Test Report: อินทีเกรทแอมป์ Magnet SA-4a
“วีระพัฒน์ ณัฏฐ์ธนภัทร”
เชื่อไหม ! ก้าวแรกของการลองลิ้นชิมรสสำเนียงเสียงดนตรีที่ละเมียดของนักเล่นเครื่องเสียงมักเริ่มต้นที่อุปกรณ์เครื่องเสียงระดับราคาย่อมๆ โดยหนึ่งในเพื่อนร่วมทีมที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในช่วงเวลานั้นก็คืออินทีเกรทแอมป์ เพราะแน่นอนว่าจุดเริ่มต้นของอุปกรณ์ฯ ภาคขยายแบบควบรวมย่อมเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่าอุปกรณ์ฯ แบบปัจเจกสำหรับมือใหม่
นัยแรกที่ทำให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก็คือความเรียบง่ายในการสร้างความเข้าใจ เพราะพฤติกรรมของนักเล่นฯ มือใหม่ก็ไม่ต่างอะไรกับพฤติกรรมวัยรุ่นที่กระหายความรู้ และคำตอบของความจริง ดังนั้นการเรียนรู้อุปกรณ์ฯ ภาคขยายเพียงชิ้นเดียวย่อมเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าหลายๆ ชิ้นเป็นเรื่องปกติ
ครั้นอธิบายเช่นนี้หลายท่านก็คงสงสัยว่าถ้าไม่ใช่อินทีเกรทแอมป์แล้วมันจะเป็นอุปกรณ์ฯ หลายชิ้นได้อย่างไร ในเมื่ออุปกรณ์ภาคขยายถ้าไม่ใช่อินทีเกรทแอมป์ก็จะมีแค่เพียงปรีแอมป์ และเพาเวอร์แอมป์เท่านั้นไม่ใช่หรือ ?
ขอเรียนว่าถูกต้องครับสำหรับความคิดเห็นดังกล่าว เพราะนั่นคือภาคส่วนของอุปกรณ์ฯ ภาคขยายหลัก ซึ่งในการใช้งานจริงๆ แล้วนอกจากเพื่อนร่วมทีมทั้งสองชิ้นดังกล่าวแล้ว ยังมีอุปกรณ์ฯ ภาคขยายรองอีกจำนวนสามประเภท นั่นก็คือสายไฟเอซี สายสัญญาณอะนาลอก และสายลำโพง
ดังนั้นหากปฐมบทของการลองเล่นที่เป็นแบบฉบับที่แยกออกจากกันอย่างเป็นอิสระ จึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ฯ ภาคขยายรองที่เพิ่มขึ้นอีกจำนวนสองชิ้น นั่นก็คือสายไฟเอซีหนึ่งชิ้น สายสัญญาณอะนาลอกอีกหนึ่งชิ้น ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น ยิ่งมากคนยิ่งมากความเป็นอย่างไร ยิ่งมากเพื่อนร่วมทีมก็ย่อมยิ่งมากเรื่องฉันท์นั้น
โดยนัยที่สองที่ทำให้อินทีเกรทเป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับมือใหม่หัดลองเล่นก็คือเรื่องงบประมาณ เพราะการลดเพื่อนร่วมทีมลงย่อมทำให้การจัดสรรงบประมาณมีความลงตัวได้ง่ายกว่า ไม่บานปลายแน่ๆ
ซึ่งนอกจากสองนัยนี้จะเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์สำคัญของนักเล่นฯ กลุ่มนี้แล้ว มือเก่าเก๋าเกมส์จำนวนไม่น้อยก็ยังคงใช้หลักการนี้อยู่จนถึงปัจจุบัน
สำหรับประเด็นที่ต้องการนำเสนอในวาระนี้ก็คือความเชื่อที่ว่าหนึ่งในอินทีเกรทแอมป์ที่เคยผ่านมือใหม่หัดเล่นมามากที่สุดแบรนด์หนึ่งก็คือ Magnet อินทีเกรทแอมป์สัญชาติไทยที่อยู่คู่สังคมนักเล่นฯ มาตั้งแต่ยุคหัดประกอบชุดคิท หรือจะกล่าวว่าคุ้นเคยกันมาตั้งแต่วัยเรียนกับสำเนียงเสียงดนตรีที่ฟังได้ชัด ฟังได้ไพเราะ ซึ่งมีพัฒนาการต่อเนื่องยาวนานที่สุดแบรนด์หนึ่ง
ส่วนจะมีที่อาจรู้สึกว่าถูกเว้นวรรคไปบ้างก็คือภาพลักษณ์ที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์เอาไว้อย่างไม่เสื่อมคลาย เพราะไม่ว่าจะเป็นอินทีเกรทแอมป์รุ่นก่อน หรือรุ่นใหม่ แรกเห็นก็สัมผัสกลิ่นอายแห่งความสุภาพที่ผสมผสานไปด้วยความคมเข้มได้ในทันทีว่ามันคือผลิตภัณฑ์จาก Magnet
รูปลักษณ์และการใช้งาน
สำหรับชื่อเรียกอย่างเป็นทางการของอินทีเกรทแอมป์ที่รับมาทำรายงานฉบับนี้ก็คือ Magnet SA-4a ที่มีรูปร่างหน้าตาละม้ายคล้ายรุ่นพี่แบบพิมพ์เดียวกัน อินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้มีรูปทรงแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่หนากำลังดี อันกอปรไปด้วยแผงหน้าปัดด้านหน้าที่ทำจากแผ่นอลูมิเนียมสีดำซึ่งมีการลบเหลี่ยมลบมุมให้ดูโค้งมน แบบไม่แข็งจนเกินไป
