Test Report: ขาตั้งลำโพง PARTINGTON : Super Dreadnought
“การกลับมากับขาตั้งในตำนาน”
“bluebird u11”
หากว่าด้วยศาสตร์ของขาตั้งลำโพงในปัจจุบัน มีนักเล่นฯ จำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่า ขาตั้งลำโพงมีผลโดยรวมต่อการใช้งานของชุดเครื่องเสียง
เมื่อมีนักเล่นฯ ที่เชื่อว่ามีผลจริง ก็ต้องมีนักเล่นฯ หรือผู้ใช้งานที่คิดว่ามันไม่ส่งผลอะไรกับเสียงดนตรีที่รับฟัง เพราะหน้าที่ของขาตั้งคือวางให้แน่นและนิ่งที่สุดเท่าที่จะทำได้ และยังมีกลุ่มคนที่ไม่เชื่อเพราะไม่เคยสัมผัส นำราคาขาตั้งคุณภาพเป็นตัวตั้งและสรรหาวัสดุที่คิดว่าดีกว่ามาจ้างผลิตขาตั้งให้ตอบสนองตามความต้องการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องความมั่นคงแข็งแรงและความสวยงามเข้าไว้ด้วยกัน ในเมื่อความเชื่อเรื่องน้ำเสียงของขาตั้งไม่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คุณภาพเสียงจึงไม่ถูกจัดอยู่ในจุดประสงค์หลักของการผลิต หลายท่านอาจก้าวผ่านประเด็นเหล่านี้มาแล้ว เพราะการอยากรู้อยากลองจนท้ายที่สุด ขาตั้งที่ออกแบบและจูนเรื่องคุณภาพมาให้เหล่านักเล่นฯ ใช้งานนั้น เป็นสิ่งที่มีให้เลือกและคุ้มค่ากว่าการสั่งจ้างผลิตตามอุดมคติ
น่าเสียดายที่ขาตั้งชั้นดี คุณภาพสูงในอดีตต้องหยุดการผลิตไปพร้อมๆ กับชั้นวางเครื่องเสียง ด้วยต้นทุนการผลิต รูปร่างหน้าตา ฯลฯ อาจเป็นรองเรื่องความสวยงามในแนวทางเฟอร์นิเจอร์สุดหรูทั้งหลาย ทำให้ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มไม่ใหญ่มากนัก เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ผลิตก็มิอาจแบกภาระต้นทุนที่สูงขึ้นของวัสดุและแรงงาน จึงเหลือไว้เพียงชื่อเสียงที่ดีของขาตั้งในอดีต ปัจจุบันขาตั้งคุณภาพดังที่กล่าวยิ่งมีมูลค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ? เพราะไม่มีขาตั้งในปัจจุบันที่เข้ามาทดแทนได้เต็มร้อยเปอร์เซนต์ ถึงจะมีใกล้เคียงกัน ราคาจำหน่ายก็สูงมากกว่าลำโพงที่นักเล่นฯใช้งานด้วยซ้ำไป
สำหรับขาตั้งลำโพงในอดีตที่โด่งดังจากเกาะอังกฤษ สามารถชี้ลงไปได้ไม่เกินสิบแบรนด์ บางรายเลิกผลิต บางรายย้ายฐานการผลิตมาในทวีปเอเชียแต่ก็ยังมีบางรายที่คงผลิตในประเทศอังกฤษ ด้วยต้นทุนการผลิตเป็นที่ตั้ง ทำให้เครื่องเสียง, ชั้นวาง, ขาตั้ง แบรนด์ดั้งเดิมจากอังกฤษเริ่มลดน้อยถอยลง แต่สำหรับขาตั้งในแบรนด์ PARTINGTON แม้จะเป็นแบรนด์อังกฤษที่ไม่เก่าแก่เหมือนกับหลายๆ แบรนด์ ยังคงผลิตขาตั้งที่โด่งดังในอดีตป้อนสู่ตลาดเครื่องเสียงในประเทศไทย และปัจจุบัน PARTINGTON ได้กลับมาทำตลาดในประเทศไทยอีกครั้ง จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักเล่นฯ ล่าสุดขาตั้งลำโพง PARTINGTON รุ่น SUPER DREADNOUGHT อันเลื่องชื่อในอดีต กลับมาวางจำหน่ายในรุ่นใหม่ ปรับปรุงรายละเอียดไปบ้าง ที่สำคัญ คุณภาพของเสียงจะอยู่ในแนวทางเดิมหรือไม่คงต้องลองดูกันต่อไป
รูปลักษณ์และการใช้งาน
PARTINGTON SUPER DREADNOUGHT เป็นหนึ่งในสี่รุ่นที่ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายทำการตลาด หากเทียบระหว่างรุ่นต่อรุ่น Super Deradnought เป็นรุ่นลำดับที่สองและมีรุ่นใหญ่กว่า เช่นเดียวกับอดีตที่รุ่น Super Deradnought โด่งดังถึงขนาดต้องสั่งจองและวางเงินมัดจำไว้ก่อนที่จะได้รับอีกหลายวัน นอกเหนือจากการหาซื้อมาใช้งานปกติขาตั้งในรุ่นนี้เองได้มีลำโพงจากเกาะอังกฤษยี่ห้อ Spender นำมาเข้าคู่จำหน่ายพร้อมกับลำโพง ซึ่งขาตั้งที่ขายร่วมกับลำโพงดังกล่าวจะเป็นขาตั้งสีบรอนซ์เงินเป็นส่วนใหญ่ ส่วนขาตั้งที่จำหน่ายแยกและได้รับความนิยมสูงสุดจะเป็นสีกราไฟต์ คุณภาพสำหรับใช้งานร่วมกับลำโพงเล็กไม่ต้องพูดถึง ถึงขนาดราคาจำหน่ายของมือสองเท่ากับราคาใหม่ยังมีคนซื้อ
ความโด่งดังในอดีตจึงมีขาตั้งรุ่นเลียนแบบที่ผลิตออกมาจำหน่ายจำนวนหนึ่ง ทำให้การเลือกซื้อหาในตลาดมือสองเป็นสิ่ที่น่าห่วง เพราะหากผู้ซื้อได้ของเลียนแบบไปและถูกแอบอ้างว่าเป็นของแท้ คุณภาพเสียงอาจไม่ประทับใจดังคำร่ำลือกันมา นับแต่วันนั้นจวบจนวันนี้ PARTINGTON หายจากวงการในประเทศไปนานพอควร การกลับมาในครั้งนี้ มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางจุดจากรุ่นเดิม แต่โครงสร้างและหน้าตาของขาตั้งตัวหลักยังคงเป็นเช่นเดิม
