DAWN NATHONG
Rogue Audio Inc. เป็นบริษัทผู้ออกแบบและผลิตเครื่องเสียงหลอดจากสหรัฐอเมริกาซึ่งดำเนินกิจการมาแล้วกว่า 24 ปี โดยผู้ก่อตั้งและผู้ออกแบบก็คือ Mark O’Brien ซึ่งมีแนวคิดที่ว่า เครื่องเสียงที่ยอดเยี่ยม สามารถออกแบบและผลิตได้ในราคาที่เหมาะสม
สินค้าของ Rogue จะเน้นไปทางแอมปลิฟายเออร์หลอดสุญากาศทั้งอินทิเกรตแอมป์, ปรีแอมป์, เพาเวอร์แอมป์ และยังมีสินค้าในกลุ่มเฮดโฟนแอมป์รวมถึงโฟโนปรีแอมป์ นอกจากนี้ยังให้บริการด้านการอัพเกรดสินค้ารุ่นเก่าให้เป็นรุ่นใหม่ล่าสุดได้ ทำให้ลูกค้าที่ซื้อสินค้าของ Rogue Audio ไปนานแล้วจนตกรุ่น มีความคุ้มค่ายิ่งขึ้นไม่ต้องขายทิ้งเพื่อเปลี่ยนไปใช้รุ่นใหม่ หากเข้าไปดูในเว็บไซต์ www.rogueaudio.com จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับการอัพเกรดสินค้ารุ่นต่าง ๆ ระบุเอาไว้ชัดเจน สำหรับในบ้านเราใครที่สนใจคงต้องลองสอบถามกับทางตัวแทนจำหน่ายดู
เห็นอักษร V3 ต่อท้ายชื่อของ Rogue Audio Sphinx ก็พอจะเดาได้ว่าเป็นสินค้าที่อัพเกรดมาเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว โดย Sphinx ตัวนี้เป็นอินทิเกรตแอมป์รุ่นเล็กสุด ของ Rogue ที่มีความแตกต่างจากรุ่นสูงของ Rogue คือจะออกแบบวงจรเป็นไฮบริด ใช้ภาคปรีแอมป์เป็นแบบหลอดสูญญากาศและมีภาคเอาท์พุตสเตจเป็นแอมป์คลาสดี และยังมีอีกรุ่นที่เป็นอินทิเกรตแอมป์ไฮบริดเช่นกันคือ Pharaoh กำลังขับก็จะสูงขึ้นไปอีก
รายละเอียดที่น่าสนใจ
รูปลักษณ์ภายนอกใช้ตัวถังเป็นอลูมิเนียม ส่วนเฟซเพลตทำจากแผ่นอะลูมิเนียมหนาตัดด้วยเครื่อง พวกสวิตช์ ปุ่มโวลุ่มก็เป็นอลูมิเนียมกลึงหมด ภาคปรีใช้หลอด 12AU7 (JJ ECC802S) จับคู่แมทช์แพร์ เป็นวงจรแบบ มิว-ฟอลโลเวอร์ ที่มีข้อดีคือค่าความต้านทานขาเข้าจะสูง และมีค่าความต้านทานขาออกที่ต่ำ เหมาะสมกับการนำไปใช้งานร่วมกับภาคขยายโซลิดสเตท โวลุ่มแบบใช้ตัวต้านทาน (Potentiometer) ของ ALPS ส่วนภาคขยายเลือกใช้โมดูลแอมป์คลาสดีรุ่น UcD180 ของ Hypex กำลังขับ 100 วัตต์ / แชนแนลที่โหลด 8 โอห์ม และ 200 วัตต์ / แชนแนลที่โหลด 4 โอห์ม