ด้านสีสันของตัวถังก็เป็นสีเดียวกันกับแผงหน้าปัด ซึ่งในเวบไซต์ของสำนักผู้ผลิตได้ระบุว่ายังมีตัวถังสีเงินอะลูมิเนียมอีกหนึ่งสีให้เลือกเล่น
มองดูจากตัวถังด้านบนจะพบว่ามันมีช่องระบายอากาศที่เซาะเป็นร่องยาวตามแนวขวางบริเวณกึ่งกลางเยื้องมาทางด้านหน้าเล็กน้อย ซึ่งเป็นเพราะช่องระบายอากาศดังกล่าวนั้นแหละที่ทำให้ภาพลักษณ์ของอินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้ดูโฉบเฉี่ยวไฉไลกว่าเดิมเล็กน้อย
โดยที่แผงหน้าปัดด้านหน้ายังคงมีการออกแบบให้จัดวางอุปกรณ์ปรับเปลี่ยนต่างๆ ด้วยความสมมาตร ซึ่งเป็นแบบฉบับเดียวกับรุ่นพี่ เริ่มจากทางด้านซ้ายสุดประกอบไปด้วยโลโก้ของสำนักผู้ผลิตที่กรีนไว้ในระนาบด้านบน ถัดมาด้านใต้ในระนาบแนวดิ่งเป็นสถานที่ติดตั้งหลอดอีดีสีฟ้าที่คอยบอกสถานะการทำงานของอินทีเกรทแอมป์
ถัดมาในระนาบล่างสุดเป็นสวิตช์สำหรับ เปิด/ปิด ชนิดกด (POWER SWITCH) ถัดมาทางด้านข้างเป็นสถานที่ติดตั้งลูกบิดขนาดกลางที่ใช้สำหรับปรับ เพิ่ม/ลดปริมาณของดุลเสียงต่ำ (BASS) ตามด้วยลูกบิดขนาดเดียวกันในตำแหน่งถัดมาใช้สำหรับปรับ เพิ่ม/ลด ปริมาณของดุลเสียงสูง (TREBLE)
คราวนี้ก็มาถึงตำแหน่งกลางเป็นสถานที่ติดตั้งลูกบิดขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับปรับ เพิ่ม/ลด ระดับความดัง (VOLUME) ถัดมาเล็กน้อยในระนาบเดียวกันเป็นสวิตช์สำหรับ ปิด/เปิด การใช้งาน LOUDNESS ติดตั้งอยู่กึ่งกลาง ตามด้วยลูกบิดขนาดกลางที่ใช้สำหรับปรับสมดุลของเสียงระหว่างแชนแนลซ้ายและแชนแนลขวา
สุดท้ายเป็นลูกบิดขนาดกลางที่ใช้สำหรับปรับเปลี่ยนแหล่งต้นทางของสัญญาณเสียง อันประกอบไปด้วย LINE, AUX, CD, DVD, และ iPOD ถัดมาทางด้านขวาสุดจะพบว่ามีช่องสำหรับต่อเชื่อมสัญญาณขาเข้า iPOD ติดตั้งอยู่ ที่สำคัญบริเวณด้านใต้อุปกรณ์ต่อเชื่อมดังกล่าวยังได้มีการสกรีนชื่อรุ่นอินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้ไว้เป็นสัญลักษณ์สำคัญ
คราวนี้ก็พลิกมาสำรวจรายละเอียดที่แผงหน้าปัดด้านหลังกันบ้าง เริ่มจากทางด้านขวาสุดเป็นช่องต่อเชื่อมสายไฟเอซีชนิด 3 ขา ซึ่งภายในกล่องมีสายไฟเอซีแถมมาให้หนึ่งเส้น ถัดมาเป็นสถานที่ติดตั้งฟิวส์ขนาด 2A 250V ชนิดขาดช้า
ถัดมาในตำแหน่งกึ่งกลางเป็นสถานที่ติดตั้งขั้วต่อสายลำโพงซึ่งมีมาให้เพียงหนึ่งชุด โดยขั้วต่อสายลำโพงดังกล่าวออกแบบมาให้ใช้ได้สำหรับขั้วต่อสายลำโพงทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นแบบบานาน่า ,แบบสายเปลือย ,แบบแยงรู หรือแบบก้ามปูก็ล้วนแล้วต่อเชื่อมได้ทั้งสิ้น
สุดท้ายเป็นตำแหน่งที่ติดตั้งชุดต่อเชื่อมสัญญาณขาเข้าขาออกแบบอันบาลานซ์ ( RCA JACK) ซึ่งมีมาให้อย่างเหลือเฟือเพื่อรองรับการต่อเชื่อมสายสัญญาณจากต้นกำเนิดชนิดต่างๆ เริ่มตั้งแต่ขาเข้าอันประกอบไปด้วย LINE, AUX, CD, DVD, และ iPOD ตามลำดับ ส่วนขาออกมีมาให้เพียงหนึ่งชุดเท่านั้น ( PRE OUT )
ข้อมูลจำเพาะของอินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้
Power amplifier section
Rated output 30 W + 30 W (8 ohms, 20 Hz – 20 kHz,THD 0.07%
Total harmonicdistortion 0.1 % (8ohms, 1 kHz)
Preamplifier section
Input sensitivity / Impedance Line 100 mV/47 kohms (Source Direct: OFF)
100 mV/16 kohms (Source Direct: ON)
Signal-to-noise ratio (IHF A network)
Line 85 dB (Source Direct: ON)
Tone controls
Bass 100 Hz, ±10 dB
Treble 10 kHz, ±10 dB
General
Power supply AC 220 V, 50/60 Hz
Power consumption 185 W (Stand-by: less than 0.3 W)
Dimensions (W x H x D) 434 x 116 x 296 mm.
