Test Report: ACCUPHASE A-70
Class-A Stereo Power Amplifier
The “EXCELLENT” Pure Class A ever made !!
มงคล อ่วมเรืองศรี
ACCUPHASE LABORATORIES, INC. ดำเนินกิจการมาเป็นปีที่ 42 แล้ว โดยมิเคยประสบปัญหาทางด้านเงินทุนจนต้องเปลี่ยนมือผู้ถือครองบริษัท นับตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ 1 มิถุนายน ปีค.ศ.1972 ตราบจนถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้ ‘ACCUPHASE LABORATORIES, INC.’ ยังคงความเป็นบริษัทเล็กๆ ภายในตัวอาคารที่ก็มิได้ใหญ่โตนักในเมืองโยโกฮาม่า ทว่าที่นี่กลับเต็มไปด้วยวิศวกรมือฉมังทำงานอยู่ร่วมกันมากมาย จนที่ผ่านมา ACCUPHASE มีนวัตกรรมหลายหลากให้โลกเครื่องเสียงได้ฮือฮากัน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ และประสิทธิภาพ รวมทั้งคุณภาพของทรัพยากรบุคคลอันน่าภาคภูมิใจยิ่งนักได้เป็นอย่างดี
ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ACCUPHASE มีผลิตภัณฑ์สุดพิเศษในวาระร่วมฉลองครบรอบปีที่ 40 ของการดำเนินกิจการ ทั้งทางด้าน ’DP-900’ – Precision SACD/CD Transport, ‘DC-901’ – Precision MDSD Digital Processor, ‘C-3800’ – Precision Stereo Pre-amplifier และ ‘A-200’ – Precision Class A Monophonic Power Amplifier ที่ได้สร้างความลือลั่นไปทั่วทั้งวงการ ในการเป็นเพาเวอร์แอมป์ “Class-A” แท้ๆ ตลอดทั้งช่วงย่านแบบเต็มกำลังขับ มิใช่จำกัดไว้เพียงแค่ช่วงใดช่วงหนึ่งของสมรรถนะการทำงานเช่นทั่วไป และมาปีนี้ ‘A-70’ นี่แหละครับ ที่นับว่าเป็น The Ultimate Class A Stereo Power Amplifier ด้วยศักดิ์ศรี “น้องรอง” ของ A-200 โดยแท้ครับ
ซึ่งหากจะพูดกันในแง่ของเทคโนโลยี ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่า ได้ก้าวล้ำไปจนกระทั่ง กำเนิดแอมป์คลาสใหม่อย่าง D, G, H และ T ที่นำเอาความเป็นดิจิตอลอันทันสมัย และให้ประสิทธิภาพสูงมาเป็นจุดขาย ภายใต้จุดเด่นในด้านของสมรรถนะการทำงานที่สูญเสียพลังงานต่ำ อัตราแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้ามาเป็นกำลังขับทำได้แทบจะใกล้ร้อยเข้าไปทุกขณะ แต่ทว่าพอมาพูดกันถึงประเด็นด้านคุณภาพเสียง อย่างไงๆ ก็ไม่จับจิตจับใจใครต่อใครได้เท่าแอมป์แบบ Class A ที่ทรงเสน่ห์มัดใจเซียนหูทองผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน อย่างไม่เสื่อมคลายมนต์ขลัง-จริงๆ ครับ
บอกตามตรงอย่าหาว่าเป็นการ “ชี้นำ” หรือว่า “ลำเอียง” กันเลยนะครับ ตัวกระผมออกจะชื่นชอบ ACCUPHASE เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะมีเจ้า ‘P-102’ สเตอริโอ เพาเวอร์แอมป์ ‘คู่ขวัญ’ เข้ามาอยู่ในครอบครอง ตั้งแต่ตอนที่เขียนบทความทดสอบเจ้านี่เมื่อเกือบจะ 20 ปีที่แล้วใน What Hi-Fi ? นี่แหละครับ แม้จะได้ชื่อว่าเป็นรุ่นเล็ก ทว่าค่าตัวนั้นกว่าครึ่งแสนไปไกลทีเดียว และเป็นรุ่นเดียวเท่านั้นที่เป็น Fully Balanced Class A “แท้ๆ ในสมัยนั้น ซึ่งผมเองได้ตั้งฉายาเจ้ารุ่นนี้ว่า “มังกรซ่อนเล็บ” ด้วยความประทับใจจนต้องเก็บไว้ใช้งานจวบจนปัจจุบัน ทั้งๆ ที่มีกำลังขับเพียงแค่ 50 วัตต์ต่อข้าง
Class A มีดีอะไร ?
