Test Report : อุปกรณ์ปรับอะคูสติก ASC PCAD Panel “ดิฟฟิวเซอร์ ระดับเวิลด์คลาส”

0

ASC หรือ Acoustic Sciences Corporation เป็นอุปกรณ์ปรับแต่งอะคูสติกอันเลื่องชื่อจากอเมริกา ซึ่งมีชื่อเสียงในประเทศไทยมาหลายทศวรรษ 

หากนับอุปกรณ์ปรับแต่งอะคูสติกในตลาด ทั้งของในประเทศและของต่างประเทศ ซึ่งมีให้เลือกหามาใช้มากมาย ตั้งแต่ราคาไม่กี่พันบาทไปราคาหลักหมื่นหลักแสนบาทต่อชิ้นก็มีให้เห็น อุปกรณ์ปรับจูนอะคูสติกของห้องฟังเพลงเหล่านี้ หากเข้าใจถึงวิธีการใช้งาน วิธีการเล่น ส่วนใหญ่ผลออกมาในเชิงบวกที่ดี หากใช้ผิดที่ผิดททางหรือไม่เข้าใจวิธีการเล่น อาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดีก็มีให้เห็นไม่น้อย

บางห้องของนักเล่นฯ ตัดปัญหาในการลองผิดลองถูก โดยการเลือกที่จะทำห้องฟังเพลงมาตรฐาน จ้างบริษัทฯ มืออาชีพมาออกแบบและตกแต่งห้องให้สวยงาม พร้อมใส่อะคูสติกเข้าไปพร้อมทำการจูนเสียงก้องเสียงสะท้อน ฯลฯ ด้วยเครื่องมือวัดระยะระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผล พร้อมทั้งจูนเสียงด้วยหูจากนักฟังที่เซตอัพระดับมืออาชีพควบคู่กันไป สิ่งที่ได้ก็มีทั้งดีและเสียแตกต่างกันออกไป โดยการปรับอะคูสติกแบบบิวอินนั้น เมื่อเปลี่ยนลำโพงหรืออุปกรณ์ในชุด มักจะต้องปรับจูนอะคูสติกใหม่เข้าไปให้เหมาะสมกัน  จึงมิใช่เรื่องง่ายในการปรับแต่งอะคูสติกเพียงครั้งเดียวและยืนใช้งานไปตลอด

ว่าด้วยอุปกรณ์ปรับแต่งอะคูสติกของ ASC นั้น มีผลิตภัณฑ์มากมายหลายประเภท ส่วนใหญ่จะนำมาปรับแต่งอะคูสติกในรูปแบบเคลื่อนย้ายได้ หากนำไปทำบิ้วอินก็ยังสามารถทำได้เช่นกัน แต่ผู้ใช้ต้องมีความเข้าใจในการใช้งาน อุปกรณ์ยอดฮิตในห้องนักเล่นฯ ของ ASC นั้น ประเภทท่อกลม TubeTrap ยังคงเป็นอุปกรณ์ชิ้นหลักที่นิยมใช้ และ Sound Panel เป็นอุปกรณ์ชิ้นรองที่ห้องนักเล่นในยุค 25-30 ปี รู้จักมักคุ้นและมีใช้ประจำห้อง ทั้งสองอุปกรณ์ดังกล่าว มีการกล่าวขานมายาวนาน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ปรับอะคูสติกชั้นดีที่ใช้แล้วยกออกจากห้องไม่ได้เลย (ลองหาข้อมูลในเว็บ ASC) ซึ่งในห้องผมเอง ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเป็นห้องฟังเฉพาะ เป็นห้องฟังเพลงจากห้องที่อยู่อาศัย อุปกรณ์สองประเภทข้างต้นจึงอยู่ร่วมใช้งานมายาวนานและไม่คิดจะยกออกไปไหน

สำหรับวันนี้ ASC ยังมีอุปกรณ์ปรับแต่งอีกหลายประเภท สามารถนำไปใช้ปรับแต่งจูนห้องแบบผสมผสานข้ามยี่ห้อก็ยังได้  ผมได้ขอยืมอุปกรณ์ปรับอะคูสติกของ ASC แบบ PACD มาสองชิ้น ซึ่งได้ร่วมใช้งานมาหลายจุดหลายตำแหน่ง และฟังผลโดยการเชตอัพพื้นฐานและใช้หูในการฟังพร้อมปรับจูน โดยมิได้นำไมโครโฟนจากเครื่องวัดเสียงใดๆ มาอ่านค่า เพราะนี่คือการใช้งานจริงในห้องปกติที่ปรับเปลี่ยนมาเป็นห้องฟังเพลง

ต้องขอขอบคุณผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย บริษัท ไฮเอ็นด์ออดิโอ (1979) จำกัด ที่อนุเคราะห์ให้ยืมอุปกรณ์ปรับแต่งอะคูสติก  ASC ทั้งสามประเภท (PACD, Matrix, Bastoni) เป็นเวลานาน เพื่อให้ได้ลองเล่นลองใช้งานจริง และนำบทความมากล่าวขานเล่าสู่กันฟัง

รูปลักษณ์และการใช้งาน

ASC PCAD (Poly Cylindrical Absorbing Diffuser) เป็นอุปกรณ์ปรับแต่งอะคูสติกที่มีขนาดกลางค่อนไปทางใหญ่ ซึ่งอุปกรณ์ปรับแต่งที่มีขนาดใหญ่นี้ ต้องยอมรับว่าทำยาก ออกแบบยาก เพราะจุดสะท้อนเสียงมีพื้นที่และปริมาณมาก หากออกแบบและทดสอบมาไม่ดีพอ จะเสียมากกว่าได้ ตัว PCAD Panel ออกแบบให้วางตั้งพื้นหรือแขวนผนัง (ตัวตั้งพื้นได้เป็นออปชัน)ตัว  PCAD Panel ตัวเฟรมออกแบบด้วยไม้เป็นกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขอบด้านบนและด้านล่าง ตัวเฟรมไม้กรอบเคลือบสีดำไว้ทั้งกรอบ (มีสีกรอบให้เลือก 2 สี) แผ่นไม้ชิ้นด้านบนและด้านล่างมีทรงโค้ง ด้านหน้าของแผ่นชิ้นหน้าสุดเป็นผ้าที่ผู้ใช้สามารถเลือกสีได้

