What HI-FI? Thailand

Test Report: สายแม่เหล็ก CT-1

Test Report: สายแม่เหล็ก CT-1

(เทคโนโลยีพลิกโลก เครื่องเสียงที่คุณต้องติดตาม … ! )

ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

                ในเครื่องเสียง, เครื่องไฟฟ้า ทุกขั้นตอนเป็นการตัดต่อ, ดัดแปลง, ควบคุมสัญญาณที่อยู่ในรูปของ “กระแสไฟฟ้า” เราเชื่อและปฏิบัติเช่นนี้มากว่าร้อยปีแล้ว

การส่งทอดกระแสผ่านสายตัวนำต่างๆ จะได้ผลดีแล้วแค่ไหนขึ้นอยู่กับคุณภาพของสายตัวนำอย่างยิ่ง รวมทั้งขนาดของสายของตัวนำที่เป็นโลหะ เชื่อกันว่าสายยิ่งใหญ่ (ตัวนำใหญ่) จะส่งผ่านกระแสสัญญาณได้มากขึ้น (เนื่องจากความต้านทานลดลง) อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า SKIN EFFECT ที่สัญญาณความถี่สูงจะสิ่งโดยอาศัยผิวของตัวนำมันไม่ยอมซึมลึกเข้าไปในเนื้อขอบและตรงกลางของตัวนำ มีแต่ความถี่กลางๆ ที่จะวิ่งผ่านโดยอาศัยเนื้อขอบๆ ส่วนความถี่ต่ำสุดจะวิ่งผ่านตัวนำโดยอาศัยบริเวณแกนกลางของตัวนำ การ้องผ่านตัวนำที่มีความหนาแน่น, จำนวนต่างกัน ของเสียงต่างช่วงความถี่ดังกล่าวทำให้เสียงทุ้ม, กลาง, แหลม วิ่งหลุดออกจากตัวนำ ช้า-เร็ว ต่างกัน (ไม่ LINEAR PHASE) เสียงจึงผิดเพี้ยนไป

ประเด็นต่อมา กระแสสัญญาณไฟฟ้าที่เป็นส่วนประกอบของเม็ดอิเล็กตรอนจำนวนมหาศาลที่วิ่งผ่านตัวนำทุกเม็ดอิเล็กตรอนมีความเป็นแม่เหล็กในตัว แม่เหล็กจิ๋วจำนวนมหาศาลเหล่านี้จะเหนี่ยวนำให้ตัวนำเป็นแม่เหล็ก (MAGNETILE) ส่งสนามแม่เหล็กออกมาตลอดสายและเหนี่ยวรั้งให้กระแสอิเล็กตรอนวิ่งช้าลง แถมสะเปะสะปะฟุ้งกระจายไปหมดลดความคมชัดของกระแสสัญญาณที่วิ่งผ่านตัวนำ

เพราะอาศัยมวล, เนื้อของตัวนำในการส่งทอดกระแสอิเล็กตรอน ดังนั้นขนาดของตัวนำ, คุณภาพการนำกระแส, โครงสร้างสายจึงมีผลโดยตรงและมากต่อคุณภาพการส่งผ่านสัญญาณ (กระแสอิเล็กตรอน) จนมีความพยายามทำสายเส้นโตๆ ใช้วัสดุที่บริสุทธิ์ขึ้นเรื่อยๆ (เช่น 5N, 7N, 8N) สายเงิน (เงินชุบ) ฯลฯ

นี่เป็นทางเดิน วิธีการสามัญของวงการสายทุกชนิด ทุกสายงานไม่ว่าสายไฟ สายสัญญาณเสียง, สายลำโพง, สายดิน ฯลฯ โดยทั้งหมดก็แห่กันแก้ปัญหาด้วยมุมมองเดียวกันหมด นั้นคือเล่นกับ “กระแสอิเล็กตรอน”