ส่วนรายละเอียดของการอัพเกรดที่แตกต่างจากรุ่นเวอร์ชั่น V2 อันดับแรกคือ อัพเกรดวงจรภาคขยายโฟโนสเตจ RIAA สำหรับหัวเข็มทั้ง MM และ MC ที่ย่อส่วนมาจากโฟโนสเตจรุ่นแยกชิ้นของเขานั่นคือรุ่น Triton II (ราคา 1,295 USD) โดยสามารถปรับแต่งค่าเกนและค่าความต้านทานได้ผ่าน DIP สวิตช์ข้างในตัวเครื่อง (ดูรายละเอียดการปรับแต่งได้จากคู่มือ) โดยทางผู้ผลิตจะตั้งค่า Gain เอาไว้ที่ 44dB และค่าความต้านทานไว้ที่ 47K เป็นค่ามาตรฐานมาจากโรงงาน สำหรับหัวเข็มแบบไฮเอาท์พุตทั่วๆ ไป ดังนั้นหากท่านเอาไปใช้งานกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่บ้าน จำเป็นจะต้องเช็คเสปคของหัวเข็มที่ใช้และทำการเปิดฝาครอบเผื่อทำการปรับแต่งค่าให้ตรงกันเสียก่อน
นอกจากนั้นยังมีการอัพเกรดในส่วนของภาคเฮดโฟนแอมป์เลือกใช้ทรานซิสเตอร์ MOSFET เป็นตัว ๆ แทนการใช้ชิปไอซี รองรับแรงดันและกระแสไฟได้สูงกว่า สุ้มเสียงดีมากทีเดียว สงัดและสะอาด เนื้อเสียงเข้มข้นไม่บอบบาง เวลาใช้งานหูฟังต้องเปิดเครื่องอยู่ในโหมดสแตนด์บาย
ตัวเครื่องมีน้ำหนัก 11 กิโลกรัม เพราะนอกจากน้ำหนักของตัวถังที่เป็นอะลูมิเนียมหนาแล้ว ภาคจ่ายไฟก็จัดเต็มไม่แพ้กัน Sphinx V3 ใช้ภาคจ่ายไฟแบบลิเนียร์ขนาดมหึมา ใช้หม้อแปลงแบบเทอรอยด์แบบคัสต้อมเมดขนาด 375 โวลต์แอมแปร์ มาพร้อมรีโมทคอนโทรลที่ออกจะดูแปลกตาสักหน่อยเพราะเป็นพลาสติกใสแบบขุ่น ๆ ที่มองเห็นแผงวงจรด้านในเอาไว้เพิ่ม-ลดสียง และ Mute เท่านั้น (มีรีโมทอลูมิเนียมเป็นออพชั่นแยกจำหน่าย)
การติดตั้งและเซ็ตอัพ
สำหรับการใช้งานตัวเครื่องจะมีระบบหน่วงเวลาตอนเปิดสวิตช์ เพื่อให้หลอดวอร์มอัพขึ้นมาอย่างช้า ๆ และป้องกันเสียงปุออกลำโพง สังเกตจากไฟ LED ฝั่งขวาของสวิตช์ Power จะเป็นสีเหลืองก่อน หลังจากกดปุ่มไฟ LED ฝั่งซ้ายจะติดเป็นสีแดงค้างอยู่ประมาณ 15 วินาที จากนั้นไฟสีเหลืองด้านขวาจะดับและไฟสีแดงด้านซ้ายจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน แสดงว่าเครื่องพร้อมใช้งาน
สำหรับคนที่ใช้งานชุดโฮมเธียเตอร์ร่วมกับชุดฟังเพลง แล้วต้องการใช้ Sphinx V3 ไปขับลำโพงคู่เมนหลัก อินทิเกรตแอมป์ตัวนี้ก็สามารถทำ Home theater-bypass ได้ด้วยการหมุนปุ่มโวลุ่มไปที่ตรง 12 นาฬิกาซึ่งจะเป็น Unity Gain ของเครื่อง (ไม่มีการลดหรือเพิ่มสัญญาณ) แล้วใช้โวลุ่มของเอวีแอมป์ควบคุมระดับเสียงแทน นอกจากนี้ที่ด้านหลังแอมป์ยังให้ช่องอนาล็อกเอาท์พุตแบบ Fixed สำหรับต่อเฮดโฟนแอมป์แยกหรือเครื่องบันทึกเสียง รวมถึงช่องเอาท์พุตแบบ Variable สำหรับต่อแอคทีฟซับวูฟเฟอร์หรือต่อแอมป์เพิ่มอีกตัวเพื่อทำระบบไบ-แอมป์
