What HI-FI? Thailand

Test Report: ADCOM GIA275 Integrate/DAC

Test Report: ADCOM GIA275 Integrate/DAC

(เสียงไฮเอนด์เหลือเชื่อ ราคาไม่แพง)

ไมตรี ทรัพย์อเนกสันติ

            ปกติ ADCOM จะทำแต่ปรีแอมป์, เพาเวอร์แอมป์, เครื่องเล่นแผ่น, เครื่องรับวิทยุ, ปรี-เพาเวอร์แอมป์ระบบเซอราวด์ นี่จึงเป็นอินทีเกรทแอมป์รุ่นแรกของ ADCOM

 

ลักษณะทั่วไป

ด้วยขนาดของเครื่องที่ค่อนข้างกะทัดรัด ประมาณว่าแค่ 1.5 เท่าของกระดาษ A4 (หน้ากว้างประมาณนิตยสาร WHAT HI-FI? และลึกออกไปอีก 50% สูงประมาณครึ่งคืบ) รวมทั้งรูปหุ่นที่โค้งมน เข้ากันได้ดีระหว่าการซ่อนความเป็นไฮเอนด์กับไลฟ์สไตล์ เครื่องสวย, หรู, เรียบร้อยแบบมีชั้นเชิง ปุ่มกดต่างๆ ที่ลงตัว โดยเฉพาะปุ่มโวลลุ่มดัง-ค่อยขนาดใหญ่กำลังดี “ตรงกลาง” ทำให้ทุกอย่างดูลงตัวไปหมด

ADCOM เป็นอินทีเกรทแอมป์ที่มีภาคถอด (แปลง) สัญญาณดิจิตอลเป็นอะนาลอก (DAC) คุณภาพสูงในตัว แต่ด้วยหุ่นที่กะทัดรัดมาก จะคิดว่ามันคือ DAC ที่มีภาคขยายเสียงในตัวก็ไม่ผิดกติกาอะไร!

ปุ่มกดปิด-เปิดอยู่ซ้ายสุด เมื่อเสียบสายไฟ AC จ่ายไฟเข้าเครื่อง มันจะอยู่ในโหมด STAND BY (พร้อมใช้) ที่ปุ่มกดปิด-เปิดจะมีดวงไฟ LED ขึ้นสีแดง ต่อเมื่อกดปุ่มนี้ (เบาๆ) สักคู่ดวงไฟ LED สีแดงนี้จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน (ประมาณ 8 วินาที) เป็นอันว่าเครื่องพร้อมใช้งาน กดซ้ำอีกทีเครื่องปิด (LED กลับมาสีแดง)

ถัดจากปุ่มปิด-เปิดไฟทางขวามือ จะมีดวงไฟคอยติดบอกถ้าสัญญาณดิจิตอลที่รับเข้ามานั้น ถูกสุ่ม (Sampling) ด้วยความถี่ 192 kHz – 24 บิท

ถัดไปทางขวาอีก เป็นช่องกลมรับสัญญาณจากรีโมทไร้สายภายนอก

ช่องรับสัญญาณเสียงอะนาลอกจากเครื่องเล่นพกพาจะอยู่ถัดไป เป็นรูรับแบบ 3.5 มม. (ที่เครื่องพกพาใช้เป็นมาตฐาน) สามารถต่อสายเสียงอะนาลอกแบบหัวเสียบต้นสาย และปลายสายเป็นหัวสเตอริโอขนาด 3.5 มม. ทั้งคู่ เพื่อต่อเสียงออก (อะนาลอก) จากเครื่องพกพา, โทรศัพท์มือถือ ผ่านรูเสียบปกติ ที่ใช้กับหูฟังสเตอริโอ (ขนาด 3.5 มม.) ของเครื่องพกพานั้น มาเข้า ADCOM ขยายเสียงออกลำโพงได้

ถัดไปขวามือติดๆ กันเป็นรูเสียบหูฟังสเตอริโอขนาดหัวเล็กมาตรฐาน 3.5 มม. ที่ใช้กันกับหูฟัง 95% ในท้องตลาดในปัจจุบัน ปรับเสียงดัง-ค่อยได้โดยหมุนปุ่มโวลลุ่มดัง-ค่อยตรงกลาง

ปุ่ม MUTE ติดกันไว้กดเพื่อตัดเสียงออกทันที LED เปลี่ยนเป็นสีแดง กรณีกำลังฟังเพลงอยู่ มีโทรศัพท์เข้ามา กดซ้ำอีกครั้ง เสียงกลับมาดังเท่าเดิมที่หมุนโวลลุ่มค้างไว้

