What HI-FI? Thailand

SONUS FABER ELECTA AMATOR III

DAWN NATHONG

ลำโพงฉลองตำนาน 35 ปี

Sonus Faber ปล่อยคอลเล็คชั่นลำโพงรุ่นพิเศษ เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 35 ปีของบริษัทตั้งแต่ช่วงปี 61 ที่ผ่านมา เริ่มกันตั้งแต่อนุกรม Sonetto Collection ที่เปิดตัวช่วงเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว จนมาถึงในปีนี้ทางบริษัทได้ทำการเปิดตัวลำโพงอนุกรม Heritage Collection ออกมาสองรุ่น นั่นคือ ELECTA Amator III และ MINIMA Amator II

        ได้ยินชื่อแล้ว แฟนพันธุ์แท้ของลำโพงค่ายนี้ อาจจะคุ้นเคยกันดี เพราะทั้งสองรุ่นได้แรงบันดาลใจมาจากลำโพงอนุกรมดังของ Sonus Faber ในอดีต นั่นคือรุ่น ELACTA Amator และ MINIMA Amator ซึ่งผลิตเวอร์ชั่นแรกออกมาช่วงปลายยุค 80 ถึง 90 นั่นเอง โดยถือเป็นลำโพงแบบวางหิ้งที่ประสพความสำเร็จมากที่สุดรุ่นหนึ่งของ Sonus Faber เลยทีเดียวจวบจนถึงปัจจุบันนี้ก็กลายเป็นหนึ่งในลำโพงรุ่นตำนานของนักสะสมไปแล้ว

        สำหรับลำโพงวางหิ้งรุ่น ELECTA Amator III เป็นลำโพงรุ่นพี่ของอนุกรม Heritage Collection ที่ทางบริษัท เค เอส ซันส์กรุ๊ป จำกัด นำเข้ามาจำหน่ายหลังเปิดตัวที่งานไฮเอ็นด์ มิวนิค ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เท่าที่ได้เห็นตัวจริงเป็นครั้งแรกก็รู้สึกสะดุดตาเลยทีเดียว เพราะงานฝีมือแบบแฮนด์เมดจากอิตาลีของค่ายนี้ มักดึงดูดสายตาของทุกคนได้อยู่เสมอ

        โดยรวมรูปลักษณ์ภายนอกมีการเปลี่ยนแปลงไปจากรุ่นในอดีตทั้ง ELECTA Amator และ ELECTA Amator II พอสมควร โดยเฉพาะในส่วนของไดร์เวอร์ ซึ่งรุ่นเดิมจะใช้ทวีตเตอร์ Esotar 330 กับเบส/มิดเรนจ์ขนาด 7 นิ้วที่ผลิตโดย Scan Speak ก็มีการเปลี่ยนมาใช้ไดร์เวอร์ใหม่ที่ทาง Sonus Faber ออกแบบและผลิตขึ้นเอง ส่วนงานตู้ยังคงกลิ่นอายความคลาสสิคแบบดั้งเดิม รวมถึงเพิ่มความหรูหราขึ้นไปอีกระดับ ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นจากมันสมองและสองมือ ของหัวหน้าทีมออกแบบ Livio Cucuzza จาก WOM (World of McIntosh) ร่วมกับหัวหน้าวิศวกรด้านอคูสติส์ Paolo Tezzon จาก Sonus Faber

รายละเอียดที่น่าสนใจ

DAMPED APEX DOME™ TECHNOLOGY (D.A.D.)

เป็นเทคโนโลยีการผลิตทวีตเตอร์ซอฟท์โดมรุ่นใหม่ล่าสุด ที่ทางบริษัทคิดค้นขึ้นเพื่อนำไปใช้กับลำโพงอนุกรมสูงของ Sonus Faber ในปัจจุบันรวมถึงรุ่นเรือธงอย่าง Aida โดยใช้โครงสามขากึ่งกลางมีวัสดุปลายแหลม แตะกลางโดมทวีตเตอร์เป็นการแดมป์แบบ Arrow-point ช่วยให้มีการตอบสองทางเฟสที่ราบรื่น ทวีตเตอร์ที่ใช้เป็นรุ่น H28 XTR-04 ขนาด 28 มม. ด้านท้ายของทวีตเตอร์จะเป็นห้องอคูสติกส์ที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง สามารถมองเห็นได้จากท่อระบายเบสด้านหลัง

