Test Report: เครื่องเล่นซีดี และเอสเอซีดี : ARCAM CDS27
“วีระพัฒน์ ณัฏฐ์ธนภัทร”
“ ช่องต่อเชื่อมสัญญาณขาออกแบบบาลานซ์บ่งบอกถึงขีดความสามารถ หรือระดับมาตรฐานของอุปกรณ์เครื่องเสียงได้ จริงหรือ ? ”
สังกาได้ในทุกสมัยว่า อุปกรณ์เครื่องเสียงที่แนบช่องต่อสัญญาณแบบบาลานซ์มาให้ มักถูกจัดวางอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์มาตรฐานระดับกึ่งกลางขึ้นไป คือไม่ได้อยู่กลุ่มผลิตภัณฑ์มาตรฐานระดับเริ่มต้นเสียเป็นส่วนใหญ่ หรืออาจมีหลงมาให้เห็นกันบ้างจากบางสำนัก ก็เป็นส่วนน้อย น้อยมาก นานๆจะได้เห็นกันสักครั้ง
ครั้นกล่าวอย่างนี้ หลายท่านก็อาจแสดงความคิดเห็นว่า ภาคส่วนดังกล่าวหาได้เป็นเกณฑ์วัดคุณภาพของอุปกรณ์เครื่องเสียง เพราะในกลุ่มผลิตภัณฑ์มาตรฐานสูงบางสำนัก ก็หาได้แนบช่องต่อสัญญาณแบบบาลานซ์มาให้ ทั้งๆที่อุปกรณ์รุ่นดังกล่าวมีคุณภาพที่ล้นแก้ว สามารถกวาดรางวัลจากนักวิจารณ์หลายต่อหลายค่ายมาอย่างท่วนท้น
เฉกเดียวกับสายสัญญาณกลุ่มอภิมหาคุณภาพ ส่วนใหญ่มักเป็นแบบอันบาลานซ์ (อาร์ซีเอ) หรือสายสัญญาณส่วนมากที่ผลิตออกมาจำหน่ายก็ล้วนแล้วแต่เป็นแบบอันบาลานซ์ (อาร์ซีเอ) ทั้งสิ้น ในขณะที่สายสัญญาณแบบบาลานซ์นั้นมีจำหน่ายน้อยรุ่น หรือในหลายๆสำนักก็ไม่มีอยู่ในสายพานการผลิตกันเลยสักรุ่น
ข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นที่ทราบกันดีสำหรับแวดวงบ้านเรา แล้วก็เชื่อว่าบ้านอื่นก็คงทราบดีเหมือนๆกัน ประเด็นคือสำนักผู้ผลิตเครื่องเสียงนั้นออกแบบช่องต่อสัญญาณแบบบาลานซ์มาให้ เพื่อพัฒนาศักยภาพในการจำลองสรรพเสียงของอุปกรณ์ฯนั้นๆให้มีคุณภาพที่สูงขึ้น ส่วนความคิดเห็นในการเสพ การวิจารณ์จะเป็นเช่นไรก็สุดแล้วแต่ประสบการณ์ของปัจเจกชนที่จะพรรณนากัน
เครื่องเล่นซีดี และเอสเอซีดี ARCAM CDS27 คือผลิตภัณฑ์อีกรุ่นหนึ่งที่แนบช่องต่อสัญญาณแบบบาลานซ์มาให้ เรื่องของคุณภาพเสียงจะยืนอยู่ในระดับกึ่งกลางขึ้นไปจริงหรือไม่ ?
เรียนเชิญร่วมศึกษาพิจารณาในรายงานฉบับนี้ไปพร้อมๆกันเลย
รูปลักษณ์และการใช้งาน
“ แผงหน้าปัดดูสุภาพเรียบร้อยคืออัตลักษณ์ที่สัมผัสได้จากผลิตภัณฑ์สำนักนี้เกือบทุกรุ่น ”
ความเปลี่ยนแปลงจากรุ่นก่อนๆที่เคยเห็นกันจนคุ้นชิน คือการเปลี่ยนสีช่องรับแผ่นซีดีบนแผงหน้าปัดด้านหน้าให้เป็นโทนสีเดียวกับจอแสดงผล ซึ่งเดิมที่เคยเห็นกันมานาน ไม่ว่าจะรุ่นต่อกี่รุ่นช่องรับแผ่นซีดีจะเป็นสีเดียวกับตัวถัง ส่วนการจัดวางส่วนประกอบต่างๆยังคงเหมือนเดิม
โลโก้ ARCAM ยังคงถูกสกรีนเอาไว้มุมซ้ายด้านบนพร้อมด้วยอักษร FMJ อันบ่งบอกถึงอนุกรมของผลิตภัณฑ์นี้ ซึ่งช่วยยืนยันในเบื้องต้นว่าเครื่องเล่นซีดี และเอสเอซีดีเครื่องนี้ไม่ใช่ระดับเริ่มต้นแน่นอน ส่วนรายละเอียดของรุ่น ได้สลักอักษรเอาไว้บนแผ่นทองเหลืองที่ติดแปะเอาไว้มุมซ้ายล่างซึ่งช่วยเพิ่มพูนความหรู ความดูมีระดับขึ้นมาอีกเป็นกอง
ปุ่มเปิด/ปิดเครื่องขนาดจิ๋วอยู่บริเวณมุมขวาล่างเหมือนเคย โดยที่มุมขวาด้านบนได้ติดตั้งหลอดแอลอีดีสีเขียวซึ่งจะส่องสว่างขึ้นมาทันทีเมื่อกดปุ่มนี้ให้อยู่ในตำแหน่งเปิด ส่วนปุ่มปรับสั่งงานขนาดจิ๋วถูกจัดวางในตำแหน่งถัดมาด้านข้างได้วางเรียงกันตามแนวนอนจำนวนสี่ปุ่ม
