What HI-FI? Thailand

Robert O.Trunz เปิดใจที่ปรึกษาอาวุโสด้านผลิตภัณฑ์ Vivid Audio

ไมตรี ทรัพย์เอนกสันต์

ผมจำได้ว่ากว่า 30 ปีที่แล้ว ผมเคยพบกับนายโรเบิท โอ.ทรุนซ์ มาครั้งหนึ่ง สมัยที่ท่านเป็นรองจากจากนายจอห์น โบเว่อร์ เจ้าของและผู้ก่อตั้งบริษัทลำโพง B&W โดยนายโรเบิท เป็นที่รักชอบของนายจอห์นมาก เรียกว่า เตรียมไว้เป็นทายาทสืบต่อ B&W แทนที่นายจอห์น โบเว่อร์ และเมื่อสิ้นนายจอห์น, นายโรเบิท โอ.ทรุนซ์ ก็ดูแลบริหาร B&W ต่อมาอีกหลายสิบปี

แน่นอน คำถามหนึ่งที่เป็นใครก็ต้องถามว่า ทำไมนายโรเบิท โอ.ทรุนซ์ จึงผันตัวเองจาก B&W มาตั้งบริษัทลำโพงใหม่ Vivid Audio ทั้งๆ ที่ B&W ก็มีชื่อเสียงโด่งดังติดลมไปแล้ว

นายทรุนซ์ ตอบว่า พวกเขา, ทีมออกแบบและบริหารกลุ่มเขา ถนัดที่จะมุ่งเป้าไปที่การทำลำโพงบ้านให้ดีที่สุดระดับไฮเอนด์มากกว่าการทำผลิตภัณฑ์กระจายหลากหลายแนว รวมทั้งนโยบายการบริหารคนงานที่ไปด้วยกันไม่ได้ โดยนายทรุนซ์ ให้ความสำคัญต่อชีวิตและอนาคตของคนงานเป็นลำดับต้น

ในที่สุด นายทรุนซ์ มือบริหาร, นาย Laurence Dickie และทีมออกแบบอีกบางท่าน จึงผันตัวเองมาตั้งบริษัทลำโพงใหม่ คือ Vivid Audio

กว่าจะมาเป็น Vivid Audio

ครั้งหนึ่ง นายจอห์น โบเว่อร์ เจ้าของ, ผู้ก่อตั้งลำโพง B&W เคยปรารภว่า อยากทำลำโพงให้ไร้เสียงตู้หรือพูดง่ายๆ ตู้มีอิทธิพล, บทบาทต่อการป่วนเสียงน้อยที่สุด

จึงเป็นที่มาของลำโพง B&W ระบบอีเล็คโทรสแตติคที่ไร้ตู้ ซึ่งน่าจะเป็นที่รู้จักกันน้อยมาก เมื่อเทียบกับลำโพงตู้ปกติอื่นๆ ของ B&W น่าจะเป็น เพราะจุดอ่อนอะไรบางอย่างที่ลำโพงอีเล็คโตรสแตติคที่เราทราบกันอยู่

B&W ถึงกับเคยมีการวิจัยระบบลำโพงไร้ตู้ คือ มีแต่แผงไม้แล้วเอาดอกลำโพงยึดเข้าไปเปิดหน้า, เปิดหลัง แต่นั่นก็คงมีจุดอ่อนเช่นกัน โครงการจึงพับไป

อย่างไรก็ตาม นายจอห์น โบเว่อร์ ก็ฝากฝันให้มือออกแบบเด็กหนุ่มไฟแรง นายลอเรนส์ ดิกกี้ ช่วยสืบทอดเจตนารมณ์ ซึ่งสมัยอยู่ที่ B&W หนุ่มดิกกี้ก็เริ่มโครงการลำโพง B&W Nautilus ดูแลและพัฒนาจนสำเร็จ นับเป็นเรือธงสูงสุดของอาณาจักรลำโพง B&W ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันด้วยหลักการของการทำตู้ให้โค้งมนวนพับแบบก้นหอย (ตู้เบส) และทำท่อยาวตีบปลายให้ดอกกลาง, แหลม เพื่อดูดฆ่าแรงดันอากาศหลังกรวยลำโพง

นับว่า Nautilus สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ทรุนซ์ก็ยอมรับว่า มันเล่นยากไปหน่อย เพราะต้องขับแบบแยกภาคขยาย 4 ภาคให้แต่ละดอกลำโพง (QUAD AMP) ทำให้ผู้เล่นต้องสิ้นเปลืองกับเพาเวอร์แอมป์อีกเยอะมาก