ในแถวด้านขวาของปุ่มหมุนโวลลุ่ม จะเป็นสวิตช์จิ๋วไว้กดไล่จากซ้ายไปขวาสุด เพื่อเลือกรับแหล่งรายการจากภายนอก ไล่ตั้งแต่ AUX1, AUX2, D-1 (รับสัญญาณดิจิตอล), D-2 (รับสัญญาณดิจิตอล), USB รับสัญญาณดิจิตอลผ่านช่อง USB TYPE B ที่เชื่อมสัญญาณจากไฟล์เพลงในฮาร์ดดิสก์ของคอมพิวเตอร์ PC หรือ โน้ตบุ๊ค ซึ่งผ่านตัวถอดรหัสย่นย่อสัญญาณแล้ว ให้ออกมาใช้การแปลงสัญญาณดิจิตอลเป็นอะนาลอก หรือ DAC ภายนอก (ได้แก่ DAC ในตัว ADCOM) กรณีที่ใครบันทึกเพลงลง Thumb Drive แม้เป็น USB ก็นำมาเสียบฟังด้วย ADCOM ไม่ได้เพราะเป็น USB แบบ TYPE A คนละมาตรฐานกัน ADCOM GIA275 จะให้ DRIVE มาสำหรับติดตั้งกับ PC

2 ปุ่มขวาสุดเป็น BT และ PAIR BT ไว้กดเพื่อให้เครื่องรับสัญญาณเพลงจากเครื่องภายนอกที่ส่งเป็น Bluetooth (คลื่นวิทยุ) เข้ามาทางเสาของ ADCOM ถ้ากด PAIR แช่ไว้ 3 วินาที (LED สีน้ำเงินติดแล้วกะพริบช้าๆ กดปุ่ม PAIR อีกครั้ง เพื่อจับคู่กับอุปกรณ์ส่งสัญญาณเมื่อ GIA275 จับคู่กับอุปกรณ์ที่ส่งสัญญาณมา LED จะติดสีน้ำเงินและกะพริบช้าๆ)

ด้านหลัง ด้านซ้ายบนสุดมีช่องโว้เอาเสาอากาศ (สั้นๆ 1 คืบที่ให้มาด้วย) ไว้รับสัญญาณผ่านระบบไร้สาย Bluetooth ADCOM จะมีช่องรับสัญญาณเสียงอะนาลอกมาให้ 2 ชุด คือ AUX1, AUX2 (หัว RCA)

ถัดไปเป็นกลุ่มรูรับสัญญาณดิจิตอล (คือ D-1, D-2) โดยจะรับได้ทั้งสัญญาณดิจิตอลเสียงผ่านการเชื่อมต่อแบบแสง หรือ OPTICAL (OPT) 2 ชุด ทั้งสัญญาณดิจิตอลไฟฟ้า (COAXIAL) 2 ชุด (COAX 1, COAX 2) เราอาจใช้ชุดหนึ่งไว้ต่อรับสัญญาณดิจิตอล (ไม่ว่าแบบแสง หรือ แบบ COAXIAL) จากเครื่องเล่น CD, DVD, Blu-ray ภายนอก…ขอแนะนำให้ใช้สาย COAXIAL จะได้คุณภาพเสียงอิ่มแน่น, มีทรวดทรงสมจริงกว่า ถ้าใช้ปล่อยสัญญาณดิจิตอลจากเสียงภาพยนตร์ไม่ว่า VCD, DVD, Blu-ray อย่าลืมเข้าเมนูเครื่องเล่นแผ่น และสั่งให้มันปล่อยสัญญาณดิจิตอลปกติ ไม่ใช่สัญญาณ Streaming 5.1 Ch (ดูที่คู่มือเครื่องเล่นอีกทีด้วย) คุณภาพของสาย COAXIAL DIGITAL มีผลต่อเสียงด้วย ถ้าเสียงทั้งสายแสงและ COAXIAL เครื่องจะตัดรับจาก COAXIAL อย่างเดียวก่อน

ถัดไปเป็นช่องปล่อยสัญญาณดิจิตอลออกไปเข้าเครื่องอื่นๆ ภายนอก เช่น เครื่องบันทึกระบบดิจิตอล, โน้ตบุ๊ค, PC โดยปล่อยได้ทั้งในรูปแสง (OPT) และรูปไฟฟ้า (COAX)

ช่องรับสัญญาณดิจิตอลผ่าน USB (TYPE B) อยู่ถัดไป

ด้านล่านจะเห็นช่อง USB (TYPE A) ไม่ได้มีไว้รับไฟล์เพลงจาก Thumb Drive ดังกล่าวแล้ว แต่ไว้เสียบรับค่ำสั่งการปรับปรุงการใช้งานของตัวเครื่อง ADCOM โดยผ่านตัวเชื่อมแบบ USB TYPE A (SOFTWARE UP DATE) ทำให้ ADCOM ของคุณถูกปรับปรุงให้ทันสมัยได้ไม่รู้จบ (เป็น Version ต่อๆ ไป) ไม่มีการตกข่าว ไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่