ด้านหน้า PACD ชั้นนอกสุดหุ้มด้วยผ้า มีทรงโค้ง ด้านในหลังผ้าชิ้นนอกนี้วางวัสดุประเภทไฟเบอร์กลาสในแนวทรงโค้งตลอด โดยจุดกึ่งกลางจะโค้งสูงสุด 1 นิ้ว ด้านหลังผ้าทั้งหมดออกแบบวัสดุสำหรับซับเสียงและมีวัสดุชิ้นสะท้อนเสียง พร้อมออกแบบด้านหลังวัสดุชิ้นนี้ให้เป็นห้องสำหรับเก็บเสียงทุ้ม เพื่อหวังผลไทมิ่งของแต่ละความถี่ให้ปล่อยออกมาตามการออกแบบไว้  อีกทั้งมีจุดประสงค์หลักเพื่อลดเสียงก้องจำพวก echo.ให้ลดน้อยลง เมื่อดูจากสเปกแล้ว PCAD ออกแบบให้มีทั้งการซับเสียงและสะท้อนเสียง  

ASC PCAD Panel มีขนาดให้เลือกใช้ทั้งหมด 3 ขนาด เลือกใช้ตามพื้นที่และการก้องสะท้อนของอุปกรณ์ภายในห้อง ในกล่องให้อุปกรณ์สำหรับติดตั้งเข้ากับผนังพร้อมคู่มือมาครบถ้วน การใช้งานจริงโดยการลองวางหาตำแหน่งที่เหมาะสม เช่น  ด้านหลังลำโพง ด้านข้างลำโพง เมื่อได้ตำแหน่งแล้วให้ลองยกสูงจากพื้นทีละ 30 เซนติเมตร จะถึงความสูงในระดับเวทีที่เหมาะสม  และมีจุดสังเกตในการวางว่าต้องนำด้านไหนขึ้นข้างบนด้านไหนลงพื้น สำหรับคู่มือที่ ASC ให้มานั้น เป็นการปรับจูนเบื้องต้น การปรับจริงในแต่ละห้องฟังมีขนาดแตกต่างกันออกไป

อุปกรณ์สำหรับติดตั้งเข้ากับผนัง มีวัสดุอะลูมิเนียมลักษณะแบบตัว Z ยึดติดไว้ด้านหลังของ PCAD ทั้งหมด 2 ตัว ติดตั้งมาแล้วช่วงกึ่งกลางด้านหลัง ผู้ใช้งานหรือผู้ขายต้องนำโครงอะลูมิเนียมสำหรับยึดติดผนังด้วยสกรูทั้งสองตัว ในตำแหน่งที่เซตอัพเบื้องต้นไว้แล้วจากการวาง เมื่อติดตั้งบาร์อะลูมิเนียมตัว Z กับผนังเรียบร้อยแล้ว จึงทำการยกพาแนล PCAD แขวนไว้ในตำแหน่งที่ต้องการ สามารถปรับจูนได้และเลื่อนตำแหน่งได้  

ASC PCAD Panel มีขนาดให้เลือก 18 × 48 นิ้ว, 24 × 48 นิ้ว และ 36 × 60 นิ้ว ตามลำดับ สำหรับขนาดที่ขอยืมมาลองใช้งานในครั้งนี้ มีขนาดกว้าง 24 นิ้ว, สูง 48 นิ้ว สีเทา ทั้งหมด 2 ชิ้น นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท ไฮเอ็นด์ออดิโอ (1979) จำกัด 

ชุดและอุปกรณ์อ้างอิง

ASC PCAD Panel ทั้งสองชิ้นนี้ เป็นอุปกรณ์ที่ค่อนข้างใหม่มาก อยู่ในกล่องแพ็กมาอย่างดี ตัวสีของกรอบไม้เป็นสีดำ ส่วนสีของผ้าเป็นสีเทา ผมได้นำมาร่วมใช้งานกับชุดเครื่องเสียงประจำทีมีการปรับอะคูสติกมาบ้างแล้ว ชุดเครื่องเสียงที่ร่วมใช้งานพร้อมเบิร์นอินในครั้งนี้มีอยู่ 2 ชุด หลักๆ ดังนี้

ชุดแรกประกอบด้วยเครื่องเล่นซีดี Arcam : Fmj CD23 dCS Ring DAC Plus HDCD, เครื่องถอดรหัสดิจิทัล DAC Audio GD : 7.32,  อินทิเกรตแอมป์ Krell Audio : KAV  400  xi  Signature Special Limited Edition, ลำโพงวางขาตั้ง Monitor Audio : Studio 2, ลำโพงวางขาตั้ง ProAc Respond : D2R (Ebony), ลำโพงวางขาตั้ง XAV : Patiott  Prototype (Tweeter TDL), จัดวางบนขาตั้ง Focus Audio สูงจากพื้นรวมเดือยแหลม 24 นิ้ว ด้านบนตู้ลำโพงวางก้อนอิทธิเจทับไว้ตู้ละ 1 ก้อน

สายสัญญาณอะนาลอกจาก CD ไปอินทิเกรตแอมป์ Cardas Golden Reference (RCA) ท่อหดเทาตัวหนังสือสีทองยาว  1 เมตร, สายลำโพง Cardas Cross รุ่นเก่าสีเขียว Bi-wire ขั้วต่อจากโรงงาน ยาว 3 เมตร, สายไฟเอซีเครื่องเล่นซีดี  JPS  INWALL  Power Cord สีแดง เข้าขั้วตัวผู้ Wattgate 330 ขั้วท้าย Wattgate 350 รุ่นเก่า, สายไฟเอซี Hovland Main Line Power Cord เข้าขั้วตัวผู้ Wattgate 330 ขั้วท้าย Wattgate 350 รุ่นเก่าเสียบเข้าที่อินทิเกรตแอมป์ โดยสายไฟของเครื่องเล่นซีดีและอินทิเกรตแอมป์ต่อเข้าปลั๊กลอยอมฤตรุ่นพิเศษ Wattgate แบบ 6 ช่องเสียบ (ที่ระลึกครบรอบ ๙ ปี  www.audio-teams.com เจ.เจ.ปลั๊ก) รองใต้ปลั๊กด้วย Acoustic Revive TB-38H จากปลั๊กลอยต่อด้วยสายไฟ Cardas Golden Reference Power Cord รุ่นดั้งเดิมท่อหดเทายาว 2 เมตร เข้าปลั๊กผนัง Acoustic Revive Plug (Special Plug)  

