Old School “Vintage Sound” : eXclusive M3

0

Old School “Vintage Sound” 

eXclusive M3

Stereo Power Amplifier

มงคล อ่วมเรืองศรี

m3

 

“…แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเครื่องเสียงมือสอง หรือ ของเก่าตกรุ่น แต่บางคนก็อาจยังมิเคยได้ครอบครอง หรือแม้แต่ได้เคยลองฟังเลยสักครั้งในชีวิต ดังนั้นคอลัมน์ ” Old School – Vintage Sound” นี้จึงถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อเฟ้นหาเครื่องเสียงอันมีมนต์ขลังแห่งอดีตมารับฟัง ให้ทราบถึงแก่นแท้ของเครื่องเสียงในยุคสมัยนั้น เพื่อนำเสนอสู่ท่านที่สนใจ ณ กาลปัจจุบัน…”

 

ครั้งที่ผ่านมา ได้หยิบจับปรีแอมปลิฟายเออร์ระดับไฮ-เอ็นด์สุดๆของยักษ์ใหญ่หนึ่งในแวดวงเครื่องเสียงแห่งญี่ปุ่น นั่นคือ Pioneer Corporation ภายใต้ชื่อ eXclusive รุ่น C3a กันไปแล้ว ซึ่งรับรองได้ว่าไม่เป็นสองรองใครมาแนะนำกัน – เอ่ยชื่อ ‘eXclusive’ ออกไปเซียนบางท่านก็ร้องอ๋อ รู้ว่าฮ่อแรดขนาดไหน แต่นักเล่นบางท่านก็อาจจะไม่เคยได้รู้จักชื่อนี้เลยด้วยซ้ำ…

‘eXclusive’ …ชื่อนี้จริงๆแล้ว น่าจะเรียกได้ว่า มิใช่เป็นชื่อแบรนด์ หากแต่จัดเป็นซีรี่ส์ (Series) ในระดับพรีเมี่ยม เกรดของ Pioneer ที่ว่ากันว่า “ทุ่มเทสุดๆ” ทั้งในแง่ของความทันสมัยใหม่ล่าสุดในเทคโนโลยีที่ใช้ และการคัดสรรชิ้นส่วน-อุปกรณ์เกรดดีที่สุดเท่าที่จะสามารถหาได้ในเวลานั้น เพื่อให้ได้มาซึ่ง-คุณภาพเสียง-อัน “พิเศษสุดๆ” สมดังชื่อซีรี่ส์ “eXclusive” กระนั้น

Pioneer จัดตั้ง “eXclusive” ขึ้นมาเมื่อราวๆปีค.ศ.1973 โดยมีศักดิ์ศรีทัดเทียมกับ “TAD” ที่เป็นผลิตภัณฑ์ชั้นสุดยอดในกลุ่มของ Professional (มืออาชีพ) ส่วน “eXclusive” ก็จัดเป็นผลิตภัณฑ์ชั้นสุดยอดในกลุ่มของ Consumer ซึ่งก่อนหน้านั้นประมาณปีค.ศ.1967 ทาง Pioneer ก็มีผลิตภัณฑ์ดี-เด่น-ดังออกมาสร้างชื่อเสียงเป็นที่ฮือฮากันเฉพาะอย่างยิ่งกับผลิตภัณฑ์ประเภทแอมปลิฟายเออร์สำหรับกลุ่มนักฟังชั้นเซียนของญี่ปุ่น อาทิเช่น SC-100 (Preamplifier) และ SM-100 (Power Amplifier) ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้พัฒนามาสู่ปรีแอมป์-เพาเวอร์ แอมป์รุ่นพิเศษ อันเป็นที่โจษจันท์กันไปทั่ว ทั้งทางฟากฝั่งยุโรปและอเมริกา (แต่ทว่าในญี่ปุ่นกลับไม่ค่อยจะโปรโมตนัก) นั่นคือ SPEC-1, SPEC-2, SPEC-3 และ SPEC-4 ( ซึ่งว่ากันว่า แท้จริงแล้ว SPEC-1, SPEC-2, SPEC-3 และ SPEC-4 นั้นไซร้ ปรับปรุง-พัฒนาขึ้นมาจากรุ่น C-77 / M-77 และ C-73 / M-73 ที่จัดเป็นชุดพิมพ์นิยมในญี่ปุ่นเองนั่นแหละ)