ปุ่มแรกเป็นปุ่ม >>I ใช้สำหรับสั่งงานให้เครื่องข้ามไปเล่นแทร็กถัดไป และใช้สำหรับสั่งงานให้เครื่องเล่นเดินหน้าด้วยความเร็วแบบพิเศษเมื่อกดปุ่มนี้ค้างเอาไว้, ถัดมาปุ่มที่สองเป็นปุ่ม I<< ใช้สำหรับสั่งงานให้เครื่องย้อนกับไปเล่นแทร็กก่อนหน้า และใช้สำหรับสั่งงานให้เครื่องเล่นถอยหลังด้วยความเร็วแบบพิเศษเมื่อกดปุ่มนี้ค้างเอาไว้
ปุ่มที่สามเป็นปุ่ม PLAY และ PAUSE ใช้สำหรับสั่งงานให้เครื่องเล่นแผ่น และใช้สำหรับสั่งงานให้เครื่องหยุดเล่นแผ่นชั่วคราว และปุ่มที่สี่เป็นปุ่ม EJECTและ STOP ใช้สำหรับสั่งงานให้ถาดรับแผ่นซีดีเคลื่อนเข้า- เคลื่อนออก และใช้สำหรับสั่งงานให้เครื่องหยุดเล่นแผ่นชั่วคราว
แล้วหากต้องการจะปรับแต่งการทำงานเครื่องเล่นซีดีเครื่องนี้โดยละเอียดจำเป็นต้องปรับที่รีโมทคอนโทรลเท่านั้น เนื่องจากบางฟังก์ชันของการสั่งงานได้มีมาให้ในเฉพาะในรีโมทคอนโทรลเท่านั้น เช่น การปรับระดับความสว่างของจอแสดง หรือสั่งงดให้จอแสดงผลแสดงรายละเอียด ก็ต้องสั่งงานผ่านรีโมทคอนโทรลเท่านั้น
พลิกมาสำรวจส่วนประกอบบริเวณแผงด้านหลังกันต่อเลย เริ่มจากบริเวณด้านซ้ายสุดเป็นสถานที่ติดตั้งขั้วต่อสายสัญญาณแบบ UNBALANCE (RCA แชนแนลซ้ายและขวา) แบบชุบทองเกรดดี ตามด้วยขั้วต่อ 12V TRIG, ขั้วต่อ REMOTE IN และขั้วต่อแบบเข็ม RS232 ที่ใช้สำหรับต่อเชื่อมกับอุปกรณ์ฯ จากสำนักผู้ผลิตเดียวกัน
คราวนี้ก็มาถึงขั้วต่อสายสัญญาณแบบ BALANCE ( แชนแนลซ้าย-ขวา ) ถัดมาบริเวณกึ่งกลางเป็นขั้วต่อ USB ตามด้วยขั้วต่อสายสัญญาณดิจิตอลเอาท์พุทแบบ UNBALANCE (COAXIAL) พร้อมแบบ OPTICAL, ขั้วต่อ NETWORK และขั้วต่อเสาอากาศ สุดท้ายในตำแหน่งขวาสุดเป็นสถานที่ติดตั้งขั้วต่อสายไฟเอซีชนิดสองขาเสียบแบบถอดเปลี่ยนได้ สะดวกมากๆ สำหรับท่านที่นิยมการปรุงแต่งดุลเสียงโดยรวมด้วยสายไฟเอซี
ข้อมูลจำเพาะของเครื่องเล่นซีดีเครื่องนี้
Analogue Audio Output
- Digital to Analogue conversion : 24-bit 192 kHz Delta-Sigma DAC
- Signal to noise ratio : 110 dB CCIR
- Harmonic distortion (1 kHz) : 0.002%
- Frequency response (±0.5 dB) : 10 Hz–20 kHz
- Output level (0 dB) : 2.2Vrms
- Output impedance : 47 Ω
- Minimum recommended load : 5 kΩ
Digital interfaces
- USB : USB 2.0 High Speed (480 Mbit/s)
- Network : 10 BASE-T / 100 BASE-TX / Wi-Fi
- Physical
- Dimensions : W433 x D278 x H87 mm
- Weight : 6.2 kg nett/8.5 kg packed
- Power consumption : 20W maximum
- Digital output connection : 75 Ω co-axial optical TOSLINK
- Supplied accessories
Mains lead
- CR902 remote control
- 2 x AAA batteries
- Wi-Fi antenna
เครื่องเล่นซีดี และเอสเอซีดี ARCAM CDS27 ตอบสนองความถี่ 10 – 20,000 เฮิรตซ์ (+-3 ดีบี) ค่าไดนามิกเรนจ์มากกว่า 110 ดีบี มีความเพี้ยนโดยรวมที่ 0.002 % (วัดที่ 1 กิโลเฮิรตซ์) ให้สัญญาณขาออก 2.2 โวลต์ ความต้านทานสัญญาณขาออก 100 โอห์ม อัตราการบริโภคกระแสไฟ 20 วัตต์ ขนาดและสัดส่วน (กว้าง x สูง x ลึก) 433 x 87 x 278 มม.น้ำหนัก 6.2 กิโลกรัม
