน ทำให้การเคลื่อนตัวที่ขอบริมนอกโดม ต่างไปจากการเคลื่อนตัวที่อยู่ถัดเข้าไปกลางโดม ผลคือตัวโดมจะเริ่มเขย่าสั่นตัวเอง ทำให้เสียงที่ต้องการเกิดการแต้มสีสันขึ้น แทนที่เราจะได้ยินตัวเสียงต้นฉบับจริงๆ กลับได้ยินเสียงการสั่นของดอกแหลม เป็นบุคลิกของดอกแหลมแทน นี่คือเหตุผลที่แทบไม่มีใครใช้โดมกับดอกเสียงกลางในยุคหลังๆ นี้เลย เพราะมันเติมบุคลิกส่วนตัวมากเกินไป
(ดูเผินๆ ด้านหน้าของดอกเสียงแหลมของ Audio Physic HHCT II จะเหมือนเป็นโดม แต่จริงๆ เป็นกรวย (ดูรูป) โดยมีหมวกกรวย (DUST CAB) เป็นรูปโดมปะตรงกลางกรวยอีกที)
ดอกลำโพงเสียงกลาง (กลาง/ทุ้ม) เป็น HHCM โดยตัวโครงด้านนอกเป็นอะลูมิเนียมหล่อ (ด้านท้ายหล่อเป็นครบระบายความร้อนไปในตัว) มีโครงที่ทำจากพลาสติกพิเศษวางทับซ้อนภายในโครงอะลูมิเนียมอีกทีเพื่อช่วยสลายการสั่นของตัวดอกลำโพงพลาสติกจะไปไม่ถึงส่วนแม่เหล้กท้ายดอก แม่เหล็กจะเป็นนีโอไดเมี่ยมคู่ แกนวอยซ์คอยล์ทำจากไฟเบอร์ดำ เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.25 นิ้ว ตัวแขวนลอยวอยซ์คอยล์เป็นสารสังเคราะห์ CONEX
ตัวกรวยเองเป็นอะลูมิเนียมเคลือบด้วยเซรามิก โดยมีตัวลดการสั่นค้าง Active Cone Damping II รูปตัวยูกลางกรวยด้านหน้าตรงกลางเป็น phase plug อะลูมิเนียมอะโนไดซ์สีดำ
ตู้ เป็นทรงโค้งแนวตั้ง และเอียงไปด้านหลัง เพื่อลดเสียงก้องค้างภายในตู้ และการสะท้อนจากผนังตู้ด้านหน้า และด้านนอก อีกทั้งช่วยให้เสียงแหลมกับกลาง/ทุ้มมาถึงหูพร้อมกัน (LINEAR PHASE) ภายในตู้ ตัวดอกแหลมจะมีตู้ปิดของมันเอง ซ้อนภายในอีกที ป้องกันแรงลมอัดจากดอกกลางทุ้มไปกระแทกกรวยของดอกแหลม โดยวงจรแบ่งความถี่เสียงจะเกาะอยู่ที่ผนังด้านหลังของตู้ย่อยนี้ สายลำโพงมายังดอกแหลมเป็นสายกลมขนาดใหญ่พอควร (เท่าด้านปากกาลูกลื่น) ส่วนสายลำโพงไปดอกกลางทุ้มเป็นสายใส ขั้วรับสายลำโพงหลังตู้เป็นแบบหมุนกลมใหญ่มีเอกลักษณ์ดี ภายในตู้มีการดามค่อนข้างแข็งแรง
ขนาดตู้สูง 320 มม., หน้ากว้า 175 มม., ลึก 250 มม., หนัก 5.5 กิโลกรัม
เป็นเรื่องแปลกที่ไม่ได้ระบุสเปคใดๆ (ผมค้นจาก WEBSITE ก็ไม่ได้บอกอะไรไว้) ประเมินคร่าวๆ จากตาดู ดอกแหลมน่าจะประมาณ 1 นิ้ว, ดอกกลางทุ้มประมาณเกือบ 6 นิ้ว ความไวน่าจะประมาณ 87 dB SPL/W/M
