What HI-FI? Thailand

Test Report: อินทีเกรทแอมป์ Accuphase E-260

อินทีเกรทแอมป์

Accuphase E-260

พลิกโฉมตำนานน้องเล็กไฮเอนด์

“bluebird u11”

และแล้วน้องเล็กไฮเอนด์รุ่นล่าสุดจากแดนอาทิตย์อุทัยได้เปิดตัวพร้อมวางจำหน่ายอินทีเกรทแอมป์ในรหัสลงท้ายด้วย 60 ครบรุ่นของเวอร์ชั่นล่าสุดนี้

ก่อนหน้านี้ อินทีเกรทแอมป์ไฮเอนด์จากญี่ปุ่นในนามว่า Accuphase ได้สร้างความฮือฮาจากนักเล่นฯ ในประเทศไทยและทั่วโลก จากอินทีเกรทแอมป์ยักษ์ใหญ่สุดรุ่น E-560 ทำงานในรูปแบบคลาสเอแท้และพิถีพิถันด้วยการวางรูปแบบบาลานซ์แท้ นั่นเป็นการสร้างชื่อเสียงให้ Accuphase กลับมาทวงความเป็นเครื่องเสียงไฮเอนด์อีกครั้งหลังจากโด่งดังในรุ่นดั้งเดิมในอดีต หลังจากนั้น รุ่นใหญ่สุดในรูปแบบวงจรคลาสเอบีได้ส่งลงตลาดในรุ่น E-460 ทุกอย่างปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงไปมาก หน้าตาคงสไตล์เหมือนเดิม แต่ภายในเครื่องและวงจรปรับเปลี่ยนจากเดิมไปมาก หากมองเฉพาะรูปร่างหน้าตาเท่านั้น อาจหาความเปลี่ยนแปลงได้ไม่มากนัก แต่ถ้าสัมผัสจริงจากการใช้งาน นั่นแลถึงจะรับรู้ว่าแตกต่างจากเดิมไปทุกๆ ด้าน

เรียกว่าซีรีส์ลงท้ายด้วย 60 เปิดตัวรุ่นใหญ่ในรูปแบบวงจรไบอัสกระแสทั้งคลาสเอและคลาสเอบีไว้ครบครัน นักเล่นฯ ที่กระเป๋าหนักจับจองซื้อมาใช้งานกันหลายท่าน ยังมีนักเล่นฯ แบบฉบับย่อมเยากับเม็ดเงิน เฝ้ารอรุ่นเล็กกว่าสองรุ่นดังกล่าวในรหัส 60 ที่เหลืออีกสองรุ่น ซึ่ง E-360 ก็ตอบสนองออกมาอีกครั้งเมื่อปีที่ผ่านมา ผลการลองใช้งานจริงเป็นที่น่าชื่นชมและแนะนำให้เลือกใช้ แน่นอนว่ากลุ่มผู้ใช้งานที่เลือกเล่นเครื่องในรุ่นเล็กกว่า E-360 ก็เฝ้ารอเครื่องในรุ่นเล็กสุด E-260 ว่าเมื่อไหร่จะได้ลงสู่ตลาดโลกและนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยอีกครั้ง จากการเฝ้ารอมาระยะเวลาหนึ่ง Accuphase ได้เปิดตัวอินทีเกรทแอมป์รุ่นเล็กสุดออกมาสู่ตลาดอีกครั้ง เรียกว่าเป็นซีรีส์สุดท้ายของเวอร์ชั่น 60 ที่ออกสู่ตลาด

อินทีเกรทแอมป์ Accuphase ตระกลู E-2 ได้สร้างชื่อเสียงกับกลุ่มนักเล่นฯ นักฟังฯ ที่ต้องการใช้งานเครื่องไฮเอนด์แต่จ่ายไม่มากเท่าเครื่องรุ่นใหญ่ อีกทั้งใช้งานร่วมกับชุดฟังและลำโพงที่ไม่ใหญ่มากนัก หรือกลุ่มนักเล่นฯ นักฟังฯ ที่ขยับขยายจากเครื่องระดับเริ่มต้นทั่วไป เข้าสัมผัสและครอบครองเครื่องเสียงไฮเอนด์ ตระกูล E-2 นี้ นับว่าเป็นเครื่องสำหรับตอบสนองกลุ่มผู้ใช้งานเหล่านี้ได้ดี

พันธุกรรมของ Accuphase E-2 นี้ โด่งดังจากรุ่นดั้งเดิมมาจนปรับเปลี่ยนตัวเครื่องในรุ่น E-211, E-212 และ E-213 ตามลำดับ จากนั้น Accuphase วางตัวรุ่น E-250 อยู่นานพอควร ล่าสุด E-260 ได้ปรับเปลี่ยนตามแบบฉบับรุ่นใหญ่และเริ่มวางจำหน่ายในปัจจุบัน

 

รูปลักษณ์และการใช้งาน

 

 

Accuphase E-260 เป็นเจเนอเรชั่นใหม่ ทดแทนรุ่น E-250 ที่เพิ่งหยุดการผลิตไป หากเทียบเคียงในเวอร์ชั่นลงท้ายด้วย 60 แล้ว รุ่นพี่ทั้งสองรุ่นทั้ง E-360 และ E-460 สองรุ่นดังกล่าวได้ผ่านการใช้งานในห้องฟังของผมอย่างละเอียด ไม่นับรวมเครื่องเล่นซีดีในรุ่นใหม่ DP-510 อีกหนึ่งเครื่องที่ร่วมใช้งานในห้องฟังห้องนี้ ทั้งสามเครื่องสร้างความประทับใจในการใช้งานจริงทุกรุ่นทีเดียวเชียว

ว่าด้วยสไตล์การออกแบบยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ไฮเอนด์ของ Accuphase ด้วยรูปร่างพื้นฐานของตัวเครื่องและแผงหน้าปัดยังคงไว้ซึ่งพื้นฐานดั้งเดิมไฮเอนด์ สีของตัวเครื่องยังคงยึดสไตล์ดังเดิมคือแผงหน้าสีทองตัวเครื่องสีเทาดำ การวางตำแหน่งต่างๆ ของการใช้งานใกล้เคียงกับรุ่น E-250 ที่ผ่านมา เรียกว่าเอกลักษณ์เครื่องเสียงไฮเอนด์จากญี่ปุ่นที่ฝรั่งต้องมอง

เริ่มจากแผงหน้าปัดอะลูมิเนียมสีทองแชมเปญ มีความหนาตามมาตรฐานของตัวเครื่อง Accuphase โดยวางปุ่มหมุนขนาดใหญ่ไว้ทั้งสองฝั่ง ด้านขวาของเครื่องเป็นปุ่มหมุนเลือกแหล่งสัญญาณอินพุทให้มาทั้งหมดเจ็ดอินพุท เรียงลำดับจาก Line 1, Line 2, Line 3, CD-BAL, CD, TUNER, OPTION ตามลำดับ รอบๆ ปุ่มหมุนนี้ติดตั้งไฟแสดงสถานะสีแดงติดสว่างอยู่ในกรณีเลือกใช้งานอินพุทช่องนั้นๆ เมื่อเปิดเครื่องตำแหน่งอินพุทนี้ยังคงล๊อคไว้ตำแหน่งเดิมก่อนปิดเครื่อง ปุ่มหมุนนี้เองสามารถหมุนฟรีได้รอบตัวเอง ทั้งหมุนตามเข็มหรือทวนเข็มนาฬิกา ปุ่มเลือกอินพุทคุณภาพสูงตามมาตรฐานดั้งเดิมของ Accuphase

อีกข้างวางปุ่มหมุนขนาดใหญ่อยู่ด้านซ้ายสุดของแผงหน้าปัด เป็นปุ่มโวลลุ่มเร่ง – ลดระดับเสียง ปุ่มหมุนนี้มีตัวเลขล้อมรอบตั้งแต่เลข 1 – 10 ในแต่ละเลขมีช่องสเกลแบ่งระดับระหว่างช่องอีกหนึ่งขีด ที่ตัวปุ่มหมุนนี้เซาะร่องไว้เป็นตำแหน่งชี้สเกล ไม่เน้นออกแบบไฟแสดงตำแหน่งบอกระดับการเพิ่มหรือลดเสียงเนื่องจากมีระดับตัวเลขแสดงบนแผงหน้าปัดแสดงอยู่ ทิศทางการหมุนของปุ่มหมุนได้เพียงทิศทางเดียวเท่านั้น ระหว่างสองปุ่มวางจอแสดงผลไว้ให้สมดุลกับแผงหน้าปัด จอแสดงผลดังกล่าวเป็นจอเดียวยาวตลอดแนว ใช้วีธีการปรับแต่งด้วยสีดำช่วยที่ขอบทั้งหมดของจอล้อมรอบเข็มแสดงระดับความดังและการสวิงเสียงสองกรอบ กระจกหน้าปัดชิ้นนี้แตกต่างจากรุ่น E-250 ไปบ้าง

