Test Report: เครื่องเล่นซีดี XTZ รุ่น CD-100/11
หัสคุณ
สวัสดีครับและแล้วปี พ.ศ. 2558 ก็ได้ผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ณ ขณะนี้ทุกคนได้ก้าวสู่ปีใหม่ แล้ว จึงถือโอกาสนี้ขออวยพรให้แฟนๆ นักอ่านรวมทั้งทีมงานของนิตยสาร WHAT HI-FI? ทุกท่านจงประสบแต่ความสุข เรื่องร้ายๆ ที่ผ่านเข้ามาในปีเก่า ก็ขอให้มันผ่านไป ปีใหม่นี้ขอให้มีแต่สิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพที่แข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ คิดหวังสิ่งใดขอให้สำเร็จสมปรารถนาตลอดปี พ.ศ. 2559 และตลอดไป ขอให้เป็นแฟนนิตยสาร WHAT HI-FI? และติดตามงานเขียนกันต่อไปนะครับ พวกเราเองก็ยังคงมุ่งมั่น ทำงานกันอย่างทุ่มเทต่อไปเช่นกันครับ
มาเข้าเรื่องกันดีกว่าครับ เมื่อครั้งก่อนพวกเราได้รับลำโพงของ XTZ รุ่น MASTER M2 มาทดสอบก็ได้พบกับความประทับใจกันไปแล้ว มาครั้งนี้ก็มีเครื่องเล่นซีดีของ XTZ รุ่น CD 100/11 เข้ามาเป็นคำรบที่สองก็นับว่าน่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน ถึงแม้นักเล่นนักฟังในยุคนี้จะหันเหความสนใจไปที่ระบบ DIGITAL DOWNLOAD กันเป็นหลัก สำหรับแผ่นเพลง CD และเครื่องเล่นซีดีนั้นอาจจะถูกมองว่าเป็นเรื่องรองลงไป แต่ถึงยังไงก็ยังมีนักเล่นนักฟังที่สะสมแผ่น CD ไว้เป็นจำนวนมากอยู่เช่นกัน เพราะฉะนั้นเครื่องเล่นซีดีก็ยังคงมีส่วนแบ่งและช่องว่างในตลาดที่จะเข้ามาเติมเต็มกับความต้องการเหล่านั้นได้ แม้จำนวนอาจลดน้อยถอยลงบ้างก็ตาม ซึ่งถ้ามองในแง่ดีนั้นการแข่งขันก็จะสูงขึ้นผู้ผลิตต่างๆ ก็ต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของเครื่องเล่นซีดีให้มากขึ้นโดยที่มีราคาจำหน่ายที่ลดลงหรือถูกลงกว่าแต่ก่อน ประโยชน์ก็จะตกกับเหล่านักเล่นนักฟังเป็นสำคัญ บางท่านอาจจะมองหรือมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไปได้ แต่ก่อนอื่นเรามาดูที่ CD-100/11ของ XTZ กันดีกว่าครับ
ก่อนจะว่ากันถึง CD-100/11เรามาดูประวัติและที่มาของ XTZ กันอีกครั้ง XTZ เป็นแบรนด์เครื่องเสียงจากประเทศสวีเดน ก่อตั้งขึ้นโดยมิสเตอร์ OLLE ELIASSON ในปี ค.ศ. 2004 ตัวของ OLLE ELIASSON นั้นได้ให้ความสนใจในดนตรีและไฮ-ไฟ ตั้งแต่เขามีอายุเพียง 13 ปี เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมก็เข้าศึกษาต่อทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ในระดับมหาวิทยาลัยจนสำเร็จการศึกษาในปี ค.ศ. 1987 เขาเริ่มต้นทำงานเกี่ยวกับระบบเสียงมาอย่างต่อเนื่องพร้อมกับเดินหน้าไปบนเส้นทางของไฮ-ไฟ มาโดยตลอด และด้วยใจรักเขาจึงหันมาออกแบบลำโพงคุณภาพดีแต่มีราคาที่สามารถจับต้องได้ให้กับเหล่านักฟังผู้ต้องการเสียงดนตรีที่เป็นเลิศ ต่อมาเขาเริ่มมีชื่อเสียงจากการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ในการวัด MEASUREMENT SYSTEMS อย่าง ROOM ANALYSER เมื่อสั่งสมประสบการณ์มาอย่างยาวนานเกือบ 30 ปีและคิดว่าถึงเวลาที่เหมาะสมแล้ว ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจก่อตั้ง XTZ ขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นที่จะนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ที่สามารถจะถ่ายทอดพละกำลัง รายละเอียด ที่สามารถจะเข้าถึงในส่วนลึกของความรู้สึกและอารมณ์ด้วยสุนทรียภาพทางเสียง ซึ่งผลปรากฏว่า XTZ ก็ประสบความสำเร็จมาด้วยดี และค่อยๆ เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยที่สำคัญของ XTZ ที่นำมาสู่ความสำเร็จนั้นก็คือ การเน้นสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีความคุ้มค่าเกินราคาพร้อมกับวางระดับราคาจำหน่ายถึงมือผู้รับได้อย่างน่าสนใจ เหตุผลที่ทาง XTZ สามารถวางราคาจำหน่ายได้อย่าง ‘โดนใจ’ นักเล่นนักฟังทั้งหลายก็ด้วยนโยบายการตลาดที่ OLLE ELIASSON คิดขึ้น