DAWN NATHONG
สายไฟเอซีระดับไฮเอ็นด์จากอังกฤษ
Tellurium Q เป็นบริษัทที่ผลิตสายเคเบิลและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้านเสียงจากประเทศอังกฤษ โดยมี Geoff Merrigan เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ทีมวิศวกรของ Tellurium Q มีแนวทางของตัวเองที่ชัดเจน ที่ต้องการผลิตสายที่ควบคุม Phase Distortion (การบิดเบือนเฟส) ให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งจากการวิจัยและทดลองได้ข้อสรุปว่า วัสดุตัวนำทุกชนิดที่สัญญาณวิ่งผ่าน ล้วนทำตัวเป็นฟิลเตอร์ทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นต้นเหตุของการเกิด Phase Distortion
ฟิลเตอร์เหล่านี้ไม่ได้เพิ่มเติมเสริมแต่ง หรือไปเปลี่ยนแปลงความถี่ของสัญญาณที่ผ่านเข้ามา แต่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของคลื่นเสียง (แอมพลิจูด) ในหลายย่านความถี่ และ/หรือความสัมพันธ์ของเฟสสัญญาณ แน่นอนว่าเมื่อเป็นเช่นนั้น สัญญาณเอาท์พุตที่ผ่านตัวนำออกมา ย่อมเกิดความบิดเบือน หรือผิดเพี้ยนไปจากต้นทางไม่มากก็น้อย
ลำพังการใช้ตัวนำที่มีความบริสุทธิ์สูงเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องของ Phase Distortion ได้ ด้วยเหตุนี้ ทาง Tellurium Q จึงมุ่งเน้นไปที่ความพิถีพิถัน ในการออกแบบทุกองค์ประกอบของสาย เพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นภายในวัสดุตัวนำ ไม่ว่าจะเป็นฉนวน โครงสร้างของสาย ชิลด์ การเชื่อมต่อ เพื่อลดค่าความผิดเพี้ยนทางเฟสของสัญญาณให้เหลือน้อยที่สุด ขจัดความพร่าเบลอของย่านความถี่ต่าง ๆ ผลลัพท์คือความชัดเจน และความโปร่งใสอย่างที่ควรจะเป็นของสัญญาณต้นทางกลับคืนมา
สายทั้งหมดของ Tellurium Q แบ่งออกเป็นกลุ่มคร่าว ๆ ทั้งหมด สามกลุ่มตามโค้ดสี ได้แก่
สีน้ำเงิน (Blue Range) เป็นกลุ่มระดับเริ่มต้น ให้โทนเสียงติดอุ่นเล็กน้อย ช่วยลดขอบคมแข็งของปลายแหลมในซิสเต็มที่เสียงติดสว่างหรือจัดเกินไป หรือซิสเต็มแบบโฮมเธียรเตอร์ ให้มีความลื่นไหลฟังสบาย
สีดำ (Black Range) กลุ่มระดับกลางถึงสูง นอกจากความลื่นไหล เสียงจะมีความโปร่งขึ้นไปอีกระดับ โทนัลบาล้านซ์สมดุล และเปิดเผยรายละเอียดเสียงของซิสเต็มออกมาได้มากยิ่งขึ้น
สีเงิน (Silver Range) ซึ่งเป็นซีรียส์สูงสุด ให้คุณภาพเสียงดีที่สุด มีบุคลิกส่วนตัวน้อยที่สุด เปิดเผยศักยภาพของซิสเต็มอย่างตรงไปตรงมา มีพลังแฝงแต่ไร้เกรนสากหยาบกร้านในเนื้อเสียง