ชุดที่ 2 ประกอบด้วย  McBook Pro/Auralic : Aeries  Mini, McBook Pro เล่นด้วยโปรแกรม Amarra Symphony+ไฟล์เพลงทั้ง DSF, DSD และ อื่นๆ, DAC Chip ESS Sabre ES9038Q2M  DSD 512 ปรับฟิลเตอร์ระดับ 2, เครื่องเล่นแผ่นเสียง  Roksan : Radius 5 พร้อมหัวเข็มและอาร์มของ Roksan NIMA, โฟโน Project : The Phono Box, เครื่องเล่นซีดี Ayre Acoustic :  CX-7 Evolution, เครื่องถอดรหัสดิจิทัล DAC Audio GD : 7.32, ปรีแอมป์ Audio Research : LS 3B, เพาเวอร์แอมป์ AMC :  2150. บริจด์โมโนเป็น 2 แชนแนล, ลำโพงวางขาตั้ง Monitor Audio : Studio  2, ลำโพงวางขาตั้ง Totem Acoustic : Model One  Signature ป้ายสีเงินโลโก้สีแดงรุ่นแรก ตอกโลโก้โลหะทองเหลือง, ลำโพง PSB : Synchrony One B, ลำโพงวางขาตั้ง ProAc :  D2R (Ebony), ลำโพงวางขาตั้ง XAV : Patiott Prototype (Tweeter TDL) วางบนขาตั้ง Totem Acoustic T4S ขนาด 24 นิ้ว ไม่ได้กรอกทรายทุกชนิด ด้านบนตู้ลำโพงวาง Dyna Foot ทับไว้ตู้ละ 1ก้อน โดยเอาด้านสีขาวหงายขึ้น

สายสัญญาณดิจิทัล USB Cardas Audio Clear Hi-speed Topline 1 เมตร, สายสัญญาณอะนาลอกจาก CD ไปอินทิเกรตแอมป์ Cardas Clear (XLR) ยาว 1.5 เมตร, สายลำโพง Cardas Clear Beyond Single-wire ขั้วต่อก้ามปูใหญ่จากโรงงาน ยาว 2 เมตร พร้อมจั๊มเพอร์ Cardas Clear, สายไฟเอซีเครื่องเล่นซีดี JPS Inwall Power Cord เข้าขั้ว Wattgate ทองรุ่นเก่าทั้งด้านขั้วตัวผู้และขั้วตัวเมียยาว 2.1เมตร, สายไฟเอซี Hovland Main Line Power Cord เข้าขั้วตัวผู้ Wattgate 330 ขั้วท้าย Wattgate 350 รุ่นเก่าเสียบเข้าที่อินทิเกรตแอมป์ โดยสายไฟของเครื่องเล่นซีดีและอินทิเกรตแอมป์ต่อเข้าปลั๊กลอยหิมพานต์ แบบหกช่องเสียบ (ที่ระลึกครบรอบ ๙  ปี  www.audio-teams.com  เจ.เจ. ปลั๊ก) รองใต้ปลั๊กด้วย Acoustic Revive TB-38H จากปลั๊กลอยต่อด้วยสายไฟ Shunyata Research Anaconda Helix Alpha VX 15 Amp รุ่นท็อปในอดีตท่อหดสีแดงยาว 2 เมตร เข้าปลั๊กผนัง Wattgate Audio : 381 Classic รุ่นเก่า อีกช่องเสียบสายไฟใช้งานเครื่อง Acoustic Revive RD-3 ด้านท้ายสายไฟเอซีทั้งหมดรองไว้ด้วยอุปกรณ์รองสาย Acoustic Revive PSA-100 ทุกจุดทุกเครื่อง พร้อมทั้งต่ออุปกรณ์จัดการระบบกราวนด์ Acoustic  Revive RGC-24 ไว้ที่อินทิเกรตแอมป์

เครื่องเล่นแผ่นเสียงจัดวางบนชั้นวาง Target Audio B1+แผ่นไม้แท้ รองใต้เครื่องเล่นแผ่นเสียงด้วยไดนาฟุตสามลูก โดยเอาด้านสีขาวหงายขึ้น, McBook Pro วางบนก้อนอิฐ อิทธิเจ 4 ก้อน, เครื่องเล่นซีดี จัดวางบนชั้นวาง Target Audio : B1+แผ่นไม้แท้  รองรับชั้นวางด้วย Solid Tech Feet of Concrete Black (สลับกับ Acoustic Revive SPU-8) ทั้งหมด 4 ตัวรองรับสไปค์ชั้นวางกับพื้นอีกที อินทิเกรตแอมป์วางไว้บนชั้นวาง Solid Tech : Rack of Silence Regular 1+แผ่นไม้ Solid Tech แท้รุ่นมีระดับน้ำ  รองรับชั้นวางด้วย Solid Tech Feet of Concrete Black (สลับกับ Acoustic Revive SPU-8) ทั้งหมด 4 ตัว รองรับสไปค์ชั้นวางกับพื้นอีกที ด้านบนของเครื่องบริเวณทรานฟอร์เมอร์วางก้อนอิทธิเจทับไว้หนึ่งก้อน และบริเวณโวลุ่มวางก้อนอิทธิเจรุ่นดั้งเดิมไว้หนึ่งก้อน   

พยายามแยกสายต่างๆ ให้ห่างออกจากกัน และยกสายสัญญาณและสายลำโพงด้วย Cable Insulater Acoustic Revive  RCI-3H ข้างละ 2 ตัว ส่วนสายไฟเอซีทั้งหมดยกให้ลอยจากพื้นห้องด้วย Solid Tech Bridge of Silence ในระบบไฟเอซีและขั้วต่อสายสัญญาณระหว่างเครื่องรวมถึงขั้วด้านท้ายของอินทิเกรตแอมป์ จูนไว้ด้วย Acoustic Revive : QR-8 ทั้งหมด 8 จุด 8 ตัว

