ไมตรี ทรัพย์เอนกสันต์
ผมจำได้ว่ากว่า 30 ปีที่แล้ว ผมเคยพบกับนายโรเบิท โอ.ทรุนซ์ มาครั้งหนึ่ง สมัยที่ท่านเป็นรองจากจากนายจอห์น โบเว่อร์ เจ้าของและผู้ก่อตั้งบริษัทลำโพง B&W โดยนายโรเบิท เป็นที่รักชอบของนายจอห์นมาก เรียกว่า เตรียมไว้เป็นทายาทสืบต่อ B&W แทนที่นายจอห์น โบเว่อร์ และเมื่อสิ้นนายจอห์น, นายโรเบิท โอ.ทรุนซ์ ก็ดูแลบริหาร B&W ต่อมาอีกหลายสิบปี
แน่นอน คำถามหนึ่งที่เป็นใครก็ต้องถามว่า ทำไมนายโรเบิท โอ.ทรุนซ์ จึงผันตัวเองจาก B&W มาตั้งบริษัทลำโพงใหม่ Vivid Audio ทั้งๆ ที่ B&W ก็มีชื่อเสียงโด่งดังติดลมไปแล้ว
นายทรุนซ์ ตอบว่า พวกเขา, ทีมออกแบบและบริหารกลุ่มเขา ถนัดที่จะมุ่งเป้าไปที่การทำลำโพงบ้านให้ดีที่สุดระดับไฮเอนด์มากกว่าการทำผลิตภัณฑ์กระจายหลากหลายแนว รวมทั้งนโยบายการบริหารคนงานที่ไปด้วยกันไม่ได้ โดยนายทรุนซ์ ให้ความสำคัญต่อชีวิตและอนาคตของคนงานเป็นลำดับต้น
ในที่สุด นายทรุนซ์ มือบริหาร, นาย Laurence Dickie และทีมออกแบบอีกบางท่าน จึงผันตัวเองมาตั้งบริษัทลำโพงใหม่ คือ Vivid Audio
กว่าจะมาเป็น Vivid Audio
ครั้งหนึ่ง นายจอห์น โบเว่อร์ เจ้าของ, ผู้ก่อตั้งลำโพง B&W เคยปรารภว่า อยากทำลำโพงให้ไร้เสียงตู้หรือพูดง่ายๆ ตู้มีอิทธิพล, บทบาทต่อการป่วนเสียงน้อยที่สุด
จึงเป็นที่มาของลำโพง B&W ระบบอีเล็คโทรสแตติคที่ไร้ตู้ ซึ่งน่าจะเป็นที่รู้จักกันน้อยมาก เมื่อเทียบกับลำโพงตู้ปกติอื่นๆ ของ B&W น่าจะเป็น เพราะจุดอ่อนอะไรบางอย่างที่ลำโพงอีเล็คโตรสแตติคที่เราทราบกันอยู่
B&W ถึงกับเคยมีการวิจัยระบบลำโพงไร้ตู้ คือ มีแต่แผงไม้แล้วเอาดอกลำโพงยึดเข้าไปเปิดหน้า, เปิดหลัง แต่นั่นก็คงมีจุดอ่อนเช่นกัน โครงการจึงพับไป
อย่างไรก็ตาม นายจอห์น โบเว่อร์ ก็ฝากฝันให้มือออกแบบเด็กหนุ่มไฟแรง นายลอเรนส์ ดิกกี้ ช่วยสืบทอดเจตนารมณ์ ซึ่งสมัยอยู่ที่ B&W หนุ่มดิกกี้ก็เริ่มโครงการลำโพง B&W Nautilus ดูแลและพัฒนาจนสำเร็จ นับเป็นเรือธงสูงสุดของอาณาจักรลำโพง B&W ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันด้วยหลักการของการทำตู้ให้โค้งมนวนพับแบบก้นหอย (ตู้เบส) และทำท่อยาวตีบปลายให้ดอกกลาง, แหลม เพื่อดูดฆ่าแรงดันอากาศหลังกรวยลำโพง
นับว่า Nautilus สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ทรุนซ์ก็ยอมรับว่า มันเล่นยากไปหน่อย เพราะต้องขับแบบแยกภาคขยาย 4 ภาคให้แต่ละดอกลำโพง (QUAD AMP) ทำให้ผู้เล่นต้องสิ้นเปลืองกับเพาเวอร์แอมป์อีกเยอะมาก