Silver Diamond Power Cable
สายไฟเอซีรุ่นนี้เป็นสายรุ่นสูงสุดของตระกูล Silver Range หากถัดจากนี้ไปก็จะเป็นสายไฟเอซีระดับซุปเปอร์ไฮเอ็นด์อย่างตระกูล Statement ราคาเส้นละ 300,000 บาท (1.5 เมตร) ส่วนราคาค่าตัวของสายไฟเอซี Silver Diamond เส้นนี้อยู่ที่ 120,000 บาท (1.5 เมตร)
รายละเอียดเชิงเทคนิคของสายค่อนข้างเป็นความลับ Geoff Merrigan ผู้ออกแบบให้เหตุผลไว้สองประการ หนึ่งคือไม่ต้องการให้ความลับรั่วไหลออกไปยังคู่แข่ง สองคือเมื่อเข้าใจเรื่องของทฤษฎีไฟฟ้าและตัวนำจริง ๆ แล้ว หัวใจของมัน คือการรักษาสมดุลระหว่างตัวแปรต่าง ๆ และไฟน์จูนอย่างละเอียด ให้องค์ประกอบทุกภาคส่วน ทำงานประสานกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อให้ผลลัพท์ของเสียงจากต้นทางสู่ปลายทางมีความผิดเพี้ยนน้อยที่สุด ดังนั้นการโชว์สเปคตัวเลขที่ดูสวยหรูจึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เท่ากับผลลัพท์ทางเสียงที่หูได้ยิน
ตัวสายนั้นมีขนาดใหญ่ประมาณนิ้วหัวแม่มือหุ้มตาข่ายดักสีดำ มีน้ำหนักและความแข็งพอประมาณ สามารถดัดโค้งงอให้ตัวได้ในระดับหนึ่ง จะให้ดีต้องมีพื้นที่ด้านหลังสำหรับการเสียบต่อสายสักหน่อย เพราะถึงแม้สายจะให้ตัวได้แต่การฝืนดัดงอสายมากจนเกินไปเสียงจะเครียด เค้น ขาดความผ่อนคลาย และการเสียบใช้งานกับเครื่องที่มีน้ำหนักเบาต้องรักษาสมดุลให้ดี มิเช่นนั้นเครื่องอาจยกลอยเพราะน้ำหนักของสาย ปลายสายทั้งสองด้านหุ้มท่อหดสีขาว ใช้หัวปลั๊กแบบ US Type ของ Furutech รุ่น FI-11M-N1 (R) และท้าย IEC รุ่น FI-11-1 (R) ซึ่งใช้ตัวนำ Alpha Pure Copper เคลือบโรเดียม
การใช้งาน
โดยปกติสายไฟลักษณะประมาณนี้หากประเมินด้วยสายตา น่าจะเหมาะกับอุปกรณ์ที่กินไฟมากเป็นหลักแต่สายไฟเอซีเส้นนี้กลับต่างออกไป เพราะนอกจากจะใช้งานกับอุปกรณ์พวกแอมปลิฟายเออร์แล้ว ยังเหมาะกับการนำไปใช้งานกับอุปกรณ์ที่เป็นแหล่งโปรแกรมดิจิตอลได้ดีด้วย โดยเฉพาะพวกอุปกรณ์อย่าง Music Server, DAC, Network Player ซึ่งก็ถือว่าน่าสนใจเพราะให้โฟกัสของเสียงที่ชัดคมเหลือประมาณ โดยไม่มีอาการขึ้นขอบคมแข็งหรือปลายเสียงจัดจ้านปรากฎให้เห็น ว่ากันไปตามต้นฉบับไฟล์ดิจิตอลที่บันทึกมานั่นละ