Weight 6.4 kg
Magnet SA-4a ตอบสนองความถี่ 20 – 20,000 เฮิรตซ์ (+/- 3 ดีบี) ให้กำลังขับต่อเนื่อง 30 วัตต์ที่ความต้านทานปรกติ 8 โอห์ม ค่าความเพี้ยนโดยรวมน้อยกว่า 0.1% ที่ 0.5 วัตต์ อัตราแยกสัญญาณภาคไลน์ 85 ดีบี ที่ 1 กิโลเฮริตซ์ ขนาดและสัดส่วนของตัวเครื่อง 434 x 90 x 296 มิลลิเมตร (กว้าง x สูง x ลึก) น้ำหนัก 6.40 กิโลกรัม
บริษัท แม็กเนท เทคโนโลยีส์ จำกัด จัดจำหน่าย 0 – 2907 – 7923 – 5
ชุดและอุปกรณ์อ้างอิง
หลังจากที่ได้ชวนให้ทวนกลับไปคิดถึงเหตุการณ์ในอดีต หรือในสมัยตั้งไข่ลองเล่นก็ทำให้นึกถึงกิจกรรมในช่วงนั้นที่ได้สรรหาแหล่งต้นทางสัญญาณชนิดต่างๆ มาต่อเชื่อมเพื่อลองเล่นลองฟังอย่างสนุกสนาน ซึ่งกิจกรรมที่สะกดให้ลองเล่นฟังได้นานที่สุดกิจกรรมหนึ่งก็คือการชมภาพยนตร์ และการชมบันทึกการแสดงสด
ดังนั้นเพื่อให้รายงานฉบับนี้มีเนื้อหาสาระที่ครอบคลุมการลองเล่นที่ครบถ้วนสำหรับท่านที่กำลังจะก้าวเข้ามาเป็นผู้พิถีพิถันในการเสพศิลปะแนวดนตรี หรือนักเล่นเครื่องเสียงแบบเต็มตัวจึงขอจำแนกคาบการทำรายงานในฉบับนี้ออกเป็นสองคาบ
โดยในคาบแรกทดลองฟังในห้องรับแขกของบ้านเพื่อทดลองชมภาพยนตร์ และชมบันทึกการแสดงสด สำหรับชุด และอุปกรณ์อ้างอิงในห้องกอปรไปด้วยแอลซีดี ทีวี TOSHIBA 32AV600T, เครื่องเล่นดีวีดี PIONEER DV-595K-S รองด้านใต้เครื่องด้วยอุปกรณ์รองเครื่องเสียง SYMPOSIUM ACOUSTIC ROLLERBLOCK JR. ด้วยการวางด้านหน้าหนึ่งลูกด้านหลังสองลูก
จากเครื่องเล่นดีวีดีต่อผ่านสายสัญญาณอะนาลอก IXOS XHA716 สลับกับสายสัญญาณ MONSTER M 1500 ไปยังอินทีเกรทแอมป์ Magnet SA-4aโดยใช้สายไฟเอซีที่ทำจากสายลำโพง CARDAS CROSSLINK 1S ขั้วปลั๊กตัวผู้เป็นของ BRYANT HOSPITAL GRADE ขั้วปลั๊กตัวเมียเป็นของ SCHURTER 4871
จากเพาเวอร์แอมป์ต่อผ่านสายลำโพง QED SILVER SPECIAL 25th ANNIVERSARY สลับกับสายลำโพง IXOS XHS806W ไปยังลำโพง ไปยังลำโพง MONITOR SILVER 3 I, และลำโพง JM LAB CHORUS 706 S โดยใช้สลับกันวางบนขาตั้งเหล็กเสาเดียวความสูง 24 นิ้วกรอกทรายพอประมาณ
ตำแหน่งสุดท้ายที่จัดตั้งลำโพง ซึ่งฟังแล้วดีที่สุดในห้องฟังห้องนี้คือ ระยะห่างระหว่างลำโพงประมาณ 188 ซม. โดยวัดจากกึ่งกลางลำโพง ระยะห่างจากผนังด้านข้างของห้องประมาณ 138 ซม. ระยะห่างจากผนังด้านหลัง 154 ซม. โดยวัดจากหน้าลำโพง
จากนั้นนำสายไฟเอซีทั้งหมดต่อเข้าที่เต้ารับปลั๊กไฟฟ้า HUBBELL IG 8300 ซึ่งติดตั้งบนบล๊อกไม้ต่อผ่านสายไฟเอซีที่ทำจากสายลำโพง CARDAS CROSSLINK 1S ขั้วปลั๊กตัวผู้เป็นของ WATTGATE 330 i ขั้วปลั๊กตัวเมียเป็นของ WATTGATE 350 i เข้าที่ปลั๊กผนัง EAGLE โดยตรง
คาบที่สองทดลองฟังในห้องที่มีการปรับสภาพอะคูสติกให้มีความซับความสะท้อนเหมาะสมที่จะฟังเพลงระดับจริงจัง โดยอุปกรณ์ปรับสภาพอะคูสติกในห้องนี้ประกอบไปด้วย
- TRIANGLE TUNE BY HAND CRAFT ACOUSTIC ติดตั้งบริเวณมุมด้านบนของห้องทั้ง 4 มุมเอียงประมาณ 40 องศา
- SQUARE TUNE BY HAND CRAFT ACOUSTIC ติดตั้งในตำแหน่งด้านบนข้างตำแหน่งนั่งฟังทั้ง 2 ฝั่งเอียงประมาณ 35 องศา
- TUNE STRIP BY HAND CRAFT ACOUSTIC ติดตั้งในตำแหน่งบริเวณด้านข้าง DIFFUSERS ทั้ง 2 ฝั่ง
- AMBIENCE BALANCING CONTROLLER BY AUDIO CONSULTANTS ติดตั้งในตำแหน่งด้านบนระหว่างลำโพง
- DIFFUSERS BY PRS ACOUSTIC SOUND DESIGN จัดวางในตำแหน่งที่ฟังแล้วดีที่สุดสำหรับการทดสอบครั้งนี้
- สุดท้ายปูพรมประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ห้องฟัง
ชุด และอุปกรณ์อ้างอิงในห้องนี้มีทั้งหมดสองชุด โดยชุดแรกประกอบไปด้วยเครื่องเล่นซีดี NAD C 542 จัดวางบนชั้น Master Stand Base 2217 รองใต้เครื่องด้วยทิปโท J.J.CONE โดยวางรองด้านหน้าหนึ่งลูก รองด้านหลังสองลูก ต่อเชื่อมผ่านสายสัญญาณอะนาลอก MONSTER M 1000 i (NEW), สลับกับสายสัญญาณ WYRE WIZARD ENCHANTRESS ไปยังอินทีเกรทแอมป์สองเครื่อง
เครื่องแรกเป็นอินทีเกรทแอมป์สามัญประจำห้อง NAD C 370 (ใช้ช่องอินพุท TUNER และใช้ช่องต่อขั้วสายลำโพงชุด B เพื่อสลับฟังเปรียบเทียบ) เครื่องที่สองเป็นอินทีเกรทแอมป์ Magnet SA-4a (ใช้ช่องอินพุท DVD ) สลับกันจัดวางบนชั้นวาง Master Stand Base 2217
โดยที่อินทีเกรทแอมป์ทั้งสองได้เลือกใช้สายไฟเอซีที่ทำจากสายลำโพง CARDAS CROSSLINK 1S ขั้วปลั๊กตัวผู้เป็นของ BRYANT HOSPITAL GRADE ขั้วปลั๊กตัวเมียเป็นของ SCHURTER 4871 ที่หัวปลั้กตัวเมียที่ต่อเข้าอินทีเกรทถูกหุ้มด้วย HIFI SHIELD ของเดอะหั่ง