ชุดและอุปกรณ์อ้างอิง
คาบแรกลองเล่นลองฟังแบบ 2.1 แชนแนล ในห้องรับแขกซึ่งมิได้มีการเสริมทัพด้วยอุปกรณ์เฉพาะทางเพื่อปรับแต่งสภาพอะคูสติกแต่อย่างใด โดยชุด และอุปกรณ์อ้างอิงมีดังนี้
- เครื่องเล่นดีวีดี PIONEER DV-595K-S
- เอวีรีซีฟเวอร์ ONKYO SR 595
- ลำโพง MONITOR SILVER 3 I
- ลำโพง JM LAB CHORUS 706 S
- แอกทีฟซับวูฟเฟอร์ SHERWOOD BS 63
- สายสัญญาณ MONSTER M 1500
- สายสัญญาณอะนาลอก IXOS XHA516
- สายสัญญาณ WYRE WIZARD ENCHANTRESS
- สายสัญญาณ MONITOR THASSOS SUB
- สายลำโพง MONITOR COBRA SILVER 3 MIX
- สายลำโพง QED SILVER SPECIAL 25th ANNIVERSARY EDITION
- สายไฟเอซี SHUNYATA VENOM
- สายไฟเอซี SUPRA LORAD ขั้วปลั๊กตัวผู้เป็นของ HUBBELL HBL 8215 CT ขั้วปลั๊กตัวเมียเป็นของ SCHURTER 4871
- สายไฟเอซีที่ทำจากสายลำโพง CARDAS CROSSLINK 1S ขั้วต่อปลั๊กตัวผู้ BRYANT 8266 – TSP HOSPITAL GRADE ขั้วต่อปลั๊กตัวเมีย SCHURTER 4871
- เต้ารับปลั๊กไฟฟ้าของ HUBBELL IG 8300 ติดตั้งบนบล็อกไม้ประดู่ขุด
- อุปกรณ์รองเครื่องเสียง SYMPOSIUM ACOUSTIC ROLLERBLOCK JR.
- ขาตั้งเหล็กเสาเดียวความสูง 25 นิ้ว
คาบที่สองลองฟังในห้องฟังที่มีการปรับสภาพอะคูสติกให้เหมาะสมกับการฟังเพลงโดยเฉพาะ อุปกรณ์ปรับสภาพอะคูสติกประกอบไปด้วย TRIANGLE TUNE BY HAND CRAFT ACOUSTIC ติดตั้งบริเวณมุมด้านบนของห้องทั้ง 4 มุมเอียงประมาณ 60 องศา SQUARE TUNE BY HAND CRAFT ACOUSTIC ติดตั้งในตำแหน่งด้านบนข้างตำแหน่งนั่งฟังทั้ง 2 ฝั่งเอียงประมาณ 45 องศา
ถัดมา TUNE STRIP BY HAND CRAFT ACOUSTIC ติดตั้งในตำแหน่งบริเวณด้านข้าง DIFFUSERS ทั้ง 2 ฝั่ง AMBIENCE BALANCING CONTROLLER BY AUDIO CONSULTANTS ติดตั้งในตำแหน่งด้านบนระหว่างลำโพง DIFFUSERS BY PRS ACOUSTIC SOUND DESIGN จัดวางในตำแหน่งที่ฟังแล้วดีที่สุดสำหรับการทดสอบครั้งนี้ และสุดท้ายปูพรมประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ห้องฟัง ชุดอ้างอิงที่ใช้ในห้องนี้ประกอบด้วย
- เครื่องเล่นซีดี /เอสเอซีดี MARANTZ SA 7003
- อินทีเกรดแอมป์ MARANTZ PM 7003
- อินทีเกรดแอมป์ NAD 356 BBE
- ลำโพง MONITOR SILVER 3 I
- ลำโพง JM LAB CHORUS 706 S
- สายสัญญาณ MONSTER M 1500
- สายสัญญาณ IXOS XHA516
- สายสัญญาณ WYRE WIZARD ENCHANTRESS
- สายลำโพง CARDAS CROSSLINK 1S
- สายลำโพง IXOS XHS806W
- สายลำโพง QED SILVER SPECIAL 25th ANNIVERSARY EDITION
- สายไฟเอซี SHUNYATA VENOM
- สายไฟเอซีที่ทำจากสายลำโพง CARDAS CROSSLINK 1S ขั้วต่อปลั๊กตัว BRYANT 8266 – TSP HOSPITAL GRADE ขั้วต่อปลั๊กตัวเมีย SCHURTER 4871
- สายไฟเอซี SUPRA LORAD ขั้วปลั๊กตัวผู้เป็นของ HUBBELL HBL 8215 CT ขั้วปลั๊กตัวเมียเป็นของ SCHURTER 4871
- ปลั๊กไฟฟ้า HUBBELL IG 8300 ติดตั้งบนบล็อกไม้ประดู่ขุด
- ชั้นวาง Master Stand Base 2217
- อุปกรณ์รองเครื่องเสียง SYMPOSIUM ACOUSTIC ROLLERBLOCK JR.
