What HI-FI? Thailand

PMC twenty5.21 ลำโพงเสียงจริง

DAWN NATHONG

สำหรับลำโพงแนวสตูดิโอมอนิเตอร์ PMC เป็นชื่อหนึ่งที่หลายคนนึกถึงเพราะมีชื่อเสียงมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 1991 ถูกใช้ในงานกระจายเสียงของ BBC และในสตูดิโอบันทึกเสียงชั้นนำทั่วโลก

ได้รับความไว้วางใจจากศิลปินระดับตำนานอย่างเช่น พรินซ์ (Prince) หรือ สตีวี วันเดอร์ (Stevie Wonder) ที่ใช้ลำโพงรุ่น TB-1S ในสตูดิโอส่วนตัว สตูดิโอบันทึกเสียงระดับตำนานอย่าง Capitol Studios ก็เลือก PMC QB1-A ถึงสองคู่เป็นมอนิเตอร์อ้างอิงหลักสำหรับการทำมาสเตอริ่งและบันทึกเสียงให้กับศิลปินต่าง ๆ

นอกจากนี้ในส่วนของภาพยนตร์ PMC ยังเป็นเพียงสอง-สามบริษัทที่ได้รับรางวัลเอมมี่ในสาขาสนับสนุนด้านการบันทึกเสียงยอดเยี่ยม จำนวนรายชื่อของภาพยนตร์และซีรี่ยส์ที่ใช้ลำโพง PMC ในขั้นตอนโปรดัคชั่นนั้นมีนับไม่ถ้วน อาทิเช่น Titanic, Mission Impossible, Captain Phillips, Pearl Harbor, Game of Thrones, Iron Man 1& 2, Skyfall, Spiderman 1,2,3 หรือ Pirates of the Caribbean และอีกมากมาย

ปรัชญาของ PMC เชื่อมั่นว่าลำโพงที่ดีต้องถ่ายทอดสิ่งที่ศิลปินต้องการสื่อสารออกมาอย่างบริสุทธิ์เที่ยงตรงที่สุดโดยปราศจากความบิดเบือนทั้งการใช้งานบันทึกเสียงในบ้านหรือสตูดิโอ ซึ่งก็มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าลำโพงซี่รียส์ twenty5 ใหม่ล่าสุดนี้ จะสามารถถ่ายทอดเอาดีเอ็นเอของ PMC มาให้สัมผัสได้เช่นกัน

คุณสมบัติด้านเทคนิค

PMC twenty5.21 เป็นลำโพงวางหิ้งสองทางรุ่นเล็กสุดในซีรี่ยส์ twenty5 ประกอบด้วยลำโพงวางหิ้งสองรุ่น twenty5.2,1 twenty5.22 และลำโพงตั้งพื้นสามรุ่น twenty5.23, twenty5.24, twenty5.26 รวมถึงลำโพงเซ็นเตอร์ twenty5.C และแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ twenty5.sub

เทคโนโลยีที่น่าสนใจของซีรี่ยส์นี้อันดับแรกคือ ATL™ (Advanced Transmission Line) เป็นจัดการกับคลื่นความถี่ภายในตู้อันเกิดจากการทำงานของไดร์เวอร์ด้วยโครงสร้างตู้ที่มีความซับซ้อนเหมือนลำโพงทรานสมิชชั่นไลน์

เมื่อคลื่นความถี่ไหลผ่านโครงสร้างเหมือนท่อที่คดเคี้ยวภายในตู้ซึ่งมีความยาวถึง 1.72 เมตร (ในรุ่น twenty5.21) ย่านอัพเปอร์เบสขึ้นไปจะถูกซึบซับด้วยวัสดุที่แดมป์ใว้อย่างหนาแน่นจนหมด เหลือเฉพาะย่านความถี่ต่ำ ๆ ส่งออกมาทางช่องระบายเบสที่อยู่ด้านล่างของแผงหน้าตู้ลำโพง เสมือนกับเป็นไดร์เวอร์เบสอีกตัวหนึ่ง ช่วยตอบสนองย่านความถี่ต่ำให้ลงลึกและชัดเจนมากขึ้นแม้จะฟังในระดับโวลุ่มเบา ๆ ก็ตาม