MIDWOOFER

หากเทียบกับรุ่นเก่าอย่าง ELECTA Amator รุ่น ELECTA Amator III จะมีการปรับลดขนาดของมิด/วูฟเฟอร์ลงจากเดิม 7 นิ้วเป็น 6.5 นิ้ว รุ่น MW18 XTR-04 โดยมีการพัฒนาไดร์เวอร์ขึ้นมาด้วยกรรมวิธีพิเศษพิเศษสำหรับโปรเจคนี้ ตัวกรวยขึ้นรูปจากเยื่อกระดาษ (Cellulose Plup) ผสมเส้นใยธรรมชาติ (Natural Fibers) ปล่อยให้แห้งอย่างช้า ๆ ไม่ใช้วิธีปั้มขึ้นรูปแบบกรวยไดร์เวอร์ทั่วไป เพื่อผลทางด้านอะคูสติกส์ ซึ่งดูแล้วก็มีกรรมวิธีคล้ายกับการผลิตกรวยกระดาษบางรุ่นของ Scan Speak โครงสร้างที่ยึดดอกลำโพงเป็นอลูมิเนียมหล่อ ใช้แม่เหล็กขนาดยักษ์

PARACROSS TOPOLOGY™

เป็นการออกแบบวงจรครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์คแบบ “Semi-balance” ที่จัดวางอุปกรณ์ประเภทรีแอ็คเตอร์ อาทิ ตัวเก็บประจุและตัวเหนี่ยวนำ / คอลย์ เอาไว้ทางซีกลบ (Negative) ของวงจร เพื่อลดการเหนี่ยวนำคลื่นวิทยุ และช่วยให้ถ่ายทอดรายละเอียดของเสียงออกมาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ใช้ขั้วต่อสายลำโพงไบดิ้งโพสต์แบบไบไวร์ติดตั้งบนเพลตทองเหลือง

MATERIALS

ตัวตู้ของ ELECTA Amator III นั้นเพิ่มความหรูหราขึ้นมากเลยทีเดียว ส่วนฐานของลำโพงมีการใช้วัสดุอย่างหินอ่อน Carrara สีขาวจากอิตาลี ซึ่งเป็นแหล่งหินอ่อนที่ดีที่สุดในโลก นิยมนำไปใช้ในงานศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมต่าง ๆ หนา 30 มม. เสริมความแข็งแรงด้วยโครงทองเหลือง รวมถึงขาตั้งที่ออกแบบมาเข้าคู่กัน ตู้ส่วนบนทำจากไม้วอลนัตแท้โครงสร้างแบบแซนด์วิชหนา 25 มม. แผงหน้าลำโพงบุด้วยหนังเทียมสีดำ เหนืออื่นใดนอกจากความสวยงาม วัสดุทั้ง 4 ประเภทที่นำมาประกอบเป็นตู้ลำโพง ล้วนถูกคำนวณมาเป็นอย่างดีแล้วเพื่อลดเรโซแนนท์ไม่พึงประสงค์ และหวังผลด้านอคูสติกส์สูงสุดเป็นสำคัญ

การเซ็ตอัพและติดตั้ง

เนื่องจากการทดสอบครั้งนี้เป็นการมารับฟังนอกสถานที่ ณ โชว์รูม KS HOME ENTERTAINMENT ที่ CDC ซึ่งทางโชว์รูมได้จัดเตรียมซิสเต็มไว้สำหรับลุกค้าได้ทดลองฟังอยู่แล้ว คร่าว ๆ ประกอบด้วย

