Polk Audio Legend L200 Large Premium Bookshelf Speakers

0

พิพัฒน์ คคะนาท

Test Talk ● [email protected]

The Best Speakers POLK Has Ever Made Crafting Great Sound Since 1972

เป็นอีกค่ายผู้ผลิตลำโพงที่แม้จะโลดแล่นอยู่ในยุทธจักรมาเพียงกึ่งศตวรรษ แต่ก็มีแฟนานุแฟนนิยมชมชอบอยู่ทั่วทุกมุมโลก ซึ่งหากจะบอกว่าเป็นแบรนด์ยอดนิยมระดับแถวหน้าๆ ของวงการ ก็คงไม่ผิดนัก เป็นหนึ่งในบรรดาผู้อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องเสียงของอเมริกันชนที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้ผลิตชิ้นงานระดับ The Great American Sound ซึ่งมักจะได้ยินค่ายเครื่องเสียงและลำโพงแถวๆ นั้น Claim ตัวเองกันอยู่เนืองๆ นั่นแหละครับ

                Polk Audio ถือกำเนิดขึ้นมาในปี ค.ศ.1972 จากการวมตัวกันของกลุ่มวิศวกรที่มากความสามารถ และมีความชื่นชอบในเสียงดนตรีเหมือนกัน ด้วยการนำทักษะและและประสบการณ์มาหลอมรวมเข้ากับความปรารถนาอันแรงกล้าของทุกคน ในความมุ่งมั่นที่จะรังสรรค์ลำโพงขึ้นมาสนองตอบต่อความต้องการของคนฟังเพลง และผู้รักในเสียงดนตรี ให้เข้าถึงในความสุนทรีย์ที่ชื่นชอบนั้นได้อย่างใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

            คือเป็นลำโพงที่แทบจะทำให้ห้องคุณกลายเป็นห้องเดียวกับที่เพลงที่คุณกำลังฟังนั้นถูกบันทึกมา, อย่างไรก็อย่างนั้น แบบว่าสามารถเปลี่ยนห้องฟังให้เป็นสติวดิโอบันทึกเสียงได้นั่นเลย

                ทั้งยังเป็นน้ำเสียงที่สวกเขาบอกว่าาสามารถสื่ออกมาแทนคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมต้องเป็นลำโพงของ Polk Audio ด้วยเล่า เพราะเมื่อใครก็ตามได้ยินเสียงจากลำโพงของพวกเขาแล้ว นั้นแหละคือคำตอบที่ให้กับเองได้ว่า – แล้วทำไมจะต้องเป็นลำโพงอื่นด้วยล่ะ,

                และยังยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ลำโพงของพวกเขาคือเสียงแห่งความสุนทรีย์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างแท้จริง จึงเป็นลำโพงที่กล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าว่าคือตัวแทนของเสียงที่เป็นประชาธิปไตย (Democratizing Sound) สำหรับทุกคนโดยแท้

                เพราะเสียงที่ยอดเยี่ยมไม่ควรถูกจำกัดเอาไว้ด้วยราคา ที่มีเฉพาะคนกลุ่มน้อยเท่านั้นที่มีสิทธิพิเศษ (ด้วยมีเงินมากพอ) ในการเข้าถึงเสียงที่ทรงคุณค่านั้นได้

            ทั้งยังได้กล่าวย้ำว่าอย่าได้เชื่อที่เขาบอก แต่ให้ลองไปฟังลำโพงของเขาดู, แล้วคุณถึงจะเชื่อว่าที่เขาพูดทั้งหมดนั้นคือความจริง

                ครับ, ก็ว่ากันไป

                แต่ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมากับลำโพงค่ายนี้หลายต่อหลายรุ่น ก็ยอมรับล่ะครับ ว่าคุณภาพของสุ้มเสียงกับราคาที่ลำโพงค่ายนี้ทำออกมา มันอยู่เหนือเกณฑ์มาตรฐานอย่างน่าชื่นชมจริงๆ

Polk Legend Series ลำโพงดีที่สุดเท่าที่เราเคยทำออกมา

                ครับ, Polk Audio ยืนยันเอาไว้ดั่งที่จ่าหัวย่อยเอาไว้นั้นจริงๆ

                เพราะเขาได้คาดข้อความ The Best Speakers Polk Ever Made กำกับเอาไว้ที่หน้าแรกของใบบอกลำโพง Polk Legend Series ให้เห็นอย่างชัดเจน

