What HI-FI? Thailand

Test Report: ADCOM GFA – 565SE POWER AMPLIFIER

Test Report

ADCOM GFA -565SE POWER AMPLIFIER

หัสคุณ

 

 

แอ็ดคอม (ADCOM) ถือว่าเป็นบริษัทเครื่องเสียงจากสหรัฐอเมริกา ที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานถึงเกือบ 30 ปี จากบริษัทเล็กๆ ใน NEW JERSEY ที่มุ่งเน้นผลิตหัวเข็ม (PHONO CARTRIDGE) เป็นหลัก ภายใต้การนำของ MR.NEWTON CHANIN ผู้มากความสามารถซึ่งอดีตเคยเป็นถึงเจ้าของ( EX-OWNER ) บริษัท ORTOFON ผู้ผลิตหัวเข็มอันเลื่องชื่อแห่งเดนมาร์ก ADCOM ได้ออกแบบหัวเข็มที่มีชื่อเรียกว่า CROSS COIL PHONO CARTRIDGE ซึ่งออกมาในช่วงปลายยุค 70 (ประมาณ ค.ศ. 1979) และได้รับการตอบรับที่ดีจากนักเล่นในยุคนั้น หัวเข็มของ ADCOM ที่ได้รับการกล่าวถึงก็คือ รุ่น SXC-VDH และ XC- E ซึ่งทั้งคู่เป็นหัวเข็มแบบ HIGH OUTPUT MOVING COIL ต่อมาทาง ADCOM ได้ขยับขยายไลน์ในการผลิต หันมาผลิตเครื่องเสียง โดยมุ่งเน้นที่จะผลิตเครื่องเสียงคุณภาพสูงในระดับไฮเอนด์ แต่มีราคาจำหน่ายที่สมเหตุสมผล จัดอยู่ในประเภทเครื่องเสียงที่มี “คุณภาพคุ้มค่า คุ้มราคา” ผลงานชิ้นแรกของ ADCOM ก็คือแอมป์ รุ่น GFA-1 AMPLIFIER เป็นเพาเวอร์แอมป์ ทรงลูกเต๋า ขนาดสัดส่วนเพียง 12 นิ้ว มีกำลังขับถึง 200 วัตต์ต่อแชนแนล GFA-1 ได้สร้างมาตรฐานใหม่ ของความเหมาะสมระหว่างคุณภาพและราคาในกลุ่มเพาเวอร์แอมป์ได้ย่างน่าสนใจยิ่ง

จากนั้น ADCOM ก็นำเสนอเพาเวอร์แอมป์ รุ่น GFA-1A และ GFA-2 พร้อมกับปรีแอมป์รุ่น GFP-1 และจูนเนอร์ รุ่น GFT-1 ในยุคนั้นเครื่องเสียงของ ADCOM ยังมีหน้าตาที่ดูเรียบ แต่ขึงขังและบึกบึนตามแบบฉบับของเครื่องเสียง สไตล์อเมริกันในขณะนั้น ADCOM จึงเป็นที่รู้จักสำหรับนักเล่นชาวอเมริกัน ในยุคแสวงหาที่เชื่อมั่นในหูของตัวเอง ว่าฟังเป็นแต่มีงบประมาณที่จำกัด แม้แต่ WES PHILLIPS นักเขียนจากนิตยสาร STEREOPHILE เองก็เคยใช้ปรีแอมป์ รุ่น GFP-1 มาก่อนและถือเป็นชุดแยกชิ้นชุดแรกของเขาเลยก็ว่าได้

ADCOM มาดังสนั่นเป็น “พลุแตก” จริงๆ ก็เมื่อเปิดตัวเพาเวอร์แอมป์ รุ่น GFA-555 ในช่วงปีค.ศ. 1985 เมื่อนักเขียนนักวิจารณ์อย่าง ANTHONY H. CORDESMAN แห่งนิตยสาร STEREOPHILE ได้ฟังและเขียนบททดสอบ เจ้า GFA-555 พร้อมกับชื่นชมว่า ADCOM เป็น “คลื่นลูกใหม่” แห่งวงการ ที่นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่วงการเครื่องเสียงครั้งสำคัญ ADCOM GFA-555 ถือว่าเป็นเพาเวอร์แอมป์ที่สามารถจะให้สมรรถนะเกินราคา เหนือกว่าแอมปลิไฟเออร์ ในระดับล่างมาถึงระดับกลางในอดีตอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นแอมป์ที่มีความคุ้มค่าและถือว่าเป็นเพาเวอร์แอมป์ในระดับ “BEST BUY” ที่มีความสามารถไต่อันดับขึ้นไปเทียบเคียงกับเพาเวอร์แอมป์ที่มีราคาสูงกว่าถึง 2 หรือ 3 เท่า ได้อย่างใกล้เคียง ANTHONY H. CORDESMAN ยังสงสัยว่า ผลงานของ ADCOM ชิ้นนี้คงจะทำให้นักออกแบบเครื่องเสียงในระดับไฮเอนด์หลายคน คงต้องกลับมาพิจารณาตนเองพร้อมกับ “ถูกบังคับ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของตนเองให้ดียิ่งขึ้น ภายในระยะเวลาอันสั้น หรือไม่ก็ต้องยอมแพ้ หรือถอยห่างออกไปจากการแข่งขันอันดุเดือดในครั้งนี้