เริ่มยุคใหม่ของการนำสัญญาณ

นาย RICKY SCHULTZ (highfidelitycables.com) มีมุมมองที่ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง เขามอง กระแสไฟฟ้า ก็คือการวิ่งของสายธารหรือหมู่อิเล็กตรอน หรือกระแสแท่งแม่เหล็กจิ๋วจำนวนมหาศาล และจัดการมันด้วย สนามเส้นแรงแม่เหล็ก (Magnetic Field หรือ MF ) แรงสูงมากพอที่จะกำราบ ชักจูงดึงดูดนำพาผลักและดันกระแสเม็ดอิเล็กตรอน (แท่งแม่เหล็กจิ๋ว)

มุมมองนี้พิสูจน์ได้โดย RICKY สาธิตให้ดูด้วยหลอด CRT ( CATHODERAY TUBE) ต่อหน้าผม เมื่อเปิดให้หลอด CRT ทำงานเราจะเห็นลำอิเล็กตรอนถูกยิงจากขั้วลบ (CATHODE) ไปยังขั้วบวก (แผ่นที่จอ) ลำแสงสีเขียวแทนกระแสอิเล็กตรอน เนื่องจากไฟ AC บ้านเราค่อนข้างแกว่ง ไม่นิ่งเสถียรเต็มร้อย และเต็มไปด้วยสัญญาณรบกวนสารพัด เราจึงเห็นลำแสงอิเล็กตรอนนี้บานฟุ้งออกพอควร ไม่ควบรวมตัวเป็นเส้นเล็กจิ๋วเท่าที่ควร นาย RICKY นำ “ชุดปลอกแม่เหล็ก” (ที่ปกติอยู่ที่หัวสายไฟ AC ของเขา ) มาจ่อที่หน้าจอ CRT หลังแผ่น ( ANODE ) ปรากฏว่า ลำอิเล็กตรอนที่วิ่งมาเกือบถึงแผ่นบวกนี้ ถูกบีบให้เข้มขึ้นและผอมขึ้นประมาณ 10 % อย่างเห็นได้ชัดเป็นการยืนยันได้ว่า ชุดปลอกแม่เหล็ก ของเขาสามารถบีบให้กระแสอิเล็กตรอนควบแน่นขึ้นและสะอาดสะอ้านขึ้นได้จริง เป็นการเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพของลำกระแสอิเล็กตรอน นอกจากนั้น RICKY ยังนำปลอกแม่เหล็กนั้นมาใกล้หลอดไฟแบบมีไส้ เห็นได้ชัดว่าเมื่อป้อนไฟตรงไส้หลอดนิ่งและโย้นิดแต่ถ้าไฟสลับ AC ใส่หลอดจะสะบัดมาก

บางคนนำเสนอการสอดปลอกแม่เหล็กเข้าไว้ในสายแบบของ RICKY แต่พวกนั้นทั้งหมดแค่ให้ลำกระแสไฟฟ้า (อิเล็กตรอน) วิ่งผ่านปลอกแม่เหล็กเป็นช่วงแคบๆ ของขนาดปลอกเท่านั้น ช่วงอื่นๆ ไม่สามารถมีสนามแม่เหล็กไปควบคุมลำกระแสอิเล็กตรอนในสายอีกได้

RICKY ใช้เวลากว่า 20 ปีที่จะแก้ปัญหานี้ เขาต้องการ “สร้าง” สนามแม่เหล็กให้เกิดขึ้นตลอดสายเพื่อควบคุมลำกระแสอิเล็กตรอนได้ตลอดทุกช่วง RICKY ใช่วิธีการ ผลัก และ ดัน ( Push&Pull ) โดยจัดชุดแม่เหล็กอยู่ในปลอกด้านขาเข้า (ปลอก A ) ของตัวสัญญาณต่อสายนั้น ปลอกนี้จะทำหน้าที่ “ผลัก” กระแสสัญญาณให้วิ่งไปตามสายไปสู่ปลายสาย(ปลอก B) ที่มีชุดแม่เหล็กที่จัดตั้งในลักษณะ ดูด ( Pull) กระแสสัญญาณเพื่อส่งออกไปภายนอก ทั้ง 2 ปลอก จึงทำงานแบบ Push&Pull (ผลักและดัน) พร้อมๆ กับเหนี่ยวนำให้เกิดสนามแม่เหล็กต่อเนื่องตลอดจากหัวสายถึงปลายสาย เพื่อบีบและควบคุมกระแสอิเล็กตรอนให้นิ่ง เรียบ เล็กควบแน่นที่สุด และเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพดีที่สุด RICKY ได้เพิ่มกระบอกแม่เหล็กยาวคืบกว่าไว้กลางสายรอดผ่านด้วย (รุ่นมาตรฐานจะไม่มีกระบอกกลางสายนี้ ชุดแม่เหล็กหัวท้ายสาย ก็จะไม่สลับซับซ้อนเท่าสายรุ่นสูงที่มีกระเปาะกลางสายด้วย)