เมื่อมองแผงหน้าปัดเข้าไปตรงๆ ออกแบบ VU Meter สองตัววางไว้ VU Meter ดังกล่าวมีเข็มวัดระดับความดังและกำลังขับ ซึ่งเข็มดังกล่าวทำงานพร้อมกับการสวิงเสียง โดยด้านหลังหรือฉากหลังของเข็มมีสเกลสีดำและสเกลเส้นแนวนอนติดตั้งอยู่ ซึ่งตัวเลขสเกลด้านบนบ่งบอกระดับความดัง สเกลด้านล่างบ่งบอกระดับกำลังขับของอินทีเกรทแอมป์ เข็มวัดระดับทั้งสองข้างนี้มีไฟแสดงสถานะสว่างขณะใช้งานตลอดเวลา ระหว่างเข็มทั้งสองนี้ เป็นตำแหน่งติดตั้งไฟสีเขียวยี่ห้อ Accuphase ไฟดังกล่าวทำงานเมื่อเปิดเครื่องใช้งานทุกครั้ง พร้อมปรับปรุงมาจากรุ่นเดิมด้วยตัวเลขบอกระดับความดังที่รุ่น E-250 ไม่มี ให้ความสะดวกต่อการใช้งาน ด้านล่างสุดของจอแสดงผลสกรีนตัวอักษรประเภทของเครื่องและรุ่นเครื่องไว้ชัดเจน

ถัดลงมาด้านล่างของจอแสดงผลและปุ่มทั้งสอง มีลักษณะเป็นแผงหน้าปัดชิ้นเดียวกัน ออกแบบโดยนำอะลูมิเนียมมาไสให้ลดระดับลงแทนการต่อวัสดุสองชิ้น มีการปรับเปลี่ยนแผงหน้าปัดรุ่นนี้กับรุ่นเดิมอยู่พอควร หากมองผิวเผินแล้วไม่มีความแตกต่างจากรุ่นเดิม หากมองในรายละเอียดที่ละส่วน จะพบความแตกต่างในรายละเอียดหลายส่วนมาก แผงหน้าปัดด้านล่างนี้เป็นตำแหน่งวางปุ่มสั่งงานและปุ่มใช้งานไว้ครบถ้วน เริ่มจากด้านขวาของเครื่องเป็นปุ่ม เปิด – ปิด เครื่องขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบป๊อบอัพ ปรับเปลี่ยนตำแหน่งวางปุ่มลูกบิดทั้งหมดสี่ปุ่มไว้ระยะกึ่งกลางแผงหน้าปัดทั้งสี่ปุ่ม และออกแบบปุ่มกระดุมเล็กแบบกดไว้ข้างปุ่มหมุนข้างละสามปุ่มแบบสมมาตร

ปุ่มลูกบิดด้านขวาปุ่มแรกใช้สั่งงานเลือกชุดลำโพงชุด A หรือ ชุด B หรือเป็นชุด A+B ถัดมาเป็นปุ่มสัญญาณ Record เลือกเปิดและปิดได้ ปุ่มต่อไปเป็นปุ่ม BALANCE เลือกปรับเสียงข้างซ้ายและข้างขวา ต่อมาจึงเป็นปุ่มหมุนปรับเสียงทุ้ม BASS และปุ่มปรับเสียงแหลม TREBLE ตามลำดับ ถัดมาจากปุ่มปรับเพิ่มเสียงทุ้มและแหลมเป็นปุ่ม TONE ใช้กดเลือกโหมดตามที่ต้องการ หากปุ่ม TONE ไม่ได้กดสั่งงาน วงจรปรับแต่งเสียงต่ำและเสียงสูงจะไม่ทำงาน ใกล้กันเป็นปุ่ม COMP (ชดเชยเสียง) และเป็นปุ่ม MM/MC เลือกประเภทของหัวเข็มของเครื่องเล่นแผ่นเสียง ใต้ปุ่มโวลลุ่มมีปุ่ม ATTENUATOR ตัดเสียงให้ลดระดับความดังลง และช่องเสียบหูฟัง ข้ามมาอีกฟากที่เหลือเป็นปุ่มกระดุมเล็กสามปุ่ม ปุ่มแรกเป็นปุ่ม EXT PRE ใช้สั่งงานในกรณีที่ใช้ปรีแอมป์จากภายนอก ถัดมาสำหรับการกลับเฟสช่องบาลานซ์แบบ Euro Type หรือ American Type สุดท้ายเป็นปุ่ม MONO

ด้านข้างของตัวถังเครื่องเลือกใช้อะลูมิเนียมที่มีความหนาพับขอบให้กินพื้นที่ด้านบนและด้านล่างของตัวเครื่องเล็กน้อย ทำให้ตัวเครื่องแน่นหนาลดแรงสั่นสะเทือนพร้อมสลายคลื่นความถี่ที่มากระทบตัวเครื่องได้ดี ตัวถังด้านข้างทั้งสองชิ้นนี้เซาะร่องด้านล่างไว้ทั้งสองข้าง ส่วนด้านบนตัวเครื่องเจาะร่องระบายความร้อนในแนวลึกไว้ทั้งหมดสามแถว พื้นที่ระบายความร้อนสามในสี่ส่วนที่เป็นร่องดังกล่าว เมื่อมองทะลุลงไปพบหม้อแปลงขนาดใหญ่อยู่กึ่งกลางตัวเครื่อง ด้านหน้าหม้อแปลงใกล้แผงหน้าปัดวางคาปาซิเตอร์ขนาดใหญ่ไว้สองตัว ด้านข้างหม้อแปลงวางแผงวงจรภาคขยายในแนวลึกขนาบข้างหม้อแปลงไว้ข้างละหนึ่งแผง

ด้านล่างของเครื่องให้ขารองรับเครื่องมาทั้งหมดสี่ตัว แผงด้านล่างเจาะรูระบายความร้อนไว้อีกเช่นกัน แม้จะเน้นการเปิดช่องระบายความร้อนให้มาก ตัวถังทั้งหมดยังคงไว้ด้วยความแข็งแรงและมีน้ำหนักเครื่องที่เหมาะสม ที่สำคัญความหนาของโลหะที่นำมาใช้มีความและแข็งแรงกว่าเครื่องระดับเริ่มต้นทั่วไป ด้านล่างของเครื่องให้ขารองรับเครื่องมาทั้งหมดสี่ตัว ตัวขารองรับเครื่องออกแบบให้จุดสัมผัสกับชั้นวางเครื่องเป็นผ้าสักหลาดซึมซับแรงสั่นสะเทือนได้ดี รองรับเครื่องที่มีน้ำหนักราวยี่สิบกิโลกรัมได้สบาย

เข้าสู่รายละเอียดด้านท้ายเครื่อง การวางแผนผังแบ่งออกเป็นสองส่วน โดยด้านซ้ายของตัวเครื่องวางตำแหน่งขั้วสัญญาณอินพุทและบอร์ดอ็อปชั่นไว้ทั้งหมด ส่วนด้านขวาของตัวเครื่องเป็นช่องเสียบขั้วต่อสายลำโพงและขั้วต่อไฟเอซีเข้าเครื่อง เริ่มจากทางด้านซ้ายของเครื่องเป็นขั้วอินพุทสัญญาณแบบอันบาลานซ์ทั้งหมดหกคู่ โดยแต่ละคู่วางตามแนวดิ่งทั้งหมดเรียงจากขั้วอินพุท TUNER, CD, LINE1, LINE2, LINE3 ตามลำดับ ขั้วอันบาลานซ์อีกสี่คู่ที่เหลือ เป็นของ RECORD 2 คู่ เป็นของ POWER IN หนึ่งคู่และ Pre Out หนึ่งคู่ สำหรับเปลี่ยนให้อินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้ทำหน้าที่เป็นเพาเวอร์แอมป์และปรีแอมป์ได้อีกด้วย ด้านใต้ขั้วอินพุทชุดแรกเป็นตำแหน่งขั้วบาลานซ์อินพุทของช่อง CD-BAL ข้างๆ ขั้วเชื่อมต่อดังกล่าวเป็นเบอร์ของเครื่อง, รุ่นและประเทศผู้ผลิตไว้ครบครัน ส่วนขั้วอินพุทและเอาท์พุททั้งหมดมีพลาสติกผสมสีเทาอุดขั้วช่องที่ไม่ได้ใช้งานไว้ทั้งหมด

