Old School “Vintage Sound” : TANNOY System 10 DMT II

0

Old School “Vintage Sound”

TANNOY System 10 DMT II

Nearfield Studio Monitor

 

มงคล อ่วมเรืองศรี

 SL22555

“…แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเครื่องเสียงมือสอง หรือ ของเก่าตกรุ่น แต่บางคนก็อาจยังมิเคยได้ครอบครอง หรือแม้แต่ได้เคยลองฟังเลยสักครั้งในชีวิต ดังนั้นคอลัมน์ “ Old School – Vintage Sound” นี้จึงถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อเฟ้นหาเครื่องเสียงอันมีมนต์ขลังแห่งอดีตมารับฟัง ให้ทราบถึงแก่นแท้ของเครื่องเสียงในยุคสมัยนั้น เพื่อนำเสนอสู่ท่านที่สนใจ ณ กาลปัจจุบัน…”

 

 

 

“TANNOY” ชื่อนี้ที่น้อยคนนักในแวดวงเครื่องเสียงจะไม่รู้จัก เพราะแม้แต่พจนานุกรมภาษาอังกฤษของ OXFORD ก็ยังได้บัญญัติศัพท์คำนี้ไว้เป็นการเฉพาะว่า “(noun) : UK trademark > a system of equipment that is used for making speech loud enough for a large number of people to hear, especially in order to give informationพิสูจน์ได้ถึงชื่อเสียง-การยอมรับ และความสำเร็จอย่างสูงในการเป็นสุดยอดลำโพงสัญชาติอังกฤษเชื้อสายสก็อตแลนด์

 

…จุดเริ่มต้นของ “TANNOY” นั้นเกิดขึ้นในปีค.ศ.1926 ณ มหานครลอนดอน แต่มีฐานที่ตั้งบริษัทอยู่ใน Coatbridge, Scotland โดยใช้ชื่อเมื่อแรกก่อตั้งว่า Tulsemere Manufacturing Company ทำการผลิต solid-state rectifiers ที่ใช้งานกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ออกจำหน่าย ครั้นพอถึงปีค.ศ.1928 “Tulsemere Manufacturing Company” ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น  “TANNOY” อันมีที่มาจากชื่อเรียกขานเรคติฟายแบบใหม่ (electrolytic rectifier) ที่ใช้โลหะผสมระหว่างแทนทาลัมกับตะกั่ว หรือ Tantalum-Lead Alloy (Tan + oy กลายมาเป็น Tannoy) ที่ทางบริษัทได้พัฒนาขึ้นมา โดยการคิดค้น-พัฒนาของ Guy R. Fountain และจากนั้นในปีค.ศ.1932 “TANNOY” ก็ได้กลายมาเป็นชื่อจดทะเบียนทางการค้า หรือ trademark อย่างสมบูรณ์ของ “Tannoy Ltd.”

 

“Guy R. Fountain” จึงถือได้ว่าเป็นท่านผู้ก่อตั้ง “TANNOY” …นับเนื่องจากปีที่ก่อตั้งจนผันผ่านช่วงภาวะถอดถอยทางเศรษฐกิจขณะที่มหาสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังอุบัติขึ้น “TANNOY” ได้ผลิต-ผลิตภัณฑ์ต่างๆมากมายออกจำหน่ายซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารเสียงพูดและดนตรี (speech and music communications) ผลิตภัณฑ์หนึ่งที่นับเป็นนวัตกรรมทางการออกแบบก็คือ universal speaker system ที่ถูกออกแบบขึ้นสำหรับคณะละครสัตว์เร่ (travelling circus) อันยิ่งใหญ่ที่สุดของ Bertram Mills

 

ระบบลำโพงนี้นอกจากสามารถเคลื่อนย้ายไปติดตั้งตามสถานที่แสดงต่างๆ ได้แล้ว ยังมีสมรรถนะและประสิทธิภาพที่สูงมาก ควบคู่กับคุณภาพเสียงที่ดีมากสำหรับทั้ง speech & music for announcement and entertainment ด้วยการใช้แอมป์หลอด (tube amplifiers) ที่ “TANNOY” ออกแบบและผลิตขึ้นซึ่งใช้ภาคจ่ายไฟจากเครื่องปั่นไฟ – motor generators ของคณะละครสัตว์สัญจรที่ไม่ค่อยจะมีประสิทธิภาพดีมากนัก ร่วมกับ rotary converters