แต่ก่อนแต่ไร อย่างไงๆ เราๆ ท่านๆ ก็มักจะได้ยินติดหู-รู้จักกันดี สำหรับ Class A กับ Class AB (หรือ B) นี่แหละ ถ้าจะให้ดีที่สุดก็ต้องเล่นแอมป์ Class A กันเท่านั้น แม้ว่าติดขัดตรงที่ราคาค่าตัวนั้นออกจะแพงเอาการ ด้วยเหตุผลที่ว่าอุปกรณ์ใช้งานต้องผ่านการเลือกเฟ้นเป็นอย่างดี มีสเปคฯที่ยอดเยี่ยม (tolerant-ต่ำ; accuracy-สูง) ที่สำคัญต้องทนต่อความร้อนสูงมากในขณะใช้งาน เพราะ ‘Power Output Device’ จะต้องทำงาน หรือ “ON” ตลอดเวลา ด้วยการป้อนค่า bias ในระดับสูง อัตราการใช้พลังงานจึงสูงเกือบจะคงที่ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีสัญญาณส่งเข้ามา ในขณะที่ Class AB (หรือ B) จะมีระดับ bias ไม่มากนัก เพียงแค่คอยป้อนให้ ‘Power Output Device’ ทำงาน เมื่อมีสัญญาณขาเข้าส่งเข้ามา ความร้อนขณะใช้งานจึงต่ำ แต่ก็มีความคลาดเคลื่อนสูง เนื่องด้วยจังหวะเปิด/ปิดการรับสัญญาณที่ส่งเข้ามาขณะทำงาน อาจไม่แม่นยำเพียงพอ (คลาดเคลื่อนกัน) ส่งผลให้คุณภาพเสียงด้อยกว่าแอมป์ ‘Class A’ ทว่าความนิยมในแอมป์ Class AB ก็มีไม่น้อย เพราะมีกำลังขับสูง พร้อมด้วยระดับราคาที่จัดว่าไม่แพง
วงจร ‘Class A’ นั้นจำเป็นต้องใช้ปริมาณกระแสไบอัสในระดับสูงมาก เพื่อให้อุปกรณ์ขยายสัญญาณ (หลอดสุญญากาศ, ทรานซิสเตอร์, FET หรือ MOS-FET ก็ตาม) พร้อมทำงานตลอดเวลา (ความร้อนขณะใช้งานจึงสูง) โดยจะต้องขยายสัญญาณครบหรือเต็มทั้งช่วงคลื่น (cycle) ทั้งค่าเฟสบวกและเฟสลบในครั้งเดียว รูปสัญญาณที่ได้ (ผ่านการขยายแล้ว) จึงสมบูรณ์เต็มที่ อาจจะมีความผิดเพี้ยนเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็เพียงเล็กน้อยจากความไม่เป็นเชิงเส้นแท้จริง (non-linearity) ของอุปกรณ์ที่เลือกใช้ มิใช่ความผิดพลาดจากรูปแบบวงจรการทำงาน ดังนั้นหากต้องการความสมบูรณ์ถูกต้องของรูปสัญญาณก็จำเป็นต้องเลือกเฟ้นเกรดอุปกรณ์ที่ดีเท่าที่จะหาได้ การที่ต้องมีกระแสไหลผ่านตลอดเวลาในขณะใช้งานของแอมป์ ‘Class A’ เสมือนเป็นการการันตีอยู่ในตัวเองว่า อุปกรณ์ที่ใช้ต้องไม่ธรรมดา เพราะหากไม่คัดสรรมาดีพอ การที่อุปกรณ์ต้องทำงานตลอดเวลา คงส่งผลต่ออายุการใช้งานที่ไม่ยืนยาว หรือเกิดปัญหาในระยะเวลาอันสั้นนั่นเอง
ทั้งนี้ทั้งนั้นในรุ่น P-102 ทางวิศวกรของ ACCUPHASE มิใช่เพียงแค่ออกแบบเป็นแอมป์ ‘Class A’ ธรรมดาๆ เท่านั้น หากแต่ยังใช้ประโยชน์จากวงจรการทำงานแบบ ‘Fully Balanced’ มาประยุกต์ใช้ร่วมด้วย โดยในแต่ละซีกเฟสสัญญาณทั้งบวกและลบจะมีวงจรภาคขยายที่เป็นแอมป์ ‘Class A’ มารองรับการทำงานอย่างเป็นอิสระ ก่อให้เกิดการ “ดันและดึง” อย่างแท้จริง : Fully Balanced push-pull configuration ดังนั้นใน P-102 จึงมีแอมป์ ‘Class A’ บรรจุอยู่ถึง 4 ชุด – แยกเป็นวงจรขยายสัญญาณเฟสบวก (+) 1 ชุด กับวงจรขยายสัญญาณเฟสลบ (-) 1 ชุด สำหรับ output stage ของแชนแนลขวา แล้วก็วงจรขยายสัญญาณเฟสบวก (+) 1 ชุด กับ วงจรขยายสัญญาณเฟสลบ (-) 1 ชุด สำหรับ output stage ของแชนแนลซ้าย …นี่คือความไม่ธรรมดาที่ซ่อนอยู่ใน P-102 “มังกรซ่อนเล็บ” ของกระผม (โดยไม่เคยซ่อมเลยสักครั้ง และไม่คิดจะ trade out เลยจริงๆ )