จากอินทีเกรทแอมป์ต่อเชื่อมผ่านสายลำโพง IXOS XHS806W ไปยังลำโพง JM LAB CHORUS 706 S จัดวางบนขาตั้ง AUDIO ART หกเสาความสูง 24 นิ้ว ขาตั้งดังกล่าวได้มีการถอดเสากลางออกสองเสาแล้วกรอกทรายพอประมาณ
ตำแหน่งสุดท้ายที่จัดตั้งลำโพง ซึ่งฟังแล้วดีที่สุดในห้องฟังห้องนี้คือ ระยะห่างระหว่างลำโพงประมาณ 178 ซม. โดยวัดจากกึ่งกลางลำโพง ระยะห่างจากผนังด้านข้างของห้องประมาณ 67 ซม. ระยะห่างจากผนังด้านหลัง 115 ซม. โดยวัดจากหน้าลำโพง
สำหรับชุดที่สองประกอบไปด้วยเครื่องเล่นซีดี Magnet CD-12 รองด้านใต้เครื่องด้วยทิปโท J.J.CONE โดยวางด้านหน้าหนึ่งลูกด้านหลังสองลูก จัดวางบนชั้นวาง Master Stand Base 2217 ต่อเชื่อมผ่านสายไฟเอซี SUPRA LORAD ขั้วปลั๊กตัวผู้เป็นของ HUBBELL HBL 8215 CT ขั้วปลั๊กตัวเมียเป็นของ SCHURTER 4871
จากนั้นต่อเชื่อมต่อผ่านสายสัญญาณ MONSTER M 1500 สลับกับสายสัญญาณ WYRE WIZARD ENCHANTRESS ไปยังอินทีเกรทแอมป์ NAD C 370 (ใช้ช่องอินพุท TUNER และใช้ช่องต่อขั้วสายลำโพงชุด B เพื่อสลับฟังเปรียบเทียบ) สลับกับอินทีเกรทแอมป์ Magnet SA-4a (ใช้ช่องอินพุท DVD) โดยสลับกันจัดวางบนชั้นวาง Master Stand Base 2217
สำหรับสายไฟเอซีที่ใช้ต่อเชื่อมอินทีเกรทแอมป์ทั้งสองเป็นสายไฟเอซีที่ทำจากสายลำโพง CARDAS CROSSLINK 1S ขั้วปลั๊กตัวผู้เป็นของ BRYANT HOSPITAL GRADE ขั้วปลั๊กตัวเมียเป็นของ SCHURTER 4871 ที่หัวปลั้กตัวเมียที่ต่อเข้าอินทีเกรทถูกหุ้มด้วย HIFI SHIELD ของเดอะหั่ง
จากอินทีเกรทแอมป์ต่อเชื่อมผ่านสายลำโพง IXOS XHS806W ไปยังลำโพง AURUM CANTUS 610 จัดวางบนขาตั้ง AUDIO ART หกเสาความสูง 24 นิ้ว ขาตั้งดังกล่าวได้มีการถอดเสากลางออกสองเสาแล้วกรอกทรายพอประมาณ
ตำแหน่งสุดท้ายที่จัดตั้งลำโพง ซึ่งฟังแล้วดีที่สุดในห้องฟังห้องนี้คือ ระยะห่างระหว่างลำโพงประมาณ 182 ซม. โดยวัดจากกึ่งกลางลำโพง ระยะห่างจากผนังด้านข้างของห้องประมาณ 62 ซม. ระยะห่างจากผนังด้านหลัง 118 ซม. โดยวัดจากหน้าลำโพง
จากนั้นสายไฟเอซีทั้งหมดต่อเข้าที่ปลั๊กไฟ HUBBELL IG 8300 ซึ่งติดตั้งบนบล๊อกไม้ต่อผ่านสายไฟเอซี ที่ทำจากสายลำโพง CARDAS CROSSLINK 1S ขั้วปลั๊กตัวผู้เป็นของ WATTGATE 330 i ขั้วปลั๊กตัวเมียเป็นของ WATTGATE 350 i ที่ต่อต่อเข้าปลั๊กไฟ EAGLE ที่ผนังโดยตรง
สุดท้ายทำการจัดสรรให้สายไฟ, สายสัญญาณ และสายลำโพงลอยหนีพื้น ด้วยการนำอุปกรณ์เอนกประสงค์ HI-FI TRICK รองด้านใต้ โดยพยายามเว้นระยะห่างระหว่างสายทุกเส้นเพื่อไม่ให้แตะต้องกันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ผลการทดลองฟัง
ด้วยสภาพของอินทีเกรทแอมป์ที่ผ่านการใช้งานมาแล้วในเบื้องต้น ดังนั้นในคาบแรกจึงได้ทำการต่อเชื่อมแล้วเริ่มการตรวจสอบความสามารถในทันที พัฒนาการแรกที่สัมผัสได้จากขั้นตอนนี้ก็คือความพร้อมในการใช้งาน เพราะหลังจากที่ได้ทำการเปิดสวิตช์ ซึ่งต้องรอให้หลอดแอลอีดีสีฟ้าเปลี่ยนจากการกระพริบเป็นส่องสว่างอย่างต่อเนื่องเครื่องถึงจะพร้อมทำงาน
กล่าวคือถ้าเป็นอินทีเกรทแอมป์รุ่นอดีตที่ได้เคยมีโอกาสครอบครอง และลองเล่นมา หลังจากที่ได้ทำการเปิดสวิตช์การทำงานขึ้นมันจะมีเสียงดัง ปุ๊ ! เกิดขึ้นที่ลำโพงหนึ่งครั้ง จากนั้นอินทีเกรทแอมป์งก็จะทำงานได้ในทันทีตามปกติโดยไม่ต้องรอเวลาเหมือนอินทีเกรทรุ่นนี้
ซึ่งจากเสียงที่ดัง ปุ๊ ! ที่เกิดขึ้นในทุกๆ ครั้งที่ทำการเปิดสวิตช์ถือเป็นเรื่องทอร์คออฟเดอะทาวน์สำหรับมือใหม่ในยุคนั้น ประมาณว่าต่างคนต่างอยากทราบถึงที่มาที่ไป ถึงต้นเหตุของเสียงดังกล่าว
โดยคำตอบที่ทำให้คลายความสงสัยได้อย่างฉับพลันก็คือ การออกแบบให้อินทีเกรทแอมป์เป็นไปในลักษณะนี้จะทำให้เสียงดีกว่าการต้องผ่านอุปกรณ์ฯ ที่เสมือนเป็นตัวสกัดดาวรุ่ง ซึ่งอินทีเกรทแอมป์ชั้นนำของต่างชาติเขาก็มีลักษณะเป็นแบบนี้กัน ( อืม…ก็จริงนะอินทีเกรทแอมป์แบรนด์นอกบางรุ่นก็เป็นแบบนี้ )
ครั้นได้ทำการต่อเชื่อมเพื่อนร่วมทีมจนมีเสียงล่องลอยออกมาจากลำโพงได้ก็ไม่ลืมที่จะตรวจสอบเรื่องความสามารถระหว่างช่องต่อเชื่อมสัญญาณขาเข้าแต่ละช่อง ว่าช่องใดให้ผลลัพธ์โดยรวมที่ดีที่สุด ผลปรากฏว่าช่องต่อเชื่อมสัญญาณขาเข้าดีวีดีคือพระเอกเมื่อเปรียบเทียบกับช่องต่อเชื่อมช่องอื่นๆ ในเรื่องพื้นเสียงเวที และความสดใสของน้ำเสียงที่ฟังแล้วให้อารมณ์ร่วมมากกว่า
จากนั้นจึงได้ทำการตรวจสอบเพื่อนร่วมทีมจำพวกเส้นสายทั้งสามประเภทซึ่งถือว่ามีอิทธิพลต่อความสามารถของอินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้อย่างมาก !
