Test Report: AUDIA FLIGHT STRUMENTO No.1 & No.4

0

Test Report: AUDIA FLIGHT STRUMENTO No.1 & No.4

หัสคุณ

audia-strumento-no-1

            หลังจากที่พวกเราได้ทดสอบเครื่องเล่นซีดี AUDIA FLIGHT รุ่น CD ONE M ไปเมื่อไม่นานมานี้ ก็ได้รับแจ้งว่าจะมีผลิตภัณฑ์ของ AUDIA FLIGHT รุ่นอื่นเดินทางเข้ามาเยี่ยมเยือนพวกเราอีกครั้งเป็นคำรบที่สอง บอกตามตรงว่ารู้สึกยินดีที่จะได้สัมผัสฟังผลิตภัณฑ์ของ AUDIA FLIGHT อีกครั้ง ยิ่งในครั้งนี้ก็พอจะคาดเดาได้ว่าต้องเป็นแอมปลิไฟเออร์อย่างแน่นอน ปฏิเสธไม่ได้ครับว่า เครื่องเล่นซีดีของ AUDIA FLIGHT รุ่น CD ONE M นั้นได้สร้างความประทับใจให้กับเหล่าคณะลูกขุนไม่น้อยเลยในการฟังครั้งก่อนอีกทั้ง AUDIA FLIGHT นั้นก็มีจุดเริ่มต้นมาจากการออกแบบแอมปลิไฟเออร์เป็นหลัก การยอมรับและชื่อเสียงของ AUDIA FLIGHT นั้นก็มาจากฝีไม้ลายมือในการออกแบบแอมปลิไฟเออร์ที่มีแนวทางในการออกแบบที่มีลักษณะจำเพาะ ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะคิดค้นและออกแบบโดยทาง AUDIA FLIGHT เอง นี่ก็ต้องนับว่าเป็นความท้าทายของ AUDIA FLIGHT ในแนวเชิญชวนที่มีต่อเหล่าคณะลูกขุน รวมทั้งตัวผมเองด้วยเช่นกัน

เนื่องจากพวกเราเองก็ไม่ทราบว่าทางตัวแทนจำหน่าย AUDIA FLIGHT ในบ้านเรา ซึ่งก็คือ บริษัท อินเวนทีฟ เอวี จำกัด (IAV) จะจัดส่งแอมปลิไฟเออร์รุ่น 50 ซึ่งถือว่าเป็นรุ่นเล็กสุด หรืออาจจะขยับขึ้นมาเป็นรุ่นใหญ่อย่างเพาเวอร์แอมป์ รุ่น 100 จับคู่กับปรีแอมป์รุ่น FLIGHT PRE แต่พอเอาเข้าจริงๆ ทาง บริษัท อินเวนทีฟ เอวี จำกัด ก็ ‘จัดหนัก’ ส่งแอมปลิไฟเออร์ในระดับเรือธง หรือ TOP-OF-THE-LINE ในตระกูล STRUMENTO มาให้ ซึ่งประกอบด้วยปรีแอมป์ รุ่น STRUMENTO No.1 และเพาเวอร์แอมป์ รุ่น STRUMENTO No.4 นี่คือเครื่องในระดับท้อปสูงสุด จาก AUDIA FLIGHT ในตระกูล STRUMENTO นั้นจะมีผลิตภัณฑ์อยู่เพียงแค่ 2 รุ่นนี้เท่านั้น ทาง AUDIA FLIGHT ได้หมายมั่นปั้นมือว่า STRUMENTO คือผลงานในระดับ ‘มาสเตอร์พีซ’ (MASTER PIECE) ซึ่งก็คือผลงานอันเป็น ‘ที่สุด’ ในระดับ THE BEST และถือว่าเป็นผลงานในระดับประติมากรรมชั้นเอก หรือผลงานขั้นแรกของโลกแบบ THE FIRST IN THE WORLD! เลยก็ว่าได้

Strumento_n4 _01 on

เท่าที่ได้ลองค้นหาข้อมูลดู ก็ยังไม่มีนักเขียน นักวิจารณ์ท่านใดได้สัมผัสฟัง และทดสอบ STRUMENTO ทั้งสองพร้อมกันอย่างจริงๆ จังๆ สักครั้ง ดังนั้นจึงพอจะทึกทัก หรืออนุมานได้ว่า การทดสอบในครั้งนี้คงเป็นบททดสอบแอมปลิไฟเออร์ในระดับ ‘ดีที่สุด’ (THE BEST) จาก AUDIA FLIGHT เป็นครั้งแรกถือว่าเป็นความโชคดีที่นักเล่นนักฟังคนไทยในบ้านเราจะมีโอกาสได้อ่านกันด้วยเช่นกันครับ

 

AUDIA FLIGHT

สำหรับที่มาของ AUDIA FLIGHT นั้นก็เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของนักอุตสาหกรรมผู้มีความเชี่ยวชาญ 2 คน ซึ่งก็คือ MASSIMILIANO MARZI และ ANDREA NARDINI ทั้งคู่มีประวัติ และคลุกคลีอยู่ในวงการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระดับโปรเฟสชั่นแนล ทั้ง 2 จับมือกันด้วยจุดมุ่งหมายเพียงหนึ่งเดียวคือการออกแบบและสร้างแอมปลิไฟเออร์ขึ้นใหม่ ด้วยแนวคิด และเทคนิคการออกแบบซึ่งแตกต่างไปจากแอมปลิไฟเออร์โดยทั่วไป โดยต้องคงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ในแบบฉบับของอิตาลี (ITALIAN STYLE) ทั้ง 2 จึงได้ก่อตั้ง AUDIA FLIGHT ขึ้นในปีค.ศ. 1996 โดยที่บริษัทนั้นตั้งอยู่ ณ ใจกลางเมือง EIVITAVECCHIA ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ยน (MEDITERRANEAN) ทางฝั่ง ADRIATIC COAST ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงโรมด้วยระยะทางประมาณ 70 กม. จากกรุงโรมไปทางฝั่งตะวันตก

หลังจากที่ก่อตั้งบริษัท ทั้ง MARZI และ NARDINI ก็ได้เริ่มต้นงานค้นคว้า และวิเคราะห์ในจุดต่างๆ ของวงจรแอมปลิไฟเออร์ที่ได้รับการออกแบบมาทั้งหมดเพื่อค้นหาจุดที่จะปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยยึดหลักสำคัญาว่าอุปกรณ์ออดิโอทั้งหมดที่เลือกใช้นั้น จะต้องไม่เปลี่ยนแปลงสัญญาณให้ผิดเพี้ยนไปจากสัญญาณต้นฉบับ ทั้ง 2 ยังเข้าใจถึงความสำคัญของความเร็ว (SPEED) ของสัญญาณ ซึ่งถ้าการส่งผ่านสัญญาณนั้นมีความเร็วที่ไม่เพียงพอจะมีผลต่อความมั่นคงของสัญญาณความถี่ต่ำ (LOW TRANSIENT STABILITY) ดังที่ปรากฏในแอมปลิไฟเออร์ทั่วไป รวมถึงแอมปลิไฟเออร์ในระดับไฮเอนด์ด้วยเช่นกัน