ประสพการณ์จาก TurboSound

ในขณะที่อยู่ที่ B&W ทรุนซ์ได้พบกับผู้บริหารของบริษัททำลำโพงสำหรับงานการแสดงสด, งานกลางแจ้ง คือ TURBOSOUND แล้วก็ถูกคอกันมาก TURBOSOUND มีความคิดที่ไม่เหมือนใครในโลก โดยแทนที่จะใช้ปากแตร (ฮอร์น) อันเดียวต่อดอกขับ 1 ดอก อย่างทั่วไป กลับใช้ 1 ดอกขับท่อนำเสียงนับสิบท่อพร้อมๆ กัน และแต่ละท่อทะลุออกแผงหน้าตู้ผ่านรูกลมของแต่ละต่อเหมือนการซอยย่อยการยิงเสียง

น่าจะติดหูกับเสียงที่ดังระดับการแสดงสด ทำให้ทรุนซ์มีแนวคิดที่จะทำลำโพงการแสดงสดระดับไฮเอนด์หรือพูดย้อนกลับลำโพงไฮเอนด์ที่เปิดได้ดังสะใจระดับการแสดงสดโดยไม่พัง และทรุนซ์ก็ยังคบกับ TURBOSOUND ต่อมา แม้ว่าจะย้ายมาทำลำโพง Vivid Audio แล้วก็ตาม

ข้อจำกัดของกรวยเคฟร่า

มีสิ่งหนึ่งที่ทรุนซ์สารภาพ คือ ดอกลำโพงกรวยเหลืองที่ตัวกรวยทำจากเคฟร่า จนทุกคนคุ้นชินตาว่า เป็นสัญลักษณ์ของลำโพง B&W ไปแล้ว (ในขณะนั้น) จริงๆ กรวยเคฟร่ามันดีมาก แต่ไม่เหมาะที่จะใช้กับดอกขนาดใหญ่มันจะย่นใน เพราะแกร่งไม่พอ นี่คือเหตุผลที่พักหลัง B&W จะหนีจากดอกเคฟร่า และ Vivid Audio เองก็ทำดอกเองหมด

เป็นเรื่องแปลกที่ลำโพง Vivid เกือบทั้งหมด เน้นที่ความไวสูงระดับ 90 dB SPL/W/M ขึ้นไป แม้แต่รุ่นเรือธง GIYA G1 Spirit ก็มีความไวถึง 92 dB ต่างไปจากในอดีตสมัยอยู่ที่ B&W ที่รู้กันว่า รุ่นเรืองธง B&W 801 (รุ่นแรกสุด) ความไวต่ำมาก แค่ 85 dB SPL/W/M (และ 86~87 dB กับรุ่นสูงสุดต่อๆ มา 801 S2, 801 S3)

เป็นไปได้ว่า ทรุนซ์หันมาแนวของ TURBOSOUND (ลำโพงงานแสดง, PA ความไว 98~110 dB SPL/W/M) อย่าลืมว่า ลำโพงที่ความไวต่างกันแค่ 3-4 dB ที่ความดังเท่ากัน จะกินวัตต์ต่างกันเป็น 100~1,000 เท่าทีเดียว ลำโพง Vivid ทุกรุ่น จึงขับค่อนข้างง่าย แอมป์กำลังขับสัก 100 W. RMS/CH ที่ 8 โอห์ม ก็ขับสบายเสียงเต็มห้องแล้ว

เทคนิคหนึ่งที่ทำให้ลำโพง Vivid กินวัตต์ต่ำ

ก็คือ การที่ดอกใช้ชุดแม่เหล็กของวอยส์คอยล์แบบแท่งสูงเรียงรอบๆ วอยส์คอยล์เป็นวงแม่เหล็ก 2 ชั้น ชั้นล่างทรงสูง ชั้นบนสั้นกว่าการทำเช่นนี้ ทำให้สามารถโฟกัสเส้นแรงแม่เหล็กเข้าสู่วอยส์คอยล์ได้ความแรงเป็น 2 เท่าของดอกแหลมขนาด 2.5 มม. ทั่วไป โดยดอกแหลม (D26) ของ Vivid ให้เส้นแรงแม่เหล็กต่อวอยส์คอยล์ได้ถึง 2.5 T ด้วยความไวสูงถึง 96 dB SPL ขณะที่รูระบายลมหลังโดมแหลมสามารถเปิดให้กว้างที่สุดได้ เพื่อใช้ประโยชน์การดูดซับแรงอัดด้านหลังโดมนี้ ด้วยท่อตีบปลายอย่างได้ผลดีที่สุด