 

นับแต่นั้น “TANNOY” จึงมีชื่อเสียงโด่งดัง จนเป็นที่ยอมรับกันทางด้านของระบบลำโพงและอุปกรณ์สำหรับระบบเสียง PA (public-address) กระทั่ง Oxford English Dictionary ได้บัญญัติศัพท์คำนี้ไว้ในปีค.ศ.1946 จากนั้นในปีค.ศ.1947 “TANNOY” ได้นำสิ่งประดิษฐ์ใหม่เอี่ยมอ่องทางด้านลำโพงออกโชว์ตัวในงาน London Radio Show นั่นคือ ตัวขับเสียงแบบ Dual Concentric™ ขนาด 15 นิ้วภายใต้ชื่อเรียกขาน “Monitor Black” ด้วยจุดโดดเด่นที่จัดวางทวีตเตอร์ไว้หลังแนวศูนย์กลาง (ใจกลาง) ของตัวขับเสียงต่ำ (bass driver) อันทำให้เกิดเป็น “ความต่าง” ที่เหนือชั้นยิ่งกว่าลำโพงแบบ coaxial หรือ แบบร่วมแกนธรรมดาๆ ทั่วไป

 Tannoy_System10_DMT2_03

โครงสร้างและการทำงานของตัวขับเสียงแบบ  Dual Concentric™ มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว แตกต่างจากตัวขับเสียงทั่วไป โดยจะมีส่วนของ “ท่อนำคลื่น” สำหรับนำพาคลื่นเสียงจากตัวขับเสียงความถี่สูง (Tweeter) ซึ่งถูกติดตั้งอยู่ในบริเวณ “ใจกลาง” ของตัวขับเสียงช่วงความถี่ต่ำ (Woofer) ได้อย่างราบรื่น โดยไม่เกิดปัญหาการสะท้อนไปมาของเสียงจากตัวขับเสียงทั้งสองตัว ตัวขับเสียงช่วงความถี่ต่ำก็สามารถทำงานอย่างอิสระโดยไม่กระทบ หรือรบกวนความชัดเจนของเสียงจากตัวขับเสียงช่วงความถี่สูง เมื่อทำงานพร้อมกันก็จะเกิดการผสานฮาร์โมนิคเสียงให้ออกมาราวกับเป็นแหล่งกำเนิดเสียงเพียงหนึ่งเดียว ที่ครอบคลุมตลอดย่านความถี่เสียง และให้สนามเสียงที่สร้างออกมาดีกว่าระบบลำโพงธรรมดา

 

Dual Concentric™ จึงเป็นลำโพงที่ให้เสียงในแบบที่เรียกว่า “single point source” หรือ แหล่งกำเนิดเสียงเพียงจุดเดียว – ด้วยความโดดเด่นใน “ความสอดคล้องต้องกัน” ของเสียง – ตลอดทั้งช่วงย่าน (full-frequency response) นอกจากนั้นตัวลำโพงในแบบ “single point source” ยังสามารถให้ความสอดคล้องต้องกันของทั้งจินตภาพเสียง (image) และสภาพเวทีเสียง (soundstage) กระทั่งความกลมกลืนกันของเสียงได้ดีเยี่ยมยิ่งกว่าระบบลำโพงแบบธรรมดาที่แยกการติดตั้งทวีตเตอร์และมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ไว้ต่างหากจากกัน (แม้จะอยู่ใกล้ชิดติดกันก็ตาม) ในลักษณะระบบลำโพงแบบ หลายทาง (2-ทางขึ้นไป) อีกด้วย

 

