Old School “Vintage Sound” : Phase Linear 400 Series II

0

Old School “Vintage Sound” 

Phase Linear

400 Series II

“One of The Most Significant Amplifiers of All Time” !?

 

มงคล อ่วมเรืองศรี

d500

 

“…แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเครื่องเสียงมือสอง หรือ ของเก่าตกรุ่น แต่บางคนก็อาจยังมิเคยได้ครอบครอง หรือแม้แต่ได้เคยลองฟังเลยสักครั้งในชีวิต ดังนั้นคอลัมน์ “ Old School – Vintage Sound” นี้จึงถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อเฟ้นหาเครื่องเสียงอันมีมนต์ขลังแห่งอดีตมารับฟัง ให้ทราบถึงแก่นแท้ของเครื่องเสียงในยุคสมัยนั้น เพื่อนำเสนอสู่ท่านที่สนใจ ณ กาลปัจจุบัน…”

 

…ได้พาท่านทั้งหลายไปพบเจอกับ “One of The Most Significant Preamps of All Time” ไปแล้วในครั้งที่ผ่านมา ครั้งนี้จึงขอนำพามารู้จักกับ “One of The Most Significant Amplifiers of All Time” บ้าง เพื่อจะได้สานต่อกันอย่างลงตัว ท่านใดที่กำลังมองหาเพาเวอร์ แอมป์แบบ SS (Solid-State) ยุคเก่าที่มีคุณภาพเชื่อถือได้ ราคาไม่แรง แถมยังได้ชื่อว่า Most Popular …รับรองว่า ไม่ควรพลาด

The Absolute Sound ได้มีการระบุถึง แอมป์ 10 ตัวที่ได้รับการยอมรับว่า “โดดเด่นที่สุด” ในสายตารีวิวเวอร์ชื่อดังทั้ง 8 คนของเขา (Peter Breuninger, Neil Gader, Robert E. Greene, Robert Harley, Dick Olsher, Harry Pearson, Paul Seydor และ Jonathan Valin) ซึ่ง 7 ใน 8 คนล้วนมีประสบการณ์ประทับใจกับ Phase Linear เหมือนๆกัน (จะเว้นก็เพียงแค่ Dick Olsher เท่านั้น) … Phase Linear มีดีอย่างไร? คุณภาพเสียงเป็นเช่นไร? อะไรทำให้นักฟัง-นักวิจารณ์เครื่องเสียงมากประสบการณ์ถึงได้มีความประทับใจมากถึงเพียงนั้น ทั้งๆที่อายุอานามของเครื่องรุ่นนั้นก็ปาเข้าไปไม่ต่ำกว่า 40 ปี? สมรรถนะและคุณภาพที่เพาเวอร์ แอมป์ในยุคสมัยนี้ส่งมอบออกมานั้น มันเทียบชั้นกันไม่ได้เลยเชียวหรือ? ฯลฯ ล้วนเป็นคำถามที่ผุดขึ้นมาในใจ

นับเป็นโชคดีของผมที่เจ้าลูกชายคนโตดันมี Phase Linear 400 (Series II) ใช้งานประจำการอยู่ในชุดเครื่องเสียง จึงได้เอ่ยปากขอยืมเอามาลองฟังเพื่อพิสูจน์ในคุณภาพเสียงให้ประจักษ์ด้วยหู-รู้ด้วยตากันไปเลย โดยได้นำมาใช้แทนที่ USHER R1.5 ในซิสเต็มที่ใช้ฟังเพื่อการรีวิวของผม …ซึ่งผลที่ได้นั้น ทำเอาอึ้งไปเลยครับ กับเสียงที่ได้รับฟังจากเพาเวอร์ แอมป์ที่ทำออกมาจำหน่ายเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว อย่างเหลือเชื่อจริงๆครับ !!