- ทิปโท J.CONE
- อุปกรณ์เอนกประสงค์ HIFI SHIELD ของเดอะหั่ง
- ขาตั้งเหล็ก AUDIO ART หกเสาความสูง 24 นิ้ว
ผลการลองฟัง
เครื่องเล่นซีดีเครื่องนี้มีหน้าตาที่ดูเรียบร้อย สุภาพ เหมือนพี่ๆ เหมือนรุ่นก่อนๆที่เคยเห็น ซึ่งพฤติกรรมการทำงานของเครื่องก็เช่นกัน ต้องเรียนว่าตลอดเวลาสองคาบที่ได้ลองเล่นลองฟังสัมผัสได้ถึงความสุขุมคัมภีร์ภาพตั้งแต่วินาทีแรกกันเลย
เริ่มจากการกดปุ่มสวิตช์เพื่อเปิดเครื่อง ซึ่งต้องรอสักครู่นึงกว่าเครื่องจะพร้อมทำงาน นี่คืออาการปกติ เพราะทันทีที่กดปุ่มเปิดเครื่องท่านจะพบว่าหน้าจอแสดงผลจะไม่มีสิ่งใดปรากฏ ก็อย่าได้แปลกใจ ขอให้อดใจรอสักนิด จากนั้นถาดรับแผ่นซีดีจะมีเสียงการตื่นตัวดังขึ้น คราวนี้หน้าจอแสดงผลถึงแสดงรายละเอียดออกมา คราวนี้ก็ได้เวลาสำราญกับเครื่องเล่นซีดีหน้าตาผู้ดีเครื่องนี้กัน
ขอเรียนว่าหาคำตำหนิไม่ได้ง่ายเลย นับตั้งแต่วินาทีแรกที่ลองฟัง ความนุ่มนวลในน้ำเสียงที่เจือปนไว้ด้วยความหวานนั้นมีให้สัมผัสกันทันทีโดยไม่ต้องรอให้ผ่านพ้นช่วงเบิร์นอิน ยิ่งฟังเพลงเครื่องดนตรีน้อยชิ้น ยิ่งสำราญกันได้เลยตั้งแต่แกะกล่อง ข้อดีแรกน่าจะมาจากคุณลักษณ์ในเรื่องมวลเสียงที่มีความอิ่ม น้ำเสียงที่ความนุ่ม แล้วก็ความเข้มข้นของเนื้อเสียง
แม้ว่าคาบแรกนี้จะฟังผ่านเอวีรีซีฟเวอร์ ร่วมกับสายสัญญาณ WYRE WIZARD ENCHANTRESS เพื่อตรวจสอบประเด็นเรื่องความสดของน้ำเสียง และความกระชับฉับไว ก็หาได้ทำให้ผิดหวังในสาระดังกล่าวแต่อย่างใด ยิ่งฟังเปรียบเทียบกับเครื่องเล่นดีวีดีสามัญประจำห้องยิ่งสัมผัสได้ถึงคุณภาพที่เหนือชั้นกว่ากันอย่างฟังได้ชัด โดยเฉพาะเรื่องความเป็นดนตรีถือว่ามีมาให้สัมผัสอย่างครบถ้วนขบวนความทีเดียว
ที่สำคัญที่ต้องใส่ใจกันอย่างยิ่งคือเรื่องการเลือกต่อเชื่อมด้วยสายสัญญาณอะนาลอกที่มีอัตลักษณ์ตามจริต เพราะว่ามันให้รายละเอียดเสียงที่มีคุณภาพเหนือกว่าการต่อเชื่อมด้วยสายสัญญาณดิจิตอลในทุกแง่มุม โดยเฉพาะเรื่องของมวลเสียงถือว่าอิ่มกว่า เข้มข้นกว่ากัน เหมาะอย่างยิ่งสำหรับท่านที่กำลังมองหาเครื่องเล่นซีดีเพื่อนำไปพัฒนาชุดชมภาพยนตร์ให้สามารถฟังเพลงได้อย่างมีสาระในงบประมาณละแวกนี้
ด้วยคุณสมบัติทางเทคนิค Digital to Analogue conversion : 24-bit 192 kHz Delta-Sigma DAC ที่มีศักยภาพที่สูงกว่าเอวีรีซีฟเวอร์อ้างอิงกระมัง ที่ทำให้เนื้อหาที่รับทราบได้ในชั่วโมงนี้มีสาระที่ต่างกัน เรื่องความเป็นดนตรีคือหัวใจที่ทำให้การลองเล่นในคาบนี้ล่วงไปกว่าสามสัปดาห์อย่างรวดเร็ว เสียงของนักร้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง หรือผู้ชายล้วนแล้วแต่มีชีวิตชีวา นุ่มนวล และชวนฟัง
สังเกตได้จากความชัดเจนในการออกอักขระของ HARRY BELAFONTE จากอัลบั้ม BELAFONTE AT CARNEGIE HALL ที่เปิดเผยออกมาให้ได้ยินอย่างชัดเจน แจ่มแจ้ง ไม่ระคายหูแม้แต่น้อย เสียงอักขระตัว R ที่ร่ำรวย ฟังแล้วมีเสน่ห์ อดอมยิ้มไม่ได้ นี่คือการฟังผ่านชุดเครื่องเสียงลำลองหรือนี่ ?