ประสพการณ์จาก TurboSound
ในขณะที่อยู่ที่ B&W ทรุนซ์ได้พบกับผู้บริหารของบริษัททำลำโพงสำหรับงานการแสดงสด, งานกลางแจ้ง คือ TURBOSOUND แล้วก็ถูกคอกันมาก TURBOSOUND มีความคิดที่ไม่เหมือนใครในโลก โดยแทนที่จะใช้ปากแตร (ฮอร์น) อันเดียวต่อดอกขับ 1 ดอก อย่างทั่วไป กลับใช้ 1 ดอกขับท่อนำเสียงนับสิบท่อพร้อมๆ กัน และแต่ละท่อทะลุออกแผงหน้าตู้ผ่านรูกลมของแต่ละต่อเหมือนการซอยย่อยการยิงเสียง
น่าจะติดหูกับเสียงที่ดังระดับการแสดงสด ทำให้ทรุนซ์มีแนวคิดที่จะทำลำโพงการแสดงสดระดับไฮเอนด์หรือพูดย้อนกลับลำโพงไฮเอนด์ที่เปิดได้ดังสะใจระดับการแสดงสดโดยไม่พัง และทรุนซ์ก็ยังคบกับ TURBOSOUND ต่อมา แม้ว่าจะย้ายมาทำลำโพง Vivid Audio แล้วก็ตาม
ข้อจำกัดของกรวยเคฟร่า
มีสิ่งหนึ่งที่ทรุนซ์สารภาพ คือ ดอกลำโพงกรวยเหลืองที่ตัวกรวยทำจากเคฟร่า จนทุกคนคุ้นชินตาว่า เป็นสัญลักษณ์ของลำโพง B&W ไปแล้ว (ในขณะนั้น) จริงๆ กรวยเคฟร่ามันดีมาก แต่ไม่เหมาะที่จะใช้กับดอกขนาดใหญ่มันจะย่นใน เพราะแกร่งไม่พอ นี่คือเหตุผลที่พักหลัง B&W จะหนีจากดอกเคฟร่า และ Vivid Audio เองก็ทำดอกเองหมด
เป็นเรื่องแปลกที่ลำโพง Vivid เกือบทั้งหมด เน้นที่ความไวสูงระดับ 90 dB SPL/W/M ขึ้นไป แม้แต่รุ่นเรือธง GIYA G1 Spirit ก็มีความไวถึง 92 dB ต่างไปจากในอดีตสมัยอยู่ที่ B&W ที่รู้กันว่า รุ่นเรืองธง B&W 801 (รุ่นแรกสุด) ความไวต่ำมาก แค่ 85 dB SPL/W/M (และ 86~87 dB กับรุ่นสูงสุดต่อๆ มา 801 S2, 801 S3)
เป็นไปได้ว่า ทรุนซ์หันมาแนวของ TURBOSOUND (ลำโพงงานแสดง, PA ความไว 98~110 dB SPL/W/M) อย่าลืมว่า ลำโพงที่ความไวต่างกันแค่ 3-4 dB ที่ความดังเท่ากัน จะกินวัตต์ต่างกันเป็น 100~1,000 เท่าทีเดียว ลำโพง Vivid ทุกรุ่น จึงขับค่อนข้างง่าย แอมป์กำลังขับสัก 100 W. RMS/CH ที่ 8 โอห์ม ก็ขับสบายเสียงเต็มห้องแล้ว
เทคนิคหนึ่งที่ทำให้ลำโพง Vivid กินวัตต์ต่ำ
ก็คือ การที่ดอกใช้ชุดแม่เหล็กของวอยส์คอยล์แบบแท่งสูงเรียงรอบๆ วอยส์คอยล์เป็นวงแม่เหล็ก 2 ชั้น ชั้นล่างทรงสูง ชั้นบนสั้นกว่าการทำเช่นนี้ ทำให้สามารถโฟกัสเส้นแรงแม่เหล็กเข้าสู่วอยส์คอยล์ได้ความแรงเป็น 2 เท่าของดอกแหลมขนาด 2.5 มม. ทั่วไป โดยดอกแหลม (D26) ของ Vivid ให้เส้นแรงแม่เหล็กต่อวอยส์คอยล์ได้ถึง 2.5 T ด้วยความไวสูงถึง 96 dB SPL ขณะที่รูระบายลมหลังโดมแหลมสามารถเปิดให้กว้างที่สุดได้ เพื่อใช้ประโยชน์การดูดซับแรงอัดด้านหลังโดมนี้ ด้วยท่อตีบปลายอย่างได้ผลดีที่สุด
