Sony WH-1000XM3 Wireless ANC Headphones

0

‘ที่สุด’ ของชุดหูฟังระบบไร้สายแบบ Active Noise Cancellation

Test Talk : พิพัฒน์ คคะนาท ● [email protected]

เฮดโฟนหรือชุดหูฟัง ดูจะเป็นอุปกรณ์ประกอบระบบภาพ และเสียง ที่น่าจะเติบโตในแง่ของการตลาดมากที่สุดในช่วงไม่กี่ปีให้หลัง จากแต่เดิมที่เคยเป็นอุปกรณ์เฉพาะที่ เฉพาะทาง ซึ่งซื้อหาได้จากร้านจำหน่ายเครื่องเสียงเท่านั้น กลายเป็นว่าทุกวันนี้ชุดหูฟังมีวางขายตั้งแต่ในตลาดแบกะดิน ตามร้านสะดวกซื้อ ไปยันห้างหรูโน่น จึงมีให้เลือกทุกระดับราคาที่ว่ากันตั้งแต่หลักสิบ หลักร้อย ไปยันหลักแสน หลักล้านโน่นเลย

            จากการสำรวจของนิตยสาร What Hi-Fi? สหราชอาณาจักร เมื่อปีที่ผ่านมาระบุว่าชุดหูฟังที่มีราคาแพงที่สุดคือ Focal Utopia by Tournaire ด้วยสนนราคาชุดละ US$120,000.- ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในงาน CES 2017

            (อย่างไรก็ตาม, ชุดหูฟังของ Focal ที่ว่านั้นได้ถูกออกแบบและผลิตขึ้นมาเพื่อนัยยะทางด้านการกุศลมากกว่า โดยที่งานฝีมือการออกแบบโครงสร้างนั้น เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเครื่องประดับอัญมณีระดับ Master ด้วยการใช้ทองคำ 18K ประกอบเข้าด้วยเพชร 6 กะรัต มาขึ้นรูปเป็นส่วนของฝาครอบใบหู รายได้จากการขายหูฟังชุดนี้ได้มอบให้แก่เด็กชาย Louis Bisini ที่ทนทุกข์ทรมานมาแต่กำเนิด ด้วยอาการป่วยจากโรคกระดูกสันหลังเสื่อมทำให้กล้ามเนื้อลีบ)

            ส่วนที่มีราคาหลักสิบ หลักร้อย ลองเดินไปที่ร้านสะดวกซื้อใกล้ๆ บ้านดูนะครับ จะเห็นว่ามีให้เลือกแยะเชียว

            ชุดหูฟังนั้นหลักๆ แล้ว แยกออกเป็นสองประเภทด้วยกัน คือ Headphones กับ Earphones โดยที่ชุดหูฟังแบบเฮดโฟนนั้นภาพลักษณ์ก็คือมีขนาดใหญ่ สวมใส่แบบมีสายครอบศีรษะ ในขณะที่เอียร์โฟนก่อนหน้านี้ที่เห็นส่วนใหญ่จะเป็นแบบเม็ดกระดุม คือเป็นแบบแปะเข้าในช่องหู แต่ปัจจุบันจะเป็นแบบสอดเข้าช่องหู และเรียกกันชัดๆ ไปเลย ว่า In-Ear Headphones โดยส่วนใหญ่จะมาพร้อมกับจุกสวมที่ใช้สำหรับสอดเข้าช่องหูหลายขนาด เพื่อให้เหมาะสมกับสรีระของช่องหูผู้ใช้ที่แตกต่างกันไป หากใช้ขนาดที่พอเหมาะกับช่องหูพอดีแล้ว จะมีประสิทธิภาพในการกั้นเสียงจากภายนอกมิให้เข้าไปรบกวนเสียงเพลงที่กำลังฟังอยู่ได้ดีขึ้น ให้ความเป็นส่วนตัวได้ดีขึ้น

            อย่างไรก็ตาม, การสวมใส่ชุดหูฟังที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเสียงรบกวนภายนอกได้เป็นอย่างดีนั้น มักจะก่อให้เกิดอันตรายได้ง่ายขณะที่สวมใส่เวลาเดินทาง หรืออยู่ตามสถานที่สาธารณะ ดังที่เคยได้ยินข่าวอยู่เนืองๆ เกี่ยวกับอุบัติเหตุอันเกิดจากการใส่หูฟังแล้วไม่ได้ยินเสียงรถที่มาจากทางด้านหลัง ซึ่งบางครั้งก็เกิดเหตุสลดถึงขั้นเสียชีวิตได้

            ส่วนแบบมีสายครอบศีรษะนั้นจะมีทั้งแบบครอบใบหู (Over-Ear Headphones) และแปะใบหู (On-Ear Headphones) อย่างไรก็ตาม, ทุกวันนี้เห็นมีผู้ผลิตบางรายทำชุดเฮดโฟนแบบ 2-in-1 ออกมาให้เห็นบ้างแล้ว คือสามารถเปลี่ยนฝาครอบส่วนของ Ear-Pad ได้ เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นทั้งแบบ Over-Ear และ On-Ear ได้ในตัว ซึ่งเอื้อความคล่องตัวในการใช้งานแบบ In-Door/Out-Door ที่ดูจะเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย

            เที่ยวนี้หยิบเอาเรื่องชุดหูฟังมาพูดคุยด้วย เพราะให้บังเอิญไม่กี่วันที่ผ่านมา ไปเจอใครบางคนพูดถึงหูฟังชุดหนึ่งว่า These are the best wireless ANC headphones around. ทำเอาต่อมใคร่รู้ ใคร่สัมผัส ตื่นตัวขึ้นมาทันที ยิ่งไปค้นข้อมูลพบว่ามีนำเข้ามาจำหน่ายในบ้านเราด้วยแล้ว, แล้วจะรออะไรอยู่อีกล่ะ

            หลังจากติดต่อไป, ประมาณ 30 ชั่วโมง หลังจากนั้นชุดเฮดโฟนที่ว่าก็เดินทางมาถึงมือผม พร้อมๆ กับมี Hi-Res Digital Noise Canceling Music Player ติดมาด้วยอีกเครื่อง

            ทั้งสองชิ้นเดินทางมาจากแผนกประชาสัมพันธ์ บจก.โซนี่ ไทย ด้วยความอนุเคราะห์ของคุณธีรเดช พฤษวนานนท์ ขอขอบคุณไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยครับ

Sony WH-1000XM3

Wireless ANC Headphones

            ที่จ่าหัวเอาไว้นั้น, คือชุดเฮดโฟนที่บอกว่าได้ยินใครบางคนพูดถึง – หรือที่แท้จริงแล้วเป็นการอ่านพบในรายงานทดสอบชุดหนึ่ง, ครับ

            ในรายงานที่ว่าเขาพูดถึงเอาไว้น่าสนใจมาก แต่ไม่ขอนำมาถ่ายทอดนะครับ เพราะในเมื่อมีของจริงอยู่กับมือแล้ว ลองเอง เล่นเอง แล้วพูดคุยให้ฟังกันเองน่าจะดีกว่า ส่วนทัศนะของผู้รีวิว (ต่างประเทศ) ที่ได้อ่านมา ก็เสมอการจุดประกายความสนใจให้บังเกิดขึ้นครับ

            กล่าวสำหรับชุดหูฟังแบบครอบหู คือ Headphones ไม่ใช่ Earphones ซึ่งทำงานในระบบไร้สาย ที่ผนวกด้วยระบบ Noise Canceling นั้น บรรดาที่จัดอยู่ระดับแถวหน้าๆ ของวงการก็มีเพียงไม่กี่แบรนด์หลักๆ ของวงการเท่านั้นเอง กระทั่ง Model MDR-1000X จากค่าย Sony ออกสู่ตลาดมาเมื่อสามสี่ปีก่อน ได้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับบรรดาชุดหูฟังแบบที่ว่านี้ได้ไม่น้อย ผมเองยังจำได้คราวที่ บจก.โซนี ไทย นำมาเปิดตัวในบ้านเรา และเปิดโอกาสให้สื่อได้จับต้องลองเล่นดูนั้น ผมเองก็ได้ใช้เวลากับหูฟังชุดนี้ประมาณครึ่งค่อนเพลง หลังจากถอดออกยังพูดคุยกับน้องนุ่งที่ไปในงานว่า เข้าท่าแฮะ ท่าทางเอาการเอางานดี, ลองดูสิ

            ซึ่งหลังจากน้องนุ่งได้ลองสวมใส่ฟังอยู่พักใหญ่ๆ ก็ให้ความเห็นไปในทางเดียวกัน ว่าเสียงดีจริงๆ พี่ ระบบตัดเสียงรบกวนนี่ใช้ได้เลย

            แต่นั้น, ก็เป็นเพียงประสบการณ์สั้นๆ กับชุดเฮดโฟน Noise Canceling ของ Sony

            กระทั่งปีสองปีต่อมา Sony ได้พัฒนา Model WH-1000XM2 ออกมา โดยมีต้นแบบมาจาก Model MDR-1000X และได้ปรับปรุงคุณภาพเสียง พร้อมคุณสมบัติบางประการที่ดียิ่งขึ้นไปอีก ทำให้ประสบความสำเร็จด้านการตลาดในระดับที่ก้าวเข้าสู่แถวหน้าของชุดเฮดโฟนประเภทนี้ เคียงคู่กับแบรนด์หลักๆ ที่โดดเด่นทางด้านนี้มาก่อนได้อย่างเต็มภาคภูมิ

            และปีที่ผ่านมา Model WH-1000XM3 ก็ได้เดินทางเข้าสู่ตลาด ด้วยความมุ่งมาดว่าจะก้าวเหลื่อมใครต่อใครที่เคยเบียดอยู่เคียงข้างกันออกไปข้างหน้าอย่างน้อยๆ ก็หนึ่งก้าวให้ได้