ในยุคนั้น ไม่มีใครทราบหรอกครับ ว่าใครเป็นผู้ออกแบบ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ GFA-555 เพราะในขณะนั้น นักเล่นยังให้ความสำคัญกับชื่อเสียง หรือยี่ห้อของแบรนด์นั้นๆ มากกว่าจะพยายามค้นหาว่าใครเป็นผู้ออกแบบแอมป์ตัวนั้นให้เสียงดีได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคงไม่มีใครเกิน MARK LEVINSON ในยุคนั้น สำหรับแอมป์รุ่นที่สร้างชื่อเสียงให้กับ MARK LEVINSON ได้มากที่สุดในขณะนั้นก็คือ เพาเวอร์แอมป์ ML-2 ซึ่งเป็นแอมป์โมโนบล็อก แบบคลาส เอ ที่มีกำลังขับเพียง 25 วัตต์/ตัว ซึ่งผู้ออกแบบ ก็ไม่ใช่ยอดชายนาย MARK LEVINSON แต่อย่างใด แต่ผู้ออกแบบตัวจริงเสียงจริงที่อยู่เบื้องหลังก็คือ JOHN CURL และ TOM COLANGELO เพาเวอร์แอมป์ ML-2 คือผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับ MARK LEVINSON จนโด่งดังและเป็นที่จดจำมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับ ADCOM GFA-555 ก็เช่นกัน จนเวลานั้นได้ล่วงเลยมานานหลายปีทีเดียว จึงมีข่าวล่ำลือกันว่า ผู้ที่ออกแบบ ADCOM GFA-555 ตัวจริงก็คือ NELSON PASS ผู้เป็นหนึ่งในสุดยอดของนักออกแบบแอมปลิไฟเออร์ แบบโซลิดสเตจ ซึ่งอดีตเคยเป็นถึงผู้ก่อตั้ง THRESHOLD CORP. และเป็นผู้ออกแบบวงจร STASIS อันโด่งดังและลือลั่นในแอมป์ระดับไฮเอนด์ ที่มักจะมีการกล่าวถึงอยู่อย่างสม่ำเสมอมาถึงปัจจุบัน

ต่อมาภายหลัง NELSON PASS เองก็ได้ออกมายอมรับว่า ADCOM GFA-555 นั้นเป็นผลงานการออกแบบของเขาเอง แต่อย่างไรก็ตาม ADCOM ก็ยังเดินหน้าปรับปรุง พัฒนา และออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็นการต่อยอด “ความสำเร็จ” จากที่ GFA-555 ได้ทำเอาไว้ สำหรับผู้ที่ถือเป็นคนขับเคลื่อน ADCOM ให้ก้าวไปข้างหน้าในขณะนั้นก็คือ C. VICTOR CAMPOS ซึ่งดำรงตำแหน่ง DIRECTOR OF PRODUCT DEVELOPMENT ของ ADCOM งานของ ADCOM ในขณะนั้นมีทั้งการปรับปรุงงานเก่า และต่อยอดขึ้นไปอย่าง GFA-555 II โดยทีมงานของ ADCOM เอง รวมทั้งมีการดึงมือดีอย่าง WALT JUNG ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้ IC มาร่วมออกแบบผลิตภัณฑ์ของ ADCOM อย่างจูนเนอร์/ ปรีแอมป์ รุ่น GTP-400 และปรีแอมป์ รุ่น GFP-565

ผลิตภัณฑ์ของ ADCOM มิได้จำเพาะอยู่กับระบบสเตอริโอแบบ 2 แชนแนลเท่านั้น แต่ต่อมาได้ขยายไลน์ รวมไปถึงเครื่องเสียง สำหรับระบบมัลติแชนแนล แบบโฮมเธียเตอร์ด้วย โดยที่ทาง ADCOM ยังคงมุ่งเน้นการออกแบบเครื่องเสียงคุณภาพสูง มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่คล่องตัว แต่มีราคาประหยัด และด้วยปรัชญาดังกล่าว ผนวกเข้ากับนวัฒกรรมใหม่ๆ ซึ่งผสานเข้ากกับงานการออกแบบที่เน้นในแง่ของพื้นฐาน รวมทั้งประสบการณ์ จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ของ ADCOM สามารถยืนยงและมีความโดดเด่นจนเป็นที่ยอมรับมาอย่างต่อเนื่อง

ADCOM ประสบความสำเร็จและมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัล PRODUCT OF THE YEAR มากกว่า 25 ชิ้น อีกทั้งยังได้รับรางวัล SPECIAL RECOGNITION CITATIONS จาก AUDIO VIDEO INTERNATIONAL ได้รับรางวัล DIAPASON D’or AWARDS ถึง 3 รางวัล ยังครับ…ยังไม่หมดครับ ADCOM ยังได้รับรางวัล CONSUMER ELECTRONICS SHOW DESIGN AND ENGINEERING AWARDS อีกถึง 7 รางวัลด้วยกัน ซึ่งก็ถือว่าเป็นเกียรติประวัติ อันสำคัญยิ่ง ของ ADCOM อย่างยากจะปฏิเสธ

สำหรับผลงานของ ADCOM ที่มีความโดดเด่นต่อมาได้แก่ GFA-555II, GFA-585 “LIMITED” GFA-5800, GFA-565 MONO BLOCK และ GFA-5802 สำหรับปรีแอมป์ได้แก่ GFP-565 และ GFP-565 และ GFP-750

ถึงแม้เครื่องของ ADCOM จะเป็นที่กล่าวขวัญมาอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับในทางของธุรกิจแล้ว ก็ต้องนับว่า ADCOM เป็นบริษัทที่มีการเปลี่ยนมือมาอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน เริ่มจากตกเป็นของ CAL หรือ CALIFORNIA AUDIO LABS ในช่วงยุค 90 ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นของ GO VIDEO ในปีค.ศ. 2002 จากนั้นก็ถูกขายต่อให้กับ KLEIN TECHNOLOGY GROUP, LLC ที่มี 3 หนุ่ม คือ DOUG KLEIN จาก GO VIDEO, MATT LYONS จาก POLK AND LYNOS ENGINEERING และสุดท้าย คือ DANIEL DONNELLY จาก CAL (CALIFORNIA AUDIO LABS AND SENSORY SCIENCE) ซึ่งต่อมาในภายหลัง ทั้ง DOUG KLEIN และ MATT LYONS ก็ได้เดินจากไป คงเหลือไว้แต่ DANIEL DONNELLY เท่านั้น

