Stack ลำโพงแล้วได้อะไร?

0

Mongkol Oumroengsri

…จากใจเลยนะ ผมมองระบบลำโพงยุคใหม่รุ่นใหญ่ๆ ของบางแบรนด์ (อาทิ Focus Audio, Kharma) แล้วอดนึกไปถึงแนวทางการตั้งวางตู้ลำโพง 2 ชุดที่เหมือนกัน ซ้อนกันขึ้นไปในแนวตั้ง อย่างที่เรียกว่า stack นั้น – ไม่ได้จริงๆ ครับ

ลองดูซิครับ ตัวตู้ลำโพงสูงใหญ่กว่าสองเมตรจากบนสู่ล่าง ติดตั้งตัวขับเสียงไว้มากมายบนแผงหน้าตัวตู้รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 6 ตัว วูฟเฟอร์ 2 ตัว – มิดเรนจ์ 2 ตัว – ทวีตเตอร์ 2 ตัว ไล่เรียงกันลงมาแบบวูฟเฟอร์ > มิดเรนจ์ > ทวีตเตอร์ > ทวีตเตอร์ > มิดเรนจ์ > วูฟเฟอร์จากบนสู่ล่าง ดูแล้วช่างไม่ต่างกับการเอาตู้ลำโพงแบบ 3-ทาง 2 ชุดที่เหมือนกัน stack กันขึ้นไปไหมล่ะครับ

เอ… รึว่านี่จะมิใช่หลักการแนวใหม่ของการออกแบบลำโพงยุคปัจจุบัน ? เพราะว่า แนวทางการ stack นั้น มันมีมานานมากแล้วตั้งแต่ปลายยุค 60 – ย้อนอดีตไป ADVENT* แบรนด์ลำโพงชั้นนำแห่งยุค60 ก็มีการระบุไว้กลายๆ ให้ผู้ใช้ซื้อลำโพง ADVENT ไป 2 คู่เพื่อตั้งวางซ้อนกัน (stack) ในแนวตั้ง ซึ่งจะทำให้ผู้ฟังได้รับความประทับใจในเสียงที่รับฟังจาก STACKED ADVENT จำนวน 2 คู่ที่ซื้อไปนั้น …นิตยสารชื่อดังอย่าง The Absolute Sound (TAS) ก็ยังมีการนำเสนอบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้

STACKED ADVENT

โอเคล่ะ นั้นเป็นเรื่องแต่ครั้งอดีต แต่แนวทางการ Stack ลำโพงกันนี้ ก็ยังยืนยงมาจนถึงปัจจุบัน นั่นแสดงว่า Stack ลำโพงแล้วได้อะไร? มันต้องอยู่จริง – ใช่ไหมครับ …แล้วแนวทางการ Stack ลำโพงดังกล่าวนี้ นี่คือ หลักการนำไปสู่การออกแบบลำโพงยุคใหม่ในทุกวันนี้หรือไม่ ?

ทั้งนี้ในทางปฏิบัติ ซึ่งก็คือผลการรับฟัง การ Stack ลำโพงนั้น ส่งผลในแง่ดี เสียงที่รับฟังมีความเข้มข้น มีพลังความหนักแน่น – ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจช่วยส่งผลต่อการรับรู้จินตภาพเสียง (image) ที่แจ่มชัด และไล่ระดับความลึกได้ดียิ่งขึ้น แต่ถ้าลงลึกในรายละเอียดไปอีกสักนิด ลำโพง 2 คู่ที่ตั้งวางซ้อนกันขึ้นไปนั้น “สมควร” จักต้องมีความเหมือนกันเป๊ะทั้งรูปลักษณ์และคุณลักษณ์ทางเสียง (characteristic) เพื่อให้ลำโพงทั้ง 2 ชุดทำงานได้เหมือนกันราวกับเป็นเงาของกันและกัน เสียงที่รับฟังจึงจะมีความสมานฉันท์กันอย่างแท้จริง