ประโยชน์ที่ได้จาก “Fully Balanced push-pull configuration” อย่างแจ่มชัดก็คือ ค่าความผิดเพี้ยนและสัญญาณรบกวนแทรกซ้อนต่างๆ จะถูก “ฆ่าทิ้ง” หรือหักล้างกันเองจนสูญสิ้นไป เนื่องเพราะความเหมือนกันของรูปสัญญาณแต่ต่างขั้วเฟสกันนั่นเอง ดังนั้นรายละเอียดของสัญญาณเสียงจึงครบชัด ไม่ถูกบดบังหรือกลืนหายไปในสัญญาณรบกวน (วิศวกรของ ACCUPHASE จึงได้ประยุกต์นำหลักการนี้ไปใช้เพิ่มค่ารายละเอียดสัญญาณในภาค D to A Converter อีกด้วย) จนเป็นจุดเด่นของวงจรแบบ “Fully Balanced push-pull configuration” ทว่าความเป็น -Fully Balanced- นี้ก็ต้องใช้วงจรขยายสัญญาณมารองรับมากขึ้นกว่าปกติทั่วไปเป็น 2 เท่าด้วยเช่นกัน ทำให้ปัจจัยราคาต้องเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ยิ่งต้องคัดสรรการเลือกใช้ -ของดี- (ราคาแพง) ทั้งหลาย ราคาจำหน่ายจึงต้องผกผันจนอาจถึงขั้นเกินกว่าจะได้มาครอบครองสำหรับนักเล่นโดยทั่วไป ปัจจุบันจึงยากนักที่จะพบเห็นเพาเวอร์แอมป์รุ่นใหม่ที่เป็น Fully Balanced แท้ๆ (แต่ทว่ายังมักจะนิยมออกแบบเป็น push-pull กันในแอมป์ที่ออกแบบมาดีๆ )
“A-70” – the ’STEREO’ version of A-200
ACCUPHASE ระบุไว้ว่าอย่างนี่จริงๆ ครับ …ทุกอย่างไล่ไปตั้งแต่รูปลักษณ์ภายนอก, ขนาด, พิกัดน้ำหนักตัว ล้วนถอดแบบมาจาก A-200 ทั้งสิ้น นี่ยังไม่ได้เข้าไปดูกันถึงภายในตัวเครื่องนะครับ ซึ่งก็ใช้ layout เหมือนกับ A-200 เป๊ะ… แต่เดิมนั้น ก่อนหน้าที่จะมี “A-70” นี้ออกมา ACCUPHASE มีสเตอริโอ เพาเวอร์แอมป์รุ่น A-65 เป็น Flagship อยู่ – จึงน่าสงสัยไหมล่ะครับ ที่สเตอริโอ เพาเวอร์แอมป์รุ่นใหม่ ที่ออกมาแทนที่ A-65 นั้น ใยไม่เป็น A-67; A-68 หรือว่า A-69 แต่ก้าวมาเป็น “A-70” เลย ซึ่งถือเป็นการประเดิม “วางตัว” สู่ซี่รี่ส์ใหม่กันจริงๆ
เมื่อจัดว่าเป็นซีรี่ส์ใหม่ …ทำไมจึงยังคงใช้ dimensions ที่-ไม่ต่าง-ออกไปจาก A-65 นี่ก็น่าแปลก แต่กลับมีน้ำหนักที่มากกว่า (น้ำหนักตัวไล่เลี่ยกับ A-200) คำตอบนั้น “ซ่อน” อยู่ตรงนี้ครับ “มิติขนาด” นับเป็นเรื่องหนึ่งที่วิศวกรของ ACCUPHASE คิดคำนึงอย่างรอบคอบ ‘dimensions’ ทั้งความกว้าง-ความสูง-ความลึกของตัวเครื่องจะต้องพอเหมาะพอสมสำหรับการตั้งวางในห้องฟัง ไม่ใช่เน้นที่ความใหญ่โตจนสร้างความอึดอัด หรือรู้สึกว่าเกะกะต่อการตั้งวางในห้องฟัง อีกทั้งยังมิใช่ว่า เพียงเพื่อโอ้อวดในขนาดที่ใหญ่โต แต่ทว่าภายในกลับไม่มีอะไรแปลกใหม่-ปรับปรุงไปจากเดิม…
คุณลักษณ์
ภายใต้ขนาดมิติตัวเครื่องภายนอก กว้าง 465 มม. สูง 238 มม. ลึก 515 มม. “A-70” มีน้ำหนักมากถึง 44.3 กก. (หนักกว่า A-65 ถึง 1.3 กก.) ในฐานะ ‘Class-A Stereo Power Amplifier’ ระดับ Flagship “ใหม่ถอดด้าม” (brand new series) รุ่นล่าสุดของ ACCUPHASE ซึ่งใช้เทคโนโลยีระดับสูงสุดแบบเดียวกับที่บรรจุอยู่ใน A-200 โดยได้รับการปรับปรุงสมรรถนะให้ “เหนือชั้น” ยิ่งขึ้นไปกว่า สเตอริโอ เพาเวอร์แอมป์ ทุกรุ่นที่เคยมีมา แม้กระทั่ง A-65… นับตั้งแต่ “ต้นทาง” ของทางเดินสัญญาณขาเข้า (input signal path) จนจรดออกสู่เอาท์พุทที่เป็นแบบ fully-balanced แท้ๆ ในแบบฉบับเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ ACCUPHASE ที่ได้พัฒนานำมาใช้งานก่อนใครๆ ผนวกเข้ากับการคัดสรรอย่างพิถีพิถันยิ่งนักสำหรับอุปกรณ์ใช้งานภายใน โดยถอดแบบออกมาจาก A-200 สำหรับทุกๆ ปัจจัย ในลักษณะของ ultra low noise instrument amplifier topology แบบ discrete configuration โดยไม่มีการใช้ IC ใดๆ เข้าไปเกี่ยวข้องในทางเดินสัญญาณ …!!
ส่งผลให้ “A-70” มีค่าสัดส่วนสัญญาณต่อเสียงรบกวน (S/N Ratio) ที่สูงถึง 127 ดีบี ทำให้รายละเอียดต่างๆ ในสัญญาณเสียงได้รับการนำเสนอออกมานั้นมีความโดดเด่น-ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจากหลักการ ultra low noise instrument amplifier topology แบบ discrete configuration นับตั้งแต่อินพุตจรดเอาท์พุทนี้เอง ที่ทำให้ “A-70” สามารถวัดค่า noise voltage ได้เพียงแค่ 13 ไมโครโวลต์เท่านั้น …!!! (ซึ่งต่ำกว่า A-65 ถึงกว่า 2 เท่า) ในขณะที่ A-200 จะอยู่ที่ 11 ไมโครโวลต์
