SOtM sNH-10G ออดิโอเกรดสวิตช์

0

DAWN NATHONG

Audiophile Network Switch

การเล่นเครื่องเสียงไม่ว่าจะเป็นสายอนาล็อกหรือดิจิทัล หากขึ้นชื่อว่าเป็นออดิไฟล์แล้ว การพิถีพิถันในการยกระดับคุณภาพเสียงให้เข้าใกล้อุดมคติหรือมีความเป็นดนตรีขั้นสูงสุดนั้นเป็นของคู่กัน การเสาะแสวงหาอุปกรณ์เสริมมาช่วยยกระดับคุณภาพเสียง หากจับได้ตรงจุดก็จะมีผลดีกับซิสเต็มอย่างมหาศาล หรือหากจับไม่ตรงจุด ประเภทขี่ช้างจับตั๊กแตน จ่ายแล้วไม่จบ บ่อยครั้งเข้าก็พาลทำให้อยากเลิกเล่นไปเสียงอย่างนั้น เป็นวัฎจักรแบบหนึ่งของนักเล่นเครื่องเสียง

        แต่ก็มีหลักการหนึ่ง ที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นเหตุเป็นผล สามารถนำมาใช้ได้จริงกับการเล่นเครื่องเสียงโดยเฉพาะดิจิทัล นั่นคือหลักการจัดลำดับความสำคัญที่ว่า “เข้าผิด ออกผิด” ความหมายของมันก็คือ หากคุณป้อนข้อมูลที่ผิดพลาดจากต้นทางเข้าไปแล้ว ย่อมไม่มีทางได้ข้อมูลจากปลายทางที่ถูกต้องได้เลย ซึ่งตัวแปรที่เป็นหัวใจของคุณภาพเสียงที่ดีในระบบดิจิทัล หลัก ๆ มีสองอย่างด้วยกันนั่นคือ ความคลาดเคลื่อนของเวลาในการรับ-ส่งข้อมูล (Jitter) และสัญญาณรบกวน (Noise)

SOtM sNH-10G

        ในการฟังเพลงแบบสตรีมมิ่งในบ้าน เรามักจะใช้การรับ-ส่งข้อมูลดิจิตอลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ด้วยโมเด็มรับสัญญาณไฟเบอร์ออพติก (หรือเคเบิล) จากภายนอกอาคาร และตัว Router ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการเครือข่ายภายในบ้าน โดยแจกจ่าย IP Address ให้กับอุปกรณ์ภายในบ้านที่เชื่อมต่อผ่านทาง Wi-Fi หรือสาย LAN

ทีนี้หากเป็นการเชื่อมต่อผ่านสาย LAN ก็จำเป็นจะต้องมีตัว Network Switch เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลาง (คล้าย ๆ ปลั๊กลอย) ในการเชื่อมต่อไปยังอุปกรณ์เน็ตเวิร์คหลาย ๆ ตัว เช่น คอมพิวเตอร์, NAS, กล่อง IPTV, ทีวี, หรือเน็ตเวิร์คเพลเยอร์ เป็นต้น

อุปกรณ์เหล่านี้มักจะออกแบบสำหรับการใช้งานแบบทั่วไป ไม่ได้เลือกใช้อุปกรณ์เกรดสูงหรือการป้องกันสัญญาณรบกวต่าง ๆ เพื่อหวังผลด้านคุณภาพเสียง แน่นอนว่าเมื่อนำมาใช้สำหรับการฟังเพลงแบบจริงจังแล้ว ผลลัพท์มักออกมาไม่น่าอภิรมย์เท่าไรนัก (แบน จัด กระด้าง) จนหลายคนปรามาสการฟังเพลงแบบสตรีมมิ่งไปเลย