ด้วยการตัดตัวแทนจำหน่ายออกจากระบบโดยสิ้นเชิง จึงทำให้ทาง XTZ ไม่มีค่าการตลาดที่ต้องบวกเพิ่มเข้าไปในสินค้านั่นเอง หลายท่านอาจจะสงสัยแล้ว XTZ ใช้ช่องทางไหนในการจำหน่ายและสื่อสารกับลูกค้ากันเล่า ? คำตอบก็คือ XTZ ใช้สื่อทางโซเซี่ยลมีเดียในการสื่อสารแบบตรง (DIRECT ONLINE) กับผู้ที่สนใจนั่นเอง สำหรับวิธีในการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์กับทาง XTZ นั้นจะมีด้วยกัน 2 วิธี คือ หนึ่งชำระเงินของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ทาง XTZ จะจัดส่งสินค้าไปให้คุณและให้เวลา 3 อาทิตย์ (21วัน) เพื่อฟังและตัดสินใจเมื่อครบตามกำหนดแล้วคุณรู้สึกยังไม่พอใจในสินค้า คุณก็เพียงจัดส่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมด (ในสภาพดีสมบูรณ์) คืนให้กับทาง XTZ โดยทาง XTZ จะโอนเงินคืนแบบเต็มจำนวนหลังจากที่หักส่วนของค่าขนส่งแล้วเท่านั้น สำหรับวิธีที่สองนั้น ทาง XTZ จะให้วางมัดจำในจำนวนที่มากสักหน่อย แล้วทาง XTZ จะจัดส่งชุดสำหรับเดโมหรือชุดสำหรับให้ยืม ถ้าคุณชอบใจในคุณภาพเสียง คุณก็เพียงจ่ายส่วนต่างที่ขาดและส่งชุดเดโมดังกล่าวคืนทาง XTZ จะจัดส่งชุดใหม่เอี่ยมถอดด้ามกลับไปให้แทน แต่ถ้าคุณรู้สึกไม่ชอบหรือไม่พอใจ ก็จัดส่งชุดเดโมดังกล่าวกลับไปให้ทาง XTZ จากนั้นทางXTZ ก็จะโอนเงินมัดจำทั้งหมดหลังจากที่หักส่วนของค่าขนส่งแล้วคืนให้เช่นกัน ถือว่าเป็นวิธีที่โดนใจนักเล่นนักฟังในแถบยุโรป ที่จะมีโอกาสได้ลองฟังกับชุดซิสเต็มของตนเอง ภายในห้องฟังจริงที่บ้านของตัวเองอย่างเต็มที่ ไม่ต้องเหนื่อยตระเวนฟังแล้วสุดท้ายเมื่อตัดสินใจจ่ายเงินก็ยังไม่มั่นใจว่าเมื่อนำลำโพงคู่นั้นกลับมาที่บ้านแล้วจะได้เสียงเหมือนกันกับที่ฟังที่ร้านหรือเปล่า แต่วิธีการตลาดดังกล่าวไม่สามารถใช้กับประเทศที่อยู่ห่างไกลอย่างประเทศไทยของเราได้อย่างเป็นผล ทำให้นักเล่นนักฟังในบ้านเราหมดโอกาสที่จะได้สัมผัสฟังผลิตภัณฑ์ของ XTZ ไปอย่างน่าเสียดาย แต่แล้วทาง DISCOVERY HIFI ได้เล็งเห็นว่าผลิตภัณฑ์ของ XTZ นั้นมีความน่าสนใจ จึงได้ขอเป็นตัวแทนและนำเข้ามาเพื่อเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าสำหรับนักเล่น นักฟังในบ้านเรา นี่จึงถือเป็นโอกาสที่ดีและน่าสนใจอย่างยิ่ง
ตัวของ OLLE ELIASSON เองนั้นก็ยังได้ติดต่อกับเหล่าเอ็นจิเนียร์ ,นักออกแบบ รวมทั้งผู้ผลิตที่มีประสบการณ์ในวงการเครื่องเสียงที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งองค์ความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ ที่ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นใหม่ เพื่อให้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่คืบหน้าไปอย่างไม่เคยหยุดยั้ง XTZเองยังได้จับมือร่วมงานกับบริษัทผู้ผลิตต่างๆ ทั้งในยุโรป, สหรัฐอเมริกา และเอเชีย ผลิตภัณฑ์ของ XTZบางส่วนจึงถูกผลิตขึ้นในประเทศจีนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาอย่างเช่น เครื่องเล่น CD-100/11เป็นต้น สำหรับลำโพงนั้นตัวตู้จะถูกผลิตขึ้นที่ประเทศจีนเช่นกัน จากนั้นจึงถูกส่งมาประกอบไดรเวอร์รวมทั้งเน็ตเวิร์กที่ประเทศสวีเดนเอง ดังนั้น XTZ จึงไม่ใช่ผู้ผลิตแบบมือใหม่ หัดขับอย่างที่หลายคนคิดแต่ XTZ คือผลิตภัณฑ์ที่ได้รวบรวมเอาความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัวทาง XTZ ยังได้ใส่ใจและให้ความสำคัญกับการออกแบบที่ผ่านการใคร่ครวญมาอย่างรอบคอบ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของ XTZ ดูทันสมัย สวยงาม เพื่อบรรลุสู่เป้าหมายของ XTZซึ่งก็คือ การรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีความคุ้มค่าที่สุด เพื่อที่เหล่านักเล่นนักฟังจะสามารถครอบครองเครื่องเสียงที่มีคุณภาพชั้นเยี่ยมในราคาที่ประหยัด เพิ่มพูนความสุขให้กับชีวิตอย่างคุ้มค่ากับช่วงเวลาของอายุที่แสนสั้นนักของมนุษย์!