ในความเป็น discrete configuration ซึ่งใช้อุปกรณ์ทรานสซิสเตอร์กันเป็นตัวๆ (ไม่มีการใช้ ICs ใดๆ ในทางเดินสัญญาณ) วงจรภาค output stage ของแต่ละแชนแนล จะเป็นแบบ 2-amplifier blocks constructed ซึ่ง block หนึ่งจะสำหรับการขยายสัญญาณเฟสบวก (+) ส่วนอีก block หนึ่งก็จะสำหรับการขยายสัญญาณเฟสลบ (-) ทำให้ “A-70” มีภาคขยายสัญญาณรวมเป็น 4 ชุดสำหรับทั้ง 2 แชนแนล (2-amplifier blocks x 2-ch) ซึ่งโดยปกติก็จะให้เกนออกมาอยู่ที่ 4 เท่า แต่สำหรับ “A-70” นั้นได้รับการออกแบบมีเกนการขยายสัญญาณนี้เป็นถึง 12.6 เท่า ส่งผลให้ output noise นั้นลดลงมาได้ถึง 33% ไม่ต่างจากใน A-200 เลยทีเดียว
‘A-70’ นั้นให้กำลังขับปกติอยู่ที่ 60 วัตต์ต่อข้างที่ 8 โอห์ม แต่ทว่า ณ ค่าความต้านทานต่ำสุดๆ เพียงแค่ 1 โอห์มนั้น “A-70” จักสามารถจ่ายกำลังขับออกมาได้สูงมาก “อย่างเหลือเชื่อ” ถึงกว่า 500 วัตต์ต่อข้างเลยทีเดียว ซึ่งนี่แสดงถึงว่า “A-70” นั้นมี “กำลังสำรอง” (headroom) อันมหาศาลอยู่ในตัว โดยไม่หวั่นต่อสภาพค่าความต้านทานที่ลดต่ำอย่างสุดๆ (แม้เพียงแค่ 1 โอห์มเท่านั้น) ลองเปรียบเทียบดูกับสมรรถนะกำลังขับของ A-200 ซึ่งปกติจะอยู่ที่ 100 วัตต์ต่อข้างที่ 8 โอห์ม ทว่า ณ จังหวะที่ค่าความต้านทานลดต่ำลงมาเหลือแค่ 1 โอห์มนั้น A-200 จะสามารถจ่ายกำลังมหาศาลออกมาได้สูงถึง 1,000 วัตต์ สมฐานะ ‘super high power amplifier’
นั่นแสดงให้เห็นว่า ‘A-70’ (และ A-200) นั้นได้รับการออกแบบภาคจ่ายไฟไว้อย่างแข็งแกร่ง-บึกบึน (strong power supply) พร้อมส่งจ่ายพลังงานอย่างทันทีทันใดให้กับภาค output stage ด้วยการใช้ large toroidal transformer ขนาดใหญ่ยักษ์ ที่มี aluminum heat-radiation fins ติดตั้งอยู่รายรอบตัว เพื่อช่วยในการระบายความร้อนขณะใช้งาน ควบคู่กับคาปาซิเตอร์เก็บสะสมพลังงานไฟฟ้าสูงถึงกว่า 82,000 ไมโครฟารัด จำนวน 2 ตัว
ส่วนหัวใจสำคัญนั้นอยู่ที่ output stage แบบ push-pull configuration ด้วยการใช้ MOS-FET จำนวนถึง 10 คู่ทำงานร่วมกัน อันว่าลักษณะการทำงานของ ‘push-pull’ นั้นถ้าจะเรียกแบบเต็มยศกันจริงๆ ก็จะต้องเป็น “Complementary Symmetrical Push-Pull output stage” โดยที่จะมี power output device – 2 ชนิดได้แก่ NPN กับ PNP ทำงานร่วมกันในวงจรแต่ละชุดที่มีลักษณะเดียวกัน ชุดหนึ่งจะทำการขยายรูปสัญญาณเฟสบวก (มิใช่ครึ่งซีกบวกนะครับ) ในขณะที่อีกชุดหนึ่งจะทำการขยายรูปสัญญาณเฟสลบ (มิใช่ครึ่งซีกลบนะครับ) เมื่อสัญญาณที่ได้รับการขยายแล้วนี้มาบรรจบกันที่ output ก็จะเกิดลักษณะของการ “ดันและดึง” ระหว่างกันอย่างเป็นสมมาตรซึ่งกันและกัน ก่อให้เกิดการควบคุมจังหวะจะโคนในการขับเคลื่อนตัวลำโพงที่แม่นยำมาก
‘A-70’ ใช้ MOS-FET (metal oxide semiconductor FET) เป็น power output device ที่ทำงานในแบบ “คลาส A แท้ๆ ” (pure Class A) ตลอดเวลาและตลอดช่วงการทำงาน (มิใช่เพียงแค่ 5 วัตต์ 10 วัตต์อย่างที่มักนำมาขยายผลเป็นจุดขายของแอมป์ คลาส A เช่นทั่วไป) โดยจะ-จับคู่-ออกแรง “ดันและดึง” ร่วมกันถึง 10 ชุด ควบคู่กับวงจร balanced remote-sensing คอยทำหน้าที่ “ตรวจจับ” สัญญาณทั้งเฟสซีกบวก (+) และเฟสซีกลบ (-) รวมทั้งกราวด์ (GND) ไปพร้อมกัน ส่งผลให้ได้ค่า Total Harmonic Distortion และ Intermodulation Distortion ที่ดียิ่งขึ้นไปอีกขั้น ยิ่งกว่านั้น ในส่วนของวงจรภาคเอาท์พุท‘A-70’ ยังใช้ ultra-heavy gauge edgewise coils ขนาดใหญ่ยักษ์ ซึ่งมีพื้นที่หน้าตัดมากยิ่งกว่าปกติธรรมดาถึง 3 เท่าตัว การส่งผ่านสัญญาณจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว ฉับพลัน ไร้การอัดอั้นทางกระแสในลักษณะของ-คอขวด-อีกต่อไป