ภายในห้องฟังใช้อุปกรณ์สะท้อนเสียง (แผงดิฟฟิวเซอร์) ของ Handcraft Acoustic 1 ชุด มีทั้งหมด 4 แผงและปรับแต่งอะคูสติกเบื้องต้นด้วยอุปกรณ์ปรับแต่ง ASC Sound Panel ทั้งหมด 4 คู่ โดยวางไว้ด้านหลังลำโพง 2 คู่ ด้านข้างลำโพง 2 คู่ ด้านหลังลำโพงปรับแต่งด้วยจิกซอว์ของ HiFi Club 1 คู่ ใกล้กันจูนด้วยรูมจูนของ Michel Green 1 คู่ (สีเทา) รูมจูน Michel Green อีก 1 คู่วางจูนไว้ด้านหลังห้อง (สีขาว) จูนเสียงโดยวาง Dyna Foot 3 ลูก ไว้ตรงกึ่งกลางของแผงดิฟฟิวเซอร์แผงกลางด้านหลังลำโพง 1 ลูก และวางไว้ข้างซ้ายและข้างขวาอย่างละ 1 ลูก แผงหลังจุดนั่งฟังวางทิปโท เจ.เจ.จูนเสียงด้านบนแผงดิฟฟิวเซอร์ทั้ง 3 ตัว โดยวางไว้ข้างซ้าย, ขวาและกึ่งกลางอย่างละ 1 ตัว เอาด้านปลายแหลมชี้ขึ้นฟ้า มีอุปกรณ์ปรับความถี่ ABC ของออดิโอคอนซัลแตนท์วางไว้กึ่งกลางแผงหลังอีกที ส่วนแผงด้านข้างทั้งสองแผงจูนเสียงด้วย Dragon Foot (By เดอะหั่ง แห่ง Hifi House) ลูกใหญ่ตรงกึ่งกลางแผงละ 1ลูก และวางเครื่องกำจัดคลื่นรบกวน  Acoustic Revive RR-888 ไว้ด้านบนกึ่งกลางแผงดิฟฟิวเซอร์ด้านหลังลำโพง เป็นตำแหน่งที่ดีสำหรับห้องฟังห้องนี้ และ ติดตั้ง ASC PCAD Panel เป้าหมายประกบไว้ข้างแผงดิฟฟิวเซอร์ด้านหลังลำโพงข้างซ้ายและข้างขวา โดยทดลองวางกับพื้นและยกลอยให้ความสูงด้านบนสูงจากพื้น 120 เซนติเมตร

ขนาดของห้องฟังโดยประมาณ กว้าง 3.8, ยาว 6.5 และสูง 2.4 เมตร ผนังด้านข้างเป็นอิฐมอญฉาบเรียบด้วยปูนฉาบทาปิดผิวหน้าด้วยสีน้ำ พื้นไม้เข้าลิ้นวางทับหน้าด้วยพรมบริเวณจากหน้าลำโพงถึงจุดนั่งฟัง นั่งฟังด้วยเก้าอี้ผ้าที่มีความสูงพอดีกับหัวไหล่  โครงเก้าอี้เป็นไม้และใช้วัสดุเป็นผ้ารองนั่งกับแผงพนักพิงหลัง นั่งฟังห่างจากลำโพง 2.4 เมตร โทอินลำโพงไม่เกิน 20◦ โดยประมาณ (เกือบทุกคู่) พร้อมทั้งวางก้อนอิทธิเจรุ่นฉลองครบรอบ 9 ปี เว็บไซต์ออดิโอทีมดอทคอมทับด้านบนของตู้ลำโพงไว้ตู้ละ 1 ก้อน

ผลการใช้งาน

ก่อนนำ ASC PCA Panel เข้ามาใช้งานในห้องฟังประจำนั้น ในห้องฟังมีการปรับแต่งอะคูสติกไว้บ้างพอประมาณ  ยังคงใช้งานอุปกรณ์ปรับแต่งควบคู่กันไป โดยนำ PCAD Panel ลองปรังแต่งในทุกด้านของห้องฟัง และได้ตำแหน่งที่ผนังด้านหลังลำโพงสำหรับห้องฟังห้องนี้

ด้วยหลักการทำงานแบบสะท้อนเสียงและซับเสียงไว้ด้วยกัน การใช้งานในผลังด้านหลังลำโพงจึงเห็นผลได้เด่นชัดมาก ส่วนผนังรองด้านข้างลำโพงทั้งข้างซ้ายและข้างขวา เป็นตำแหน่งที่ใช้ปรับได้ดีเช่นกัน แต่ด้วยการใช้งานในครั้งนี้ นำพาแนล PACD มาเพียง 2 ชิ้น ทำให้ต้องเลือกตำแหน่งการวางที่เหมาะสมที่สุดของห้องฟังห้องนี้

น้ำเสียงเริ่มแรก สัมผัสได้ชัดเจน ให้ความเด่นชัดของตัวเสียงในแต่ละโน้ตดนตรี ตำแหน่งของชิ้นดนตรีแม่นยำและตรึงไว้แน่นสนิท หากปรับจูนให้แผงพาแนลเอียงเข้าทำมุมจุดนั่งฟังเล็กน้อย เสียงจะชัดเข้าหาจุดนั่งฟัง ในการปรับจูน ควรวางพาแนล  PCAD ให้ตั้งตรงก่อน จึงค่อยบิดทำมุมข้างซ้ายหรือข้างขวา แล้วทดลองฟังเสียง หาตำแหน่งที่ดี หาสมดุลเสียงที่ออกมาต้องดีในทุกย่านเสียง เมื่อได้ตำแหน่งที่สมดุลเสียงดีที่สุดแล้วนั้น จึงค่อยๆปรับจูนละเอียดอีกขั้น

ด้วยการทำงานในย่านความถี่ 500 เฮิรตซ์-1 กิโลเฮิรตซ์ ทำให้ครอบคลุมความถี่ของเพลงที่บันทึกมาส่วนใหญ่หากวางในตำแหน่งที่ยังไม่สามารถหาสมดุลเสียงที่ดีได้  ควรจัดหาตำแหน่งที่ดีที่สุดให้ได้ก่อน จึงจะดำเนินการปรับจูนระดับความสูงของพาแนลและจูนละเอียดรอบสุดท้ายอีกครั้ง

