What HI-FI? Thailand

One Step Pressing ดียังไง?

Garoonchart  Bukkavesa

ปกติคนฟังเพลง ส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจที่มาที่ไปของแผ่นซีดี หรือแผ่นเสียงที่มี ว่าปั๊มไหน ประเทศอะไร ฯลฯ ขอให้มีฟังก็พอแล้ว

ขณะที่คนเล่นเครื่องเสียง กลับต้องการคุณภาพสูงสุด ลำพังแผ่นอะไรก็ได้ อาจไม่เพียงพอ ต้องควานหาปั๊มแรก ปั๊มพิเศษต่าง ๆ เพื่อให้การฟังเพลงจากซิสเต็มได้คุณภาพดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

แผ่นเสียงยุคกลับมาบูมนี้ แน่นอนว่าเครื่องจักรในการปั๊มก็มีแบบดั้งเดิม แบบผลิตใหม่ เป็นแบบอัตโนมัติหลาย ๆ แผ่น หรือปั๊มทีละแผ่น ฯลฯ ไม่ว่าจะใช้เครื่องจักรแบบใด แน่นอนว่าการจะปั๊มแผ่นเสียงจะต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า Stamper หรือแม่พิมพ์ แล้วมากดลงบนก้อนพลาสติก จึงจะออกมาเป็น “แผ่นเสียง” ให้ได้สัมผัสจับต้องได้ฟังกันได้นั่นเอง

ผมพยายามอธิบายออกมาให้อ่านเข้าใจง่ายที่สุดนะครับ เพราะจริง ๆ จะมีทฤษฎีจากผู้ผลิตที่อ่านแล้วอาจวุ่นวาย คนทั่วไปอาจจะงง ไม่จำเป็นจะต้องไปรับรู้มากนัก ส่วนใครสนใจเชิงลึก ลองเข้าไปที่ www.mofi.com กันครับ

กว่าจะได้มาซึ่งแผ่นเสียงปกติ ต้องมีขั้นตอนมีดังนี้

มาสเตอร์ต้นฉบับ > แลคเกอร์ > Father/ตัวพ่อ > Mother/ตัวแม่ > Stamper/แม่พิมพ์ > ไวนิล/แผ่นเสียง

จะเห็นว่าการทำแผ่นเสียงจะมี 3 ขั้นตอน  (นับจาก Father/ตัวพ่อ> Mother/ตัวแม่> Stamper/แม่พิมพ์) แน่นอนว่า ถ้ามีความเพี้ยนเกิดขึ้นในทุกขั้นตอนการผลิต กรรมวิธีนี้ย่อมจะมีความเพี้ยนเกิดขึ้นถึง 3 จุด ละครับ 

ส่วนแผ่นเสียง Ultradisc One-Step (UD1S) ชื่อเรียกของทางค่าย หรือ One Step Pressing (สำหรับชื่อเรียกค่ายอื่น ๆ) ขั้นตอนจะลดลงเหลือเท่านี้

มาสเตอร์ต้นฉบับ > แลคเกอร์ > Convert/ตัวแปลง > ไวนิล/แผ่นเสียง

จะเห็นว่าระบบนี้ “ตัด” ขั้นตอนของตัว Father/ตัวพ่อ> Mother/ตัวแม่> Stamper/แม่พิมพ์ ออกไปเลย (ผู้ผลิตบอกลดไป 2 ขั้น) ทำให้น๊อยส์หรือความเพี้ยนที่จะเกิดขึ้นของแต่ละกระบวนการถูก “ตัด” ทิ้งไปโดยอัตโนมัติ (ไม่มีการทำย่อมไม่มีความเพี้ยนนั่นเอง) 

เมื่อสามารถ “ลดขั้นตอน” ลงเหลือน้อยที่สุด ย่อมจะได้ “แผ่นเสียง” ที่ดียิ่งขึ้นนั่นเอง ผู้ผลิตเคลมว่าจะมีน๊อยส์ต่ำลง ทำให้รายละเอียดดีขึ้น ไดนามิคดีขึ้น เข้าใกล้มาสเตอร์เทปมากขึ้น นั่นหมายถึงมี “ความเป็นดนตรี” มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

เมื่อมีเทคนิคใหม่ ๆ ที่ดีขึ้น แน่นอนว่าบรรดาค่ายแผ่นยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ย่อมเห็นดีเห็นงาม จึงเริ่มใช้เทคนิคนี้ผลิตอีกครั้ง เพื่อจำหน่ายใหม่ขายแผ่นได้อีกรอบ สามารถตั้งราคาให้สูงกว่าแผ่นเสียงปกติได้ด้วย 