            ซึ่งพัฒนาการล่าสุดนี้ก็เช่นเดียวกับรุ่นที่ผ่านๆ มา คือ เป็นชุดหูฟังแบบ Over-Ear Headphones ระดับพรีเมียม ผนวกด้วยเทคโนโลยีตัดเสียงรบกวนแบบ Active Noise Canceling: ANC ที่ผู้ผลิตระบุว่าได้ปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะกับระบบการตัดเสียงรบกวน ที่ให้รู้สึกถึงความสงัดและรับรู้ได้ถึงความเป็นส่วนตัวที่ดีขึ้นกว่าเดิม

            Model WH-1000XM3 เชื่อมต่อการทำงานในแบบไร้สายกับอุปกรณ์ร่วมทั้งผ่านระบบ Bluetooth และระบบ NFC: Near Field Communication นอกจากนี้ยังรองรับ Google Assistant ด้วย

Sony WH-1000XM3

กับภาพลักษณ์และคุณสมบัติทั่วไป

            แม้จะเป็นเฮดโฟนแบบครอบหู มีสายคาดศีรษะ แต่เมื่อดูด้วยสายตาและสัมผัสต้อง Sony WH-1000XM3 กลับมิได้รู้สึกถึงความใหญ่โตแบบเทอะทะแต่อย่างใด หากให้ความรู้สึกกะทัดรัด และรับรู้ได้ถึงคุณภาพของวัสดุที่กอปรกันขึ้นมาเป็นโครงสร้างรวม ว่าจัดอยู่ในระดับดีประเภทหนึ่ง, อะไรแถวๆ นั้น

            อีกทั้งยังมีน้ำหนักเบากว่าที่คาดอีกด้วย เมื่อลองสวมใส่เล่นๆ ขณะยังไม่ได้ใช้งาน ก็ให้รู้สึกรับรู้ได้อยู่ในทีเป็นอย่างดีว่ามีความคล่องตัวขณะสวมใส่สูงมาก

            ที่กึ่งกลางของสายคาดศีรษะ และฝาครอบ Ear-Pad ส่วนที่ต้องสัมผัสใบหู มีความนุ่มบ่งบอกให้รู้ได้ในทีว่าคงต้องสวมใส่สบาย และสวมใส่ได้เป็นเวลานานติดต่อกันอย่างแน่นอน ผู้ผลิตระบุว่าฝาครอบนี้ได้บุโฟมยูรีเทนที่มิเพียงให้ความนุ่มสบายสูงเท่านั้น หากยังช่วยลดแรงกดดันรวมทั้งยังช่วยกระจายแรงกดดันในตัวอีกด้วย รวมทั้งยังช่วยเพิ่มความกระชับให้กับใบหูได้มั่นคงยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันได้ออกแบบโครงสร้างในการเพิ่มพื้นที่ว่างระหว่างฝาครอบที่แนบใบหู กับช่องหูในส่วนของประสาทสัมผัสด้วยการได้ยิน ให้มีปริมารตรที่เหมาะสมตามหลักสรีรศาสตร์ การได้ยินเสียงจากเฮดโฟนชุดนี้จึงเสมือนฟังอยู่ในห้องฟังที่เป็นส่วนตัวอย่างแท้จริง

            อีกทั้งเมื่อผสานเข้ากับระบบตัดเสียงรบกวนที่ใช้โพรเซสเซอร์ป้องกันเสียงรบกวนความละเอียดสูงแบบ HD Noise Canceling Processor QN1 ที่เป็นพัฒนาการล่าสุด ทำให้มั่นใจได้ว่าในการทำงานนั้นมันจะไม่ไปลดทอนคุณภาพเสียงจากต้นฉบับแต่อย่างใด ขณะใช้งานจึงสามารถเข้าถึงความสุนทรีย์ของเสียงเพลง เสียงดนตรี ที่กำลังฟังได้อย่างเต็มคุณภาพแท้จริง แม้ว่าจะสวมใส่อยู่ระหว่างการเดินทาง หรืออยู่ท่ามกลางความจอแจวุ่นวายในสาธารณสถานต่างๆ ก็ตาม ก็ยังให้รู้สึกเสมือนอยู่ในโลกส่วนตัวที่มีเพียงคุณกับเสียงดนตรีเท่านั้น

            นอกจากนั้ระบบ Noise Canceling ที่เป็นพัฒนาการล่าสุดนี้ ยังทำงานแบบอัตโนมัติกับทุกสภาพแรงดันอากาศ ทำให้ขณะสวมใส่ใช้งานบนเครื่องบินจึงยังคงประสิทธิภาพการทำงานที่ให้คุณภาพเสียงออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม

            กล่าวสำหรับโครงสร้างภายในของชุดตัวขับเสียง และภาคขยายเสียงนั้น ได้ผนวกแอมปลิไฟเออร์เข้าไว้ในชุดโพรเซสเซอร์ QN1 ที่ให้ค่าอัตราส่วนสัญญาณต่อเสียงรบกวนออกมาได้สูงอย่างน่าทึ่ง ขณะเดียวกันก็สามารถลดอัตราการบิดเบือนของเสียงจากอุปกรณ์ต้นทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ไดรเวอร์ขนาด 40 มิลลิเมตร ขึ้นรูปไดอะแฟรมด้วยพอลีย์เมอร์ผลึกเหลว (Liquid Crystal Polymer: LCP) เคลือบอะลูมิเนียม ที่ให้การทำงานสนองตอบต่อย่านความถี่ต่างๆ ได้อย่างยอดเยี่ยม โดยสามารถรองรับพลังเสียงในย่านความถี่ต่ำๆ ได้เป็นอย่างดี ขณะที่สามารถทำงานตอบสนองย่านความถี่สูงไปได้ถึง 40kHz