ทั้ง McIntosh และ Sonus Faber ต่างเป็นพารต์เนอร์กันอยู่แล้ว ทำให้น้ำเสียงมีความลงตัวกันดี หมดห่วงเรื่องของกำลังขับ ทั้งหมดถูกจัดวางอย่างง่าย ๆ ในห้องฟังที่มีสภาพอคูสติกส์กึ่งลำลอง แหล่งโปรแกรมถูกจัดวางบนชั้นวาง ส่วนเพาเวอร์แอมป์และปรีแอมป์วางบนพื้นโดยตรง เชื่อมต่อด้วยสายแบบบาล้านซ์ทั้งระบบ ตัวลำโพงถูกติดตั้งด้วยน็อตขันยึดรวมกับขาลำโพงรุ่นพิเศษที่ถูกออกแบบมาร่วมกัน มีความสูงประมาน 24 นิ้ว ตัวเพลตและขาเป็นโลหะรมดำส่วนฐานล่างเป็นแท่นหินอ่อน Carrara ตัดด้วยเพลททองเหลืองเหมือนกับตัวลำโพง ด้านล่างเป็นสไปค์ทองเหลืองขนาดใหญ่แข็งแรงสี่จุด

        อันที่จริงแล้ววันที่ไปทดสอบ เพิ่งมีการยกลำโพงเข้ามาในห้องของโชว์รูมใหม่อีกรอบ และจัดวางลำโพงแบบคร่าว ๆ ยังไม่ได้มีการเซ็ตอัพแบบละเอียด ผู้เขียนจึงได้ทำการปรับแต่งการเชื่อมต่อสาย รวมถึงทำการขยับหาตำแหน่งลำโพงช่วยบ้างแบบคร่าว ๆ เท่าที่เวลาจะเอื้ออำนวยแล้วเริ่มการทดลองฟังทันที ไม่ได้ปล่อยให้ซิสเต็มทิ้งตัวก่อน ไม่เช่นนั้นแล้วจะเสียเวลาในการฟังทดสอบมากจนเกินไป จากการทดลองฟังที่โชว์รูม เมื่อพิจารณาอุปกรณ์ที่ใช้ ลำโพงคู่นี้ยังมีศักยภาพที่ให้รีดเร้นออกมาได้อีกพอสมควรเลยทีเดียวหากมีเวลาเซ็ตอัพโดยละเอียด อีกอย่างผู้เขียนคิดว่าหากได้ทดลองจับคู่กับแอมป์หลอดดูด้วยน่าจะมีประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มขึ้น แต่ถือเสียว่าเป็นการชิมลางและนำมาเล่าสู่กันฟังให้ผู้อ่านพอเห็นภาพล่วงหน้ากันเสียก่อน ถ้าอยากให้ถึงกึ๋นจริง ๆ ก็คงนำไปทดสอบในห้องของผู้เขียนเองจะดีที่สุด

อัลบั้มที่ใช้ทดสอบ

ผลการลองฟัง

จุดเด่นของลำโพง ELECTA Amator III ที่สังเกตได้ชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกับ ELECTA Amator ในอดีตที่ผู้เขียนเคยมีโอกาสได้ฟัง คือความโดดเด่นด้านไดนามิกความจะแจ้งที่มีความสดสมจริงมากขึ้น ในขณะที่รุ่นเก่าอย่าง ELECTA Amator นั้นจะมีความอบอุ่น นุ่มนวลเจือปนอยู่ในน้ำเสียงค่อนข้างสูง และให้ไดนามิกคอนทราสต์ที่ต่อเนื่องลื่นไหลโดดเด่นซึ่งเหมาะกับการรับฟังเสียงเครื่องดนตรีอะคูสติกส์ต่าง ๆ มากเป็นพิเศษ ฝั่ง ELECTA Amator III รุ่นล่าสุดนี้ ก็มีการปรับปรุงเพิ่มเติมในแง่ของการตอบสนองด้านไดนามิกทรานเชี้ยนต์ให้มีความสมจริงมากขึ้นอีกระดับ ในขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งคุณสมบัติด้านความต่อเนื่องลื่นไหล และความอบอุ่นนุ่มนวลในเนื้อเสียงไปเสียจนหมด เรียกว่านำคุณสมบัติทั้งสองอย่างมาหารเฉลี่ยรวมกันได้อย่างลงตัว สามารถถ่ายทอดไดนามิคฉับพลันไปพร้อมความนุ่มนวลไม่กระด้าง ทำให้สามารถตอบสนองกับแนวดนตรีที่หลากหลายได้ดี