เพียงเท่านั้นยังไม่พอ อารมณ์ขันของนักร้องท่านนี้ยังได้ถูกจำลองออกมาให้ได้ยินอย่างมากมาย เฉกเดียวกับเสียงของ Radka Toneff ในแทร็กแรกกับเพลง The Moon Is A Harsh Mistress ของอัลบั้ม ART FOR THE EAR / BURMESTER CD II ที่แจกแจงลีลาการร้องแบบอวดโชว์เนื้อเสียงที่อุ่น นุ่ม และทรงพลัง ฟังแล้วอยากฟังซ้ำ ยิ่งฟังยิ่งสนุก ต้องเรียนว่าอัลบั้มเพลงร้องเกือบทั้งหมดที่มีอยู่ในห้องนี้ได้ถูกหยิบมาฟังในคาบนี้อย่างต่อเนื่อง
ครั้นลองเล่นลองฟังจนแน่ใจว่าเครื่องเล่นซีดีเครื่องนี้พร้อมสำหรับการลองฟังแบบเข้มงวดแล้ว จึงได้ย้ายสถานที่ลองฟังเป็นห้องฟังที่มีการปรับสภาพอะคูสติกให้เหมาะสมสำหรับการฟังเพลงโดยเฉพาะ ทันทีที่ได้ต่อเชื่อมเข้ากับเพื่อนร่วมทีมในห้องนี้ ความนุ่ม ความสุภาพของน้ำเสียงที่จดจำมาจากคาบแรกได้แสดงศักยภาพออกมาแบบยกระดับ ทั้งในเรื่องความเป็นดนตรี และรายละเอียดปลีกย่อยที่มีมาให้สัมผัสมากต่อมาก
ดังจะพิจารณาได้จากเสียงของนักร้องทั้งผู้ชาย และผู้หญิงที่ทำได้อย่างน่าทึ่ง น้ำเสียงนุ่มๆ ฟังสบายๆนั่นเอง ที่ดึงดูดให้ต้องพินิจพิเคราะห์ถึงเนื้อหาสาระที่ได้ยินมากกว่าปกติ อาทิ เสียงของ ROBBIE WILLIAMS ที่ได้ยินได้ฟังในครั้งนี้ถูกเปิดเผยออกมาค่อนข้างบริบูรณ์ ทั้งในแง่ตัวเสียงหลัก และในด้านบรรยากาศที่ห้อมล้อมตัวเสียงหลัก
อัตลักษณ์เสียงที่อิ่ม อุ่น คลาสสิก ของนักร้องท่านนี้ รับทราบได้ถึงอารมณ์ รู้สึกได้ถึงลีลาการลากเนื้อร้องที่ไม่มีใครเหมือน มันเป็นเสียงที่มิได้เน้นเสียงลมลอดไรฟันแบบคมชัด หรือเสียงที่อุดมไปด้วยมวลเสียง ที่เข้มข้นอวบใหญ่ แบบโชว์พละกำลังเกินตัว
โครงสร้างของเสียงที่นำเสนอออกมาให้ได้ยินอยู่นี้ได้แสดงถึงพื้นฐานที่มีความพอดีเป็นแก่น คือมีทั้งความกลมกล่อม ความนุ่มนวล และความน่าฟัง ในแบบฉบับที่อิงความเป็นธรรมชาติอยู่ในที
เมื่อฟังอัลบั้มนี้จบ ก็อดไม่ได้ที่จะกลับมาทบทวนสาระในภาคส่วนนี้อีกครั้งด้วยเสียงของนักร้องชายรุ่นลายครามนาม HARRY BELAFONTE กับอัลบั้ม BELAFONTE AT CARNEGIE HALL ซึ่งต้องถือว่าเป็นอัลบั้มอ้างอิงที่มีความอัศจรรย์มากที่สุดอัลบั้มหนึ่ง
ด้วยรายละเอียดปลีกย่อย และรายละเอียดสภาพแวดล้อมที่มีมาให้อย่างครบครัน หาไม่ได้ง่ายๆ แล้วสำหรับยุคนี้ กับลีลาการร้องอันเต็มอิ่มไปด้วยมนต์เสน่ห์ ครบถ้วนไปด้วยอารมณ์ขันในหลายแทร็ก ตามสไตล์การร้องของ HARRY BELAFONTE แบบนุ่มๆ เข้มๆ จอมพลัง
เมื่อผสานกับเสียงของนักร้องประสาน และรายละเอียดของเสียงผู้ชมที่ส่งเสียงเชียร์ สลับกับการปรบมือที่ได้ยินอยู่ขณะนี้ มันได้ช่วยเติมเต็มการฟังในคาบนี้ให้เข้าใกล้กับคำว่าสมจริงมากขึ้นไปอีกระดับ นี่คือเสียงที่มีชีวิตชีวา มีความนุ่มนวล ที่ฟังสบายๆ
ด้านเสียงของนักร้องหญิงก็ไม่ขี้เหล่ ด้วยสไตล์การร้องที่ออดอ้อนพิรี้พิไรของ CLAIR MARLO เมื่อฟังผ่านเครื่องเล่นซีดีเครื่องนี้ รู้สึกได้เลยถึงความนุ่มของเนื้อเสียง ความพรั่งพรูของรายละเอียดการที่แจกแจงออกมาได้อย่างงดงาม คือไม่ย่อมเยาเรื่องความสดใสในน้ำเสียงแน่ๆ นี่คือความลงตัวที่ควรย้ำอีกครั้งว่า มันเป็นการจำลองเลียนแบบเสียงได้เสมือนจริง