            Phase Linear เป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์เครื่องเสียงที่ Bob Carver ได้ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปีค.ศ.1970 ร่วมกับ Steve Johnston และ Jack Goodfellow ซึ่งถ้าหากคุณเป็นนักฟังที่ช่างสังเกตและเคยผ่านตากับสิทธิบัตรต่างๆ อย่างเช่น Magnetic Field Power Amplifier, Sonic Hologram Generator, Digital Time Lens, Asymmetric Charge-Coupled FM Detector กระทั่ง Auto-Correlation Noise Reduction System เหล่านี้แหละครับ ก็จะทราบดีว่าล้วนเป็นผลงานอันโดดเด่นที่ได้รับการจารึกไว้ในวงการออดิโอจากมันสมองและสองมือของ Bob Carver ทั้งสิ้น

PL400-2_09_zps5a473ad2.jpg~original

Bob Carver หรือชื่อจริงๆก็คือ Robert W. Carver (ที่นับถึงปีพ.ศ.นี้ก็มีอายุกว่า 50 ปีแล้วละครับ) มีความชื่นชอบในเครื่องเสียง และมีแนวคิดอันปราดเปรื่องในเรื่องนี้มาตั้งแต่สมัยเรียนวิทยาลัย พอจบการศึกษาระดับมหาบัณฑิตได้ไม่นานเขาก็ได้ก่อตั้ง “Phase Linear” ขึ้นมา ซึ่งแรกเริ่มเลยนั้นตั้งอยู่ในบ้านของเขาเองที่ Richmond Heights บนถนน 405 Howell Way ใน Edmonds เมือง Washington ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดภายใต้แบรนด์เนม Phase Linear ล้วนเป็นฝีมือการออกแบบของ Bob Carver ทั้งสิ้น โดยมี Phase Linear 700 เป็นผลิตภัณฑ์ตัวแรกสุด ที่สร้างชื่อลือลั่นเป็นอย่างมาก สืบเนื่องจากสมรรถนะและคุณภาพเสียงที่มันส่งมอบออกมา มันจึงเป็นเพาเวอร์ แอมป์ยอดนิยมที่สตูดิโอบันทึกเสียงเจาะจงเลือกใช้ รวมทั้งนักดนตรีชื่อดัง ถึงขนาดว่า วงคนตรีร้อกของอเมริกาหลายวงทีเดียวที่เลือกใช้ Phase Linear 700 สำหรับคอนเสริ์ตทัวร์ทั่วอเมริกา

Phase Linear 700 เป็นเพาเวอร์ แอมป์ 2 แชนแนลที่ให้กำลังได้สูงถึง 350 วัตต์ต่อข้าง ซึ่งนับว่า สูงที่สุดในบรรดาเพาเวอร์ แอมป์ของยุคสมัยนั้น (1970) แต่กระนั้น Phase Linear 700 ก็มิได้จำเป็นต้องใช้พัดลม หรือ Cooling fan ในการช่วยระบายความร้อนขณะใช้งาน เนื่องเพราะความชาญฉลาดของ Bob Carver นั่นเอง ที่เขาได้นำเอา Power transformer รวมทั้ง Output Transistor ไปติดตั้งไว้ภายนอกตัวเครื่อง เพื่อให้เกิดพื้นที่ในการสัมผัสสู่อากาศมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

Bob Carver นำ Phase Linear 700 มาปัดฝุ่น-ปรับปรุงใหม่ในปีค.ศ.1974 และออกจำหน่ายโดยมีอักษร “B” ต่อท้ายชื่อรุ่น ภายใต้รูปลักษณ์ที่นับว่าสวยงาม-ลงตัวกว่ารุ่นดั้งเดิม รวมถึงการเปลี่ยนไปใช้ครีบระบายความร้อนแบบใหม่ที่ให้พื้นที่ในการสัมผัสสู่อากาศมากขึ้นกว่าเดิม ต่อมาในปีค.ศ.1978, Phase Linear 700B ก็ได้รับการปรับโฉมใหม่ รวมถึงการออกแบบวงจรภายในใหม่ด้วยเช่นกัน ภายใต้ชื่อรุ่นว่า Phase Linear 700 Series Two …ที่ได้กลายมาเป็น-แบบอย่าง-ถ่ายทอดมาสู่ Phase Linear 400 Series Two ที่กำลังจะได้เล่าสู่กันฟัง

400svc_2

คุณลักษณ์

เดิมทีนั้น Bob Carver ได้ออกแบบ “Phase Linear 400” ไว้ไล่ๆหลัง Phase Linear 700 นั่นแหละครับ นับเป็นผลิตภัณฑ์ลำดับที่ 2 ของ Phase Linear แรกออกจำหน่ายนั้นมีราคาอยู่ที่ต่ำกว่า 500 ดอลล่าร์สหรัฐ (ประมาณปีค.ศ.1972) ซึ่งนับว่าเป็นเพียงแค่ 2 ใน 3 เมื่อเทียบกับราคาของ Phase Linear 700 ด้วยกำลังขับที่ 200 วัตต์ต่อแชนแนล ทำให้มันได้รับความนิยมจากนักฟังในบ้านมากกว่า Phase Linear 700 ที่พุ่งเป้าไปในระดับโปรเฟสชั่นแนล