ความเป็น ‘A-70’ ยังได้รับการปรับเปลี่ยนจากอุปกรณ์รีเลย์ (relays) มาเป็น MOS-FET switches ในส่วนของ speaker protection แบบเดียวกับ A-200 เพื่อขจัดปัญหาในด้าน mechanical contact ต่อการนำพาสัญญาณได้อย่างมีคุณภาพสูงสุด และยังช่วยเอื้อต่อความมีเสถียรภาพของการใช้งานได้อย่างไร้ปัญหา ตลอดช่วงอายุการใช้งานอันยืนยาว โดยไม่มีการเสื่อมค่าความเที่ยงตรง-แม่นยำไป และนี่ยังเป็นอีกครั้งที่ ACCUPHASE ให้ความใส่ใจในค่าแดมปิ้ง แฟคเตอร์ที่สูงมากๆ (high damping factor) ถอดแบบมาจาก A-200 เพื่อทำให้การควบคุม (control) ระบบลำโพงที่ใช้งานร่วมกันในซิสเต็มนั้นเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์แบบ – ยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา ด้วยค่า damping factor ที่สูงมากถึง 800 – มากยิ่งกว่า A-65 ถึงเท่าตัวเลยทีเดียว
ในด้านของการขจัดค่าความเพี้ยนนั้น ACCUPHASE ไดปรับเปลี่ยนมาใช้หลักการ Current Feedback Circuit Topology แทนที่การใช้ NFB ธรรมดาก่อนใครๆ จนนับได้ว่า เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไปแล้ว ณ ปัจจุบัน เพื่อป้องกันความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากการเลื่อนองศาของ Phaseshift ในช่วงการขยายสัญญาณ เพื่อให้ได้มาซึ่งการบ่งบอกสภาพซาวนด์สเตจ-อิมเมจเสียงที่มีความถูกต้องและสมจริงตรงตามต้นฉบับสัญญาณที่ส่งเข้ามา และรักษารายละเอียดของสัญญาณเสียงไว้ให้ครบถ้วนตามความเป็นจริงที่บันทึกข้อมูลอยู่ในแหล่งสัญญาณที่ป้อนเข้ามา
ทีนี้มาดูกันที่แผงหน้าเครื่องกันบ้าง … เรียกได้ว่า ’A-70’ ถอดแบบมาจาก A-200 เลยจริงๆ ด้วยการมี digital power meters พร้อมทั้ง 32-point LED bar graph indicators ติดตั้งไว้อย่างโดดเด่น พร้อมทำหน้าที่บ่งบอกสถานะอัตรากำลังขับที่ใช้อยู่ ณ ขณะนั้นของทั้ง 2 แชนแนล (ซ้าย-ขวา) ซึ่ง “digital power meters” นี้จะทำหน้าที่แสดงถึง ‘true power output’ (เป็นค่าตัวเลข) ที่ ‘A-70’ กำลังจ่ายอยู่จริงๆ โดยไม่เกี่ยวข้องกับค่าความต้านทานของลำโพงที่เสียบต่อใช้งานร่วมกัน พร้อมกันนั้นก็จะมี sub-panel ที่ซ่อนเอาปุ่มกด-ปรับตั้งการใช้งานปลีกย่อยซ่อนไว้ภายใน ไม่ว่าจะเป็น Meter Selector, Input Selector (Balanced / Unbalanced) รวมทั้ง Gain Selector (-12 dB, -6 dB, -3 dB และ MAX)
ส่วนแผงหลังเครื่องนั้น นอกจากจะมีช่องเสียบต่อสายสัญญาณขาเข้าทั้งแบบ Balanced และ Unbalanced อย่างละ 1 ชุด พร้อมขั้วต่อสายลำโพงขนาดใหญ่แบบ Heavy Duty รองรับกับสายลำโพงขนาดหน้าตัดใหญ่ๆ ได้โดยตรง ติดตั้งมาให้ 2 ชุด สะดวกต่อการใช้งานแบบไบ-ไวร์ (ไม่มี Selector Switch) และช่องเสียบต่อสายไฟฟ้าเข้าเครื่อง (Power Cord) มาตรฐาน IEC แล้ว ยังมี Mode Switch สำหรับทำการเลือกว่า จะให้ ‘A-70’ นั้นทำงานในแบบใด – Normal; Dual Mono หรือว่า Bridged Mono ได้อย่างที่ต้องการ เพื่อความเหมาะสมของการใช้งานในซิสเต็ม
ผลการรับฟัง
ต้องขอขอบคุณอย่างสูงมากต่อทางร้าน ไฮเอ็นด์ ออดิโอ ที่ได้กรุณาส่งมอบ A-70 มาให้แบบใหม่กิ๊กยังไม่แกะกล่อง หลังถูกส่งมาถึงเมืองไทยกันหมาดๆ จึงเป็นหน้าที่ของผมที่จะการ burn-in เจ้า A-70 ในมือนี้ให้เข้าสู่ “พิสัย” ที่จะสามารถสำแดงศักยภาพ-สมรรถนะ และคุณภาพเสียงออกมาได้เต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น แม้ว่าก่อนที่ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นจะออกจากโรงงาน ACCUPHASE เพื่อส่งออกจำหน่ายทั่วโลก ล้วนได้รับการ burn-in มาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง คุณภาพผลิตภัณฑ์ของ ACCUPHASE จึงพร้อมใช้เมื่อถึงมือลูกค้าก็ตามที