หลังจากนั้น ADCOM ก็ตกเป็นของ EMERSON RADIO CORP. ในช่วงปีค.ศ. 2008 ซึ่ง EMERSON RADIO CORP. เอง ถือว่าเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ของห้าง WAL-MART ในอเมริกา ในช่วงนั้นมีข่าวออกมาว่า ADCOM เอง กำลังมีโครงงานที่จะทำการปัดฝุ่นเพาเวอร์แอมป์ GFA-555 ใหม่ รวมทั้งปรีแอมป์ รุ่น GFP-750 MK II เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี (25th ANNIVERSARY) แต่แล้วข่าวคราวก็กลับเงียบหายไป จากนั้นไม่นานก็มีข่าวว่า ADCOM ได้ตกเป็นของ QUALITY TECHNOLOGY ELECTRONICS CO., LTD ซึ่งอยู่ภายใต้บริษัท QUALITY TECHNOLOGY ELECTRONICS AMERICA, INC. (QTE) ซึ่งมีสำนักงาน (HEADQUARTER) อยู่ในเมืองไทยด้วยมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับ เอ็นจิเนียร์คนสำคัญของ ADCOM หาใช่ใครอื่นไม่ แต่ยังคงเป็น DANIEL DONNELLY ซึ่งดำรงตำแหน่ง CORPORATE PRESIDENT ที่ ADCOM, LLC อีกทั้งยังดำรงตำแหน่ง ELECTRONICS DEVELOPMENT, DESIGN, ENGINEERING & MANUFACTURING ที่ SEDONA, HAWAII eeWORKS, LLC อีกด้วย

ปัจจุบัน ADCOM ยังมีผลงานที่มีวางจำหน่ายอยู่ ได้แก่ เพาเวอร์แอมป์ รุ่น GFA-6002 และ GFA-5500 สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดที่เพิ่งจะเปิดตัวในเวลาไม่นานมานี้ ได้แก่ GFA-555SE ซึ่งถือว่าเป็นการกลับมาอีกครั้งของเพาเวอร์แอมป์คลาสสิกในระดับตำนานอย่าง GFA-555 ในอดีต ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ และเพาเวอร์แอมป์รุ่นพี่อย่าง GFA-565SE

 

ADCOM GFA-565SE

จริงๆ แล้วทาง ADCOM ได้เคยออกเพาเวอร์แอมป์ ที่มีเลขรหัส รุ่น 565 มาก่อนหน้านี้ ตามที่เรียนให้ทราบในตอนต้น ซึ่งก็คือ GFA-565 MONOBLOCK POWER AMPLIFIER เพาเวอร์แอมป์แบบโมโนบล็อกที่มีกำลังขับ 300 วัตต์/ข้าง ถือได้ว่าเป็นเพาเวอร์แอมป์ที่มีขนาด และกำลังขับที่ใหญ่ที่สุดของ ADCOM ในขณะนั้น มาคราวนี้ ADCOM ได้เปิดตัวเพาเวอร์แอมป์ตัวใหม่ แต่ใช้เลขรหัส 565SE คงจะมีนัยยะสำคัญในแง่ของความเป็นแอมป์รุ่นใหญ่ หรือไม่ก็เป็นการ “ต่อยอด” หรือปรับปรุงมาจาก GFA-565 ในอดีต แต่ครั้งนี้ GFA-565SE เป็นเพาเวอร์แอมป์แบบ 2 แชนแนลสเตอริโอแทน

 

รูปลักษณ์และการออกแบบ

ADCOM ยังคงรักษารูปร่างหน้าตา อันแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของ ADCOM เอาไว้ได้อย่างคงเส้นคงวาจริงๆ นักเล่นท่านใดเคยเห็นเพาเวอร์แอมป์ของ ADCOM มาบ้าง เมื่อได้เห็น GFA-565SE ก็จะทราบได้ทันทีว่า นี่คือ เพาเวอร์แอมป์ของ ADCOM ไม่ผิดตัวเป็นแน่

รูปร่างของ ADCOM GFA-565SE ยังคงดูบึกบึนขึงขัง สมกับที่เป็นแอมป์รุ่นใหญ่จริงๆ ด้วยขนาดของเครื่องที่ใหญ่ มีแผงระบายความร้อนตลอดแนวด้านข้างทั้ง 2 ด้าน แผงหน้าขึ้นรูปจากอะลูมิเนียมมีเส้นวางตัวในแนวนอนตั้งแต่ด้านบนลงมา กินพื้นที่ 3 ใน 5 บริเวณของหน้าแผงหน้าทั้งหมด โดยที่ส่วนล่างจะเป็นผิวเรียบ 2 ใน 5 ตามแบบฉบับการออกแบบเพาเวอร์แอมป์ของ ADCOM ที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันโดดเด่นที่จดจำได้ง่ายยิ่ง

สวิตช์เปิด/ปิดเครื่องจะวางตัวอยู่ทางด้านซ้ายล่าง สำหรับทางด้านขวาจะมี LED ไฟสีแดง 3 ดวงด้วยกัน 2 ดวงในนั้นจะมีตัวหนังสือกำกับว่า HIGH CURRENT POWER AMP INSTANTANEOUS ALERT สำหรับแชนแนลซ้ายและขวา ซึ่งไฟทั้ง 2 จะสว่างขึ้น (จะเป็นเพียงดวงหนึ่ง หรือสองดวงก็ได้) เมื่อแอมป์ถูกขับจนมีความเพี้ยนเกิน 1% สำหรับดวงไฟ LED จะเป็น THERMAL PROTECTION ดวงไฟ LED จะสว่างขึ้นเมื่อขึ้นเมื่อทรานสฟอร์เมอร์ถูกใช้งานอย่างหนักจนเกิดความร้อนที่มีอุณหภูมิเกิน 125 °c หรือเมื่อแผงระบายความร้อนของแชนแนลซ้ายหรือขวา มีความร้อนเกินระดับอุณหภูมิที่กำหนดไว้ วงจรป้องกันก็จะทำงานโดยการตัดการทำงานของเพาเวอร์แอมป์โดยอัตโนมัติ ต่อเมื่ออุณหภูมินั้นลดลงระดับลงสู่ภาวะปกติ เพาเวอร์แอมป์ก็จะกลับมาทำงานตามปกติอีกครั้ง สำหรับครีบระบายความร้อนขนาดใหญ่ทั้ง 2 ข้าง จะมีการลบเหลี่ยมมุม เพื่อไม่ให้มีขอบคมๆ ให้เสียวมือ ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้นก็ตามในยามที่จะยกหรือเคลื่อนย้าย GFA-565SE ก็ควรจะระมัดระวังไว้บ้างครับ