CD-100/11
สำหรับเครื่องเล่น CD-100 ถือว่าเป็นเครื่องเล่นซีดีรุ่นแรกของ XTZ ที่ได้ผลิตขึ้น เพื่อเติมสายการผลิตให้ครอบคลุมกับความต้องการของนักเล่นนักฟังอย่างทั่วถึง ดังนั้นทาง XTZ จึงได้วางหลักเกณฑ์ที่ถือว่าเป็นแนวทางที่สำคัญในการออกแบบเครื่องเล่นซีดีของตนเองขึ้น เริ่มจากการที่ XTZ ได้ทำการคัดสรรเอาระบบฐานงาน หรือ PLATFORM ที่เข้ากันหรือตรงกับการออกแบบของ XTZ เอง โดยมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับระบบขับเคลื่อนที่จะต้องทำงานได้อย่างราบรื่น เงียบ มีเสียงรบกวนที่ต่ำ อันดับต่อมาทาง XTZ ยังเชื่อว่าเครื่องเล่นซีดีที่ดีนั้นไม่จำเป็นต้องมีราคาที่แพงลิบลิ่ว แต่เครื่องเล่นซีดีที่ดีต้องมีราคาที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้ สำหรับตัวถังและโครงสร้างนั้นถือเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจและให้ความสำคัญอย่างไม่ควรที่จะมองข้าม ดังนั้นตัวถังและโครงสร้างจึงต้องมั่นคงและแข็งแรงเป็นพิเศษ เรื่องของเทคโนโลยีก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ต้องมีเทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือและวางใจได้ การใช้งานต้องมีความคล่องตัวดังนั้นจึงต้องมีช่องเอาท์พุทที่หลากหลาย ครอบคลุมเพื่อเหมาะกับการใช้งานทั้งในระดับเริ่มต้นและระดับสูงแบบไฮเอนด์ นี่คือโจทย์หลักๆ ที่ XTZ ได้ตั้งไว้และนี่คือที่มาของ CD-100 นั่นเอง !
ทาง XTZ ได้นำเสนอเครื่องเล่นซีดีรุ่น CD-100 ออกมานานหลายปีแล้ว แต่ทาง XTZ ก็ได้ทำการปรับปรุงและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จน ณ ปัจจุบันก็คือรุ่น CD-100/11 นี่เอง
รูปลักษณ์และการออกแบบ
CD-100 ถูกแพ็กมาในกล่องแบบ 2 ชั้น เพียงแค่เปิดกล่องพร้อมกับยก CD-100/11 คุณก็สัมผัสได้ถึงน้ำหนักที่มากกว่าเครื่องเล่นซีดีโดยปกติทั่วไปในทันทีกับน้ำหนักตัวที่มากถึง 9 กก. ต้องถือว่าหนักใช้ได้และบึกบึนเอาการเลยที่เดียว สำหรับ CD-100/11 ที่ได้รับมาเป็นเครื่องสีดำ ดูขรึม ยิ่งเมื่อได้เห็นหน้าค่าตาของ CD-100/11แบบเต็มๆแล้วต้องถือว่าเป็นเครื่องเล่นซีดีที่มีหน้าตาที่คมเข้มไม่เบา ที่สำคัญยังแกร่งสมกับความตั้งใจของ XTZ จริงๆ ตัวถังด้านล่างเข้าใจว่าน่าจะขึ้นรูปจากแผ่นโลหะที่มีความหนาประมาณ 3 มม. ฝาด้านหลังรวมทั้งฝาด้านข้างเองก็ขึ้นรูปจากแผ่นโลหะที่มีความหนา 3 มม. ด้วยเช่นกัน ตัวแผงหน้านั้นขึ้นรูปจากอะลูมิเนียม (SOLID ALUMINIUM) ที่หนาถึง 19 มม. สำหรับแผงหน้าจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันประกอบด้วยส่วนกลางที่เป็นที่ตั้งของโลโก้ XTZ หน้าจอดิสเพลย์และชุดถาดรับแผ่นพร้อมกับปุ่มควบคุมทั้งหมด ในขณะที่ด้านข้างทั้งซ้ายและขวาจะมีเส้นเบรคและการปาดโค้งไปทางด้านข้างเพื่อไม่ให้ CD-100/11 ดูแข็งทื่อจนเกินไป ฝาบนเองก็เช่นกันถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ตามแนวของแผงหน้าตัวฝาบนจะมีความหนา 3 มม. โดยส่วนตรงกลางจะถูกยึดตรึงด้วยน็อตในขณะที่ฝาบนทั้งด้านซ้ายและขวานั้นจะออกแบบให้เป็นร่องเข้าล็อก ซึ่งบริเวณร่องดังกล่าวนี้จะมีความหนาถึง 9 มม สำหรับการยึดนั้นต้องสไลหรือดันเข้ามาจากทางด้านหลังเพื่อช่วยเสริมความแข็งแกร่ง จากนั้นจึงยึดติดด้วยน็อตทั้งด้านบนและด้านหลังอีกที ถึงแม้ด้านบนและด้านข้างจะมีการเจาะร่องเป็นแนวโดยตลอดเหมือนกับเพื่อเป็นการระบายความร้อนจากภายใน แต่จริงๆแล้วภายในจะมีการปิดทับด้วยแผ่นพลาสติกใสทั้งหมด โครงสร้างและตัวถังของ CD-100/11 ต้องนับว่าแข็งแกร่งและแน่นหนามากเป็นพิเศษเทียบได้กับเครื่องเล่นซีดีระดับหลักแสนได้อย่างสบายๆ อาจบางทีดีกว่าอีกหลายๆ เครื่องซะด้วยซ้ำ