RICKY นำลูกกลมแม่เหล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งเซ็นติเมตรมาโยนใส่สาย ปรากฏว่าสายดูดลูกกลมทันทีไม่ว่าจะโยนไปถูกส่วนไหนบนสาย

RICKY บอกว่าเขาใช้แม่เหล็ก นีโอไดเมี่ยม ธรรมชาติล้วนทั้งหมด (ซึ่งหายากและแพงกว่าพวกนีโดไดเมี่ยมและหล่อ) เรียกว่าถ้าเอาลูกกลมนั้นมาดูดกับหัวปลอก ( A หรือ B ) ผมลองดึงดู ดึงไม่ออกดูดแรงมากๆ

ผมถามว่าพวกปลอกเหล่านี้แตะต้องถูกกันเองจะมีผลเสียไหม เขาว่าไม่มีผลอะไร

RICKY ยังเล่าต่อว่าอย่างหัว RCA ของสายสัญญาณเขา แค่ชุดแม่เหล็กในหัว 1 หัวก็ประกอบด้วยชิ้นส่วนถึง 52 ชิ้น! (ไม่นับตัวปลอกอีก 2 ชิ้น ! )

RICKY ยังเล่าต่อว่า ถ้าจะลงทุนกับสายแม่เหล็กของเขา อยากให้เริ่มที่สายไฟ AC จะเห็นผลที่สุดถ้าใช้ทุกช่องไม่ว่าสายสัญญาณเสียง, สายลำโพง จะยิ่งทะลุโลกเลย มีคนนำเครื่องเล่น CD ราคา U$ 600 เหรียญ มาใส่สายไฟของเขาราคา U$ 2000 เหรียญ คุณภาพเสียงกินขาดเครื่องเล่น CD ราคา U$ 5000 เหรียญ

                ผมเลยถามว่า ถ้าจะจ่ายเงิน $ 2000 เหรียญ สำหรับสายไฟ AC ของเขากับตัวกรองไฟราคาเท่ากันเป็นเขาจะเลือกอะไร เขาว่าจ่ายกับสายดีกว่าเห็นผลกว่า

RICKY ยืนยันว่าสายเขามีอายุใช้งานได้เป็น 100 ปีขึ้นไปโดยแม่เหล็กไม่เสื่อมและทนร้อนได้ระดับ 200 องศา C

จริงๆ แล้ว 4 – 5 ปีที่แล้ว เขาเคยนำเสนอสายระบบแม่เหล็กมาแล้วต่อวงการไฮเอนด์ แต่ตอนนั้นราคามันสูงโด่งมากจนผู้บริโภคอาจเอื้อมไม่ถึงแต่วันนี้เขาหาวิธีการผลิตที่ดีจนสามารถดึงราคาลงมาได้ขนาดชาวบ้าน (ที่มีอันจะกินหน่อย) พอกัดฟันซื้อได้ ไม่ใช้แค่ สายในฝัน อีกต่อไป

มีนักเล่นเอาสายไฟ AC ของเขาใช้กับแอมป์ ปรากฏว่าจากที่เคยเร่งโวลลุ่มประมาณ 11 นาฬิกาก็เร่งเหลือแค่ 8-9 นาฬิกาทำให้ไม่ต้องลงทุนกับแอมป์วัตต์สูงมากๆ เอางบไปจ่ายค่าสายไฟได้สบายๆ