จากโครงการในการค้นคว้า และวิจัยเพื่อการพัฒนาที่กินเวลาประมาณ 2 ปี (ช่วงปี ค.ศ. 1994 – 1996) ทั้ง MARZI และ NARINI ก็ได้ค้นพบวงจรใหม่ ซึ่งเป็นวงจรภาคขยายแบบ DIFFERENTIAL AMPLIFICATION ที่แตกต่างออกไปจากวงจรที่นิยมใช้กัน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะนิยมการใช้การป้อนกลับ (FEED BACK) ที่ใช้แรงดัน (VOLTAGE) เป็นหลัก หรือเป็นที่รู้จักกัน และเรียกว่าวงจร VOLTAGE FEED BACK นั่นเองทั้ง 2 มองว่าด้วยวงจรดังกล่าวจะส่งผลให้สัญญาณนั้นขาดความเที่ยงตรงไปจากสัญญาณต้นฉบับ เกิดความคลาดเคลื่อน และผันผวนที่เรียกว่า OSCILLATION ในขั้นตอนของสัญญาณแบบ STEP IMPULSE หลายครั้ง ก่อนที่จะสามารถควบคุมให้นั่งได้ ซึ่งนี่คือต้นเหตุของการเกิด ‘สีสัน’ ที่เรียกว่า COLORATION ส่งผลทำให้สัญญาณเฉียบพลัน หรือ TRANSIENT RESPONSE SLEW RATE นั้นช้าลง ขาดความถูกต้อง และผิดเพี้ยนไปจากสัญญาณจริงต้นฉบับ

สำหรับวงจรใหม่ที่ทั้ง 2 คิดค้น และออกแบบขึ้นนั้นเป็นวงจรใหม่ที่ใช้กระแส (CURRENT) จึงเรียกมันว่าวงจร CURRENT FEED BACK โดยที่ภาคขยายจะเป็นวงจรแบบ TRANSIMPEDANCE ซึ่งมีความลิเนียร์ (LINEAR) ที่สูงมากโดยมีการป้อนกลับ (FEED BACK) ไว้ใกล้กันกับภาคเอาท์พุทมากที่สุด ซึ่งผลที่ได้ก็คือสัญญาณที่มีความรวดเร็วสูง (VERY FAST) สามารถตอบสนองความถี่ได้อย่างรวดเร็วฉับพลัน (VER HIGH SPEED RESPONSE) อีกทั้งยังสามารถควบคุมโหลดของลำโพง (LOUDSPEAKER LOAD) ได้อย่างดีเยี่ยม (EXCELLENT CONTROL)

วงจรดังกล่าวถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกในปีค.ศ. 1997 โดยใช้ในเพาเวอร์แอมป์ AUDIA FLIGHT รุ่น 100 POWER AMPLIFIER ซึ่งถือว่าเป็นเพาเวอร์แอมป์เครื่องแรกจาก AUDIA และก็ด้วย AUDIA FLIGHT รุ่น 100 นี่เองที่สามารถจะครองใจนักทดสอบ และนักวิจารณ์ของนิตยสารเครื่องเสียงในประเทศอิตาลีไว้ได้อย่างอยู่หมัด จากเพาเวอร์แอมป์ รุ่น 100 AUDIA ก็นำเสนอปรีแอมป์รุ่น FLIGHT PRE ตามมาด้วยเพาเวอร์แอมป์รุ่นเล็กอย่าง THE FLIGHT 50 ซึ่งก็ใช้วงจร CURRENT FEED BACK เหมือนกับเพาเวอร์รุ่นพี่อย่าง THE FLIGHT 100 ด้วยเป็นต้น แน่นอนวา THE FLIGHT 50 ก็ได้รับการตอบรับจากนักวิจารณ์ในอิตาลีเป็นอย่างดี

หลังจากที่ AUDIA FLIGHT ประสบความสำเร็จพร้อมกับได้รับการยอมรับจากนักเล่นนักฟังเป็นอย่างดี ทาง AUDIA FLIGHT ก็เริ่มต้นใหม่กับโจทย์ที่มีความท้าทายมากยิ่งกว่า และแน่นอนว่ามีความยากลำบากมากยิ่งกว่า ซึ่งนั่นก็คือ การรังสรรค์แอมปลิไฟเออร์เพื่อความเป็น ‘ที่สุด’ หรือ THE BEST ไม่ใช่แค่เพียงเป็นที่สุดในเหล่าเครื่องเสียงชั้นเยี่ยมเท่านั้น แต่เพื่อการเป็น ‘ที่สุด’ รายแรกของโลกต่างหาก! (THE BEST, THE FIRST IN THE WORLD!)

ทั้ง MASSIMI LIANO MARZI และ ANDREA NARDINI แห่ง AUDIA FLIGHT จึงได้นำเสนอแอมปลิไฟเออร์ในระดับ ‘ที่สุด’ (THE BEST) ซึ่งก็คือ THE STRUMENTO No.1 และ No.4 นั่นเอง!

 

STRUMENTO No.1

PRE AMPLIFIER

 

audia-20111222_0013-1000x746

STRUMENTO No.1 นับเป็นปรีแอมป์ที่มีขนาดใหญ่กว่าที่คุ้นเคยมาก รูปร่างบึกบึนแข็งแกร่ง และดูแน่นเป็นพิเศษ STRUMENTO No.1 มีขนาดอยู่ที่ 580 x 300 x 580 มม. (ก x ส x ล) พร้อมกับน้ำหนักตัวที่หนักเป็นพิเศษ คือ 28 กก.! หนักพอๆ กับเพาเวอร์แอมป์ขนาดเขื่องๆ หนึ่งเครื่องเลยทีเดียว STRUMENTO No.1 ถูกบรรจุมาในกล่องไม้ขนาดใหญ่ ที่มีทั้งความหนาหนัก และแข็งแรง เฉพาะตัวกล่องก็หนักประมาณ 10 กก.

แผงหน้าของ STRUMENTO No.1 ขึ้นรูปจากอะลูมิเนียมเนื้อต้นแบบ SOLID BILLET ALUMINIUM ที่หนาถึงประมาณ 18 มม. มีการขัดเสี้ยนเนื้ออะลูมิเนียมแบบ HIGH GRADE BRUSHED FINISH เนื้ออะลูมิเนียมของแผงหน้าจึงเรียบและมีเนื้อที่เนียนเป็นพิเศษ STRUMENTO No.1 ได้รับการออกแบบแผงหน้าให้มีส่วนเว้า และส่วนโค้งที่ดูนุ่มนวลสบายตา ช่วยลดความรู้สึกถึงความแข็งใหญ่เทอะทะของตัวเครื่องลงมาได้เป็นอย่างดี ในตอนที่เห็น STRUMENTO No.1 เป็นครึ่งแรกก็ทำให้นึกถึงแอมป์อย่าง FERREAUX ในอดีตที่ออกแบบแผงหน้าได้โดดเด่นดูสะดุดตาในช่องว่างที่แผงอะลูมิเนียม 2 ส่วน เว้นระยะห่างกันอย่างลงตัวนั้นจะเป็นจอดิสเพลย์แสดงผลแบบ DOT-MATRIX ด้วยตัวหนังสือสีฟ้าแบบ BLUE LED สดใส สำหรับความสว่างของจอแสดงผลสามารถปรับลดความสว่าง (DIMMABLE) ได้ โดยใช้รีโมทคอนโทรล ได้จอดิสเพลย์จะมีปุ่มควบคุมทั้งหมด 5 ปุ่มด้วยกัน ประกอบด้วยปุ่ม INPUT สำหรับเลือกแหล่งโปรแกรม ปุ่ม BALANCE เพื่อใช้ในการปรับสมดุลเสียงซ้าย และขวา ปุ่ม ON เพื่อใช้ในการเปิด-ปิดเครื่องที่ตัวปุ่มจะมี LED ไฟสีฟ้าเพื่อแสดงสถานะว่าเครื่องพร้อมสำหรับการใช้งานปุ่ม SET เพื่อใช้ในการตั้งระดับความดังของแต่ละ INPUT และสุดท้ายคือปุ่ม MUTE เพื่อลดระดับเสียงในทันที ด้านขวามือจะเป็นโวลลุ่มขนาดใหญ่จับได้ถนัดมือ