            สำหรับการทำงานระบบไร้สายผ่าน Bluetooth นั้น Model WH-1000XM3 ใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสสัญญาณแบบ LADC ที่เป็นสิทธิบัตรเฉพาะซึ่งพัฒนาขึ้นมาโดย Sony สามารถถ่ายโอนสัญญาณได้สูงกว่าระบบ Bluetooth ทั่วๆ ไป ถึงสามเท่า ที่อัตราการถ่ายโอนสูงสุด 990kbps ทำให้การส่งผ่านสัญญาณมีความมั่นคงยิ่งขึ้น การรับฟังจึงสามารถสัมผัสได้ถึงรายละเอียดเสียงที่มีคุณภาพสูงเทียบเท่าการเชื่อมต่อผ่านสายสัญญาณชั้นดี ด้วยปลอดการสูญเสียของสัญญาณข้อมูลในระดับปราศจากนัยยะสำคัญนั่นเอง

            ความโดดเด่นอีกประการของชุดเฮดโฟนตัวนี้ก็คือ ระบบ Sense Engine ที่ช่วยให้การควบคุมเสียงสามารถสอดรับกับพฤติกรรมต่างๆ ในทุกบรรยากาศขณะสวมใส่ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นขณะเดินทาง ระหว่างการเดินทอดน่อง หรือแม้แต่ขณะนั่งรอรับบริการใดๆ ก็ตาม เพราะผู้สวมใส่สามารถปรับตั้งค่าบรรยากาศเสียงรายรอบ หรือ Ambient Sound ได้อย่างเหมาะสมโดยอัตโนมัติ และสามารถสัมผัสบรรยากาศเสียงรายรอบได้อย่างชัดเจนโดยที่มิพักต้องถอดเฮดโฟนออกแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังใช้ระบบแตะสัมผัสที่ผิวด้านนอกของฝาครอบ Ear-Pad ซึ่งจะเป็นการลดระดับความดังเสียงลง ทำขณะสวมใส่ก็ยังสามารถสื่อสารกับบุคคลภายนอกได้

            ระบบแตะสัมผัสที่ว่านี้ยังให้ใช้กับการรับและพูดคุยโทรศัพท์ได้ด้วย ซึ่งช่วยให้ได้ความคล่องตัวสูง

            Model WH-1000XM3 ยังผนวกไว้ด้วยภาคปรับแต่งเสียงแบบ Equalizer ในตัว ทำให้สามารถตั้งค่าเสียงได้อย่างเหมาะสมที่ตรงตามความต้องการมากที่สุด รวมทั้งยังสามารถตั้งค่าบรรยากาศเสียงแบบต่างๆ ตามสภาพแวดล้อมได้อีกมากกว่ามาก ไม่ว่าจะเป็นเวทีกลางแจ้ง ในหอประชุม คลับ ตลอดจนบรรยากาศเสียงในสนามกีฬา

            สำหรับการปรับแต่งหรือตั้งค่าอย่างละเอียดแบบ Fine Tuning สามารถทำผ่านแอปพลิเคชันได้อย่างสะดวก ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่รองรับระบบปฏิบัติการทั้ง Android และ iOS

            คุณสมบัติเด่นอีกประการของเฮดโฟนชุดนี้ก็คือแบตเตอรี่ที่ใช้เป็นแบบคุณภาพสูง และต่อการประจุไฟฟ้าเข้าเต็มแบตเตอรี่หนึ่งครั้ง ด้วยเวลา 3 ชั่วโมง สามารถใช้งานติดต่อกันได้นานถึง 30 ชั่วโมง ในกรณีที่ต้องการใช้งานอย่างเร่งด่วน สามารถใช้อะแดปเตอร์เข้ามาช่วยในการประจุไฟฟ้าเข้าเครื่อง โดยใช้เวลาเพียง 10 นาที ก็สามารถนำเฮดโฟนไปใช้งานได้นานถึง 5 ชั่วโมง

            คุณสมบัติด้านเทคนิคระบุว่าเป็นชุดเฮดโฟนแบบไดนามิก ทำงานในระบบปิด ชุดตัวขับเสียงขึ้นรูปแบบ Dome ใช้วัสดุ CCWA เป็นคอยล์เสียง แม่เหล็กแบบ Neodymium อิมพีแดนซ์ 47 โอห์ม ให้การทำงานตอบสนองความถี่ 4Hz – 40kHz วัดค่าความไวได้ 104.5dB/Wm น้ำหนัก 255 กรัม (โดยประมาณ) และมีช่องเสียบมินิ แจ็ค สเตรีโอ ให้ด้วย