ถัดมาด้านขวาของเครื่องวางขั้วต่อสายลำโพงขนาดใหญ่สีดำแดงมาทั้งหมดสองแถว โดยแถวบนถูกกำกับไว้ด้วยขั้วชุด A ส่วนแถวด้านล่างเป็นขั้วลำโพงชุด B สามารถใช้สายลำโพงที่มีขั้วต่อได้หลายรูปแบบที่สุด ใต้ขั้วต่อนี้เป็นช่อง IEC แบบสามขาตัวนำ ทำให้เลือกใช้สายไฟเพื่ออัพเกรดได้ตามใจชอบ สิ่งที่เห็นเพิ่มเติมขึ้นมาคือช่องอ็อปชั่นบอร์ดด้านซ้ายสุดของเครื่องที่ออกแบบเพิ่มและมีฝาปิดไว้ สามารถอัพเกรดบอร์ด DAC และ Phono ได้ในอนาคต

การออกแบบวงจรใช้ทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์ออดิโอเกรดชั้นยอด วงจรเป็นแบบขนานพุช-พลู หม้อแปลงคุณภาพสูงที่จ่ายกระแสได้สูงเช่นกัน คาปาซิสเตอร์คุณภาพสูงมีให้มาทั้งหมดสองตัว อีกทั้งวงจรโวลลุ่มลิขสิทธิ์เฉพาะที่เป็นจุดเด่นของ Accuphase ถ่ายทอดจากรุ่นใหญ่มายังรุ่นนี้ โดดเด่นในเรื่องของวงจรและการควบคุมระดับของเสียง นับว่าเป็นการพัฒนาหัวใจหลักของจุดเด่นด้านปรีแอมป์ ในวงจรโวลลุ่ม AAVA นี้มีการแบ่งระดับความดังเป็นหลายๆ ระดับ โดยใช้หลักการเปลี่ยนแรงเคลื่อนไปเป็นกระแสในการป้อนกลับ ทำงานร่วมกับสวิตช์ปิด-เปิด สวิตช์ดังกล่าวรับคำสั่งมาจาก CPU ที่ประมวลผลตำแหน่งของปุ่มโวลลุ่มอีกที ส่งผลให้การส่งถ่ายสัญญาณทุกระดับความดังแม่นยำและละเอียดอ่อนที่สุด ทั้งหมดของการออกแบบวงจรแต่ละส่วนระบุไว้ในคู่มือและเว็บไซต์ของ Accuphase ด้วยความชัดเจน

Accuphase E-260 ให้รีโมทคอนโทรลไร้สายสีทองแชมเปญรุ่น RC-200 มาหนึ่งอัน สามารถใช้งานร่วมกับเครื่องเล่นแผ่นซีดีได้ด้วย นอกเหนือจากนั้นอุปกรณ์ที่มีมาให้ในกล่อง มีคู่มือหนึ่งเล่ม อีกหนึ่งเล่มเป็นการออกแบบวงจรและค่าระบุที่สำคัญมาหนึ่งชุด นับว่าเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องเสียงจากญี่ปุ่นที่นิยมให้ข้อมูลของวงจรมากับตัวสินค้าด้วย ตัวเครื่องห่อหุ้มไว้ด้วยผ้ากันรอยสีขาว คู่มือและรีโมทบรรจุมาในกล่องกระดาษเล็กๆ ภายในอีกชั้น กล่องภายนอกเป็นกล่องสองชั้นเฉกเช่นเครื่องเสียงไฮเอนด์จากฝรั่ง

Accuphase E-260 มีขนาดและสัดส่วน กว้าง 465 สูง 151 ลึก 420 มิลลิเมตร น้ำหนัก 20 กิโลกรัม (ไม่รวมแพ็คเกจ) รวมแพ็คเกจ 26 กิโลกรัม นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท ไฮเอนด์ ออดิโอ จำกัด โทร 0-2611-4809 ราคาโดยประมาณ   บาท (มิถุนายน 2556)

 

ข้อมูลจำเพาะอินทีเกรทแอมป์ Accuphase E-260

ช่องสัญญาณขาเข้า 6 ช่อง Line 1,Line 2,Line 3,CD-BAL,CD,TUNER,OPTION

ช่องสัญญาณขาออก 2 ช่อง          Rec Out, Pre Out

ความเพี้ยนโดยรวม @ 20-20 kHz         0.01 %

กำลังขับต่อเนื่องที่ 8 โอห์ม power output into 8 ohms 90 วัตต์/ข้าง

กำลังขับต่อเนื่องที่ 6 โอห์ม power output into 8 ohms 105 วัตต์/ข้าง

กำลังขับต่อเนื่องที่ 4 โอห์ม power output into 4 ohms 115 วัตต์/ข้าง

ตอบสนองความถี่ Frequence Response       20 เฮิรตซ์ – 20 กิโลเฮิรตซ์

หยุดการสั่งค้างกรวยลำโพง Damping factor     200 @ 8 โอห์ม

อัตราการขยายสัญญาณ Gain HIGH        18 เดซิเบล

อัตราการขยายสัญญาณ POWER IN        28 เดซิเบล

กำลังไฟฟ้า Power Consumption         245 วัตต์ / อุ่นเครื่อง 49 วัตต์

 

ชุดและอุปกรณ์อ้างอิง

 

 

Accuphase E-260 เครื่องที่ได้รับมานี้ได้ผ่านการใช้งานมาบ้างแล้ว สภาพภายนอกของเครื่องยังสมบูรณ์ใหม่เฉกเช่นกับการแกะกล่อง ซึ่งผู้จัดจำหน่ายได้ทดสอบและใช้งานมาก่อนหน้านี้ เมื่อลองใช้งานในครั้งแรกยังจำเป็นต้องให้เวลากับเครื่องอีกสักระยะเพื่อให้เครื่องเข้าที่เข้าทางมากที่สุดก่อนจะพิจารณาบุคลิกอันแท้จริง ชุดเครื่องเสียงที่ใช้งานจริงมีอยู่สองชุดหลักๆ ดังนี้

ชุดแรกประกอบด้วยเครื่องเล่นซีดี ARCAM : FMJ CD23 dCS Ring DAC plus HDCD, อินทีเกรทแอมป์เป้าหมาย Accuphase : E-260, ลำโพงวางขาตั้ง Totem Acoustic : The one 20 year Special Limited Edition, สลับกับลำโพงวางขาตั้ง Monitor Audio : Studio 2, ลำโพงวางขาตั้ง Wharfedale : Denton 80th Anniversary Limited Edittion จัดวางบนขาตั้ง Focus Audio สูงจากพื้นรวมเดือยแหลม 24 นิ้ว, สลับกับขาตั้ง Partington Super Dreadnought สูง 24 นิ้ว สีแกรไฟต์ ด้านบนตู้ลำโพงวางก้อนอิทธิเจทับไว้ตู้ละหนึ่งก้อน