Phase Linear 400 คงไว้ซึ่งความเรียบง่าย แต่แฝงไว้ด้วยความบึกบึนเฉกเช่นเดียวกับ Phase Linear 700 …เชื่อหรือไม่ครับ สเตอริโอ เพาเวอร์ แอมป์ขนาด 200 วัตต์รุ่นนี้ได้รับการติดตั้ง Output Transistor มากถึง 12 ตัวเลยทีเดียว พร้อมด้วย Power transformer ขนาดใหญ่ ที่ทำเอา Phase Linear 400 มีน้ำหนักตัวร่วมๆ 20 กก.เลยทีเดียว ซึ่งแม้จะเป็นรุ่นน้องเล็กแต่ Bob Carver ก็ได้ทุ่มเทการออกแบบ Phase Linear 400 ไว้ไม่แตกต่างจากรุ่นพี่ใหญ่ ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุดในยุคสมัยนั้น รวมทั้งการคัดสรรอุปกรณ์ใช้งานอย่างดีมีคุณภาพสูง พิสูจน์ได้จากการที่ Phase Linear 400 มีค่า Damping Factor ที่สูงถึงเกือบจะ 1000 เลยทีเดียว !!

ต่อมาในปีค.ศ.1978, Phase Linear 400 ก็ได้รับการปรับโฉมใหม่ รวมถึงการออกแบบวงจรภายในใหม่ไปพร้อมกัน โดยเรียกได้ว่าได้รับการถ่ายทอดพันธุกรรม หรือ DNA ตรงมาจาก Phase Linear 700 Series Two ที่ A.P. Van Meter ได้เข้ามารับผิดชอบในฐานะ Engineering Manager และ Chief Design Engineer ช่วงปีค.ศ.1974 กระทั่งก้าวขึ้นมานั่งแท่นแทนที่ Bob Carver ในปีค.ศ.1977 (หลังจากที่ Bob Carver ออกไปตั้ง Carver Corporation) จากความที่ A.P. Van Meter ได้เคยทำงานให้กับ Macintosh และ University Sound เขาจึงนำประสบการณ์นั้นมาประยุกต์เข้าใช้ร่วมกับแนวคิดการออกแบบที่มีอยู่เดิมของ Bob Carver  จนมีส่วนทำให้ทั้ง Phase Linear 700 Series Two และ Phase Linear 400 Series Two รวมถึง Phase Linear Dual 500 Series Two มีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก ก่อนที่จะถูก Pioneer Electronics Corporation แปรสภาพไป หลังจากเข้าซื้อกิจการทั้งหมดในปีค.ศ.1979 (อีก 3 ปีถัดมา Pioneer ก็ขายกิจการ Phase Linear ไปให้แก่ Jensen Inc. ซึ่งทาง Jensen ก็ปรับเปลี่ยนโฉม Phase Linear ไปไม่เหลือเค้าเดิม สู่แนวทางของเครื่องเสียงรถยนต์ ตราบจนทุกวันนี้)

ภายใต้ขนาดตัวเครื่อง 483x178x254 ม.ม. น้ำหนัก 16 กก.ของ Phase Linear 400 Series Two ได้ซ่อนขุมพลังเอาไว้วัดได้สูงถึง 210 วัตต์ต่อข้างที่ค่าความต้านทาน 8 โอห์ม โดยมีช่วงค่าตอบสนองความถี่เสียงครอบคลุมตั้งแต่ 12 – 40,000 เฮิรตซ์ ภายใต้ค่าความผิดเพี้ยนเพียงแค่ 0.09% สัดส่วนสัญญาณรบกวน ดีกว่า 110 ดีบี รองรับความแรงสัญญาณขาเข้าตั้งแต่ 1 โวลต์ขึ้นไป ที่สำคัญค่าแดมปิ้ง แฟคเตอร์นั้น ทำได้สูงถึง 1000 นั่นเลยเชียวละ บ่งบอกได้ถึงสมรรถนะและประสิทธิภาพการทำงานอันเยี่ยมยอด …ไม่น่าเชื่อว่า นี่คือการออกแบบตั้งแต่เมื่อสี่สิบกว่าที่แล้ว