        หลังทดลองฟังกับแนวเพลงหลากหลายตั้งแต่ดนตรีน้อยชิ้นไปจนถึงคลาสสิกวงใหญ่ ถือว่า ELECTA Amator III เป็นลำโพงวางหิ้งขนาดย่อม ๆ ที่ให้ไดนามิกได้กว้างขวางเป็นอิสระเกินตัวไปมากเลยทีเดียว สังเกตจากการฟังเพลงที่ถ่ายทอดความดังในระดับแผ่วเบาไปจนถึงระดับเสียงที่ดังมาก ๆ ล้วนติดตามรายละเอียดของเสียงต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนไม่คลุมเครือ เสมือนรับฟังจากลำโพงตั้งพื้นขนาดกลาง ๆ ของ Sonus faber เอง แตกต่างกันก็ตรงด้านการตอบสนองความถี่ต่ำที่ย่อหย่อนไปตามขนาดปริมาตรตู้ ให้น้ำเสียงที่มีความผ่อนคลายปราศจากความเครียดเค้น และมีความเปิดโล่งของเสียงที่ดีมาก ทำให้ได้อรรถรสในการฟังเพลงคลาสสิควงใหญ่ได้ไม่เลว รูปวงให้ด้านลึกที่โดดเด่น มีสภาพความเป็นโถงที่มีบรรยากาศปกคลุมทั่วทั้งเวทีเสียง ด้านสูงก็มีความชัดเจนโดดเด่น เวทีเสียงค่อนข้างเป็นรูปทรงกลม

        เนื้อเสียงมีความสมดุล ไม่หนาไม่บาง มีความละเมียดและความต่อเนื่องลื่นไหลในน้ำเสียงผสมอยู่พอเหมาะ ไล่ระดับโทนเสียงทุ้ม กลาง แหลม ได้ราบรื่นดี แรกฟังเหมือนปลายแหลมจะติดสว่างไปเล็กน้อย ซึ่งอาจเป็นเพราะยังไม่พ้นชั่วโมงเบิร์นอินอย่างสมบูรณ์ แต่จากการทดลองสลับสายลำโพงแบบซิงเกิ้ลไวร์โดยเอาขั้วบวกเข้าที่ LF และขั้วลบเข้าที่ HF ก็ช่วยให้โทนเสียงมีความสมดุลขึ้น ถ้าจะให้ดีกว่านี้น่าจะต้องอาศัยจัมพ์เปอร์คุณภาพสูงมาเสริม หรือลองเชื่อมต่อด้วยสายลำโพงแบบไบไวร์ดูอีกทีว่าจะให้ผลลัพท์เป็นอย่างไร

เสียงแหลมจากโดม DAD เนียนและมีความละเอียดอ่อนดีทีเดียว ด้วยบุคลิกแบบซอฟท์โดมเป็นทุนเดิม แต่กลับตอบสนองได้ฉับไว ให้เสียงพวกเครื่องเคาะโลหะมีความสดกังวาน มีน้ำหนักไม่แพ้ทวีตเตอร์โดมโลหะ มีความกังวานอ้อยอิ่งและมีการทอดหางเสียงเป็นระลอก ๆ ที่น่าติดตาม เกิดเป็นความลงตัวของย่านเสียงแหลมที่ลำโพงคู่นี้ทำได้โดดเด่นมากเป็นพิเศษ ให้โฟกัสที่นิ่งสนิทไม่มีเงาเสียงให้ฟุ้ง แม้จะเจอระดับสัญญาณที่รุนแรง ก็ไม่ปรากฎอาการสะบัดจัดจ้านออกมาให้ได้ยินแม้แต่น้อย ฟังได้ต่อเนื่องยาวนานไม่ล้าหู