ต่อมาในปีค.ศ.1971 ทาง Pioneer ก็ได้หยิบจับเอา SC-100 และ SM-100 มาทำการ “ยกระดับ” ครั้งใหญ่ไปสู่รุ่น SC-3000 และ SM-3000 …ซึ่งนี่แหละครับ คือที่มาของ –C3 & M3- “จุดเริ่มต้น” หรือ “ปฐมบท” ของ eXclusive Series ในเวลาต่อมา ทั้งนี้ทั้งนั้น “eXclusive Series” ได้รับการผลิตขึ้น เพื่อออกจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะเท่านั้น (ระบบไฟฟ้า 100 V/60 Hz) ในช่วงราวๆช่วงเดือนพฤษภาคมปีค.ศ.1973

 

ราคาจำหน่ายของทั้ง C3 และ M3 นับว่า มิใช่ถูกๆเลย แต่ละเครื่องหลักเฉียดๆห้าแสนเยนเชียวละท่านในยุคสมัยนั้น นอกจากนี้ก็ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆที่สุดอลังการงานสร้างเช่นเดียวกัน ออกมาจำหน่ายอีก 2 รุ่นด้วยกันในเวลาต่อมา นั่นคือ F3 (FM Stereo Tuner) ในปีค.ศ.1975 และ P3 (Direct-Drive Turntable) ในปีค.ศ.1978 ซึ่งจากความโดดเด่นของ “eXclusive Series” นี่แหละทำให้นักฟังชั้นเซียนเหยียบเมฆจากทั่วโลกปรารถนาที่จะได้ครอบครอง เฉพาะอย่างยิ่งในแถบถิ่นยุโรปนั้นถึงขั้นคลั่งไคล้กันเลยทีเดียว

โดยทาง Pioneer ระบุไว้ชัดเจนว่า ต้องปราศจากซึ่งสิ่งจูงใจในแบบไร้สาระ (nonsense), การทำตลาดอย่างลวกๆ, การขัดแย้งกันของ lineups, รวมไปถึงเรื่องของเทคโนโลยีแบบกลวงๆที่ไร้ผลโดยรวมต่อการใช้งาน จนกระทั่ง “eXclusive Series” นั้นเป็นที่ฮือฮากัน เนื่องเพราะอย่างที่ได้บอกไปในตอนต้นนั่นแหละว่า Pioneer นั้นต้องการเอามันส์เอาความสาแก่ใจ โชว์ความเก๋าเกินใคร ไร้การประนีประนอมใดๆ ใช้กันได้ยืนยงข้ามยุคข้ามสมัย จึงจงใจทำ “eXclusive Series” ให้ดีที่สุดเท่าที่คนญี่ปุ่นจะทำได้แบบก้าวข้ามกาลเวลา-ณ ช่วงเวลานั้น (timeless design)

เรื่องของสเปคฯเป็นอะไรที่อาจดูไม่ต่างเท่าไหร่จากเครื่องทั่วไป แต่สำหรับในด้านเสถียรภาพการใช้งานนั้น ล้วนเรียกได้ว่า “เยี่ยมยอด” โดยแท้ ชิ้นส่วน-อุปกรณ์ที่ใช้มิใช่แค่สั่งกันจากแบรนด์ดัง แล้วเอามาตรวจวัดกันแบบธรรมดาๆ หากแต่ผ่านการใช้งานในสภาพที่เป็นจริงติดต่อกันเป็นเวลานาน ก่อนจะนำมาประเมินผลแล้วสรุปเป็นรายงานเพื่อนำมาพิจารณา และตัดสินใจร่วมกัน อีกทั้งขั้นตอนการผลิตส่วนใหญ่จะใช้ฝีมือช่างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาจัดทำด้วยมือล้วนๆ (handmade) ทำให้ eXclusive Series มีตันทุนการผลิตในระดับสูง ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Pioneer ต้อง “ยุติ” eXclusive Series ลงไปในยุคปี’90 ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าเสียดายมากทีเดียว