ผลการทดสอบ
จากเครื่องเล่น CD T+A 1260R ต่อจากสายเสียง MADRIGAL CZ-Gel 2 (RCA) เข้า INPUT 1 ของอินทีเกรทแอมป์ Mark Levinson No.383 (100 W.RMS/8 Ohms, 200 W.RMS/4 Ohms) เป็นบาลานซ์แอมป์แท้ต่อออกสายลำโพง FURUKAWA S-2 (ตามทิศ) หัว WBT หางปลา (เงิน) ด้านแอมป์, หัว WBT บานาน่าด้านลำโพง STEP 25 วางอยู่บนขาตั้ง TARGET 24 HJ เอาหน้ากากลำโพงออก เอียงลำโพงให้มุมยิงเสียงมาตัดด้านหน้าเรา (TOE IN) จูนให้ได้ทั้งสุ้มเสียง และมิติเสียง (ทรวดทรง) ดีที่สุด ตู้ลำโพงซ้าย, ขวาห่างกันประมาณ 2.2 เมตร ห่างจากตำแหน่งนั่งฟังประมาณ 3.6 เมตร ห่างจากฝาข้าง, ฝาหลัง (ลำโพง) พอควร ห้องฟังขนาดประมาณ 3.85 x 9 x 2.2 เมตร ผนังบุด้วยฟองน้ำเก็บเสียง SONEX (สีขาว) จากเยอรมัน พื้นปูพรม มีของอื่นๆ ในห้องพอควร ไม่ก้องแน่ ระวังมิให้สายต่างๆ แตะต้องกัน สายไฟ AC ของ No.383 ใช้ของ CHORD สีม่วง เต้าเสียบตัวเมียที่กำแพงเป็น HUBBEL สีส้ม มีหัวปลั๊กกรองไฟ PHD 2 เสียบเคียงคู่อยู่ (น่าใช้มาก) ทั้งกับ No.383 และกับ CD 126R ขณะทดสอบไม่มีการใช้รีโมทใดๆ ไม่มีโทรศัพท์มือถือ, PC, iPad, จอ LCD, รีโมทอื่นๆ, นาฬิกาใดๆ (ข้อมือ) อยู่ในห้อง ปัดลมแอร์ (LOW ต่ำที่สุด 25 องศา C) ให้ยิงลมอยู่หลังลำโพงไม่กวนหน้าลำโพง มีผลึกอะมิทิสขนาด 3 ฝ่ามือ อยู่ระหว่าง No.383 กับ CD และขนาด 1 ½ ฝ่ามือที่พื้นข้างๆ ที่นั่งฟัง
เปิดเพลงเบิร์นอินลำโพง รวมทั้งหมดประมาณ 13 ชั่วโมง ก่อนฟังอีก 4 ชั่วโมง
จากแผ่นระนาดเอก (ไทลำภู) เพลง 3 ให้เสียงระนาดเป็นเม็ดๆ ไม่เลว แต่ยังไม่โฟกัสนัก เสียงฉิ่งตีแบบมีจังหวะจะโคนที่ดี น่าแปลกใจ เสียงทั้งหมดหลุดกระเด็นลอยออกมาจากฉากหลังพอควร เพลง 4 ขึ้นต้นไม่ถึงเงียบจนสงัด เสียงเครื่องดนตรีเป็นทรงแต่ยังไม่โฟกัสนัก เสียงฉิ่งเขย่าสั่นได้ดี เพลง 5 ขึ้นต้นเงียบเท่าเพลง 4 (ปกติจะเงียบสงัดกว่า) เสียงตีระนาดเป็นตัวตนดี เสียงฉิ่งยังอ่อนไปหน่อย หัวโน้ตระนาดยังดูมนๆ ไม่คมเต็มที่ เสียงกรับมีรายละเอียดดีกว่าทุกครั้ง (ไม่เคยได้ยินมาก่อน) เพลง 6 ขึ้นต้นเสียงตีระนาดเป็นเม็ดๆ ดี อยู่ลึกไปหลังเวที (แต่ยังตื้นกว่าที่เคย) เสียงกังวานออกจะคลุมเครือไปหน่อย