เทคโนโลยีอีกอย่างที่เพิ่งถูกนำมาใช้ในซีรี่ยส์ twenty5 คือช่องระบายเบสที่ถูกแบ่งออกเป็นช่องเล็ก ๆ ด้วยครีบทรงโค้ง เรียกว่า Laminair ออกแบบตามหลักแอร์โรไดนามิกซึ่งได้ไอเดียมาจากท่อรถแข่งฟอร์มูล่า-วัน เพิ่มประสิทธิการระบายเสียงต่ำให้รวดเร็วและราบรื่น ทำให้ได้เสียงเบสที่สะอาดและมีจังหวะเวลาที่ถูกต้อง

โครงสร้างตู้ทำจากวัสดุ HDF หนา 40 มม. ปิดผิวด้วยวิเนียร์ลายไม้วอลนัต ทรงตู้จะทำเอียงทั้งหน้า-หลัง ไดร์เวอร์กลาง/ทุ้มไฟเบอร์กลาส Long-throw g-weave™ cone ขนาด 140 มม. ดัสแคปเว้าเข้า โครงสไปเดอร์ทำจากอัลลอยด์

ทวีตเตอร์โดมผ้าไหม SONOLEX™ ขนาด 27 มม. จาก SEAS® ปิดด้วยตะแกรงทรงรังผึ้ง ด้านหลังปิดด้วยแผ่นสแตนเลสขนาดใหญ่เงางาม ขั้วต่อลำโพงไบดิ้งโพสต์แบบซิงเกิ้ลไวร์สั่งผลิตจาก WBT (รุ่นเก่าจะเป็นไบ-ไวร์ ตรงนี้ถูกใจผู้เขียนมากไม่ต้องหาสายไบ-ไวร์หรือจั๊มเปอร์ให้วุ่นวายอีก) หน้ากากลำโพงระบบแม่เหล็กยึด

ติดตั้งเข้าระบบ

ด้วยความไว 86.5 ดีบี กับความต้านทาน 8 โอห์ม กำลังขับสูงสุดที่แนะนำ 150 วัตต์ บ่งบอกได้ว่า twenty5.21 เป็นลำโพงความไวค่อนข้างต่ำและกินวัตต์อยู่พอสมควร ทดลองขับด้วยอินทิเกรตแอมป์ Bryston B-60 ที่ให้กำลัง 60 วัตต์ ที่ 8 โอห์ม พบว่าย่านกลางแหลมเปิดโปร่งไม่อับทึบแต่ดุลเสียงจะค่อนไปทางกลาง-แหลมสักหน่อย ทุ้มกระชับทว่ายังขาดน้ำหนักแรงปะทะอยู่

เลยนำเอาเพาเวอร์แอมป์ NAD 216THX มาเสริมโดยใช้ B-60 ทำเป็นปรีแอมป์ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจดุลเสียงกลับมาได้สมดุล เสียงย่านทุ้มมีมวลและน้ำหนักแรงปะทะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ย่านกลางแหลมนวลเนียนขึ้นเล็กน้อยและมีรายละเอียดชัดเจนขึ้นมาก ทดลองฟังในระดับความดังเบาสุด-ดังสุด ให้โทนเสียงที่สมดุลโดยตลอดและมีรายละเอียดครบถ้วน จึงพอสรุปได้ว่าถ้าจะเล่นกับ twenty5.21 ควรจะหาแอมป์วัตต์สูงสักร้อยวัตต์ขึ้นไปน่าจะได้น้ำได้เนื้อมากกว่า

ในส่วนของการเซ็ตอัพหาตำแหน่งตอนแรกคิดว่าน่าจะยุ่งยากพอสมควรเพราะลำโพงสไตล์นี้มักจะอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อม แต่กลับผิดคาดเมื่อทดลองวางลำโพงในห้องฟังกลับใช้เวลาหาตำแหน่งไม่นานก็ลงตัว โดยวางห่างกันประมาณ 180 เซนติเมตร โทอินให้จุดตัดลำโพงอยู่ด้านหลังศีรษะห่างออกไปสัก 1 เมตร ส่วนระยะห่างจากผนังห้องทดลองขยับเข้าใกล้ผนังได้ถึง 50-60 เซนติเมตรโดยยังไม่เสียงสมดุล สิ่งสำคัญคือควรตั้งระดับน้ำให้ตรง ทำการเบิร์นอินลำโพงด้วยการฟังเพลงตามปกติเกิน 50 ชั่วโมงจึงเริ่มทำการทดสอบ