ด้านหลังจะมีขั้วต่ออินพุท ชุดที่ 1 และ 2 ที่สามารถเลือกใช้งานได้ทั้งในแบบ RCA หรือ BALANCED XLR สำหรับอินพุทที่เหลืออีก 3 ชุดนั้นจะเป็นขั้วต่อแบบ BANLANCED XLR ทั้งหมด STRUMENTO NO.1 จะมีชุดต่อแบบ RCA TAPE REC OUT มาให้อีก 1 ชุด สำหรับเอาท์พุทนั้นจะมีขั้วต่อแบบ RCA OUT มาให้ 1 ชุด และแบบ BALANCED XLR มาให้อีก 2 ชุด ขั้วต่อ RCA ทั้งหมดเป็นของ WBT NEXTGEN รุ่น 0210CU ที่ตัวขั้วนั้นมีส่วนผสม 30% จาก GLASS REINFORCED ULTRAMID ส่วนหน้าสัมผัสของขั้วนั้นมีการเคลือบทองแบบ THIN LAYER PLATED 24K สำหรับขั้วต่อ BALANCED XLR นั้นเป็นของ NEUTRIX ทั้งหมด ด้านหลังยังมีขั้วต่อ AV-LINK ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนกับ COMMUNICATION PORT เพื่อเชื่อมต่อการทำงานร่วมกับเครื่องเสียงของ AUDIA FLIGHT ตัวอื่นๆ เพื่อความสะดวกในการส่งผ่านข้อมูลรวมทั้งการควบคุมการสั่งงานได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น การเชื่อมต่อต้องใช้สาย DIGITAL CONNECTION CABLE เป็นตัวเชื่อม IEC ต่อระหว่างเครื่องสำหรับปลั๊กไฟเป็นแบบช็อคเก็ต 3 ขา IEC ถอดเปลี่ยนสายไฟ AC ได้

ภายใน STRUMENTO No.1 มีการเลือกใช้หม้อแปลงแบบพิเศษ SPECIAL AUDIO TRANSFORMERS ขนาดใหญ่ หล่อด้วยเรซินชนิดพิเศษ และบรรจุอยู่ในกล่องโลหะซีลปิดอย่างแน่นหนาและมิดชิด วางอยู่บริเวณด้านหน้า ดังนั้นน้ำหนักของเครื่องจึงอยู่บริเวณหน้าเครื่องเป็นหลัก การจะยกหรือขยับย้าย STRUMENTO No.1 จึงควรระวังให้ดี จากหม้อแปลงมายังภาคจ่ายไฟที่เลือกใช้เร็กติไฟร์แบบ ULTRA FAST RECTIFIERS ทำงานร่วมกับคาปาซิเตอร์ระดับ COMPUTER GRADE ของ RUBYCON ขนาด 1500 UF จำนวน 40 ตัวด้วยกัน (รวมแล้วจะได้ค่าความจุถึง 60,000 UF สำหรับภาคจ่ายไฟในเมนูหลักเท่านั้น) ภาคซัพพลายถูกออกแบบเพื่อการทำงานที่มีอิมพีแดนซ์เป็นพิเศษ (EXTRA LOW IMPEDANCE) มีการแยกเร็กกูเรตไฟออกเป็น 8 ชุด สำหรับวงจรภาคปรีจะถูกออกแบบมาเป็นแบบ FULLY BALANCED CIRCUITRY แท้ๆ ตั้งอินพุทจนถึงเอาท์พุทมีวงจรขยายถึง 2 ชุด ต่อข้าง พร้อมกับแยกวงจรทั้งซ้าย และขวาออกจากกันอย่างเด็ดขาด แผ่นวงจรถูกคัดสรรมาเป็นพิเศษ มีคุณภาพสูงพร้อมกับสายทองแดง และแผ่นทองแดงบัสบาร์ (COPPER BUSBARS) ที่ได้รับการเคลือบผิวด้วยทองแดงเกรดพิเศษแบบ EXTRA HIGH SURFACE COPPER

สำหรับโวลลุ่มใน STRUMENTO No.1 เลือกใช้แบบ CONSTANT IMPEDANCE ATTENUATOR CIRCUIT แบบใหม่ ที่สามารถทำงานได้เงียบ (ABSOLUTELY SILENCED) แม้ในขณะที่เปลี่ยนแปลงระดับความดัง โดยไม่มีเสียงคลิ๊กให้กวนใจ วงจรโวลลุ่มมาแบบนี้ยังมีข้อดีที่สามารถตอบสนองความถี่ได้ราบเรียบกว่า (MORE LINEAR FREQUENCY RESPONSE) มีความเที่ยงตรงสูง (HIGH PRECISION) มีการรบกวนที่ต่ำ (LOW NOISE) ทาง AUDIA FLIGHT ยังได้เลือกใช้รีซิสเตอร์แบบ METAL FOIL แบบ 0.1% ทำงานกับรีเลย์คุณภาพสูง การปรับระดับความดังจะขยับทีละ 0.5 dB STEPS

STRUMENTO No.1 ยังมีพื้นที่เพื่อที่จะใส่อ็อปชั่นบอร์ดเพิ่มเติมได้ในภายหลังอีก 2 จุด ไม่ว่าจะเป็นวงจรสำหรับภาค PHONO INPUT หรือ SPDIF-USB แบบ 32 Bit/192 kHz INPUT หรือจะเลือกเป็นวงจรอะนาลอกทั้งแบบ RCA INPUT หรือ BALACNED XLR INPUT ซึ่งทาง AUDIA FLIGHT ได้ออกแบบไว้เป็นวงจรแบบ MODULAR SYSTEM CARDS นับว่ามีความสะดวก และสามารถรองรับกับระบบใหม่ๆ ที่จะตามมาในอนาคตได้

STRUMENTO No.1 ถือว่าเป็นปรีแอมป์ที่สมบูรณ์ในการที่จะส่งผ่านข้อมูลไปยังเพาเวอร์แอมป์ด้วยความเที่ยงตรงที่สุด (BEST PRECISION) พร้อมกับพละกำลัง (ENERGY) และความรวดเร็ว (SPEED) โดยมีแบนด์วิดธ์ (BANDWIDTH) ที่กว้างกว่า 1.5 MHz

สเปกของ STRUMENTO No.1 มีดังนี้

 

STRUMENTO No.4

STEREO POWER AMPLIFIER

 

audia-strumento-no-4-20120202-1167x967

สำหรับเพาเวอร์แอมป์ AUDIA FLIGHT STRUMENTO No.4 เป็นเพาเวอร์แอมป์ที่มีขนาดใหญ่มากบึกบึนขึงขังสมกับที่เป็นเพาเวอร์แอมป์ในระดับท้อปจริงๆ ด้วยขนาดเครื่อง 450 x 280 x 500 มม. (ก x ส x ล) และน้ำหนักเครื่องที่หนักถึง 90 กก. เมื่อจัดวางไว้ตรงไหนก็เป็นอันจบกันเพราะถ้าจะขยับย้ายคงต้องใช้บุรุษร่างกำยำถึง 4 คน จึงจะพอรับมือไหว