ขั้วต่อออกสายลำโพงเป็นแบบ Birding Post คุณภาพมาตรฐานใช้ได้ทั้งแบบปลอกสายแยงรูแล้วขันแน่น, หรือผ่านหางปลา หรือแบบเสียบรูหลังด้วยหัวบานาน่า ไม่ใช่แค่สปริงกดแยงรูถูกๆ ที่ให้การเชื่อมต่อเลวที่สุด

สายไฟ AC ของ ADCOM จะเป็นแบบ 3 ขา ถอดได้ ทำให้เราสามารถเลือกใช้สายไฟ AC คุณภาพสูงขึ้นเท่าใดก็ได้ ไม่ต้องตายตัวกับสายที่ติดมากับตัวเครื่อง

 

สเปคจากโรงงาน

กำลังขับ                                                 85 W x 2 CH ที่ 1 kHz (8 โอห์ม)

120 W x 2 CH ที่ 4 โอห์ม

ภาค DAC                                             มีในตัว

ช่องรับ USB TYPE B                       รับได้ถึง 192 kHz/ 24 บิท จาก PC

ช่องรับ Bluetooth ไร้สาย                Version 4.0 พร้อม aptx (คุณภาพเสียงได้ถึงระดับ CD กันเลย)

กินไฟ STAND BY                            แค่ 0.5 W

ขนาดเครื่อง                                        กว้าง 250 x ลึก 190 x สูง 90 มม.

 

ผลการทดสอบ

จากเครื่องเล่น CD T+A 1265R ต่อออกสายดิจิตอล COAXIAL เข้าช่อง COAX 2 ที่ ADCOM

(สายดิจิตอลนี้ ผมใช้สายเสียงอะนาลอก รุ่น DREAM CATCHER ของ WYVIZARD…ฟังทดสอบแล้วต้องเสียบย้อนศร (ชี้ไปหาเครื่องเล่น CD) ซึ่งดูจากสเปคไปได้เป็น MHz สบายๆ และฟังเทียบถึงสายดิจิตอล COAXIAL ของ MADRIGAL (16,000 บาทต่อเส้น) ใกล้เคียงกันมากๆ และเสียงจะตื่นตัวขึ้นอีกนิดด้วย)

ได้ลองไล่เสียบช่อง COAXIAL 1 กับ 2 พบว่าที่ 2 ให้ทรวดทรงชิ้นดนตรีเป็น 3 มิติกว่า 8% ฟังผ่อนคลายสมจริงกว่า แต่ถ้าใครจะเอา ADCOM ไปออกเสียงหนัง (COAXIAL ออกจากเครื่องเล่น DVD, Blu-ray) แนะนำให้ใช้ COAXIAL 1 และถ้าทำได้ หาหัว RCA ตัวผู้ดีๆ ซ๊อตภายในด้วยทองแดงอย่างดี มาเสียบคู่ที่ช่อง COAXIAL 2 (กันคลื่นวิทยุภายนอกกวน) จะยิ่งได้เสียงขึงขัง โฟกัสตื่นตัวยิ่งขึ้น (แต่กรณีใช้ COAXIAL 2) ไม่ควรเสียบซ๊อต COAXIAL 2 มิติกลับแย่ลง

ตลอดการทดสอบสรุปว่า ใช้ COAXIAL 2 โดดๆ ตลอด และไม่ได้เอาเสาอากาศมาเสียบด้านหลังเครื่อง (ถ้าไม่ใช้ ไม่ควรเสียบคาไว้ เสียง/มิติมักจะแย่ลง) จริงๆ แล้วถ้ามีพวกแผ่นโลหะมาปิดบังไว้ด้วยจะยิ่งดีขึ้นอีก

ขณะทดสอบปิดไฟหน้าจอของเครื่องเล่น T+A

ฟังครั้งแรก ADCOM ก็โอเค สด ตื่นเต้น ตื่นตัว แต่อยากให้เสียงอ่อนยน ผ่อนคลายลงอีกหน่อย จึงนำแผ่นกันสนามแม่เหล็กไฟฟ้าเอามาจากญี่ปุ่น มาหักมุมเป็นหลังคาหน้าจั่ว มาครอบบน ADCOM ทั้งเครื่อง ปรากฏว่า เสียงมีทรวดทรง 3D ขึ้น 10% ผ่อนคลายขึ้น 10% จึงฟังภายใต้เงื่อนไขนี้ตลอด ใครหาแผ่นนี้ไม่ได้จะหาแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์มาใช้แทนก็ได้ (บ้านเราพอหาซื้อได้) แต่อย่าไปปิดทับสนิทบน ADCOM เพราะปกติเครื่อง ADCOM จะร้อนพอดูทีเดียว ไปปิดทับหมด เดี๋ยวระบายความร้อนไม่ได้