CD-100/11 จะมีปุ่มควบคุมมาให้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น ที่แผงหน้าจึงมีเพียงปุ่มควบคุมเพียง 6 ปุ่มเท่านั้น เริ่มจากปุ่ม เปิด/ปิด ในโหมด STANDBY ที่วางอยู่ที่มุมซ้ายด้านล่างของแผงหน้าตรงกลาง ทางขวามือที่มุมบนจะมีตัวอักษรคำว่าDEVINE ซึ่งมีความหมายว่า”ยอดเยี่ยมหรือเป็นเลิศ” ต่ำลงมาด้านข้างของถาดรับแผ่น จะเป็นปุ่ม EJECT เพื่อเปิด/ปิดถาดรับแผ่น ด้านล่างจะมีปุ่มอีก 4 ปุ่มประกอบด้วยปุ่ม PREVIOUS (ย้อนเพลง), NEXT (ข้ามเพลง), PLAY/PAUSE และปุ่ม STOP CD-100/11 ถูกโปรแกรมมาในกรณีที่เปิดเครื่องแล้วไม่ได้ใช้งานหรือลืมปิดเครื่อง ตัว CD-100/11 จะทำการปิดเครื่องโดยอัตโนมัติเมื่อเวลาผ่านไปนาน 30 นาที และจะอยู่ในโหมด STANDBY ทันที สำหรับจอดิสเพลย์จะเป็นไฟ LED สีเขียวอมฟ้ามีขนาดที่พอเหมาะ มีความสว่างอ่านได้ง่าย และมองเห็นได้ชัดเจน แม้จะนั่งห่างออกมาพอสมควร ตัวจอสามารถปรับระดับความสว่างได้ 3 ระดับ คือ สว่าง, DIMMED และปิดมืดโดยสั่งงานผ่านรีโมทคอนโทรล
ที่ด้านหลัง CD-100/11 จะมีขั้วต่ออะนาลอกเอาท์พุทแบบ RCA ชุบทองมาให้ 2 ชุด มีขั้วต่อแบบ BALANCED XLR OUTPUT มาให้ 1 ชุด มีดิจิตอลเอาท์พุทแบบ RCA COAXIAL, แบบ TOSLINK/OPTICAL และแบบ BALANCED (AES/EBU) มาให้อย่างละ 1 ชุด ขั้วต่อทั้งหมดเป็นแบบเคลือบทองมีขั้วต่อแบบ TRIGGER INPUT 5-12 VDC มาให้เพื่อเชื่อมต่อกับเต็มของ XTZ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเปิด/ปิดผ่านรีโมทคอนโทรลอย่างสะดวก ด้านขวามือจะเป็นปุ่มสวิตช์เปิด/ปิดเครื่องตัวหลัก ด้านซ้ายจะเป็นขั้วต่อสายไฟ AC แบบซ็อกเก็ต 2 ขา IEC ไม่มีขากราวด์ สำหรับขารองใต้เครื่องทั้ง 4 จะเป็นพลาสติก เนื้อดี ออกแบบให้มีโครงสร้างแบบรังผึ้ง (HONEYCOMB) เพื่อช่วยลดแรงสั่นสะเทือนได้ดี
ภายใน CD-100/11 จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักตามแนวของแผงหน้ารวมทั้งฝาครอบด้านบนโดยภายในจะมีแผ่นเหล็กหนาประมาณ 1 มม. คาดโครงเป็นแนวยาวตลอดจากด้านหน้าถึงด้านหลัง ตัวคาดโครงดังกล่าวนอกจากช่วยเสริมความแกร่งแล้วยังทำหน้าที่ช่วยป้องกันการรบกวนระหว่างภาคต่างๆภายในได้ดีอีกด้วย สำหรับด้านซ้ายจะเป็นที่ตั้งของภาคจ่ายไฟทั้งหมด เริ่มจากหม้อแปลงแบบเทอร์รอยด์ขนาดเขื่องวางตัวอยู่ทางด้านหลังสุด ทำงานร่วมกับคาปาซิเตอร์ของ ELNA มีการแยกภาคจ่ายไฟ สำหรับภาคอะนาลอกและดิจิตอลออกเป็นอิสระจากกัน ภาคจ่ายไฟและวงจรเร็ทกูเลตจะถูกวางบนแผ่นปริ้นท์ที่กินพื้นที่เกือบทั้งหมดในส่วนนี้ ตรงส่วนกลางนั้น ทางด้านหน้าจะเป็นชุดขับเคลื่อนแผ่น ทางทีมงานวิศวกรของ XTZ ใช้เวลารวมทั้งความพยายามอย่างมากในการเลือกเฟ้นระบบขับเคลื่อนที่ทำงานได้เงียบและมีประสิทธิภาพ จนมาลงตัวที่ชุดขับเคลื่อนของSANYO HD 650 ที่ทำงานได้ตรงกับที่ทาง XTZ ต้องการ ไม่เพียงเท่านั้นทาง XTZ ยังได้ทำฝาครอบเหล็กพิเศษที่มีความหนา 1 มม. ครอบปิดชุดขับเคลื่อนเอาไว้ทั้งหมดแบบ DOUBLE SHIELDED CD-MECHANICS