การออกแบบยังคงเน้นการออกแบบเป็นขาตั้งในรูปแบบสี่เสากลมเล็กเชื่อมติดกับเสากลางที่ออกแบบโครงเหล็กกล่องทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสชิ้นเดียว จากนั้นเชื่อมปีกด้วยเหล็กแผ่นไปยังเสาเล็กทั้งสี่ต้น เป็นการเชื่อมเพียงเสาละสามจุดและเว้าแผ่นเหล็กจุดที่ไม่เชื่อมนี้ให้มีช่องว่าง ยึดติดด้วยเพลทด้านบนและเพลทด้านล่างอีกที เมื่อหงายเพลทด้านล่างขึ้นจะพบรูของเสาทั้งสี่ต้นเล็กและรูสี่เหลี่ยมใหญ่ตรงกึ่งกลางเพลท รูดังกล่าวมีพลาสติกฉีดขึ้นรูปมาให้สำหรับปิดในกรณีที่กรอกสายหรืออุปกรณ์จูนเสียงใดๆ เข้าไป หากไม่มีการกรอกทรายก็นำพลาสติกที่ว่านี้มาปิดรูไว้ได้เช่นกัน
เพลทด้านล่างมีการออกแบบใหม่เล็กน้อย รุ่นเดิมบริเวณมุมจะเชื่อมเหล็กกลมเจาะรูทำเกลียวสำหรับใส่เดือยแหลมและสามารถขันเดือยแหลมจากด้านบนของเพลทชิ้นนี้ได้ ส่วนเพลทรุ่นใหม่นี้จะเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าหน้าแคบหลังลึกและตัดมุมทั้งสี่ของเพลทในรูปแบบฉาก ด้านในฉากของมุมทั้งสี่เว้นระยะเข้ามาเล็กน้อยพร้อมทำรูเกลียวสำหรับใส่เดือยแหลม ส่วนด้านบนของเพลทนั้นเรียบสนิท เวลาปรับเดือยแหลมจะต้องใช้มือหมุนที่ตัวเดือยเป็นหลักเท่านั้น พร้อมกับล๊อคนัตตัวเมียระหว่างเดือยแหลมกับรูให้แน่นสนิท ตัวเพลทชิ้นล่างนี้พับขอบลงประมาณ 20 มิลลิเมตร และมีการนำวัสดุจำพวกเรซิ่นทับที่ด้านในของเพลทด้านล่างนี้เหมือนกับรุ่นดั้งเดิม เพลทด้านล่างกว้าง 230 ลึก 260 มิลลิเมตร
ส่วนเพลทด้านบนเรียบสนิท ไม่มีติ่งหรือปุ่มยางใดๆ ติดตั้งเพิ่ม ตัวเพลทด้านบนพับขอบลงประมาณ 13 มิลลิเมตร พร้อมเทเรซิ่นทับไว้ไต้เพลทเช่นเดียวกับขาตั้งรุ่นดั้งเดิม โดยเรซิ่นรุ่นใหม่จะเรียบและละเอียดกว่า ส่วนข้อแตกต่างอีกข้อตรงที่ขาตั้งรุ่นดังเดิมจะฝังนัตตัวเมียราวๆ เบอร์ 10 มิลลิเมตร ในชั้นของเรซิ่นที่เททับไว้และโผล่ออกมาให้สัมผัสได้ นัตในรุ่นเดิมดั้งกล่าวง่ายต่อการใช้งานโดยเลือกจูนว่าจะนำนัตไว้ด้านหน้าหรือด้านหลังกรณีเล่นกับลำโพงที่แตกต่างกัน เพลทด้านบนกว้าง 15 ลึก 17 มิลลิเมตร เหมาะใช้งานกับลำโพงที่มีขนาดไม่ใหญ่เกินเพลทมากนัก
PARTINGTON SUPER DREADNOUGHT คู่ที่ได้รับมานี้มีสีภายนอกเป็นสีดำซาติน แยกบรรจุมากล่องละ 1 ตัว มีเดือยแหลมมาให้ทั้งหมดแปดตัวต่อหนึ่งคู่ พร้อมทั้งปลั๊กอุดรูขาตั้งแบบเหลี่ยมสองตัวแบบกลมแปดตัวต่อหนึ่งคู่ มีขนาดความสูงรวมเดือยแหลมแล้ว 25 นิ้ว ความสูงเฉพาะตัวขาตั้ง 24 นิ้ว เดือยแหลมสูงโดยประมาณ 1 นิ้ว บรรจุมาเรียบร้อยดีมาก งานประกอบพินิจจากกายภาพแล้ว ดูจะเรียบร้อยน้อยกว่าขาตั้งรุ่นดั้งเดิมพอสมควร
ชุดและอุปกรณ์ร่วมใช้งาน
PARTINGTON SUPER DREADNOUGHT คู่นี้เป็นขาตั้งใหม่ ยังไม่น่าจะใช้งานมาเพราะอุปกรณ์ร่วมใช้งานยังไม่มีการประกอบเข้าไปในตัวขาตั้ง เมื่อนำขาตั้งมาประกอบเสร็จ จึงนำมาเปรียบเทียบกับขาตั้งดั้งเดิมที่มีไว้อ้างอิง ชุดเครื่องเสียงที่ร่วมใช้งานในครั้งนี้มีอยู่สองชุดหลักๆ ดังนี้
ชุดแรกประกอบด้วยเครื่องเล่นซีดี ARCAM : FMJ CD 23 dCS Ring DAC plus HDCD, อินทีเกรทแอมป์ Accuphase : E-470, ลำโพง Totem Acoustic : Model One Signature ป้ายสีเงินโลโก้สีแดงรุ่นแรก, ลำโพงวางขาตั้ง Monitor Audio : Studio 2, ลำโพง Wharfedale : Denton 80th Anniversary Limited Edition, ลำโพง XAV : Pratiott Prototype (Tweeter TDL), ลำโพง QUAD 11L Classic จัดวางบนขาตั้งลำโพงเป้าหมาย Super Dreadnought สูง 25 นิ้ว สีดำซาติน (สลับกับขาตั้ง Focus Audio สูงจากพื้นรวมเดือยแหลม 24 นิ้ว, ขาตั้ง Partington Super Dreadnought สูง 24 นิ้ว สีแกรไฟต์) ด้านบนตู้ลำโพงวางก้อนอิทธิเจทับไว้ตู้ละหนึ่งก้อน