ที่ ADCOM ไม่ได้ใช้สายไฟ AC ที่ให้มา แค่ใช้สายไฟ AC ของ CHORD ที่ปกติใช้อยู่กับอินทีเกรทแอมป์ Mark Levinson No.383 เพื่อจะได้เทียบเคียงเครื่องกันได้ (ด้วยสายไฟ AC เดียวกัน และเบิร์นอินแล้วด้วย)

มีตัวกรองไฟ แบบหัวปลั๊กเสียบช่องคู่ของ PHD 2 เสียบ 2 ตัวที่เค้าเสียบตัวเมีย ก่อนเข้าห้องเสียง (ฟังทดสอบทิศทางขาช่วยเสียง, มิติ 3D ได้อย่างชัดเจน น่าใช้มาก ยิ่งใช้ยิ่งมั่นใจ ราคาก็ไม่แพง สนใจติดต่อไปได้ที่ ดร.อดิศักดิ์ เพราะท่านขายไม่แพง)

ที่เครื่องเล่น T+A ได้ทำระบบระบายกระแสไฟฟ้า EDDY CURRENT ไว้ด้วย (ดูทดสอบอินทีเกรทแอมป์ de-vialet 110 ในเล่มนี้)

พร้อมกับมีกล่องผลึก (CRYSTAL PACK) ช่วยดูดซับคลื่นขยะความถี่สูงที่เข้ามาในห้องเสียง (สารพัดคลื่น รวมทั้งคลื่นวิทยุสถานีหลัก, คลื่น TV, Cable, คลื่น WiFi (ร่วม 6 SPOT), คลื่นมือถือ (ส่ง-รับ), คลื่นจากจอ LCD/PLASMA, รีโมท ทั้งๆ ที่ขณะทดสอบไม่มีจอเหล่านี้รวมทั้งโน้ตบุ๊ค, PC, รีโมท, มือถือ, กล้องดิจิตอล, นาฬิกาไฟฟ้า, iPad, ใดๆ ภายในห้อง)

สายลำโพงเป็น FURUKAWA S-2 (ตามทิศ) แยกอิสระ 2 ชุด เข้าลำโพง MONITOR AUDIO BR-5 (3 ทางวางพื้น, เอาหน้ากากออก) ปรับเอียงลำโพง (TOE IN) ให้ได้ทั้งสุ้มเสียงครบ พร้อมกับ ได้ทรวดทรงเสียง 3 มิติ ดีที่สุด ขั้วต่อสายลำโพงแบบบานาน่า (WBT) ทั้งด้านแอมป์ และด้านลำโพง ลำโพงซ้าย, ขวาห่างกันประมาณ 2 เมตร นั่งฟังห่างจากลำโพงประมาณ 3.6 เมตร ห้องฟังประมาณ 3.85 x 9 x 2.5 เมตร ฝาผนังบุฟองน้ำเก็บเสียง SONEX (สีขาว, จากเยอรมัน) พื้นห้องเป็นปูน-พรม ของในห้องพอควร ไม่ต้องแน่นอน ปัดลมแอร์พุ่งลงด้านหลังตู้ลำโพง (ระดับลม LOW ต่ำสุดที่ 25 องศา C ครีบพ่นลมนิ่งไม่ส่ายไป-มา)

ยกสายลำโพงสูหนีพื้นห้องด้วยตั้งกระดาษพิมพ์ดีด 2 รีม (1 คืบ) และอีก 1 รีมกั้นสายลำโพงชุดเข้าแหลมกับชุดเข้าทุ้ม (S-2 ตามทิศทั้งคู่) ไม่ให้แตะต้องกัน กับอีก 4 รีมทับบนสายลำโพงทั้งหมด 2 ข้างซ้าย, ขวา ทำเหมือนกันเป๊ะ (มีผลต่อมิติ, โฟกัสเสียง)

ฟังทดสอบ ผมเร่งโวลลุ่มแค่ประมาณ 9 – 10 นาฬิกาที่ GIA 275 ก็ให้ความดังได้เต็มคับห้องแล้ว (ลำโพงที่ใช้ความไว 89 dB/W/M)