กลับมาในด้านน้ำเสียงอีกครั้ง เสียงร้องสดใส กระจ่าง ให้ความสดเล็กน้อย จังหวะจะโคนดีมากขึ้น ความต่อเนื่องของเสียงดี  แจกแจงเสียงเล็กเสียงน้อยที่ไม่ค่อยได้ยินให้สัมผัสออกมาได้ชัดเจน คอนทราสต์เด่นชัดมาก เสียงโดยรวมสัมผัสการแยกแยะได้ดีมากยิ่งขึ้น การใช้งานในช่วงชั่วโมงแรกนั้น หางเสียงยังมีเสียงแตกซิบๆ อยู่พอควร

นอกเหนือจากจุดเด่นในเรื่องคอนทราสต์แล้ว ในด้านการสะท้อนและซับเสียง แผ่ออกให้รูปวงโอ่โถง ขยายออกในแนวกว้างและลึกเด่นชัดขึ้น เสมือนได้นั่งฟังที่ชุดและห้องที่ใหญ่กว่า รูปวงสวยงานโอ่อ่าเด่นชัดเมื่อเทียบเคียงจากเดิมที่ไม่ได้ใช้ PCAD  Panel รูปวงและชิ้นดนตรีภายในวงตรึงไว้แน่นสนิทแม่นยำเด่นชัด ความสูงของเครื่องเป่าจำพวกแซกโซโฟน ให้ตำแหน่งในรูปวงที่สัมผัสได้ดีเยี่ยม ให้ความชัดเจนของเสียงในแนวทางละเอียด สะอาด และยังมีความกังวานของตัวเสียง หางเสียงทอดตัวไปไกลและจางหายไปอย่างแผ่วเบา ยังคงไว้ในเรื่องความสุภาพ ไม่เสียดแทงหู มาพร้อมกับบรรยากาศรอบตัวเสียงใสดุจคริสตัล [Arne Domnerus : Antiphone Blues/Proprius PRCD 7744]  

พิจารณาด้านกว้างที่เคยเซตอัพในแบบเดิมที่ยังไม่มี PCAD เข้ามา ก็ขยายตัวออกไปจนสุดผนังทั้งสองข้างเป็นสัดส่วนสมดุลกับด้านลึกอยู่แล้ว เมื่อเทียบเคียงจากเดิม เราสามารถปรับให้กว้างหรือแคบได้มากขึ้น โดยจุดที่สมดุลสุด จะเน้นทั้งสามด้านให้เป็นสามมิติที่สัมพันธ์กัน ส่งผลให้ด้านลึกถอยหลังจากหน้าลำโพงลงไปประมาณหนึ่งแถว จากนั้นจัดระเบียบแถวที่สองและสามและแถวต่อๆไปด้วยระยะที่สมดุล เรียกว่าเล่นง่าย ปรับง่ายกว่าเดิมมาก และให้ผลที่ดีจากเดิมในทุกแง่มุมมาก อัลบั้ม [Postcards : The Turtle Creek Chorale / RR-61CD] บ่งบอกประเด็นนี้ได้ดี สัมผัสความเป็นสามมิติของเสียงได้ดีเยี่ยม

เปรียบเทียบกับอัลบั้มที่ฟังประจำ เพลงขับร้องประสานเสียงประเภทเพลงสวด [Now The Green Blade Riseth/Proprius PRCD 9093] มวลเสียงยังคงปริมาณและคุณภาพไว้ได้ดี ให้ความละเอียดและความกระจ่างใสของตัวเสียงดีขึ้นมาก ไม่มีการแต่งเติมสีสันและบุคลิกให้เบี่ยงเบนไปจากเดิม ให้น้ำหนักของจังหวะเริ่มแรกในการออกเสียง แบ่งแยกคอนทราสต์ได้หลายระดับยิ่งขึ้น  ประเด็นนี้จับต้องได้แบบไม่ต้องเอียงหูฟัง พร้อมให้บรรยากาศอันสดใสเข้าร่วมในการนำเสนอ ว้าว!!!! ช่างอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งจำแนกแยกแยะรายละเอียดทั้งหมดออกจากกันอย่างดีเยี่ยม ไล่ลำดับเสียงแผ่วเบาไปจรดเสียงดังอย่างละเอียดอ่อน โดยไม่เบี่ยงเบนเสียงต่างๆ ให้เสียงดนตรีที่ฟังผิดประเภทไป    

พิจารณาความกังวานของเสียงเปียโนและเครื่องเคาะโลหะ ให้ความกังวาน ใสปิ้ง เด่นชัด ไม่กร้าว พร้อมรายละเอียดในตัวเสียงชำแหละออกมาครบเครื่อง ตัวเสียงเคลียร์ชัดสดใส บรรยากาศรายล้อมตัวเสียงดีเยี่ยม นำเสนอออกมาให้ฟังได้เพลิดเพลิน ไร้สากเสี้ยน เสมือนเป็นเสียงการเคาะเปียโนจริงๆตรงเบื้องหน้า สะอาดเกลี้ยงเกลามาก [Art for The  Ear/Burmester CD III]  กับจังหวะแรกของเครื่องดนตรี ให้แรงปะทะของเสียงชัดเจนรวดเร็ว ปล่อยหางเสียงให้ทอดตัวไปไกล ย้ำเน้นจังหวะแรกกระทบเด็ดขาด สัมผัสได้ดี ทำให้ตัวเสียงและบรรยากาศรายล้อมเด่นชัดแบบที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน    

ถ้าพูดกันในเรื่องมิติและตำแหน่งเครื่องเคาะโลหะ [Dafos / Reference  Recordings  RR-12CD  USA] แทร็กที่เจ็ดที่ใช้งานประจำ ตรึงตำแหน่งแน่นสนิท มิติดีเยี่ยม จำแนกแต่ละชิ้นดนตรีออกมาเด่นชัด ย้ำเน้นหัวโน้ตให้ฉับไว ชัดคมไม่ห้วนสั้น  นำเสนอทั้งมิติ ตำแหน่ง ช่องไฟ ความสงัด ครบถ้วน เช่นเดียวกับเครื่องสายเครื่องสีต่างๆ [Art For The  Ear/Burmester CD III]  ถ่ายทอดออกมาด้วยความกังวานสดใส หางเสียงทอดตัวไปไกลและยาวนานตามจังหวะพร้อมเติมความสดใส เสียงการบดขยี้ไวโอลินดุดัน หางเสียงเป็นอิสระต่อกันและมีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆแจกแจงออกมาให้สัมผัสได้ดี เครื่องดนตรีประเภทไวโอลิน  วิโอลา และเครื่องสายอื่นๆถ่ายทอดออกมาเด่นชัดละเอียดละเมียดละมัย   