สายสัญญาณจากเครื่องเล่นซีดีไปอินทีเกรทแอมป์ Cardas Golden Reference (RCA) ท่อหดเทาตัวหนังสือสีทองยาว 1 เมตร, สายลำโพง Cardas Cross Bi-wire สีเขียวท่อหดเทายาว 2 เมตร ต่อด้วยขั้วบานาน่า Monster X-Terminator, สายไฟเอซีของเครื่องเล่นซีดี JPS Labs : Aluminata Reference Power Cord ยาว 2 เมตร, สายไฟเอซี Hovland Main Line Power Cord เข้าขั้วตัวผู้ Wattgate 330 ขั้วท้าย Wattgate 350 รุ่นเก่าเสียบเข้าที่อินทีเกรทแอมป์ โดยสายไฟของเครื่องเล่นซีดีและอินทีเกรทแอมป์ต่อเข้าปลั๊กลอยอมฤตรุ่นพิเศษ Wattgate แบบหกช่องเสียบ (ที่ระลึกครบรอบ ๙ ปี www.audio-teams.com เจ.เจ. ปลั๊ก) จากปลั๊กลอยต่อด้วยสายไฟ Cardas Golden Reference Power Cord รุ่นดั้งเดิมท่อหดเทายาว 2 เมตร เข้าปลั๊กผนัง Wattgate 381 ช่องไม่มีดาว อีกช่องมีดาวเสียบสายไฟใช้งานเครื่อง Acoustic Revive RD-3

ชุดที่สองประกอบด้วย เครื่องเล่นซีดี Ayre Acoustic : CX7e, อินทีเกรทแอมป์เป้าหมาย Accuphase : E-260, ลำโพงวางขาตั้ง ProAc : Response D Two, สลับกับลำโพงวางขาตั้ง Totem Acoustic : The one 20 year Special Limited Edition, ลำโพง Monitor Audio : Studio 2, ลำโพงวางขาตั้ง Wharfedale : Denton 80th Anniversary Limited Edittion, ลำโพงวางขาตั้ง XAV : Patiott prototype (Tweeter TDL) วางบนขาตั้ง Totem Acoustic T4S ขนาด 24 นิ้ว ไม่ได้กรอกทรายทุกชนิด ด้านบนตู้ลำโพงวางก้อนอิทธิเจทับไว้ตู้ละหนึ่งก้อน

สายสัญญาณจากเครื่องเล่นซีดีไปอินทีเกรทแอมป์ Cardas Audio CLEAR CG (XLR) รุ่นใหม่ล่าสุดขั้วโรเดียมผสมทองไม่มีท่อหดรัดขั้วยาว 1.5 เมตร สลับกับสาย X-Wire Rhythm ยาว 1 เมตร (XLR) เข้าอินทีเกรทแอมป์, สายลำโพง Cardas Audio Golden Reference ยาว 2.5 เมตร ต่อด้วยขั้วบานาน่า Monster X-Terminator, สายไฟเอซีของเครื่องเล่นซีดี JPS Labs : Aluminata Reference Power Cord ยาว 2 เมตร, สายไฟเอซี Hovland Main Line Power Cord เข้าขั้วตัวผู้ Wattgate 330 ขั้วท้าย Wattgate 350 รุ่นเก่าเสียบเข้าที่อินทีเกรทแอมป์ โดยสายไฟของเครื่องเล่นซีดีและอินทีเกรทแอมป์ต่อเข้าปลั๊กลอยหิมพานต์ แบบหกช่องเสียบ (ที่ระลึกครบรอบ ๙ ปี www.audio-teams.com เจ.เจ. ปลั๊ก) จากปลั๊กลอยต่อด้วยสายไฟ Cardas Golden Reference Power Cord รุ่นดั้งเดิมท่อหดเทายาว 2 เมตร เข้าปลั๊กผนัง Wattgate 381 ช่องไม่มีดาว อีกช่องมีดาวเสียบสายไฟใช้งานเครื่อง Acoustic Revive RD-3 ด้านท้ายสายไฟเอซีทั้งหมดรองไว้ด้วยอุปกรณ์รองสาย Acoustic Revive PSA-100 ทุกจุดทุกเครื่อง พร้อมทั้งต่ออุปกรณ์จัดการระบบกราวด์ Acoustic Revive RGC-24 ไว้ที่อินทีเกรทแอมป์

เครื่องเล่นซีดีจัดวางบนชั้นวางของ Target Audio : B1, อินทีเกรทแอมป์วางไว้บนชั้นวาง Solid Tech : Rack of silence regular 1 + แผ่นไม้ Solid Tech แท้, ด้านบนของเครื่องบริเวณทรานฟอร์เมอร์วางก้อนอิทธิเจทับไว้หนึ่งก้อน และบริเวณโวลลุ่มวางก้อนอิทธิเจรุ่นดั้งเดิมไว้หนึ่งก้อน พยายามแยกสายต่างๆ ให้ห่างออกจากกัน และยกสายสัญญาณด้วยก้อนอิทธิเจ (ที่ระลึกครบรอบ ๙ ปี www.audio-teams.com) สายลำโพงรองไว้ด้วยตัวรองสาย Cable Insulater Acoustic Revive RCI-3H ข้างละสองตัว ส่วนสายไฟเอซีทั้งหมดยกให้ลอยจากพื้นห้องด้วยบล็อคไม้ Cardas ในระบบไฟเอซีและขั้วต่อสายสัญญาณระหว่างเครื่องรวมถึงขั้วด้านท้ายของอินทีเกรทแอมป์ จูนไว้ด้วย Acoustic REVIVE : QR8 ทั้งหมดแปดจุดแปดตัว

ภายในห้องฟังใช้อุปกรณ์สะท้อนเสียง (แผงดิฟฟิวเซอร์) ของ Handcraft Acoustic 1 ชุด มีทั้งหมดสี่แผงและปรับแต่งอะคูสติกเบื้องต้นด้วยอุปกรณ์ปรับแต่ง ASC Sound Panel ทั้งหมดสี่คู่ โดยวางไว้ด้านหลังลำโพงสองคู่ ด้านข้างลำโพงสองคู่ ด้านหลังลำโพงปรับแต่งด้วยจิกซอว์ของ HIFI Club หนึ่งคู่ ใกล้กันจูนด้วยรูมจูนของ Michel Green 1 คู่ (สีเทา) รูมจูน Michel Green อีกหนึ่งคู่วางจูนไว้ด้านหลังห้อง (สีขาว) จูนเสียงโดยวาง Dyna Foot 3 ลูก ไว้ตรงกึ่งกลางของแผงดิฟฟิวเซอร์แผงกลางด้านหลังลำโพง 1 ลูก และวางไว้ข้างซ้ายและข้างขวาอย่างละ 1 ลูก แผงหลังจุดนั่งฟังวางทิปโท เจ.เจ. จูนเสียงด้านบนแผงดิฟฟิวเซอร์ทั้งสามตัว โดยวางไว้ข้างซ้าย,ขวาและกึ่งกลางอย่างละหนึ่งตัวเอาด้านปลายแหลมชี้ขึ้นฟ้า มีอุปกรณ์ปรับความถี่ ABC ของออดิโอคอนซัลแตนท์วางไว้กึ่งกลางแผงหลังอีกที ส่วนแผงด้านข้างทั้งสองแผงจูนเสียงด้วย Dragon Foot (By เดอะหั่ง แห่ง HIFI HOUSE) ลูกใหญ่ตรงกึ่งกลางแผงละ 1 ลูก

ขนาดของห้องฟังโดยประมาณ กว้าง 3.8 ยาว 6.5 และสูง 2.4 เมตร ผนังด้านข้างเป็นอิฐมอญฉาบเรียบด้วยปูนฉาบทาปิดผิวหน้าด้วยสีน้ำ พื้นไม้เข้าลิ้นวางทับหน้าด้วยพรมบริเวณจากหน้าลำโพงถึงจุดนั่งฟัง นั่งฟังด้วยเก้าอี้ผ้าที่มีความสูงพอดีกับหัวไหล่ โครงเก้าอี้เป็นไม้และใช้วัสดุเป็นผ้ารองนั่งกับแผงพนักพิงหลัง นั่งฟังห่างจากลำโพง 2.4 เมตร โทอินลำโพงไม่เกิน 20 องศา โดยประมาณ (เกือบทุกคู่) พร้อมทั้งวางก้อนอิทธิเจรุ่นฉลองครบรอบ 9 ปี เว็บไซต์ออดิโอทีมดอทคอมทับด้านบนของตู้ลำโพงไว้ตู้ละ 1 ก้อน

 

 