            บจก.โซนี่ ไทย ผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย ตั้งราคา Sony WH-1000XM3 เอาไว้ที่ 13,990.-บาท

            และผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sony.co.th/th/electronics/headband-headphones/wh-1000xm3 ทั้งยังสามารถสั่งซื้อ On-Line ผ่านหน้าเพจดังกล่าวได้ด้วย

Sony WH-1000XM3

กับการใช้งานลองเล่นและคุณภาพเสียง

            ดังที่ได้กล่าวไป เฮดโฟนชุดนี้ออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่าย สะดวก การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ร่วมผ่าน Bluetooth ทำได้รวดเร็วชนิดที่ไม่ต้องกด Pairing ซ้ำเลย ซึ่งนับว่าทึ่งมาก

            เพราะเป็นครั้งแรกของผมจริงๆ ที่เวลาให้อุปกรณ์ Bluetooth ทำงานจับคู่กันแล้ว แค่แตะชื่ออุปกรณ์ที่เห็นบนหน้าจอสมาร์ทโฟนเพียงแค่พริบตา ชื่ออุปกรณ์ที่ว่าก็ขึ้นสถานะ Connected ทันที โดยที่ไม่ขึ้นสถานะ ‘กำลังเชื่อมต่อ’ ก่อน แสดงว่าประสิทธิภาพของ Bluetooth ในเฮดโฟนนั้นยอดเยี่ยมมาก

            เพราะที่ผ่านๆ มา เร็วสุดก็ต้องแตะย้ำสองครั้งเป็นอย่างน้อย การจับคู่เชื่อมต่อกันของอุปกรณ์จึงจะเปลี่ยนสถานะจาก Not Connect เป็น Connected นั้น, เกิดขึ้นกับผมขณะที่ต้องการลองใช้งานแบบฟังเสียงเบื้องต้นจากเพลงที่เก็บเอาไว้ในสมาร์ทโฟน ซึ่งไม่ได้คิดหวังว่ามันจะจับคู่กันได้เร็วขนาดนี้ หลังจากฟังเป็นการอุ่นเครื่องได้สักพัก พร้อมๆ กับที่มีความพร้อมจะลองใช้งานจริงกับเจตนาแรก คือต้องการลองระบบ Noise Canceling สิ่งแรกที่ทำก็คือเข้าไปดาวน์โหลด Headphones Connect Application ซึ่งใช้เวลาไม่กี่วินาทีก็แล้วเสร็จ หลังจากลงทะเบียนผ่านหน้าจอแสดงความจำนงต้องการใช้งานร่วมกับ Model WH-1000XM3 ทั้งคู่ก็พร้อมใช้งานร่วมกันทันที

            จากนั้นก็สามารถเข้าไปตั้งค่าต่างๆ ตามที่ต้องการในแอปพลิเคชันได้อย่างสะดวก และง่ายดาย จึงขอข้ามขั้นตอนนี้ไปเพราะเดี๋ยวจะกลายเป็น ‘คู่มือการใช้งาน’ แทนที่จะเป็น ‘รีวิว’

            อย่างไรก็ตาม, ขณะสวมใส่ฟังเพลงในช่วง ‘อุ่นเครื่อง’ ที่บอกไปข้างต้นนั้น ผมก็รับรู้ได้ว่าเฮดโฟนชุดนี้ให้ความสงัดได้ดีมาก ฝาครอบ Ear-Pad ส่วนที่เป็นโฟมนุ่มนนั้นแนบกับใบหูและครอบหูได้ ‘สนิท’ ดีมาก ตัดบรรยากาศเสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในห้องออกไปได้อย่างหมดจด ด้วยขณะนั้นผมอยู่ในห้องทำงานที่มีเสียงรบกวนต่างๆ ตามธรรมชาติเป็นปกติ แต่เมื่อสวมเฮดโฟนชุดนี้ครอบทับหูโดยที่ยังไม่ได้เปิดเพลงฟัง สิ่งที่เคยเป็น Noise Around ก็มิได้ปรากฏให้รับรู้แม้แต่น้อย

            หลังจากเปิดเพลงฟังและก้าวออกมาจากห้องทำงาน ไม่นานนาทีผมก็พ้นมาจากตัวอาคารเพื่อเดินไปหาอาหารมื้อกลางวัน เสียงที่เคยสัมผัสเป็นปกติแบบที่เรียกว่า Traffic Noise ขณะเดินบนฟุตบาทริมถนน 8 เลน ไม่ได้เข้ามารบกวนเสียงเพลงที่ผมกำลังฟังอยู่เลย มันให้ความรู้สึกเหมือนผมกำลังฟังเพลงอยู่ในห้องฟัง – แต่กำลังเดิน, อยู่มากกว่า แสดงให้เห็นถึงระบบตัดเสียงรบกวนภายนอก หรือ Noise Canceling ของเฮดโฟนชุดนี้มันเยี่ยมยอดมากทีเดียว

            เพราะหากหลับตาลงแล้วยืนนิ่งๆ อยู่กับที่, นี่ เป็นต้องนึกว่าตัวเองอยู่ในห้องปลอดเสียงรบกวนอย่างแน่นอน เพราะมันสามารถขจัดเสียงรบกวนภายนอกออกไปได้อย่างหมดจดจริงๆ          