ผมถามว่า นักเล่นเขามีตัวกรองไฟต่างๆ อยู่แล้วจะใช้ร่วมกันได้ไหม RICKY ยืนยันว่าไม่มีปัญหา มันจะยิ่งส่งเสริมกันเองให้ต่างยิ่งดียิ่งขึ้น

สุดท้ายถาม RICKY ว่าถามจริงๆ สายต่างๆ ของคุณมีการแต่งแต้มสีสันอะไรเข้าไปกับเสียงไหม (เหมือนสายไฮเอนด์กว่า 90% ในท้องตลาด) RICKY ยืนยันว่าสายของเขาเป็นกลางมันมีหน้าที่แค่ถ่ายทอดนำส่งไม่มีหน้าที่ไปบิดเบือนเสียงใดๆ

ตรงนี้และครับที่สำคัญ ได้ทราบอย่างนี้ก็เข้าใจได้ ในโอกาสนี้ผมได้ขอสายไฟของ HighFidelity Cable รุ่นมาตรฐานถูกสุดคือรุ่น CT-1 มาทดสอบด้วย (ถูกที่สุดนี่ก็ $ 2000 เหรียญ หรือ 60,000 บาทเชียวนะครับ) รุ่นแพงสุด Ultimate Reference $ 10000 เหรียญ หรือสามแสนว่าบาทครับ ! (โอ้จะเป็นลม)

ผลการทดสอบครั้งที่ 1

จากเต้าเสียบตัวเมียที่กำแพง ( MONITOR ACOUSTICS ) รุ่นสีเทา (สูงสุด) ต่อออก สายแม่เหล็ก (รุ่น STANDARD ) เข้าตัวกรองไฟ MS-HD EU-01 โรเดี่ยม ออกสายไฟ MONITOR ACOUSTICS (สีน้ำเงินดำ 4 N ) เข้าตัวกรองไฟ PHD Power Station ออกสายไฟ AC CHORD ไปอินทีเกรทแอมป์ Mark Levinson No.383 ( 100 W.RMS/Ch ที่ 8 โอห์ม 200 W.RMS/Ch ที่ 4 โอห์ม ) เป็นบาลานซ์แอมป์แท้ สายไฟ AC อีกเส้นจาก PHD ไปเครื่องเล่น Oppo 105 (ปรับปรุงภาคจ่ายไฟ) อีกชุดไปจอ LCD Toshiba 23 นิ้ว Full HD มีการทำระบบระบาย Eddy Current ที่ PHD ด้วย

สายภาพ HDMI Monster HD 2000 (ย้อนทิศ) ไปจอ LCD สายเสียง MADRIGAL CZ-GEL 2 (บาลานซ์) จาก Oppo 105 ไป Input B-1 ของ No.383

บน Oppo 105 มีผลึกต่างๆ ช่วยปรับปรุงภาพและเสียง ลำโพงที่ใช้เป็น Monitor Audio BR-5 ( 3 ทางวางพื้น เอาหน้ากากออกเอียง TOE IN จูนไห้ได้สุ้มเสียงครบ มิติทรวดทรงเสียงดีที่สุด) สายลำโพง FURUKAWA S-2 ( ตามทิศ ) แยกอิสระ 2 ชุด (หัว WBT หางปลาเงินด้านแอมป์, WBT บานาน่าล็อคได้ ด้านลำโพง) เข้าลำโพง BR-5 ยกสายลำโพงสูงหนีพื้นห้อง (พรม/ปู) ด้วยตั้งกระดาษพิมพ์ดีดใหม่สูง 1 คืบอีก 1 รีมแยกสาย S-2 สองชุดไม่ให้แตะกัน อีก 3 รีมวางทับบนสุดให้นิ่ง