จังหวะจะโคนดี ตื่นตัวดี โดยรวมอาจทึบไปนิดๆ เสียงฉิ่งมีรายละเอียดและจังหวะอากัปกิริยาที่จะแจ้งกว่าที่เคย เพลง 7 เสียงทั้งหมดเข้มข้นขึงขังขึ้นหน่อย ความกังวานเต็มทั้งเวทีมากขึ้น เสียงฉับไวได้ดี (อะไรที่ควรช้าก็จะช้า อะไรเร็วก็เร็ว) STEP 25 ให้การตอบสนองทางอารมณ์ได้ดีฟังสนุกดี เพลง 8 เสียงกลองตะโพนใหญ่ให้เสียงทุ้มที่มีทรวดทรง, กระชับ ไม่อวบใหญ่มากนัก แต่ก็น่าจะพอเพียง เสียงตีกลองไล่จากขวาไปซ้ายติดตามได้ตลอด เวทีกว้าง เสียงตบกลองให้เรื่องราวได้มากกว่าที่เคย เพลง 9 เสียงตีรัวระนาดให้รายละเอียดดี (ขึ้นต้นก็สงัดดี) นาทีที่ 0:37 ขณะตีระนาดถี่ๆ มีเสียงความถี่ผสมแทรกมา 2 – 3 ครั้งเบาๆ ปกติฟังไม่ออก ขณะตีก็มีบางเสียงแทรกออกมาซึ่งเช่นกัน ปกติไม่เคยสังเกตว่ามี เพลง 10 เสียงไล่ระนาดเอก ระนาดทุ้มฟังคล้ายกันไปนิด เสียงกรับให้ทรวดทรงดีกว่าที่เคย
แผ่น RHYTHM BASKET, A Tasket, A Tisket, A Child’s ของ Brent Lewis เพลง 2 เสียงตีกลองท่ออยากได้อวบกว่านี้อีกหน่อย (คือความถี่ต่ำยังเจือจางไปหน่อย ทำให้เสียงออกแบนไปนิด) เสียงโดยรวมฉับไวเอาเรื่องทีเดียว เล่นกันแบบลืมตาเลย (ทุกเสียง) ความกังวานดีขึ้นกว่าแผ่นระนาดเอก ทุกๆ เสียงนิ่งดี แม้จะไม่โฟกัสชัดเป๊ะๆ แต่ก็มีตัวตนไม่เลวจริงๆ เพลง 3 เสียงตีกลองท่อซ้าย, ขวาสมมาตรดี เพลง 4 ขึ้นต้นเสียงพายวัน้ำอาจไม่คมชัดเต็มที่แต่ก็รับรู้และสังเกตอากัปกิริยาได้ เสียงคลื่นกระฉอกไปทั่วผิวน้ำที่ลอยออกมา นาทีที่ 1:46 เสียงระฆังราวจะอ่อนไปหน่อย บางครั้งเหมือนมีความถี่ลึกมากออกมา แม้หูจะแทบไม่ได้ยิน (คือทุ้มต้นไม่เข้มจนหูได้ยินชัด) เพลง 5 เสียงรถจักรไอน้ำเปิดหวูดวิ่งมาจากไกลติดตามได้ตลอด เสียงตีรัวระฆังไม่ถึงกับเด่น แต่น่าทึ่งที่ก่อนได้ยินเสียงหวูดได้ยินเสียงล้อวิ่งก่อนเบาๆ (ทุกทีไม่เคยสังเกตว่ามี) เสียงลอยหลุดตู้ได้ดี เพลง 6 เสียงไก่ขันขึ้นต้นอยู่ลึกไปหลังเวทียังออกแบนฟุ้ง (ไม่โฟกัสเป็นตัวตน) นาทีที่ 1:25 เสียงไก่ร้องแบบสำลัก (ทุกทีฟังไม่ได้ชัดขนาดนี้) นาที่ที 2:06 เสียงเขย่าลูกกระพรวนมีอ่อนมีแรง (ทุกทีเหมือนกันหมด) เสียงอีกามีรายละเอียดดีกว่าปกติ นาทีที่ 4 เสียงสารพัดสัตว์ห้อมล้อมตัวเรา บางเสียงก็เข้ามาหาเลย