            แต่เพื่อความปลอดภัย, เดินไปอีกไม่กี่ก้าว ผมก็เข้าไปตั้งค่า Ambient Sound Control เพื่อให้รับรู้ถึงบรรยากาศเสียงรายรอบด้วย ซึ่ง Sense Engine ทำงานได้อย่างน่าชื่นชมมาก เพราะแม้จะให้รับรู้บรรยากาศเสียงรายรอบที่ว่า มันก็หาได้ไปลดทอนความสุนทรีย์ของเสียงดนตรีที่กำลังฟังอยู่แต่อย่างใด

            ต้องนับว่าการทำงานของชิป HD Noise Canceling Processor QN1 และ Sense Engine ให้การทำงานได้อย่างบรรลุวัตถุประสงค์ในการออกแบบ ที่ต้องการขจัดเสียงรบกวนภายนอกออกไปให้หมดสิ้น ขณะเดียวกันก็มีแนวทางในการเอื้อให้รับรู้ถึงบรรยากาศรายรอบได้โดยไม่เสียการ อาทิ การใช้งานสวมใส่ในอาคารขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่ เช่น สนามบิน สถานีรถไฟฟ้า ในขณะที่ฟังเพลงด้วยความสุนทรีย์เป็นส่วนตัว ก็ไม่พลาดประกาศต่างๆ ที่สำคัญต่อการเดินทางเช่นกัน มันเป็นความรับรู้ที่ไม่ได้รู้สึกว่าถูกรบกวนแต่อย่างใด

            จำไม่ได้, ว่าก่อนหน้านี้เคยลองเฮดโฟนชุดไหนที่มีระบบตัดเสียงรบกวนภายนอกยอดเยี่ยมเช่นนี้มาก่อนหรือเปล่า แต่ขอสรุปเบื้องต้นตรงนี้ว่า Active Noise Canceling ใน Model WH-1000XM3 มันให้การทำงานที่ยอดเยี่ยมจริงๆ ครับ

            กลับมาว่าถึงเรื่องคุณภาพเสียงของ Sony WH-1000XM3 ชุดนี้กันบ้าง

            แม้ในสมาร์ทโฟนของผมจะได้ Rip เพลงด้วยไฟล์เสียงคุณภาพสูงเก็บเอาไว้พอประมาณ แต่บ่อยครั้งที่เป็นการฟังแบบเอาเพลินนั้น ผมชอบจะเข้าไปที่ You Tube แล้วเลือกฟังเพลงเก่าๆ จำพวก Oldies but Goldies ยุค 50’s, 60’s, 70’s รวมทั้งเพลงไทยเก่าๆ ยุคสุนทราภารณ์ ยุคกึ่งลูกกรุงลูกทุ่ง มาฟัง เพราะบ่อยครั้งที่ได้ฟังเพลงเหล่านี้แล้วมันให้ความรู้สึก และบรรยากาศ เหมือนย้อนกลับไปคราวจากบ้านต่างจังหวัด ย้ายมาเรียนในเมืองกรุงเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษมาแล้วหมาดๆ  นึกถึงบรรยากศสวนลุมพินีที่วันศุกร์หลังเลิกเรียนนั่งรถเมล์สาย 17 ไปเตะฟุตบอล ก่อนกลับบ้านก็กระโดดลงเล่นน้ำในสระที่ยุคนั้นมีการขึงขอบเขตบริเวณท่าจำกัดที่ทางให้ลงเล่นน้ำได้

            นึกถึงบรรยากาศนั่งรถรางสายสุดท้ายไปเที่ยวเขาดินวนากับเพื่อนๆ ห้องเรียนเดียวกัน นึกถึงวันหยุดที่พ่อวานเพื่อนขับรถพาครอบครัวไปเที่ยวสวนสามพราน ที่ตลอดเส้นทางมีแต่ความรื่นรมย์ ร่มรื่น นึกถึงบรรยากาศของเยาวราชยามไปเที่ยวที่ทำงานพ่อ ซึ่งเต็มไปด้วยสีสันของความเคลื่อนไหวทั้งของผู้คน และยานพาหนะ ที่ชวนให้ตื่นตาอยู่ตลอดเวลา

            มันเป็นบรรยากาศยุคที่พูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นยุคบ้านดี เมืองดี จริงๆ อยู่ในห้องเงียบๆ ฟังเพลงพวกนี้ไป หลับตาเคลิ้มคล้อยตามไป ไม่อยากลืมตาตื่นขึ้นมาเจอยุค 4G, 5G ที่เป็นการควบรวมของเทคโนโลยีดิจิทัลในแทบจะทุกแขนงเลยจริงๆ