            พร้อมขยายความว่า – Polk Legend Series ใช้เทคโนโลยีที่เป็นพัฒนาการต่อมาของ Stereo Dimension Array: SDA Technology ที่ได้จดสิทธิบัตรเอาไว้นานกว่าสองทศวรรษแล้ว โดยได้ต่อยอดขึ้นไปเป็น SDA-Pro และทำงานร่วมกับระบบท่ออากาศแบบใหม่ที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วย Power Port Technology ที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นไปอีกระดับ ทางด้านชุดตัวขับเสียงที่ใช้ล้วนเป็นพัฒนาการล่าสุด รวมทั้งทวีทเตอร์ ซึ่งทั้งหมดถูกออกแบบมาเพื่อรองรับและถ่ายทอดบรรยากาศเสียงแบบ Atmos ได้อย่างถึงที่สุด ที่ยากจะหาลำโพงอื่นใดเทียมได้ ไม่ว่าจะในแง่ของการถ่ายทอดอิเมจ การให้รายละเอียด รวมทั้งพลังเสียงในย่านความถี่ต่ำๆ ที่จะนำมาซึ่งความสมบูรณ์ของเสียงไม่ว่าจะนำไปใช้งานในการฟังเพลงแบบ 2-แชนเนล สเตรีโอ หรือในระบบเสียงของโฮม เธียเตอร์ แบบมัลติ-แชนเนล ก็ตาม

            SDA-Pro เป็นเทคโนโลยีการกระจายเสียงของลำโพง ที่จะช่วยให้ผู้ฟังได้ยินเสียงจากแต่ละแชนเนล (ซ้าย/ขวา) แบบแยกขาดจากกัน (Acoustically Isolating) ไม่มีการซ้อนทับกัน แต่ละเส้นเสียงมีอิสระจากแหล่งกำเนิดที่ชัดเจน ทำให้ภาพลักษณ์สเตรีโอ หรือ Stereo Image มีความชัดเจนแบบสามารถชี้เฉพาะเจาะจงได้ในระดับ Pin-Point ผลที่ตามมาก็คือ Soundstage หรือเวทีเสียง มีความสมจริงทั้งด้านกว้าง และด้านลึก ให้สัมผัสที่รับรู้ได้ถึงเสียงที่เป็นสาม-มิติอย่างสมจริง มีความเป็นธรรมชาติเสมือนนั่งฟังอยู่ในคอนเสอร์ท ฮอลล์ ที่สำคัญก็คือเป็นหลักการที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในระบบเสียงแบบสเตรีโอ 2-แชนเนล และระบบเสียงแบบมัลติ-แชนเนล

                พุดง่ายๆ ก็คือ SDA-Pro Technology นั้น เหมาะสำหรับการนำมาใช้กับลำโพงทั้งในการดูหนังและฟังเพลงนั่นแหละครับ

                กอปรกับความโดดเด่นของคุณสมบัติต่างๆ ที่ผนวกเข้าไว้ไม่ว่าจะเป็น Pinnacle Tweeter, Turbine Cone, Power Port รวมทั้ง SDA-Pro ที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้เราเชื่อเป็นอย่างยิ่ง ว่าลำโพงในตระกูล The Legend Series นี้ นอกจากจะพร้อมรองรับความละเอียดเสียงระดับ High Resolution Audio แล้ว มันยังสามารถเปลี่ยนห้องนั่งเล่นของคุณให้กลายเป็นคอนเสอร์ท ฮอลล์ หรือโรงภาพยนตร์ ตลอดจนแจสส์ คลับ ที่คุณโปรดปรานได้ตามที่ต้องการอย่างแท้จริง – –

            มาดูกันครับ ว่ามีอะไรใหม่ในลำโพงอนุกรมนี้กันบ้าง

                สิ่งแรกคือทวีทเตอร์ที่เป็นแบบ Soft Dome ขึ้นรูปด้วยเส้นใย Polyester ซึ่งเป็นนวัตกรรมล่าสุดของค่าย เรียกว่า Pinnacle Ring Radiator Tweeter ที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับความละเอียดเสียงระดับ Hi-Res โดยเฉพาะ ซึ่งเหมาะทั้งการฟังเพลงแบบ 2-แชนเนล สเตรีโอ และการชมภาพยนตร์ด้วยระบบเสียงแบบมัลติ-แชนเนล 3D รวมทั้งใช้งานกับระบบเสียงในฟอร์แม็ทต่างๆ ของปัจจุบันได้อย่างสมบูรณ์