นอกจากนี้กระบวนการ “One Step Pressing” มีค่าใช้จ่ายสูงจึงทำให้จำนวนการปั๊มแผ่นแต่ละอัลบั้มมีไม่มาก 5,000 แผ่นบ้าง 7,500 แผ่นบ้าง ย่อมทำให้ค่าเฉลี่ยต่อแผ่นมีราคาสูง เนื่องจากไม่ได้ปั๊มเป็นแบบ 2-3 หมื่นแผ่นแบบปกตินะครับ

ไหน ๆ เน้นคุณภาพดีสุด ๆ แล้ว แพคเกจก็จัดเต็มด้วย เป็น “กล่อง” หนาราว 1 นิ้ว เข้าค่ายเรียกว่า Box ก็ย่อมได้ แต่ภายในมีอัลบั้มเดียว ไม่ได้รวมหลายอัลบั้ม นอกจากนี้พวกของแถมต่าง ๆ ประวัติ สมุดภาพ และอื่น ๆ ล้วนถูกคิดค้นเพื่อนำมารวมใส่ในแพคเกจด้วยเช่นกัน อิ่มเอมใจแน่นอนครับ

อีกทั้งเกิดจังหวะดี ๆ มีกระแสดี ๆ แฟนคลับนักเล่นเครื่องเสียงตอบรับเซ็งแซ่ขายหมดเกลี้ยง สิ่งที่ตามมาคือราคาพุ่งซิครับ ฯลฯ หรืออาจจะมีปั๊มรอบใหม่ได้อีก! (อาจจะหลายรอบก็เป็นได้ กินยาว ๆ ไป) ถือว่า 2-5 เด้งเลยถ้าเป็นแบบนั้น 

โดยเน้นศิลปินที่เป็นระดับหัวแถว มีคนชื่นชอบทั้งน้ำเสียง การร้อง บทเพลง ฯลฯ หรือนำแผ่นเบอร์ที่ขายดีนั่นละครับ มาจัดทำ

แผ่นอัลบั้มแรกของ Mofi คือ Abraxas ศิลปิน Santana รหัสแผ่น UD1S 2-001 ออกปี ค.ศ.2016 แต่ราคาในอีเบย์พุ่งไปอยู่ที่ 7 หมื่นกว่าบาท ขณะที่ครั้งแรกขายเพียง 120$ หรือราว 3 พันกว่าบาท!!! ปัจจุบันมีผลิตมา 14 อัลบั้ม

เรียกว่า One Step Pressing หรือ Ultradisc One-Step (UD1S) คือ เส้นทางไฮไฟเส้นใหม่ของค่ายเพลง ได้รับการตอบรับที่ดี ค่าย Mofi จัดทำออกมากี่อัลบั้มก็ตาม ปรากฏว่าหน้าเว๊บไซด์ขึ้นว่า Sold Out ทุกอัลบั้มที่ผลิต!!

นับจากนี้เชื่อว่าทุกค่ายเพลงเตรียมทยอยนำแผ่นหัว ๆ ของตนมาจัดทำเพื่อจำหน่ายยังมิตรรักแฟนเพลงต่อไป

ส่วนเพื่อน ๆ ที่อ่านลองพิจารณาดูว่าจะลองซื้อแผ่น “One Step Pressing” มาฟังเทียบหรือไม่? นั่นเป็นทางเลือกของคุณ  ผมเองแนะนำแบบนี้ครับ

อัลบั้มไหนที่มีแล้วให้ (อาจ) “ข้าม” ไป เพราะถ้าซื้อซ้ำบางทีฟังว่า “One Step Pressing” ดีกว่าแล้วจะทำอย่างไร แผ่นเดิมจะไม่ได้หยิบมาฟังอีก ไม่งั้นคงต้องขายออกไป ยกเว้นมีไว้สำรองหรือฟังอีกบ้านอีกห้อง จะได้ไม่ต้องหยิบหิ้วแผ่นเสียงไป ๆ มาๆ 

ส่วนอัลบั้มที่คุณไม่มีแผ่นเสียง แล้วพอจัดทำเป็น “One Step Pressing” ออกมา ค่อย (กัดฟัน) ซื้อมาฟังเต็ม ๆ แบบนี้น่าจะลงตัวเหมือนกันครับ

ขอให้เล่นด้วยหนทางที่ “ถูกต้อง” จะทำให้สนุกกับการเล่นเครื่องเสียงนะครับ


Exit mobile version