 

product_detailed_image_108357_1437

 

รูปลักษณ์

“eXclusive M3” มีขนาดเครื่อง 468x206x370 ม.ม. (กว้างxสูงxลึก) น้ำหนักตัว 27 กก. โดยบนแผงหน้าตัวเครื่องที่เป็นอะลูมิเนียมเนื้อหนานั้น ได้จัดวางมิเตอร์เข็มชี้ (needle VU meters) แบบคู่-บ่งบอกกำลังขับแชนแนลซ้าย-ขวาเอาไว้ แบบเดียวกับพิมพ์นิยมของเครื่องวินเทจทั้งหลายในยุคสมัยนั้น แต่ที่แตกต่างออกไปก็ตรงการมี “แผงหน้าย่อย” หรือ subpanel ซ่อนอยู่ด้านล่าง ซึ่งมีตัวอักษร ;- eXclusive M3 by Pioneer จารึกประทับไว้ฝั่งซ้ายมือ และเมื่อกดเปิดออกมาก็จะพบกับปุ่มกด (button) และปุ่มหมุน (rotary) สำหรับการปรับตั้งต่างๆ รวมทั้ง Power Switch เรียงรายอยู่ภายใน

ไล่ไปตั้งแต่ปุ่มกดเลือกระบบลำโพงที่ใช้รับฟัง “SPEAKERS” ซึ่งสามารถเลือกใช้งานได้ถึง 3 คู่ A-B-C (แต่เลือกได้ทีละคู่ A หรือ B หรือ C); ถัดมาก็เป็นปุ่มปรับตั้งระดับความดังของระบบลำโพงที่ใช้รับฟังในแต่ละคู่ “SPEAKER LEVEL” (ซึ่งสามารถปรับตั้งได้อย่างเจาะจงสำหรับทั้ง 3 คู่ แยกเป็น  A-B-C อย่างเป็นอิสระ); ปุ่มกดเลือกใช้งาน หรือ ไม่ใช้งานวงจรกรองทิ้งเสียงรบกวนช่วงความถี่ต่ำ “SUBSONIC FILTER” ซึ่งจะทำงานที่ความถี่ 8 Hz/6 dB octave; ปุ่มกดเลือกรับสัญญาณขาเข้า “INPUT” ซึ่งมีให้เลือกได้ 2 ชุด (1 หรือ 2); ปุ่มกดเลือกค่าระดับความแรงสัญญาณขาเข้า “INPUT LEVEL” ซึ่งมีให้เลือกได้ 2 ค่า(1 V หรือ 2 V)

ส่วนแผงหลังเครื่อง นอกจากจะมีสายไฟฟ้าเข้าเครื่อง ซึ่งเป็นแบบ Fixed ตายตัวถอดเสียบไม่ได้ ทั้งยังเป็นแบบ 2 แกน (2-pronge) อีกด้วย (…ขอติอยู่หน่อย ตรงเรื่องขนาดของสายไฟฟ้าเข้าเครื่องนี่แหละครับ ที่ดูเล็กไปสักนิด); ช่องเสียบรับสัญญาณขาเข้า (INPUT) จำนวน 2 ชุดสำหรับ  1 หรือ 2 แล้วนั้น ก็จะมีขั้วต่อสายลำโพง “SPEAKERS” จำนวน 3 คู่ ( A-B-C); ซึ่งรองรับค่าความต้านทานที่ครอบคลุมตั้งแต่ 4 โอห์ม จนถึง 16 โอห์ม …อ้อ ยังมีขั้วต่อสายกราวด์ลงดินติดตั้งมาให้ด้วยนะครับ