…มีเรื่องจริงซึ่งไม่ค่อยเป็นที่เปิดเผยนักในวงการ ว่ากันว่าช่วงกลางยุคปี’80, Bob Carver ได้เคยเป็น “ตัวป่วน” เชิงท้าทายนิตยสารเครื่องเสียงชื่อดัง 2 หัวด้วยกัน อันได้แก่ The Audio Critic กับ Stereophile ให้ช่วยจัดหาแอมป์ที่คิดว่า ดีที่สุดโดยไม่จำกัดราคา แล้วตัวเขาจะทำการสร้างแอมป์ในแนวทางของเนสนี่แหละให้ได้ซึ่งเสียงที่ราวกับก็อปปี้ หรือ duplicate มากระนั้น ให้ได้ประจักษ์กัน ที่สำคัญแอมป์ที่เขาสร้างขึ้นมานี้จะมีราคาย่อมเยากว่ามากทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่านิตยสารทั้ง 2 ฉบับย่อมต้องตอบรับคำท้านั้น…

The Audio Critic เลือก Mark Levinson ML-2 ส่วน Stereophile เลือก Conrad-Johnson Premier Five มาเป็นต้นแบบ เพื่อให้ Bob Carver ทำการ “ถอดแบบ” ลักษณะเสียง ซึ่ง Bob Carver ใช้เวลาไม่นานนักก็สามารถออกแบบสร้างแอมป์ของตนเอง ส่งไปให้บรรดาลูกขุนของสำนักนิตยสารทั้ง 2 นั้นได้ฟังกัน และต่างคนต่างก็ล้วนต้องยอมรับในความไม่ต่างกันของคุณภาพเสียงเมื่อฟังเปรียบเทียบกัน ผลลัพธ์ที่ได้กลายมาเป็นที่มาของ Carver M1.5t และ M1.0t

ซึ่งโดยแท้จริงแล้วไซร้ ในใจของ Bob Carver มิได้ตั้งใจจะโชว์ความเก่งฉกาจในตัวเขา ที่สามารถสร้างแอมป์ราคาย่อมเยาให้มีลักษณะเสียงที่เทียบเคียงได้กับแอมป์ราคาแพงกว่านับสิบเท่าได้สำเร็จ หากแต่ Bob Carver ต้องการจะพิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ในทฤษฎีของเขาที่ว่า “แม้การออกแบบจะต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ก็สามารถจะปรับจูนระบบการทำงานให้ได้มาซึ่งเสียงที่ละม้ายคล้ายคลึงกัน หรือเหมือนกันได้ มิใช่จะดูเพียงแค่การออกแบบ หรือทฤษฎีที่นำมาใช้แค่นั้น”

PHASE-400II-REAR

สมรรถนะทางเสียง

Phase Linear 400 Series Two จะทำให้คุณทึ่ง นึกไม่ถึงว่า นี่คือชิ้นงานการออกแบบ-สร้างตั้งแต่เมื่อกว่า 40 ปีมาแล้ว นั่นคือ ความสดใส ฉับไว และโปร่งกระจ่างอย่างมากๆ โดยไม่รู้สึกขาดแคลนเนื้อหนังในน้ำเสียงที่รับฟัง ซึ่งเมื่อได้ฟังร่วมกับปรีแอมป์ AGI Model 511 ผ่านลำโพง GURU QM10 Two โดยใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียง Clear Audio Emotion และหัวเข็ม MM ของ DENON รุ่น DL-103LC II เป็นแหล่งต้นสัญญาณ …ช่างเป็นอะไรที่มหัศจรรย์มากทีเดียว

คุณจะรับรู้ได้ถึงสภาพเวทีเสียงที่มั่นคง ไม่วูบวาบ แต่บ่งบอกการเคลื่อนไหวต่างๆ ราวกับกำลังเห็นอากัปกริยา-ท่าทางขณะกำลังแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์ของศิลบิน-นักร้องที่เรากำลังฟังผลงานของเขาอยู่กระนั้น ปรากฏเป็นตัวเป็นตนสมจริงในเวทีเสียงที่แผ่กว้างอย่างเป็น 3 มิติ แยกเป็นแถว-ชั้น (Layered) มีระยะเว้นความห่างอย่างชัดเจน ทั้งยังแยกแยะรายละเอียดต่างๆที่สอดแทรกอยู่ แม้จะแผ่วเบาก็ตาม ให้เรารับรู้ได้