ผมจึงใช้เวลา “เผาหัว” เจ้า A-70 ที่กินพลังงานไฟฟ้าในอัตรา 530 วัตต์คงที่ (แม้ในยามที่ไม่สัญญาณเสียงจ่ายเข้ามา) เยี่ยงนี้ยาวนานถึง 5 วันติดต่อกันรวม 120 ชั่วโมงเต็ม โดยมิได้ปิดการทำงาน – ขอย้ำครับ “มิได้ปิดการทำงานตลอด 5 วัน ช่วงหลังวันหยุดยาว” (…เล่นเอาค่าไฟฟ้าเดือนนี้ของผม พุ่งกระฉูด ผสมโรงกับค่า ft ใหม่ในตัวคูณค่าไฟฟ้าเข้าไปด้วยพอดี – ‘อ่วม’ สมชื่อเรียกขานผมเลยล่ะ …555)
…ยืนยันนะครับว่า ‘A-70’ ให้เสียง ‘จำเพาะ’ ไม่เหมือนกับเพาเวอร์แอมป์ทุกรุ่นที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ของ ACCUPHASE ยกเว้น A-200 …ด้วยลักษณะน้ำเสียงที่ละเมียด ละมุนละไม ฉ่ำชุ่ม มีน้ำนวล ในขณะเดียวกันก็โปร่งใส ฉับไวมาก รายละเอียดต่างๆ เปล่งปลั่ง แจ่มชัด ให้น้ำหนักในเสียงทุกเสียง อย่างที่เคยได้รับจากสไตล์เสียงของ A-60 Series (อย่างเช่น A-65) ทว่าการบ่งบอกสภาพบรรยากาศนั้น ทำได้เข้มข้น อบอวลมาก ช่วยให้รับรู้ได้ถึงความสมจริงในธรรมชาติ อย่างที่เคยได้รับจากสไตล์เสียงของ A-50 Series (อย่างเช่น A-55) ผมเลยขอให้คำจำกัดความว่า “5_+6_ = 70 …The Really Excellent” เพื่อบ่งบอกความเป็น ‘A-70’ ในทัศนะของผม – – – ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อแหละครับ เพราะรับฟังด้วยหูตัวเองนี่นา…
“ทั้งอิ่ม ทั้งฉ่ำ ทั้งฉับไว ทั้งหนักแน่น ทั้งละมุนละไม และเปี่ยมในบรรยากาศ ครบสมบูรณ์จริงๆ ” รับรองครับว่า ผมไม่ได้พูดปด-โกหก-โกห้า หรือว่า เพ้อเจ้อ เพราะว่า อากาศร้อนจัดหรอกนะครับ เฉพาะอย่างยิ่ง “สภาพบรรยากาศ” ที่อบอวลอย่างมากนั้น ถูกสำแดงออกมาตั้งแต่ชั่วโมงแรกๆ ของการรับฟัง ให้รู้สึก ‘ถูกจิต-ต้องใจ’ และนำไปสู่ความประทับใจยิ่งนักในท้ายที่สุด นี่ถ้าผมมีเงินในกระเป๋าสักห้าหกแสน ผมจะไม่ส่งคืนจริงๆ ด้วยอ้าว พับผ่าซิ…
‘A-70’ มีบุคลิกเสียงที่เนียนนุ่ม ฉ่ำชุ่ม ให้ความระรื่นโสตประสาทเป็นอย่างมาก ช่วยให้ฟังอะไรก็ไพเราะเสนาะหู ด้วยความกลมกล่อม มีน้ำมีนวลชวนฟัง เป็นเสียงที่น่าเคลิบเคลิ้ม ให้ความผ่อนคลาย ฟังได้ไม่รู้หน่าย ทั้งยังช่วยให้คุณได้รับรู้อะไรต่อมิอะไรในสิ่งที่แตกต่างจากที่เคยได้ฟัง “มิใช่เกินจริง” แต่ดุจเดียวกับความเป็นจริงแห่งจินตนาการขณะรับฟังเพลงและและดนตรี ‘A-70’ ให้เสียงที่ผุดโผล่อย่างฉับพลันทันใด รวมทั้งให้อาณาบริเวณเสียงที่มีตัวมีตน ระบุตำแหน่งได้ชัดเจน ไม่เบียดบังซ้อนทับกัน ทั้งยังมีความกังวานในปลายอณูเสียง ไม่หดห้วนอัดอั้น หรือว่าถูกจำกัดการนำเสนอ เสียงทุกเสียงตลอดทั้งช่วงย่านเสียงสูงล้วนทอดตัวยาวไกล ให้ความพละพลิ้วสมจริงเป็นธรรมชาติมากจริงๆ
เริ่มแรกหยิบเอาแผ่นซีดีผลิตในอเมริกาชุด Live in America ของ KITARO (GEFD-24323) มาเปิดฟัง ก็พบว่าช่วงต้นของเพลงแรกที่มีเสียงฟ้าร้องครืนครั่นนั้น ‘A-70’ สามารถถ่ายทอด-บ่งบอกออกมาอย่างน่าทึ่งมาก โดยเสียงฟ้าร้องนั้นขึ้นไปลอยอยู่ข้างบน ซึ่งมิใช่ว่าลอยอยู่เหนือลำโพงหรอกนะ หากแต่ลอยตัวขึ้นไปสูงอยู่ในระดับเพดานห้อง ให้บรรยากาศอันสมจริงกันเลยจริงๆ ทั้งยังทรงพลัง คำรามคำรน สะท้านสะเทือน ขั้วปอด-ตับ-ไต-หัวใจเลยทีเดียว ยืนยันได้ว่า เสียงเบสนั้นลึกล้ำจนถึงก้นบึ้ง