แผงวงจร หรือ PCB ที่ใช้ใน “eXclusive M3”  นั้น ก็เป็นประเภท glass epoxy เกรดสูงสุด (ที่มีราคาแพงสุดๆในยุคสมัยนั้น) และยังมี copper track ที่มีความหนามากถึง 140 ไมครอนเลยทีเดียว รวมไปถึงสายสัญญาณที่เชื่อมต่อระหว่างส่วนการทำงานภาคต่างๆ ก็ใช้เป็น OFC (oxygen-free copper) ล้วนๆนะครับท่าน (เฉกเช่น eXclusive C3 และ C3a นั่นแหละ) …เป็นไงครับเจ้า eXclusive M3 นี้ไซร้ “เหนือชั้น” ใครต่อใครในยุคสมัยเดียวกันไปไกลลิบจริงๆ

การรับสัญญาณขาเข้าจากปรีแอมป์นั้น (ไม่ว่าจะเป็น INPUT 1 หรือ INPUT 2) ได้รับการเลือกสรรอุปกรณ์เกรดสูงสุด-ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ในสมัยนั้น นั่นคือ การใช้เกรดอุปกรณ์ระดับ communicated equipment แบบ ปิดสนิท (sealed type) เพื่อป้องกันการแปรสภาพของ “หน้าสัมผัส” (contact) สำหรับการรับและส่งทอดสัญญาณจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ทำให้ได้มาซึ่งคุณภาพการทำงานอันมีเสถียรภาพสูงสุดในทุกขณะ แม้จะผ่านอายุการใช้งานยาวนานเพียงใดก็ตาม

ในส่วนภาคขยายสัญญาณของ “eXclusive M3” ใช้วงจรแบบ 2-steps differential balanced amplification จ่ายกำลังขับ 150 วัตต์ต่อแชนแนลที่ 8 โอห์มผ่านทาง output device แบบ ไบ-โพล่าร์ จำนวน 3 คู่ต่อข้างทำงานร่วมกันในลักษณะของ Class AB ที่ใช้ ‘ศักย์ลบป้อนกลับ’ หรือ NFB เท่าที่จำเป็น (น้อยสุดๆ) ในขณะที่ pre driver นั้นเป็นแบบ  Class-A push-pull circuit ส่วนภาคจ่ายไฟ (power supply) ที่ดูจะได้รับการเน้นเป็นพิเศษ เนื่องเพราะใช้หม้อแปลงแบบ C-Core ขนาดใหญ่ร่วมกับคาปาซิเตอร์ค่าเก็บประจุสูงถึง 33,000 ไมโครฟารัด จำนวน 2 ตัว

pioneer_exclusive_m3_power_amplifier

สมรรถนะทางเสียง

ผมเองใช้งาน “eXclusive C3a” เป็นปรีแอมป์ประจำการตัวหลัก สำหรับการฟังเทสต์เครื่องที่บ้านมาช้านาน เนื่องเพราะ “คุณภาพเสียง” ที่ได้รับจาก “eXclusive C3a” นั้น นับว่าเทียบเคียงได้ “แทบ” ไม่ต่างจากปรีแอมป์ยุคใหม่ที่มีราคาหลายแสนบาท ณ ปัจจุบันเชียวละครับ ทั้งในแง่รายละเอียดอันอุดมสมบูรณ์ (resolution), ความอิ่มฉ่ำมีเนื้อมีหนังของเสียง (bodied), ความสดใส-โปร่งกระจ่าง (transparency) และความลื่นไหลต่อเนื่องอย่างน่าฟัง (dynamic) รวมถึงเรื่องของความฉับพลันทันใด (transient)  และความหนักแน่น – เรี่ยวแรงปะทะ (impact) กระทั่งในด้านความสมจริงของอิมเมจ (scale) และการบ่งบอกสภาพเวทีเสียง (soundstage) เรียกว่า “ครบเครื่อง” ในทุกสิ่งที่ต้องการ … “eXclusive C3a” ล้วนมีให้อย่างครบถ้วน