บรรดาเครื่องสีและเครื่องสายในวงออเคสตรา ตัวเสียงมีความชัดเจนและกระจ่าง หางเสียงทอดตัวยาวนานและทิ้งระยะไว้ตามจังหวะเวลาจึงค่อยๆ จางหายไปอย่างราบรื่น ไม่มีอาการขึ้นขอบคมแข็งของหางเสียง ให้ความกังวานแต่ไม่มีเสียงก้องสะท้อนแบบเอคโค่ [The Symphonic Sound Stage D/CD3502] รายละเอียดในตัวเสียงแต่ละเสียงเด่นชัดจากเดิมไปอีกขั้น เสียงกีตาร์ในจังหวะตวัดนิ้วลงไปสะท้อนกลับมารวดเร็วพร้อมให้น้ำหนักในการตวัดลงไปย้ำเน้น ในจังหวะช้าและเร็วสามารถแบ่งแยกออกจากกันได้ดี  จำแนกไดนามิกคอนทราสต์ได้ดีเยี่ยม [Livinton Tyler : Ink/Chesky Record JD162] ปลดปล่อยเสียงแผ่วเบาโดยไล่น้ำหนักเสียงต่อเนื่อง เด่นมากกับรายละเอียดและความโปร่งใส จำแนกรายละเอียดในทุกสรรพเสียงได้ดีมาก  

พิจารณาเพลงขับร้องจาก [Clair Marlo : Let It Go Sheffield Lab CD29] เสียงขับร้องไพเราะ ออดอ้อนมีลีลา มีขนาดของเสียงตามสัดส่วนสมดุลสวยงาม บรรยากาศรอบตัวเสียงสัมผัสได้ดีเยี่ยม เสมือนใส่จิตวิญญาณในการขับร้อง ขับร้องออกมาด้วยลีลาและเน้นความชัดเจนสดใส ให้รายละเอียดของการขับร้องไพเราะมาก เป็นเสียงที่ให้ความเพลิดเพลินในการฟัง ไล่เรียงลำดับเสียงตั้งแต่หัวเสียง ตัวเสียงและหางเสียง ตามท่วงทำนองให้ต่อเนื่องกัน รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่ละแถวเด่นชัด อัลบั้ม [Snow Rose Ax-SN04.01]  ถ่ายทอดอารมณ์ในการนำเสนอออกมาดีมาก หางเสียงที่มีอาการซิบๆสัมผัสได้ตามการบันทึกมาของแผ่นแต่ไม่พุ่งแยงหู ตัวเสียงชัดเจนสะอาดเกลี้ยงเกลาพร้อมความหวานใสอยู่เสมอ ให้ความเป็นดนตรีสูง ฟังได้เพลิดเพลิน เสมือนนั่งฟังหลุดเข้าไปในห้วงเบื้องหน้าเวที

เสียงขับร้องอัลบั้มยอดนิยม [Famous Blue Raincoat/Jennifer Warnes Private Music] เสียงขับร้องเด่นชัด แก้วเสียงสดใสอุดมไปด้วยความหวานอยู่ตลอด ให้บรรยากาศดีเยี่ยม บรรยากาศนำเสนอมาพร้อมกับรายละเอียดของชิ้นดนตรี ฟังได้ไพเราะเพลิดเพลิน ไดนามิกคอนทราสต์ดีเยี่ยม การผ่อนหนักผ่อนเบาของเสียงขับร้องรวมไปถึงเสียงลมหายใจ สัมผัสได้ดีจากเดิมโดยให้ความสมดุลกลมกลืนกัน เช่นเดียวกับอัลบั้มขับร้องของ [Amanda McBroom : Dreming/Gecko Record] ให้บรรยากาศรอบๆตัวเสียงได้โดดเด่นมากขึ้น หางเสียงทอดตัวได้ยาวและให้น้ำหนัก ผ่อนหนักผ่อนเบาได้ดี เนื้อเสียงย่านกลางทุ้มไปจรดทุ้มลึกมีความสมดุลกัน  

เสียงขับร้องของนักร้องชายแทร็ก 6 อัลบั้ม [Art For The Ear/Burmester CD III] เสียงขับร้องให้มวลเสียงได้ดี น้ำหนักเสียงเด่นชัด การร้องประสานเสียงแยกแยะกันอิสระดีมาก ระดับเสียงของนักร้องทั้งหมดตรึงไว้แม่นยำ หางเสียงจากการขับร้องจางหายไปอย่างราบรื่น การสไลด์สายกีตาร์และการรูดสายกีตาร์แยกแยะคอนทราสต์ได้ดี เปิดเผยลีลาโดยย้ำเน้นความหนักเบา  ความอ่อนแก่ของการเล่นกีตาร์ได้เพลิดเพลิน รายละเอียดของแต่ละเสียงในแถวถัดไปไล่ลำดับและความชัดใสได้ดีมาก เช่นเดียวเสียงขับร้อง [Livinton Tyler : Ink/Chesky Record JD162] ตัวเสียงขับร้องกังวานและชัดเจน สเกลเสียงเครื่องดนตรีสมดุลกลมกลืนกัน ตัวเสียงเด่นชัดหลุดลอยแยกออกจากพื้นเสียงชัดเจน ให้บรรยากาศห้อมล้อมอยู่ต่อเนื่อง การกำหนดลมหายใจเข้าออกสัมผัสได้ง่ายดาย เสียงแผ่วเบาและเสียงสวิงดังขึ้นนำเสนอมาต่อเนื่อง ชี้ชัดเรื่องไดนามิกคอนทราสต์ได้ยอดเยี่ยมมาก

เสียงดับเบิลเบสของอัลบั้ม [The Raven/Rebecca Pidgeon Chesky Records JD115] ให้มวลเสียงสมดุลกับย่านเสียงอื่น  ทำหน้าที่เก็บเนื้อเสียงไว้แล้วปล่อยออกมาตามเวลาที่ออกแบบ PCAD มา เนื้อเสียงไม่ใหญ่ ควบรวมให้เป็นกลุ่มก้อนหนักแน่น  การเล่นดับเบิลเบสสอดคล้องกับเสียงขับร้องกลมกลึงกันและควบแน่นกระแทกกระทั้นระหว่างตัวเสียงกับเสียงย่านอื่น เสียงเดินเบสในแต่ละเส้นให้จังหวะสอดคล้องกับเปียโนและเครื่องเคาะ ตัวเสียงเคลียร์มาก หางเสียงแต่ละตัวหลุดลอยไม่ปะปนกัน ของว่างช่องไฟยิ่งโดดเด่น ไม่มีการซ้อนทับบดบังกัน ในจังหวะที่ตัวโน๊ตเงียบก็เงียบสนิทจนสามารถแสดงความสะอาดของพื้นเสียงได้อย่างเด่นชัด