STRUMENTO No.4 มีแผงหน้าที่ขึ้นรูปจากอะลูมิเนียมแบบ SOLID BILLET ALUMINIUM ที่หนาถึง 19 มม. แผงหน้านั้นเรียบเนียน โดยมีเส้นแบ่งตรงกึ่งกลาง เป็นรูปตัว Y โดยที่ด้านบนจะเป็นส่วนเว้าโค้ง และเป็นสวิตช์เปิด-ปิดเครื่องที่มีรูปโลโก้ของ AUDIA FLIGHT เมื่ออยู่ในโหมด STANDBY จะมีดวงไฟ LED สีฟ้าสว่างเมื่อกดเปิดใช้งานก็จะเปลี่ยนจากไฟ LED มาเป็นไฟโลโก้ของ AUDIA FLIGHT แทน ด้านบนจะมีเส้นเว้าโค้งสอดรับกับปรีแอมป์ STRUMENTO No.1 ฝาด้านบนจะเป็นอะลูมิเนียมมีความหนา 7 มม. ฐานเครื่องด้านล่างจะเป็นอะลูมิเนียมหนา 8 มม. วางตัวขนานไปกับฝาด้านบนเป็นกรอบโดยที่ด้านข้างทั้งซ้ายและขวาจะมีครีบระบายความร้อนขนาดใหญ่ที่ถูกลบมุมเนื้อไม้ให้มีขอบที่คม วิ่งเป็นแนวยาวตลอดทั้ง 2 ข้าง

แผงหลังจะมีขั้วต่ออินพุททั้งแบบ BALANCED XLR และ RCA วางตัวอยู่ในแนวตั้งเรียงระดับลงมา ขั้ว RCA เป็นของ WBT รุ่น 0210 CU สำหรับขั้วอินพุท BALANCED XLR เป็นของ NEUIRIX เช่นเดียวกันกับที่ใช้ในปรีแอมป์ STRUMENTO No.1 สำหรับขั้วลำโพงจะมีเพียงชุดเดียวจะวางตัวอยู่ในแนวเดียวกันทางด้านล่าง แน่นอนว่าขั้วลำโพงเป็นของ WBT ถัดมาตรงกึ่งกลางจะมีสวิตช์โยก 2 ชุด ด้วยกัน ชุดแรกเพื่อเลือกการใช้งานในโหมด SLAVE เมื่อต่อเชื่อมกับเครื่องเสียงของ AUDIA FLIGHT ตัวอื่นๆ ผ่านขั้วต่อแบบ AU-LINK และโหมด MASTER เมื่อไม่ได้ใช้ฟังก์ชั่นดังกล่าว สำหรับสวิตช์โยกอีกชุดหนึ่งใช้เลือกการเชื่อมต่อสัญญาณอินพุทระหว่างแบบ RCA และ BALANCED XLR ใกล้ๆ กันก็จะเป็นขั้วต่อแบบ AU-LINK และที่อยู่ด้านล่างถัดลงไปจะเป็นช็อคเก็ตแบบ 3 ขา IEC ขนาด 20 AMP (ขาเหลี่ยม) พร้อมกับสวิตช์เปิด-ปิดเครื่อง

ภายใน STRUMENTO No.4 ส่วนที่ครอบครองพื้นที่หลักเลยก็คือหม้อแปลงขนาด 3000 VA ที่คัดสรรในระดับพิเศษแบบ SPECIAL AUDIA TRANSFORMER พร้อมกับการชีลด์แบบ 2 ชั้น (DOUBLE SHIELD) ด้วยเรซินชนิดพิเศษ และชีลด์อยู่ภายในกล่องขนาดใหญ่จัดวางส่วนหน้าของเครื่องทำงานร่วมกับภาคเร็กติไฟร์แบบ ULTRA FAST RECTIFIERS เนื่องจาก STRUMENTO No.4 มีขนาดเครื่องที่ใหญ่โต ใครๆ ก็คงจะคิดว่าน่าจะมีคาปาซิเตอร์ขนาดใหญ่ๆ เรียงกันเป็นแถว แต่พอเอาเข้าจริงๆ ทาง AUDIA FLIGHT กลับเลือกใช้คาปาซิเตอร์ขนาดเล็กจำนวนมาก เท่าที่สังเกตดูจะเป็นขนาดความจุ 40,000 UF แบบ COMPUTER GRADE CAPACITORS ข้างละประมาณ 10 ตัว โดยที่ AUDIA FLIGHT ออกแบบการวางตำแหน่งของคาปาซิเตอร์ไว้ใกล้กับภาคเอาท์พุทมากที่สุดทาง AUDIA FLIGHT ระบุว่าสำหรับคาปาซิเตอร์ในภาคเมนซัพพลายจะมีค่าโดยรวมอยู่ที่ 320,000 UF มีการแยกภาคเร็กกูเรตไฟออกเป็น 12 ชุดด้วยกัน บนตำแหน่งของหม้อแปลงจะเป็นแผ่นวงจรขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นวงจรในการควบคุมการทำงานหลักรวมทั้งภาคเร็กกูเรตสำหรับแผ่นวงจรที่ใช้ทั้งหมด เป็นแบบคุณภาพสูง (SPECIAL PRINT BOARDS) ที่มีลายทองแดง และแผ่นทองแดงบัสบาร์ที่ได้รับการเคลือบผิวด้วยทองแดงเกรดพิเศษแบบ EXTRA HIGH SURFACE COPPER สำหรับวงจรภาคขยายถูกแยกออกเป็นอิสระทั้งซ้ายและขวา วงจรเป็นแบบ FOUY BALANCED CIRCUITRY แท้ๆ ตั้งแต่ภาคอินพุทจนถึงเอาท์พุททำงานแบบ DIFFERENTIAL โดยมีภาคขยายถึง 2 ชุด ต่อข้าง ชีลด์อยู่ภายในกล้องโลหะมิดชิด บริเวณด้านหลังยังมีหม้อแปลงซึ่งเข้าใจว่าเป็นหม้อแปลงแบบเทอรอยด์ที่จ่ายกระแสไฟให้กับภาคหน้า ตัวหม้อแปลงเองถูกชีลด์ไว้ในกระบอกอะลูมิเนียมพร้อมกับหล่อเรซินไว้อย่างมิดชิด

ในภาคเอาท์พุทใช้ทรานซิสเตอร์แบบ BIPOLAR จำนวน 24 ตัวต่อข้าง (รวมทั้งหมด 48 ตัว) ลักษณะของวงจรคาดว่าเป็นวงจรที่ใช้กระแสสูง แต่มีแรงดันต่ำ ผ่านกระแสได้สูง มีกำลังขับอยู่ที่ 200 วัตต์ต่อข้าง อุปกรณ์ภายในผ่านการคัดสรรมาอย่างดี และมีคุณภาพสูง ทาง AUDIA FLIGHT มิดได้เปิดเผยถึงการออกแบบรวมทั้งรายละเอียดใดๆ ของวงจรแม้แต่น้อย แต่ที่แน่ๆ ใน STRUMENTO No.4 ใช้วงจรการป้อนกลับแบบ CURRENT FEED BACK แน่ๆ ครับ

STRUMENTO No.4 ถือว่าเป็นเพาเวอร์แอมป์ที่ขยายสัญญาณดนตรีได้อย่างเที่ยงตรงที่สุด (BEST PRECISION) ด้วยพละกำลัง (ENERGY) และความรวดเร็ว (SPEED) ที่เป็นเลิศ (PERFECT DEVICE) โดยมีแบนด์วิดธ์ (BANDWIDTH) ที่กว้างกว่า 1.3 MHz!