เพื่อป้องกันการรบกวนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น มีการออกแบบภาคเอาท์พุทให้มีอิมพีแดนซ์ที่ต่ำเป็นพิเศษ เพื่อให้การทำงานของชุดอ่านแผ่นมีความเสถียร และมีความเที่ยงตรงสูง ด้านหลังจะเป็นภาค DAC และชุดดิจิตอลเอาท์พุทบอร์ดแยกเป็นอิสระเพื่อลดการรบกวนระหว่างภาคดิจิตอลและอะนาลอกอย่างเด็ดขาด ในภาค DAC นั้นทาง XTZ เลือกใช้ชิปของ ANALOG DEVICES AD 1955 ซึ่งเป็นชิปแบบ SINGLE CHIP STEREO ทำงานแบบ MULTI-BIT SIGMA-DELTA MODULATOR มีวงจร DIGITAL INTERPOLATION FILTERS ภายในและมีภาคเอาท์พุท DAC ที่ทำงานแบบCONTINUOUS-TIME DIFFERENTIAL CURRENT OUTPUT ชิป AD 1955 นั้นสามารถนำไปใช้ได้อย่างหลากหลายทั้งในระบบ DVD-AUDIOแบบไฮเอนด์, ระบบ SACD, รวมทั้งระบบ HOME THEATRE SYSTEMSอีกด้วย ตัว AD 1955 เองนั้นสามารถรองรับระบบ 24 Bits ที่ SAMPLE RATE192 kHz ได้ สำหรับ CD-100/11นั้นเมื่อข้อมูลผ่านจาก AD1955 แล้วจะถูก UPSAMPLEขึ้นเป็น 384 kHz ทาง XTZ ไม่ได้ขยายความหรืออธิบายว่าทำอย่างไร นอกจากนี้ CD-100/11 ยังสามารถที่จะถอดรหัสแผ่นที่ถูกบันทึกมาในระบบ HDCD (HIGH DEFINITION COMPATIBLE DIGITAL) ได้ HDCD เป็นชื่อของกระบวนการในการเข้ารหัส (ENCODE) และถอดรหัส (DECODE) แบบพิเศษ เพื่อดึงเอาข้อมูลขนาด 20 Bits ที่ถูกใส่รหัสและบันทึกลงบนแผ่น CD แบบ 16 Bits ปกติทั่วไปออกมา ซึ่งจะมีคุณภาพเสียงที่ดีกว่าทั้งในแง่ของไดนามิกเรนจ์ โฟกัสและอิมเมจที่ชัดเจนพร้อมกับนำเสนอท่วงทำนองของดนตรีที่เป็นธรรมชาติ เทคโนโลยี HDCD ถูกพัฒนาขึ้นในระหว่างปี ค.ศ. 1986 และ 1991 โดย PROF. KEITH O. JOHNSONและ MICHAEL ‘PFLASH” PFLAUMER จากบริษัท PACIFIC MICROSONICS INC. และนำเสนอออกสู่ตลาดในปี ค.ศ. 1995 ทาง PACIFIC MICROSONICS เคยยืนยันว่ามีแผ่นไม่น้อยกว่า 50 ล้านแผ่นที่ผ่านการเข้ารหัส HDCD ไว้และมีอัลบั้มนับเป็นพันชุดที่วางจำหน่ายอยู่ทั่วโลก (ข้อมูลเมื่อปี ค.ศ. 1998) นอกจากนี้ CD-100/11 ยังสามารถเล่นแผ่น MP 3 จากแผ่น DVD-R ได้
ทาง XTZ ยังให้ความใส่ใจในวงจร CLOCK ภายใน CD-100/11 โดยได้แยกวงจร CLOCKING SYSTEM ออกเป็นอิสระ เพื่อให้มีค่าความคลาดเคลื่อนที่ต่ำเป็นพิเศษ (MINIMUM JITTER) สำหรับส่วนทางด้านขวามือนั้นจะเป็นบอร์ดอะนาลอกเอาท์พุททั้งหมด ทาง XTZ ได้ออกแบบภาคเอาท์พุทสเตจเป็นแบบ “REAL” ANALOG OUTPUT STAGE ออกแบบให้เป็นวงจรแบบแยกชิ้นทั้งหมด (DISCRETE) มีการใช้ทรานซิสเตอร์แบบแยกชิ้นถึง 14 ตัว/ข้าง ซึ่งทาง XTZ เข้าใจดีว่า การออกแบบวงจรในลักษณะนี้ จะทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้นแต่ก็จะมีคุณภาพที่ดีกว่าและเหนือกว่าการใช้ IC OP AMPเป็นไหนๆ ภาคอะนาลอกเอาท์พุทใน CD-100/11 จึงมีศักยภาพในการขับและส่งสัญญาณที่มีความเสถียรและมั่นคงอย่างมีคุณภาพ สำหรับการจัดวางวงจรภายในยังได้คำนึงถึงสัญญาณรบกวนและความเพี้ยนแบบ CROSSTALKทาง XTZ จึงได้ใช้ระบบ CLEAN GROUND SYSTEM และระบบ FLOATING GROUND เพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างได้ผล นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำไม CD-100/11 จึงไม่มีขากราวด์ที่ขั้วต่อสายไฟ AC