            โดยเป็นทวีทเตอร์ที่สามารถให้เสียงในย่านความถี่สูงด้วยความคมชัด และมีความกระจ่างใสเป็นพิเศษ ระดับ Ultra-Clear Sound ที่ไร้การแต้มแต่งสีสันและปลอดความพร่าเพี้ยนอย่างสิ้นเชิง ออกแบบมาโดยมี Phase-Plug ปลายแหลมซึ่งเป็นท่อนำคลื่นเสียงที่ได้รับการปรับแต่ง Wave-Guide รอบโดม ทวีทเตอร์ มาอย่างละเอียด เพื่อช่วยเพิ่มการกระจายเสียงให้ครอบคลุมพื้นที่ได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการขยายวง Sweet-Spot ให้กว้างขึ้น เพื่อให้ผู้ฟังได้รับอรรถรสของเสียงอย่างเท่าเทียมแม้จะนั่งต่างตำแหน่งในห้องเดียวกัน ทั้งยังช่วยให้สามารถทอดขยายย่านความถี่เสียงไปได้ไกลถึง 40kHz นอกจากนั้นแผงหลังของห้องที่ติดตั้งทวีทเตอร์ยังได้ถูกออกแบบและเสริมวัสดุซับภายในที่ช่วยในการขจัดเสียงก้องสะท้อน หรือ Resonance ส่วนเกิน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ น้ำเสียงที่ให้ออกมาจึงมีความสะอาดและถ่ายทอดรายละเอียดต่างๆ ออกมาได้อย่างหมดจดครบถ้วน

            อีกพัฒนาการที่เป็นนวัตกรรมอันโดดเด่นของลำโพงอนุกรมนี้ คือ Turbine Cone ที่ขึ้นรูปด้วยวัสดุ Polymer แบบ Foam-Core ด้วยการหล่อให้มีสันนูนลักษณะคล้ายครีบกังหัน หรือระหัดวิดน้ำ (Turbine) ซึ่งเป็นการเพิ่มความแกร่งให้กับกรวย รวมทั้งลดแรงสั่นสะเทือนลงได้มากขึ้น โดยที่มิพักต้องเพิ่มมวลวัสดุแต่อย่างใด ทำให้ได้คุณสมบัติในการ Damping ที่ดีขึ้น โดยผนึกเข้ากับขอบกรวย (Surround) ยางสังเคราะห์แบบ Nitrile-Butadiene Rubber ที่มีคุณสมบัติด้านความทนทานและมีความเสถียรสูง ส่งผลให้การถ่ายทอดคลื่นเสียงเป็นไปอย่างราบรื่น นุ่มนวล มีความต่อเนื่องและอุดมไปด้วยรายละเอียด ทั้งเสียงกลางและเบสส์

                อีกสิ่งที่น่าสนใจและเป็นพัฒนาการใหม่ที่ Polk นำมาใช้กับลำโพงในอนุกรมนี้ คือ เทคโนโลยีของ Port หรือท่ออากาศที่ทำงานเสริมคลื่นความถี่ต่ำที่เป็นแบบ Enhanced Power-Port ซึ่งเป็นท่อเบสส์ที่เป็นเอกลักษณ์ของ Polk แต่ไหนแต่ไรมา ซึ่งในลำโพงรุ่นนี้ได้รับการปรับปรุง และปรับแต่งรูปทรงทางด้านเรขาคณิต เพื่อให้การลื่นไหลของมวลอากาศมีความราบรื่นมากขึ้น ปลอดเสียงรบกวนอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะปลอดจาก Noise หรือเสียงแทรกซ้อนไม่พึงประสงค์ ที่มักจะเกิดขึ้นขณะคลื่นเสียงกำลังจะผ่านพ้นขอบของปากท่อออกมา ทำให้ได้เบสส์ที่สะอาดและทรงพลังมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อทำงานร่วมกับวูฟเฟอร์ที่มีช่วงชักลึก (Long-Throw Woofer) และถูกออกแบบมาให้ทำงานในลักษณะ Dual High-Excursion เป็นการเสริมให้เสียงเบสส์ทำงานลงไปได้ต่ำลึกกว่าเดิม ทั้งมีความหนักแน่น กระชับ และขับพลังออกมาให้รับรู้ถึงความแตกต่างไปจากเบสส์ของลำโพงทั่วๆ ไป ได้เป็นอย่างดี

                กล่าวโดยรวมคือเป็นเบสส์ที่มีความสมดุลสูงเหมาะกับการนำไปใช้งานทั้งดูหนังและฟังเพลง ด้วยมิได้ให้รู้สึกได้ว่าให้ออกมามากเกินหรือมีน้อยเกินไปนั่นเอง