จากนั้นหยิบเอาแผ่น Happy Trails (Round-up 2) ของ TELARC มาเปิดฟังแค่เพลงแรกที่เป็นเสียงต้อนฝูงวัวของเหล่าคาวบอย ก็รับรู้ถึงความตลบอบอวลคละคลุ้งของฝุ่นผงธุลีดิน ‘A-70’ ถ่ายทอดออกมาชนิดที่ว่าน่าทึ่งมากอย่างกับเหตุการณ์จริงๆ เลยทีเดียว ‘A-70’ ให้พลัง-ความฉับพลัน สดสว่าง กระจ่างชัด รวมทั้งน้ำหนักเสียงทุกๆ เสียงของเครื่องเคาะจังหวะ (percussions) ยามที่ถูกเคาะ แม้จะเพียงแค่แผ่วเบา พร้อมด้วยความกังวานติดตามมาในช่วงปลายหางเสียงอย่างสมจริง จากแผ่น The Kroumata Percussion Ensemble (BIS CD-232) ที่เป็นการบันทึกเสียงสารพัดเครื่องเคาะจังหวะ ทั้งกลองเล็ก-กลองใหญ่ ฆ้องไทย-ฆ้องยักษ์ รวมถึงระนาดฝรั่ง ที่บรรเลงแบบโชว์ไดนามิกเสียงไว้อย่างสะใจ
‘A-70’ บ่งบอกได้ถึงทรานส์เซียนต์และทิมเบอะ (timbre) ของเสียงดนตรีแต่ละชิ้นแต่ละประเภทออกมาให้ได้รับรู้อย่างแม่นยำ รวมทั้งสภาพบรรยากาศของโถงบันทึกเสียงก็ได้ถูกถ่ายทอดออกมาให้เราสัมผัสรับรู้ถึงมวลอากาศที่โอบล้อมตัวเราอย่างสมจริงด้วยเช่นกัน ยามที่ฟังเพลงคลาสสิกแผดสนั่น ประโคมคำรนอย่างเต็มที่ กำลังขับมหาศาลที่ซ่อนไว้ภายในของ ‘A-70’ ทำให้รับฟังเพลงที่บรรเลงโดยวงออร์เคสตร้ากว่าร้อยชิ้นได้อย่างยิ่งใหญ่อลังการ สะท้านสะเทือนเลื่อนลั่น ไม่ปรากฏอาการอัดอั้นบีบคั้น ความกว้างใหญ่มโหฬารของวงออร์เคสตร้าถูกถ่ายทอดออกมาจนล้นเลยผนังห้องด้านข้าง และทะลุเลยผนังหลังห้องออกไปไกล ในขณะที่มิติความสูงนั้นบ่งบอกออกมาได้เยี่ยมยอดมาก
การแยกแยะตำแหน่งแห่งที่ของเสียงที่อยู่ชิดติดกัน จะไม่ปรากฏอาการมั่ว หรือสับสนซ้อนทับ-กลบกลืนกัน กลับสามารถรับฟังได้ถึงการเหลื่อมห่างจากกัน อย่างมีปริมณฑล ทั้งยังแยกความสูง-ต่ำของเสียงที่ตัดกันได้ชัดเจน ในเสียงร้องประสานกันกว่า 200 ชีวิตทั้งหญิงและชายในแผ่น POSTCARDS (Reference Recording RR-61CD) เสียงเบสนั้นทั้งทรงพลัง และทอดตัวอย่างลึกล้ำจนถึงก้นบึ้ง ยิ่งคุณใช้ระบบลำโพงขนาดใหญ่ที่ตอบสนองเสียงเบสลงไปได้ถึง 20 เฮิรตซ์ ‘A-70’ จะทำให้คุณได้ทึ่งในเสียงออร์แกนท่อจากแผ่น CANTATE DOMINO ของ PROPRIUS
พลังแรงกระแทกกระทั้นทั้งหนักทั้งแน่น อันสืบเนื่องจากผลของภาคจ่ายไฟมหึมา รับฟังเพลงร็อกได้แรงกระแทกกระทั้นชนิดสะเด็ดสะเด่าซะใจ (PINK FLOYD ชุด The Wall (MFSL UDCD 2-537) เสียงปืนยาวเสียงปืนใหญ่ก็ถูกส่งมอบออกมาอย่างกัมปนาท มีระลอกคลื่นอากาศตามติดมาอย่างสมจริง (Ein Straussfest ของ TELARC : CD-80098) ในด้านการถ่ายทอดมวลบรรยากาศเสียง (atmosphere) นั้น เมื่อรับฟังจากแผ่น TEST RECORDS ของ CHESKY RECORDS (CHESKY RECORDS JD37) จะสามารถรับรู้สภาพอะคูสติกแสดงถึงความโอ่โถงกว้างขวางภายในห้องโถงที่ใช้บันทึกเสียงในหลายต่อหลายเพลงด้วยกัน และเมื่อรับฟังจากแผ่น DIGITAL TEST ของสังกัด PIERRE VERANY (PIERRE VERANY PV 788031-32) ซึ่งบันทึกเสียงพลุ-ดอกไม้เพลิงแบบสดๆ ในบรรยากาศงานเฉลิมฉลองจริงๆ ทันทีที่เปิดฟังประสาทหูจะสัมผัสเข้ากับสภาพอณูบรรยากาศ, เสียงเด็กร้องตะโกนเสียงผู้คนที่จับกลุ่มห้อมล้อมส่งเสียงพูดคุยกัน, เสียงดอกไม้เพลิงที่พุ่งสูงขึ้นไปจนแตกปะทุส่งแรงกระแทกต่อผิวสัมผัส อีกทั้งยังรับรู้ถึงมวลอากาศโล่งแจ้งรายรอบตัวเรา
นอกเหนือจาก ‘A-70’ จะเป็นแอมป์ให้เสียงเนียนนุ่ม ฉ่ำชุ่ม มีน้ำนวล ละมุนละไม ยังเป็นแอมป์ที่ทรงพลัง อิ่มแน่น กระแทกกระทั้น ฉับพลันทันใด ให้น้ำหนักเสียงที่มีตัวมีตนอย่างสมจริง เพียบพร้อมด้วยความไหลลื่น พละพลิ้ว และเต็มเปี่ยมในรายละเอียดหยุมหยิม ถึงขนาดสามารถจำแนกแยกแยะรายละเอียดเสียงเล็กๆ น้อยๆ ที่สอดแทรกเป็นอณูเสียงอันแผ่วเบาได้อย่างไม่ต้องเงี่ยหูฟัง