และจากที่ผู้เขียนเคยได้ทดสอบสายสัญญาณกับลายลำโพงในตระกูลเดียวกันไปก่อนหน้านี้ พบว่าสายแบรนด์นี้ค่อนข้างที่จะชอบการใช้งานร่วมกัน “ทั้งระบบ” (สายไฟเอซี / สายสัญาณ / สายลำโพง) จึงจะให้ผลลัพท์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด การใช้งานผสมกับสายแบรนด์อื่นจะทำให้ข้อดีบางอย่างของ Tellurium Q หายไป เกิดอาการได้อย่างเสียอย่าง ยกเว้นพวกตระกูลเล็กสุดอย่าง Blue Range ซึ่งโทนเสียงมีความอบอุ่น ถนอมปลายแหลมย่านบน ๆ ไว้เล็กน้อยให้ฟังสบาย อันนี้สามารถจับคู่กับสายแบรนด์อื่นได้ไม่มีปัญหา
ทางผู้ผลิตได้ให้แนวทางในการเลือกแม็ตชิ่งสายในอนุกรมใกล้กันมาด้วย ยกตัวอย่างสายในตระกูล Silver Range ก็สามารถนำสายในตระกูล Black Range เข้ามาผสมเป็นการจูนเสียงให้ตรงกับรสนิยมของผู้เล่นมากที่สุด ถามว่างั้นใช้ Silver Range ทั้งระบบไม่ดีกว่าหรือ ผู้เขียนก็ต้องขอตอบว่าขึ้นอยู่กับสมดุลเสียงของซิสเต็มเป็นหลัก เนื่องจากสายตระกูล Silver จะเน้นเรื่องของความเป็นธรรมชาติ ไม่แต่งแต้มบุคลิกส่วนตัวเข้าไปมากนัก หากโทนัลบาล้านซ์ของซิสเต็มเด่นที่ย่านกลางแหลม อ่อนน้ำหนักย่านทุ้ม สุ้มเสียงติดไปทางสว่าง อันนี้ Silver Diamond จะไม่เข้าไปช่วยกลบเกลื่อนข้อบกพร่องดังกล่าวแม้แต่น้อย ท่านอาจต้องเลือกสายตระกูล Black Range แทนหรือเลือกใช้งานผสมกันเพื่อให้เกิดความสมดุล
เสียง
สายไฟเอซีเส้นนี้ให้เสียงที่โดดเด่นเรื่องของโฟกัสเสียงที่ขึ้นรูปเป็นตัวตนชัดเจน เสมือนการปรับโฟกัสของเลนส์กล้องถ่ายรูป ไม่ปรากฏเงาเสียงที่ฟุ้งเบลอ ผลคือทำให้ได้ยินรายละเอียดหยุมหยิมที่ซุกซ่อนอยู่จะเปิดเผยออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ ตลอดย่านเสียงทุ้มกลางแหลม เหมือนกับการดูภาพเขียนที่ให้แสงเงาชัดเจนมีมิติตื้นลึกนูนเป็นสามมิติลอยออกมา
เรื่องของบุคลิกเสียงส่วนตัวนั้นต้องบอกว่าสายไฟเอซีเส้นนี้มีความเป็นกลางสูง สีสันน้อย ให้ความราบเรียบของเสียงแบบที่ไม่เข้าไปบูสย่านเสียงใดย่านเสียงหนึ่งให้โดดขึ้นมา ใครที่เพิ่งสลับใช้งานกับสายไฟเอซีที่มีบุคลิกส่วนตัวสูง แรกฟังแล้วอาจจะรู้สึกว่าสายไฟเอซีเส้นนี้เสียงแฟลตราบเรียบมาก เพราะโทนเสียงโดยรวมของซิสเต็มยังคงเดิมทุกประการ ข้อดีคือ อุปกรณ์ที่ใช้งานร่วมกันยิ่งคุณภาพดีเท่าไหร่ก็จะเปิดเผยศักยภาพออกมาได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยและมีบุคลิกของอุปกรณ์นั้น ๆ ปรากฏออกมาให้สัมผัสชัดเจนมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