สเปกของ STRUMENTO No.4 มีดังนี้

ผลการทดลองฟัง

เนื่องจาก STRUMENTO No.1 และ No.4 เป็นเครื่องในระดับ TOP-OF-THE-LINE พวกเราเลยต้องการให้เครื่องมีความพร้อมมากที่สุด ถึงแม้ตัวเครื่องจะผ่านการใช้งานมาบ้างแล้วก็ตาม ยิ่งเป็นเพาเวอร์แอมป์ที่มีขนาดใหญ่ ยิ่งต้องไม่ประมาท หลังจากที่เบิร์นอินกันอย่างเต็มที่เท่าที่เวลาจะอำนวยก็ได้เวลาในการสรุปแบบฟังจริงสักที สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในการฟังประกอบด้วย :

เครื่องเล่นซีดี :             MARANTZ CD 11 MK II (CLOCK II) SONY CDP-XA 7 ES

ปรีแอมป์ที่ใช้ใน :         MICHELL ORCA

การเทียบเคียง :           KRELL KSL, ADCOM GFP 750

เพาเวอร์แอมป์ที่ใช้

ในการเทียบเคียง :      MICHELL ALECTO MONO BLOCK, ADCOM GFA 5800

ลำโพง :                       B&W 805S, SMALL ONE CLASSIC, XAV ROBIN MT

สายนำสัญญาณ :       VAMPIRE AI-II (RCA), BALANCED XLR

สายลำโพง :                VAMPIRE ST-II

สายเอซี :                     MUSIC MUSE XAV XAC # 5

ฟิวส์ :                           MUSIC MUSE V2

ห้องฟังขนาด 4 x 8 เมตร ได้รับการปรับแต่งอะคูสติกมาอย่างดี ก่อนอื่นต้องเรียนให้ทราบว่า STRUMENTO ทั้ง 2 โดยเฉพาะกับเพาเวอร์แอมป์ STRUMENT No.4 ถึงแม้จะพ้นช่วงรันอิน จนเข้าที่แล้วก็ตาม แต่ในทุกครั้งที่เปิดเครื่องเพื่อการใช้งาน ควรจะต้องเปิดเครื่องวอร์มพร้อมกับร้องเพลงรอไปก่อน อย่างน้อย 40 นาที เพื่อให้เครื่องมีอุณหภูมิที่อุ่นได้เต็มที่ อุปกรณ์ภายในมีการทำงาน เพื่อเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่เสียก่อน เพื่อที่จะได้สัมผัสคุณภาพที่แท้จริงของ STRUMENTO ถ้าคุณตัดสินคุณภาพโดยที่เครื่องยังไม่พร้อมจริง ก็นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่ง เพราะคุณภาพเสียงที่ได้สัมผัสฟังนั้นจะแตกต่างกันมาก

อันดับต่อมา STRUMENTO เดินทางมาหาพวกเราโดยไม่มีคู่มือ หรือรายละเอียดใดๆ รวมทั้งรีโมทด้วย เพราะปรีแอมป์ STRUMENTO No.1 มีฟังก์ชั่น ซึ่งต้องปรับแต่งอย่างละเอียด การไม่มีคู่มือ และรีโมททำให้ประสบปัญหาในการเซ็ตอัพบางอย่าง ซึ่งถือว่าเป็นข้อจำกัดอยู่พอสมควร อย่างเช่น พวกเราไม่สามารถใช้งานขั้วต่อ BALANCED XLR ในอินพุทที่ 1 ได้ เข้าใจว่าน่าจะมีการปรับเลือกอินพุทระหว่างขั้วต่อ RCA และ BALANCED XLR พวกเราเลยจำต้องผันไปเลือกใช้ขั้วต่ออินพุทที่ 3 ซึ่งเป็น BALANCED XLR เพียงอย่างเดียวตลอดในการฟังทดสอบในครั้งนี้

อันดับสุดท้าย เนื่องจาก STRUMENTO ถูกออกแบบวงจรมาเป็นวงจรแบบ FULLY BALANCED แท้ พวกเราจึงเลือกใช้สายนำสัญญาณแบบ BALANCED XLR ในการเชื่อมต่อซิสเต็มทั้งหมด ตลอดการฟังทดสอบในครั้งนี้

เนื่องด้วยเวลาที่มีอย่างจำกัด เพื่อปิดต้นฉบบให้ทัน พวกเราจึงให้ความสำคัญและใส่ใจในการเซ็ตอัพ STRUMENTO เพื่อให้มีความพร้อมเต็มที่ และสมบูรณ์ที่สุด เพื่อที่จะได้แสดงสมรรถนะทางเสียงที่แท้จริงออกมาได้อย่างดีที่สุด ก่อนที่จะเชิญเหล่าคณะลูกขุนเข้ามาร่วมฟังกัน เพราะถ้าละเลย หรือมองข้ามจุดสำคัญบางจุดไป คงจะหาโอกาสในการแก้มือได้ยากยิ่ง พวกเราได้ติดต่อไปทาง MUSIC MUSE เพื่อจะหยิบยืมสายไฟ AC ตัวท้อป ซึ่งก็คือสาย AC รุ่น JORMUNGANDR (จอร์มุนกานด์) มาใช้เพิ่มในซิสเต็มอีก 2 เส้น เดิมทาง MUSIC MUSE ได้จัดส่งตัวต้นแบบจำนวน 1 เส้น มาให้ลองใช้ได้สักระยะเวลาหนึ่งแล้ว ซึ่งก็เรียกจนติดปาก MUSIC MUSE ‘THE FROTOTYPE’ AC CABLE มาสักพักใหญ่ สาย AC ตัวนี้เท่าที่ทราบปัจจุบันยังไม่ได้วางจำหน่าย แต่คาดว่าเมื่อมีความพร้อมแล้วทาง MUSIC MUSE คงจะนำออกเปิดตัวในเร็ววันนี้ เมื่อถึงเวลานั้นจะทำบททดสอบออกมาให้อ่านกันในภายหลังครับ พลาดไม่ได้อย่างเด็ดขาด

แต่ปรากฏว่าเพาเวอร์แอมป์ STRUMENTO No.4 นั้นใช้ช็อคเก็ต 3 ขา IEC ขนาด 20 AMP จึงไม่สามารถต่อใช้งานสายตามที่ได้ตั้งเอาไว้ได้ ติดต่อไปทางตัวแทนจำหน่าย บริษัท อินเวนทีฟ เอวี จำกัด (IAV) ทางบริษัทก็ได้อนุเคราะห์สายขนาดเขื่องเข้าหัวด้วย HUBBELL HBL 8215C สำหรับท้ายแบบ 20 AMP นั้นเป็นของ WATTGATE 320i HC หลังจากที่ใช้งานอยู่ 3 – 4 วัน ผลปรากฏว่า STRUMENTO นำเสนอเสียงกลางที่ดี มีมวลที่อบอุ่นเสียงแหลมนั้นออกโทนนุ่ม แจกแจงรายละเอียดได้พอประมาณ ปัญหาใหญ่ที่สุดมาอยู่ที่เสียงเบสครับ