ไม่ใช่แค่ล้อมวง สัตว์เยอะมาก เสียงนกมีมากกว่าที่เคยสังเกต (แถมชัดจีบปากจีบคอด้วย) เพลง 7 เสียงม้าวิ่งหอบมาแต่ไกล หอบครบ 6 ครั้ง แถมสำทับไอทิ้งทายอีกที (ไม่เคยสังเกต) ตามด้วยเสียงตีกลองที่ยังไม่ลอยสูงถึงเพดาน เพลง 10 เสียงตอนเช้าในฟาร์มมีสารพัดเสียงทั้งเสียงลม, เสียงน้ำพุ, เสียงหน้าต่าง (ประตู?) เปิดออก, เสียงระฆังลม, ฯลฯ ซึ่งก็มากันครบดีมาก ฟังออกชัดว่าอะไรเป็นอะไร (ลำโพงส่วนมากแค่รู้ว่ามีเสียงต่างๆ แต่แยกไม่ชัดว่าเป็นเสียงอะไรกันแน่) ปกติฟังไปๆ บางเสียงจะลอยสูงเลยลำโพงขึ้นไปเกือบถึงเพดานห้องได้ แต่ STEP 25 ให้ความสูงในระดับลำโพงปกติ แต่อย่างไรก็ตาม สารพัดเสียงแหลมมันก็ให้รายละเอียด, น้ำเสียงมีเหลือกำลังอย่างที่ลำโพงส่วนใหญ่ให้ไม่ได้ เพลง 12 ให้เสียงเป็ดไก่กว้าง, ลอยออกมาได้ดี ลำโพงล่องหนเต็มที่ (ปกติก็ล่องหนดีอยู่แล้ว) เพลง 14 แสดงถึงรายละเอียด “ของน้ำเสียง” ที่มันให้ได้อย่างมหากาฬ (ฮาร์โมนิกครบและมาช้า-เร็วถูกต้อง) ขณะเดียวกันก็บอกว่า ทุ้มมันไม่ได้อิ่มหนักล้นหลามอะไร อย่าไปคาดหวังมาก (แต่เสียงก็ไม่ได้ผอมเล็ก) เพลง 18 เสียงหลุดตู้ได้หายห่วงฟังกันอย่างกับเซอราวด์
แผ่น THE GREATEST ALTO FEMALE VOL.1 (Top Music) เสียงร้องเพลงจีนหวานๆ ของสุภาพสตรี เพลง 1 เสียงไวโอลีนขึ้นต้นหวาน และมีลีลากว่าที่เคย เสียงร้องสอดใส่อารมณ์ได้อย่างน่านับถือ คือฟังแล้วเป็นอารมณ์ธรรมชาติกว่าที่คุ้นโดยไม่ใช่เสแสร้ง นาทีที่ 2:41 เสียงไวโอลีนคลอเศร้าสร้อยแบบหัวใจสลายได้เลย เปียโนก็มีชีวิตดีมาก เพลง 2 (เพลงเกาหลี อารีรัง) ขึ้นต้นด้วยเสียงร้องหมู่ชาย, หญิงแยกแยะ และจับอากัปกิริยาได้ชัด ตามด้วยเสียงตีกลองใหญ่ที่อาจไม่มีรูปลักษณ์ชัดนัก แต่ก็กระชับ รู้ว่าใหญ่ ไม่เล็กแน่ เสียงตีกระทบหน้ากลองทั้งหนักและเป็นเรื่องราว มีทรวดทรง กลองอาจไม่ทรงพลังขนาดขากางเกงไหว แต่ก็รู้ว่าลึกไม่เบาทีเดียว เพลง 3 เสียงขึ้นต้นดีดกีตาร์โปร่งเป็นเส้นสายดี โฟกัสดี รายละเอียดดีด, รูดสวยชัดดีมาก เสียงร้องใส่อารมณ์เต็มที่เช่นกัน นาทีที่ 2:12 เสียงร้องที่ห่อปาก ซึ่งไม่เคยสังเกตมาก่อน เพลง 4 เหลือเชื่อเลย ก่อนขึ้นเสียงดีดกีตาร์โปร่งได้ยินเสียงกดสาย 3 – 4 ทีก่อน (ไม่เคยได้ยินมาก่อนเช่นกัน) เสียงร้องได้อารมณ์ดีขึ้นอีก เสียงเขย่าลูกกระพรวนเป็นเม็ดๆ เสียงหีบเพลงชักแยกแยะได้ดีกว่าที่เคย เพลง 5 ขึ้นต้นเสียงกรุ๊งกริ๊งของปลายแหลมมีอ่อนแก่, ใหญ่เล็ก แถมมีบางเสียง (ปลายแหลม) ค่อยมากๆ เป็นฉากหลังด้วย (ไม่เคยได้ยินมาก่อน) เสียงเครื่องสายดีด, สีของจีนเป็นเส้นสายอย่างธรรมชาติดีมาก หวานน่าฟังมาก มีหลายๆ เสียงเบาๆ ที่ไม่เคยสังเกตว่า “มาด้วยหรือ” แทรกออกมาด้วย
แผ่น WOOD ของ Brian Broomberg เพลง 1 เสียงดีดดับเบิ้ลเบสเป็นเส้นสายดีตลอดแม้จะไม่อวบใหญ่ตอนดีดสายทุ้มต่ำ (คือขนาดสายใหญ่พอๆ กันไปหมด) ทุ้มอาจไม่หนัก, อวบ ทิ้งตัวลงพื้น แต่รับรองว่าคุณจะนั่งฟังอย่างชวนติดตามยิ่ง ตามด้วยเสียงตีฉาบที่เป็นเส้นสายของหางม้าได้ดี รวมทั้งเสียงตีกลองชุดที่สังเกตได้ชัดกว่าทุกครั้ง เสียงเปียโนที่สมจริงเอามากๆ ทั้งน้ำเสียง, ความกังวาน, ลีลาของคนเล่น เสียงทั้งหมดยังไม่ขนาดแผ่ออกมาหาเรา แต่ก็มีบรรยากาศเหมือนอยู่ในเหตุการณ์ได้ดี ทุ้มลึกสังเกตได้ว่ามีแน่ๆ แม้จะไม่หนักทิ้งตัวลงพื้นเต็มๆ
ลองแผ่นที่บันทึกไม่ได้ช่วยอะไรเลย ไม่มีตัวช่วยเลย เป็นความสามารถของนักร้องล้วนๆ อย่างแผ่น The Best Of Vic Damone (The Mercury Years) มาสเตอร์คงจะกว่า 50 ปี (โมโน) ซึ่ง STEP 25 ก็ถ่ายทอด “วิญญาณ” ของ Vic ออกมาได้อย่างซาบซึ้งจริงๆ เรียกว่า “ทุกเม็ด, ทุกลมหายใจ, ทุกอากัปกิริยา และลีลา”
สรุป
Audio Physic STEP 25 เป็นลำโพงที่คุณต้องนั่งฟังอย่างใจเย็นๆ มันไม่ใช่ลำโพงที่จะให้เสียงที่เร้าใจ, ซู่ซ่าน่าตื่นเต้น ตูมตาม แบบกระชากหูคุณให้หันไปฟัง ไม่ใช่ลำโพงที่เรียกร้องความสนใจแบบรักแรกพบ
หากแต่ว่าให้โอกาสมัน ฟังมันไปเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ 1 – 2 เพลง หากแต่เป็นชั่วโมงๆ เป็นวันๆ แล้วคุณจะเริ่มจับประเด็นออกถึง เสน่ห์ของมันที่ยากจะหาลำโพงในท้องตลาดมาเทียบได้ นั่นคือ ความมีจิตวิญญาณของทุกน้ำเสียงไม่ว่าดนตรีชิ้นไหน นักร้องไหน คุณจะรับรู้และเข้าถึงได้อยางไม่เคยคาดคิดมาก่อน พร้อมๆ กับมีอะไรหลายอย่างที่สอดแทรกขึ้นมา ซึ่งคุณไม่เคยสังเกตว่ามีอยู่มาก่อน คุณจะจบลงด้วยการคิดถึงมันและอยากเป็นเจ้าของสักคู่อย่างแน่นอน