โดยเฉพาะสายไฟเอซีด้วยแล้ว แนะนำว่าควรต้องมีไว้เพื่อเป็นตัวช่วย กล่าวคือนอกจากมันจะช่วยต่อเติมเสริมแต่งในเรื่องมวลเสียง น้ำเสียง มีลักษณะเจือปนไปตามความปรารถนาแล้ว เรื่องความสามารถในการควบคุมรายละเอียดต่างๆ ก็ยังถือว่าเป็นประเด็นที่ให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าต่อการลงทุนอย่างยิ่ง แล้วนี่ก็คือข้อดีข้อแรกของอินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้
เมื่อสามารถจัดสรรเพื่อนร่วมทีมให้กับอินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้จนเสร็จสรรพ คราวนี้ก็มาเริ่มตรวจสอบเรื่องพละกำลังด้วยลำโพงวางขาตั้งจำนวนสองคู่ ผลปรากฏว่าลำโพงคู่แรกสามารถทำงานร่วมกันได้ดีในแง่มุมของการฟังแบบน้อยชิ้น โดยเฉพาะกับเพลงร้องด้วยแล้วถือว่ามีความชัดเจน และจะแจ้งดีทีเดียว
ซึ่งหากจะเลือกฟังเพลงที่มีจำนวนชิ้นดนตรีที่เพิ่มขึ้นมาอีกนิด หรือบทเพลงที่มีความสลับซ้อนของไดนามิกขึ้นมาอีกหน่อย ขอเรียนว่าลำโพงคู่หลังจะสามารถตอบสนองได้ดีกว่ากันอย่างฟังได้ชัด ดังนั้นเพื่อความรอบคอบในแง่มุมของความพร้อมจึงได้ทำการเปิดให้อินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้ทำงานต่อเนื่องหามรุ่งหามค่ำเป็นเวลาสามวันสามคืน
จากการตรวจสอบเป็นระยะๆ ทั้งในเรื่องของรายละเอียดที่นำเสนอออกมา และความร้อนสะสมของตัวถัง ขอเรียนว่าเหตุการณ์ยังคงเป็นปกติทั้งด้านรายละเอียด และความร้อนสะสมที่เกิดในลักษณะที่มากกว่าคำว่าอุ่นเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากส่วนประกอบของอินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้แล้วก็มีความเห็นว่า ไม่ควรนำสิ่งของ หรืออุปกรณ์ฯ ประเภทอื่นมาวางทับบริเวณด้านบน เนื่องจากตำแหน่งดังกล่าวได้ถูกออกแบบให้มีช่องระบายอากาศอยู่
และเมื่ออินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้อยู่ในสภาพที่พร้อมทำรายงานจึงได้เริ่มต้นด้วยการชมภาพยนตร์แอ็คชั่นสี่เรื่องรวด PIRATE OF THE CARIBBEAN THE CURSE OF THE BLACK PEARL, KING KONG THE EIGHTH WONDER OF THE WORLD, HARRY POTTER AND THE CHAMBER OF SECRETS และ TRUST A FEW FEAR THE REST X-MEN
เชื่อไหม ! อินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้สามารถนำเสนอเสียงการสนทนาของตัวละครออกมาได้อย่างคมชัด และเปิดเผยโดยไม่ต้องพึ่งพาลำโพงเซ็นเตอร์ ซึ่งการลองเล่นลองฟังในช่วงนี้ก็ทำให้หวนนึกถึงความตื้นเต้น และความภูมิใจในการลองเล่นครั้งอดีตหวนกลับมาอีกครั้ง แต่สิ่งที่สร้างความรู้สึกได้ดีกว่านั้นก็คือเรื่องของรายละเอียดที่นำเสนอออกมาซึ่งมีลักษณะแผกไปจากครั้งอดีตอย่างสิ้นเชิง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ขอเสียงอันเกิดจากเหตุการณ์ต่างๆ ในภาพที่ถ่ายทอดออกมาได้อย่างแม่นยำก็ดี หรือจะเป็นในเรื่องความเป็นตัวเป็นตนของชิ้นดนตรีที่สัมผัสได้ก็ดี แน่นอนว่าองคาพยพของบอดี้เสียงที่เกิดขึ้นอยู่เบื้องหน้าคงไม่ถึงกับชัดเจน แจ่มแจ้ง ทัดเทียมอินทีเกรทแอมป์ที่เคยลองเล่นมาซึ่งส่วนใหญ่มักมีราคาค่าตัวที่สูงกว่าสองเท่าตัวเป็นอย่างน้อย
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเปรียบเทียบกับอินทีเกรทแอมป์รุ่นพี่ที่ได้เคยมีโอกาสลองเล่นมาคงต้องขอเรียนมันมีความสามารถที่เก่งขึ้นอย่างฟังได้ชัด
เก่งแรกที่ยืนยันได้ในทันทีก็คือ เรื่องความต่อเนื่องของเสียงที่มีความราบเรียบ ลื่นไหลดังจะสังเกตได้เสียงนักร้อง เสียงเครื่องลมจากบันทึกการแสดง THE EAGLES FAREWELL TOUR LIVE FROM MELBOURNE ที่สำแดงออกมาด้วยน้ำเสียงที่มีความสดใส อันสอดแทรกไว้ด้วยความนุ่มนวล และความสุภาพอยู่ในที