                อีกสิ่งที่ Polk Audio ให้ความสำคัญมาตั้งยุคต้นๆ ของการออกแบบและผลิตลำโพงรุ่นแรกๆ ออกมาสู่วงการ ก็คือตู้ลำโพง และการทำตู้ลำโพงของค่ายนี้ก็เป็นแบบ Hand-Made มาตั้งแต่แรก ภายใต้ความเชื่อและปรัชญาในการออกแบบที่ว่า ตู้ลำโพงควรมีความสวยงาม ประณีต เป็นสิ่งบ่งบอกความโดดเด่นของงานฝีมือ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ควรเพิ่มอะไรเข้ามาในน้ำเสียงที่นำมาเล่นกลับ นั้นเอง, ที่ตู้ลำโพงของค่ายนี้นอกจากจะถูกออกแบบมาอย่างประณีต พิถีพิถันแล้ว ยังผ่านการคิดคำนวณทางด้านวิศวกรรมมาอย่างละเอียด เพื่อให้คลื่นเสียงที่ถ่ายทอดออกมามีความนิ่ง เสถียร สะอาด ถูกต้อง โดยปลอดจากการเสริมและหักล้างคลื่นเสียงกันเองภายในตู้อย่างสิ้นเชิง

                ตั้งแต่วันแรกที่ทำลำโพงออกมาจนทุกวันนี้ โครงสร้างตู้ลำโพงของ Polk เป็นไม้จริงแบบ Real Wood ที่ให้ประสิทธิภาพการทำงานอันยอดเยี่ยม ซึ่งสามารถถ่ายทอดน้ำเสียงที่ผ่านการบันทึกจากการทำซ้ำออกมาได้อย่างสัตย์ซื่อด้วยความเที่ยงตรงอย่างถึงที่สุด

            Polk Legend Series ประกอบไปด้วยลำโพงทั้งหมด 5 รุ่น ด้วยกัน แบ่งออกเป็นลำโพงแบบวางพื้น หรือ Floor-Standing Tower Speakers สองรุ่น (Legend L800 และ Legend L600) ลำโพงแบบประกอบขาตั้ง หรือ Stand-Mounted Speakers สองรุ่น (Legend L200 และ Legend L100) และลำโพงสำหรับเซ็นเตอร์ แชนเนล หรือ Centre Speaker หนึ่งรุ่น (Legend L400)

                นอกจากนี้ยังมีลำโพงแบบโมดูลสำหรับรังสรรค์บรรยากาสเสียงด้านบน หรือ Height Module Speaker สำหรับวางบนลำโพงวางพื้นอีกหนึ่งรุ่น (Legend L900)

Polk Legend L200 Large Premium Bookshelf Speakers

            สำหรับลำโพงในอนุกรมนี้ที่จะนำมาให้รู้จักกันเที่ยวนี้ เป็นลำโพงรุ่นใหญ่ของกลุ่มลำโพงแบบวางหิ้ง ที่เวลาใช้งานจริงต้องประกอบเข้าขาตั้ง คือ Model Legend L200

            Polk Legend L200 เป็นลำโพงวางหิ้งขนาดกลางค่อนไปข้างใหญ่ แบบที่จ่าหัวเอาไว้ว่า Large Bookshelf Speakers นั่นแหละครับ แต่ทั้งคู่ (ลำโพงซ้าย/ขวา) บรรจุมาในกล่องเดียวกัน ซึ่งมั่นคง แข็งแรง และหนักเอาการเอางานดี เพราะน้ำหนักรวมกล่องบรรจุภัณฑ์นั้นกว่ายี่สิบกิโล (กรัม) นั่นเทียว

                ลำโพงคู่นี้มาถึงผมแบบมองปราดก็รู้ ว่าตั้งแต่ลงกล่องปิดผนึกเรียบร้อยจากโรงงานกระทั่งมาถึงห้องผมนั้น ระหว่างทางยังไม่มีใครแกะลำโพงคู่นี้ออกจากกล่องมาก่อนหน้านี้เป็นแน่แท้

                ซึ่งนั้นเป็นเรื่องไม่บ่อยครั้งดอกนะครับ ที่จะมีลำโพงใหม่มาให้แกะกล่องแบบ ‘เปิดซิง’ เอาเอง

                ลำโพงแต่ละตัวบรรจุลงกล่องอยู่ในที่ทางเฉพาะเพื่อกันกระแทก โดยแต่ละชิ้นมีถุงบรรจุแยกต่างหาก หลังจากดึงตัวลำโพงออกมาจากถุง เห็นแผงตะแกรงหน้ากากซึ่งมีถุงพลาสติคบรรจุต่างหากนั้น มีป้ายสติกเกอร์สีแดงติดเอาไว้พร้อมข้อความบอกให้ระมัดระวังการกระทบกระทั่งทวีทเตอร์อย่างชัดเจน เนื่องเพราะทวีทเตอร์ที่บอกไปว่ามี Phase-Plug แบบเดือยแหลมกึ่งกลางโดมนั้น จะยื่นออกมาจากแผงหน้าตู้เล็กน้อย หากไม่ระมัดระวังอาจจะไปกระทบโดนให้เสียหายได้