            เพลงจำพวกที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นต้องยอมรับในข้อจำกัดหนึ่ง ว่าการบันทึกเสียงในสมัยนั้นมันเทียบเคียงกับไม่ได้เลยกับปัจจุบันที่ทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ และเทคโนโลยี ก้าวหน้ากว่ากันมาก แต่ก็แปลกอย่างหนึ่งสำหรับความเห็นส่วนตัวของผม คือผมกลับพบว่าความสุนทรีย์ของเสียง ทั้งเสียงร้อง เสียงดนตรี กล่าวโดยรวมแล้วเพลงสมัยก่อนส่วนใหญ่จะมีความกลมกล่อม กลมกลืน และมีเสน่ห์ให้ชวนฟังทั้งเนื้อหา การใช้ภาษา และท่วงทำนอง มากกว่าเพลงยุคหลังๆ เป็นไหนๆ

            บ่อยครั้งที่ผมเปิดเพลงพวกนี้ฟังจากโน้ตบุ้คขณะทำงานไปด้วย เช่นเดียวกับหลายๆ ครั้ง ที่ออกไปข้างนอกแล้วมีเวลาขณะต้องรอบางสิ่งบางอย่าง ผมก็ฟังจากการเข้าเว็บไซต์ผ่านสมาร์ทโฟนประกอบชุดหูฟัง ซึ่งสุดแท้แต่ว่าเวลานั้นจะใช้หูฟังชุดไหนอยู่ หากไม่มีของมาให้ลอง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเอียร์โฟนสองสามชุดที่มีติดกระเป๋า ติดรถ ติดเป้ สุดแท้แต่ว่าจะสะดวกกับชุดไหน แต่ยอมรับว่าตั้งแต่ฟังเพลงในกลุ่มนี้กับ Model WH-1000XM3 นี่ มันให้รู้สึกทึ่งกับน้ำเสียงเอามากๆ

            เพราะเป็นน้ำเสียงที่มีความเป็นดนตรีในความหมายของ Musicality อย่างเต็มเปี่ยม ชนิดที่ไม่เคยรู้สึกหรือเข้าถึงสัมผัสนั้นจากหูฟังชุดไหนๆ กับเพลงพวกนี้มาก่อนเลย ทั้งเสียงร้อง เสียงดนตรี พาผมย้อนกลับไปสู่บรรยากาศและธรรมชาติของความสุนทรีย์ในยุคนั้นได้อย่างเต็มเปี่ยม ทั้งขณะที่ใช้ระบบ Active Noise Cancellation เวลาที่สวมใส่เฮดโฟนออกไปข้างนอก และไม่ใช้ระบบตัดเสียงรบกวนเมื่อกลับเข้ามาฟังอยู่ในห้อง ทั้งสองลักษณะการใช้งานมันให้อรรถรสในความสุนทรีย์ของเสียงดนตรีได้อย่างเท่าเทียมกันน่าทึ่ง

            เป็นน้ำสียงที่เปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา มีบรรยากาศของความสุนทรีย์อย่างอบอวล ชวนให้เสน่หายิ่งนัก

            ไม่เพียงแต่กับเพลงเก่าๆ ในอดีตเท่านั้นที่ฟังผ่านหูฟังชุดนี้แล้วให้น้ำเสียงที่ประทับใจมาก หากแต่กับไฟล์เพลงในยุค Hi-Res ที่เล่นผ่าน Hi-Res Digital Noise Canceling Music Player Model NW-A56HN ของ Sony เช่นเดียวกัน ก็ให้น้ำเสียงออกมาน่าทึ่ง แกมชวนให้ประหลาดใจเอามากๆ เพราะให้การตอบสนองต่อสัญญาณเสียงดนตรีออกมาได้กว้างอย่างเหลือเชื่อ น้ำเสียงมีความกลมกลืนตลอดย่านความถี่ที่บ่งบอกให้รู้ได้ว่าให้การทำงานร่วมกันโดยมีสมดุลเสียงที่ดีเอามากๆ เสียงกลางเปิดโปร่งอย่างน่าฟัง ขณะที่เสียงเบสส์ก็ลงไปได้ต่ำลึกและเปี่ยมไปด้วยพลังแบบเอาการเอางานดีมาก ประกายเสียงแหลมระยิบระยับและทอดออกไปได้ไกล มีความกระจ่างใส ชัดเจน โดยที่ยังคงความนุ่มนวลของปลายเสียงเอาไว้ได้เป็นอย่างดี

            จากหลายๆ แทร็ค ที่เป็นไฟล์ความละเอียดสูง ผมออกจะชื่นชอบการฟังงานซิมโฟนี ออเคสตร้า กับชุดหูฟังนี้มากเป็นพิเศษ เพราะไม่เคยรู้สึกว่าฟังงานพวกนี้กับหูฟังชุดไหนแล้วสัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่ ความโอ่อ่า ของเสียงดนตรีเช่นนี้มาก่อนเลย โดยเฉพาะเมื่อเล่นผ่าน Model NW-A56HN ที่ให้เลือกบรรยากาศเสียงแบบ Dynamic Audio Environment ได้ แล้วเลือกไปที่ Concert Hall มันให้บรรยากาศเสียงออกมาเหมือนอยู่ในฮอลล์ขนาดใหญ่จริงๆ ในคราวที่ทุกชิ้นเครื่องดนตรีโหมประโคมขึ้นมาพร้อมๆ กัน มันก็ให้เสียงออกมาได้อย่างยิ่งใหญ่และทอดขยายไปได้ไกลเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนฟังจากลำโพงชั้นเยี่ยมในห้องฟังที่ผ่านการปรุงแต่งทางด้านอะคูสติกมาอย่างวิเศษ, อย่างไรก็อย่างนั้น ขณะเดียวกันยามที่ทุกเสียงเงียบลง ความสงัดในความเงียบบ่งบอกให้รู้ได้จากมวลอากาศที่สงบนิ่งอย่างแท้จริง