ด้านลีลาการเอื้อนเนื้อร้องคือประเด็นที่สังเกตถึงพัฒนาการดังกล่าวได้อย่างชัดเจน เฉกเดียวกับเสียงการออกอักขระที่มีความฉะฉาน และมีความเป็นธรรมชาติอยู่ในที จะมีที่รู้สึกว่าย่อหย่อนไปบ้างก็คงจะเป็นเรื่องความเข้มข้นของมวลเสียง และความละเอียดของเกรนเสียงซึ่งก็ยังจะตัดสินไม่ได้ในเวลานี้เพราะแหล่งต้นทางของสัญญาณเสียงเป็นเครื่องเล่นดีวีดี
เก่งที่สองที่รับทราบได้ในคาบนี้ก็คือความพร้อมสรรพสำหรับการปรุงแต่งเสียงเพียงปลายนิ้วสัมผัส ด้วยปุ่มกดปรับเพิ่มดุลเสียงสูง ดุลเสียงต่ำ แบบอัตโนมัติที่ไม่ทำให้ดุลเสียงกลางหุบ หรือโดนแย่งซีนแบบเกินงาม เฉกเดียวกับปุ่มปรับดุลเสียงสูง และปุ่มปรับดุลเสียงต่ำที่แยกเป็นอิสระออกจากกัน ซึ่งสามารถปรับแต่งเพื่อชดเชยแหล่งต้นทางของสัญญาณ หรือเพื่อปรุงแต่งเสียงได้ตามอำเภอใจโดยที่ไม่ไปบดบังความสามารถของดุลเสียงกลางแบบหมดท่า
ที่สำคัญหากปรับแต่งดุลเสียงต่ำแล้วยังไม่สามารถตอบสนองได้อย่างถึงใจก็สามารถเสริมทัพด้วยการเชื่อมต่อผ่านช่องต่อเชื่อมสัญญาณขาออกบริเวณแผงหน้าปัดด้านหลัง (PRE OUT) ไปยังแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ได้อีกหนึ่งช่องทาง งานนี้มือใหม่หัดเล่นคงได้สุขสนุกกับการชมภาพยนตร์ ชมบันทึกการแสดงสดอย่างเกษมเพิ่มขึ้นแน่ๆ ครับ
สำหรับเก่งที่สามเก่งสุดท้ายซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก นั่นก็คือความไม่ขี้ฟ้อง ดังจะพิสูจน์ได้จากการต่อเชื่อมผ่านเครื่องเล่นดีวีดีด้วยการฟังเพลงจากอัลบั้มที่บันทึกมาแบบธรรมดา ซึ่งต้องขอเรียนว่าฟังได้ดี ฟังได้เพลิน และมีความเป็นดนตรีให้สัมผัสได้อีกต่างหาก
ครั้นได้ทราบถึงความเก่งทั้งสามข้อแล้วก็ทำให้เกิดความกระหายใคร่ทราบถึงความสามารถแบบจัดเต็มขึ้นมาอย่างรุนแรง ดังนั้นจึงได้ย้ายฐานการลองเล่นไปเป็นคาบที่สองในทันที
โดยเริ่มจากการตรวจสอบเรื่องความสามารถระหว่างช่องต่อเชื่อมสัญญาณขาเข้าว่าช่องใดต่อเชื่อมแล้วให้ผลลัพธ์โดยรวมที่ดีที่สุดอีกครั้ง ผลปรากฏว่าช่องต่อเชื่อมสัญญาณขาเข้าดีวีดียังคงเป็นพระเอกเมื่อเปรียบเทียบกับช่องต่อเชื่อมอื่นซึ่งให้ผลลัพธ์ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับในคาบแรก
จากนั้นจึงได้ทำการตรวจสอบเพื่อนร่วมทีมจำพวกเส้นสาย ผลปรากฏว่าอินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้สามารถทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมทีมประเภทนี้ได้อย่างไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง
นั่นก็หมายความว่าหากท่านมีรสนิยมที่ชื่นชอบดุลเสียงโดยรวมแบบโปร่งใส ฉับไว กระฉับกระเฉง เพื่อนร่วมทีมที่มีลักษณะดังกล่าวย่อมเป็นทางเลือกที่ควรจัดสรรให้กับอินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้ครับ เฉกเดียวท่านที่มีรสนิยมชื่นชอบดุลเสียงโดยรวมแบบอบอุ่น นุ่มนวล เข้มข้น เพื่อนร่วมทีมที่มีอัตลักษณ์เจ้าเนื้อย่อมเป็นเนื้อคู่ของท่านเช่นกัน
ครั้นอธิบายแบบนี้หลายท่านก็อาจจะเข้าใจว่า อย่างนี้อินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้ก็มีความเป็นกลางที่ค่อนข้างสูงละซิ ขอเรียนว่ายังไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะจากตรวจสอบโดยละเอียดในคาบนี้ได้พบว่าดุลเสียงโดยรวมที่ได้ยินได้ฟังทั้งจากชุด และอุปกรณ์อ้างอิงทั้งสองชุดยังคงมีกลิ่นอายอัตลักษณ์ของอินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้เป็นแกน
กล่าวคือดุลเสียงโดยรวมของอินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้ออกไปทางโปร่ง เปิดเผย โดยที่ให้น้ำเสียงออกไปทางแจ่มชัดที่แฝงเร้นไว้ด้วยความนุ่มนวล สุภาพนิดๆ ดังนั้นไม่ว่าจะลองฟังจากชุด และอุปกรณ์อ้างอิงชุดแรก หรือชุดหลัง ความโปร่ง ความเปิดเผย และความแจ่มชัดในน้ำเสียงก็ยังถ่ายทอดออกมาให้รับทราบโดยตลอด