แผ่นระนาดเอก (ไทลำภู) เพลง 3 เสียงระนาดเป็นเม็ดๆ ได้ไม่เลว แม้จะไม่ขนาดกระเด็นลอยออกมา แต่เสียงฉิ่งก็หลุดลอยออกมาได้ดี โดยไม่ลอยเพราะจัดจ้าน ทิ่มออกมา หากแต่กลับอ่อนโยน และตื่นตัวพองาม เสียงฉิ่งสั่นระริกได้ดี (มีลูกเริ่มลูกหยอดตาม) เสียงโดยรวมอ่อนโยน, สดว่องไว ตื่นตัว ความกังวานโอเคเลย ไม่แห้ง หรือห้วน จังหวะจะโคนดี บ่งบอกอากัปกิริยาได้ดี น้ำหนักเสียงดี เพลง 4 ขึ้นต้นสงัดใช้ได้ เสียงตีระนาดเป็นตัวๆ ดี หัวโน้ตมีรายละเอียด และไม่กร้าวเป็นเสียงโลหะ หากแต่ออกบุคลิกว่าเป็นเสียงไม้แจกแจงการซ้อนกันอยู่ของตัวโน้ตระนาด และเปิงมาน (เป็น 2 เสียง) ได้ดี เพลง 5 หัวโน้ตสงัดดีพอๆ กันเพลง 4 เสียงระนาดแยกแยะเป็นตัวๆ ได้ดี แสดงความถี่แฝงซ้อนได้ดี ไม่ใช่แค่ความถี่เดียว, เสียงเดียวโดดๆ (แสดงค่าความเพี้ยน IMD ต่ำดี) เพลง 6 เสียงตีระนาดขึ้นต้นเป็นเม็ดๆ ดีทีเดียว อยู่ลึกไปหลังเวที ให้เสียงกังวานอยู่ลึกเลยออกไป อีกอย่างที่ควรจะเป็น รักษารูปลักษณ์ของเสียงระนาดเป็นเม็ดๆ ได้ตลอด ไม่ใช่แค่ประเดี๋ยวเดียว เสียงฉิ่งทำได้ดีเป็นธรรมชาติดี ตามด้วยเสียงฉับที่มีรายละเอียดไม่ใช่เหมือนเสียงเปาะแปะ เสียงฉาบอยู่ลึกไปหลังเวที เป็นลำดับชั้น เพลง 7 เสียงตื่นตัว ดังเข้มกว่าเล็กน้อย ให้จังหวะจะโคนการสอดใส่อารมณ์ของดนตรีระนาดได้ดี ไม่ใช่แค่ตีไปแกนๆ แบบไร้อารมณ์ ความกังวานรวมตัววิ่งไปหลังเวทีได้ดีไม่ใช่แค่เสียงฟุ้งเบลอไปหมด เพลง 8 เสียงกลองตะโพนใหญ่อิ่มแน่นลงลึกได้ดีไม่ใช่แค่เสียงฟุ้งเบลอไปหมด เพลง 8 เสียงกลองตะโพนใหญ่อิ่มแน่นลงลึกได้ดีแม้จะไม่ขนาดมหึมามโหฬารแต่ก็ให้การเด้งตัวของเสียงได้ดีอย่างน่าแปลกใจ เสียงตบหน้ากลองไล่จากขวาไปซ้ายฟังออกว่าเป็นการเอาฝ่ามือตบ ไล่จากขวาไปซ้ายติดตามได้ตลอด เป็นตัวๆ ได้ดี ไม่เบลอ, มัว, เป็นพรืดไป เพลง 9 เสียงตีรัวระนาดไล่จากซ้ายมากลางเวที เวลา 0.18 มีเสียงตี? ดังด้านขวา ซึ่งไม่เคยสังเกตมาก่อน (ฆ้อง?) ขึ้นต้นเพลง 10 เสียงระนาดเอก, ขนาดทุ้ม ล้อกันได้ดี ร่วมกับเสียงกรับ ทุกเสียงเป็นตัวตนได้ดี เป็นพระเอกได้ทุกๆ เสียง

แผ่น WOOD ของ Brian Broomberg เพลง 1 เสียงดีดดับเบิ้ลเบส ให้เส้นสายแยกแยะพอได้ แม้จะไม่โฟกัสได้เป็นเส้นๆ (ยังมีหมอกฟุ้งๆ รอบๆ เส้นสาย) แต่ก็ให้รายละเอียดได้ดีทีเดียว ทุ้มอิ่มพอตัว อาจไม่อิ่มมหึมา หรือลงได้ลึกห้องสะท้าน คือ ด้านทุ้มยังไม่ EXTREEM หรือ ULTIMATE คือสุดๆ แต่ก็น่าจะเกินพอ (เกินตัวแล้วกับเครื่องขนาดนี้) อย่างไรก็ตาม เสียงฉาบ (แฉ) ก็สดเป็นเส้นสายดี (อาจเกร็งไปนิด) เปียโนสดกังวานดี เวทีเสียงยังไม่แผ่ออกมาหาเรามากนัก ช่องว่างระหว่างชิ้นดนตรียังไม่เกลี้ยงสะอาด (โปร่งสุด) โดยรวมๆ ถือว่า สอบผ่าน ความน่าฟังไม่ได้ตกหล่น ดีกว่าแอมป์ตัวใหญ่ๆ หลายๆ ตัว รับประกันฟังเพลินแน่นอน