แผงหลังของ GFA-565SE จะมีขั้วต่ออินพุทมาให้ทั้งแบบ RCA และแบบ BALANCED XLR มาให้ โดยที่สามารถจะเลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยการโยกสวิตช์เลือกสัญญาณอินพุทตามต้องการ นับว่ามีความสะดวกและคล่องตัวดี สำหรับขั้ว RCA จะเป็นแบบชุบทองอย่างดี GFA-565SE ยังมีสวิตช์คันโยกเพื่อเลือกการใช้งานแบบสเตอริโอ 2 แชนแนล หรือโมโนแบบ BRIDGED MONO ที่จะทำให้ GFA-565SE มีกำลังขับถึง 700 วัตต์ เลยทีเดียว

GFA-565SE จะมีขั้วลำโพง แบบไบดิ้งโพสต์ 5 ทาง ชุบทองมาให้เพียง 1 ชุด ขั้วต่อลำโพงนั้นมีตัวขันเป็นพลาสติกที่มีขนาดเล็ก และถูกจัดวางไว้ใกล้กันตามมาตรฐาน จึงทำให้การจับเพื่อขันยึด ทำได้ไม่ค่อยถนัดมือนัก ดังนั้นการใช้งานจริงควรจะทำการตรวจสอบความแน่นหนาทุกครั้งเพื่อความสบายใจนะครับ สำหรับปลั๊ก IEC เป็นแบบ 3 ขา มีกราวด์สามารถถอดเปลี่ยนสายไฟ AC ได้

สำหรับการจัดวางภายในนั้น GFA-565SE ได้หันกลับไปใช้แนวทางในการจัดวางวงจรคล้ายกันกับ GFA-555 และ GFA-565 MONOBLOCK ในอดีต โดยใน GFA-565SE นั้นได้จัดวางหม้อแปลงแบบเทอรอยด์ ขนาดใหญ่ 700 WATT ที่สั่งทำขึ้นเป็นพิเศษสามารถจ่ายกระแสไฟได้สูงถึง 1800 VA ไว้ทางด้านหน้าเครื่องทำงานร่วมกับคาปาซิเตอร์ขนาดใหญ่ของ LELON ค่าความจุ 18,000 UF 100 V จำนวน 4 ตัว สำหรับภาคอินพุทนั้น ใน GFA-565SE เลือกใช้ OPAMP ของ JRC เบอร์ NE 5534 D ทำงานร่วมกับ OPAMP ของ LINEAR TECHNOLOGY LT 1006 รับสัญญาณอินพุททั้งในแบบ RCA และ BALANCED XLR สำหรับในภาคไดร์ฟและภาคเอาท์พุทนั้น ทาง ADCOM เลือกใช้วงจรแบบ TRIPLE-DARLINGTON CONFIGURATION เพื่อให้เกิดความมั่นใจในว่าการทำงานของวงจรจะมีประสิทธิภาพในการจ่ายกระแสได้อย่างมั่นคง มีความต่อเนื่องต่อความต้องการของโหลดที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยไม่มีผลกระทบจากเฟส (PHASE) หรือ กระแส (CURRENT) แต่อย่างใด

GFA-565SE ยังได้เลือกใช้การออกแบบวงจรที่เรียบง่ายโดยเน้นให้สัญญาณเดินทางสั้นและผ่านอุปกรณ์น้อยชิ้น โดยออกแบบวงจรแบบ “DIRECT-COUPLED CIRCUITRY” ตั้งแต่ภาคอินพุทจนถึงเอาท์พุทรวมทั้งสัญญาณ FEEDBACK LOOP ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียความบริสุทธิ์ของสัญญาณ ที่เกิดจากการใช้คาปาซิเตอร์ดัปปลิ้งสัญญาณ อีกทั้งยังมีวงจร DC-SERVO CIRCUIT เพื่อปรับไฟ DC-OFFSET VOLTAGE ที่เอาท์พุทของขั้วลำโพงให้มีค่าต่ำที่สุด เพื่อความมั่นใจว่าจะไม่มีความเพี้ยนแบบ LOW-FREQUENCY DISTORTION ที่จะทำให้สัญญาณที่วูฟเฟอร์มีความคลาดเคลื่อน แต่ทำงานได้อย่างถูกต้องและมีความเที่ยงตรงสูง

ใน GFA-565SE ยังมีความโดดเด่นที่ทาง ADCOM ได้เลือกใช้วงจรในการปรับอัตราไบแอสกระแสไฟเลี้ยงสำหรับภาคไดร์ฟ TRIPLE-DARLLINGTON และภาคเอาท์พุทแบบอัตโนมัติ ที่ทาง ADCOM เรียกว่าวงจร THERMAL AND DYNAMIC TRACKING ซึ่งวงจรดังกล่าวจะปรับอัตราไบแอสตามสภาพการทำงานจริงๆ ตัดปัญหาความสิ้นเปลืองของกระแสไฟที่จะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นความร้อน โดยไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้น GFA-565SE ถึงแม้จะมีกำลังขับที่สูงแต่ตัวเครื่องและครีบระบายความร้อน จะมีอุณหภูมิที่อุ่นๆ เท่านั้น