อุปกรณ์ภายในได้ผ่านการเลือกสรรเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นคาปาซิเตอร์ของ ELNA, SILMIC II, รีซิสเตอร์แบบเมทัลฟิลม์ 1% ภายในจัดวางวงจรดูเรียบร้อยสวยงาม มีการเดินสายไฟเฉพาะในจุดที่จำเป็นเท่านั้น CD-100/11 มาพร้อมกับรีโมทคอนโทรล ที่ทำจากอะลูมิเนียมมีขนาดที่เหมาะมือและมีน้ำหนักกำลังดี ดูมีความสวยงามและให้ความรู้สึกที่ดีกว่ารีโมทที่ทำจากพลาสติกโดยทั่วไป ทาง XTZ ก็ได้ปรับปรุงและพัฒนาระบบปฎิบัติการของรีโมทให้ดีขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้การควบคุมนั้นง่ายและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การออกแบบรีโมทจึงได้รับการปรับโฉมให้เหมือนกับรีโมท ที่ใช้กับอินทีเกรทแอมป์รุ่น A100D3 ของ XTZ เอง CD-100 ถูกผลิตออกมาด้วยกัน 3 สี ได้แก่ สีดำ, สีเงิน และสีดำ/เงิน สเปคของ CD-100 มีดังนี้ :
Technical Specification
Construction type : CD Player
Dimensions (HxBxD) : 110 x 443 x 370 mm (Including feet)
Weight : 9 kg
Frequency response : 20-20000 Hz (+/- 0.5 dB)
Terminals : RCA, XLR, Coax & Toslink (The Terminals are of Top Quality)
Connections :
Balanced output (XLR)
RCA output
Digital output (Coax)
Digital output (Toslink)
Specifications :
Channel Separation: >= 95 dB @ 1 kHz
S/N Ratio: >=100 dB (A Weighted)
THD+N: 0.01% (1khz) 0.01%
DAC A/D 1955
HDCD Decoder
Plays mp3 From DVD-R
ผลการทดลองฟัง
XTZ CD-100/11 มาอยู่กับพวกเราเป็นเวลานานทีเดียว ประกอบกับความบังเอิญที่ผมเองมีธุระปะปังส่วนตัวที่ทำให้ต้องห่างเว้นจากงานเขียนไประยะหนึ่งด้วยความจำเป็น แต่ทาง DISCOVERY Hi-Fi ก็มิได้เร่งรัดเวลาในการให้หยิบยืมเครื่องมาทดสอบฟังแต่อย่างใด ต้องขออภัยในความล่าช้าที่เกิดขึ้นและขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ ซิสเต็มที่ใช้ร่วมในการฟังประกอบด้วย
-ปรีแอมป์ : ADCOM GFP-750, Krell KSL
-เพาเวอร์แอมป์ : Forte F5, Krell KSA 50S
-ลำโพง : B&W 805S, XAV Patriot SE
-สายนำสัญญาณ : Vampire AI-II (RCA, Balanced XLR)
-สายลำโพง : Vampire ST-II
-สายไฟเอซี : XAV: XAC#5
-ฟิวส์ : Music Muse V2
ห้องฟังขนาด 4×8 เมตร ได้รับการปรับแต่งอะคูสติกมาอย่างดี
อันดับแรกที่ต้องเรียนให้ทราบก็คือถึงแม้ว่า CD-100/11 จะถูกใช้งานจนผ่านช่วงรันอินเครื่องไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อเปิดใช้งานทุกครั้ง ก็ควรจะให้ CD-100/11 ได้ทำงานและอุ่นเครื่องให้พร้อมเต็มที่เสียก่อน ใช้เวลาประมาณสักครึ่งชั่วโมง CD-100/11 ก็จะพร้อมที่จะให้คุณได้สัมผัสฟังคุณภาพเสียงของ CD-100/11 อย่างแท้จริง สำหรับระบบการทำงานของ CD-100/11 นั้น ทำงานได้อย่างราบรื่น การเข้าออกของถาดรับแผ่นมีความรวดเร็ว เงียบและมีประสิทธิภาพสมกับที่ทาง XTZ ได้ทำการคัดสรรมาอย่างดี การอ่านข้อมูลบนแผ่นนั้นยังถือว่าใช้เวลามากกว่าปกติเล็กน้อย เมื่ออ่านเสร็จ CD-100/11 จะไม่แสดงเวลาทั้งหมดของแผ่นบนหน้าจอ แต่จะขึ้นคำว่า STOP แทนและพร้อมต่อการสั่งงานผ่านปุ่มควบคุมบนแผงหน้าหรือบนรีโมทคอนโทรล
เริ่มแรกพวกเราได้ลองต่อสายกราวด์เข้าที่ตัวถังของ CD-100/11 เพื่อฟังความแตกต่างเปรียบเทียบกับการใช้ระบบ CLEAR GROUND SYSTEM และระบบ FLOATING GROUND ของ XTZ ผลปรากฏว่าเมื่อต่อกราวด์เข้าที่ CD-100/11 แล้ว จะให้ดุลเสียงที่นุ่มขึ้น รายละเอียดโดยเฉพาะในย่านเสียงกลางนั้นจะย่อหย่อนลง ขาดความโปร่งใสและรายละเอียด สปีดดนตรีก็จะช้าลงกว่าเดิม ดังนั้นจึงเข้าใจได้ว่าทาง XTZ ได้ออกแบบระบบกราวด์ของ CD-100/11 มาเป็นการเฉพาะ จึงไม่ควรไปต่อระบบกราวด์เพิ่มเติมแต่อย่างใดเพราะจะส่งผลต่อคุณภาพเสียงของ CD-100/11 ให้แตกต่างและผิดไปจากที่ทาง XTZ ได้ออกแบบเอาไว้ครับ