อัลบั้มอ้างอิง [Rain Forest Dream/Saydisc CD-SDL384] เสียงแรกกระทบทุกจังหวะของการหวดไม้กลองลงไปกระชับกลมกลึงควบแน่นเด็ดขาด เสียงกลองมีขนาดเหมาะสม ไม่ใหญ่และไม่บาง การหวดไม้กลองในจังหวะแรกเฉียบขาดรุนแรง ให้แรงปะทะแรกดีเยี่ยม เสียงกลองใบใหญ่จาก [Ultimate Reference CD/Wilson Audio WA8008] เสียงหนังกลองตึงกำลังดี มีเสียงสะท้อนจากเสียงแรกกระทบออกมาให้สัมผัสได้ดีและไม่ก้องสะท้อนหรือห้วนสั้น เสียงทุ้มกลมกลึงให้ความสมดุลของย่านเสียงทุ้มนี้กับย่านเสียงอื่นๆ ได้ราบรื่นมากยิ่งขึ้น ตำแหน่งนั่งฟังเรียกว่า ฟังอะไรก็ดีก็ไพเราะไปหมด ให้ความเป็นดนตรีและฟังได้เพลิดเพลินตามจังหวะจะโคน ด้วยการสะท้อนและการซับเสียงที่ถูกออกแบบและวิจัยมา ทำให้การปรับแต่งตำแหน่งต่างๆ มีผลโดยรวมต่อเสียงที่กำลังฟังได้อย่างง่ายดาย แต่นั่นก็ต้องพึ่งพา การฟังให้เป็นระดับหนึ่งเพื่อที่จะสามารถหาตำแหน่งที่ลงตัวของห้องฟังใดฟ้องฟังหนึ่ง 

เสียงทุ้มจากเหล่าเครื่องดนตรีไม้ ทั้งเสียงแรกกระทบและเสียงสะท้อน สัมผัสได้อย่างง่ายดาย ยังคงนำเสนอเสียงให้เสมือนเสียงเคาะไม้เช่นเดิม เพิ่มเติมด้วยรายละเอียดของตัวเสียง เนื้อเสียงและหางเสียงที่ถูกเรียบเรียงให้เป็นระเบียบระบบและสุภาพ  เนื้อเสียงเกลี้ยงเกลา พื้นเสียงสะอาด มีความสงัดเพิ่มมากขึ้น จึงสัมผัสรายละเอียดทั้งเล็กและใหญ่ได้ดีเยี่ยม และทำให้ลืมเรื่องราคาออกไปได้ดี เมื่อพิจารณาด้านคุณภาพที่อุปกรณ์ PCAD สามารถปรับจุนเสียงได้มากเท่านี้ เสียงต่างๆ ถูกขับดันออกมา จนครบถ้วน มากด้วยรายละเอียดเนื้อหา ทั้งหัวโน้ต ตำแหน่ง น้ำหนัก มันสามารถสร้างเสียงดนตรีให้เข้าถึงเบื้องลึกของการฟังได้เพลิดเพลินและต่อเนื่อง แม้ราคาค่างวดชุดที่ใช้งานจะมีราคาไม่กี่สตางค์

PCAD มีผลโดยตรงกับเรื่องซับสะท้อนเสียง เมื่อเป็นเช่นนี้ การพิจารณาจังหวะเวลาของเครื่องดนตรีประเภทไม้อัลบั้มเดิม  [Take’Dake’ with Neptune/Aisian Roots Denon USA] ยังคงแจกแจงการเคาะระนาดไม้ผสมกับจังหวะกลองและเครื่องเป่าให้มีจังหวะต่อเนื่อง ไม่มีปะปนกันของเสียง จำแนกแต่ละประเภทของเครื่องดนตรีออกมาด้วยความรวดเร็ว ให้เสียงสะท้อนจากการเคาะ การเป่า กับแทร็กที่ 1, 12, 13, และ 15 [Musik Wie Von Einem Anderen Stern/Manger] ตัวเสียงและหางเสียงในแต่ละเสียงไม่ปะปนกัน แยกแยะมิติตำแหน่งของแต่ละเสียงให้เด่นชัดออกมาเป็นอิสระต่อกันพร้อมจางหายไปอย่างราบรื่น ฟังได้ยาวนานด้วยความเพลิดเพลินพร้อมจังหวะจะโคนต่อเนื่อง ยิ่งฟังนานๆ ยิ่งเกิดความสนุกสนานไปพร้อมกับจังหวะของการถ่ายทอด  

แนวเพลงคลาสสิกวงใหญ่หลายท่วงทำนอง แทร็ก 7 อัลบั้ม [Art For The/Ear Burmester CD III] ขับขานออกมาด้วยจังหวะที่ดี ตำแหน่งชัดเจน ขนาดของเสียงแต่ละตำแหน่งให้ความสมดุลกันเต็มวงเต็มพื้นที่ ช่วงโหมโรงขึ้นไปไม่มีเสียงมั่วและปะปนกัน ทุกช่วงของการกำหนดลมหายใจนำเสนอออกมาให้ได้ยินด้วยความละเอียดสุภาพและชัดใส แนวเพลงดนตรีมากชิ้นสลับซับซ้อนตอบสนองจำแนกได้เด่นชัดยอดเยี่ยม  เกรนเสียงละเอียดทำให้ฟังได้ยาวนานและสร้างความเป็นดนตรีได้ดี  จำแนกแยกแยะแต่ละแถวได้เด็ดขาด วางชิ้นดนตรีนับร้อยให้มีตำแหน่งและตรึงไว้แน่นสนิทมาก เมื่อเทียบจากเดิมที่ไม่ได้นำ PCAD. มาปรับจูนผนังห้อง