เมื่อลองนำแผ่นเพลงร้องเสียงผู้หญิงระดับอ้างอิงของ ALR-JORDAN ชุด VOICES มาเปิดฟัง เริ่มจากเพลงแรก เสียงร้องของ Cheryl Wheeler นั้นเปี่ยมด้วยรายละเอียดในน้ำเสียง ชัดเจนมากกับการออกเสียงอักขระ กระทั่งเสียงขยับริมฝีปาก อีกทั้งสุ้มเสียงก็ยังมีมวลน้ำหนักและให้ความกังวานสมจริงดังเสียงมนุษย์ จากแผ่นซีดีชุด The Clarity Collection (Clarity Records CCD-1010) ในเพลง “La La Means I Love You” รับรู้ได้ถึงมวลอากาศชัดเจนมาก เสียงของนักร้องสาว อยู่หน้าแนวเสียงชิ้นดนตรีออกมาชัดเจน แม้กระทั่งเสียงกระดิ่งเบาๆ ก็ยังรับฟังได้ไม่ถูกกลบไปจากสารพัดเสียงดนตรี
ยิ่งฟังก็ยิ่งคึกคัก… หยิบจับแผ่น POMP&PIPES! (Reference Recording RR-58CD มาเปิดฟัง ยืนยันได้เลยว่า ช่วงที่เพลง 1 และ 2 ของแผ่นนี้กำลังแผดสนั่น ประโคมคำรนอย่างเต็มที่นั้น เสียงทุกเสียงก็ยังคงยิ่งใหญ่ไม่ปรากฏอาการอัดอั้น-บีบคั้น ความอลังการของวงออร์เคสตร้าถูกถ่ายทอดออกมาจนล้นเลยผนังห้องด้านข้าง และให้ระดับแถว/ชั้นลึกเข้าไปหลังตำแหน่งตั้งวางระบบลำโพง พร้อมด้วยมิติความสูงที่บ่งบอกออกมาได้อย่างสมจริง สำแดงถึงเรี่ยวแรงพลัง รวมทั้งความฉับพลันทันใด ปลดปล่อยได้เต็มที่ไม่มียั้ง…! ‘A-70’ ทำให้ต้อง “อึ้ง” ไปกับพลังความกระหึ่ม กึกก้องของวงออร์เคสตร้าาขนาดใหญ่ ที่กำลังบรรเลงแบบ ‘ฟูล สเกล’ ในห้องฟัง ขนาดที่ว่าปรับเร่งปุ่มโวลลุ่มขึ้นไปจนถึงระดับเลยเที่ยงวัน เสียงทุกเสียงก็ยังคงยิ่งใหญ่ไม่ปรากฏอาการอั้นเครียดเค้นหรือตื๊อแต่อย่างใด
ตามต่อด้วยการรับฟังจากแผ่น“CANTATE DOMINO” (PROPRIUS PRCD 7762) ที่ ‘A-70’ สามารถแจกแจงรายละเอียดออกมาอย่างน่าตะลึงงัน เสียงทุ้มที่ทอดตัวลงไปลึกถึงก้นบึ้ง พร้อมด้วยแรงสั่นไหวของมวลอากาศเป็นระลอก กระทั่งเสียงออร์แกนท่อที่ราวกับได้พ่นเป็นลมเป็นมวลอากาศออกมาให้รับรู้ เมื่อถึงคราเป็นเพลงร้อง เสียงนั้นก็กระจายไม่กระจุกตัว รับรู้ได้ถึงตำแหน่งแห่งที่ พร้อมด้วย “ความสูง” ของเสียงนั้นๆ ที่ลอยตัวอยู่เหนือลำโพงขึ้นไปชัดเจน พร้อมด้วยสภาพบรรยากาศเสียงภายในโถงของโบสถ์ที่ใช้บันทึกเสียงนั้น …ช่างอบอวลจริงๆ
สรุปส่งท้าย
‘A-70’ นั้นมีลักษณะน้ำเสียงที่เนียน ฉ่ำ ให้ความฉับไว ไหลลื่น ได้ฟังแล้วระรื่นโสตประสาทเป็นอย่างมาก ทั้งยังอิ่มอุดม กลมกล่อม มีน้ำมีนวลชวนฟัง ให้ความผ่อนคลาย สรรพเสียงที่ถูกถ่ายทอดออกมาล้วนอยู่บนความเป็นแฟลต (flat) อย่างแท้จริง ไม่มีการเน้นช่วงย่านใดเป็นพิเศษจนรู้สึกเด่นล้ำ เบสไม่หนาจนเสียงกลางฟังอยู่อุ้ยอ้าย เสียงสูงก็มิได้ถูกเค้นให้โดดเด่นจนเกรี้ยวกราด-ชัดเจนจนกลายเป็น “เสนอหน้า” คุณจะฟัง ‘A-70’ ได้ไม่รู้หน่าย นานเท่านาน อย่างต่อเนื่องเรื่อยๆ ไป
สัญญาณเสียงฉับพลัน จะผุดโผล่อย่างฉับไว และให้อาณาบริเวณเสียงที่มีตัวตน ระบุตำแหน่งได้ชัดเจน ไม่เบียดบังซ้อนทับกัน ทั้งยังให้ความกังวานหวานพลิ้วในทุกอณูเสียง เสียงทุกเสียงที่รับฟัง สัมผัสได้ถึงความมีตัวตนของเสียง เป็นเสียงที่มีวิญญาณ มีลมหายใจ มิใช่เป็นเพียงแค่เสียงนั้นๆ ชนิดแทบจะแยกแยะออกมาได้เป็นเสียงเฉพาะตัวของแต่ละคน-แต่ละคน-เป็นคนๆ ไปกันเลยทีเดียว ‘A-70’ ให้ความสมจริงอย่างเป็นธรรมชาติในสรรพเสียงที่รับฟัง ในขณะที่ไดนามิกนั้นก็ฉับพลันทันใด และยังให้รายละเอียดเสียงในระดับ ‘ระยิบระยับ’ ทั้งยังได้มาซึ่งพละกำลังอันยิ่งใหญ่มหึมา มีพิกัดกำลังขับได้ไม่จำกัดกระนั้น
ดังนั้น “A-70” จึงมิใช่เป็นเพียงแค่เพาเวอร์ แอมป์ -ธรรมดาๆ – เท่านั้น …ที่อาจถูกมองผ่านไป เพราะเห็นเป็นแค่ว่า Stereo Power Amplifier โดยยังมิได้พินิจพิจารณาอย่างถ่องแท้ “จากการรับฟัง” ด้วยหูตัวคุณเอง
ขอขอบคุณ ไฮเอ็นด์ ออดิโอ โทร.0-2611-4809 ที่เอื้อเฟื้อ ACCUPHASE A-70 มาให้ได้ทดสอบกันในครั้งนี้
…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..