ดังจะพิสูจน์ได้จากเสียงเครื่องเคาะโลหะโทนสูงจากอัลบั้ม THE SACD STEREO AND MULTICHANNEL DEMONSTRATION DISC ที่นำเสนอออกมาให้รับถึงตำแหน่งที่ชิ้นดนตรีเหล่านั้นปักหลักอยู่อย่างง่ายดาย คงต้องขอเรียนว่ามันเป็นเสียงเครื่องเคาะโลหะโทนสูงที่มีความสดใส ทอดปลายหางเสียงได้ไกล การแยกแยะรายละเอียดก็มีสาระให้รับทราบได้ว่าเสียงที่ได้ยินได้ฟังอยู่นี้เกิดการเคาะการตีที่มีน้ำหนักแผกกัน
โดยเฉพาะเสียงแรกกระทบ ถือว่ามีความโดดเด่นมากสำหรับเสียงแรกกระทบที่ดังขึ้นในแต่ละโน้ต ที่นอกจากมันจะมีความเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และความกระแทกกระทั้นอยู่ในทีแล้ว น้ำเสียงที่ได้ยินได้ฟังจากเครื่องเคาะเหล่านี้ในโน้ตสูงๆ ยังมีอาการกัดหูที่กำลังพอเหมาะ ไม่รุกเร้าจนเกินไปที่แม้จะต้องทำงานกับเพื่อนร่วมทีมที่มีความโดดเด่นในเรื่องพรรค์ดังกล่าวก็ตามที
อย่างไรก็ดี เรื่องของลำโพงที่ใช้ร่วมทีมถือว่ามีอิทธิพลต่ออินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้โดยตรง เช่นในคาบแรกกับลำโพงคู่แรกในสถานที่ฟังแบบเปิด ทำให้เบื้องต้นสันนิษฐานว่าอินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้ขับไม่ออกแน่ๆ แล้วคำตอบก็เป็นเช่นนั้นเมื่อนำมาลองเล่นในคาบที่สองในช่วงแรก
ครั้นอธิบายเช่นนี้หลายท่านคงมีข้อสงสัยว่า แล้วลำโพงที่มีค่าความไวเท่าใดกันถึงจะเหมาะสม ? ขอเรียนค่าความไวที่ระบุมากับลำโพงทุกคู่สามารถนำมาใช้เป็นแค่เพียงการประมาณการในเบื้องต้นเท่านั้น เพราะบนวิถีทางของการเล่นจริงๆ นั้นยังมีอีกหลายเหตุหลายปัจจัยที่ควรนำมาร่วมพิจารณา
สำหรับวิธีการง่ายที่ใช้ตรวจสอบความสามารถในเรื่องนี้ก็คือ การลองฟังด้วยความดังอย่างน้อยสามระดับ ระดับแรกระดับความดังที่พอดี ระดับที่สองระดับความดังที่เบาที่สุดเมื่อฟังแล้วดุลเสียงทั้งสามย่านยังคงตอบสนองออกมาได้ครบ และระดับที่สามก็คือระดับความดังที่ดังที่สุดแล้วดุลเสียงทั้งสามย่านยังคงตอบสนองได้ดี
หากลองฟังแล้วพบว่าเมื่อลดระดับความดังลงมามากแล้วยังคงนำเสนอดุลเสียงทั้งสามย่านออกมาได้ครบ เร่งระดับความดังให้สูงแบบเต็มเหนี่ยวแล้วยังคงสามารถควบคุมดุลเสียงทั้งสามย่านได้อย่างมั่นคง นั่นก็แสดงว่าอินทีเกรทแอมป์เครื่องนั้นเอาอยู่
ในทางตรงกันข้ามหากลดระดับความดังลงมาแล้วดุลเสียงทั้งสามย่านกลับสำแดงออกมาได้แต่ดุลเสียงกลางสูง ดุลเสียงกลาง และดุลเสียงกลางต่ำ ครั้นเร่งระดับความดังให้สูงแบบเต็มเหนี่ยวกลับไม่สามารถควบคุมดุลเสียงทั้งสามย่านได้ นั่นก็แสดงว่าอินทีเกรทแอมป์เครื่องนั้นเอาไม่อยู่ ซึ่งการลองฟังในลักษณะนี้ต้องคำนึงถึงขนาดห้องฟังและสภาพอะคูสติกร่วมด้วย
เช่นในการลองเล่นคาบที่สองนี้ ลำโพงในชุด และอุปกรณ์อ้างอิงชุดที่สองสามารถลดระดับความดังลงมาได้ไม่มากเท่ากับลำโพงในชุด และอุปกรณ์อ้างอิงชุดแรก เฉกเดียวกับการเร่งระดับความดังให้สูงขึ้นที่ทำได้ต่ำกว่า ดังนั้นหากนำลำโพงในชุด และอุปกรณ์อ้างอิงชุดที่สองไปฟังในห้องที่มีขนาดใหญ่กว่านี้ระดับความดังน่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ลดลง
ครั้นอธิบายมาถึงบรรทัดนี้ก็พอที่จะอนุมานได้ว่าอินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้สามารถเอาลำโพงในชุด และอุปกรณ์อ้างอิงชุดแรกได้อย่างอยู่หมัด ส่วนลำโพงในชุด และอุปกรณ์อ้างอิงชุดที่สองจะเอาอยู่ก็ต่อเมื่อฟังในห้องที่มีขนาดใหญ่ไม่เกินยี่สิบตารางเมตร
ดังจะพิจารณาได้จากเสียงร้อง และเสียงเปียโนในแทร็คแรกจากอัลบั้ม ART FOR THE EAR / BURMESTER CD II ที่เปิดเผยตำแหน่งแห่งที่ของชิ้นดนตรีได้อย่างมั่นคง และก็คงต้องขอเรียนว่ามันเป็นเสียงของนักร้องหญิงที่มีความชัด ฉะฉาน ด้วยวิธีการย้ำเน้นอักขระที่พอเหมาะพอดีอันบ่งบอกได้ถึงลีลาการร้องที่สุภาพ ไม่ออดอ้อนฉอเลาะจนเกินไป
เฉกเดียวกับเสียงเปียโนที่มีความสดใส ฉับไว และให้เสียงแรกกระทบที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่พร่าเลือน ด้านบรรยากาศที่รายล้อมตัวโน้ตถือว่าพอมี พื้นเสียงเวทีก็ถือว่ามีความสะอาด ความสงัดตามความสามารถ และระดับของราคา คือไม่ถึงกับกระจ่าง เกลี้ยงเกลา หรือไม่ขุ่นทึบแน่นอน