“TANNOY” จึงมีชื่อเสียงโด่งดังอย่างมากในแนวทาง Dual Concentric™ speakers ซึ่ง Ronnie H Rackham ในฐานะ Chief Engineer ของ TANNOY นี่แหละถือเป็นผู้ออกแบบและพัฒนาขึ้นมา ด้วยการผสมผสานคอมเพรสชันไดรเวอร์สำหรับความถี่สูงเข้ากับเบสไดรเวอร์ขนาด 15 นิ้ว โดยอาศัยทักษะในการออกแบบระบบฮอร์น (Horn) ที่มีช่วงย่านการตอบสนองความถี่กว้างขวาง ซึ่งเมื่อรวมไดรเวอร์ทั้งสองเข้าด้วยกัน จึงทำให้ได้มาซึ่ง “Monitor Black” – ไดรเวอร์แบบ Dual Concentric ตัวแรกสุดของ TANNOY ที่มีรูปลักษณ์ภายนอกมองดูเป็นวูฟเฟอร์ขนาด 15 นิ้ว ทว่ามีไดรเวอร์ความถี่สูงติดตั้งอยู่ “ตรงใจกลาง”

 

“Monitor Black” มีสมรรถนะรองรับกำลังขับได้ 20 วัตต์ RMS ภายใต้ค่าความไวเสียง  92 dB/W/m และค่าความต้านทาน 15 โอห์ม ช่วงจุดตัดแบ่งช่วงความถี่กำหนดเอาไว้ที่ 1 kHz ส่วนระบบแม่เหล็กนั่นเป็นแบบ cast iron alloy magnet ที่ให้ค่าความเข้มเส้นแรงแม่เหล็กอยู่ที่ 12,000 gauss สำหรับตัวขับเสียงช่วงความถี่ต่ำ และ 18,000 gauss สำหรับตัวขับเสียงช่วงความถี่สูง ซึ่ง ณ ช่วงเวลานั้น (ปีค.ศ.1947) ทั้งค่าความเข้มเส้นแรงแม่เหล็ก และการรองรับกำลังขับได้ 20 วัตต์ถือเป็นเรื่องที่น่าทึ่ง ! จนเป็นเรื่องราวที่ต้องกล่าวขาน

 66781

6 ปีต่อมา “Monitor Black” ได้พัฒนาไปสู่ “Monitor Silver” ที่มีขนาด 15 นิ้วเฉกเช่น Monitor Black ภายใต้จุดโดดเด่นสำคัญในสมรรถนะรองรับกำลังขับได้เพิ่มมากขึ้นเป็น 25 วัตต์ RMS และค่า free air resonance ที่ตอบสนองลงไปได้ถึง 40 เฮิรตซ์ พร้อมกันนี้ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปีค.ศ.1953 “TANNOY” ก็ได้ปล่อยระบบลำโพงบ้านรุ่นสำคัญออกสู่ตลาด นามว่า “Autograph” อันเป็นประวัติศาสตร์ที่ TANNOY ต้องจารึกไว้ในรูปลักษณ์ของตัวตู้ลำโพงแบบ compound horn cabinet

 

ครานี้ “Monitor Silver” ได้แยกเอา crossover network ออกมาจากตัวโครงลำโพง เพื่อป้องกัน “ปฎิสัมพันธ์” จากแรงกระทำของเส้นแรงแม่เหล็ก แตกต่างจากเดิมที่ได้ยึดติด crossover network ไว้กับตัวโครงลำโพงใน Monitor Black จากนั้นในปีค.ศ.1955 “TANNOY” ก็ได้ปล่อย Corner GRF loudspeaker system ออกสู่ตลาดจากการใช้ “Monitor Silver” เช่นกัน ต่อมาอีก 2 ปี “Monitor Silver” ก็ได้มีเวอร์ชั่นขนาด 12 นิ้วออกจำหน่าย อันนับเป็น “ต้นตำรับ” ตัวขับเสียงรุ่นสำคัญที่ใช้งานในลำโพงรุ่นสุดดัง ”Little Red Monitor” ในเวลาต่อมา (ประมาณปีค.ศ.1980)

 