พูดถึงตัวตู้ทรุนซ์ย้อนอดีตให้ฟังว่า คุณจำลำโพง B&W ตระกูล MATRIX ได้ไหม (ที่ทำภายในตู้ให้เป็นช่องสี่เหลี่ยมเต็มทั้งตู้ เพื่อให้ตู้แกร่งที่สุด) แนวคิดนั้น มาจากกล่องใส่เบียร์! โดย ดิกกี้ สังเกตเห็นแล้วก็เกิดความคิดขึ้น
ต่อข้อถามว่า ตัวตู้ของลำโพง Vivid อย่างตระกูล GIYA ทั้งหมด ทำจากอะไรกันแน่ ซึ่งทรุนซ์ตอบว่า ทำจากไม้บัลซ่า (ไม้ที่เอามาทำเรือบินเล็กให้เด็กเล่น ซึ่งเบามากแต่ดูดซับความสั่นสะเทือนได้ดีเลิศเหลือเชื่อ) และปะด้วยไฟเบอร์ที่ผิวนอกตู้อีกที ตู้ลำโพง Vivid จึงไม่หนักบ้าเลือดอย่าง B&W ที่ขนย้ายลำบากมาก
ด้วยหุ่นของ Vivid ทำให้ทีมออกแบบบรรลุปฏิฐาน 3 ข้อ คือ ปลอดการสั่น (ลมในตู้ปลายท่อตีบหักล้างกันเองหมดไม่เหลือไปสั่นตู้), ไร้การสะท้อนจากผนังตู้ (ด้วยรูปทรงโค้งมนไปหมด), ไร้ตัวตน (ปลอดจากเสียงตู้ และการบดบังที่จำกัดมุมกระจายเสียง ทำให้ตัวตู้ล่องหนโดยสิ้นเชิง)
คำถามสุดท้าย
ทำไมทีมเขาจึงไปตั้งฐานที่ประเทศอัฟริกาใต้ ทรุนซ์อธิบายว่า ที่อัฟริกาใต้มี 2 สังคม คือ สังคมคนขาว และสังคมคนดำท้องถิ่นมันไม่ใช่ภาพของประเทศที่มีแต่คนดำชาวป่า
ทรุนซ์ ยังแจงต่อว่า คุณทราบไหม ผลิตภัณฑ์ไฮเทคระดับโลกหลายๆ อย่างทำที่อัฟริกาใต้ ด้วยเหตุผลที่มันเป็นประเทศที่อุดมด้วยวัตถุดิบทรัพยากรธรรมชาติชั้นเลิศที่หาได้ยากในโลก อีกทั้งเป็นประเทศแห่งธรรมชาติ แห่งดนตรี ซึ่งเป็นที่ถูกใจของทรุนซ์ โดยส่วนตัว (เขาเป็นนายทุนออกอัลบั้มดนตรีมาเป็นร้อยตั้งแต่อยู่ที่ B&W แล้ว)
ทรุนซ์ออกตัวว่า เขาไม่ใช่เจ้าของ Vivid Audio เขาพอเป็นแค่ที่ปรึกษา กำกับดูแล ให้ทุกอย่างอยู่ในร่องในรอยตามทำนองคลองธรรม (คือ เขาเองก็เหลือเยอะ ไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงินทอง เขาผ่านจุดนั้นมาแล้ว) เขาทำ เพราะรักมากกว่า เพราะเงิน
บทส่งท้าย
ทั้งหมดรวบรวมจากความทรงจำของผมที่ได้พูดคุยกับนาย โรเบิท โอ.ทรุนซ์ เป็นเวลาแค่ 40 นาที แต่เป็น 40 นาทีที่กันเอง และสนุกสนานมากด้วยเราเป็นคอเดียวกัน และรู้จักกันมาก่อนหน้านี้แล้ว
สำหรับรายละเอียดด้านเทคนิคของตัวผลิตภัณฑ์ คุณสามารถสืบหาได้จากเว็บไซต์ vividaudio.com หรือติดต่อบริษัทผู้นำเข้าโดยตรง