Audio Grade Nerwork Switch ทางออกของปัญหาการเล่นสตรีมมิ่ง

เหตุที่อุปกรณ์มาตรฐานจากผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตมักจะมีส่วนบั่นทอนคุณภาพของการเล่นสตรีมมิ่งลงไปนั้น เนื่องจากเน็ตเวิร์คสวิตช์มาตรฐาน แม้จะนำมาใช้งานกับชุดเครื่องเสียงได้ก็จริง แต่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเน้นขจัดสัญญาณรบกวน (RFI / EMI) ที่แทรกซึมเข้ามาในสาย LAN หรือระบบไฟ รวมถึงสัญาณรบกวนจาก Wi-Fi แถมตัวมันเองก็มีโอกาสที่จะเพิ่มสัญญาณรบกวนเข้าไปในระบบได้อีก จากภาคจ่ายไฟสวิตชิ่งคุณภาพต่ำ

สัญญาณรบกวนเหล่านี้ มีโอกาสแพร่เข้าสู่ภาควงจรส่วนที่เป็นแอนะล็อก รบกวนการแปลงสัญญานของภาคดีทูเอคอนเวอร์เตอร์ และเป็นการทำให้ค่า S/N Ratio ของระบบเครื่องเสียงแย่ลง จนถูกขยายออกมาเป็นสัญญาณอนาล็อกที่ผิดเพี้ยนต่อไป ซึ่งเราสามารถรับรู้ได้ในลักษณะเสียงที่แบน จัด หรือหยาบกระด้างไม่น่าฟัง มากน้อยตามประสิทธิภาพของอุปกรณ์

SOtM sNH-10G

        ภายในตัวของ SOtM sNH-10G มีการออกแบบมาอย่างดีตั้งแต่พื้นฐาน ไม่ใช่การเอา Network Switch ปกติมาโมดิฟายด์ เลือกใช้อุปกรณ์เกรดดีทั้งหมด รวมทั้งใช้ Clock ความแม่นยำสูงทำให้โอกาสที่จะเกิด Jitter นั้นต่ำมากเป็นพิเศษ รวมทั้งยังมีวงจรกรองสัญญาณรบกวนแบบแอคทีฟ เพื่อกรองสัญญาณรบกวนในแต่ละย่านความถี่ ที่จะผ่านเข้ามาทางช่อง Ethernet (ทั้ง 8 ช่อง) อีกทางหนึ่ง สำหรับคนที่อยากอัพเกรดแบบสุด ๆ สามารถเลือกเสริมโมดูลบอร์ด sCLK-EX ซึ่งเป็น Master Clock ระดับไฮเอ็นด์ รวมถึงมีเอาท์พุตสามารถที่เชื่อมต่อกับ Clock แยกอื่น ๆ ภายนอกได้อีก (รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาสอบถามตัวแทนจำหน่าย)

        สำหรับเครื่องที่ผู้เขียนได้รับมา จะมีภาคจ่ายไฟ DC คุณภาพสูงของทาง SOtM รุ่น sPS-500 ติดมาด้วย ซึ่งตรงนี้ผู้เขียนคิดว่าใครที่ต้องการคุณภาพเสียงแบบสุด ๆ จากการเล่นสตรีมมิ่ง แนะนำให้ใช้ sPS-500 คู่กับ sNH-10G ไปพร้อมกัน เพราะอย่าลืมว่าแม้ sNH-10G จะช่วยทำให้สัญญาณข้อมูลถูกต้องแม่นยำขึ้น รวมถึงปลอดสัญญาณรบกวนก็ตาม แต่การใช้ภาคจ่ายไฟสวิตชิ่งคุณภาพต่ำก็ยังมีโอกาสที่สัญญาณรบกวนจากภาคจ่ายไฟจะย้อนกลับเข้าไปในระบบได้อยู่ดี

ในโลกของความจริง แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่อุปกรณ์เพียงตัวเดียวจะสามารถขจัดปัญหา Noise ทุกรูปแบบได้ทั้งหมด จำเป็นต้องอาศัยการทำงานของอุปกรณ์อื่นส่งเสริมกันเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

SOtM sNH-10G

        นอกจากนี้สำหรับใครที่มี NAS ทาง SOtM sNH-10G ก็ใส่ช่องเชื่อมต่อไฟเบอร์ออพติก (SFP Port) มาให้เป็นทางเลือกในการเชื่อมต่อแทนสาย LAN (ต้องใช้กับตัวแปลง Media Converter) นัยว่าช่วยตัดการรบกวนทางไฟฟ้าจากตัว NAS เองอีกทาง