สุดท้ายกับบทเพลงไทยอัลบั้มหลากหลายศิลปิน ซึ่งแต่เดิมฟังได้ดีพอประมาณ เมื่อปรับจูนด้วย PCAD Panel แล้ว ใส่อัลบั้มไหนเข้าไปก็ฟังได้ครบอัลบั้มอย่างไพเราะมาก หากเป็นเพลงร้องก็ออดอ้อนพิรี้พิไร หวานใสไพเราะ หากเป็นแนวเพลงที่เครื่องดนตรีมากชิ้นหน่อย ก็สามารถแยกแยะออกมาอิสระ บรรเลงด้วยความหวานกังวานใสไพเราะเพลิดเพลิน ให้รายละเอียดได้ดี  เน้นเรื่องบรรยากาศและความต่อเนื่องของการถ่ายทอดทางด้านอารมณ์ของดนตรี เสียงที่ได้รับ สร้างความประทับใจและยากยิ่งที่จะเลิกใช้ชุดปรับอะคูสติก ASC PCAD Panel เพราะเมื่อเคยยกออกไปจากห้องฟังแล้ว ต้องปรับจูนกันยกใหญ่ ที่สำคัญ ยังไม่สามารถสัมผัสเสียงที่กล่าวมาจากผลการลองฟังข้างต้นได้เลย

บทสรุป

ชุดเครื่องเสียง ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับเครื่องเล่นหลัก บ้างก็ให้ความสำคัญกับอุปกรณ์เสริม ทั้งสายไฟฟ้า สายเชื่อมต่อ และอุปกรณ์วางทับ ฯลฯ ทุกอย่างในชุด ล้วนเป็นองค์ประกอบรวม หากทุกอย่างปรับปรุง แมตชิงกันลงตัวแล้ว สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือการปรับแต่งอะคูสติกของชุดฟังเพลง ซึ่งปัจจุบัน การฟังเพลงในห้องทั่วไป ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับเป็นห้องฟังเพลงโดยเฉพาะ ใช้ที่อยู่อาศัยจริงในการฟังเพลง อุปกรณ์ปรับอะคูสติกจึงจำเป็นมาก หากต้องการยกระดับการฟังเพลงหรือรีดประสิทธิภาพของชุดฟังเพลงให้ดียิ่งขึ้นไปอีกขั้น อุปกรณ์จูนห้องเหล่านี้ จึงมีบทบาทในการยกระดับและเติมเต็มชุดฟังเพลง ซึ่งมีราคาตั้งแต่ไม่กี่หมื่นบาทไปยันชุดฟังเพลงระดับอัลตร้าไฮเอนด์หลักล้านบาทกันเลยทีเดียว

อีกทั้งห้องฟังที่ดัดแปลงจากบ้านพักอาศัยในปัจจุบันนั้น มีขนาดไม่ใหญ่และมีการก้องการสะท้อนของเสียงอยู่มาก มีผนังที่ใช้วัสดุแตกต่างกัน มีปัจจัยในแง่การซับเสียงและสะท้อนเสียงแตกต่างกัน ครั้นจะออกแบบห้องใหม่ ขนาดและสัดส่วนของตัวบ้านก็ไม่ลงตัวตามสเปกตามแบบที่จะได้ห้องฟังดีๆ สักห้อง การใช้อุปกรณ์ปรับจูนเสียงสะท้อนและซับเสียงจากห้องฟังนั้น จึงเป็นการลงทุนที่สะดวกและใช้งบประมาณสมเหตุสมผล แต่หากใช้ผิดแบบ เลือกผิดประเภท วางไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกที่ควร อาจกลายเป็นเสียมากกว่าได้ก็เป็นได้เช่นกัน

สำหรับ ASC PCAD Panel แล้ว ช่วยปรับปรุงสภาพอะคูสติกของห้องฟัง ทำหน้าที่ทั้งซับและสะท้อนเสียง มันคือดิฟฟิวเซอร์ชั้นดีอีกหนึ่งประเภท เมื่อยกเข้าห้องและเข้าใจตำแหน่งในการวาง สัมผัสเสียงที่ได้ยินและความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้ทันที ทั้งรายละเอียดเสียงแผ่วเบา สัมผัสได้ต่อเนื่อง คอนทราสต์ดีเยี่ยมมากๆ และยังคงปลดปล่อยเนื้อเสียงกลางทุ้มออกมาได้ดีอีกเช่นกัน อันที่จริง ยังมีอุปกรณ์ปรับแต่อะคูสติกของ ASC อีกสองรายการที่ร่วมใช้อยู่ด้วย แต่เพื่อเป็นการทดสอบความเปลี่ยนแปลงจากการใช้ ASC PCAD เป็นตัวหลักแล้ว อุปกรณ์อีกสองชิ้นคือ ASC Matrix และ ASC Bastoni จะกล่าวในบทความต่อไป

หากชุดเครื่องเสียงหลักของท่าน เลือกได้ค่อนข้างลงตัวและไม่ขยับปรับเปลี่ยนอยู่บ่อยๆ  อีกทั้งห้องในบ้านได้ถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นห้องฟังเพลง การจัดหาอุปกรณ์ปรับปรุงอะคูสติกมาร่วมใช้งานในชุด จากชุดที่เคยสัมผัสได้ดีอยู่แล้ว ท่านจะยิ่งสัมผัสน้ำเสียง รูปวง คอนทรานสต์ ที่โดดเด่นอย่างไม่เคยสัมผัสมาก่อน ถ้าตัดสินใจเลือกใช้งานจริง ASC PCAD Panel เป็นอุปกรณ์ปรับอะคูสติกห้องฟังในระดับหัวแถว ที่ราคาอาจจะทำให้ตกใจบ้าง แต่เมื่อนำมาใช้ในห้องแล้ว ยากยิ่งนักที่จะยกออกไป Bluebird Recommened !!!

• รูปลักษณ์   5  ดาว

• ความสะดวก    5  ดาว  

• คุณภาพเสียง   5   ดาว  

• ความคุ้มค่า   5  ดาว  

คะแนนโดยรวม   5  ดาว  

ขอขอบคุณ : บริษัท ไฮเอ็นด์ออดิโอ (1979) จำกัด โทร.062-551-2410, 0-2102-1168 

ที่อนุเคราะห์  ASC PCAD Panel  สำหรับการใช้งานในครั้งนี้