“Monitor Silver” นับเป็นต้นแบบสำคัญอันนำไปสู่การพัฒนาตัวขับเสียง Dual Concentric™ ซีรี่ส์สุดดัง “Monitor Red” ที่ออกจำหน่ายในปีค.ศ.1958 ด้วยอัตรารองรับกำลังขับได้ถึง 50 วัตต์ RMS สำหรับขนาด 15 นิ้ว และ 25 วัตต์ RMS สำหรับขนาด 12 นิ้ว ภายใต้ค่าความไวเสียง  94 dB/W/m และต่อมานับเป็นครั้งแรกที่ TANNOY มีตัวลำโพง “Monitor Red” ขนาด 10 นิ้วออกจำหน่ายในปีค.ศ.1961

 

ต่อมาในปีค.ศ.1967 “Monitor Red” ได้รับการอัพเกรดขึ้นไปเป็น “Monitor Gold” ซึ่งครานี้อัตรารองรับกำลังขับได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 60 วัตต์ RMS สำหรับ Monitor Gold ขนาด 15 นิ้ว และนับเป็นครั้งแรกที่ค่าความต้านทานนั้นถูกปรับลดลงมาเป็น 8 โอห์มตามธรรมเนียมปฎิบัติเช่นทั่วไป นอกจากนี้ในปีค.ศ.1974 ยังมี “จุดเปลี่ยน” ที่ถือเป็นความพิเศษ 2-3 ประการบรรจุอยู่ใน “Monitor Gold”

 

อย่างแรกเลยนั้น – ขอบรอบตัวกรวยลำโพง หรือ เซอร์ราวด์ (surround) ที่ “TANNOY” ใช้แบบ paper surround มาโดยตลอดตั้งแต่ปีค.ศ.1947 นั้นได้รับการปรับเปลี่ยนมาเป็น pulp paper surround ซึ่งมีเนื้อเยื่อเส้นใย (fiber) เป็นรูปแบบโครงสร้างตามธรรมชาติยิ่งขึ้น

 

– ประการที่สอง : Ronnie H Rackham ได้ออกแบบลักษณะตัวกรวยลำโพง (cone) ขึ้นใหม่ ให้ช่วงปลายขอบรอบตัวกรวยลำโพง (surround edge) นั้น “บาง และ ให้ตัวได้ยิ่งกว่า” (thinner and more flexible) บริเวณเรือนร่างตัวกรวยลำโพง (cone body) เพื่อให้เนื้อเยื่อเส้นใยของทั้งเซอร์ราวด์และขอบรอบตัวกรวยลำโพงนั้น “ประสาน” เข้าด้วยกันได้ดียิ่งขึ้นกว่าธรรมดา

 

– ประการที่สาม : ช่องว่างกลางกระบอกวอยซ์คอยล์ หรือ throat cavity จากที่เคยเป็นอะลูมิเนียม ก็ได้ถูกปรับเปลี่ยนไปเป็น glass filled thermo set compression molding เพื่อให้ได้มาซึ่งลักษณะน้ำเสียงของช่วงย่านเสียงสูงที่เป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ในส่วนของระบบแม่เหล็กที่เป็นแบบ cast iron alloy magnet อันเป็นแม่เหล็กแบบโลหะผสม (nickel, aluminium, cobalt และ iron) ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปีค.ศ.1947 นั้น ก็ได้รับการปรับเปลี่ยนมาเป็นแบบ Anisotropic Barium Ferrite magnet ในช่วงปีค.ศ.1978 ตราบมาจนกระทั่งทุกวันนี้ (อันสืบเนื่องมาจาก cobalt นั้นเป็นแร่ธาตุที่หาได้ยาก จึงมีราคาแพงมาก ทั้งยังให้ประสิทธิภาพที่ต่ำเมื่อเทียบกับมวล) และซีรี่ส์ลำโพงรุ่นแรกสุดที่ใช้ Anisotropic Barium Ferrite magnet ในตัวลำโพงแบบ Dual Concentric™ ก็คือ Buckingham และ Windsor

 post-32416-0-37314300-1401450840

ในปีค.ศ.1982 “TANNOY” คว้ารางวัล “Golden Sound Award” ของนิตยสาร Stereo Sound ในญี่ปุ่น จากระบบลำโพงรุ่น Westminster ได้เป็นครั้งแรก และอีกครั้งในปีค.ศ.1986 จากระบบลำโพงรุ่น RHR Special Limited Edition ที่ออกจำหน่ายในวาระครบรอบ 60 ปีของ TANNOY ต่อมาในปีค.ศ.1985 “TANNOY” ได้ประกาศผลสำเร็จในการพัฒนา “Super Gold Dual Concentric™ Monitors” ที่ให้ทั้งสมรรถนะและคุณภาพในระดับที่เยี่ยมยอดอย่างแท้จริง