STRUMENTO ถ่ายทอดเสียงเบสที่มีปริมาณที่ค่อนข้างจำกัด ขาดทั้งรายละเอียด เบสต่ำลงได้ไม่ลึกนัก แถมมีอาการอั้นตื้อ ที่ฟังออกชัดเจน ผิดวิสัยเพาเวอร์แอมป์ที่มีกำลังขับถึง 200 วัตต์ต่อข้าง และที่สำคัญนี่คือ STRUMENTO ซึ่งเป็นแอมป์ที่ดีที่สุดของ AUDIA FLIGHT ทางบริษัท อินเวนทีฟ เอวี จำกัด ได้โทรศัพท์มาสอบถามก็ได้แจ้งไปว่าผลการฟังยังไม่ดีนัก คงต้องหาวิธีกันใหม่ ทาง บริษัท อินเวนทีฟ เอวี จำกัด ก็เลยเสนอที่จะนำเอาตัวอะแด็ปเตอร์แบบ 15 AMP TO 20 AMP IEC ADAPTER ของ VOO DOO CABLE มาให้ จากนั้นไม่นานเมื่ออะแด็ปเตอร์ของ VOO DOO CABLE เดินทางมาถึง พวกเราก็จัดแจงต่อเชื่อมเข้ากับระบบพร้อมกับสาย AC JORMUNGANDR (จอร์มุนกานด์) ที่ได้เตรียมไว้ก่อนหน้านี้ เมื่อเสียงสำเนียงหลุดจากลำโพง พวกเราก็เริ่มยิ้มออก อีกสัก 2 วัน STRUMENTO ก็พร้อมที่จะรับมือกับเหล่าคณะลูกขุนหูหาเรื่องของเราแล้วครับ

เนื่องด้วยในครั้งนี้มีลูกขุนมากเป็นพิเศษ พวกเราเลยแบ่งคณะลูกขุนออกเป็น 2 ชุด แยกฟังกันต่างกรรมต่างวาระ นอกจากนี้ยังมีรอบเดียว และรอบพิเศษในการเก็บตกอีกด้วย

ลูกขุนมือเก๋าชุดแรก มาพร้อมกับคำเรียกร้องแบบ ‘จัดหนัก’ กับเพาเวอร์แอมป์ขนาดใหญ่แบบนี้ ขอลำโพงตั้งพื้นเลยก็แล้วกัน เพราะเมื่อครั้งก่อนตอนที่ฟังทดสอบเพาเวอร์แอมป์ ADCOM GFA-565SE ยังมีประเด็นที่ค้างคาใจยังฟังได้ไม่สะใจและยังไม่สะเด็ดน้ำ ในครั้งนี้เลยขอพิสูจน์ ‘พละกำลัง’ ของ STRUMENTO No.4 เป็นอันดับแรก ลำโพงที่ใช้ฟังในคาบแรก จึงเป็น XAV ROBIN MT ซึ่งเป็นลำโพงแบบ 3 ทาง วางพื้นที่มีวูฟเฟอร์ขนาด 8” มีระบบ BASS LOADING แบบ TRANSMISSION LINE ผสมผสานกับหลักการ ACOUSTIC PRESSURE GRADIENT สามารถให้เบสที่ต่ำลึกถึง 35 Hz (-3 dB) ไม่เพียงเท่านั้น ลูกขุนมือเก๋าของเราเที่ยวนี้จัดเตรียมแผ่น CD มาเองเลย เอากันแบบ ‘เนื้อๆ’ และเน้นๆ ไม่ต้องขี่ม้ารอบค่าให้เสียเวลา

STRUMENTO ก็ไม่สร้างความผิดหวังแต่อย่างใด กับแผ่น CD ชุด UNPLUG ACOUSTIC BURN-IN & REVITALICG CD (TIS-UP3) แอมป์ STRUMENTO ก็แสดงความเหนือชั้นด้วยการถ่ายทอดน้ำหนักฮาร์โมนิก และไดนามิก ของบรรเลงเปียโน BOSENDORFER 92 KEYS PIANO ในเพลง PRELUDE ออกมาได้อย่างหน้าตื่นตาตานใจยิ่ง เสียงของเปียโนที่มีความโปร่งใสถูกนำเสนอไปพร้อมกับน้ำหนักในการกดคีย์ที่มั่นคง และเฉียบคม น้ำเสียงถูกถ่ายทอดออกมาด้วยความกลมกลืนลื่นไหลอย่างน่าฟัง ที่ทำเอาเหล่าลูกขุนต่างอุทานออกมาด้วยความตื่นเต้น ‘นี่สิ…มันต้องอย่างนี้’ ที่เยี่ยมไปกว่านั้นก็คือการที่ STUMENTO สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างเสียงบรรเลงของเปียโน BOSENDORFER กับเปียโน YAMAHA C7 GRAND PIANO ที่บรรเลงในเพลงถัดไป ออกมาได้อย่างแจ่มชัดยิ่ง

กับเพลงร้องทั้งหญิงและชายที่ส่งต่อให้กับ STRUMENTO อย่างไม่ขาดสาย STRUMENTO ก็รับและถ่ายทอดออกมาได้อย่างมีชั้นเชิง และมีความน่าฟังเป็นอย่างยิ่ง STRUMENTO สามารถถ่ายทอดอารมณ์เพลงในแบบของเครื่องหลอดชั้นเยี่ยมเลย ลูกขุนท่านหนึ่งกล่าวอย่างพึงพอใจ (แผ่น BLUE VOLUTION B.B DES VOEUX TIS) ในขณะที่อีกท่านตั้งข้อสังเกตในเรื่องของจังหวะดนตรี ที่ STRUMENTO เหมือนกับจะถ่ายทอดออกมาได้ช้ากว่าที่คุ้นเคย ไม่ช้าหรอก…แต่เป็นชั้นเชิงที่ STRUMENTO นำเสนอพร้อมกับการแจกแจงรายละเอียดต่างๆ ออกมาให้ได้ยินชัดเจนยิ่งขึ้น เป็นเสียงของแอมป์แบบโซลิตสเตจในแบบฉบับของหลอดที่เก็บรายละเอียดได้ดีเยี่ยมนั่นเอง อีกท่านตอบหลังจากฟังอย่างวิเคราะห์อยู่พักใหญ่ (JACINTHA : HERE’S TO BEN) ในช่วงสุดท้ายได้สลับเปลี่ยนลำโพงมาเป็น B&W 805S แทน STRUMENTO ก็สามารถชักนำเอาคณะลูกขุนชุดแรก เพลิดเพลินและดื่มด่ำไปกับการฟังดนตรีได้อย่างเคลิบเคลิ้ม ลูกขุนทุกท่านรู้สึกตื่นตาตื่นใจไปกับความสามารถของ STRUMENTO ที่ถ่ายทอดพละกำลังออกมาได้อย่งหนักแน่น มีความมั่นคงยิ่ง ทุกท่านรู้สึกเหมือนกับว่าลำโพงที่ฟังอยู่นั้นขยายตัวใหญ่ขึ้น และทรงพลังเกินตัวได้อย่างไม่น่าเชื่อ หลังจากที่ฟังกันเกือบ 4 ชั่วโมง ลูกขุนก็สลายตัวกันไปด้วยรอยยิ้มที่เปี่ยมสุข