พูดถึงตัวตู้ทรุนซ์ย้อนอดีตให้ฟังว่า คุณจำลำโพง B&W ตระกูล MATRIX ได้ไหม (ที่ทำภายในตู้ให้เป็นช่องสี่เหลี่ยมเต็มทั้งตู้ เพื่อให้ตู้แกร่งที่สุด) แนวคิดนั้น มาจากกล่องใส่เบียร์! โดย ดิกกี้ สังเกตเห็นแล้วก็เกิดความคิดขึ้น

ต่อข้อถามว่า ตัวตู้ของลำโพง Vivid อย่างตระกูล GIYA ทั้งหมด ทำจากอะไรกันแน่ ซึ่งทรุนซ์ตอบว่า ทำจากไม้บัลซ่า (ไม้ที่เอามาทำเรือบินเล็กให้เด็กเล่น ซึ่งเบามากแต่ดูดซับความสั่นสะเทือนได้ดีเลิศเหลือเชื่อ) และปะด้วยไฟเบอร์ที่ผิวนอกตู้อีกที ตู้ลำโพง Vivid จึงไม่หนักบ้าเลือดอย่าง B&W ที่ขนย้ายลำบากมาก

ด้วยหุ่นของ Vivid ทำให้ทีมออกแบบบรรลุปฏิฐาน 3 ข้อ คือ ปลอดการสั่น (ลมในตู้ปลายท่อตีบหักล้างกันเองหมดไม่เหลือไปสั่นตู้), ไร้การสะท้อนจากผนังตู้ (ด้วยรูปทรงโค้งมนไปหมด), ไร้ตัวตน (ปลอดจากเสียงตู้ และการบดบังที่จำกัดมุมกระจายเสียง ทำให้ตัวตู้ล่องหนโดยสิ้นเชิง)

คำถามสุดท้าย

ทำไมทีมเขาจึงไปตั้งฐานที่ประเทศอัฟริกาใต้ ทรุนซ์อธิบายว่า ที่อัฟริกาใต้มี 2 สังคม คือ สังคมคนขาว และสังคมคนดำท้องถิ่นมันไม่ใช่ภาพของประเทศที่มีแต่คนดำชาวป่า

ทรุนซ์ ยังแจงต่อว่า คุณทราบไหม ผลิตภัณฑ์ไฮเทคระดับโลกหลายๆ อย่างทำที่อัฟริกาใต้ ด้วยเหตุผลที่มันเป็นประเทศที่อุดมด้วยวัตถุดิบทรัพยากรธรรมชาติชั้นเลิศที่หาได้ยากในโลก อีกทั้งเป็นประเทศแห่งธรรมชาติ แห่งดนตรี ซึ่งเป็นที่ถูกใจของทรุนซ์ โดยส่วนตัว (เขาเป็นนายทุนออกอัลบั้มดนตรีมาเป็นร้อยตั้งแต่อยู่ที่ B&W แล้ว)

ทรุนซ์ออกตัวว่า เขาไม่ใช่เจ้าของ Vivid Audio เขาพอเป็นแค่ที่ปรึกษา กำกับดูแล ให้ทุกอย่างอยู่ในร่องในรอยตามทำนองคลองธรรม (คือ เขาเองก็เหลือเยอะ ไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงินทอง เขาผ่านจุดนั้นมาแล้ว) เขาทำ เพราะรักมากกว่า เพราะเงิน

บทส่งท้าย

ทั้งหมดรวบรวมจากความทรงจำของผมที่ได้พูดคุยกับนาย โรเบิท โอ.ทรุนซ์ เป็นเวลาแค่ 40 นาที แต่เป็น 40 นาทีที่กันเอง และสนุกสนานมากด้วยเราเป็นคอเดียวกัน และรู้จักกันมาก่อนหน้านี้แล้ว

สำหรับรายละเอียดด้านเทคนิคของตัวผลิตภัณฑ์ คุณสามารถสืบหาได้จากเว็บไซต์ vividaudio.com หรือติดต่อบริษัทผู้นำเข้าโดยตรง

ขอทิ้งท้ายว่า Vivid Audio เป็นลำโพงที่คุณควรหาโอกาสลองฟังให้ได้ ไม่ว่าคุณจะร่ำรวยมรเงินทองล้นฟ้าขนาดไหนหรือฟังเพื่อเป็นประสบการณ์ว่า ลำโพงที่ดีจริงควรเป็นอย่างไร

Exit mobile version