            โดยชุดทวีทเตอร์นั้นติดตั้งอยู่ในโครงสร้างเฉพาะ ขณะที่ไดรเวอร์อีกตัว คือ มิด/เบสส์ ไดรเวอร์ จะติดตั้งเข้ากับแผงหน้าตู้โดยตรง ซึ่งจะมองเห็นลักษณะคล้ายครีบกังหันนูนขึ้นมารอบๆ บริเวณพื้นกรวยที่เป็นทรงโคนอย่างชัดเจน

                นอกจากแผงด้านหน้าจะมีส่วนปลายแหลมของ Phase-Plug ยื่นออกมาแล้ว ที่แผงหลังยังมีแผ่นพลาสติคคล้ายตะแกรงยื่นออกมาในส่วนครึ่งบนของโครงสร้างตู้ด้วย ซึ่งนั้นเป็นองค์ประกอบของระบบท่ออากาศที่ใช้เทคโนโลยี Power Port ในการออกแบบนั่นเอง

                โครงสร้างตู้ขึ้นรูปด้วยไม้จริงดังที่ได้กล่าวไปแล้ว บริเวณแผงหน้าตู้ที่ติดตั้งไดรเวอร์สองชุดนั้นเป็นแผงโลหะ โดยตะแกรงปิดแผงหน้าเพื่อทำหน้าที่ปกป้องชุดตัวขับเสียงนั้นจะติดตรึงเข้ากับแผงหน้าตู้ด้วยแม่เหล็ก 8 จุด ซึ่งทำให้แน่นหนาเอาการอยู่ไม่น้อยเลย

                สำหรับขั้วต่อสายลำโพงที่แผงหลังซึ่งออกแบบมาให้ใช้งานแบบ Bi-Wiring นั้น เป็นขั้วต่อแบบ Binding Post ที่สามารถใช้หัวแจ็คเสียบเข้าที่ช่องเสียบได้โดยตรงทั้งแบบ Banana Jack และ Spade Jack หรือจะเปลือยสายแล้วคลายเกลียวสอดเข้าไปที่แกนขั้วโดยตรงก็ได้

                ในกรณีที่ใช้งานแบบ Single Wire จะมีสายจัมพ์ (Jumper Cable) ระหว่างขั้ว (+/-) ชุดเดียวกัน ติดมาให้จากโรงงานพร้อมสรรพ (ดังที่เห็นในรูป)

            ใต้ตู้ที่มุมทั้งสี่ด้าน ได้แปะแผ่นยางรองกันลื่นให้มาจากโรงงานเป็นที่เรียบร้อย

                Polk Legend L200 ระบุคุณสมบัติด้านเทคนิคเอาไว้ใน Owner’s Manual ว่าเป็นลำโพงแบบ 2-ทาง ทำงานในระบบ Power Port ทวีทเตอร์ขนาด 1 นิ้ว แบบ Ring Radiator มิด/เบสส์ ไดรเวอร์ ขนาด 6.5 นิ้ว ให้การทำงานตอบสนองความถี่ 46Hz – 38,000Hz(-3dB) โดยมี Overall Frequency Response 38Hz – 50,000Hz กำหนดให้ใช้กับแอมป์กำลังขับ 30 – 200W วัดค่าความไว (Sensitivity) ได้ 85.5dB/[email protected] อิมพีแดนซ์ 4 โอห์ม

                ในส่วนของครอสส์โอเวอร์นั้น ออกแบบให้มีจุดตัวความถี่ที่ 2,600Hz โดยมี High Pass Slope (Acoustic) 18dB/Oct และ Low Pass Slope (Acoustic) 24dB/Oct

            มิติโครงสร้างตู้ (กว้าง x สูง x ลึก) 8.33 x 15.66 x 13.30 นิ้ว น้ำหนัก 10 กิโลกรัม/ตู้

Polk Legend L200 กับการลองเล่นและคุณภาพเสียง

                ดังที่ได้บอกไปข้างต้นนั่นแหละครับ ว่าลำโพงคู่นี้มาถึงผมแบบให้ ‘เปิดซิง’ เอาเอง เพราะฉะนั้นคงต้องใช้เวลาสักพักกว่าที่เสียงจะเข้าที่เข้าทาง