ถัดจากนั้นอีก 3 วัน ก็ถึงวันที่นัดหมายกับคณะลูกขุนอีกชุดหนึ่งในการฟังครั้งนี้ ได้เซ็ตลำโพง B&W 805S ไว้เป็นตัวหลัก พวกเราเริ่มต้นการฟังด้วยแผ่น THE MERRY ANGEL OPUS 9 ชุดล่าสุด ซึ่งเป็นงานดนตรีชุดที่ 9 ของ “เทพบันเทิง” ในชุดนี้ จะเป็นการบรรเลงแบบแตรวงชาวบ้าน (FOLK BRASS BAND) บทเพลงตั้งแต่เพลง BURMA พม่าประเทศ ซึ่งเป็นบทเพลงที่คุ้นหูมากๆ ถ้าคุณเป็นนักฟังรายการวิทยุในช่วงเวลาก่อนเคารพธงชาติทั้งในตอนเช้า และตอนเย็น ถ้าได้ยินเพลงนี้ต้องร้อง…อ้อ…ด้วยกันทุกราย ถูกบรรจงนำเสนอโดย STRUMENTO ในโทนเสียงที่น่าฟัง กลมกล่อม ต่อเนื่องชวนติดตาม ไม่ว่าจะเป็นเสียงของ AUTO SAXOPHONE, TENOR SAXOPHONE และ BARI TONE หรือที่เรียกว่าแซ็กโซโฟน 3 เลา พร้อมกับทรัมเป็ต แคลริเน็ท และทรอมโบน เป็นต้น ต่างบรรเลงออกมาด้วยน้ำเสียงที่สดใส มีชีวิตชีวาที่แฝงไว้ด้วยความนุ่มนวล ‘นี่ต้องบอกว่าเสียงดีในระดับเข้าขั้นเลย’ ลูกขุนคอคลาสสิกประจำคณะกล่าวขึ้นคนแรกตามมาด้วย STOMENTO ถ่ายทอดรายละเอียดในย่านกลางสูงได้ดีมาก มีความกระจ่างสดใสพร้อมกับรายละเอียดที่ดี (JAZZ AT THE PAWNSHOP PROPHONE) เหนือกว่าที่เคยฟัง และประทับใจจาก PASS LABS โมโนบล็อก X600 จับคู่กับปรี K1 ในอดีตเสียอีก ลูกขุนหนุ่มใหญ่ไฟแรงของเราเอียงชั้นเหมือนกับจะเป็นการสรุป หลังจากที่ฟังอยู่นาน (THE DAVE BRUBECK QUARTET TIME OUT) ในแผ่นเพลงเดียวกันนั้น ลูกขุนอีกท่านจับประเด็นในเรื่องของจังหวะ เพราะรู้สึกว่า STRUMENTO มีการดึงจังหวะดนตรีให้ช้าลงเล็กน้อย แต่เสริมเติมความกลมกลืนอย่างมีชั้นเชิงได้ดี

ในเรื่องของเบส คณะลูกขุนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า STRUMENTO ควบคุมความถี่ต่ำได้มั่นคงมาก แสดงถึงความสามารถพิเศษในการควบคุมจังหวะในย่านเสียงทุ้ม รวมทั้งการยั้งตัวของไดอะแฟรมได้อย่างดีเยี่ยม (PRE EXOTIC DANCES FROM THE OPERA) เสียงเบสที่ได้ยินจึงทรงพลังเกินตัวจนรู้สึกว่า B&W 805S ถ่ายทอดพลังเบสได้ดีกว่าทุกครั้ง

ก่อนจากคณะลูกขุนหลายท่านรู้สึกพอใจในน้ำเสียงของ STRUMENTO ไม่น้อย มันมีความเป็นดนตรีที่หาฟังกันได้ยากจากแอมปลิไฟเออร์ในระดับไอเอนด์ที่มีราคาแพงโดยทั่วไป สมแล้วกับที่เป็นแอมป์ในระดับท้อป หรือดีที่สุดจาก AUDIA FLIGHT เพียงแต่ติดที่ราคาค่าตัวซึ่งอยู่ไกลเกินเอื้อมถึง คงต้องทำใจกลับไปปรับหูเพื่อฟังเครื่องคุณแก่ที่บ้านกันละคราวนี้

เมื่อคณะลูกขุนสลายตัว ก็ได้เวลาเก็บตกเช่นเคย สิ่งแรกที่รู้สึกได้จากการฟัง STRUMENTO ไปสักระยะหนึ่งก็คือ ความกลมกลืนและนุ่มนวล น้ำเสียงมีความละเอียดและเนียนมีตัวตนที่เดินชัด เสียงร้องของ ELLA นั้น นุ่มนวล และอิ่มหนาแจกแจงรายละเอียดได้ดีอย่างพอเหมาะ ที่สำคัญก็คือ STRUMENTO เหมือนกับจะชักนำให้คุณเพลชิดเพลินไปกับบทเพลงมากกว่าจะแสดงศักยภาพในการแจกแจงรายละเอียดต่างๆ ออกมาอย่างหมดจด เพื่อแสดงความเหนือชั้นและเรียกร้องความสนใจในพื้นที่ที่ได้ฟัง (ELLA FITZGERALD : FOREVER ELLA)

สำเนียงเสียงดนตรีที่เปล่งออกมานั้นมีความกลมกลืนต่อเนื่องลื่นไหลมีความน่าฟังและให้ความผ่อนคลายได้ดีเป็นพิเศษ เสียงในย่านกลางสูงนั้นสอดประสานรับกันได้อย่างลงตัว เสียงของไวโอลีนจากการสีของ ISAAC STERN นั้นรวดเร็วมีน้ำหนักและการพลิ้วไหวของลีลาที่น่าประทับใจ (ISAAC STERN “HUMORESQUE”) แตกต่างจาก HILARY HAHN ที่การสีไวโอลีนของเธอนั้นสดใสและมีชีวิตชีวา (HILARY HAHN : BACH CONCERTOS) STRUMENTO แจกแจงความแตกต่างนี้ออกมาได้อย่างมีชั้นเชิง

เสียงแหลมของ STRUMENTO นั้นเปิดเผยสดใสเต็มไปด้วยรายละเอียดพร้อมกับถ่ายทอดน้ำหนักของการย้ำเน้นหนัก-เบาได้อย่างดีเยี่ยม เสียงของ ALTO SAXOPHONE จากฝีมือของ PAUL SESMOND ในเพลง TAKE FIVE (THE DAVE BRUBECK QUARTET : TIME OUT) หรือจะเป็นเสียง TENOR SAXOPHONE ฝีมือของ SONNY ROLLINS (SONNY ROOLINS : WAY OUT WEST) นั้นสามารถยืนยันถึงสิ่งเหล่านี้ได้ดี ในขณะที่ STRUMENTO ให้เสียงแหลมที่สดใสมีความกระจ่าง แต่ก็เป็นเสียงแหลมที่แฝงไว้ด้วยความสุภาพ และนุ่มนวลอยู่ในที ไม่มีอาการหยาบ หรือกร้าวจัด หรือแข็งแม้แต่น้อย ปลายเสียงแหลมทอดตัวออกไปได้ดี ก่อนจะค่อยๆ เก็บตัวลงอย่างเป็นธรรมชาติ (TEST CD 4.1 : OPUS 3)

STRUMENTO ให้เสียงในย่านอัพเปอร์เบสที่เนียนนุ่มและแน่น จังหวะดนตรีจะถูกดึงให้ช้าลงเล็กน้อย ตามที่ลูกขุนท่านหนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตไว้ แต่ผู้ฟังจะรู้สึกเหมือนกับว่า STRUMENTOL พยายยามแยกแยะและแจกแจงรายละเอียดของดนตรีออกมาอย่างประณีตกับแผ่นของค่าย SHEFFIELD LAB ชุด THE MISSING LINE จะเปิดเผยสิ่งเหล่านี้ออกมาจนนักฟังที่ชอบจังหวะกระฉับกระเฉงและสปีดดนตรีที่รวดเร็ว อาจจะรู้สึกกว่า STRUMENTO นั้นเป็นผู้ใหญ่ และสุภาพเกินไปหน่อย แต่กับแผ่นที่บันทึกมาแบบ CLOSE MIC และบันทึกสดอย่างแผ่นของ TIS นั้น STRUMENTO กลับถ่ายทอดจังหวะของดนตรีรวทั้งรายละเอียดต่างๆ ออกมาได้อย่างไม่มีที่ติเช่นกัน (UNPLUG 3 ACOUSTIC BURN IN REVITALICE CD : TIS-UP3)