เข้าทางแน่ๆ สำหรับท่านที่ชื่นชอบลีลาการร้องเพลงของนักร้องหญิงท่านนี้ หรือจะกล่าวว่าเครื่องเล่นซีดีเครื่องนี้มีมนต์เสน่ห์ที่พร้อมเนรมิตให้ท่านหลงใหลไปกับเสียงร้องของเธอมากขึ้น
เฉกเดียวกับเสียงนักร้องสาวที่บรรจง ย้ำเนื้อร้องที่ล้อไปกับทำนองเพลงอันมีลักษณะจริงใจ ไร้ความคลุมเครือในทุกอักขระที่เคล้าคลอไปกับเสียงเปียโนในอัลบั้ม ART FOR THE EAR / BURMESTER CD II ในแทร็กแรก ที่ฟังได้ไพเราะ ตราตรึง สนิทหู โดยที่เสียงเปียโนอุดมไปด้วยความสดใส ความกังวาน ที่เจือปนไปด้วยความหวานนิดๆ
นั่นก็หมายความว่านอกจากเสียงของนักร้องจะมีโดดเด่นที่ดีเป็นพิเศษแล้ว เสียงของเปียโนก็เป็นอีกหนึ่งที่ทำได้ดีไม่แพ้กัน จนสมควรต้องเพิ่มเติมสาระสำคัญในคำวิจารณ์ให้กับเครื่องเล่นซีดีเครื่องนี้ว่ามีความถนัดในหลายด้าน หลายแนวดนตรี
พิจารณาต่อเนื่องได้จากเสียงเครื่องเคาะโลหะโทนสูงในอัลบั้ม A 20 – BIT TASTE OF dmp ที่จำแนกเสียงแรกกระทบ บรรยากาศรอบตัวโน้ต ออกมาให้รับทราบอย่างมีศิลป์ นับว่าเป็นเสียงการลงน้ำหนักในแต่ละโน้ตที่มีความเด็ดขาด กระชับ ชัดเจน ทั้งยังสามารถแยกแยะความแตกต่างของทุกโน้ตที่ดังขึ้นออกมาได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน
เสียงแรกกระทบมีความกระชับ นุ่มนวล สดใส ให้ความกังวานที่ต่อเนื่อง ไหลลื่น มีรายละเอียด การเก็บตัวทำได้ดีในจังหวะท้ายสุด เท่านั้นยังไม่พอ เสียงที่ได้ยินอยู่นี้มันช่วยเสริมการจินตนาการถึงลีลาของนักดนตรีที่กำลังบรรเลงเพลงให้สานต่อการขึ้นรูปขึ้นร่างได้อย่างเหลือเชื่อ หรือจะกล่าวว่ามันมีความเป็นตัวเป็นตนที่จำลองออกได้แบบถึงเนื้อถึงตัวก็ได้
พิสูจน์แง่มุมนี้อีกคำรบด้วยเสียงระนาดเหล็กจากอัลบั้ม TEST CD 4.1 (OPUS3) นี่คือการแยกแยะน้ำหนักเสียงในทุกๆโน้ตที่มีชีวิต มีสีสัน และมีความหวานติดปลายเสียง ที่สำคัญทุกๆโน้ตที่ได้ยินอยู่ขณะนี้ มันเป็นการสำแดงถึงความแตกต่างของน้ำหนักเสียงออกมาให้รับทราบอย่างหมดเปลือก
โดยสามารถสังเกตคุณลักษณ์ดังกล่าวได้จากรายละเอียดของสภาพแวดล้อมในอัลบั้ม JAZZ AT THE PAWN SHOP ที่นำเสนอออกมาได้อย่างจะแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นเสียงการกระทบกันของแก้วไวน์ แก้วเบียร์ ที่กระทบกันเป็นระยะๆได้ยินครบหมด
เสียงแก้วไวน์ที่บางและเบา ให้ความกังวานที่สดใส ทอดปลายหางเสียงได้ไกลกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเสียงแก้วเบียร์ที่หนากว่าหนักกว่าให้ความกังวานแบบแน่นๆ หนึบๆ หรือจะเป็นเสียงกระซิบ เสียงสนทนาก็ล้วนแล้วแต่มีมาให้ได้ยินครบหมด ทุกรายละเอียด
ด้านเสียงของเครื่องลม ทำคะแนนได้น้อยกว่ากันเล็กน้อย คือไม่เน้นดูดดื่มให้เคลิบเคลิ้มตามอารมณ์เพลงอย่างถึงที่สุด ต่างจากเสียงเครื่องสายที่ฟังเพลินกว่ากัน ด้วยประสิทธิภาพในการให้เสียงกลางครึ่งบนที่มีความต่อเนื่อง ลื่นไหล ที่สามารถผสานกับเสียงสูงครึ่งล่างได้อย่างแนบเนียนนั่นเอง