แผ่น RHYTHM BASKET, A Tasket, A Tisket, A Child’s ของ Brent Lewis เพลง 2 เสียงตีกลองท่อให้ตำแหน่งกลางโดดๆ ไม่ต่อเนื่อง เสียงจะออกผมอไปหน่อย เหมือนความถี่ต่ำๆ อ่อนแรงไปหน่อย แต่ความกังวานก็ใช้ได้ ช่วงโหมหลายๆ ชิ้น (หลายเสียง) จะออกสับสน และทรวดทรงจะแบนลง เวทีตื้นลึก ตื้นเข้ามา แม้ความกังวานยังดีตลอด ตอบสนองได้ฉับไว เพลง 3 แยกซ้าย, ขวาชัด เพลง 4 ขึ้นต้นด้วยเสียงพายเรือ เสียงพายวักน้ำพอรับรู้ได้ แต่เสียงคลื่นต่างๆ บนผิวน้ำ ตัวคลื่นจะแยกไม่ออกเป็นใหญ่ เล็ก จะออกติดกันเป็นพรืดไปหมด รูปลักษณ์คลื่นออกแบน แปลกใจว่าทำไมแผ่นนี้มิติทั้งหมดออกแบนหมด ตั้งแต่เสียงกลางถึงแหลม อาจเป็นเพราะแผ่นนี้บันทึกเล่นเรื่องมิติเสียงมาก (เล่น Phase เยอะ) ถ้าภาคขยายไม่แน่จริงก็เป๋ได้ง่ายๆ เพลง 5 เสียงรถจักรไอน้ำ วิ่งเปิดหวูดมาแต่ไกล เสียงหวูดโปร่งโอเค ตามด้วยเสียงตีกลองท่อ ขวาที ซ้ายที มีทรวดทรงไม่เลว (ขาดพลังช่วงต่ำไปหน่อย) เพลง 6 เสียงไก่ขันอยู่ลึกไปหลังเวทีโฟกัสพอได้ เสียงขันยังขาดรายละเอียดไปหน่อย (รวมทั้งเสียงสัตว์อื่นๆ ต่อๆ มา คือยังไม่รู้สึกว่าเสียงสั่นอากัปกิริยาอย่างไร หรือกระแทกเสียงมากน้อยฟังเรียบๆ ไปหมด (ขาด DYNAMIC CONTRAST) แต่ถ้าเสียงอยู่ในช่วงความถี่กลางต่ำก็จะพอมี DYNAMIC CONTRAST ให้เวทีเสียงกว้างใช้ได้ในบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่จะเน้นแถวๆ กลางเวทีมากกว่า นานๆ จะมีบางเสียงโผล่กว้างเลยลำโพงไป นาทีที่ 4 เสียงสารพัดสัตว์ห้อมล้อมได้พอควร เพลง 7 เสียงม้าวิ่งหอมฮักๆ มาแต่ไกล ให้เสียงหอบได้ครบ 6 ครั้ง ตามด้วยเสียงตีกลองท่อวนรอบๆ ลำโพงซ้าย, ขวา วนอยู่เหนือลำโพงได้ตามปกติทั่วไป แต่ไม่สามารถวนสูงขึ้นๆ เรื่อยๆ จนเกือบถึงเพดานห้องได้ อย่างแอมป์ระดับไฮเอนด์ เพลง 10 เสียงต่างๆ ในฟาร์มตอนเช้าๆ แยกแยะอะไรได้ดีพอควร คือ ถ้าตอนนั้นส่วนใหญ่เป็นช่วงเสียงกลางสูงถึงสูง จะรักษาความเป็นตัวตน (3D) ได้ แต่ถ้าเริ่มมีเสียงต่างๆ แห่แหนกันขึ้นมาในจังหวะเดียวกันพร้อมๆ กัน ทุกอย่างจะถอยแบนสับสนหมด ปกติเพลงนี้ฟังๆ ไป จะมีบ่อยๆ ที่เสียงจะไปโผล่สูงเกือบถึงเพดานห้องได้ แต่เท่าที่ฟังนี้จะได้ความสูงพอๆ กันไปหมดคือระดับลำโพง ดุจเพลงทั่วๆ ไป อย่างไรก็ตาม มันก็ให้สุ้มเสียง น้ำเสียง รายละเอียด ความกังวานพลิ้วที่ดี เวทีเสียงกว้างใช้ได้