ด้านเสียงนักร้องชายและเสียงเครื่องลมถือว่ามีเสน่ห์น่าฟังกว่ากันอยู่เล็กน้อย ดังจะสังเกตได้จากลีลาการเอื้อนเนื้อร้องไปตามทำนองจากอัลบั้ม KENNY G THE MOMENT ที่ถ่ายทอดออกมาได้อย่างราบเรียบ และมีพลัง มันเป็นลีลาการเอื้อนเนื้อร้องไปทำนองเพลงที่มีความกลมกล่อม และสุภาพ เฉกเดียวกับเสียงแซกโซโฟนที่สำแดงออกมาได้อย่างนุ่มนวล ไพเราะ และน่าฟัง
สุดท้ายกับเสียงกีตาร์เบส, เสียงกระเดื่องกลอง และเสียงกลองจีนใบใหญ่จากอัลบั้ม SHEFFIELD DRIVE ต้องขอเรียนว่ามันเป็นดุลเสียงต่ำที่ย้ำเน้นเสียงแรกกระทบออกมาได้อย่างจะแจ้ง ดังนั้นสำหรับท่านที่เคยมองข้ามอินทีเกรทแอมป์กล้ามเล็กๆ เพราะคิดว่าคงไม่สามารถตอบสนองแนวดนตรีได้อย่างกว้างขวางขอเรียนว่าคิดผิด
และเพื่อความแน่ชัดในความสามารถในด้านนี้จึงได้ทำการตรวจสอบด้วยเสียงกลองใหญ่จากอัลบั้ม RAIN FOREST DREAM JOJI HIROTA อีกครั้ง ผลปรากฏว่าอินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้สามารถนำเสนอเสียงกลองใหญ่ออกมาได้อย่างหนักแน่น เด็ดขาด โดยเฉพาะช่วงดำดิ่งลงลึกในโน้ตต่ำๆ ซึ่งถือว่ายังคงสามารถสำแดงรายละเอียดอออกมาให้รับทราบได้
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ตรวจสอบด้านความสามารถของดุลเสียงต่ำได้ทดลองปรับแต่งปุ่มปรับดุลเสียงสูง ดุลเสียงต่ำ และ LOUDNESS เพิ่มเติมเป็นระยะๆ ผลปรากฏว่ามันช่วยเสริมอรรถรสในการฟังเพลงเร็วได้ดีทีเดียว ดังนั้นสำหรับท่านที่ไม่พิถีพิถันกันรายละเอียดแบบสุดโต่ง ขอเรียนว่าแนวทางในการลองเล่นในลักษณะนี้คือตัวช่วยที่สามารถบำรุงสุขให้กับท่านได้เพิ่มขึ้นแน่นอน ฟันเฟิร์ม !
บทสรุป
เมื่อพิจารณาจากการลองเล่นตลอดสองคาบกับสามชุด และอุปกรณ์อ้างอิงแบบเข้มข้นแล้วก็ต้องขอเรียนว่าอินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้เป็นพัฒนาการที่ก้าวล้ำนำสมัย และมีความน่าใช้งานเป็นจุดขาย
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรูปลักษณ์ที่ดูเรียบง่าย โฉบเฉี่ยว มองได้นานอย่างไม่รู้เบื่อก็ดี หรือจะเป็นช่องต่อเชื่อมสัญญาณขาเข้าที่มีมาให้เลือกใช้งานอย่างเหลือเฟือ พร้อมช่องต่อเชื่อม iPOD บริเวณแผงหน้าปัดด้านหน้าที่สามารถใช้ต่อเชื่อมกับอุปกรณ์ฯ ได้หลากหลาย ทั้งโทรศัพท์ไร้สาย คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค หรือจะเป็นเครื่องเล่นไฟล์ที่ใช้ต่อเชื่อมหูฟังทุกชนิดก็ล้วนแล้วแต่ร่วมทีมได้ทั้งสิ้น
ด้านการต่อยอดเพื่อการเสริมประสิทธิภาพในอนาคตก็มีมาให้อย่างพร้อมสรรพ ไม่ว่าจะเป็นช่องต่อเชื่อมสัญญาณขาออก (PRE OUT) ที่ต่อเชื่อมได้ทั้งเพาเวอร์แอมป์เพื่อเพิ่มพละกำลังขับ หรือจะเป็นแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์เพื่อขยายไดนามิกเร้นจ์ให้กว้างขวางก็ล้วนแล้วแต่กระทำการณ์ได้อย่างสะดวกทั้งสิ้น
โดยเฉพาะขั้วต่อเชื่อมสายไฟเอซีแบบสามขาบริเวณแผงหน้าปัดด้านหลังที่ถือว่าเป็นส่วนประกอบที่มีความสำคัญต่อความสามารถของอินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้อย่างยิ่งยวด
ดังนั้นหากพิจารณาแล้วพบว่าอัตลักษณ์ของอินทีเกรทแอมป์ MAGNET SA-4a เครื่องนี้มีลักษณะที่ละม้ายคล้ายคลึงกับรสนิยมของท่าน ขอพยากรณ์ว่าอินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้น่าจะเป็นเนื้อคู่ที่รอท่านอยู่ ซึ่งหากไม่แน่ใจในบางแง่บางประเด็นที่ได้สาธยายไป แนะนำให้หาโอกาสทดลองฟังอินทีเกรทแอมป์สัญชาติไทยเครื่องนี้ดูสักครั้ง แล้วท่านจะทราบว่าอินทีเกรทเสียงดีๆ อยู่ใกล้แค่เอื้อม!
—————————————————————————————————-
หมายเหตุ : ขอขอบคุณ บริษัท แม็กเนท เทคโนโลยีส์ จำกัด โทร. 0 – 2907 – 7923 – 5
ผู้จัดจำหน่ายที่ได้เอื้อเฟื้ออินทีเกรทแอมป์ในการทดลองฟังครั้งนี้