คุณสมบัติที่น่าสนใจ

*ข้อมูลอ้างอิงจากเวปไซต์ผู้ผลิต https://www.sotm-audio.com/

SOtM sNH-10G Network Switch

  • ออกแบบเน้นคุณภาพเสียงสุงสุดระดับไฮเอ็นด์
  • มีวงจร Noise Filter พิเศษสำหรับช่อง Ethernet
  • รองรับความเร็ว 10 / 100 / 1000 Mbps
  • 8 x RJ-45 ports (ช่อง LAN)
  • 2 x SFP ports (ช่องไฟเบอร์ออพติก)
  • มีฟังก์ชั่นปิด-เปิดไฟแสดงผล LED
  • มีออพชั่นเสริม sCLK-EX High End clock module
  • รองรับ 10MHz master clock input
  • รองรับแรงดันไฟ (6.5v ~ 12v)

SOtM sPS-500 Power Supply

  • เลือกเอาท์พุตโวลต์เตจได้ 7Vdc, 9Vdc, 12Vdc, 19Vdc
  • ไม่สร้างสัญญาณรบกวนเข้าไปในระบบ
  • จ่ายไฟ 50W สำหรับ NAS, Fanless PC และอื่น ๆ
  • ใช้ได้กับไฟทั่วโลก
  • มีระบบป้องกันการช็อต, โอเวอร์ฮีต

การติดตั้งและเซ็ตอัพ

ท่านสามารถนำ SOtM sNH-10G Network Switch ไปติดตั้งร่วมกับซิสเต็มฟังเพลงเดิมที่มีอยู่ได้ทันที โดยการนำไปคั่นกลางระหว่าง Router กับอุปกรณ์ในระบบ ไม่ว่าจะเป็น Network Player หรือคอมพิวเตอร์และเชื่อมต่อกันด้วยสาย LAN จากนั้นเชื่อมต่อภาคจ่ายไฟ sPS-500 เข้ากับตัว sNH-10G ตรงนี้มีข้อสังเกตเล็กน้อยว่าให้ดูที่ปุ่มปรับเลือกโวลต์เตจด้านหลัง ค่าเริ่มต้นต้องเป็น 9 V (สำหรับ sNH-10G  รุ่นปกติ) แต่หากท่านอัพเกรดบอร์ด sCLK-EX หรือนำไปใช้กับอุปกรณือื่น ต้องปรับค่าตามที่คู่มือของอุปกรณ์นั้นกำหนด

SOtM sNH-10G

        การใช้งาน sNH-10G  จะมีสเต็ปในการเปิดเครื่องอยู่เล็กน้อย เข้าใจว่าเป็นขั้นตอน Protection ของทางบริษัทผู้ออกแบบ อันดับแรกหลังจากเปิดเมนสวิตช์ด้านท้ายของ sPS-500 แล้ว รอสักคู่ให้กดปุ่มสีเขียวด้านหน้าหยุดกระพริบ จากนั้นกดปุ่มสีเขียวค้างไว้ราว 1 วินาทีเป็นการเปิดการทำงานของภาคจ่ายไฟ อันดับที่สอง ที่ด้านท้ายเครื่อง sNH-10G จะมีสวิตช์โยกปิด-เปิดแบบสามสเต็ป โยกขึ้นบนเป็นการเปิดเครื่องพร้อมไฟ LED, โยกลงล่างเป็นการเปิดเครื่องแบบไม่มีไฟ LED ซึ่งตรงนี้หากท่านสามารถเลือกทดลองฟังได้ด้วยตนเองว่ามีผลต่อเสียงด้วยหรือไม่อย่างไร

SOtM sNH-10G

        ผู้เขียนนำ sNH-10G ติดตั้งเข้าระบบอย่างง่าย ๆ ใช้สาย LAN แบบ UTP CAT6 ธรรมดาทั่วไปเข้าที่คอมพิวเตอร์ซึ่งปรับแต่งเอาไว้สำหรับการฟังเพลงโดยเฉพาะ และสามารถใช้ทำงานตามปกติไปได้พร้อมกัน เพื่อจะดูประสิทธิภาพของ sNH-10G ในสภาพการใช้งานแบบลำลองทั่วไปที่ไม่ใช่ซิสเต็มฟังเพลงแบบเต็มร้อย จากนั้นจึงค่อยนำ sNH-10G ไปใช้งานกับชุดฟังเพลงเต็มรูปแบบเพื่อสรุปผลอีกที