มิเช่นนั้น เสียงที่คุณรับฟังจากการ stack ลำโพงนี้อาจจะทำให้มีช่วงย่านเสียงต่ำเพิ่มขึ้นประมาณ 6 dB แต่ช่วงย่านเสียงกลาง/สูงจะจางหายไป อันเนื่องมาจากการหักล้างกันทางเฟสเสียง (phase) เพราะลำโพงเหล่านี้อาจเป็นลำโพงที่แตกต่างกัน อาจมีลักษณะความถี่ต่างกัน ทำให้คุณลักษณะของเฟสที่ต่างกัน ซึ่งนี่จะทำให้ความถี่บางช่วงย่านถูกหักล้างกันไป ส่งผลให้การตอบสนองความถี่ของลำโพงเกิดมีช่องโหว่มากขึ้นได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น ในความเป็นจริง แบรนด์เดียวกัน รุ่นเดียวกัน เสียงที่รับฟังก็ยังอาจเป็นได้แค่คล้ายกัน …เป๊ะ เป๊ะเลยนั้นเป็นเรื่องยากมาก เนื่องเพราะการผลิตที่จำเป็นต้องคัดสรรอุปกรณ์จำนวนมากมาใช้ ซึ่งโดยธรรมชาติอุปกรณ์ก็ย่อมต้องมีค่าความเบี่ยงเบนเป็นของตัวมันเอง การจะให้ได้มาซึ่งอุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติเหมือนกันเป๊ะๆ นั้นจึงมิใช่เรื่องง่าย …แต่แค่คล้ายก็นับว่ายังดี เพราะยังมีความลงรอย-กลมกลืนกัน

โดยปกตินั้น การวางลำโพงในห้อง ทั้งลำโพงและห้องก็ต้องทำงานร่วมกัน เรา-ท่านจึงจำเป็นต้องหาตำแหน่งตั้งวางลำโพงที่ลงตัวในห้องนั้น ขณะกำลังทำงาน – ลำโพงจะมีปฏิสัมพันธ์กับห้องอยู่ตลอด ออกมาเป็นลักษณะเสียงที่รับฟัง ดังนั้นนักออกแบบลำโพงแบรนฺดังจึงทุ่มเทต่อการออกแบบให้ลำโพงมีความเป็นตัวตนทางเสียงของตัวมันเอง-น้อยที่สุด วัสดุตัวตู้ชนิดต่างๆ จึงมีการคิดค้นและพัฒนาขึ้นมา เพื่อขจัดบุคลิกเสียงที่เกิดจากตัวตู้ลำโพงมาบดบัง หรือ ปนเปื้อนกับเสียงแท้จริงที่ลำโพงนั้นปลดปล่อยออกมา

หากมองดูการตั้งวางลำโพงซ้อนกัน (stack) จะทำให้เรา-ท่านนึกไปถึงหลักการติดตั้ง-จัดวางตัวลำโพงแบบหนึ่งที่ได้รับการยอมรับกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งก็คือ หลักการ MTM arrangement / MTM นั้นไซร้ย่อมาจาก Mid – Tweeter – Mid อันหมายถึง แนวทางการติดตั้ง-จัดวางตัวลำโพงแบบวางเรียงตัวขับความถี่เสียงสูงให้อยู่ตรงกลาง หรือ ถูกขนาบด้วยตัวขับความถี่เสียงกลางจำนวน 2 ตัวนั่นเอง ทั้งนี้ทั้งนั้นหลักการ MTM arrangement ก็มีที่มาที่ไปสืบทอดมาจากแนวทางของ **D’Apollito อีกที ที่ไม่ลืมจักต้องคำนึงถึงเรื่องของ the 1/4 wavelength rule ในการจัดวางตำแหน่งติดตั้งตัวขับเสียง ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ

ทั้งนี้หลักการติดตั้งตัวขับเสียงความถี่ต่ำ หรือ ตัวขับเสียงกลางจำนวน 2 ตัวนั้น มีจุดประสงค์ 2 ประการด้วยกัน นั่นคือ เพื่อให้ได้มาซึ่งเสียงที่เสมือนมาจากตัวขับเสียงที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้นอีกด้วย ทั้งยังทำหน้าที่ควบคุมแนวกระจายเสียง (dispersion) ของทวีตเตอร์บนพื้นผิวแผงหน้าตัวตู้ลำโพงให้มี lobe ที่สมมาตรไปพร้อมกัน

 

D’Apollito configuration

บทความสั้นๆ นี้ (ซึ่งจะมีภาคต่อเป็นส่วนขยายของเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง-โยงใยมานำเสนอกันต่อไป) เพียงแค่อยากจะสื่อว่า การออกแบบลำโพงนั้นมีทั้งศิลปะแห่งการผสมผสาน และวิทยาการอยู่ร่วมเคียงคู่กันเสมอ ซึ่งวิทยาการจากจุดเริ่มในยุคสมัยหนึ่งอาจมีพัฒนาการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และอาจจะสืบต่อไปในอนาคต – ถ้าวิทยาการนั้นเป็นจริง  …การออกแบบลำโพงยุคใหม่ (อาจ) ดูคล้ายพัฒนาการจากอดีต แต่ด้วยองค์ความรู้ ณ ปัจจุบันซึ่งผ่านการเรียนรู้ทางวิทยาการมาเนิ่นนาน ทำให้ได้มาซึ่งความรู้ที่รู้ลึก-รู้จริงมากยิ่งขึ้น ลำโพงยุคใหม่ (อาจ) ได้รับการใส่ใจในเรื่องของ center-to-center distance รวมไปถึงเรื่องของปรากฏการณ์ comb filtering มากยิ่งกว่ายุคเก่าก่อน จนได้มาซึ่ง “เสียง” (sound) ที่มิใช่สมบูรณ์แค่สุ้มเสียง (sonic) แต่ยังสมบูรณ์ในเรื่องของค่าเฟส และค่าเวลา (phase & time) ที่แม่นยำยิ่งขึ้นมากอีกด้วย


(*Advent Corporation เป็นบริษัทอุปกรณ์ด้านภาพและเสียงสำหรับการใช้งานภายในบ้าน ก่อตั้งในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ โดย Henry Kloss ในปี 1967 และปิดตัวลงในปี 1981 ซึ่ง Henry Kloss ผู้นี้   ก็นับเป็นบุคคลที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเป็นอย่างสูงของทั้งแบรนด์ลำโพงชื่อดังอย่าง Acoustic Research และ KLH ก่อนที่เขาจะผันตัวเองออกมาก่อตั้ง Advent และ Kloss Video)

(**D’Apollito เป็นผลงานจากแนวคิดของ Joseph D’Appolito วิศวกร ชาว อเมริกัน (ปัจจุบันอายุ 86 ปี) เขากลายเป็นที่รู้จักจากการสร้างสรรค์ผลงานในช่วงทศวรรษ 1980 “D’Appolito” เป็นการกำหนดค่าลำโพง (drivers configuration) โดยการวางแทรกทวีตเตอร์ในแนวตั้ง ระหว่างวูฟเฟอร์หรือมิดเรนจ์ – 2 ตัวรวมกับการใช้วงจรตัดกรอง/แบ่งช่วงความถี่ออร์เดอร์ที่ 3 ปล่อยให้เกิดสภาพการกระจายตัวของเสียงในแนวตั้งที่มีความสมมาตรกัน (symmetry) โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันในทิศทางของความถี่เสียง ในปี 1998 เขาได้ตีพิมพ์หนังสือ “Testing loudspeakers” นอกจากนี้  D’Appolito ยังเป็นบรรณาธิการของนิตยสาร AudioXpress อีกด้วย เขายังเป็นเจ้าของบริษัทที่ปรึกษา “Audio and Acoustic Ltd.” ซึ่งมีลูกค้ารวมถึง Snell Acoustics, HECO / Recoton GmbH และ Usher Audio Technology)