ในคาบแรกพวกเราเริ่มต้นการฟัง CD-100/11 ด้วยการเชื่อมต่อสายนำสัญญาณแบบ RCA ก่อนเป็นอันดับแรก CD-100/11 เปิดตัวด้วยน้ำเสียงที่มีความราบเรียบดีเป็นพิเศษ เสียงร้องของ BARB JUNGR นั้นชัดเจน ความสามารถในการร้องของเธอถูกถ่ายทอดออกมาทางน้ำเสียงได้อย่างน่าฟัง ชวนติดตาม CD-100/11 ถ่ายทอดเสียงร้องของเธอออกมาได้นิ่ง กระจ่างชัดโดยไม่ขึ้นขอบ เสียงของเครื่องดนตรีต่างๆ มีตำแหน่งแห่งหนของตนเองที่ชัดเจน พื้นเสียงนั้นเงียบสงัดเข้าขั้นดีเยี่ยม ทำให้คุณรู้สึกหรือสัมผัสฟังถึงช่องว่างระหว่างดนตรีที่มีอาณาบริเวณและขอบเขตที่กระจ่าง ชัดเจน ส่งผลให้เสียงดนตรีที่บรรเลงอยู่นั้นมีความเป็นอิสระ มีความโปร่ง กระจ่างชัดที่มาพร้อมกับฮาร์โมนิกที่ดีเป็นพิเศษ (BARB JUNGR: WALKING IN THE SUN/LINN RECORDS: UK)กับเสียงร้องของ JENNIFER WARNES นั้น CD-100/11 ก็ไม่สร้างความผิดหวังแต่อย่างใด เสียงร้องของเธอถูกถ่ายทอดออกมาด้วย ความกระจ่างชัดเจน พื้นเสียงนั้นเงียบสงัดดีเป็นพิเศษ ช่วยให้คุณสามารถฟังและแยกแยะรายละเอียดต่างๆออกมาได้ง่ายขึ้น คุณจะสัมผัสได้ถึงความสะอาดของน้ำเสียงพร้อมกับฮาร์โมนิกที่ดีและน่าฟัง (JENNIFER WARNES :THE HUNTER /PRIVATE MUSIC: USA) นี้ต้องถือเป็นคุณลักษณะทางเสียงที่พิเศษที่มักจะพบในเครื่องเล่นซีดีที่ถูกจัดให้อยู่ในระดับชั้นเยี่ยมเท่านั้น ที่สำคัญเครื่องซีดีชั้นเยี่ยมเหล่านี้มักจะมีราคาค่าตัวที่สูงกว่า CD-100/11 ในอัตราที่มากกว่าหลายเท่าตัวด้วยซ้ำ! นี้เท่ากับสะท้อนให้เห็นถึงความทุ่มเทที่ทางทีมงานของ XTZ ได้พยายามปรับปรุงและพัฒนา CD-100/11 มาโดยตลอด โดยเฉพาะกับการให้ความสำคัญกับวงจร CLOCK SYSTEM และภาคอะนาลอกเอาท์พุทที่เป็นแบบ “REAL” CLASS A แท้ๆ รวมทั้งเรื่องของระบบกราวด์ที่ออกแบบมาเป็นการเฉพาะสำหรับ CD-100/11ด้วยเช่นกัน
กับเสียงไวโอลีนจากฝีมือของ ISAAC STERN นั้น CD-100/11 ถ่ายทอดเสียงของไวโอลินออกมาด้วยความราบเรียบ นุ่มนวล มากกว่าจะแสดงความเด็ดขาดและดุดัน การแยกแยะรายละเอียดทำได้อยู่ในระดับที่ดี (ISAAC STERN“HUMORESQUE” FAVORITE VIOLIN ENCORES/CBS RECORDS : USA) สำหรับเสียงแหลมนั้นค่อนข้างจะเรียวบางลง เป็นเสียงแหลมที่มีความกระจ่าง ชัดเจน มีความกังวานที่มาพร้อมกับฮาร์โมนิกที่ดี ปลายเสียงแหลมจะเก็บตัวเร็ว (LARS ERSTRAND AND FOUR BROTHERS : OPUS 3/SWEDEN)
กับเสียงในย่านกลางต่ำนั้น CD-100/11 จะให้เสียงที่ค่อนมาทางบาง ย่อหย่อนในเรื่องของมวลเสียงไปบ้าง กับเสียงร้องของ JOHN MICHAEL MONTGOMERY ในเพลง I SWEAR ก็ยังสามารถถ่ายทอดความเป็นเพลงแนวคันทรีออกมาได้ดี แต่กับเสียงร้องของ COLLIN RAYE นั้นกลับเป็นเสียงร้องที่ถูกเน้นและมีอาการขึ้นจมูกมากกว่าที่คุ้นเคย (COLLIN RAYE : LOVE SONGS :EPIC/LEGACY : USA) สำหรับเสียงในย่านอัพเปอร์เบสนั้น CD-100/11 ถ่ายทอดจังหวะที่พอเหมาะ เบสนั้นแน่น กระชับ มีการย้ำเน้นของน้ำหน้กที่ดี เบสต่ำจะลดระดับของน้ำหนักลงและเก็บตัวเร็ว (THE MERRY ANGEL OPUS 5 “พญาลำพอง”)