ความฉับพลันทันใดของสรรพเสียงนับเป็น “จุดเด่น” ที่ Phase Linear 400 Series Two ทำได้อย่างน่าประทับใจยิ่งนัก ไม่ว่าจะเป็นการรับฟังจากเพลงร็อกที่ท่วงทำนองเร่งเร้า ดุดัน หรือจากเพลงคลาสสิกที่กำลังประโคม โหมกระหน่ำ Phase Linear 400 Series Two จะให้เสียงที่เต็ม-แน่น ไม่มีอ่อนแรง หรือ ตื้อตัน แม้ในยามที่สารพัดชิ้นดนตรีประโคมโหมกระหน่ำ เรี่ยวแรงพลังสองร้อยกว่าวัตต์ของ Phase Linear 400 Series Two ทำให้ได้มาซึ่งความอิ่มเอิบ มีน้ำมีนวลในน้ำเสียง ชวนให้เคลิบเคลิ้ม ฟังแล้วเพลินใจ ทั้งยังทิ้งทอดตัวลงไปได้ลึกล้ำ ให้น้ำหนักเสียง และเรี่ยวแรงกระแทกกระทั้น ควบคู่ความฉับไวในจังหวะจะโคน พร้อมด้วยความไหลลื่นในไดนามิคเสียง

 

ในขณะที่ช่วงย่านเสียงสูงก็ปลอดโปร่ง ให้ความกังวานของหางเสียงที่ยาวไกลไปสุดกู่ ทั้งยังสามารถบ่งบอกความก้องสะท้อนแผ่วเบาของสภาพอะคูสติค รวมถึงลักษณะมวลบรรยากาศอบอวลภายในคอนเสิร์ต ฮอลล์ได้อย่างสมจริงมาก เสียงก้องสะท้อนเล็กๆน้อยๆถูกบ่งบอกออกมาหมดจด เสียงขยับปรับเลื่อนเก้าอี้ เสียงพลิกกระดาษ เสียงสูดลมหายใจ-ถอนใจก็รับฟังได้ถนัดชัดเจน

 

ที่สำคัญ Phase Linear 400 Series Two สามารถส่งมอบ “ความเป็นดนตรี” ออกมาได้อย่างสมจริง เป็นเสียงที่ให้ความน่าฟัง ฟังแล้วเป็นสุข ปลอดโปร่งสบายใจ คลายความเครียด เปี่ยมด้วยความฉับไวในการนำเสนอต่อทุกสรรพเสียงที่ได้รับฟัง พร้อมด้วยคุณลักษณ์ทางเสียงโดยรวมที่มีความกลมกลืนกันของเสียงทุ้ม-กลาง-แหลมอย่างสมดุล จนทำให้เรารู้สึกเคลิบเคลิ้มเพลิดเพลินจำเริญใจตลอดเวลาของการรับฟัง ไม่ว่าจะหยิบจับแผ่นนี้แผ่นนั้นแผ่นโน้น  หรือแผ่นไหนๆ … มาเปิดฟังก็ตามที

 400_II_opened

สรุปส่งท้าย

            อย่างที่ได้บอกไว้ตั้งแต่ตอนต้นนั้นแหละครับ ว่า Phase Linear 400 Series Two จะทำให้คุณทึ่ง นึกไม่ถึงว่า นี่คือเสียงที่รับฟังจากแอมป์ที่ออกแบบ-สร้างไว้เมื่อกว่า 40 ปีมาแล้ว ยิ่งเมื่อนำคุณภาพเสียงที่รับฟังไปเทียบกับราคาที่จะต้องจ่ายออกไป เพื่อให้ได้มาซึ่งลักษณะเสียงที่ใกล้เคียงกันจากแอมป์ในยุคสมัยปัจจุบัน อาจจะต้องใช้คำว่า คุณคงต้องจ่ายเกินสิบเท่าเป็นแน่ …ลองหาโอกาสรับฟังด้วยหูตัวเอง แล้วคุณจะรู้ซึ้งในสิ่งที่ มิใช่ตัวผมผมเท่านั้นที่ประทับใจ  หากยังรวมไปถึงนักฟังอีกหลายต่อหลายท่าน แม้กระทั่งรีวิวเวอร์ชื่อดังอย่าง Peter Breuninger, Neil Gader, Robert E. Greene, Robert Harley, Harry Pearson, Paul Seydor และ Jonathan Valin ก็ยังประทับใจไม่ต่างกัน นะพณฯท่าน…

 

 

 