                แต่เพื่อไม่ให้เสียเวลากับการเปิดทิ้งเปิดขว้างแบบเรื่อยเปื่อยไปวันๆ ก็ได้อาศัยตัวช่วยเพื่อร่นระยะเวลาให้ลำโพงทำงานได้ความเร็วขึ้น ด้วยการหยิบแผ่นทดสอบและใช้เบอร์น-อิน ซิสเต็ม ของ Ayre Acoustics มาเปิดลองและสลับเล่นกับแผ่น XLO: Test & Burn-In CD เป็นครั้งคราว

                โดยมีแผ่นสามัญประจำห้องมาร่วม ‘แจม’ บ้างในบางอารมณ์ด้วย

                ไม่ได้กะเกณฑ์หรือจำเอาดอกยะครับ ว่าเปิดไปกี่นานชั่วโมงแล้ว แต่ดูวันที่จากประดิทินข้างฝาที่กาเอาไว้ตอนที่ลำโพงคู่นี้มาถึงห้อง แล้วเปิดลองดังว่ากระทั่งผ่านวันเวลามาจนถึงวันทำต้นฉบับนี่ อีกวันสองวันก็ชนเดือนพอดีครับ

                โดยห้วงเวลาที่ฟังจริงๆ จังๆ ก็อยู่ในช่วงก่อนทำต้นฉบับสี่ซ้าห้าวัน

                นั่นก็หมายความว่าผมใช้เวลาเบอร์น-อินลำโพงคู่นี้ราวๆ สามสัปดาห์ โดยประมาณเวลารวมแบบคร่าวๆ ที่เปิดให้ลำโพงทำงานกับแผ่นโน้น นี้ นั้น ที่บอกไปข้างต้น น่าจะอยู่ในกรอบ 100 ชั่วโมง (บวก/ลบเล็กน้อย)

                ในขณะที่พลิกดูคู่มือการใช้ไม่พบว่าลำโพงต้องการเวลาในการเบอร์น-อินสักกี่มากน้อย (ชั่วโมง)

                ย้อนกลับไปตอนที่เอาลำโพงออกจากกล่องมาวางบนขาตั้งก่อนจะหาแอมป์มาทำงานด้วย ได้เปิดคู่มือดูสเปคพบว่าลำโพงคู่นี้น่าจะ ‘โหด’ เอาการ คือดูจากโหลดอิมพีแดนซ์กับค่าความไวแล้ว คงยากที่แอมป์ ‘ต่ำร้อย’ จะเอาอยู่ ก็เลยหันไปหยิบเอาเครื่องกำลังขับ 150Wrms มาทำงานด้วย (Class-D Amp. 150W x 2 Continuous Power into 4&8-Ohm), 250W IHF Dynamic Power into 8-Ohms) ซึ่งเชื่อว่าน่าจะได้ความ

                แผ่นสามัญประจำห้องที่ผมหยิบมาลองเป็นแผ่นแรกเป็นแผ่นร้องที่มีเครื่องดนตรีประกอบเพียงไม่กี่ชิ้น เพราะอยากจะเริ่มต้นกับอะไรที่น้อยๆ นิ่งๆ และชัดๆ ที่เป็นการฟังอุ่นเครื่องดูก่อน คือแผ่นจากเสียงร้องของ Umi Ushida ในอัลบัมชุด The Way We Were ที่มีเครื่องดนตรีเข้ามาร่วมด้วยอีกเพียงสองประเภท, สามชิ้น คือ อัพไรท์ เบสส์ หนึ่ง กับอะคูสติค กีตาร์ อีกสอง ซึ่งเป็นแผ่นบันทึกสดในสติวดิโอที่ให้เสียงออกมาเป็นธรรมชาติมาก ในขั้นตอนการบันทึกนั้นไม่มีการบีบอัดสัญญาณแต่อย่างใด ใช้ไมค์เพียงสองตัวเท่านั้น คือ หนึ่งสำหรับเครื่องดนตรี และอีกหนึ่งกับเสียงร้อง

            เพียงไม่กี่ตัวโน้ตที่โลดแล่นออกมาอย่างพรูพร่าง ทั้งจากเสียงร้อง และจากชิ้นเครื่องดนตรีนั้น มันให้ออกมาอย่างน่าทึ่งมาก เนื่องเพราะภาพรวมของเสียงที่สัมผัสได้นั้นช่างยิ่งใหญ่ โอ่อ่า อย่างชนิดที่เหลือเชื่อว่าจะออกมาจากลำโพงวางหิ้งที่มีตัวขับมิด/เบสส์แค่ 6.5 นิ้ว เท่านั้นเอง จึงจากที่กะจะลองสักสามสี่แทร็คกับแผ่นนี้ กลายเป็นว่าอยู่กันยาวแบบจบแผ่นไม่รู้ตัว ทั้งนี้นอกจากจะยิ่งฟังก็ยิ่งทึ่งในน้ำเสียงแล้ว แต่ละแทร็คในแผ่นนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเพลงที่ฟังได้ไม่รู้หน่ายแบบอภิมหาอมตะนิรันดร์กาล, อะไรแถวๆ นั้นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น My Funny Valentine หรือ Stardust หรือ Misty โดยเฉพาะกับ Send in the Clowns นั้น ยิ่งฟังก็ยิ่งชอบ คือชอบทั้งเนื้อหา ชอบทั้งน้ำเสียง ชอบทั้งท่วงทำนองอันสุนทรีย์ของเสียงดนตรีทั้งมวลที่สอดประสานกันออกมาอย่างลงตัวอันชวนให้อภิรมย์ยิ่งนัก