สายสัญญาณอะนาลอกจาก CD ไปอินทีเกรทแอมป์ Cardas Golden Reference (RCA) ท่อหดเทาตัวหนังสือสีทองยาว 1 เมตร, สายลำโพง JARMA UNITY Sweden ยาว 2.5 เมตร แบบซิงเกิ้ลไวร์ขั้วต่อ WBT, สายไฟเอซีเครื่องเล่นซีดี JPS Labs Katovator Lite เข้าขั้วตัวผู้ Wattgate 330 Evo Au ขั้วท้าย Wattgate 350 Evo Au ยาว 2.0 เมตร, สายไฟเอซี Hovland Main Line Power Cord เข้าขั้วตัวผู้ Wattgate 330 ขั้วท้าย Wattgate 350 รุ่นเก่าเสียบเข้าที่อินทีเกรทแอมป์ โดยสายไฟของเครื่องเล่นซีดีและอินทีเกรทแอมป์ต่อเข้าปลั๊กลอยอมฤตรุ่นพิเศษ Wattgate แบบหกช่องเสียบ (ที่ระลึกครบรอบ ๙ ปี www.audio-teams.com เจ.เจ. ปลั๊ก) รองใต้ปลั๊กด้วย Acoustic Revive TB-38H จากปลั๊กลอยต่อด้วยสายไฟ Cardas Golden Reference Power Cord รุ่นดั้งเดิมท่อหดเทายาว 2 เมตร เข้าปลั๊กผนัง Acoustic Revive Plug (Special Plug) อีกช่องเสียบสายไฟใช้งานเครื่อง Acoustic Revive RD-3
ชุดที่สองประกอบด้วยเครื่องเล่น SACD Accuphase : DP 550, อินทีเกรทแอมป์ Krell : KAV 400 xi Signature Special Limited Edition, ลำโพงวางขาตั้ง Totem Acoustic : Model One Signature ป้ายสีเงินโลโก้สีแดงรุ่นแรก, ลำโพง Wharfedale : Denton 80th Anniversary Limited Edition, ลำโพง Monitor Audio : Studio 2, ลำโพงวางขาตั้ง XAV : Patiott Prototype (Tweeter TDL) จัดวางบนขาตั้งลำโพงเป้าหมาย Super Dreadnought สูง 25 นิ้ว สีดำซาติน (สลับวางบนขาตั้ง Totem Acoustic T4S ขนาด 24 นิ้ว ไม่ได้กรอกทรายทุกชนิด) ด้านบนตู้ลำโพงวางก้อนอิทธิเจทับไว้ตู้ละหนึ่งก้อน
สายสัญญาณอะนาลอกจาก SACD ไปอินทีเกรทแอมป์ Cardas Golden Reference (XLR) ท่อหดเทาตัวหนังสือสีทองยาว 1 เมตร, สายลำโพง Cardas Cross Bi-wire สีเขียวท่อหดเทายาว 3 เมตร ต่อด้วยขั้วบานาน่า Monster X-Terminator, สายไฟเอซีเครื่องเล่นซีดี JPS Inwall Power Cord เข้าขั้ว Wattgate ทองรุ่นเก่าทั้งด้านขั้วตัวผู้และขั้วตัวเมียยาว 2.1 เมตร, สายไฟเอซี Hovland Main Line Power Cord เข้าขั้วตัวผู้ Wattgate 330 ขั้วท้าย Wattgate 350 รุ่นเก่าเสียบเข้าที่อินทีเกรทแอมป์ โดยสายไฟของเครื่องเล่นซีดีและอินทีเกรทแอมป์ต่อเข้าปลั๊กลอยหิมพานต์ แบบหกช่องเสียบ (ที่ระลึกครบรอบ ๙ ปี www.audio-teams.com เจ.เจ. ปลั๊ก) รองใต้ปลั๊กด้วย Acoustic Revive TB-38H จากปลั๊กลอยต่อด้วยสายไฟ Cardas Golden Reference Power Cord รุ่นดั้งเดิมท่อหดเทายาว 2 เมตร เข้าปลั๊กผนัง Acoustic Revive Plug (Special Plug) อีกช่องเสียบสายไฟใช้งานเครื่อง Acoustic Revive RD-3 ด้านท้ายสายไฟเอซีทั้งหมดรองไว้ด้วยอุปกรณ์รองสาย Acoustic Revive PSA-100 ทุกจุดทุกเครื่อง พร้อมทั้งต่ออุปกรณ์จัดการระบบกราวด์ Acoustic Revive RGC-24 ไว้ที่อินทีเกรทแอมป์
เครื่องเล่นซีดี / SACD จัดวางบนชั้นวาง TOWNSHEND Audio : Seismic Isolation Platform S3, อินทีเกรทแอมป์วางไว้บนชั้นวาง Solid Tech : Rack of silence regular 1 + แผ่นไม้ Solid Tech แท้ (สลับวางบนชั้นวาง Target PSF-1), ด้านบนของเครื่องบริเวณทรานสฟอร์เมอร์วางก้อนอิทธิเจทับไว้หนึ่งก้อน และบริเวณโวลลุ่มวางก้อนอิทธิเจรุ่นดั้งเดิมไว้หนึ่งก้อน พยายามแยกสายต่างๆให้ห่างออกจากกัน และยกสายสัญญาณด้วยก้อนอิทธิเจ (ที่ระลึกครบรอบ ๙ ปี www.audio-teams.com) สายลำโพงรองไว้ด้วยตัวรองสาย Cable Insulater Acoustic Revive RCI-3H ข้างละสองตัว ส่วนสายไฟเอซีทั้งหมดยกให้ลอยจากพื้นห้องด้วยบล็อคไม้ Cardas ในระบบไฟเอซีและขั้วต่อสายสัญญาณระหว่างเครื่องรวมถึงขั้วด้านท้ายของอินทีเกรทแอมป์ จูนไว้ด้วย Acoustic Revive : QR8 ทั้งหมดแปดจุดแปดตัว