ในการเปิดใช้งานครั้งแรก Sphinx V3 ต้องการเวลาอุ่นเครื่องสักพักเพื่อให้ได้คุณภาพเสียงดีที่สุด ตามสไตล์เครื่องหลอด ให้กระแสไฟเข้าไปเลี้ยงวงจรได้เต็มที่ ซึ่งหลังจากเปิดสวิตช์ใช้งานแล้ว ผู้เขียนกะเอาไว้ประมาณสัก 1 ชั่วโมงน้ำเสียงจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีก ทางผู้ผลิตแนะนำว่าควรเปิดเมนสวิตช์ด้านหลังเครื่องค้างเอาไว้ตลอดเวลา เพื่อให้เครื่องทำงานอยู่ในโหมดสแตนด์บายเมื่อปิดสวิตช์ที่ด้านหน้า วีธีนี้จะทำให้เสียงดีที่สุดสำหรับแอมป์ตัวนี้เมื่อมีการเปิดใช้งานในครั้งต่อไป ซึ่งจากที่ลองพบว่าเมื่อใช้งานครั้งต่อไปหลังจากกดปุ่มเปิดเครื่องที่ด้านหน้า ตัวแอมป์จะใช้เวลาอุ่นเครื่องไม่นานเพื่อเข้าสู่คุณภาพเสียงสูงสุด ราว ๆ 2-3 นาทีหรือชั่วอึดใจเพลงเท่านั้น
เสียง
ต้องบอกว่าชั่วโมงนี้หาฟังเสียงอินทิเกรตแอมป์ฝั่งอเมริกันยากเต็มที ยิ่งกับในกลุ่มราคาไม่เกินแสนนี้แอมป์จากฝั่งอังกฤษและญี่ปุ่นแทบจะครองตลาดไปกันหมดแล้ว ไม่งั้นต้องขยับไปทางไฮเอ็นด์อย่างแมคอินทอชโน่นเลย
อินทิเกรตแอมป์ Rogue Audio Sphinx V.3 ให้เสียงที่มีความเป็นดนตรีสูงมาก เรียกว่าใครที่เป็นมิวสิคเลิฟเวอร์ ฟังแล้วจะต้องหูผึ่งแน่นอน เพราะมีน้ำเสียงที่กระเดียดไปทางสไตล์แอมป์หลอดชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันก็มีความสะอาด พื้นเสียงสงัด และกระชับหนักแน่นแบบแอมป์โซลิดสเตทรวมอยู่ด้วย โดยบุคลิกเสียงจะมีความเป็นหลอดที่โดดเด่นกว่าภาคโซลิดสเตทอยู่ประมาณ 2 ใน 3 ส่วน ออกไปทางอิ่มหวาน ลื่นไหล ถ่ายทอดความพริ้วไหวของปลายเสียงและบรรยากาศออกมาได้น่าฟัง เกรนเสียงละเอียด มีความละเมียดละมัย ไม่มีสากเสี้ยนความแข็งกระด้างของเสียงหลงเหลืออยู่
ควบคุมลำโพงประเภทขับยากทั้งหลายได้อย่างอยู่หมัด ด้วยกำลังขับจากภาคขยายคลาสดีที่เบิ้ลได้เป็นสองเท่าเมื่อโหลดความต้านทานตกลงครึ่งนึง อีกทั้งยังมีค่าแดมปิ้งแฟคเตอร์ที่สูงลิบถึง 1,000 ทำให้หยุดการสั่นค้างของกรวยลำโพงได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทำให้ไม่มีปัญหาในการจับคู่กับลำโพงใด ๆ และขับลำโพงแต่ละตัวออกมาได้ดี ให้ช่องว่างช่องไฟที่สะอาด ชัดเจน ไม่คลุมเครือ โดยเฉพาะกับลำโพงวางหิ้งยุคใหม่ที่เน้นความสดสมจริง มีรายละเอียดสูง จะไปได้ดีกับแอมป์ตัวนี้เป็นพิเศษ