ผลการลองฟัง

Accuphase E-260 หลังจากพิจารณาสภาพภายนอกและกายภาพภายนอกแล้ว ตัวเครื่องละม้ายคล้ายคลึงกับเครื่องรุ่นใหญ่กว่าอย่าง E-360 เรียกว่าแกะแบบกันออกมาแทบจะครบครัน ทั้งฟังก์ชั่นการใช้งานและอุปกรณ์ในการผลิต, เลย์เอาท์ในการวางชุดเพาเวอร์ซัพพลายและแผงวงจร ดูจะแตกต่างกันเพียงฝาปิดด้านหน้าปัดของเครื่องที่รุ่นใหญ่ E-360 เหมือนกับรุ่น E-460 ทำให้เกิดความแตกต่างทางกายภาพภายนอกเพียงเท่านี้ อาจทำให้ผู้เลือกใช้งานตัดสินใจลำบากบ้างระหว่างรุ่นต่อรุ่น แน่นอนว่า ความสมดุลและลงตัวกับลำโพงและอุปกรณ์ร่วมใช้เป็นตัวกำหนดการตัดสินใจระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้องแน่นอน

Accuphase E-260 เครื่องนี้ หลังจากวางลงในชั้นวางเพื่อใช้งานกับชุดฟังเพลงประจำ น้ำเสียงเริ่มแรกฟังได้ดี รอเวลาเพียงไม่นานก็เริ่มเข้าที่ อาจเรียกว่าชอบตั้งแต่แรกพบก็ไม่ผิดนัก เกรนเสียงละเอียดละเมียดหลังจากสิบนาทีแรกเท่านั้น และที่น่าชื่นชมกับการปรับปรุงจากรุ่น E-250 ในเรื่องความสะดวกของการใช้งานในด้านระดับโวลลุ่มที่มีจอแสดงผล ทำให้ไม่ต้องเพ่งมองร่องขีดที่ปุ่มโวลลุ่ม รวมไปถึงฟังก์ชั่นการปรับเฟสให้ตรงกับเครื่องร่วมใช้งาน นอกเหนือจากนั้นมีการปรับปรุงไส้ในใหม่หมดในแนวทางบาลานซ์ตลอดทั้งวงจร สายพันธุ์ซี่รีส์ 2 ที่โด่งดังในอดีตคงกลับมาทวงตลาดไฮเอนด์ระดับเริ่มต้นได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรฐานการฟังตามแบบฉบับ แผ่น Purist Audio Design Rev-B จึงถูกนำมาสลับเบิร์นอินพร้อมกับฟังเพลงไปอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มั่นใจที่สุดว่าเครื่องพร้อมทำงานนิ่งที่สุด

เมื่อทุกอย่างลงตัว นับเวลาการใช้งานของเครื่องได้เกินหนึ่งร้อยชั่วโมงเศษไปแล้ว ทุกครั้งหลังใช้งานจะเปิดไฟเสียบเข้าเครื่องให้อุ่นเครื่องไว้ เริ่มแรกจากรูปวงที่นำเสนอออกมา ให้สัดส่วนความสูงต่ำในรูปวงได้ดี เรียงลำดับความสูงต่ำสมดุลตามสัดส่วนของสเกล พร้อมกำหนดตำแหน่งชิ้นดนตรีไว้แน่นสนิท จังหวะของการใช้กำลังขับและกระแสสูงๆ เข็มแสดงกำลังขับตีไปเกือบเข้าสเกลขีดแดง ภาพของการนำเสนอของชิ้นดนตรีในรูปวงยังตรึงไว้แนบแน่น สอดคล้องกับด้านกว้างของรูปวง ขยายตัวออกไปจนสุดผนังทั้งสองข้างให้สัดส่วนสมดุลกับด้านลึก โดยด้านลึกให้แถวแรกถอยหลังจากหน้าลำโพงลงไปเล็กน้อยจึงจัดระเบียบแถวถัดไปด้วยระยะที่สมดุลกับการบันทึกมา ช่องไฟในแต่ละแถวแต่ละชั้นดนตรีแยกแยะกันอิสระเด็ดขาด เป็นการแยกแยะชิ้นดนตรีโดยรักษาสเกลของชิ้นดนตรีให้มีขนาดที่สมดุลกับรูปวงทั้งสองด้าน อัลบั้ม [POSTCARDS : The Turtle Creek Chorale / RR-61CD] ยืนยันคำกล่าวข้างต้นได้ดีทีเดียว

เมื่อนำสัดส่วนความสูงต่ำภายในวงมาพิจารณาร่วมกับด้านกว้างและด้านลึกนี้ ความสูงของเครื่องเป่าจำพวกแซกโซโฟนม้วนเสียงลงจนเกือบถึงพื้นแล้วล่องลอยไปเกือบจรดเพดาน ให้เสียงชัดเจนผสมความอบอวลของเนื้อเสียงประกอบกับความสุภาพทุกท่วงทำนอง ยังถ่ายทอดบรรยากาศรอบตัวเสียงอยู่ตลอดเวลา พื้นเสียงมีความสะอาด [Arne Domnerus : Antiphone Blues / proprius PRCD 7744] จึงชี้ประเด็นความสงัดในจังหวะเงียบได้โดดเด่น รูปวงที่ได้เป็นรูปกว้าง, ลึกและสูงสมดุลในแนวทางครึ่งวงกลมสวยงาม เมื่อสามด้านในการนำเสนอออกมาครบถ้วน การกำเนิดภาพสามมิติของมายาดนตรีจึงสัมผัสได้ต่อเนื่องง่ายดายมาก

นอกจากรูปวงที่ให้ความโดดเด่น พิจารณาร่วมอีกครั้งกับอัลบั้มร้องประสานเสียงประเภทเพลงสวด [Now the Green Blade Riseth / proprius PRCD 9093] มวลเสียงให้เนื้อเสียงแบบฉบับเนื้อเป็นเนื้อหนังเป็นหนังบนความพอดี นำเสนอออกมาด้วยความกระจ่างละเอียดและสุภาพผสมความอบอุ่นมากกว่ารุ่นเดิมเล็กน้อย ส่งถ่ายเสียงจากต้นฉบับของการบันทึกให้ส่งถ่ายสัญญาณและขยายสัญญาณให้ดังขึ้นโดยผสมสานการขยายให้ความเป็นดนตรีมากว่าดิจิตอลอย่างเห็นได้ชัด จุดเด่นในเรื่องความละเอียดและความสุภาพนี้มาพร้อมกับบรรยากาศเข้าร่วมเคล้าคลออยู่เสมอ พร้อมทั้งจำแนกแยกแยะรายละเอียดทั้งหมดเช่นเสียงขับร้องของนักร้องชายนักร้องหญิงและเด็กยิ่งจำแนกแยกแยะได้ชัดเจนมากกว่าเดิม บนแนวทางสุภาพละเอียดละเมียดละไมมาก ฟังได้ยาวนานเสมือนจำลองแนวทางการเสนอภายในโบถส์ลงสู่ห้องฟัง

เมื่อเข้ามาสัมผัสความละเอียดว่าเป็นประเภทร้อยเนื้อหนึ่งทำนองหรือไม่ กับแนวทางของดนตรีประเภทเปียโนและเครื่องเคาะโลหะต่างๆ ให้ความกังวานพร้อมรายละเอียดในตัวเสียงเด่นชัด บรรยากาศรายรอบตัวเสียงดีเยี่ยม ถ่ายทอดออกมาให้ฟังได้คึกคักตามแนวทางของความชัดใสบนพื้นฐานความสุภาพทุกกระเบียดนิ้ว ตัวเสียงสะอาดเกลี้ยงเกลาจากอัลบั้ม [ART FOR THE EAR / Burmester CD III] เสริมเติมกับจังหวะแรกของเครื่องดนตรีที่ปะทะออกมาด้วยแรงปะทะชัดเจนมากกว่าผ่อนปรน ย้ำเน้นจังหวะแรกให้กระแทกกระทั้นเต็มแรง หลังจากจังหวะแรกกระทบแล้ว มวลเสียงทั้งหมดควบแน่นกลมกลึงและทอดหางเสียงไว้ตามจังหวะท่วงทำนองจึงค่อยๆ จางหายไปด้วยความราบรื่น