ภายในห้องฟังใช้อุปกรณ์สะท้อนเสียง (แผงดิฟฟิวเซอร์) ของ Handcraft Acoustic 1 ชุด มีทั้งหมดสี่แผงและปรับแต่งอะคูสติกเบื้องต้นด้วยอุปกรณ์ปรับแต่ง ASC Sound Panel ทั้งหมดสี่คู่ โดยวางไว้ด้านหลังลำโพงสองคู่ ด้านข้างลำโพงสองคู่ ด้านหลังลำโพงปรับแต่งด้วยจิกซอว์ของ HIFI Club หนึ่งคู่ ใกล้กันจูนด้วยรูมจูนของ Michel Green 1 คู่ (สีเทา) รูมจูน Michel Green อีกหนึ่งคู่วางจูนไว้ด้านหลังห้อง (สีขาว) จูนเสียงโดยวาง Dyna Foot 3 ลูก ไว้ตรงกึ่งกลางของแผงดิฟฟิวเซอร์แผงกลางด้านหลังลำโพง 1 ลูก และวางไว้ข้างซ้ายและข้างขวาอย่างละ 1 ลูก แผงหลังจุดนั่งฟังวางทิปโท เจ.เจ. จูนเสียงด้านบนแผงดิฟฟิวเซอร์ทั้งสามตัว โดยวางไว้ข้างซ้าย,ขวาและกึ่งกลางอย่างละหนึ่งตัวเอาด้านปลายแหลมชี้ขึ้นฟ้า มีอุปกรณ์ปรับความถี่ ABC ของออดิโอคอนซัลแตนซ์วางไว้กึ่งกลางแผงหลังอีกที ส่วนแผงด้านข้างทั้งสองแผงจูนเสียงด้วย Dragon Foot (By เดอะหั่ง แห่ง HIFI HOUSE) ลูกใหญ่ตรงกึ่งกลางแผงละ 1 ลูก และวางเครื่องกำจัดคลื่นรบกวน Acoustic Revive RR-777 ไว้ด้านบนกึ่งกลางแผงดิฟฟิวเซอร์ด้านหลังลำโพง เป็นตำแหน่งที่ดีสำหรับห้องฟังห้องนี้
ขนาดของห้องฟังโดยประมาณ กว้าง 3.8 ยาว 6.5 และสูง 2.4 เมตร ผนังด้านข้างเป็นอิฐมอญฉาบเรียบด้วยปูนฉาบทาปิดผิวหน้าด้วยสีน้ำ พื้นไม้เข้าลิ้นวางทับหน้าด้วยพรมบริเวณจากหน้าลำโพงถึงจุดนั่งฟัง นั่งฟังด้วยเก้าอี้ผ้าที่มีความสูงพอดีกับหัวไหล่ โครงเก้าอี้เป็นไม้และใช้วัสดุเป็นผ้ารองนั่งกับแผงพนักพิงหลัง นั่งฟังห่างจากลำโพง 2.4 เมตร โทอินลำโพงไม่เกิน 20 องศา โดยประมาณ (เกือบทุกคู่) พร้อมทั้งวางก้อนอิทธิเจรุ่นฉลองครบรอบ 9 ปี เว็บไซต์ออดิโอทีมดอทคอมทับด้านบนของตู้ลำโพงไว้ตู้ละ 1 ก้อน
ผลการใช้งาน
PARTINGTON SUPER DREADNOUGHT เริ่มต้นใช้งานทดแทนขาตั้งมวลปานกลางไปถึงมวลหนักที่ใช้อ้างอิงประจำ หากใช้วางลำโพงที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก เช่น ลำโพง Monitor Audio Studio2, ลำโพง Dali Mentor Menuet ฯลฯ ลำโพงที่มีขนาดพิกัดประมาณนี้ รวมไปถึงลำโพงตระกลู Spendor s3/5 จะไปด้วยกันได้ดีในเรื่องเพลทของขาตั้งด้านบนจะวางรับลำโพงได้เกือบเต็ม หากลำโพงมีขนาดใหญ่กว่าก็ยังสามารถวางลงได้ แต่ต้องมีการปรับตำแหน่งการวางให้สมดุลทั้งด้านความมั่นคงและด้านคุณภาพเสียงที่นำเสนอออกมา การปรับจูนระยะห่างระหว่างลำโพงแต่ละคู่ ยังยึดถือตำแหน่งที่ดีที่สุดของลำโพงแต่ละคู่เป็นจุดอ้างอิง
หลังจากวางจนได้ตำแหน่งที่ดีที่สุดแล้ว การปรับระดับน้ำเพื่อให้ขาตั้งอยู่ในแนวระดับเริ่มดำเนินการทันที การปรับเดือยแหลมที่เพลทด้านล่างของลำโพงอาจยุ่งยากกว่ารุ่นเดิมสักนิด แต่แลกมาด้วยความสวยงามของเพลทด้านล่างที่ไม่มีสกรูโผล่ขึ้นมา เมื่อจูนระดับการวางได้ลงตัวแล้วจึงนำลำโพงมาวางให้นิ่งที่สุด ช่วงแรกๆ ในการเริ่มใช้งานสัมผัสในเรื่องเนื้อเสียงที่เข้มข้นขึ้น ความต่อเนื่องของเสียงขับร้องไหลลื่นต่อเนื่องไปตลอด ความสงัดของพื้นเสียงที่สัมผัสได้จากรายละเอียดประเภทคอนทราสต์ทุกท่วงทำนองสัมผัสได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งหางเสียงที่ทอดตัวไปไกลและมีประกายมากยิ่งขึ้น ให้รายละเอียดด้านเสียงกลางและเสียงแหลมได้สดใสเป็นประกาย อัลบั้ม [Now the Green Blade Riseth / proprius PRCD 9093] สามารถชี้ประเด็นเหล่านี้ได้ดี
ในอดีต ขาตั้งรุ่นนี้โดดเด่นในแนวทางของเพลงขับร้อง เมื่อเป็นเช่นนี้แนวเพลงขับร้องดนตรีน้อยชิ้นของ [Carol Kidd : ALL MY TOMORROWS/ALOI Record] ยิ่งส่งผลในการถ่ายทอดออกมานุ่มนวลและเข้มข้น มีความอบอุ่นปะปนอยู่ตลอดท่วงทำนอง อุดมไปด้วยความหวานออดอ้อน นำเสนอให้สอดคล้องระหว่างเสียงร้องและดนตรีทั้งหมดสมดุลกัน ให้ความต่อเนื่องฟังได้เพลิดเพลินไร้อาการสะดุด อีกทั้งจำแนกคอนทราสต์ได้ดีไม่แพ้แนวเพลงที่มีนักร้องขับร้องหลายคนและดนตรีหลายชิ้น พื้นเสียงสะอาด มีความสงัดโดดเด่น เน้นให้บรรยากาศรายล้อมเด่นชัดและนำเสนออยู่เสมอ ยิ่งเพิ่มน้ำหนักในการกดทับลำโพงลงไปด้วยอุปกรณ์เครื่องเคียงส่งผลในเรื่องน้ำหนักเสียงได้ย้ำเน้นมากขึ้น ช่องไฟเด่นขึ้นเป็นลำดับ
เสียงขับร้องของ [CLAIR MARLO : LET IT GO Sheffield Lab CD29] เสียงขับร้องให้ความอิ่มเอิบอบอุ่น มีขนาดของเสียงพอเหมาะ บรรยากาศรอบตัวเสียงขับร้องสัมผัสได้ตลอด ตอบสนองจังหวะดนตรีด้วยความต่อเนื่องและมีลีลา ควบคุมน้ำหนักเสียงในแต่ละย่านได้ดี ตอบสนองสัญญาณฉับพลันรวดเร็วต่อเนื่อง โดยยังตรึงตำแหน่งไว้แม่นยำแน่นสนิท รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในทุกๆ แถวเด่นชัดให้รายละเอียดที่จับต้องได้ เสียงขับร้องและบรรยากาศรอบตัวเสียงขับร้องเน้นสมดุลเสียงให้สอดคล้องต่อเนื่องกันสม่ำเสมอ