 

ปัจจุบัน “TANNOY” ได้ผนวกรวมเข้ากับ Goodmans Loudspeakers Ltd บริษัทในเครือ TGI plc. ทำให้กลายเป็นกลุ่มบริษัทผู้ผลิตลำโพงคุณภาพสูงที่ใหญ่ที่สุดในโลก และได้ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างขนานใหญ่ต่อ TANNOY การค้นคว้าพัฒนา “Tulip WaveGuide™” เป็นสิ่งหนึ่งที่นำความก้าวหน้ามาสู่คุณภาพเสียงของ “TANNOY” ตามมาด้วยแนวทางการพัฒนา “SuperTweeter™” เพื่อขยายขอบเขตการตอบสนองช่วงความถี่ให้ไกลยิ่งขึ้นกว่า 50 kHz  นำมาซึ่งการรับฟังเสียงอย่างสมจริงและเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ซึ่ง “TANNOY” ได้ติดตั้งไว้ในรุ่น Kingdom เป็นครั้งแรกในปีค.ศ.1996 และประสบความสำเร็จอีกครั้งสำหรับการคว้ารางวัล “Golden Sound Award” มาครอง

ทั้งนี้ในส่วนของระบบลำโพงแบบ Studio Monitor นั้น นับได้ว่า TANNOY ประสบความสำเร็จเช่นกัน อันมีพัฒนาการในลักษณะคู่ขนานไปกับลำโพงแบบใช้งานในบ้าน (Home-Use) ประมาณช่วงปีค.ศ.1977 โดยได้จัดตั้งทีมงานพัฒนาระบบลำโพง Dual Concentric สำหรับใช้งานเป็นลำโพงมอนิเตอร์ขึ้นมาโดยเฉพาะ จนสามารถเผยโฉมระบบลำโพงสตูดิโอ มอนิเตอร์ออกมาถึง 3 รุ่นพร้อมกันในอีก 2 ปีต่อมา

ช่วงปีค.ศ. 1980 ทาง TANNOY ก็ได้ออกจำหน่ายลำโพงแบบ Dual Concentrics สำหรับใช้งานระดับมืออาชีพอีก 3 รุ่น โดยเป็นระบบลำโพงสตูดิโอ มอนิเตอร์ขนาดเล็กจำนวน 2 รุ่น สำหรับการใช้งานในลักษณะ Near Field monitor (SRM10B และ Little Red Monitor)  ทำให้ TANNOY มีผลิตภัณฑ์ลำโพงสำหรับสตูดิโอ มอนิเตอร์มากถึง 6 รุ่น ซึ่งล้วนใช้ไดรเวอร์แบบ Dual Concentric และก็ได้รับการตอบรับอย่างดี

 

ต่อมาในปีค.ศ.1989 ทีมวิศวกรของ TANNOY ได้เริ่มทำการวิจัยเกี่ยวกับเวฟไกด์ (WaveGuide) หรือ ท่อนำคลื่นเสียงเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของไดรเวอร์แบบ Dual Concentric ด้วยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ สำหรับการออกแบบ อย่างที่เรียกกันว่า CAD หรือ Computer Aid Designed ร่วมกับเทคนิคการจำลองรูปแบบการทำงานของเวฟไกด์โดยใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์ ส่งผลไปสู่พัฒนาการของ Dual Concentric รุ่นใหม่ที่มีส่วนของตัวขับเสียงความถี่สูงที่แตกต่างไปจากที่เคยเป็นมา…

 