สำหรับในภาคเอาท์พุท GFA-565SE เลือกใช้ทรานซิสเตอร์เอาท์พุทแบบ TO-3 ไบโพล่าร์ ตัวถังเป็นเหล็กแบบจานบิน MJ15024 และ MJ15025 จำนวน 5 คู่ (10 ตัว)/ข้าง โดยที่เพาเวอร์ทรานซิสเตอร์แต่ละตัวสามารถจะจ่ายกระแสได้สูงถึง 16 AMPERE ทาง ADCOM ยังได้ให้ความสำคัญกับการจ่ายกระแสได้เต็มที่ แบบไม่มีการอั้น หรือจำกัดแต่อย่างใด จึงไม่มีการใช้วงจรป้องกัน หรือวงจร Current Limiting Circuitry ที่อาจจะมีส่วนในการลดทอนคุณภาพสัญญาณแบบที่มักนิยมใช้กันในแอมปลิไฟเออร์ในยุคปัจจุบันแต่อย่างใด

การเดินสายภายในเป็นแบบจุดต่อจุด หรือ Point-To-Point สายวายริ่งภายในเป็นสายแบบ OFC (Oxegen-Free-Copper) อุปกรณ์ภายในได้ผ่านการคัดสรรมาอย่างดี ทั้งคาปาซิเตอร์ของ Rubycon, Elna Cerafine และรีซิสเตอร์แบบเมทัลฟิล์ม ภายในถูกออกแบบเพื่อให้มีการถ่ายเทของอากาศที่ดี (Greater Cooling Efficiency) สเปคของ ADCOM GFA-565 SE มีดังนี้

 

Specifications

Power Rating (To FTC Requirements) 250 Watts continuous average power into 8 ohms at any frequency between 20 Hz and 20 kHz with both channels driven at less than 0..04% THD.
350 Watts continuous average power into 4 ohms at any frequency between 20 Hz and 20 kHz with both channels driven at less than 0.05% THD. *
700 Watts continuous average power into 8 ohms at any frequency between 20 Hz and 20 kHz at less than 0.1% THD, bridged. *
IM Distortion (SMPTE)
1 watt to 250 watts into 8 ohms 0.009%
1 watt to 350 watts into 4 ohms 0.009%
IM Distortion (CCIF, Any Combination from 4 kHz to 20 kHz)
250 watts into 8 ohms 0.002%
350 watts into 4 ohms 0.003%
THD + Noise at 250 watts into 8 Ohms (Typical)
20 Hz 0.008%, 1 kHz 0.004%, 10 kHz 0.006%, 20 kHz 0.010%
THD + Noise at 350 watts into 4 Ohms (Typical)
20 Hz 0.009%, 1 kHz 0.004%, 10 kHz 0.015%, 20 kHz 0.025%
IM Distortion, Bridged (SMPTE)
1 watt to 700 watts into 8 ohms 0.05%
IM Distortion (CCIF, Any Combination from 4 kHz to 20 kHz)
700 watts into 8 ohms 0.005%
THD + Noise at 400 watts into 8 Ohms, Bridged (Typical)
20 Hz 0.001%, 1 kHz 0.004%, 10 kHz 0.02%, 20 kHz 0.04%
Frequency Response @ I Watt into 8 Ohms 10 Hz to 20 kHz +0, -0.25 dB
Power Bandwidth (-3 dB) 5 Hz to 100 kHz
Dynamic Headroom Into 4 Ohms (1.7 dB typical) 2.5 dB*
Signal to Noise Ratio, gA h Weighted 250 watts into 8 ohms 110 dB
Gain 27 dB
Input impedance 10k ohms balanced; 100 k ohms unbalanced
* With supplemental cooling system. 14
Input Sensitivity 250 watts into 8 ohms 12.1V rms, 1 watt into 8 ohms 130 mV rms
Damping Factor 2O Hz to 2O kHz 800
Rise Time 5 kHz, 90V peak-to-peak square wave, 20% to 80% 2.3ƒÊS
Power Consumption (Continuous, Both Channels Driven) Quiescent 88VA, Maximum 1800VA
250 watts into 8 ohms 835VA, 350 watts into 4 ohms 1350VA, 700 watts into 8 ohms, bridged 1550VA
Power 120VAC.50/60 Hz
Chassis Dimension 6-3/4h (172 mm) x 17w (432 mm) x 13-7/16d (340 mm)
Maximum Dimensions 7-1/4h (185 mm) x 17w (432 mm) x 14-3/16d (360 mm)
Weight 51 lbs. (23 kg)
Weight, Packed 55 lbs. (25 kg)

 

ผลการทดลองฟัง

เนื่องจาก ADCOM GFA-565 SE มีเวลามาอยู่กับพวกเรานานพอสมควร จึงมีโอกาสได้ทดลองฟังในหลายแง่มุม ถึงแม้ตัว GFA-565 SE จะผ่านการใช้งานมาแล้ว แต่กับเพาเวอร์แอมป์กำลังขับสูงๆ อย่างนี้ ก็ไม่ควรประมาท พวกเราได้ใช้งาน GFA-565 SE จนพร้อมจึงนำเข้าห้องฟังเพื่อสรุปผลกัน อุปกรณ์ที่ใช้ในการฟังประกอบด้วย

เครื่องเล่นซีดี :                MARANTZ CD17 (CLOCK II)

MARANTZ CD11 MK II (CLOCK II)

ปรีแอมป์ :                        ADCOM GFA-750

ลำโพง :                           XAV SMALL ONE CLASSIC

XAV PATRIOT SE

B&W 805S

XAV ROBIN MT

สายนำสัญญาณ :            VAMPIRE AI-II (RCA, BALANCED XLR)

VAN DEN HUL ‘THE FIRST ULTIMATE’ (RCA)

VAN DEN HUL ‘THE SECOND’

(BALANCED XLR)