                จึงเมื่อพิจารณาถึงที่มาของความชอบแล้ว ต้องยกประโยชน์ให้กับลำโพงคู่นี้อย่างไม่ลังเล เพราะสามารถถ่ายทอดน้ำเสียงออกมาให้ ‘ชอบ’ ได้อย่างที่ควรเป็นนั่นเอง

                และเป็นเพราะยังติดอกติดใจกับเสียงร้อง แผ่นต่อมาที่ใส่เข้าถาดรับแผ่นของเครื่องเล่นก็คืออัลบัมชุด Audiophile Female Voices 2 ที่จากฟังแบบ ‘เอาเพลิน’ พออุ่นเครื่องกับแผ่นก่อน เปลี่ยนมาฟังแบบ ‘เอาเรื่อง’ โดยไล่ไปแต่ละแทร็คที่คือความเคยคุ้น พบว่าเสียงร้องที่ให้ออกมายังโดดเด่นด้วยความอวบอิ่ม ถึงพร้อมในรายละเอียด และที่น่าชื่นชมมากก็คือบรรยากาศเสียงที่มีความเป็นธรรมชาติดีมาก เสียงจากแต่ละชิ้นเครื่องดนตรีมีความสมบูรณ์อย่างสมจริง โดยเฉพาะกับเสียงเปียนโน เสียงกรีดสายอะคูสติค กีตาร์ ตลอดจนเสียงกลุ่มเพอร์คัสชัน ให้บรรยากาศออกมาอย่างโอบล้อมเสมือนอยู่ในโถงแสดงจริงๆ

                ซึ่งนั้นเป็นเรื่องที่ต้องชื่นชมชุดตัวขับเสียงทั้งสองที่ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง ทั้งยังสอดประสานกันอย่างลงตัว ให้น้ำเสียงออกมาได้ด้วยความต่อเนื่องอย่างลื่นไหล แบบไร้รอยต่ออย่างสิ้นเชิง

                จากเสียงร้องของ Umi ที่เป็นการบันทึกสดในสติวดิโอแผ่นแรก มาลองให้ลำโพงทำงานกับแผ่นบันทึกการแสดงสดในฮอลล์ขนาดใหญ่ที่เป็นอีกหนึ่งแผ่นสามัญประจำห้องกันดูบ้าง นั่นคืออัลบัมชุด Bob James Around the Town และเพียงแค่เริ่มแทร็คแรกด้วย Touchdown ผมก็รู้แล้วว่าลำโพงคู่นี้ช่างไม่ธรรมดาเอาเลยจริงๆ

            เพราะมันสามารถนำผมเข้าไปมีส่วนร่วมกับการปรบมือ เป่าปาก กระทืบเท้า พร้อมส่งเสียงร้องด้วยความมันส์ในอารมณ์ร่วมไปกับทุกๆ คน ที่อยู่ในฮอลล์คืนนั้นได้อย่างกลมกลืนนั่นเอง ซึ่งนี้เป็นอีกสิ่งที่บอกให้รู้ได้ในอีกประเด็นที่ว่า มันสามารถให้บรรยากาศเสียงออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมนั่นเอง จากนั้นกับแทบทุกแทร็คในแผ่นนี้ มันยังบอกให้รู้ได้อีกว่าความสามารถในการแยกแยะรายละเอียดจากน้ำเสียงโดยรวมออกมาได้อย่างโดดเด่น เพราะแต่ละชิ้นเครื่องดนตรีมีที่ทางที่แน่นอน ชัดเจน ระยะห่างระหว่างเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นที่มีพื้นที่ให้รับรู้ได้ บ่งบอกภาพลักษณ์บนเวทีเสียงให้รับรู้ถึงความเป็นสาม-มิติ ที่โดดเด่นได้ทั้งในแง่ Image และ Soundstage ซึ่งแม้จะไม่ใช่ระดับสุดยอด แต่กับลำโพงขนาดนี้ ราคาแค่นี้ ให้ออกมาได้อย่างนี้ มันย่อมต้องไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน

            จากนั้นอีกหลากหลายอัลบัมที่เป็นความหลายหลากของรูปแบบดนตรี ที่ล้วนเป็นความเคยคุ้น ก็ถูกหยิบมาลองเล่นกับลำโพงคู่นี้อย่างต่อเนื่อง อาทิ Super Analog Sound of Three Blind Mice; Vienna: Fritz Reiner Conducted Chicago Symphony Orchestra; Signature Audiophile Instruments; The Dave Brubeck Quartet: Time Out รวมทั้งแผ่นจับฉ่ายในความหมายของ Compact Disc Sampler ชุด The Clarity Collection: Naturally Balanced, Two Microphones Audiophile Recordings (24K Premium Gold cd) ที่เป็นอีกหนึ่งอัลบัมชุด ‘แผ่นเดียวเอาอยู่’ ของผม ซึ่งมีสมดุลเสียงเป็นเยี่ยม และให้ความเป็นธรรมชาติออกมาได้เลอเลิศมาก โดยเฉพาะกับสี่ซ้าห้าเทร็คหลัง (ทั้งอัลบัมมี 17 แทร็ค) ที่เป็นงานคลาสสิคนั้น เสียงของเครื่องดนตรีอะคูสติคแต่ละชิ้นให้ออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติที่สมจริงมาก และกับแทร็คที่บรรเลงในแบบ Piano Trio นั้น บ่งบอกความแตกต่างของเสียงเปียนโนแต่ละหลังได้อย่างน่าฟัง

                กล่าวโดยรวมแล้วทุกเส้นเสียงที่ถูกบันทึกไว้ในแต่ละอัลบัมที่นำมาลองฟังนั้น ถูกลำโพงคู่นี้ถ่ายทอดออกมาให้สัมผัสถึงทุกอรรถรสของความสุนทรีย์ที่เคยคุ้นได้อย่างชัดแจ้ง ทั้งยังสนุก และให้ความอิ่มเอมอันเต็มปริ่มในทุกอารมณ์เพลงอย่างเอกอุโดยแท้

            นับเป็นลำโพงอีกคู่ที่อยู่ด้วยแล้วเต็มไปด้วยความเพลิดเพลินในอารมณ์ดีจริงๆ เพราะให้ทุกความต้องการในเสียงดนตรีออกมาได้น่าพอใจมาก

สรุป

                Polk Legend L200 เป็นลำโพงที่มีโทนเสียงโดยรวมที่ราบรื่น เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ให้สมดุลเสียงออกมาได้ดี การทำงานจากย่านความถี่กลางขึ้นไปถึงปลายเสียงแหลมมีความต่อเนื่อง กระจ่าง อุดมไปด้วยรายละเอียด ขณะที่เบสส์ให้ออกมาได้ต่ำลึกอย่างน่าทึ่ง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงขนาดของไดรเวอร์แล้ว, มันน่าทึ่งจริงๆ

                ซึ่งนั้นน่าจะเนื่องมาจากเทคโนโลยีการออกแบบท่ออากาศที่เรียกว่า Power Port ที่นอกจากให้เบสส์ออกมาด้วยพลังเสียงเกินตัวแล้ว ยังเป็นเบสส์ที่สะอาด มีความสมดุลสูง และถูกควบคุมเอาไว้ได้เป็นอย่างดี

                ภาพรวมของเสียงที่ให้ออกมามีความเป็นดนตรีอย่างน่าประทับใจ เป็นน้ำเสียงที่อบอุ่น และมีความเป็นธรรมชาติสูง ทั้งยังให้รับรู้ได้ถึงมิติที่ชัดเจน รวมทั้งซาวน์ดเทจที่กว้างขวาง ทั้งยังเป็นลำโพงที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยงแนวดนตรีแต่อย่างใด เพราะให้การทำงานกับดนตรีหลากหลายรูปแบบออกมาได้อย่างน่าพอใจในระดับที่เท่าเทียม  รวมทั้งรองรับ Hi-Res Audio ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                ท้ายสุดแล้ว, ต้องบอกว่าหากหาแอมป์ที่ ‘ถูกคอ’ กันมาร่วมทำงานด้วยได้แล้วล่ะก้อ เชื่อว่าลำโพงราคาเกินครึ่งแสนหลายๆ คู่ มีหนาวแน่นอน


ขอขอบคุณบริษัท เพาเวอร์บาย จำกัด โทร. 02-904-2000 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับการทดสอบในครั้งนี้