        ย่านเสียงกลางพวกเครื่องสาย อาทิ กีตาร์ ก็ให้ความชัดเจนทั้งน้ำหนักการเล่นและรายละเอียดแฝงความนุ่มนวลที่ไม่ทำให้ฟังกีตาร์สายเอ็นกลายเป็นกีตาร์สายเหล็ก เรียกว่าให้ทิมเบอร์หรือลักษณะเสียงของเครื่องดนตรีต่าง ๆ ได้อย่างถูกตัองแม่นยำไม่คลุมเครือ ซึ่ง Sonus Faber เป็นลำโพงที่เก่งในเรื่องการแยกแยะโทนเสียงของเครื่องดนตรีอคูสติกส์ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แม้แต่การฟังแทร็คที่มีความสัลซับซ้อนของเครื่องดนตรีที่เล่นประสานกันหลายชิ้น ก็ยังแยกแยะรายละเอียดของเสียงออกมาได้ชัดเจน ไม่สับสน และมีความสมจริงเป็นธรรมชาติอยู่สูงทีเดียว รวมถึงเสียงร้องของทั้งนักร้องชายและหญิง มีตัวตนที่ชัดเจนขึ้นรูปเป็นสามมิติชัดเจน มีทั้งความนุ่มนวลและทรงพลัง ให้รายละเอียดหยุมหยิมครบชัด ถ่ายทอดอารมณ์และทักษะการร้องของนักร้องแต่ละคนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม

        แม้จะเป็นลำโพงวางหิ้งแบบสองทาง แต่ให้มวลเสียงย่ายทุ้มที่กระชับ สะอาดและหนักหน่วงเอาเรื่อง แต่จะไม่เน้นเสียงทุ้มแบบอวบหนาให้ฟังดูเหมือนเสียงทุ้มใหญ่เกินตัว รักษาสมดุลให้ราบเรียบกลมกลืนสอดรับกับย่านกลางแหลมได้อย่างลงตัว ให้จังหวะจะโคนที่แม่นยำ เรียกว่ามาแบบถูกที่ถูกเวลา ฟังเผิน ๆ คล้ายกับไม่มีทุ้มเวลาฟังกับดนตรีช่วงที่มีแต่เสียงย่านกลางแหลม แต่ถึงเวลาเพลงที่มีเสียงทุ้มหนักหน่วงก็ให้น้ำหนักแรงปะทะออกมาได้อย่างกับลำโพงคนละคู่ และมีความสมบูรณ์ทั้งเนื้อเสียงและโฟกัสที่นิ่งสนิท ขาดแต่มวลย่านทุ้มต่ำที่มีออกมาให้สัมผัสได้พอประมาณไม่ถึงขั้นทิ้งตัวลงพื้นได้ อาจจะด้วยสภาพห้องหรือการเซ็ตอัพที่ยังไม่ลงตัว อันนี้ผู้เขียนยังไม่ขอสรุป แต่โดยรวมถือว่าเป็นลำโพงวางหิ้งที่ถ่ายทอดย่านทุ้มออกมาได้เป็นธรรมชาติน่าฟังคู่หนึ่ง

สรุป

ถือเป็นพัฒนาการที่น่าสนใจของลำโพงแบรนด์นี้ทั้งรูปลักษณ์และน้ำเสียง เรียกว่าผสมผสานความคลาสสิคของลำโพงยุคเก่าเข้ากับยุคใหม่ได้อย่างลงตัว รวมถึงรูปลักษณ์ที่มีความงดงามหรูหราเหมือนงานศิลปะชั้นยอด สำหรับนักเล่นที่มีลำโพง ELECTA Amator รุ่นเก่าไว้ในครอบครองต้องบอกว่าในรุ่นใหม่นี้ ถือเป็นลำโพงคนละรุ่นคนละแนวเสียง ไม่ใช่การปรับปรุงจากรุ่นเก่าแต่อย่างใด เพราะมาจากดีไซน์เนอร์คนละคนกัน มีน้ำเสียงเป็นลำโพงยุคใหม่ที่เน้นไดนามิกจะแจ้งมากขึ้น ลดสีสันลง เพิ่มความเที่ยงตรงมากขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับแหล่งโปรแกรมหรือไฟล์ไฮเรสในปัจจุบันไปตามยุคสมัย ถือว่าเป็นลำโพงที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของ Sonus Faber ยุคใหม่ได้อย่างชัดเจนที่สุดรุ่นหนึ่ง

รายละเอียดเชิงเทคนิค

Sonus Faber ELECTA Amator III

ขอขอบคุณ บริษัท เคเอส ซันส์ กรุ๊ป จำกัด โทร. 0-2276-3030, 081-008-008 ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ในการทดลองฟังครั้งนี้

Exit mobile version