พิจารณาได้จากลีลาการสีไวโอลินของ VANESSA MAE ในอัลบั้ม CHOREOGRAPHY ที่รับรู้ได้ถึงความลื่นไหล ตั้งแต่โน้ตต่ำยันโน้ตสูงที่มีความราบรื่น ไร้อาการวูบวาบ การไล่ระดับของไดนามิกคอนทราสต์จากหนักไปหาเบาทำได้อย่างละเลียด ไม่ย่อหย่อนในเรื่องนี้แม้แต่น้อย
เฉกเดียวกับเสียงกีตาร์ของ LUIS SALINAS จากอัลบั้ม SALINAS ที่ให้เสียงแรกที่กระฉับกระเฉง แม้โดยรวมอาจจะรู้สึกว่าสายกีตาร์จะหนากว่าปกตินิดๆ ซึ่งก็น่าจะมาคุณสมบัติในเรื่องของมวลเสียงที่มีความอิ่ม และความนุ่ม ด้วยประการฉะนี้การนำเสนอในทุกๆ รายละเอียดจึงมีสาระแบบเป็นเส้นเป็นสาย
เรื่องรายละเอียดปลีกย่อยนั้นมีมาให้สัมผัสครบ ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศการเกาสายกีตาร์ ความกังวานจากการดีดสายกีตาร์ รวมไปถึงในช่วงโซ่โล่ด้วย ทั้งหมดล้วนนำเสนอออกมาแบบเป็นขั้นเป็นตอน ที่สอดผสานกับท่วงทำนองด้วยความเที่ยงตรง
ด้านความกังวานของเสียงเปียโนก็ทำได้อย่างแยบคาย กับลีลาขั้นเทพอย่าง RICHARD CLAYDERMAN สามารถรับรู้ได้ถึงน้ำหนักนิ้วที่พรมลงไปในทุกโน้ต มันเป็นเสียงที่บ่งบอกถึงการบรรจงสร้างสรรค์ ที่เชี่ยวชาญ แม่นยำในการลงน้ำหนัก พลวัตรของลีลาที่มีความแคล่วคล่อง ว่องไว แสดงออกมาได้อย่างพลิ้วไหว ราบรื่นไปตามทำนองเพลง
ด้านเสียงสูง ทอดตัวไปได้ไกลจนสุดปลายเสียง เนื้อเสียงมีความนุ่ม สะอาด น้ำเสียงมีความสุภาพ กลมกล่อม ด้วยคุณสมบัติเรื่องความกระชับ การควบคุมน้ำหนักเสียงที่ค่อนข้างเอาจริงเอาจังนี่แหละ ที่ทำให้ เสียงฉาบ และเสียงสารพัดเครื่องเคาะโทนสูงในอัลบั้ม RHYTHM & BASKET ของ BRENT LEWIS สำแดงเสียงชิ้นดนตรีต่างๆ ออกมาในลักษณะที่มีความเป็นตัวเป็นตน
การแยกแยะทุกชิ้นดนตรีรับทราบได้ถึงความชัด ความโปร่ง ไร้อาการแออัด รายละเอียดที่ควรมีก็มี โฟกัสที่ควรชัดก็ชัด ทิศทาง ตำแหน่งล้วนแม่นยำ การขึ้นรูปตัวตนสามารถเปิดเผยบอดี้ออกมาได้อย่างสมส่วน คือไม่ใหญ่โตเกินจริง ไม่เล็กจิ๋วกะทัดรัด
จุดเด่นอีกประการที่ทำให้ฟังได้เพลินคือการให้ความสมจริงในน้ำเสียงที่สำแดงออกมาได้อย่างลงตัว ไม่นุ่มเกินไป ไม่สดใสเกินจริง
สุดท้ายกับเสียงต่ำที่มีความกระชับ นุ่ม สะอาด ไม่เน้นปริมาณให้อิ่ม หรือหนาเกินจริง แนวทางการถ่ายทอดใช้ความสุภาพเป็นแก่น ทุกรายละเอียดมีมาให้สัมผัสครบ ลีลาการหวดกลองชุดของ JOE MORELLO จากอัลบั้ม MORELLO STANDARD TIME ให้เสียงแรกกระทบที่นุ่ม หนึบ เด็ดขาด การแจกแจงน้ำหนักเสียงทำได้ดี ครบครันไปด้วยพละกำลังในทุกๆโน้ต
ตอกย้ำด้วยเสียงกลองใหญ่ในอัลบั้ม RAIN FOREST DREAM JOJI HIROTA ทุกเสียงแรกกระทบที่ดังขึ้น สามารถเปิดเผยน้ำหนักที่นักดนตรีจงใจแสดงออกมาให้รับทราบอย่างจะแจ้ง โดยรวมรายละเอียดของเสียงต่ำมีความราบเรียบ นับตั้งแต่เสียงแรกที่ดังขึ้นกระทั่งขั้นตอนคลายๆ ตัวออก จนท้ายสุดจางคลายหายไปในอากาศธาตุสามารถรับรู้ได้โดยตลอด