ผลการลองฟัง

ขอใช้คำว่า “เกาถูกที่คัน” กับการเพิ่มเน็ตเวิร์คสวิตช์เข้ามาในระบบเพื่อการฟังเพลงแบบสตรีมมิ่ง  การจัดการกับความถูกต้องของข้อมูลตั้งแต่ต้นทางก่อนป้อนเข้าสู่ระบบนั้นมีผลต่างที่เห็นได้ชัดเจนกว่าการลงทุนอัพเกรดสาย ไม่ว่าจะเป็นสายแลนออดิโอเกรด สายไฟเอซี หรือการใช้ภาคจ่ายไฟดี ๆ เพียงอย่างเดียวมากพอสมควร เพราะอุปกรณ์เสริมอย่างอื่นไม่ได้ถูกออกแบบมาจัดการกับปัญหาเรื่องของ Jitter โดยตรง แต่มุ่งเน้นในเรื่องของการป้องกันและขจัดสัญญาณรบกวนมากกว่า

        ผู้เขียนเริ่มทดสอบด้วยการฟังเพลงกับ Spotify ซึ่งเป็นบริการสตรีมมิ่งในรูปแบบ Lossy เสียก่อน ผลลัพท์นั้นน่าทึ่งทีเดียวเพราะช่วยให้เสียงมีน้ำมีนวลขึ้นมาอย่างน่าพอใจ ถ้าเป็นนักเล่นที่ชั่วโมงบินสูง จะรู้ว่าเสียงจาก Spotify มีเหมือนมีการใส่ซอฟท์ฟิลเตอร์เอาไว้เล็กน้อย เพื่อช่วยลดความกระด้างของเสียงที่ถูกบีบอัด ช่วยให้ฟังได้อย่างสบายหูกับในทุกอุปกรณ์ แต่หากนำไปฟังกับเครื่องเสียงชุดใหญ่หรือหูฟังดี ๆ อาการนี้จะสังเกตได้ง่ายทีเดียวเวลาเอาไปเทียบกับเพลงเดียวกันบน TIDAL ที่ให้บริการไฟล์รูปแบบ Lossless ด้วย

SOtM sNH-10G

        sNH-10G ช่วยทำให้การแยกแยะตำแหน่งของเสียงที่ถูกมิกซ์มามีความถูกต้องมากขึ้น ไม่กอดตัวกันเป็นกระจุก ตรงนี้ส่งผลต่อความเป็นสามมิติของเวทีเสียงโดยตรง เพราะสามารถระบุตำแหน่งของชิ้นดนตรีทั้งหมดได้แบบจับวาง และมีทรวดทรงเป็นสามมิติมากกว่าเดิมชัดเจน บางเพลงนั้นให้เวทีเสียงที่โอบล้อมมากขึ้นจนแทบไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเสริมด้วยระบบเสียง DSP ใด ๆ

        ความนิ่มนวล ทอดตัว อ้อยอิ่ง ในบทเพลงที่ควรจะลึกซึ้งกินใจ ถูกถ่ายทอดทั้งอารมณ์และความรู้สึกของศิลปินออกมาให้รับรู้ได้ชัดเจนมากเป็นพิเศษ ฟัง Come In From The Rain ของ Tsuyoshi Yamamoto Trio แล้วลีลาการเล่นทั้งปียโน ดับเบิ้ลเบส หรือเสียงเครื่องเคาะโลหะต่าง ๆ มีจังหวะจะโคนที่สอดคล้องลื่นไหลไร้รอยสะดุด ฟังแล้วได้อารมณ์สุด ๆ กับการฟังบบน Spotify นี่ละ พอทดลองเอา sNH-10G และ sPS-500 ออกไปจากระบบผู้เขียนถึงกับหูเสียกับความแบน กระด้างที่กลับคืนมา จนทำให้อารมณ์หดหายยังกับหนังคนละม้วน