แนวเพลงขับร้องของนักร้องชายที่ให้น้ำหนักเสียงเข้มข้น ดุดัน รวดเร็วในแทร็คที่หกของอัลบั้ม [ART FOR THE EAR / Burmester CD III] ให้มวลเสียงเข้มข้นและอิ่มเอิบขึ้นเล็กน้อย มีขนาดและสเกลใหญ่โตมากขึ้น ลดความดุดันลงบ้าง แต่แลกมาด้วยบรรยากาศที่เพิ่มเติมเข้ามา ความสะอาดเกลี้ยงเกลาของตัวเสียงยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม ในเงื่อนไขเดียวกันที่ร่วมใช้งานกับลำโพงหลากหลายคู่ ทั้งคู่ที่มีน้ำหนักไล่ตั้งแต่เบาไปถึงหนักมาก ให้ความโดดเด่นในเรื่องความต่อเนื่องของท่วงทำนอง มีเนื้อหนังไม่บอบบาง และอุดมไปด้วยบรรยากาศอยู่เสมอ พื้นเสียงสะอาดจำแนกคอนทราสต์ได้เหมาะสม
เสียงขับร้องอัลบั้ม [ART FOR THE EAR / Burmester CD III] เสียงขับร้องออกมามีมวลพอดิบพอดี เน้นให้เข้มข้นเล็กน้อย การร้องประสานเสียงแยกแยะกันอิสระและไม่ล้ำหน้าเกินเสียงหลัก ระดับเสียงของนักร้องทั้งหมดกลมกลึงอยู่ในรูปเวที สเกลของเสียงสมดุลเสมอสมานกัน หางเสียงจากการขับร้องจางหายไปด้วยความราบรื่นตามธรรมชาติ เสียงการสไลด์สายกีตาร์หรือรูดสายกีตาร์นำเสนอให้มีลีลาโดยย้ำเน้นความหนักเบา ความอ่อนแก่ของการเล่นกีตาร์สอดคล้องกับความต่อเนื่องให้ดำเนินไปด้วยความเพลิดเพลินและไม่มีอาการเชื่องช้าหรือเร่งรีบใดๆ รายละเอียดของแต่ละเสียงในแถวถัดไปยังจำแนกออกมาได้ดี ส่วนที่ลึกเข้าไปจนสุดโถงไม่มีม่านหมอกใดๆ บดบังตัวเสียงอีกทั้งสมดุลเสียงนี้ยังคงรักษาไว้ได้ดีเสมอ
แนวแพลงขับร้องของนักร้องไทย จากแผ่นในท้องตลาดทั่วไป ให้เสียงขับร้องอบอุ่นมีน้ำมีนวลมากขึ้น ให้ความต่อเนื่องพร้อมตัวเสียงที่มีฐานเสียงและเนื้อเสียงพอประมาณ ไม่เกิดอาการแหบแห้งใดๆ เรียกว่าฟังได้เพลิดเพลินต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น ให้บรรยากาศเคล้าคลออยู่ตลอด ทั้งหมดที่กล่าวนี้เป็นการใช้งานขาตั้ง PARTINGTON SUPER DREADNOUGHT เพียวๆโดยไม่ใช้อุปกรณ์จูนเสียงมาแต่งเติมสีสัน ไม่ว่าจะป้อนแหล่งต้นทางให้แตกต่างกันแค่ไหน แต่สมดุลเสียงของการนำเสนอออกมาทุกครั้ง จะเน้นลีลาในแนวทางความต่อเนื่องเป็นหลักและมีมวลเสียงที่เข้มข้นขึ้นเสมอ
แนวเพลงที่ย้ำเน้นจังหวะจะโคนให้รวดเร็วย้ำเน้นหัวโน้ต เมื่อใช้งานร่วมกับขาตั้งรุ่นนี้ หัวโน้ตผ่อนปรนเล็กน้อย คงไว้กับจุดเด่นในเรื่องการรักษาระดับความกลมกลึงได้สมบูรณ์ จังหวะแรกที่หวดหรือฟาดไม้กลองลงไป เสมือนว่าไม้กลองอันนั้นหุ้มด้วยผ้าบางๆ ไว้สักผืนสองผืน ทุกครั้งที่หวดลงไปจึงลดความดุดันลงเล็กน้อย แต่แลกมาด้วยเสียงสะท้อนที่กังวานใหญ่โตและมีขอบเขตปริมณฑลของเสียง พร้อมทั้งความสะอาดของตัวเสียงทุ้มที่นำเสนอออกมา เครื่องดนตรีประเภทไม้ของอัลบั้ม [TakeDake With Neptune : ASIAN ROOTS/Denon LC8723] ชี้บ่งประเด็นนี้ได้ดี ด้วยความผ่อนปรนเล็กน้อยนี้เอง จึงนำเสนอด้วยความนวลเนียลต่อเนื่อง และเป็นจุดเด่นในเรื่องความเพลิดเพลินในการรับฟัง ฟังได้ยาวนานโดยไม่ก่อให้เกิดอาการล้าหู
กับแนวทางดั้งเดิมของเครื่องเคาะโลหะแทนเครื่องเคาะจำพวกไม้ ความกังวานของเสียงเปียโนและเครื่องเคาะโลหะต่างๆ ให้ความกังวานสดใสสอดคล้องกับเสียงในย่านกลางสูง มีรายละเอียดในตัวเสียงเด่นชัดมากขึ้น บรรยากาศรายรอบตัวเสียงโดดเด่น นำเสนอออกมาให้ฟังได้เพลิดเพลินตามแนวทางของความชัดเจนบนพื้นฐานความสุภาพ ตัวเสียงสะอาดเกลี้ยงเกลาสัมผัสได้จากอัลบั้ม [ART FOR THE EAR / Burmester CD III] แรงปะทะแรกของเสียงที่ชัดเจนนี้ผ่อนปรนลงเล็กน้อย หลังจากจังหวะแรกกระทบที่ผ่อนปรนเล็กน้อยแล้ว มวลเสียงทั้งหมดให้ความต่อเนื่องกลมกลืนกันและขยายขนาดใหญ่ใหญ่โตขึ้นเล็กน้อย จากนั้นจึงทอดหางเสียงไว้ตามจังหวะเวลา จึงค่อยๆ จางหายไปอย่างราบรื่น