ลำโพงซ้าย, ขวา ห่างกัน 2 เมตรห้องขนาด 3.85 x 9 x 2.5 เมตร ฝาผนังมีฟองน้ำเก็บเสียง Sonex (สีขาว, เยอรมัน) ไม่ก้อง ปัดลมแอร์ ( 25 องศา C, Low )ลงหลังลำโพง มีกล่องตัวอย่างผลึก 12 ชนิดเล็กๆ 6 กล่องในห้อง ( กลางห้อง 1 หลังที่หนังฟังอีก 4 กล่อง ของ Judy Halls )มีพุ่มอะมิทิสขนาด 4 ฝ่ามืออยู่ด้านขวาของ Oppo 105 ห่างไป 1 ฟุตกว่า อีก 1 ก้อน 1ฝ่ามืออยู่ที่พื้นห้องห่างจุดนั่งฟังด้านขวามือ 1 เมตร

ผลึกทัวมาลีนขนาดประมาณ 1.5 x 2 นิ้ว บนเต้าเสียบตัวเมีย MONITOR ACOUSTICS ที่กำแพง 1 ก้อน ที่ขาเข้า PHD 1 ก้อน ออก 1 ก้อน ขาเข้า แอมป์ 1 ก้อน เข้า LCD 1 ก้อน เข้า Oppo 1 ก้อน ด้านหน้าขวาจุดนั่งฟัง 1 ก้อน

แร่พวกนี้จะมีการฟังหาทิศทางการวางทั้งหมด

มีหัวปลั๊กกรองไฟ PHD 4 หัวในห้องลอง 3 หัวที่แผงไฟเข้าห้องลอง

ผลการฟัง

ผมทดสอบร่วมไปเลย ทั้งเสียงและภาพ โดยการดูหนังฟังเสียงหนังเดิมตำแหน่งที่ต่อสายไฟแม่เหล็กผมใช้สาย FURUKAWA CB-10 สามเส้นเรียงทิศไป-มาถูกต้อง หัว Wattgate (ตัวผู้ทำแช่แข็งจากฝรั่งเศส) ตัวเมียก็ Wattgate สาย FURU ชุดนี้ถ้าคิดค่าตัวปัจจุบันก็น่าจะอยู่ที่ 25,000 บาท (ยาว1.5 เมตร) ซึ่งผมใช้มานานยังไม่พบว่าจะมีสายไฟ AC ไหนสู้ได้ (เท่าที่มีโอกาสนำมาทดสอบนะครับ ไม่ใช่ว่าเห็นกันทั้งท้องตลาดและไม่จำกัดราคา เพราะสายไฟ AC บางยี่ห้อ ชุดละ 30000 บาท !!!) สายไฟยี่ห้อดี ดัง 25,000 บาทก็ยังแพ้ชุดของผม

เมื่อฟังและดูภาพเทียบเพิ่งมีสายแม่เหล็กนี้แหละที่เหนือกว่าสาย CB-10 ของผม ( CB-10 ใช้ทองแดง PC-OCC บริสุทธิ์ 99.999% ) คือสายแม่เหล็กจะให้ภาพที่ควบคุมระดับแสงได้ดีกว่า ความโพลนนิดๆ จะหายไป เม็ดภาพนิ่งกว่าทำให้แยกแยะความคมชัด ความชัดลึกได้ดีกว่าสัก 5% สีสันอิ่มฉ่ำพอกัน

ด้านเสียง สายแม่เหล็กจะตอบสนองฉับไวกว่า 5% น้ำหนักเสียงควบแน่นกว่า 5 % มิติเสียงโฟกัสกว่า 7 % การแจกแจงเสียงอ่อน – แก่ ดีกว่า 5 %

ด้านอื่นๆ ทั้งภาพและเสียงใกล้เคียงกันมาก

ถึงตรงนี้เมื่อเทียบราคาแล้วสายแม่เหล็ก Standard ราคา64,000 นี้กับสาย CB-10 FURUKAWA ของผม 25,000 บาท แน่นอนว่า FURUKAWA จะคุ้มค่ากว่าแต่อย่าลืมว่า สาย CB-10 หาไม่ได้อีกแล้วตอนนี้หากันยังกับหาทองไม่มีใครยอมขายเพราะ FURUKAWA ญี่ปุ่นแท้เลิกทำสายออกมาเกือบ 20 ปีแล้ว (FURUKAWA กับ FURUTECH เป็นคนละยี่ห้อไม่เกี่ยวกัน)