สายลำโพง :                    VAMPIRE ST-II

สายไฟ AC :                    XAV XAC#5, MUSIC MUSE ‘THE PROTOTYPE’ AC CABLE

ฟิวส์ :                              MUSIC MUSE V2

 

ห้องฟังขนาด 4 x 8 เมตร ได้รับการปรับแต่งอะคูสติกมาอย่างดี พวกเราแบ่งการฟังออกเป็น 2 คาบด้วยกัน โดยในคาบแรกเราจะฟัง GFA-565 SE ด้วยการเชื่อมต่อกับปรีแอมป์ GFA-750 ด้วยสายนำสัญญาณแบบ RCA และในคาบหลังจึงฟังกันด้วยสายนำสัญญาณแบบ BALANCED XLR

คงจะมีนักเล่นนักฟังไม่น้อยที่คาดหวังว่า เมื่อฟังเพาเวอร์แอมป์ตัวใหญ่ๆ ที่มีกำลังขับมากๆ อย่าง GFA-565 SE ที่มีกำลังขับถึง 250 วัตต์ต่อข้างนั้น จะต้องให้เสียงที่กระหึ่งเต็มห้อง น้ำเสียงที่เต็มไปด้วยพละกำลังมหาศาล มีเบสที่ลงได้ลึก สะเทือนสะท้านไปทั้งห้อง ยิ่งกับชื่อเสียงที่ทาง ADCOM ได้ฝากไว้กับ GFA-555 ในอดีตด้วยแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงแต่จะเป็นดังที่คาดเอาไว้หรือไม่ เรามาลองติดตามกันครับ

คณะลูกขุนของเรา เริ่มต้นกันด้วยเพลงร้องที่คุ้นเคยไม่ว่าจะเป็นคุณป้า CAROL KIDD (NICE WORK) ตามมาด้วยเสียงร้องของ REBECCA PIDGEON (THE RAVEN) จนถึง CLAIR MALO (LET IT GO) สลับสับเปลี่ยนมาเป็น JOHN MICHAEL MONTGOMERY (KICKIN’ IT UP) และ COLLIN RAYE (LOVE SONGS) ก็แล้ว เหล่าคณะลูกขุนก็ยังคงเงียบเชียบเหมือนกับว่ากลัวดอกพิกุลจะร่วงออกจากปากยังไงยังงั้นยังคงจดจ่อเหมือนกับจะปล่อยอารมณ์ให้ล่องลอยไปกับเสียงเพลงเมื่อสอบถามว่าคิดเห็นอย่างไรกับ GFA-565 SE ลูกขุนท่านหนึ่งนั่งอยู่นานกว่าจะตอบง่ายๆ สั้นๆ ว่า “ดี…ฟังได้เพลินดีจริงๆ” เมื่อหันไปสบตากับลูกขุนท่านอื่นๆ แต่ละท่านก็แสดงอาการลังเลที่จะชี้ชัดหรือแสดงความเห็นใดๆ ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม

ต้องบอกว่านี่เป็นอาการที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก หรืออาจจะบอกได้ว่าแทบไม่เคยเกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ! ดูท่า GFA-565 SE จะหว่านเสน่ห์หรือมนต์เพลงแห่งดนตรีให้กับเหล่าคณะลูกขุนของเราเข้าให้แล้ว…เห็นทีจะต้องแตะเบรกแบบสะดุดอารมณ์กันสักนิดด้วย เสียงร้องของ JACINTHA (HERE’S TO BEN) ซึ่งก็ต้องนับว่าได้ผล คณะลูกขุนเริ่มขยับตัว พร้อมกับมีสมาธิในการฟังมากขึ้น ลูกขุนมือเก๋าของเราเสนอขอฟังเสียงร้องระดับอาจารย์แม่ อย่าง AMANDA MCBROOM (SHEFFIELDLAB CD-13) เพื่อตรวจสอบอะไรบางอย่างและบังเอิญเป็นแผ่นที่ตรงใจที่จะนำเสนอในอันดับถัดไปอย่างพอดิบพอดีแบบไม่ได้นัดหมาย หลังจากที่บทเพลง AMANDA ถูกบรรเลงได้ไม่นาน GFA-565SE ก็แสดงตัวตนออกมาได้เด่นชัดมากขึ้น ความคิดเห็นต่อ GFA-565 SE ก็ถูกนำเสนอออกมาอย่างเป็นลำดับ

เริ่มจาก GFA-565 SE ให้สมดุลเสียงที่ราบเรียบดีเป็นพิเศษ ตามมาด้วย ADCOM มาให้มาดใหม่เป็นแอมป์ที่สุขุม นุ่มลึกดี อีกท่านชมว่าเสียงกลางของ GFA-565 SE นั้น มีรายละเอียดที่ดี มีความสดใสที่ไม่ขาดไม่เกิน มีความลงตัวดี ฟังเพลินดีแต๊…แต๊ สำหรับลูกขุนคอเบสของเราดูจะผิดหวังเล็กน้อย หุ่นอย่างงี้ น่าจะดุดดัน และหนักแน่นกว่านี้ ปิดท้ายด้วยลูกขุนมือเก๋า ประจำคณะที่กล่าวชมว่า GFA-565 SE เป็นเพาเวอร์แอมป์ชั้นดีทีเดียว สามารถแสดงความแตกต่างของบทเพลงที่ถูกบันทึกออกมาอย่างตรงไปตรงมา ฟังออกได้อย่างชัดเจน ใครที่คิดว่าเพาเวอร์แอมป์นั้นฟังความแตกต่างทางน้ำเสียงได้ยาก ต้องลองมาฟัง ADCOM GFA-565 SE ดูแล้วจะเข้าใจ