จำพวกเครื่องสายเครื่องสีต่างๆ ที่นำเสนอ [ART FOR THE EAR / Burmester CD III] ถ่ายทอดออกมาด้วยความกังวานละเอียดเด่นชัดมาก หางเสียงทอดตัวไปไกลและยาวนานตามจังหวะพร้อมเติมฐานเสียงให้อิ่มเอิบใหญ่โตอีกเล็กน้อย พร้อมทั้งควบคุมลีลาทุกท่วงทำนอง เสียงการบดขยี้ไวโอลินปล่อยหางเสียงให้เป็นอิสระต่อกันและมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เข้าร่วมอยู่สม่ำเสมอ รายละเอียดในตัวเสียงแต่ละเสียงเด่นชัด จำแนกออกมาได้ครบถ้วนมากๆ เป็นการนำเสนอให้โดดเด่นและมีจังหวะจะโคนตามทำนอง เครื่องดนตรีประเภทไวโอลิน วิโอล่า และเครื่องสายอื่นๆ ถ่ายทอดด้วยความเด่นชัดละเอียดละเมียดละไมมาก เด่นมากกับความเป็นดนตรีละเอียดละเมียดละไม ทั้งยังตอบสนองการบันทึกแบบดิบๆ จากอัลบั้ม [The Fi/Analogue Production SAMPLER] นี้ได้เป็นอย่างดี

นอกเหนือจากเสียงเปียโนและเสียงเครื่องเคาะโลหะทั้งหลาย ปิดท้ายด้วยเสียงแหลมทั้งหมดของอัลบั้ม [ART FOR THE EAR / Burmester CD II] นำเสนอออกมาชัดเจนเกรนเสียงละเอียด ให้ความกังวานของเสียงรายล้อมของย่านเสียงแหลม กับแทร็คในแนวที่มีจังหวะเวลารุกเร้ารวดเร็ว จัดระเบียบนำเสนอออกมาให้ฟังได้ดีโดยจำแนกรายละเอียดของชิ้นดนตรีต่างๆ ออกมาครบถ้วน หางเสียงแต่ละตัวแยกแยะเป็นอิสระต่อกัน ช่องว่างช่องไฟเด่นชัดมาก พื้นเสียงทั้งหมดสะอาดมาก เป็นแนวเสียง Accuphase ไฮเอนด์ระดับโลกที่ปะทะกับเครื่องจากฝรั่งต่างทวีปได้อาจหาญมากเครื่องหนึ่ง แตกต่างตรง Accuphase วางราคาค่าตัวได้ถูกกว่าเครื่องเหล่านั้นมากทีเดียว

เสียงขับร้องของนักร้องหญิงอัลบั้ม [SNOW ROSE Ax-SN04.01] ขับร้องด้วยเสียงสดใส ชัดเจน ให้ความจริงจังในการร้องเพลงด้วยการใส่ชีวิตจิตใจในการขับร้องเข้าไปเด่นชัด มีความต่อเนื่องของเสียงขับร้อง หางเสียงจากการบันทึกปราศจากความคมแข็ง จัดระเบียบของปลายเสียงซิบๆ ให้ร้อยเรียงได้ราบรื่นฟังได้เพลิดเพลินตามความไพเราะ หางเสียงซิบๆ แทบไม่มีหลุดออกมาเลย ตัวเสียงสะอาดเกลี้ยงเกลาพร้อมแฝงความหวานใสอยู่เสมอ ความหวานนี้มาพร้อมเนื้อเสียงที่สมบูรณ์มาก เรียกว่าไม่อายเครื่องคลาสเอทั้งหลาย ถ่ายทอดความละเอียดผสมกับความหวานนี้มากพอในการรับฟังเพลงขับร้องที่ให้ความเป็นดนตรีสูงและผ่อนคลายตามแนวทางของเพลง จึงฟังได้ยาวนานและใช้งานกับแนวเพลงขับร้องได้ดีไม่แพ้จังหวะจะโคน

อัลบั้มเสียงขับร้องในแนวทางอบอุ่น [Carol Kidd : ALL MY TOMORROWS/ALOI Record] อิ่มหวานละเอียดระยิบระยับจนต้องนิยามถึงเกรนเสียงที่ละเอียดเปรียบได้ดังผงแป้ง นำเสนอไม่เน้นย่านเสียงใดให้ล้ำหน้ากว่ากัน เน้นสมดุลเสียงให้กลมกลืมทุกช่วงความดัง กับเแนวเพลงขับร้องดนตรีน้อยชิ้นแนวทางนี้ยิ่งส่งเสริมจุดเด่นดังกล่าวได้เด่นชัดเจนที่สุด อีกหนึ่งอัลบั้ม [CANTATE DOMINO / proprius Glod CD PRCD 7762] ที่บ่งชี้ความเป็นไฮเอนด์ของเครื่อง หากเครื่องเคราในระดับทั่วไปอาจตอบสนองแนวเพลงจากแผ่นนี้ได้ไม่ดีอย่างน่าพอใจเท่าใดนัก E-260 ตอบสนองเสียงขับร้องให้มีแก้วเสียงชัดใสเผยรายละเอียดชั้นสูงออกมามาก ให้ความกังวานพร้อมบรรยากาศรายล้อมสัมผัสอยู่ต่อเนื่อง จังหวะขับร้องที่โหมขึ้นไปตอบสนองได้รวดเร็วต่อเนื่อง บรรยากาศรอบตัวเสียงสมดุลกับความชัดใส

เสียงขับร้องของนักร้องชาย ในแทร็คที่เก้า [TEST CD5 / OPUS 3 CD20000] ตัวเสียงขับร้องชัดใสมีมวลเสียงใหญ่โตกว่ารุ่นเดิมเล็กน้อยและยังคงความสมดุลไว้ได้ดี หลายสเกลเสียงดนตรีสมดุลกลมกลืนกันเสมอ ตัวเสียงทอดตัวไปอย่างอิสระจึงเก็บตัวไว้ตามจังหวะเวลา ตัวเสียงขับร้องมีบรรยากาศรายรอบอยู่ต่อเนื่อง เสียงลมหายใจเข้าออกเด่นชัดมีชีวิตชีวาและมีรายละเอียดปลีกย่อยออกมาสัมผัสได้ง่ายดาย ถ่ายทอดเสียงแผ่วเบาและสวิงเสียงดังขึ้นทำได้รวดเร็ว หากสรุปจากเสียงขับร้องของแทร็คนี้ชี้ประเด็นลงไปว่าขนาดเสียงให้ความใหญ่โตเต็มพื้นที่และยังอบอวลไปด้วยบรรยากาศด้วยความต่อเนื่อง

เสียงขับร้องของนักร้องชายย้ำเน้นความถี่ย่านกลางต่ำจากอัลบั้ม [Livinton Tyler : ink / Chesky Record JD162] ตัวเสียงขับร้องอิ่มเอิบและเกลี้ยงเกลา สเกลเสียงดนตรีสมดุลกลมกลืนกัน ตัวเสียงเด่นชัดและทอดหางเสียงด้วยความอิสระจึงเก็บตัวตามจังหวะเวลาได้สอดคล้องกันมาก รอบๆ เสียงขับร้องให้บรรยากาศห้อมล้อมอยู่ต่อเนื่อง กำหนดลมหายใจเข้าออกชัดเจน รายละเอียดปลีกย่อยของการเล่นแบล็คอัพเคล้าคลอออกมาด้วยการจำแนกแยกแยะออกจากกันทุกรายละเอียด เสียงขับร้องให้บอดี้ของเสียงใหญ่โตและกลมกลึง เสียงแผ่วเบาและการเสียงสวิงเสียงขับร้องตอบสนองได้รวดเร็วพร้อมน้ำหนักของการกระแทกเสียง ในหลายแทร็คของอัลบั้มนี้บ่งบอกทั้งไดนามิกเร้จน์และไดนามิกคอนทราสต์ได้เด่นชัด ซึ่ง Accuphase E-260 ทำได้โดดเด่นจากรุ่นดั้งเดิมไปมากและโดดเด่นในระดับหัวแถวของเครื่องในรุ่นราวคราวเดียวกันทีเดียว