ย่านปลายเสียงแหลมมีความกระชับ มีการจางหายของเสียงที่พอเหมาะและควบคุมได้อย่างแม่นยำ รวมถึงถ่ายทอดไดนามิกของเสียงที่ละเอียดอ่อนแผ่วเบาออกมาให้ได้ยินอย่างหมดจดไม่คลุมเครือ ให้ไดนามิกความฉับพลันหรือทรานเชี้ยนต์ดีขึ้นอย่างมาก เสียงเครื่องเคาะโลหะให้ความสดฉับพลันเสมือนจริงมากทีเดียว ฟังเสียงแส้ที่ไล้ฉาบแล้ว ฟังออกเลยว่าเป็นเส้นฝอยละเอียดเป็นเส้นจริง ๆ เสียงกลางนั้นโฟกัสชัดคมและสกัดอิมเมจหลุดลอยเป็นตัวตนที่ชัดเจน มีความลึกของเสียงไม่ใช่ชัดแล้วสาดพุ่งเข้าหาคนฟังอย่างเดียวซึ่งฟังไปนาน ๆ แล้วเหนื่อย
พวกเครื่องสายอย่างพวกไวโอลิน ได้ยินรายละเอียดการสีของคันชักที่สดฉับพลันพร้อมกับให้ความต่อเนื่องลื่นไหลได้อย่างสมดุล หรือเสียงคนร้องนี่ก็ฟังเหมือนนักร้องตั้งใจร้องเพลงให้ฟังจริง ๆ ใส่อารมณ์กันแบบสุด ๆ ย่านเสียงทุ้มไม่อวบหนา แต่ให้โฟกัสที่ชัดเจน ฉับไว อิมแพ็กต์หนักแน่นและหนักหน่วง มีรายละเอียดของเสียงทุ้มตลอดย่านจนถึงทุ้มลึก แถมควบคุมย่านทุ้มได้อย่างเด็ดขาดไม่รุ่มร่าม ใครที่ใช้ลำโพงตั้งพื้นขนาดใหญ่ น่าจะได้สะใจกับพลังเสียงและทุ้มคุณภาพแบบเนื้อ ๆ เน้น ๆ จากสายรุ่นนี้
เวทีเสียงมีความโปร่งกระจ่าง มีช่องว่างช่องไฟโปร่งโล่งเป็นอิสระ รับรู้ถึงมวลอากาศที่ห้อมล้อมชิ้นดนตรีได้มากขึ้นรวมถึงความทอดตัวของหางเสียง (Decay) ที่ค่อย ๆ สลายไป พื้นเสียงสงัด แยกแยะเลเยอร์ของชิ้นดนตรีได้เด็ดขาดดีมาก ไม่เว้นแม้ได้ริม ๆ ขอบเวทีเสียงก็ยังให้ความชัดเจนไม่คลุมเครือ และไม่ว่าจะฟังในระดับความดังแบบไหน ทั้งบิดโวลุ่มเบา ๆ เป็นแบ็คกราวด์มิวสิค หรือเร่งระดับความดังสูงสุดเท่าที่หูจะรับไหว ก็ยังคงถ่ายทอดคุณสมบัติดังกล่าวออกมาให้รับรู้ได้ตลอดเวลา ทำให้รู้สึกว่าลำโพงคู่เดิมนั้นถ่ายทอดมิติเวทีเสียงได้โอ่อ่ามากขึ้นในทุกมิติ
สรุป
สายไฟเอซี Tellurium Q Silver Diamond คือสายที่จะดึงเอาศักยภาพที่แท้จริงของซิสเต็มออกมาได้เต็มพิกัด โดยอยู่ในเงื่อนไขที่ควรจะใช้สายยี่ห้อนี้ทั้งระบบ เหมาะกับคนที่ต้องการฟังรายละเอียดและน้ำเสียงจากซิสเต็มจริง ๆ แบบบริสุทธิ์นิยม สำหรับท่านที่มีซิสเต็มลงตัวในระดับนึงแล้ว เลือกสายไฟเอซีรุ่นนี้ไปใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ที่เหมาะสม ท่านอาจจะแปลกใจว่าซิสเต็มของท่านยังมีอะไรซ่อนอยู่อีกมาก
ขอขอบคุณร้าน Sound Box อาคารศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ ชั้น 3 โทร. 092-890-4660, 094-124-2732 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับการทดสอบในครั้งนี้