ในคาบที่สองเมื่อเปลี่ยนสายนำสัญญาณมาเป็นแบบ BALANCED XLR, ADCOM GFA-565 SE ก็ถ่ายทอดน้ำเสียงที่มีความสดใส แยกแยะรายละเอียดได้ดีขึ้นพร้อมกับแสดงตำแหน่งและโฟกัสได้ชัดเจนขึ้น การจัดวางและเวทีก็มีสัดส่วนที่ลงตัวกว่าเดิม คณะลูกขุนส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าการต่อสายนำสัญญาณแบบ BALANCED XLR นั้นให้คุณภาพเสียงโดยรวมที่ดีกว่า… ฟันธงครับ ก่อนจาก GFA-565 SE ยังมีประเด็นติดค้างในเรื่องของเบสที่ลูกขุนมือเก๋าประจำคณะรู้สึกคาใจอยู่ไม่น้อย แหม…ถ้าได้ลำโพงที่ใหญ่กว่านี้ เบสต่ำๆน่าจะดีกว่านี้ สำหรับผมเองก็รู้สึกเช่นเดียวกัน จึงรับปากว่าถ้าได้ลองแล้วผลเป็นอย่างไรจะเรียนให้ทราบในภายหลัง

เมื่อคณะลูกขุนสลายตัว ก็ได้เวลาเก็บตก GFA-565 SE อีกทีอันดับแรก ต้องยอมรับว่า ADCOM GFA-565 SE แม้จะมีรูปร่างหน้าตาที่ดูบึกบึน ขึงขังพร้อมกับพละกำลังวัตต์ที่มาก แต่เมื่อได้ฟังจริงๆ แล้ว GFA-565 SE กลับมาในมาดที่สุขุม น้ำเสียงสุภาพเรียบร้อยเกินกว่าที่คาดเอาไว้จริงๆ เมื่อลองนึกย้อนหลังไปเปรียบเทียบกับ GFA-555 ที่มีโอกาสได้ฟังผ่านไปเมื่อนานหลายปีแล้ว GFA-555 จะให้น้ำเสียงที่อิ่ม รู้สึกถึงพละกำลังที่แสดงออกมาทางน้ำเสียงได้อย่างเด่นชัด สร้างความตื่นตาตื่นใจได้ในเวลาอันสั้น สำหรับเสียงแหลมนั้น GFA-555 ก็ฟังดูมีสีสันที่แพรวพราวกว่า เปิดเผยกว่า เรียกร้องความสนใจได้ดีกว่าเช่นกัน

แต่กับ GFA-565 SE นั้นกลับเลือกแนวทางที่สุขุมกว่ามีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ไม่คึกคะนองในแบบวัยรุ่นแบบ GFA-555 ในอดีต ซึ่งโดยรวมแล้ว GFA-565 SE จะฟังได้เพลินกว่า ยิ่งฟังนานเข้ายิ่งน่าฟังมากยิ่งขึ้น ในความสุขุมและเรียบร้อยของ GFA-565 SE นั้นใช่ว่าน้ำเสียงจะจืดชืดจนไร้อารมณ์ก็หาไม่ เพราะถ้าเป็นแบบนั้นคณะลูกขุนคงเผลอหลับกัน หรือคงอดรนทนฟังกันได้ไม่นานเป็นแน่ แต่ GFA-565 SE สามารถที่จะนำเสนอน้ำเสียงที่มีความสมดุลได้ดีเป็นพิเศษ เสียงร้องของป้า CAROL KIDD ฟังดูมีชีวิตชีวา น้ำเสียงมีความสะอาด เกลี้ยงเกาที่แฝงไว้ด้วยความใสที่ดี แยกแยะรายละเอียดได้อย่างพอเหมาะพอดี ไม่พยายามจะแจกแจงรายละเอียดแบบเปิดเผยชัดเจนในทุกรายละเอียด และก็ไม่พยายามจะทำเสียงกลางๆ ให้นุ่มหนา มีตัวตนจนเกินงาม แต่กลับแฝงไว้ด้วยความนุ่มนวลอยู่ในที นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เหล่าคณะลูกขุนเพลิดเพลินจนรู้สึกลังเลที่จะแสดงความเห็นในเรื่องเสียงของ GFA-565 SE ในทันทีที่ฟัง (CAROL KIDD : NICE WORK)

ในย่านเสียงแหลมนั้น GFA-565 SE ถ่ายทอดตัวโน้ตหลักออกมาอย่างจะแจ้งเด่นชัด มีรายละเอียดที่ดีพอประมาณ เสียงแหลมฟังดูสะอาด ปลายเสียงแหลมจะเรียวบางลงตามลำดับ และไม่ทอดตัวออกไปไกลนัก เป็นเสียงแหลมที่ไม่กร้าว หรือกระด้างจัดแต่อย่างใด จริงๆ แล้ว GFA-565 SE กลับจะให้เสียงแหลมที่ติดไปทาง ‘อมหวาน’ ซะด้วยซ้ำ (OPUS 3 : LARS ERSTRAND AND FOUR BROTHERS)

GFA-565 SE ให้เสียงในย่านอัพเปอร์เบสที่นุ่ม แต่แน่นเปรี๊ยะ มีจังหวะที่กระฉับกระเฉง ถ่ายทอดการย้ำเน้นที่มีน้ำหนักอย่างโดดเด่น มีพลังแฝงที่เต็มเปี่ยมไม่มีการรอมชอม หรืออั้นตื้อแต่อย่างใด เพียงแต่ GFA-565 SE ยังคงรักษาสมดุลเสียง และความราบเรียบไว้ได้อย่างคงเส้นคงวา ไม่พยายามจะยกหรือเน้นเบสให้ยิ่งใหญ่แบบตื่นตาตื่นใจ จึงทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า GFA-565 SE นั้นให้เสียงที่สุภาพจนเกินเหตุ มีอาการแผ่วปลาย ไร้เบสต่ำๆ อย่างที่ควรจะเป็น และนี่คือประเด็นที่ยังคาใจคณะลูกขุนบางท่าน พร้อมทั้งตั้งข้อสงสัยในเรื่องของขนาดลำโพงที่ฟังกันในวันนั้น