สมรรถนะทางด้านอิมเมจนั้น CD-100/11 สามารถจัดวางและตรึงตำแหน่งของชิ้นดนตรีต่างๆ ภายในซาวด์สเตจได้มั่นคง วางระยะห่างของชิ้นดนตรีพร้อมกับแยกแยะตำแหน่งได้อย่างชัดเจน ไม่มีความคลุมเครือหรือเกิดการทับซ้อนกัน การขึ้นรูปของอิมเมจนั้นพอมีให้สัมผัสฟังได้ การจัดวางวงจะค่อนข้างเดินหน้า (FORWARD) กว่าแนวระนาบลำโพงเล็กน้อย ซาวด์สเตจทางด้านกว้างทำได้ดีและโดดเด่นกว่าทางด้านลึก
ในคาบที่สองได้ลองสลับสับเปลี่ยนมาใช้สายนำสัญญาณแบบ BALANCED XLR แทน ผลที่ได้ก็คือน้ำหนักของเสียงโดยรวมนั้นดีขึ้นกว่าตอนที่ใช้สายสัญญาณแบบ RCA สำหรับซาวด์สเตจทางด้านกว้างดูจะกระชับและเข้ารูปเข้ารอยขึ้นกว่าเดิม ที่สำคัญก็คือ ซาวด์สเตจทางด้านลึกนั้นสามารถวางระดับชั้นของชิ้นดนตรีที่ถอยลึกลงไปได้ดีขึ้นกว่าเก่ามาก สำหรับพื้นเสียงที่เงียบสงัดดีเป็นพิเศษเมื่อใช้สายสัญญาณแบบ RCAนั้น เมื่อเปลี่ยนมาใช้สายนำสัญญาณแบบ BALANCED XLR ในครานี้ก็ยิ่งทำได้ดีขึ้นกว่าเดิม ที่น่าแปลกก็คือน้ำเสียงโดยรวมจะนุ่มนวลและละเมียดละไมขึ้นกว่าคุณภาพเสียงตอนที่ได้จากการต่อสายสัญญาณแบบ RCA เสียอีก ระดับความดังของเสียงกับการต่อสายนำสัญญาณทั้ง 2 แบบ แทบจะไม่แตกต่างกัน แต่ขอแนะนำว่าถ้าจะต่อฟังเพื่อเปรียบเทียบกัน เมื่อต่อด้วยสายนำสัญญาณแบบ BALANCED XLR แล้วควรจะเร่งระดับความดังขึ้นไปอีกประมาณ 20% น่าจะเป็นความดังที่ลงตัวและเหมาะสมครับ
ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า กับ CD-100/11 นั้น การจะเลือกเชื่อมต่อด้วยสายนำสัญญาณชนิดไหนถึงจะเหมาะสม ก็ขึ้นอยู่กับบุคลิกของซิสเต็มและดุลยพินิจหรือความชอบของผู้ใช้งานเป็นสำคัญ
สรุป
CD-100/11 จาก XTZ ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทีมงานในการที่จะรังสรรค์เครื่องเล่นซีดีที่มีคุณภาพดี โดยมีราคาจำหน่ายที่คุ้มค่า สมราคา ถ้าจะพูดถึงศักยภาพทางด้านกายภาพนั้น CD-100/11 ต้องถือว่าสอบผ่าน ด้วยคะแนนที่สูงอย่างสบายๆ ทั้งวัสดุ ความแข็งแรง ความบึกบึนและความแน่นหนาของเครื่องที่ทำเอาเครื่องเล่นซีดีในระดับไฮเอนด์บางเครื่องอาจจะต้องชายตามองCD-100/11ด้วยความอิจฉา สำหรับศักยภาพทางด้านเสียงนั้น ในบางแง่มุม CD-100/11 สามารถที่จะนำเสนอออกมาได้อย่างโดดเด่นและเหนือกว่าเครื่องเล่นซีดีที่มีราคาแพงหรือสูงกว่าหลายเท่าตัวได้อย่างน่าชื่นชม เพียงแต่ CD-100/11ก็ยังมีช่องว่างที่ทาง XTZ สามารถจะปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นไปกว่านี้ได้อีก
แต่ที่แน่ๆ ก็คือในราคาระดับที่ใกล้เคียงหรือสูงกว่ากันนั้น ต้องนับว่า CD-100/11เป็นเครื่องเล่นซีดีที่มีความคุ้มค่า น่าใช้ไม่น้อย สำหรับนักเล่นที่ยังรู้สึกลังเลและให้ความสำคัญกับชื่อยี่ห้อหรือแบรนด์เนมก่อนเป็นอันดับแรก คุณอาจจะพลาดโอกาสดีๆที่จะได้สัมผัสฟังเครื่องเล่นซีดีที่มีคุณภาพที่โดดเด่นไปอย่างน่าเสียดาย สิ่งที่อยากจะแนะนำก็คือให้หาโอกาสและเวลาไปลองสัมผัสฟัง CD-100/11 จาก XTZ ดูด้วยหูของคุณเองสักครั้ง บางทีคุณอาจจะได้พบกับคุณภาพเสียงในแบบที่คุณกำลังใฝ่ฝันและค้นหาอยู่ก็เป็นได้ ถ้าคุณเปิดใจ เปิดโสตสัมผัสแห่งการรับฟัง XTZ ก็พร้อมและกำลังรอคุณอยู่ครับ!
รูปลักษณ์ : 4 ดาว
สมรรถนะ : 4 ดาว
คุณภาพเสียง : 4 ดาว
ความคุ้มค่า : 4 ดาว
โดยรวม : 4 ดาว
ขอขอบคุณ Discovery HiFi โทร. 0-2747-6710, 085-517-8292 ที่เอื้อเฟื้อเครื่องเล่นซีดีมาให้ทดลองฟังในครั้งนี้