        ลองฟังอัลบั้ม Memories of You ของ Arne Domnérus บน TIDAL ดูบ้าง การเพิ่มเน็ตเวิร์คสวิตช์ออดิโอเกรดตัวนี้เข้าไป ก็ช่วยทำให้คุณภาพเสียงจากการฟัง Lossless บน TIDAL เห็นความแตกต่างจาก Spotify ขึ้นมาอีกอย่างชัดเจนมากกว่าเดิม ทั้งเรื่องของความโปร่งใส รายละเอียดการทอดตัวของหางเสียง และไดนามิกที่ชัดเจนเปิดโล่งเป็นอิสระมากกว่า รวมถึงมิติเวทีเสียงที่แผ่กว้างออกไปรอบด้านแบบ 360 องศา (สูง-ต่ำ-กว้าง-ลึก) ซึ่งปกติการฟังสตรีมมิ่งจะรับรู้ความต่างของเลเยอร์ชิ้นดนตรีได้ไม่ชัดเจนขนาดนี้

ที่สำคัญเสียงย่านต่ำมีโฟกัสที่ชัดคมเป็นตัวตนที่ควบแน่นมากขึ้น ติดตามรายละเอียดและการลงน้ำหนักย้ำเน้นได้มากกว่าเดิม ซึ่งตรงนี้ผู้เขียนถือว่าเป็นจุดแข็งที่ SOtM ทำได้ดีมาก ยิ่งขยับไปฟังอัลบั้มที่เป็น MQA ด้วยแล้วคุณภาพเสียงยิ่งทวีคูณ คุณภาพเสียงไม่แตกต่างจากการฟังไฟล์เพลงจาก NAS โดยตรง

        ตลอดการฟัง ผู้เขียนไม่รู้สึกสะดุดหูกับความกระด้างของเสียงในระบบดิจิตอลเลย พื้นเสียงมีความนิ่งสงัดยอดเยี่ยมเหมือนกับการฟังสตรีมมิ่งผ่าน Network Player ระดับไฮเอ็นด์สักตัวนึง sNH-10G มีส่วนช่วยให้ข้อมูลที่ถูกส่งผ่านมามีความถูกต้องมากที่สุด สัญญาณเสียงที่ถูกแปลงออกมาจึงมีความสมบูรณ์ถูกต้องตามแบบที่ควรจะเป็น เอาง่าย ๆ ลองฟังเพลงไทยทั่วไป อย่างเช่น บ้านบนดอย อัลบั้มลำนำแห่งขุนเขา (รำลึกจรัญ มโนเพชร) เสียงคอรัสและเครื่องดนตรีที่แยกแยะชัดเจนไม่คลุมเครือ แต่ไม่แบน จัด กระด้าง คือคำตอบที่ดี

สรุป

นอกจากนี้สำหรับท่านที่ใช้คอมพิวเตอร์ ลองดูหนังฟังเพลงบน YouTube หรือ NetFlix ดูเถิด ภาพสวยเสียงดีขึ้นอีกทันตาเห็น ถ้าได้ประโยชน์หลายทางแบบนี้ การลงทุนไปก็ถือว่าคุ้มค่าน่าสนใจ จากนั้นค่อยอัพเกรดอุปกรณ์สริมในส่วนอื่นตามมาก็จะเห็นผลลัพท์ที่ชัดเจนมากกว่าเดิม

        หากท่านคิดจะจริงจังกับเรื่องคุณภาพในโลกของดิจิตอลสตรีมมิ่งและต้องการความสุขจากการฟังดนตรีแบบดื่มด่ำ ลึกซึ้งกินใจ มากกว่าที่เป็นอยู่ SOtM sNH-10G ออดิโอไฟล์เน็ตเวิร์คสวิตช์ กับภาคจ่ายไฟ sPS-500 คือตัวเลือกที่ควรพิจารณา

ขอขอบคุณ ร้าน Discovery Hi-Fi โทร. 02 102 2610 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับการทดสอบในครั้งนี้