เพื่อไขข้อข้องใจที่ค้างคา และเพื่อพิสูจน์ถึง ‘พละกำลัง’ ที่แท้จริงของ GFA-565 SE จึงต้องหาลำโพงที่”ถึง” และใหญ่พอมาลองดู สุดท้ายก็ได้ลำโพง XAV ROBIN MT ซึ่งเป็นลำโพงแบบ 3 ทาง วางพื้นที่มีวูฟเฟอร์ 8” ที่มีระบบ BASS LOADING แบบ TRANSMISSION LINE ผสมผสานกับหลักการ ACOUSTIC PRESSURE GRADIENT สามารถให้เบสที่ต่ำลึกถึง 35 Hz (-3 dB) คราวนี้ ADCOM GFA-565 SE ก็เหมือนกับคนที่ได้ทำงานที่ตัวเองมีความถนัดเสียที ถึงแม้ว่ารายละเอียดของเบสต่ำๆจะมีแบบพอประมาณ แต่ GFA-565 SE ก็ถ่ายทอดพละกำลังของเบสที่ลงได้ลึกจริงๆ สัมผัสฟังได้ถึงแรงปะทะพร้อมกับน้ำหนักที่เดินทางมายังจุดนั่งฟัง รวมทั้งแรงกระพือของประตูด้านหลังที่ส่งเสียงดังออกมาเป็นระยะๆ ตามการทิ้งตัวของเบสที่หนักหน่วงและแน่นจริงๆ หมดข้อกังขาที่ค้างคาใจไปโดยปริยายครับ

สมรรถนะทางด้านอิมเมจนั้น GFA-565 SE จะนำเสนออิมเมจที่ใหญ่กว่าปกติ แต่ซาวด์สเตจจะวางวงถอยลึกลงไปกว่าแนวระนาบของลำโพงเล็กน้อย (LAID BACK) สัดส่วนของรูปวงมีทั้งความกว้าง และความลึกที่เหมาะสมลงตัว สำหรับตำแหน่งของชิ้นดนตรีต่างๆ ก็มีความมั่นคง และนิ่ง ไม่วูบวาบแม้จะเร่งระดับความดังขึ้นไปมากก็ตาม นี่เป็นข้อดีของแอมป์ที่มีกำลังขับสูงๆและได้รับการออกแบบมาอย่างดีจ่ายกระแสได้อย่างเต็มที่ มีความต่อเนื่องโดยไม่มีการจำกัดแต่อย่างใด

สำหรับการใช้งาน GFA-565 SE ด้วยสายนำสัญญาณแบบ BALANCED XLR นั้น น้ำเสียงจะมีความสดใสที่มาพร้อมกับรายละเอียดที่มากขึ้น เนื้อเสียงจะฟังดูเหมือนบางลง แต่กลับมีความมั่นคงเพิ่มขึ้น สัดส่วนของอิมเมจที่มีขนาดใหญ่ในโหมด RCA กลับถูกลดขนาดลงจนมีความเหมาะสม และเข้ารูปเข้ารอยดีขึ้นกว่าเดิม มีโฟกัสที่ชัดเจนขึ้น ซาวด์สเตจจะถูกขยายตัวออกทั้งในด้านกว้างและลึก มีความสงัดมากขึ้น ทำให้สัมผัสได้ถึงช่องว่างระหว่างดนตรีที่กระจ่างชัดมากขึ้นกว่าเดิม มีการควบคุมเบสที่ดีกว่า ถ่ายทอดน้ำหนักและความหนักแน่นได้ดีกว่า แม้สปีดของดนตรีจะช้าลงอยู่บ้างเล็กน้อยก็ตาม จึงขอแนะนำการใช้งาน GFA-565SEด้วยสายนำสัญญาณแบบ BALANCED XLR จะเหมาะสมและมีคุณภาพเสียงโดยรวมที่ดีกว่าครับ

สรุป

GFA-565 SE จาก ADCOM ในปีพ.ศ.นี้ ต้องถือว่าเป็นการกลับมาอีกครั้งของ ADCOM หลังจากที่เงียบหายไปพักใหญ่จนนึกว่า ADCOM คงจะถอดใจจากการแข่งขันในระบบสเตอริโอ 2 แชนแนล และมุ่งเน้นแต่เฉพาะกับระบบโฮมเธียเตอร์แบบมัลติแชนแนลแต่เพียงอย่างเดียว การกลับมาในครั้งนี้ของ ADCOM นั้นอาจถือได้ว่าเป็นงานที่จะต้องสานต่อผลงานที่จะต้องเผชิญกับแรงกดดันที่มาจากผลงานและชื่อเสียงของ ADCOM ที่ผ่านการสั่งสมมาอย่างยาวนานในอดีตซึ่งนับว่ามีความเสี่ยงที่ท้าทายและยากลำบากไม่ใช่น้อย แต่ GFA-565 SE จาก ADCOM ก็สามารถพิสูจน์ตนเองด้วยการแสดงสมรรถนะในทุกๆ ด้านออกมาได้ดี ในหลายแง่มุมซึ่งขยับเข้าไปใกล้เพาเวอร์แอมป์ชั้นเยี่ยมในระดับไฮเอนด์ที่มีราคาจำหน่ายสูงกว่ามากได้อย่างน่าสนใจในระดับหนึ่ง อีกทั้งเมื่อคำนึงถึงราคาค่าตัวของ GFA-565 SE ที่อยู่ในระดับไม่เกิน 70,000 บาทด้วยแล้ว ต้องนับว่า ADCOM GFA-565 SE เป็นเพาเวอร์แอมป์ที่มีความคุ้มค่าคุ้มราคาที่น่าสนใจจนเกินกว่าจะมองข้ามไปได้ง่ายๆ ครับ

 

ขอขอบคุณ หจก.เคเอสเวิล์ด โทร. 0-2256-9919 ที่เอื้อเฟื้อเครื่องมาให้ทดสอบในครั้งนี้

 

Exit mobile version