การทดสอบที่ 2

2 อาทิตย์ต่อมาผมเอาตัวกรองไฟ MS-HD EU01 โรเดี่ยม (ตัวนี้ราคา 67,000 บาท) ออกวางข้างนอก(ตัวนี้มากับชุดผม) คราวนี้ต่อตรงจากกำแพงเข้าสายแม่เหล็ก เข้า PHD Power Station เลย เทียบกับ FURUKAWA CB – 10 เข้า PHD Power Station เหมือนกันตรวจเฟสไฟ AC ตรงกันทั้ง 2 สาย คือลองต่อแบบลัดตรงสั้นที่สุด ลดตัวช่วยลง

ปรากฏว่า สายแม่เหล็กยังดีกว่าทุกกรณีเช่นเดิม จะแจ้งขึ้นด้วยจาก 5%น่าจะเป็นสัก 7 % ไม่ใช้ตัวกรอง MS HD ไม่ดีหากแต่มันอาจจะไม่เหมาะกับสายพิสดารอย่างสายแม่เหล็กนี้

ที่น่าคิดอย่างที่สุดคือ

ยิ่งผมดูและฟังด้วยสายแม่เหล็กไปนานๆ (นานกว่าสลับไป-มาแบบตอนเทียบกับ FURU CB-10 ) ผมลองดูแช่สัก 15 นาที แล้วย้อนกลับไปดูฟังด้วยสาย CB -10 เดิม โอ้! คราวนี้มันไม่ใช้ว่าสายแม่เหล็กดีกว่า 7% แต่มันกระโดดเป็น 30 % ไปแล้ว พูดง่ายๆ ผมไม่อยากกลับไปฟังและดู ด้วยสาย CB-10 เดิมเลยมันดูขุ่นกว่า ฟุ้งกว่า จืดกว่า ช้ากว่า ความมีชีวิตชีวา วิญญาณ อารมณ์ น้อยกว่า

เช่นดู DVD คอนเสิร์ต HELMUT LOTTI GOES CLASSIC RED ALABUM โอ้! เสียง, วิญญาณ, อารมณ์ ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยฟังแผ่นนี้มาเป็นร้อยครั้ง แผ่น DVD BONEY M LEGENDARY TV PERFORMANCES (แผ่นก๊อบปี้ เพราะแผ่นแท้หาไม่ได้เลย) คุณเชื่อไหมภาพ (4:3 / NTSC ) โคตรเนียน, ชัด, ประกาย ยังกับภาพ 4 K เลย !!! เสียงก็หายห่วงแม้ว่าเขาบันทึกเวทีเสียงไม่กว้างนัก (ถ้ารัก Bdaey M แผ่นนี้พลาดไมได้เด็ดขาด แผ่นอื่นๆ อีก3อัลบั้มสู้ไม่ได้)

ข้อควรจำและสำคัญที่สุด

สายไฟแม่เหล็กนี้บุคลิกทุกรูปแบบ เป็นกลางอย่างยิ่งยวด มันจะฟ้องการ Set up ชุดที่ผิดพลาด ไม่เต็มร้อย คุณภาพเครื่องเสียง (เช่น แอมป์, ลำโพง) ที่ดีไม่พอหรือมีอะไรผิดพลาด (ไม่จำเป็นต้องแพงลิบโลก ) จนเป็นไปได้สูงมากที่คุณจะนึกว่าเป็นความบกพร่องของสายนี้ (คุณลืมตัวมันได้เลย) ถ้าคุณทุกทุกอย่างให้ถูกต้องที่สุด มันจะฉายคุณความดีอันน่ามหัศจรรย์ของมันออกมาไห้คุณได้ตื่นตะลึงอย่างนึกไม่ถึงทีเดียว!

 

ขอขอบคุณ ร้าน NIK’S STUDIO โทร.0-2488-3173 ที่ให้สายมาทดสอบในครั้งนี้

Exit mobile version