หมายเหตุ :- …มีคนจำนวนไม่น้อยที่มักจะพูดว่า “เครื่องเก่า” นั้น มันตกสเปคฯ ไม่น่าเล่น, เชย หรือ ตกยุค, เสี่ยงต่อความเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ใช้งาน อันอาจนำพามาซึ่งความเสียหาย (อย่างร้ายแรง) ต่อซิสเต็มที่ใช้งาน, ซื้อมาใช้งานก็ไม่มีการรับประกัน (warranty) แต่อย่างใด หนำซ้ำเมื่อเครื่องเสียเพราะหมดอายุการใช้งาน อาจหาอะไหล่มาเปลี่ยนใหม่ไม่ได้ด้วยซ้ำไป – อะไรทำนองนั้น ซึ่งเหล่านั้นก็เป็นความจริง – แต่มันจริงเพียงส่วนเดียว เพราะหากพินิจ-พิจารณาไคร่ครวญดูดีๆอย่างมีเหตุผล จะพบว่า “เครื่องเก่า” ที่เขาเล่นกันนั้น มันเป็นเครื่องในระดับไฮ-เอ็นด์ในยุคสมัยนั้นทั้งสิ้น ซึ่งกาลเวลาได้พิสูจน์ให้ประจักษ์แล้วว่า “ดีจริง” แม้จะผันผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน สมรรถนะและคุณภาพเสียงก็ยังเป็นที่น่าถวิลหา อีกทั้งคนที่ชื่นชอบใน “เครื่องเก่า” หรือ…การเล่นเครื่องเสียงแนววินเทจนั้น บางครั้งเรื่องของตัวเลขต่างๆที่ระบุไว้ในสเปคฯ มิได้ถูกนำมาคิด-พิจารณาเลยด้วยซ้ำ

 

“ความชอบ” นั้นมาจาก “เสียง” ที่ได้รับฟัง-เหนือปัจจัยใดๆทั้งสิ้น-ถ้าฟังแล้วบังเกิดความน่าหลงใหล  เพราะสิ่งที่ได้รับฟังจาก “เครื่องเก่า” มักจะ-แตกต่าง-อย่างที่ “เครื่องใหม่” ซึ่งทันสมัยกว่า ตัวเลขสเปคฯก็ดูดีกว่า อาจทำได้ไม่เท่า …ผู้คนจำนวนมากทั่วโลกจึงถวิลหา “เครื่องเก่า” ที่โด่งดังในอดีตมาครอบครอง บางเครื่อง-บางรุ่นที่ยอดนิยมจริงๆนั้นถึงกับ “แย่ง” กันก็มี ทั้งๆที่ “ราคา” นั้นสูงลิบลิ่ว ยิ่งกว่าราคาตอนแรกจำหน่ายด้วยซ้ำไป นั่นเพราะว่า “มันหายากส์” ไม่ค่อยจะมีใครยอม “ปล่อย” ออกมา แม้ว่า จะขายได้ราคาดีมากๆก็ตาม

 

…บางทีคนที่มุ่งโจมตี “เครื่องเก่า” อาจต้องหันมาพิจารณาตัวเองบ้าง… ใช้เหตุและผล มิใช่ความคิดส่วนตนเป็นเครื่องตัดสินถูก-ผิด เรื่องของ “ความชอบ” หรือ “ความถูกใจ” ของคนเรา มันอยู่เหนือเหตุ-ผลใดๆ …ปล่อยให้ “เขา “ คิดกันเองบ้างดีไหม เขาก็มี “สมอง” เช่นกัน กรุณาอย่าครอบงำ หรือ ชี้นำแบบชักใบให้เรือเสีย ประเภท “เชื่อผมเถอะ ผมเป็นใคร …ทำไมถึงไม่ไว้ใจในคำชี้แนะของผมล่ะ” อะไรทำนองนั้น เพียงเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน หรือ ของใครไม่กี่คน

 

…ลองกลับไปดูตัวเองซิว่า ตัวเองน่ะมีเครื่องเก่าตกรุ่นเก็บสะสมอยู่บ้างหรือเปล่า ? แล้วนำออกมาฟังอยู่ประจำ หรือไม่ ? ซึ่งถ้าไม่ชี้โกง หรือ โป้ปดจนติดเป็นนิสัย น่าจะซาบซึ้งดีว่า เสียงที่รับฟังจาก “เครื่องเก่า” นั้น มันให้อารมณ์ร่วมได้ขนาดไหน ถามใจตัวเองดูซิว่า จริงอ๊ะปล่าว….

 

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..