บรรดาเครื่องสายเครื่องสีต่างๆ ที่นำเสนอ [ART FOR THE EAR / Burmester CD III] ถ่ายทอดออกมาด้วยความกังวานและสุภาพ หางเสียงทอดตัวได้ไกลพร้อมลีลา ให้ความฉ่ำหวานของเนื้อเสียงอยู่เสมอเสมือนมีฐานเสียงอิ่มเอิบขึ้นเล็กน้อย ในความกังวานยังสามารถกำหนดและควบคุมลีลาทุกท่วงทำนอง เสียงการบดขยี้ไวโอลินต่อเนื่องและมีหางเสียงที่เป็นอิสระต่อกัน สอดแทรกรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ร่วมอยู่เสมอ รายละเอียดในตัวเสียงแต่ละเสียงสัมผัสได้ด้วยความอบอุ่น เครื่องดนตรีประเภทไวโอลิน วิโอล่า และเครื่องสายอื่นๆ ถ่ายทอดออกมาด้วยความนุ่มนวลอมหวานอยู่เสมอ ให้ความเป็นดนตรีที่ละเอียดนวลเนียล
ความกังวานของเสียงเปียโนและเครื่องเคาะโลหะต่างๆ กังวานพร้อมให้รายละเอียดในตัวเสียงที่สัมผัสได้ บรรยากาศรายรอบตัวเสียงดีเยี่ยมและไม่มากเกินต้องการ นำเสนอออกมาให้ฟังได้เพลิดเพลินตามแนวทางของความสุภาพ ตัวเสียงที่สะอาดเกลี้ยงเกลานี้สัมผัสได้โดยง่ายจากอัลบั้ม [ART FOR THE EAR / Burmester CD III] เสริมเติมกับจังหวะแรกของเครื่องดนตรีที่ปะทะออกมา ให้แรงปะทะหัวโน้ตเหมาะสมมาก ไม่นิยมเน้นย้ำหัวโน้ตให้ชัดคมเกินพอดีย้ำเน้นแรงปะทะแรกให้กระแทกกระทั้นเล็กน้อย หลังจากจังหวะแรกกระทบแล้ว มวลเสียงทั้งหมดไม่ถูกขยายให้ใหญ่โต แต่ควบแน่นต่อเนื่องกลมกลึงและทอดหางเสียงไว้ตามจังหวะเวลาจึงค่อยๆ จางหายไปด้วยความราบรื่นตามธรรมชาติ
หลังจากใช้งานในแนวเพลงขับร้องหลายอัลบั้ม แนวเพลงย้ำเน้นจังหวะจะโคนก็ดี เมื่อพิจารณาในแนวทางของการขับร้องประสานเสียง จากการบันทึกสดๆ ในโบสถ์อัลบั้ม [Now the Green Blade Riseth / Proprius PRCD 9093] วางตำแหน่งของวงได้ตามสัดส่วน ไม่เน้นให้ขยายรูปวงออกหรือหุบรูปวงลง เรียกว่าเครื่องที่ร่วมใช้งานมีบุคลิกเช่นไร เมื่อมาวางบนขาตั้ง PARTINGTON SUPERDREADNOUGHT แล้ว การกำหนดขอบเขตและปริมณฑลของเสียง ยังคงกำหนดไว้ตามบุคลิกของเครื่องที่ร่วมใช้งาน ในประเด็นของเรื่องรูปวงกับการใช้งานร่วมกับขาตั้งคู่นี้ไม่มีบุคลิกใดมาสอดแทรกให้เสียบุคลิกของเครื่องหลัก มีเพียงการเสริมในเรื่องความนิ่ง ความสะอาดของพื้นเสียง พร้อมบรรยากาศที่ห้อมล้อมและความต่อเนื่องของแนวเพลงตามท่วงทำนองที่โดดเด่นและขนาดสเกลที่มีเนื้อมีมวลมากขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น
ในอัลบั้มร้องประสานเสียงประเภทเพลงสวดอัลบั้มเดิมจาก [Now the Green Blade Riseth / Proprius PRCD 9093] มวลเสียงพอดิบพอดี นำเสนอออกมาด้วยความอบอุ่นต่อเนื่องและสุภาพ สิ่งที่ส่งเสริมให้เด่นชัดเป็นเรื่องการเติมบรรยากาศเข้าร่วม พร้อมทั้งจำแนกแยกแยะรายละเอียดของเสียงขับร้องของนักร้องชายนักร้องหญิงและเด็ก มีความชัดใสพอประมาณ เกรนเสียงสุภาพละเอียดมาก ฟังได้ยาวนานโดยไม่มีอาการล้าหู ออกไปทางผ่อนปรนมากกว่าดุดันอย่างเห็นได้ชัด
เมื่อลองอีกครั้งกับเรื่องรูปวง ได้ผลเช่นเดียวกับการข้างต้นที่กล่าวไว้ รูปวงด้านกว้างขยายตัวออกไปจนสุดผนังทั้งสองข้างตามสัดส่วนเดิมของเครื่องที่ให้ได้ เป็นสัดส่วนที่สมดุลกับด้านลึกตามการบันทึกมา จากแถวแรกจัดระเบียบไปยันแถวที่สองและสามและแถวต่อๆ ไปด้วยระยะที่สมดุลกับการบันทึกมา ช่องไฟในแต่ละแถวแต่ละชั้นดนตรีชัดเจนมีช่องว่างให้สัมผัส เป็นการแยกแยะชิ้นดนตรีโดยรักษาสเกลของชิ้นดนตรีให้มีขนาดที่สมดุลกับรูปวงทั้งสองด้าน อัลบั้ม [POSTCARDS : The Turtle Creek Chorale / RR-61CD] ถ่ายทอดประเด็นเหล่านี้ได้ดี อีกทั้งยังกำหนดแต่ละเมโลดี้ให้ต่อเนื่องกันไปตลอดท่วงทำนอง
เมื่อพิจารณาเรื่องความรวดเร็วและสปีดของการนำเสนอจากอัลบั้ม [Ultimate Reference CD/WILSON AUDIO WA8008] ตอบสนองไทมิ่งและจังหวะเวลานำเสนอออกมาได้พอดิบพอดี ไม่เร่งรีบให้รวดเร็วและไม่อืดจนตามจังหวะเวลาไม่ทัน ยังสามารถแจกแจงด้านลีลาและน้ำหนักเสียงอ่อนแก่หนักเบาไปพร้อมเพรียงกัน จังหวะตัวโน้ตเงียบทำได้ดี ให้จุดเด่นไม่น้อย ยิ่งใช้งานกับลำโพงที่มีพื้นฐานดีเป็นทุนอยู่แล้ว ยิ่งส่งถ่ายความโดดเด่นของประเด็นนี้และยังแยกแยะรายละเอียดปลีกย่อยเด่นชัด จังหวะที่ช้าก็นำเสนอได้ช้าตามแนวเพลง จังหวะที่โหมโรงขึ้นไปก็เร่งสปีดเพื่อตอบสนองให้รวดเร็วโดยไม่ขาดตกบกพร่องใดๆ