พิจารณาความใหญ่โตของมวลเสียงว่าเกินขนาดเกินพอดีหรือไม่กับเสียงดับเบิ้ลเบสของอัลบั้ม [THE RAVEN / Rebecca Pidgeon Chesky Records JD115] ให้มวลเสียงใหญ่โตตามขนาดที่บันทึกมาแต่ไม่บวมเบลอเกินจริง กลับถ่ายทอดเนื้อเสียงให้เข้มข้นและกลมกลึงควบแน่นมากพร้อมกับสมดุลกับย่านเสียงอื่น การเล่นดับเบิ้ลเบสต่อเนื่องลื่นไหลไปตามจังหวะ สอดคล้องกับเสียงขับร้องกลมกลืนกันไร้รอยต่อย่านความถี่เสียงต่างๆ ยังแยกแยะช่องไฟกับความต่อเนื่องของความกลมกลืนกัน เสียงเดินเบสในแต่ละเส้นให้จังหวะสอดคล้องกับเปียโนและเครื่องเคาะ หางเสียงแต่ละตัวแยกแยะเป็นอิสระต่อกัน ช่องว่างช่องไฟเด่นชัดไม่มีการซ้อนทับบดบังกัน ในจังหวะตัวโน้ตเงียบก็เงียบสนิทมาก พื้นเสียงทั้งหมดสะอาดมาก

เทียบเคียงกำลังขับอีกครั้งกับกระแสสำหรับขับดันลำโพงที่เป็นจุดเด่นภาคเพาเวอร์แอมป์ด้วยเสียงกลองใบใหญ่อัลบั้ม [Rain Forest Dream / SAYDISC CD-SDL384] เสียงแรกกระทบกระชับกลมกลึง ควบคุมกรวยลำโพงไม่ให้สั่นค้างทำได้ดี สอดคล้องกับค่าแด้มปิ้งแฟ็กเตอร์ที่พัฒนาใหม่ อัดฉีดกระแสได้ต่อเนื่องไม่มีการอ่อนแรงในการขับ แม้บางช่วงเวลาเข็มแสดงระดับความดังจะสวิงขึ้นไปในแดนสเกลสีแดงก็ตาม ทุกครั้งของการหวดไม้กลองลงไปสเกลเสียงอื่นๆ ยังคงมีขนาดเช่นเดียวกับการจ่ายกระแสปกติ ไม่มีอาการหุบเข้าหรือลดสเกลลดขนาดลง การหวดไม้กลองในจังหวะแรกเฉียบขาดและให้แรงปะทะแรกได้เฉียบขาด เสียงทุ้มที่ได้จึงย้ำเน้นหัวโน้ตได้เด็ดขาดเฉียบคม เมื่อสิ้นสุดการหวดไม้กลองลงไปตัวเสียงควบแน่นกลมกลึงและกลมกลืนกันมาก ในทุกจังหวะของการหวดไม้กลองลงไปแอมป์ยังอัดฉีดกระแสป้อนได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ร้อนและไม่อ่อนแรงในทุกจังหวะของการนำเสนอ

เสียงกระแทกกระทั้นของหลากหลายเครื่องดนตรีอัลบั้ม [DAFOS / RR-12CD AAD 1985 USA] มวลเสียงทุ้มกระแทกกระทั้นรวดเร็วเป็นอิสระต่อกัน พื้นเสียงสงัดมาก ยิ่งในจังหวะแรกก่อนเสียงทุ้มจะปลดปล่อยออกมา ความสงัดเด่นชัดมากจนเมื่อเปล่งเสียงออกมาแทบจะตกอกตกใจกันเลยเชียว เสียงทุ้มเฉียบขาด เช่นเดียวกับเสียงทุ้มต้นของกลองจากอัลบั้ม [Take’Dake’ with Neptune / AISIAN ROOTS DENON USA] ให้ความชัดเจนเกลี้ยงเกลา หนังกลองตึงแน่น ตัวเสียงเฉียบคมพร้อมสะท้อนกลับจากการหวดลงไปแม่นยำ โดยถ่ายทอดความกังวานรอบตัวเสียงออกมาคลอเคลียร่วมด้วยเสมอ หางเสียงจางหายไปด้วยความราบรื่นจนยังเกิดความเกลี้ยงเกลาให้สัมผัสได้ง่าย ตัวเสียงกลมกลึงควบแน่นสะอาดสะอ้านมาก เป็นทุ้มที่ให้ความสะอาดมากทีเดียว

อีกแนวทางจากกลองของอัลบั้ม [Ultimate Reference CD/WILSON AUDIO WA8008] เสียงหนังกลองยังตึงเช่นเดิม มีเสียงสะท้อนเสียงแรกกระทบออกมาให้ได้ยินชัดเจน เสียงทุ้มไม่โด่งล้ำหน้าย่านเสียงใด ยังคงให้ความสมดุลของเสียงย่านเสียงทุ้มนี้กับเสียงย่านอื่นๆ ได้ดีเยี่ยม ขนาดของตัวเสียงทุ้มเน้นหัวโน้ตให้ฉับไว ให้ความเป็นดนตรีและฟังได้เพลินเพลินสนุกสนาน ด้วยกำลังขับที่พอดิบพอดีให้ขับดันลำโพงวางขาตั้งได้อย่างเพียงพอ การขับดันลำโพงโหดๆ ยังสามารถใช้งานได้ ถ่ายทอดเสียงทุ้มจากเหล่าเครื่องดนตรีไม้มีทั้งเสียงแรกกระทบและเสียงสะท้อนได้โดยไม่ต้องเพ่งพินิจเพราะเสียงดังกล่าวชำแหละออกมาจนครบถ้วน เช่นเดียวกับเสียงขับร้องและการกระทืบเท้าของ Livinton Tyler ในแทร็คที่ 12 อัลบั้ม [Musik wie von einem anderen Stern/MANGER] ส่งถ่ายความถี่ต่ำแผ่ออกมาให้สัมผัสได้ชัดเจนเฉกเช่นกับลำโพงตั้งพื้นขนาดใหญ่ นั่นแสดงถึงการขับดันและกำลังสำรองของ E-260 ที่โดดเด่นมากกว่ารุ่นเดิมไปมาก

กับจังหวะเวลาของเครื่องดนตรีประเภทไม้อัลบั้ม [Take’Dake’ with Neptune / AISIAN ROOTS DENON USA] นำเสนอออกมาได้คึกคัก การเคาะระนาดไม้ผสมกับจังหวะกลองและเครื่องเป่ารวดเร็วตอบสนองได้ทันท่วงทีและยังจำแนกแต่ละประเภทของเครื่องดนตรีออกมาด้วยความชัดเจน ให้เสียงสะท้อนกลับจากการเคาะ การเป่า ยิ่งเป็นเสียงหนังกลองสะท้อนกลับมาด้วยความชัดเจนและสัมผัสได้น้อยนักกับเครื่องระดับไฮเอนด์เริ่มต้นทั่วไป สปีดพอดิบพอดี เป็น Accuphase น้องเล็กรุ่นใหม่ที่เพิ่มเติมต่อยอดจากความโดดเด่นในรุ่นเดิมกับความยอดเยี่ยมดังกล่าว

ลองเทียบเคียงกำลังขับอีกครั้งด้วยแนวทางเพลงคลาสสิกวงใหญ่ Accuphase E-260 จำแนกแยกแยะแต่ละแถวด้วยความเด็ดขาด วางชิ้นดนตรีนับร้อยให้มีตำแหน่งและตรึงแน่นสนิทมาก แม้เนื้อเสียงและมวลเสียงใหญ่โตเต็มพื้นที่ก็ตาม การจำแนกและเว้นวรรคช่องว่างช่องไฟในแต่ละแถวอิสระต่อกัน ไม่มีการซ้อนทับกันแม้แต่ชิ้นดนตรี ตอบสนองแนวการฟังเพลงประเภทนี้ได้ดีแม้กำลังขับจะระบุมาไม่มากนัก อีกทั้งปลดปล่อยรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ออกมามาก อาการหลุดตู้ออกจากผนังด้านหน้าลำโพงพอสัมผัสได้เช่นกัน ในแทร็คที่เจ็ดอัลบั้ม [ART FOR THE EAR / Burmester CD III] บ่งบอกประเด็นดังกล่าวได้ดีมาก สามารถนำเสนอออกมาได้เต็มพื้นที่ทั้งด้านกว้าง ด้านลึก และด้านสูง ด้วยสเกลเสียงสมดุลส่งผลให้เครื่องดนตรีนับร้อยชิ้นยังรักษาความเป็นอิสระต่อกันยอดเยี่ยมมาก ตำแหน่งของชิ้นดนตรีถูกตรึงไว้แน่นสนิท เป็นน้องเล็กไฮเอนด์ที่ต้องนิยามความเยี่ยมยอดให้โดยดุษฎี