แผ่น The Grestest Alto Female VOL.1 (TOP MUSIC) เสียงร้องเพลงจีนหวานๆ ของสุภาพสตรีจีน เพลง 1 เสียงร้องจีบปากจีบคอเก็บแทบทุกเม็ดของรายละเอียดปลีกย่อยของอากัปกิริยา ทำให้ฟังได้อารมณ์ที่เข้าถึงดีเกินคาดมากทีเดียว เพลง 2 (อารีรัง เพลงเกาหลี) ขึ้นต้นเสียงร้องหมู่ชายหญิงแยกแยะได้ดีทีเดียว ตามด้วยเสียงตีกลองใหญ่ทีอ่าจไม่ตูมตามมหึมาขนาดห้องสะท้าน แต่รับรองว่า ฟังออกว่ามันกลองใหญ่แน่ๆ ไม่ใช่กลองเล็กเลย แถมกระชับให้เสียงสัมผัสการตีที่ดี เสียงต่ำลึกมีพอที่จะรู้สึกได้ ไม่หดห้วนแน่นอน น้ำหนักเสียงพอไปวัดไปวาได้ไม่เป็นเสียงกระป๋องแน่ เพลง 3 เสียงกีตาร์โปร่งขึ้นต้นให้เส้นสายที่ดี ความกังวานดี แยกชัดกับเสียงเปียโน ตามด้วยเสียงร้องที่ออดอ้อนฉอเลาะได้ใจเลย ตลอดทั้งเพลงแยกเสียงเครื่องสาย (ดีด), เปียโนได้ดีทีเดียว เพลง 4 เช่นเดียวกัน เสียงกีตาร์โปร่งขึ้นต้นแยกแยะได้ดีแม้ทรวดทรงจะแบไปหน่อย เสียงร้องกระจ่างชัดแต่บางครั้งปลายกลางสูงเสียงร้องจะเหมือนแจ๋นนิดๆ (เหมือน Clip) แต่ก็ไม่น่ารำคาญอะไรเท่าไรเพลง 5 ขึ้นต้นเสียงกรุ้งกริ้งทำได้ดี โปร่งพลิ้วเป็นประกายมีทรวดทรงใช้ได้ (AIRY ดี) เสียงร้องจะมีทรวดทรงกว่าหลายเพลงก่อนหน้านี้ เสียงเครื่องสายจีนทั้งดีด และสีออกหวานซึ้งดี เป็นเส้นสาย ทรวดทรงโอเคเลย เสียงดับเบิ้ลเบสอิ่มเป็นลูก ทิ้งตัวลงพื้นได้ดี

 

 

สรุป

เรียนตรงๆ ว่า ครั้งแรกที่ทางผู้นำเข้าแจ้งว่าจะมีอินทีเกรทแอมป์ ADCOM มาให้ทดสอบ โดยเป็นครั้งแรกที่เขาทำอินทีเกรทออกมาปกติจะทำปรี, เพาเวอร์แยกชิ้นตลอด ผมก็คาดว่าคงเป็นอินทีเกรทแอมป์ขนาดเขื่องถึงใหญ่ทีเดียว หนักสัก 20 กิโลกรัมขึ้นไป กำลังขับน่าจะเกินร้อยวัตต์ต่อข้าง

แต่พอได้รับตัวจริง ผมงงเลย ตัวเครื่องเล็กกว่าที่คาดมาก ประมาณว่า 2 คืบ x 2 คืบ x ครึ่งคืบ เบาพอๆ กับเครื่องเล่น CD ทั่วไป แถมพลิกล็อคเป็นอินทีเกรทแอมป์ที่ดูเหมือนทำมาเพื่อคอไอที (IT) มากกว่านักฟังหูทองไฮเอนด์ แถมมีเสาเสียบรับสัญญาณไร้สายจากภายนอกได้อีก มันทำให้ผมไม่กล้าคาดหวังว่าจะให้เสียงที่ “เป็นผู้เป็นคน” พอที่จะเขียนรายงานทดสอบได้หรือไม่ เพราะอินทีเกรทแอมป์ “ทำนองนี้” มีดาษดื่นในท้องตลาด ทั้งในราคาที่ถูกว่านี้ และแพงกว่านี้ แต่ผมยังไม่เคยได้ยินที่เสียงมันจะถูกหูเลย มันเหมือนเสียงจากคอมมากกว่า