ส่วนจังหวะเวลาของเครื่องดนตรีประเภทไม้อัลบั้ม [Take’Dake’ with Neptune / AISIAN ROOTS DENON USA] นำเสนอออกมาได้รวดเร็ว การเคาะระนาดไม้ผสมกับจังหวะกลองและเครื่องเป่าให้จังหวะที่รวดเร็วตอบสนองได้ทันท่วงทีและยังจำแนกแต่ละประเภทของเครื่องดนตรีออกมาเด่นชัดพอประมาณ เสียงสะท้อนกลับจากการเคาะ การเป่า นับว่าเด่นมาก สัมผัสได้ดี ยิ่งเป็นเสียงหนังกลองที่สะท้อนกลับมามีความอิ่มเอิบปะปนกับความเข้มข้นในแนวทางอบอุ่น สปีดเข้าที่เข้าทางพอดีไม่เร็วและไม่ช้าจนบวมเบลอ
การจำแนกแยกแยะแต่ละแถวทำได้ดี วางชิ้นดนตรีนับร้อยให้มีตำแหน่งและตรึงไว้แน่นสนิท ปลดปล่อยรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ออกมาตามท่วงทำนองเสมอ อัลบั้ม [THE SYMPHONIC SOUND STAGE D/CD3502] ชี้ชัดประเด็นเหล่านี้ได้ดี นำเสนอออกมาได้สมดุลกับพื้นที่ทั้งด้านกว้าง ด้านลึก และด้านสูง ด้วยสเกลเสียงที่มีขนาดสมดุลและเน้นให้อบอุ่นอิ่มเอิบเล็กน้อย ส่งผลให้เครื่องดนตรีนับร้อยชิ้นดำเนินไปด้วยความต่อเนื่อง การกำหนดตำแหน่งของชิ้นดนตรีถูกตรึงไว้แน่นสนิท ไม่มีม่านหมอกในแถวหลังของชั้นดนตรี ยังส่งเสริมสมดุลเสียงให้โดดเด่นอยู่ตลอด
เสียงกลองใบใหญ่อัลบั้ม [Rain Forest Dream / SAYDISC CD-SDL384] เสียงแรกกระทบทุกจังหวะที่หวดกลองลงไปกระชับกลมกลึง หัวโน้ตมนกลมเล็กน้อย ทุกครั้งที่เปล่งเสียงออกมามีน้ำหนักและขนาดของเสียงสอดคล้องกันมาก เรียกว่าเข้มข้นแบบอิ่มเอิบในสัดส่วนที่พอดี เสียงกลองมีขนาดสมดุลไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป การหวดไม้กลองในจังหวะแรกรวดเร็ว เสียงทุ้มที่ได้ย้ำเน้นหัวโน้ตพอประมาณ เมื่อสิ้นสุดการหวดไม้กลองลงไปตัวเสียงที่ควบแน่นเหมาะสมพร้อมถ่ายทอดด้วยความต่อเนื่องให้กลมกลืนกันมากที่สุด ทุกจังหวะที่หวดกลองลงไป หางเสียงทุ้มแต่ละตัวไม่บวมจนล้นและปะปนทับกันเกินพอดี
พิจารณาเสียงกลองอีกแนวทางหนึ่งจาก [Ultimate Reference CD/WILSON AUDIO WA8008] เสียงกลองยังคงให้ความตึงของหนังกลองพอประมาณเช่นเดิม มีเสียงสะท้อนเสียงแรกกระทบออกมาให้ได้ยินชัดเจน เสียงทุ้มไม่โด่งล้ำหน้าย่านเสียงใด ยังคงให้ความสมดุลของเสียงย่านเสียงทุ้มนี้กับเสียงย่านอื่นๆ ได้ดี ขนาดของตัวเสียงทุ้มเน้นหัวโน้ตกลมมนเล็กน้อย มีความเป็นดนตรีและฟังได้เพลินเพลิน
พิจารณาจากเสียงดับเบิ้ลเบสของอัลบั้ม [THE RAVEN / Rebecca Pidgeon Chesky Records JD115] ให้มวลเสียงสมดุลกับย่านเสียงอื่น การเล่นดับเบิ้ลเบสสอดคล้องกับเสียงขับร้องกลมกลืนกันไร้รอยต่อย่านความถี่เสียงต่างๆ ขนาดทรวดทรงเสียงพอเหมาะยังคงความกลมกลึงของตัวเสียงกับเสียงย่านอื่น เสียงเดินเบสในแต่ละเส้นมีจังหวะที่สอดคล้องกับเปียโนและเครื่องเคาะ หางเสียงแต่ละตัวเป็นอิสระต่อกัน ช่องว่างช่องไฟเด่นชัดเหมาะสมไม่มีการซ้อนทับบดบังกัน ในจังหวะที่ตัวโน๊ตเงียบก็เงียบสนิท พื้นเสียงสงัดไม่น้อยหน้าขาตั้งคู่ใดๆ ที่มีจำหน่ายอยู่
เมื่อใช้งานร่วมกับแผ่นเพลงไทยตามท้องตลาดทั่วไป อัลบั้ม [ศรัญย่า กล่อมกรุง 1-3 รอ,สิ้นสวาท,อาลัยรัก] เสียงขับร้องของ คุณศรัญย่า ส่งเสริมสวัสดิ์ ให้ความอบอุ่นอิ่มหวานพร้อมให้อักขระที่ชัดเจน รายละเอียดแผ่วเบาจากเสียงริมฝีปากหลุดลอยออกมาจากปากสัมผัสได้ เด่นมากกับบรรยากาศรายล้อมที่มีอยู่ต่อเนื่องตลอดเวลา ทั้งยังนำเสนอรายละเอียดปลีกย่อยและปลดปล่อยออกมาด้วยความสุภาพ เกรนเสียงที่นำเสนอออกมาละเอียดไม่มีอาการคมแข็ง เนื้อเสียงไม่แหบแห้งแม่แต่น้อย
อีกหนึ่งบทเพลงไทยอัลบั้มพิเศษที่ผมชื่นชอบ คุณสุนารี ราชสีมา เป็นแผ่นเพลงไทยธรรมดาๆ ชุดที่สุดของหัวใจ ปกติอัลบั้มนี้จะใช้ฟังเพลงเพื่อผ่อนคลาย เนื้อเพลงเมื่อได้ฟังแล้วสามารถกำหนดความสุขุมและความนิ่งได้ดี เสียงคุณสุนารีออดอ้อนพิรี้พิไร ไพเราะจนหาที่ติได้ยากยิ่งนัก เนื้อเสียงมีมวลที่ดีและต่อเนื่องมาก ทุกชิ้นดนตรีแยกแยะออกมาอิสระ เหล่าบรรดาเมาท์ออร์แกนบรรเลงด้วยความหวานเข้มข้นไพเราะจับใจ ให้รายละเอียดได้ดี เน้นเรื่องบรรยากาศและความต่อเนื่องของการถ่ายทอดทางด้านอารมณ์ของดนตรี ซึ่งขาตั้งในระดับแพงกว่าหลายคู่ไม่สามารถนำเสนอประเด็นดังกล่าวได้ดีเฉกเช่น PARTINGTON SUPER DREADNOUGHT คู่นี้เลย