ผลการลองฟัง

สิ่งแรกที่สัมผัสได้ของ twenty5.21 คือความชัดเจนในทุกย่านความถี่ตั้งแต่ปลายแหลมจนถึงทุ้ม ซึ่งถ้าใครคุ้นเคยกับลำโพงเสียงนุ่ม ๆ อวบอิ่มอาจจะรู้สึกแปลกหูเลยทีเดียว ความชัดของ twenty5.21 ไม่ใช่ความชัดแบบเน้นให้ขึ้นขอบที่มาพร้อมกับความจัดจ้าน แต่เป็นความคมชัดตามความเป็นจริงที่ถูกบันทึกมา

ลำโพงหลาย ๆ คู่มักจะเฉลี่ยความคมชัดในแต่ละย่านความถี่แตกต่างกัน อาจจะให้เสียงกลาง-แหลมที่ชัดเจนแต่หัวเสียงทุ้มนุ่มอวบอิ่มไม่คมชัด หรืออาจจะนุ่มนวลทุกย่านความถี่ทำให้ฟังสบายแต่ก็อาจกลบรายละเอียดที่ควรจะได้ยินชัดเจนบางอย่างไป ซึ่งก็อาจมีสาเหตุจากต้นทุนหรือข้อจำกัดในการออกแบบบางประการ

twenty5.21  เลือกที่จะนำเสนอทุกอย่างออกมาอย่างไม่ปิดบังอำพราง ด้วยความใสของน้ำเสียงที่เสมือนไม่มีอะไรมากั้นระหว่างลำโพงกับผู้ฟังเลย ทำให้เรารับรู้ถึงความสดสมจริงของเสียงตลอดทุกย่านความถี่ได้เต็มร้อย หลาย ๆ อัลบั้มที่นำมาทดสอบจะได้ยินรายละเอียดหยุมหยิมที่บันทึกมาได้อย่างหมดจด และให้ความเข้มข้นของตัวเสียงที่ดีมากโดยเฉพาะปลายแหลม แม้กระทั่งเสียงเบา ๆ ก็ยังรับรู้ถึงน้ำหนักของเสียงได้ ความเข้มข้นที่ถ่ายทอดออกมา

ไม่ใช่เสียงที่อิ่มหนา แต่เป็นความแน่นของเนื้อเสียงจริง ๆ หากอัลบั้มไหนบันทึกเสียงมาอิ่มหนาก็จะรับรู้ได้ถึงมวลเสียงที่เข้มข้น แต่หากเป็นอัลบั้มที่บันทึกมาไม่ได้มาตรฐานก็จะรับรู้ถึงเสียงที่บอบบางได้เช่นกัน ซึ่งแน่นนอนว่าการเลือกแหล่งโปรแกรมที่มีคุณภาพย่อมส่งผลต่อคุณภาพเสียงได้มากทีเดียว โดยเฉพาะไฟล์ความละเอียดสูงอย่างไฮ-เรสจะถูกโฉลกมาเป็นพิเศษ

ยิ่งคุณภาพแหล่งโปรแกรมและอัลบั้มบันทึกคุณภาพดีมากเท่าไหร่ twenty5.21 ก็จะยิ่งถ่ายทอดความพิเศษออกมาให้รับฟังได้อย่างหมดจดงดงาม นี่ถือเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของลำโพง PMC เลยทีเดียว

สิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างคือความชัดเจนของตำแหน่งชิ้นดนตรีที่หลุดลอยจากตู้ลำโพงอย่างเป็นอิสระเสมือนกับลำโพงล่องหนหายตัวไปจากห้อง มีความเป็นสามมิติสูง ตำแหน่งของชิ้นดนตรีมีลำดับลดหลั่น ใกล้-ไกล สูง-ต่ำ อย่างละเอียดถี่ยิบ

คือหากเป็นลำโพงบางตัวเราอาจจะรับรู้ความลึกของชิ้นดนตรีได้แค่ 3 ระดับ เช่น อยู่หน้าลำโพง-ระหว่างลำโพง-หลังลำโพง แต่ twenty5.21 สามารถลงรายละเอียดได้ถึงระดับบอกตำแหน่งของชิ้นดนตรีที่อยู่ชิดติดกันว่าชิ้นไหนอยู่หน้า-หลัง ซ้าย-ขวา ออกมาได้อย่างชัดเจน ยิ่งอัลบั้มไหนบันทึกมาดีมากจะสามารถรับรู้ถึงเลเยอร์ของเสียงที่ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ได้อย่างน่าทึ่ง แต่ที่เจ๋งยิ่งกว่าคือไม่จำเป็นต้องนั่งให้ตรงจุด Sweet spot เป๊ะ ๆ ก็สามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน

ข้อจำกัดของ twenty5.21 ก็คงไม่พ้นขนาดปริมาตรของตัวตู้ ด้วยความที่เป็นลำโพงไซส์เล็ก ถ่ายทอดน้ำเสียงออกมาด้วยความราบเรียบตรงไปตรงมา แม้จะให้ความเข้มข้นของเสียงที่ดีแต่เมื่อถึงย่านความถี่ต่ำลึกที่เกินย่านการตอบสนองความถี่ของลำโพง เสียงทุ้มก็จะจางหายลงอย่างรวดเร็ว ทำให้บางอัลบั้มที่มีความถี่ต่ำลึกยังไม่ถึงขั้นกระหึ่มทิ้งตัวแผ่ลงพื้นเป็นระลอกได้

ถ้าใครมีห้องใหญ่ ๆ คงต้องขยับรุ่นลำโพงขึ้นไปตามความเหมาะสม ข้อดีของลำโพง PMC คือในแต่ละรุ่นจะให้โทนเสียงและรายละเอียดที่ใกล้เคียงกัน ต่างกันแค่ย่านตอบสนองความถี่และความสามารถในการถ่ายทอดไดนามิกของเสียง

สิ่งที่ได้กลับมาเมื่อลำโพงให้โทนบาล้านซ์ที่สมดุลและมีความเพี้ยนต่ำ เปรียบได้กับการฟังเสียงที่ถูกรีมาสเตอร์ใหม่ยังไงยังงั้น ในหลายอัลบั้มเมื่อฟังกับลำโพงบางตัวมีอาการเสียงพุ่งจัดจ้าน ก็สามารถรับฟังได้อย่างราบรื่นแถมได้ยินรายละเอียดหยุมหยิมที่ถูกกลบไปจากความเพี้ยนอันเกิดจากลำตัวลำโพงเองกลับคืนมา ซึ่งต่างจากลำโพงที่ทำเสียงให้นุ่มนวลตรงที่ฟังสบายแต่รายละเอียดเหล่านั้นจะถูกกลบเกลื่อนไปด้วยเช่นกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้เขียนจึง “สนุก” กับการหาอัลบั้มต่าง ๆ มาฟังผ่านลำโพงคู่นี้เป็นอย่างมาก เพราะสามารถถ่ายทอดเสียงจริง ๆ ที่ซาวด์เอ็นจิเนียร์ตั้งใจทำมาสเตอร์ริ่งออกมาได้อย่างบริสุทธิ์เที่ยงตรง หรืออย่างน้อยกับอัลบั้มที่ไม่ได้มาตรฐานตัวลำโพงเองก็ไม่เติมความเพี้ยนเข้าไปเสริมอีก

นอกจากนี้ในแง่ของการตอบสนองไดนามิก แม้จะเป็นลำโพงน้องนุชสุดท้องของซีรี่ยส์ก็ตามแต่สามารถถ่ายทอดไดนามิกของเสียงออกมาได้อย่างอิสระไม่อั้นตื้อราวกับลำโพงที่ใหญ่กว่าเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเล่นในระดับความดังต่ำกว่าปกติ เช่น เวลาต้องการฟังเบา ๆ เป็นแบ็คกราวด์มิวสิค ก็ยังได้ยินรายละเอียดของเสียงอย่างครบถ้วน และเมื่อทดลองฟังในระดับความดังสูงกับดนตรีที่มีความสลับซับซ้อน twenty5.21 ก็ถ่ายทอดพลังเสียงที่เกินตัวออกมาได้แบบนิ่ง ๆ สบาย ๆ ไม่มีอาการเครียดเค้นใด ๆ เลย ตรงจุดนี้ถือว่าทำได้น่าประทับใจ

นอกจากนี้ยังให้ไดนามิก-คอนทราสหรือความหนัก-เบาของเสียงมีความละเอียดยิบย่อยเก็บรายละเอียดได้ทุกเม็ด ช้าเป็นช้า-เร็วเป็นเร็ว ทำให้สามารถรับรู้อากับกิริยาของนักร้อง รายละเอียดเทคนิคการเล่นของนักดนตรี หรือความแตกต่างของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นที่ถูกบันทึกมาได้อย่างหมดจด จับการเปลี่ยนแปลงหรือความแตกต่างเล็ก ๆ น้อยของเสียงได้อย่างง่ายดายจนสามารถดึงความสนใจของเราให้เข้าถึงบทเพลงได้อย่างรวดเร็วและสัมผัสอารมณ์ดนตรีได้อย่างถึงแก่น