เสียงย่านทุ้มเป็นอะไรที่หากได้ฟังคงจะหลงรักแอมป์ตัวนี้ได้ไม่ยากเลย หนักแน่นเข้มข้น แบบอเมริกันสไตล์โดยแท้ มีพละกำลังแฝงในการอัดฉีดย่านทุ้มให้ดีดออกมาเป็นลูก ๆ และควบคุมจังหวะจะโคนเอาไว้อย่างพอเหมาะ ให้น้ำหนักการย้ำเน้นหัวเสียงที่ชัดเจนติดตามได้ แยกแยะอ่อนแก่รายละเอียดของเสียงทุ้มออกมาได้ดีมากทีเดียว ซึ่งแอมป์ตัวนี้ทำสิ่งที่กล่าวมาได้ตั้งแต่ย่านทุ้มต้นไปจนถึงย่านทุ้มลึก
อินทิเกรตแอมป์เครื่องนี้ ให้ทั้งเนื้อเสียง และมวลบรรยากาศห้อมล้อมตัวเสียงที่มีความเข้มข้น มีการทอดตัวของหางเสียงที่อ้อยอิ่งเล็กน้อย จะว่าช้ากว่าปกติก็ไม่เชิง เพราะถ้าเป็นแอมป์หลอดปกติทั่วไป ส่วนใหญ่ทรานเชี้ยนต์ ความกระชับฉับไว จะย่อหย่อนกว่าแอมป์โซลิดสเตทพอสังเกตุได้ แต่ไม่ใช่กับ Sphinx V3 เมื่อหยิบอัลบั้มไหนมาฟังผ่านแอมป์ตัวนี้ ไม่ว่าจะเป็นเพลงแนวไหน เราจะสามารถสัมผัสถึงอารมณ์ของบทเพลงได้อย่างไม่ยากเย็น เหมือนเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่แอมป์ตัวนี้จะถ่ายทอดออกมา และมันจะดึงดูดให้เราอย่างฟังไปเรื่อย ๆ เพลงแล้วเพลงเล่า ลีลาการเล่นของนักดนตรี ลีลาออดอ้อนของการร้อง ในแต่ละช่วงของบทเพลงดูมีความน่าสนใจไปเสียหมด แน่นอนว่ามันบ่งบอกว่าแอมป์ตัวนี้ไม่ได้มีน้ำเสียงที่เที่ยงตรงเป็นกลางร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่บุคลิกเสียงที่ถ่ายทอดความเป็นดนตรีออกมาก็ยากจะปฏิเสธ
สรุป
อินทิเกรตแอมป์ Rogue Audio Sphinx V3 มีความโดดเด่นทั้งในเรื่องของน้ำเสียงที่ผสมผสานข้อดีของหลอดและโซลิตสเตทได้อย่างกลมกล่อม น้ำเสียงฟังง่ายมีความไพเราะเป็นดนตรีอย่างโดดเด่น มีพละกำลังแบบแอมป์อเมริกันที่ขับลำโพงวางหิ้งแทบทุกคู่ได้อย่างสบาย แถมด้วยภาคโฟโนสเตจคุณภาพสูงที่เทียบภาคโฟโนสเตจแยกชิ้นระดับไม่เกิน 2 หมื่นได้ เมื่อมองไปที่พิกัดราคาค่าตัวแถว ๆ 7-8 หมื่นบาท สำหรับการหาอินทิเกรตแอมป์ฟังเพลงดี ๆ เอาไว้ขับกล่อมเสียงดนตรีในบ้านสักชุดหนึ่ง กับรายละเอียดและน้ำเสียงแบบนี้ ก็ต้องบอกว่าควรหาโอกาสไปลองฟังดูสักครั้ง ไม่เสียเวลาเปล่าอย่างแน่นอน
Specifications:
- 100 WPC/8 ohms, 200 WPC/4 ohms
- THD: <0.1% typ., <1% at rated power
- Standby 6W, 1/2 power 132W, full power 250W
- Damping factor > 1000
- 44/60dB MM/MC user adjustable phono section
- Gold plated RCA inputs
- Gold plated binding posts
- 4 inputs (phono, line 1,2,3)
- Tube driven active outputs for subwoofer or biamping
- Heavy (2 ounce) copper circuit board