บทสรุปหลังการใช้งาน
PARTINGTON SUPER DREADNOUGHT คู่นี้เหมาะสมกับลำโพงวางขาตั้งที่ไม่ใหญ่กว่าเพลทเกินห้าสิบเปอร์เซ็นต์ หากลำโพงมีความใหญ่โตมากกว่าก็ยังสามารถใช้งานได้แต่ต้องระมัดระวังการวางให้ดี มีความเหมาะสมกับแนวเพลงขับร้องเป็นลำดับต้นๆ ยิ่งชุดเครื่องเสียงที่มีทิศทางในโทนสว่าง ขาดน้ำหนัก ขาดเนื้อเสียงและมวลเสียงในด้านกลางต่ำ ยิ่งเหมาะสมกันไม่น้อย แม้จะมีการปรับปรุงจากรุ่นดั้งเดิมที่โด่งดังมาแล้วในอดีตก็ตาม จุดเด่นของความต่อเนื่องในท่วงทำนองยังคงนำเสนอออกมาได้ดีเช่นเดิม ทั้งยังจูนให้น้ำเสียงเปิดโปร่งมากยิ่งขึ้น ฐานเสียงทุ้มมีปริมาณมากขึ้น รายละเอียดเสียงด้านกลางไปจรดเสียงแหลมเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น มันจึงเป็นขาตั้งในตำนานที่กลับมาให้จับต้องได้อีกครั้ง แม้จะสูญเสียบางอย่างเล็กๆน้อยๆในอดีตไปบ้างก็ตาม ในมวลรวมยังถือว่าน่าพิศมัยไม่น้อย
วางปุ๊บรู้ปั๊บ ยังคงใช้ได้กับขาตั้งของ PARTINGTON SUPER DREADNOUGHT เพราะครั้งแรกในการวางลำโพงลงบนขาตั้งตัวนี้ ต่อให้คุณพยายามบอกว่าฟังอุปกรณ์พวกนี้ไม่ออก คุณก็สามารถรับรู้ได้ทันทีในเรื่องน้ำเสียงที่เปลี่ยนไป อารมณ์ของเสียงขับร้องและอารมณ์ของการบรรเลงทั้งหลายจะสามารถสะกดจิตคุณให้อยู่ในภวังค์อย่างที่ยากจะปฏิเสธสิ่งพิเศษเหล่านี้ได้แน่นอน แม้ว่าจุดไม่เด่นในเรื่องความดุดันและกระแทกกระทั้นนั้นยังคงติดตัวมาจากรุ่นเดิม แต่ผมอยากถามว่า เท่านี้เพียงพอไหมกับการเสพสุขกับคีตศิลป์ที่เรียกว่าการถ่ายทอดความเป็นดนตรี แน่นอนครับ ความเปิดโปร่งโดยรวมอาจเป็นรองขาตั้งอมตะนิยมในตำนาน แต่เทียบเคียงกันดัวยบรรยากาศ ความต่อเนื่อง และอารมณ์ในการถ่ายทอด PARTINGTON SUPER DREADNOUGHT สามารถกระโดดข้ามมาอยู่หัวแถวได้อย่างไรข้อกังขา
สมดุลเสียงเสมอสมานกลมกลืน ลดทอนความดุดันลงบ้างเพื่อแลกมากับภาพรวมของน้ำเสียงที่อมหวานและอิ่มเอิบขึ้นจากเดิม มีความสะอาดและให้ความสงัดได้อย่างแยบยล สิ่งที่ผมอาจติฉินนินทาอยู่บ้างเป็นเรื่องของงานเชิงวิศวกรรมที่อาจดูยุ่งเหยิ่งกว่าขาตั้งรุ่นดั้งเดิม ทั้งความประณีตและความเอาใจใส่ในการผลิตชิ้นงาน ผมยังมั่นใจว่าขาตั้งรุ่นเดิมใส่ความพิถีพิถันลงไปอย่างลึกซึ้งมากกว่า หากผู้ผลิตเห็นพ้องต้องกันอย่างที่ผมปารภไว้และนำไปปรับปรุงความละเอียดในการผลิต น่าจะสร้างความพอใจให้แก่ผู้ครอบครองได้ดีทีเดียว
ปัจจุบันขาตั้งลำโพงระดับความสูงมาตรฐานใช้งานราว 24 – 25 นิ้ว มีให้เลือกใช้งานอยู่พอควร แต่ถ้าชี้ชัดลงประเด็นเข้าไปกับขาตั้งลำโพงชั้นดีในระดับความสูง 24 – 25 นิ้ว ให้คุณภาพกับราคาเหมาะสมซึ่งกันและกัน คงนับได้เพียงไม่กี่ยี่ห้อและไม่กี่คู่ ไม่ต้องพูดถึงขาตั้งลำโพงระดับพระกาฬในอดีตที่วางจำหน่ายคู่ละไม่ถึงหมื่นบาท เพราะขาตั้งเหล่านั้นได้ถูกเพิ่มมูลค่าในรูปแบบของเก่าคุณภาพสูงและไม่มีผลิตจำหน่ายรุ่นใหม่ออกมา
ถือว่าเป็นสิ่งพิเศษไม่น้อย ที่ขาตั้งคุณภาพสูงจากเกาะอังกฤษที่โด่งดังประเภทสั่งจองพร้อมมัดจำไว้ก่อนถึงจะได้สินค้าในอดีต กลับมาผลิตขาตั้งในชื่อและรุ่นเดิมที่เคยสร้างชื่อไว้ พร้อมทั้งปรับจูนบางสิ่งเข้ามาให้ตอบสนองกับเครื่องยุคดิจิตอลครองเมือง ในนามว่า PARTINGTON SUPER DREADNOUGHT กลับมาวางตลาดในเวอร์ชั่นใหม่อีกครั้ง ทำให้นักเล่นฯ มีทางเลือกซื้อขาตั้งรุ่นใหม่ในราคาที่สอดคล้องกับคุณภาพแบบหาที่ติได้น้อยนัก หากท่านกำลังหาขาตั้งลำโพงวางหิ้งคุณภาพดีสักคู่ และเน้นการใช้งานตามที่กล่าวไว้ข้างต้น อีกทั้งกำเงินไปก็ซื้อได้เลย PARTINGTON SUPER DREADNOUGHT ได้กลับมารับใช้หลายๆท่านให้เป็นตัวยืนในระบบได้อีกยาวนาน !!
– รูปลักษณ์ 3 ½ ดาว
– สมรรถนะ 3 ½ ดาว
– คุณภาพเสียง 4 ดาว
– ความคุ้มค่า 4 ดาว
– คะแนนโดยรวม 4 ดาว
———————————————————————————————–
หมายเหตุ : ขอขอบคุณ บริษัท การ์ป ออดิโอ จำกัด โทร 0-2716-7852 ที่เอื้อเฟื้อ ขาตั้งลำโพง PARTINGTON SUPER DREADNOUGHT สำหรับการใช้งานในครั้งนี้