สุดท้ายกับแผ่นเพลงไทยทั่วไป อัลบั้ม [ศรัญย่า กล่อมกรุง 1-3 รอ,สิ้นสวาท,อาลัยรัก] เสียงขับร้องของ คุณศรัญย่า ส่งเสริมสวัสดิ์ มีความชัดใสในทุกอักขระ รายละเอียดแผ่วเบาจากเสียงริมฝีปากหลุดลอยออกมาเป็นรูปธรรมมาก ให้บรรยากาศรายล้อมอยู่ต่อเนื่องเคล้าคลอมาสม่ำเสมอ เน้นรายละเอียดปลีกย่อยและปลดปล่อยออกมาด้วยความสุภาพละเอียดและละมุนละไมมาก เช่นเดียวกับอัลบั้มพิเศษครบรอบ 12 ปี บจก.โมนาร์ชครีเอชั่นจากค่ายแกรมมี่ เสียงขับร้องของคุณเจนนิเฟอร์คิ้ม, ซุปเปอร์สตาร์เบิร์ด ธงชัย ขับร้องออกมาด้วยความไพเราะ เข้มข้น คอนทราสต์เด่นชัด จำแนกรายละเอียดเสียงการเอื้อนจังหวะแรกและการเรียกลมหายใจเกรนเสียงละเอียด หางเสียงรวมไปถึงรายละเอียดการบันทึกสดใสจำแนกออกมาครบถ้วน ให้บรรยากาศของแซกโซโฟนในการร่วมบรรเลงกับการขับร้องของเจนนิเฟอร์ คิ้ม อบอวลชัดใสอยู่ทั่วทุกอณู รับฟังด้วยความเพลิดเพลินบนพื้นฐานของสมดุลเสียงที่ดีเยี่ยม

 

 

บทสรุป

เจเนอเรชั่นใหม่ E-Series ของ Accuphase E-250 ที่แฟนพันธุ์แท้รอคอยได้ส่งลงตลาดเครื่องเสียงไฮเอนด์เป็นรุ่นล่าสุดและรุ่นสุดท้ายกับเครื่องเสียงประเภทอินทีเกรทแอมป์ยุคใหม่ ตระกูล 60 นี้เป็นการผ่าตัดพันธุกรรมเดิมและต่อยอดให้เครื่องเสียงในนาม Accuphase กลับมาโด่งดังแบบฉุดไม่อยู่ อีกหนึ่งประเด็นเป็นวาระครบรอบ 40th Anniversary ของ Accuphase จึงรังสรรค์สิ่งดีๆ ในหลายต่อหลายรุ่นให้นักเล่นฯ นักฟังฯ ได้เลือกหาและครอบครอง ในครั้งนี้รุ่น E-260 เป็นรุ่นล่าสุดที่กล่าวถึง

เด่นด้วยรายละเอียดจำแนกแยกแยะออกมาด้วยความละเอียดนวลเนียนและชัดใส อีกทั้งรักษาความละเมียดละไมของเกรนเสียงให้นำเสนอความเป็นดนตรีสูงมาก พื้นเสียงทั้งหมดสะอาดและสงัด ให้ทั้งกว้างและลึกใหญ่โตกว้างขวางและรักษาสเกลด้านสูงให้สมดุลเสมอสมานกันเป็นที่สุด มวลเสียงและเนื้อเสียงใหญ่โตในแนวทางเกลี้ยงเกลา จึงใหญ่โตในแนวทางสมส่วนพร้อมจำแนกแยกแยะแต่ละแถวแต่ละชิ้นดนตรีได้ยอดเยี่ยมมาก สมดุลเสียงทั้งหมดทุกระดับความดังสัมผัสได้ครบถ้วนเสมอ ไม่ว่าจะเร่งความดังหรือลดความดังระดับใดก็ตาม ทุกย่านเสียงถูกปลดปล่อยออกมาด้วยความอิสระและไม่มีเสียงใดโด่งล้ำหน้ากัน ส่งถ่ายเสียงแผ่วเบาและการสวิงขึ้นๆ ลงๆ แยกออกจากเสียงหลักเด่นชัดมาก ตอบสนองไดนามิกคอนทราสต์ได้ดีเยี่ยม

เสียงทุ้มของดีฟเบสและความถี่ต่ำมากๆ แผ่เสียงและคลื่นเสียงออกมาให้รับรู้และสัมผัสได้ง่ายกลมกลืนกับย่านมิดเบส จังหวะแรกกระทบเด็ดขาดเฉียบคม โดยความเด็ดขาดนี้ไม่มีอาการห้วนสั้นใดๆ มากันในแนวครบเครื่องครบครัน ยิ่งเป็นแนวเพลงคลาสิกวงใหญ่ตอบสนองออกมาได้ดีทุกแง่มุม เสียงการสีจากเครื่องสายต่างๆ ให้ลีลาและนำเสนอตามท่วงทำนองให้เร็วและช้าพร้อมบรรยากาศรอบตัวเสียงสมดุลกับมวลเสียงอยู่เสมอ อัดฉีดกระแสป้อนลำโพงได้ต่อเนื่อง ไม่ลดสเกลและรูปวงลงในกรณีที่ต้องจ่ายกระแสสูงๆ ควบคุมกรวยลำโพงให้เคลื่อนที่ตามจังหวะของการอัดฉีดกระแสได้ดีเยี่ยม

Accuphase E-260 พัฒนาในทุกๆ ด้านไปมากได้ทั้งบู๊และบุ๋น นำเสนอได้ไม่แพ้ชุดปรีแอมป์กับเพาเวอร์แอมป์ในพิกัดกำลังขับและระดับเดียวกัน แต่สะดวกกว่าด้วยการใช้งานแบบรวมชิ้น เป็นอินทีเกรทแอมป์สำหรับนักเล่นฯที่จะก้าวข้ามเข้าสู่ระดับไฮเอนด์ เสียงขับร้องเข้มข้นบนความสดใสไร้ม่านหมอกและมีอักขระชัดเจนแบบสุภาพ พื้นเสียงสะอาด ให้ความสงัดมาก ขับดันลำโพงได้หลากหลายคู่ หากต้องเปรียบเทียบกับรุ่นใหญ่กว่าอย่าง E-360 ก็ให้พิจารณาลำโพงที่ร่วมใช้ หากไม่ต้องการกำลังขับมากขึ้น E-260 ก็สามารถขับลำโพงได้หลากหลายคู่ ผมยังเชื่อมั่นว่าลำโพงวางขาตั้งยอดนิยมในประเทศที่กินวัตต์ E-260 ก็สามารถขับได้เพียงพอให้รับฟังแนวดนตรีเกือบทุกแนว ขอให้เข้าถึงวิธีการเล่นฯ อย่างละเอียดอ่อน ในเรทราคาเดียวกันนี้คงหาอินทีเกรทแอมป์อื่นๆ มาเทียบเคียงได้น้อยรุ่นนัก

Accuphase ในเวอร์ชั่นใหม่นี้ ไม่เคยสร้างความผิดหวังในการร่วมใช้งานแม้แต่รุ่นเดียว ตอบสนองการใช้งานมากกว่าราคาจำหน่ายแน่นอน แฟนพันธุ์แท้ของ Accuphase ไม่ควรพลาดโอกาสอันดี ส่วนท่านที่ต้องการสัมผัสเครื่องเสียงแบบไฮเอนด์ในราคาเริ่มต้น งานประกอบมาตรฐานจากญี่ปุ่นแท้ๆ มีอายุการใช้งานยาวนานและคงทน Accuphase E-260 รุ่นนี้แหละที่ต้องนิยามว่าน้องเล็กไฮเอนด์ที่ควรครอบครอง แนะนำให้เลือกเล่นฯ ครับ !!!

———————————————————————————————–

หมายเหตุ : ขอขอบคุณ บริษัท ไฮเอนด์ ออดิโอ จำกัด โทร 0-2611-4809 ที่เอื้อเฟื้ออินทีเกรทแอมป์ Accuphase E-260 สำหรับการลองฟังในครั้งนี้ครับ

Exit mobile version