TANNOY ได้เปิดเผยตัวลำโพงแบบ Dual Concentric รุ่นใหม่ดังกล่าวในปีค.ศ. 1990 ภายใต้การออกแบบตัวตู้แบบใหม่ควบคู่กัน ซึ่งใช้วัสดุตัวตู้แบบ DMT (Differential Material Technology) ที่เกิดจากการใช้ MDF ร่วมกับ laminated layer เพื่อช่วยซึมซับ-สลายพลังงานแรงสั่นสะเทือน พร้อมกับเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่โครงสร้างตัวตู้ ทั้งยังผนวกร่วมกับการใช้โครงคร่าว (bracing) ค้ำยันผนังตัวตู้ที่ซับซ้อน ซึ่งทาง TANNOY ได้ตั้งชื่อเรียกขานสตูดิโอ มอนิเตอร์ซีรี่ส์ใหม่นี้ว่า “System DMT” อันกอปรไปด้วยรุ่น :-

 

“System 215 DMT” ซึ่งใช้ใช้ไดรเวอร์แบบ Waveguide Dual Concentric ขนาด 15 นิ้ว ทำงานร่วมกับวูฟเฟอร์ขนาด 15 นิ้ว
“System 15 DMT” ใช้ไดรเวอร์แบบ Waveguide Dual Concentric ขนาด 15 นิ้ว ทำงานในลักษณะของ mid field monitor

“System 12 DMT” ใช้ไดรเวอร์แบบ Waveguide Dual Concentric ขนาด 12 นิ้ว ทำงานในลักษณะของ mid field monitor
“System 10 DMT” ใช้ไดรเวอร์แบบ Waveguide Dual Concentric ขนาด 10 นิ้ว ทำงานในลักษณะของ near field monitor
“System 8 NFM” ใช้ไดรเวอร์แบบ Waveguide Dual Concentric ขนาด 8 นิ้ว ทำงานในลักษณะของ desktop near field monitor
“System 2 NFM” อันเป็นรุ่นเล็กสุดในกลุ่ม ซึ่งใช้ทวีตเตอร์รุ่น 0259 tweeter ทำงานร่วมกับมิดเรนจ์-วูฟเฟอร์รุ่น 1668GG ทำงานในลักษณะของ desktop near field monitor

 bf67f3dbcac23275d6a56d178d3ec9da

ทั้งนี้ทั้งนั้นบางคนอาจจะคิดว่า ไดรเวอร์แบบ Waveguide Dual Concentric นี้ไม่ต่างไปจากลำโพงแบบร่วมแกน (coaxial speaker) เพราะมองดูจากภายนอกแล้วคล้ายกัน ทว่ามองลึกเข้าไปภายในนั้น ได้ซ่อนความแตกต่างไว้อย่างมหันต์ เพราะมิได้ใช้แกนร่วมกันของ mid/bass driver กับ tweeter แต่ได้บรรจุทวีตเตอร์เข้าไว้ในส่วนใจกลางของ mid/bass driver เลยทีเดียว โดยมีส่วนที่เรียกว่า waveguide (ท่อนำคลื่นเสียง) เข้ามาเชื่อมต่อส่วนการทำงาน เพื่อให้เสียงความถี่สูงๆ ของทวีตเตอร์สามารถเดินทางผ่านออกมา โดยปราศจากผลกระทบรบกวนจากแรงลมหมุนวนบริเวณตรงกลางไดรเวอร์ ซึ่งนี่เองที่ทำให้ไดรเวอร์แบบ Waveguide Dual Concentric สามารถให้ลักษณะเสียงในลักษณะที่เป็น single point source อย่างแท้จริง เสียงเพลงและดนตรีจึงรับฟังได้อย่างกลมกลืนกัน ผู้ที่เน้นการรับฟังอิมเมจ-ซาวด์สเตจจะทราบดีในคุณสมบัติสำคัญที่ว่านี้ …นี่แหละคือ ตัวขับเสียงที่เยี่ยมยอดสุดๆ

 