ย่านเสียงแหลมของ twenty5.21 มีเสน่ห์เอามาก ๆ ผสมความคมชัดกับความกังวานพลิ้วเอาไว้อย่างลงตัว เสียงพวกเครื่องเคาะโลหะต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องสายโลหะอย่างกีตาร์ หรือเครื่องเป่าทองเหลืองจะให้ความรู้สึกว่ามีความสดใกล้เคียงของจริง ทำได้ดีกว่าลำโพงที่ใช้ทวีตเตอร์โดมโลหะบางตัวเสียด้วยซ้ำ

อัลบั้ม The Deep End ของ Spyro Gyra (DSD64) ให้เสียงของเครื่องเคาะมีน้ำหนักแรงปะทะ เนื้อเสียงแน่นกังวานติดตามรายละเอียดของการเคาะหนัก-เบาได้ตลอด ตั้งแต่หัวเสียงที่มีความเข้มข้นฉับไวจนไปถึงการกระเพื่อมเป็นระลอกของหางเสียงที่ค่อย ๆ จางหายไปจนสุดเสียง หลุดลอยแยกขาดออกมาจากเสียงเครื่องดนตรีชิ้นอื่น เสียงกีตาร์อิ่มแน่น เสียงเบสไฟฟ้ากระชับฉับไวสังเกตเสียงกระตุกสายได้ชัดเจน ไม่เน้นเสียงต่ำให้อวบอิ่มเกินตัวซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เสียงเบสอื้ออึงจนกลบรายละเอียด เครื่องเป่ามีความสดกัดหูนิด ๆ และมีความกังวานอย่างเป็นธรรมชาติ

อัลบั้ม Audiophile Jazz Prologue III (Flac 24/96) เป็นอีกอัลบั้มที่ผู้เขียนไม่ค่อยได้นำมาทดสอบบ่อยนัก เนื่องจากหากฟังกับซิสเต็มทั่ว ๆ ไป ที่ถ่ายทอดรายละเอียดได้ไม่ดีมักจะไม่ค่อยได้ยินความพิเศษของอัลบั้มนี้เท่าที่ควรฟังแล้วจะรู้สึก “เฉยๆ” แต่สิ่งที่ twenty5.21 ถ่ายทอดออกมานั้นทำให้ผู้เขียนต้องมานั่งฟังจนจบอัลบั้ม อันดับแรกคือสามารถให้บรรยากาศของห้องบันทึกเสียงออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม เสมือนเรานั่งอยู่ในห้องมิกซ์เดียวกับซาวด์เอนจิเนียร์แล้วฟังการเล่นสดผ่านลำโพงมอร์นิเตอร์จากนักดนตรีที่เล่นอยู่กันเลย

นอกจากนี้ยังให้รายละเอียดหยุมหยิมต่าง ๆ ออกมาได้เป็นอย่างดีแบบไม่รู้สึกว่าพยายามเน้นให้ชัดเกิน คือนำเสนอด้วยความสะอาดใสจนเราสามารถสังเกตรายละเอียดเหล่านั้นได้เอง ถ้าใครชอบฟังดนตรีสดน่าจะรับรู้ได้ว่าเสียงเครื่องดนตรีต่าง ๆ มีความใกล้เคียงของจริงมาก เสียงของนักร้องได้ยินอักขระ เสียงลม ลูกคอชัดเจน เนื้อเสียงแน่นไม่ออกไปทางอิ่มหนา เสียงลมผ่านท่อของแซกโซโฟน เสียงดับเบิ้ลเบสเก็บรายละเอียดได้ดีรับรู้ถึงอาการสั่นของสายในอากาศเวลาดีด เสียงเปียโนพลิ้วใสกังวานน่าฟังมาก