            เสียงของกลุ่มเครื่องสาย เครื่องเป่าลมไม้ และเปียนโน มีความเป็นธรรมชาติที่สมจริง และน่าฟังเอามากๆ โดยเฉพาะกับบางช่วง จากบางแทร็ค ที่เป็นการเดี่ยวไวโอลินนั้น  ทั้งอ่อนหวานและพลิ้วไหวในระดับที่ต้องบอกว่าสุดยอดเอามากๆ กับบางแทร็คที่เป็นการประชันกันระหว่างเปียนโนกับไวโอลินนั้น จบลงแล้วแทบจะลุกขึ้นยืนปรบมือให้แบบ Standing Ovation พร้อมตะโกน Encore!!! นั่นเลย

            ไม่เพียงแต่ให้การทำงานอย่างยอดเยี่ยมกับเครื่องดนตรีอะคูสติกเท่านั้น กับดนตรีอิเล็คทริคก็ให้เสียงออกมาอย่างน่าฟัง อย่างเสียงกรีดสายกีตาร์โลหะมีกังวานเสียงที่พลิ้วไหว และมีความเป็นธรรมชาติสูงมาก ปราศจากความคมแข็งให้รู้สึกระคายหูแต่อย่างใด ให้ความสุนทรีย์ของความเป็นดนตรีได้น่าฟังมาก

สรุป

            หากจำไม่ผิด Sony WH-1000XM3 น่าจะเป็นเจเนอเรชันที่สามของชุดหูฟังแบบ Active Noise Canceling ของค่าย ซึ่งกับเจเนอเรชันก่อนๆ ผมไม่เคยได้ลองเป็นกิจจะลักษณะเช่นคราวนี้ จึงไม่สามารถบอกความแตกต่างกับรุ่นก่อนหน้านี้ได้ไม่ว่าจะด้วยบริบทใดก็ตาม

            แต่กับรุ่นนี้, ที่เป็นพัฒนาการล่าสุด บอกได้ว่ามันให้การทำงานที่ยอดเยี่ยมเอามากๆ ครับ

            ระบบการทำงานตัดเสียงรบกวนนั้นทำได้ถึงระดับที่สามารถใช้คำว่า ‘สงัด’ ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะแม้กระทั่งขณะสวมฟังเพลงและพิมพ์งานไปด้วย ยามที่จบแทร็คแล้วก่อนจะขึ้นแทร็คใหม่ ความเงียบ ณ จุดนั้นขณะที่นิ้วมือผมยังรัวคีย์บอร์ดไปด้วยนั้น เสียงปลายนิ้วกระแทกแป้นที่เคยชินกับการพิมพ์ดีดแบบที่เคยถูกค่อนขอดว่า ‘รัวเป็นข้าวตอกแตก’ ไม่มีเล็ดลอดให้เข้ามาได้ยินแม้แต่น้อยนิด ทั้งๆ ที่ต้นกำเนิดเสียงอยู่ห่างจากใบหูทั้งสองข้างที่มีชุดเฮดโฟนสวมทับเอาไว้ ห่างกันเพียงแค่คืบเศษๆ เท่านั้นเอง

            ทว่าในยามที่ออกไปใช้ชีวิตข้างนอกห้อง พร้อมเปิดให้ระบบ Sense Engine ทำงาน เพื่อรับรู้บรรยากาศเสียงรายรอบไปพร้อมๆ กับการฟังเพลงด้วยนั้น มันก็ให้การทำงานได้อย่างเคร่งครัด ในความหมายที่ว่าให้รับรู้ได้ถึง Traffic Noise อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ขณะเดียวกันระดับเสียงจากภายนอกที่ได้ยินนั้น ก็มิได้ก้าวล่วงเข้าไปถึงระดับทำลายบรรยากาศความสุนทรีย์ของเสียงเพลง เสียงดนตรี ที่กำลังฟังอยู่ในเวลาเดียวกันนั้นด้วยแต่อย่างใด

            นับเป็นเฮดโฟนที่พร้อมจะใช้ชีวิตร่วมไปกับผู้คนที่สวมใส่ด้วยได้เป็นอย่างดี ทั้งในรูปแบบ Indoor และ Outdoor ด้วยความลงตัวอย่างถึงที่สุดแท้จริง

            หากคุณเป็นนักเดินทางที่มีเสียงดนตรีอยู่ในหัวใจ ไม่ควรพลาดการเป็นเจ้าของเฮดโฟนชุดนี้ในทุกกรณี

            ขอแนะนำในระดับที่ฝรั่งบอกว่า Highly Recommended นั่นแหละครับ!!!!