สิ่งที่น่าประทับใจ ซึ่ง STRUMENTO นั้นสามารถทำได้อย่างโดดเด่นก็คือความถี่ต่ำที่ทรงพลัง และแน่นกระชับ เป็นเสียงเบสที่ระเบิดพลังออกมาได้อย่างเต็มที่ มีจังหวะที่แน่นอน มีแรงปะทะและความรวดเร็วที่แม้จะไม่ถึงกับดุดันหนักหน่วง หรือมีลำหักลำโค่นที่จะแจ้งก็ตาม แต่ก็มีความลงตัวทรงพลังพร้อมกับความสามารถในการควบคุมลำโพง และการเคลื่อนตัวของไดอะแฟรมเอาไว้ได้อย่างอยู่หมัด อย่างที่ไม่เคยได้ยิน หรือได้ฟังจากแอมป์ตัวไหนมาก่อน เข้าใจว่านี่คือผลพวกจากการออกแบบวงจร CURRENT FEED BACK ที่ทาง AUDIA FLIGHT คิดค้นขึ้น จึงทำให้ความถี่ต่ำมีความราบเรียบดีเป็นพิเศษมีความเป็นลิเนียร์ที่เที่ยงตรงสูง สัญญาณมีความรวดเร็ว ตอบสนองได้อย่างฉับพลัน พร้อมทั้งสามารถรับมือ และควบคุมโหลดของลำโพงไว้ได้เป็นอย่างดี STRUMENTO จึงถ่ายทอดเสียงเบสที่สะอาดและชัดเจน เนื่องจากไดอะเฟรมของวูฟเฟอร์จะถูกควบคุมไว้ได้อย่างมั่นคง ไม่มีการเคลื่อนตัวมากในความถี่ต่ำที่หูเราไม่ได้ยิน

ด้วยความสามารถของ STRUMENTO No.4 นี่เอง ที่ทำให้ทั้งลำโพงวางพื้น 3 ทาง อย่าง XAV ROBIN MT หรือลำโพงวางหิ้งอย่าง B&W 805S นั้น ถ่ายทอดเบสที่สะอาด เต็มไปด้วยพละกำลังที่เกินตัว………………… มีความเพี้ยนที่ต่ำจนคุณรู้สึกว่าระดับความดังที่ฟังอยู่นั้นยังไม่เพียงพอและอยากจะเพิ่มระดับความดังมากขึ้นไปอีก นี่ต้องนับว่าเป็นความสามารถและศักยภาพของ STRUMENTO No.4 ที่เหนือชั้นจริงๆ

สำหรับสมรรถนะทางด้านอิมเมจนั้น STRUMENTO สามารถตรึงตำแหน่งต่างๆ ได้อย่างมั่นคง ขนาดของอิมเมจจะมีขนาดกว่าปกติเล็กน้อยซาวด์สเตจด้านกว้างสามารถวางตัวขยายเลยลำโพงทั้งซ้าย และขวาออกไปได้โดดเดนอย่างเป็นธรรมาชาติ โดยมีสัดส่วนความลึกที่แสดงระดับชั้นของดนตรีที่ถอยลึกลงไปในระดับที่ดี ความสามารถในการแสดงระยะห่างหรือช่องว่าระหว่างดนตรีมีให้สัมผัสฟัง แม้จะไม่ถึงขั้นโดดเด่นก็ตาม

สุดท้ายได้ลองสลับสับเปลี่ยนนำเอา STRUMENTO ไปใช้กับปรีแอมป์ และเพาเวอร์แอมป์ตัวอื่นๆ ที่มีอยู่ในห้องฟัง ผลที่ได้อออกมากลับไม่ดีนัก เมื่อเปรียบเทียบกับ STRUMENTO No.1 ทำงานร่วมกับ No.4 ดูเหมือนทาง AUDIA FLIGHT ได้ออกแบบทั้งคู่มาให้เป็นคู่สร้าง คู่สมที่สมบูรณ์แบบ ถ้าจะตกล่องปล่องชิ้น หรือว่าหลงรักกันแล้วละก็ แนะนำให้ยกไปเป็นคู่ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดครับ

maxresdefault

สรุป

ถึงแม้ในวงการเครื่องเสียง จะมีคำเล่าลือจนเป็นที่โจษจัน หรือมีการถกเถียงกันว่า ระหว่างแอมป์หลอดชั้นเยี่ยมกับแอมป์แบบโซลิดสเตจชั้นยอด ใครจะให้ความเป็นดนตรีจนสามารถครอบครองใจรวมทั้งหูของนักฟังนักเล่นในระดับไฮเอนด์ได้มากว่ากัน เราจะพบกว่าคำตอบนั้นหาข้อสรุปจนเป็นที่ยอมรับกันอย่างเป็นเอกฉันท์ สำหรับนำเล่นที่ถือข้างทั้ง 2 ฝ่ายได้ยากยิ่ง อันที่จริงแล้วไม่ว่าจะเป็นหลอดหรือทรานซิสเตอร์กลับไม่ใช่หัวข้อที่ควรนำมาถกเถียงเพื่อเอาชนะและค้านกัน แต่ที่สำคัญก็คือความเป็นดนตรีที่แอมปลิไฟเออร์ชั้นเยี่ยมที่ดีควรจะสามารถจำลองออกมาได้ใกล้เคียงดนตรีจริงต่างหาก ที่สำคัญยิ่ง และ STRUMENTO เองก็จัดว่าเป็นหนึ่งในแอมปลิไฟเออร์ชั้นเยี่ยมที่ว่านั้น

ถึงแม้ว่าคำว่าดีที่สุดนั้นอาจจะไม่ได้มีอยู่จริง เพราะอะไรที่ถือเป็นที่สุดส่วนใหญ่ก็มันจะถูกทำลายโดยความพยายาม และความรู้พร้อมทั้งทักษะที่เหนือกว่าในเวลาต่อมาถึงจะเป้นเช่นนั้นก็ตาม STRUMENTO ก็ถือว่าเป็นผลงานของความพยายาม และท้าทายสำหรับ AUDIA FLIGHT ที่นำเสนอออกมาได้อย่างน่าชื่นชม ถ้าคุณยังเป็นนักเล่น นักฟัง ที่พยายามไขว่คว้าหาความเป็นที่สุดแล้ว STRUMENTO อาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

แต่ถ้าคุณกำลังตามหาความเพลิดเพลิน และอรรถรสทางดนตรีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร พร้อมด้วยพละกำลังที่หนักแน่นทรงพลังเกินกว่าพิกัดที่จะพบฟังได้จากแอมป์ในระดับเดียวกันแล้วละก็ STRUMENTO กลับเป็นชุดแอมปลิไฟเออร์ที่ก้าวเท้าออกมายืนอยู่ในระดับแนวหน้าได้อย่างโดดเด่นและภาคภูมิในระดับต้นๆ อย่างน่าสนใจยิ่งครับ

ขอขอบคุณบริษัท อินเวนทีฟ เอวี จำกัด โทร. 0-2238-4078-9 ที่เอื้อเฟื้อเครื่องมาให้ทดสอบในครั้งนี้