ด้านมิติเวทีเสียงมีขนาดที่สมส่วน ทั้งแนวกว้าง และแนวลึกล้วนจัดสรรออกมาได้อย่างลงตัว ความกว้าง กว้างแบบเต็มพื้นที่ของระนาบลำโพง ความลึกเริ่มจากระนาบด้านหน้าลำโพง วางตัวลงลึกไปจนเลยผนังกำแพงด้านหลังออกไปเล็กน้อย โดยที่ความชัดได้ลดหลั่นกันลงไปตามระยะทางโดยยึดโยงจากตำแหน่งศูนย์กลางเวทีซึ่งมีความเข้มข้นมากที่สุด และนิ่งที่สุดเป็นสำคัญ
เรื่องการสำแดงรายละเอียดปลีกย่อยได้บรรยายไปครบแล้วข้างต้น จุดเด่นคือการแยกแยะช่องว่างระหว่างชิ้นดนตรีที่มีความสงัด และการตรึงตำแหน่งของทุกบอดี้ที่มีความมั่นคง แม้ว่าจะเป็นการฟังที่ระดับความดังที่สูงกว่าปกติ ทุกตำแหน่งก็ยังคงรักษาสัดส่วนรูปทรงเอาไว้ได้อย่างชัด ทั้งยังแจกแจงตัวเสียงหลัก และบรรยากาศที่โอบล้อมออกมาได้อย่างลงตัว
ดังจะสังเกตได้จากเพลง HIGH LIFE ในอัลบั้ม JAZZ AT THE PAWNSHOP เสียงการเขย่าการเคาะแทมเมอรีน สามารถสัมผัสได้ถึงน้ำหนักที่นักดนตรีกำลังเล่น และการเคลื่อนที่จากบริเวณกึ่งกลางเวทีในตำแหน่งโถงหลังเคลื่อนย้ายมายังตำแหน่งด้านหน้าเวทีฝั่งขวา
มันเป็นความชัดเจนของความเป็นตัวตนที่ค่อยๆ เพิ่มความชัดเจนขึ้น ซึ่งถูกสำแดงออกมาให้รับทราบอย่างมหัศจรรย์ เฉกเดียวกับเสียงแซกโซโฟนที่ปักหลักให้ความชัดคมแบบสามมิติอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางเวที ซึ่งกำลังสำแดงรายละเอียดเสียงออกมาให้เข้าถึงลีลาการเป่าลมให้เดินทางผ่านชิ้นดนตรี ในลักษณะที่มีมวลเสียงแบบอิ่มอุ่น และอบอวลไปด้วยบรรยากาศอย่างคลาสสิก
บทสรุป
“ ไม่ใช่ก็ใกล้เคียง สำหรับประเด็นที่ว่า ช่องต่อเชื่อมสัญญาณขาออกแบบบาลานซ์บ่งบอกถึงขีดความสามารถ หรือระดับมาตรฐานของอุปกรณ์เครื่องเสียงได้ ”
หรืออย่างน้อย เครื่องเล่นซีดีและเอสเอซีดี ARCAM CDS27 ก็คือหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่แนบช่องต่อสัญญาณแบบบาลานซ์มาให้ แล้วสามารถให้คุณภาพเสียงที่ยืนอยู่ในระดับกึ่งกลางขึ้นไปแน่นอน
ด้วยคุณสมบัติทางเทคนิค Digital to Analogue conversion : 24-bit 192 kHz Delta-Sigma DAC นั่นเอง มันจึงทำให้ทุกรายละเอียดที่ได้ยินได้ฟังจากลองเล่นในครั้งนี้อุดมไปด้วยรายละเอียดที่มากมายไปด้วยสาระ และความเป็นธรรมชาติของเสียงดนตรีอยู่ในที
การฟังเพลงด้วยแผ่นซีดีในยุคนี้อาจดูเชยไปบ้างสำหรับบางสังคม แต่จะทำอย่างไรได้ในเมื่อบทเพลงที่ชื่นชอบ บทเพลงที่ปรารถนา เนื้อหาสาระของเพลงที่มีคุณภาพ ล้วนสามารถเสพได้จากแผ่นซีดีที่ได้สะสมมา ดังนั้นเครื่องเล่นซีดีย่อมเป็นเป้าหมายสำหรับท่านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันแนะนำให้ท่านหาโอกาสลองฟัง เครื่องเล่นซีดีและเอสเอซีดี ARCAM CDS27 ให้จงได้ เพราะอย่างน้อยที่สุดท่านจะได้ทราบว่าเครื่องเล่นซีดีนี่แหละ คือแหล่งต้นทางของสัญญาณเสียงที่ควรมีอยู่ในครอบครองเพื่อการเสพศิลป์งานดนตรีตัวจริง ฟันเฟิร์ม !
—————————————————————————————————-
หมายเหตุ : ขอขอบคุณ บริษัท เดโค 2000 จำกัด โทร. 0-2256-9700
ผู้จัดจำหน่ายที่ได้เอื้อเฟื้อเครื่องเล่นซีดีในการทดลองฟังในครั้งนี้