หมายเหตุ :- …มีคนจำนวนไม่น้อยที่มักจะพูดว่า “เครื่องเก่า” นั้น มันตกสเปคฯ ไม่น่าเล่น, เชย หรือ ตกยุค, เสี่ยงต่อความเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ใช้งาน อันอาจนำพามาซึ่งความเสียหาย (อย่างร้ายแรง) ต่อซิสเต็มที่ใช้งาน, ซื้อมาใช้งานก็ไม่มีการรับประกัน (warranty) แต่อย่างใด หนำซ้ำเมื่อเครื่องเสียเพราะหมดอายุการใช้งาน อาจหาอะไหล่มาเปลี่ยนใหม่ไม่ได้ด้วยซ้ำไป – อะไรทำนองนั้น ซึ่งเหล่านั้นก็เป็นความจริง – แต่มันจริงเพียงส่วนเดียว เพราะหากพินิจ-พิจารณาไคร่ครวญดูดีๆอย่างมีเหตุผล จะพบว่า “เครื่องเก่า” ที่เขาเล่นกันนั้น มันเป็นเครื่องในระดับไฮ-เอ็นด์ในยุคสมัยนั้นทั้งสิ้น ซึ่งกาลเวลาได้พิสูจน์ให้ประจักษ์แล้วว่า “ดีจริง” แม้จะผันผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน สมรรถนะและคุณภาพเสียงก็ยังเป็นที่น่าถวิลหา อีกทั้งคนที่ชื่นชอบใน “เครื่องเก่า” หรือ…การเล่นเครื่องเสียงแนววินเทจนั้น บางครั้งเรื่องของตัวเลขต่างๆที่ระบุไว้ในสเปคฯ มิได้ถูกนำมาคิด-พิจารณาเลยด้วยซ้ำ 

“ความชอบ” นั้นมาจาก “เสียง” ที่ได้รับฟัง-เหนือปัจจัยใดๆทั้งสิ้น-ถ้าฟังแล้วบังเกิดความน่าหลงใหล  เพราะสิ่งที่ได้รับฟังจาก “เครื่องเก่า” มักจะ-แตกต่าง-อย่างที่ “เครื่องใหม่” ซึ่งทันสมัยกว่า ตัวเลขสเปคฯก็ดูดีกว่า อาจทำได้ไม่เท่า …ผู้คนจำนวนมากทั่วโลกจึงถวิลหา “เครื่องเก่า” ที่โด่งดังในอดีตมาครอบครอง บางเครื่อง-บางรุ่นที่ยอดนิยมจริงๆนั้นถึงกับ “แย่ง” กันก็มี ทั้งๆที่ “ราคา” นั้นสูงลิบลิ่ว ยิ่งกว่าราคาตอนแรกจำหน่ายด้วยซ้ำไป นั่นเพราะว่า “มันหายากส์” ไม่ค่อยจะมีใครยอม “ปล่อย” ออกมา แม้ว่า จะขายได้ราคาดีมากๆก็ตาม

 

…บางทีคนที่มุ่งโจมตี “เครื่องเก่า” อาจต้องหันมาพิจารณาตัวเองบ้าง… ใช้เหตุและผล มิใช่ความคิดส่วนตนเป็นเครื่องตัดสินถูก-ผิด เรื่องของ “ความชอบ” หรือ “ความถูกใจ” ของคนเรา มันอยู่เหนือเหตุ-ผลใดๆ …ปล่อยให้ “เขา “ คิดกันเองบ้างดีไหม เขาก็มี “สมอง” เช่นกัน กรุณาอย่าครอบงำ หรือ ชี้นำแบบชักใบให้เรือเสีย ประเภท “เชื่อผมเถอะ ผมเป็นใคร …ทำไมถึงไม่ไว้ใจในคำชี้แนะของผมล่ะ” อะไรทำนองนั้น เพียงเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน หรือ ของใครไม่กี่คน

 

…ลองกลับไปดูตัวเองซิว่า ตัวเองน่ะมีเครื่องเก่าตกรุ่นเก็บสะสมอยู่บ้างหรือเปล่า ? แล้วนำออกมาฟังอยู่ประจำ หรือไม่ ? ซึ่งถ้าไม่ชี้โกง หรือ โป้ปดจนติดเป็นนิสัย น่าจะซาบซึ้งดีว่า เสียงที่รับฟังจาก “เครื่องเก่า” นั้น มันให้อารมณ์ร่วมได้ขนาดไหน ถามใจตัวเองดูซิว่า จริงอ๊ะปล่าว….