แต่เมื่อสิ้นสุดการทดสอบนี้ ผมยอมรับว่า มันดีเกินคาดมากๆ โอเคล่ะ มันไม่อาจพูดได้เต็มปากว่า เสียงไฮเอนด์สุดโต่ง แต่มันก็ให้เสียงได้ระดับหูไฮเอนด์ต้องหันมามองอย่างไม่น่าเชื่อ สุ้มเสียง, น้ำเสียง, ความกังวานรายละเอียดระดับแอมป์ PURE CLASS A ความเป็นดนตรีที่เติมเต็มอารมณ์ได้สบายๆ ทั้งเสียงร้อง และดนตรี เวทีเสียง, มิติเสียง ที่อาจเป็นจุดอ่อนสำหรับให้หูไฮเอนด์บ่นได้บ้าง แต่หูชาวบ้านคงไม่สนใจอะไร น้ำหนักเสียงอาจไม่ตูมตามแบบสะใจโก๋ แต่กับการฟังแบบสบายๆ ผ่อนคลายไม่ซาดิสม์ ผมว่าน่าจะเกินพอ

 

หมายเหตุ 1

ได้ลองฟังด้วยหูฟังเสียบเข้าที่ ADCOM ใช้หูฟังของ SONY XBA 20 โดยผมนำผ้าคาร์บอนไฟเบอร์มาห่อที่ตัวหูฟัง (ห่อกันคลื่น RF ภายนอกเข้าหูฟัง ห่อแล้ว เสียงสด, โฟกัส, ขึงขังขึ้น น้ำหนักเสียง และทุ้มอาจไม่อาบฟุ้งเท่าเดิม แต่ทุกอย่างกระจายชัด เปิดโปร่ง โล่ง สะอาดเกลี้ยงกว่า)

ยอมรับว่า เสียง (ทางหูฟัง) จาก ADCOM ดีมากๆ ทีเดียว (เร่งโวลลุ่มแต่ประมาณ 7 – 7.30 นาฬิกา) เสียงออกมาสด, ขึงขัง, เอาจริงเอาจัง, ถึงลูกถึงคน เข้มข้นแน่นเปรี๊ยะ กังวานดี เวทีเสียงกว้างมาก ลึกใช้ได้ตามมาตรฐานการฟังจากหูฟัง แถมบางครั้งมีสูง-ต่ำได้ด้วย

(จะเสียบหรือถอดแจ็คหูฟังให้หรี่โวลลุ่มค่อยสุดก่อนทุกครั้ง ป้องกันเสียงปึ๊กบางครั้ง)

 

หมายเหตุ 2

จากากรฟังผ่านลำโพงปกติ และจากหูฟัง พอจับประเด็นได้ว่า กราฟอัตราการขยาย (GAIN TRANSFER) จะไม่เป็นเส้นตรง (LINEAR) หากแต่ที่เสียงค่อยๆ จะไม่ค่อยสุดตามที่ควรจะเป็น จะมีการยกระดับเสียงไว้ไม่ให้ค่อยต่ำกว่าระดับหนึ่ง ขณะที่ถ้าเสียงดังมากถึงระดับหนึ่ง จะมีการลดการสวิงเสียงไว้ ไม่ให้ดังไปมากกว่านั้น (COMPRESSED) ซึ่งหูระดับซุปเปอร์ไฮเอนด์อาจฟังแล้วไม่สบายใจเต็มร้อย แต่ก็เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะการปรับกราฟขยายแบบนี้ เป็นเรื่องที่ใครๆ มักทำกันกับภาคขยายที่กำลังขับไม่ได้เป็นร้อยๆ วัตต์ เพื่อความปลอดภัยของภาคขยาย และแทบไม่ฟ้องมากนักถ้าไปเล่นกับไฟล์เพลงที่มีการบีบตัวย่นย่อสัญญาณอยู่แล้ว

 

หมายเหตุ 3 ผมเพิ่งทราบราคาขายคาดว่าจะอยู่แถวๆ 36,000 บาท (US 1,300) เล่นเอาผมอึ้งเลย เพราะถ้าราคาขนาดนี้ คุณภาพคับแก้วอย่างนี้ วงการไฮเอนด์สะเทือนแน่

คิดดูว่า DAC ดีๆ เครื่องหนึ่งก็ 25,000 บาทขึ้นไป

ตัวขยายหูฟังดีๆ ก็ระดับ 10,000 บาทขึ้นไป

แค่ 2 อย่างก็ 35,000 บาทแล้ว แต่นี่เชื่อมต่อได้อีกหลายรูปแบบ แถมมีภาคขยายเสียงที่คุณภาพเสียงระดับไฮเอนด์มาให้ด้วย เกินคุ้มสุดจะบรรยายกันเลย!

ขอขอบคุณ หจก. เคเอสเวิลด์ โทร. 0-2204-2255 ที่เอื้อเฟื้อเครื่องให้ในการทดสอบในครั้งนี้

Exit mobile version