ผู้เขียนยังคาใจเรื่องเสียงทุ้มอยู่เล็กน้อยด้วยความที่ twenty5.21 จงใจไม่เน้นเสียงเบสให้ใหญ่เกินตัวเหมือนที่ลำโพงเล็กส่วนใหญ่ชอบทำ เวลาฟังเพลงป็อบหรือฮิปฮอบสมัยใหม่จะเป็นอย่างไร Ed Sheeran – X (16/44.1) และ Bruno Mars – 24K Magic (16/44.1) ให้เสียงกระชับฉับไวตามจังหวะเพลง รายละเอียดสูง เสียงร้องลอยเปิดกระจ่าง ปลายแหลมเป็นประกายไม่ฟุ้งหรือสะบัดจัดจ้าน ให้หัวเสียงทุ้มที่แน่นคมชัดมีรายละเอียด มีแรงปะทะหัวเสียง แต่จะขาดมวลเนื้อเสียงทุ้มต้น ๆ ที่มาเสริมให้รู้สึกว่าฟังสนุกไปเล็กน้อย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ต้องยอมแลกกับความสะอาดเที่ยงตรงของเสียงเบสอย่างที่กล่าวมาข้างต้น

ผู้เขียนเกือบจะสรุปความเรื่องเสียงทุ้มไปเสียแล้วหากไม่ได้ลองฟัง Yim Hok Man – Poem of Chinese Drum (16/44.1) เสียงกลองขนาดใหญ่ที่กระหน่ำตีในแต่ละครั้งกระหึ่มแผ่กว้างสร้างความตื่นเต้นได้มากทีเดียว เรียกว่าไม่เคยได้ยินเสียงกลองที่มีรายละเอียดสูงขนาดนี้มาก่อน สัมผัสได้ถึงแรงสั่นสะท้านของหนังกลองที่ถูกตีในแต่ละครั้งรวมถึงความก้องกังวานที่ตามมาจากแรงสั่นของหนังกลองได้อย่างน่าทึ่ง

ให้หัวเสียงแรกกระทบหนักแน่น มีน้ำหนักเสียงแตกต่างกันไปตามลักษณะการตี มีความฉับไวพร้อมทั้งส่งแรงอัดอากาศแผ่ออกมาให้สัมผัสได้อีกด้วย ยิ่งเร่งระดับเสียงให้สูงขึ้นยิ่งได้อรรถรส เสียงกลองยังควบคุมได้อย่างนิ่งสนิทและมั่นคงเอามาก ๆ เปลี่ยนบุคลิกของเสียงทุ้มไปจากก่อนหน้าเหมือนลำโพงคนละคู่ ลืมขนาดของลำโพงไปเลยทีเดียว นี่คงจะพิสูจน์ถึงความ “เที่ยงตรง” ของเสียงทุ้มจากลำโพงคู่นี้ได้เป็นอย่างดี

สำหรับใครที่อยากได้ความครบเครื่องมากกว่านี้ โดยการเพิ่มแอคทีฟซัพวูฟเฟอร์เข้าไปเสริมย่านความถี่ต่ำนั้นผู้เขียนแนะนำว่าควรจะเลือกซับที่มีคุณภาพสูง ๆ ไว้ก่อน เนื่องจาก twenty5.21 ให้ความราบเรียบ สะอาด และฉับไวของเสียงทุ้มที่ดีมาก หากซับให้เสียงเบสไม่สะอาด ฉับไวพอ อาจตามลำโพงหลักไม่ทันและขาดความกลมกลืนของเสียงไป อีกทางเลือกที่น่าสนใจคือการขยับไปเล่นรุ่นที่สูงขึ้นอย่าง 5.22 หรือรุ่นตั้งพื้นก็น่าจะได้คุณภาพเสียงเบสที่ตอบโจทย์เพลงแนวเพลงสมัยใหม่ได้อย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

สรุปผลการทดสอบ

ลำโพงสไตล์มอนิเตอร์อาจไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกคน แต่สำหรับใครที่แสวงหาความบริสุทธิ์เที่ยงตรง สามารถถ่ายทอดคุณภาพเสียงของการบันทึกออกมาได้อย่างหมดเปลือกโดยไม่ใส่สีสันให้ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง มีซิสเต็มรวมถึงแหล่งโปรแกรมที่ถึงพร้อมด้วยคุณภาพ ลำโพง PMC twenty5.21 ก็พร้อมจะเปิดเผยเนื้อแท้และความมหัศจรรย์ของเสียงที่ซ่อนอยู่ให้ท่านได้สัมผัสครับ

อุปกรณ์ร่วมทดสอบ

รายละเอียดด้านเทคนิค

ขอขอบคุณร้าน Sound Solution โทร. 02-102-2188 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับการทดสอบในครั้งนี้

Exit mobile version