ยิ่งเมื่อได้ “eXclusive M3” มาจับคู่-ใช้งานร่วมกัน …มันเป็นการรับฟังที่ปิติ-อิ่มเอิบในใจอย่างไงบอกไม่ถูกเลยละครับ นี่คือความสัตย์จริง ซึ่งบอกกันตรงๆว่า เหมือนเป็น “เนื้อคู่” ของกันและกัน- อะไรอย่างนั้น ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้น ผมเอง “จับคู่” eXclusive C3a ใช้งานอยู่ประจำร่วมกับ Accuphase P-102 (Fully Balanced Pure Class A) จากการรับฟังแผ่นเสียง ด้วยการใช้หัวเข็ม MC (DENON DL-103M) บนเทิร์นเทเบิลของ Clear Audio Emotion ร่วมกับ SUT (หม้อแดงของ Peerless) ต่อผ่านเข้าสู่ช่องเสียบ Phono Input 2 ของ eXclusive C3a (กดเลือกค่า impedance ไว้ที่ 25 kOhm) – รับรองว่า ต่อให้คุณมีปรีแอมป์ยุคใหม่ราคาเรือนแสน แต่สิ่งที่คุณกำลังได้รับฟังจาก “eXclusive C3a + eXclusive M3” จะทำให้คุณต้องอึ้งและทึ่งก็ละกัน ผมรับรอง (แม้ว่าเจ้า “eXclusive C3a” และ “eXclusive M3” จะมีอายุอานามปาเข้าไปร่วมๆ 40 ปีแล้วทั้งคู่ก็ตาม…

“eXclusive C3a + eXclusive M3”  ให้ความโดดเด่นในบุคลิกเสียงที่หนักแน่น เนียนนุ่ม อิ่มฉ่ำ ฟังแล้วชุ่มชื่นใจ รวมทั้งความกลมกล่อม มีน้ำมีนวลชวนฟังไปเรื่อยๆ ไม่เบื่อล้าราวต้อง “เสน่ห์” กระนั้น …เป็นเสียงที่น่าเคลิบเคลิ้ม ให้ความผ่อนคลาย ฟังได้ไม่รู้หน่าย ทั้งยังช่วยให้คุณได้รับรู้อะไรต่อมิอะไรในสิ่งที่แตกต่างจากที่เคยได้ฟังอย่างเป็นธรรมชาติ-สมจริง (มิใช่เกินจริง) …เป็นเสียงที่ผุดโผล่อย่างฉับพลันทันใด รวมทั้งให้อาณาบริเวณเสียงที่มีตัวมีตน ระบุตำแหน่งได้ชัดเจน ไม่เบียดบังซ้อนทับกัน …เป็นเสียงที่มีความกังวานไกลในปลายอณูเสียง ไม่หดห้วนอัดอั้น เสียงทุกเสียงตลอดทั้งช่วงย่านตั้งแต่เสียงต่ำยันเสียงสูงล้วนเปี่ยมพลัง บ่งบอก “หัวเสียง” รวมทั้งเรี่ยวแรงกระทบ-ปะทะอย่างชัดแจ้ง และยังให้ความพละพลิ้ว-ไหลลื่นอันสมจริงเป็นธรรมชาติมากจริงๆ

ยิ่งในเรื่องของ “เนื้อเสียง” ที่ได้รับฟัง โอ้-มันช่างเปี่ยมในการรับรู้อย่างมีตัวตน มีวิญญาณของเสียงนั้นๆเสียนี่กระไร เฉพาะอย่างยิ่งกับเสียงร้อง (vocal) ด้วยแล้ว มันส่งมอบลักษณะการขยับปาก, รูปแบบการกระดกลิ้นแตะเพดานปาก รวมทั้งบรรยากาศของการห่อปากเพื่อออกอักขระเสียงได้อย่างสมจริงมากทีเดียว ซึ่งหากจะว่าไป มันเทียบได้กับ “เนื้อเสียง” อันอบอุ่น-อิ่มเอมที่ผมรับฟังได้จากเครื่องหลอดฯกระนั้น แต่ได้รับความโปร่งกระจ่าง รวมทั้งความกระชับ-กระฉับกระเฉงในองศาที่มากขึ้น มันเป็นเสียงที่สร้างความน่าตื่นเต้นในขณะที่กำลังรับฟัง โดยมิได้มีความหยาบกร้าน-แข็งกร้าวปะปนออกมาแม้แต่น้อย

รับฟังการขับขานจาก “eXclusive C3a + eXclusive M3”  ได้เนิ่นนานต่อเนื่องกันนับเป็นชั่วโมงๆด้วยความรื่นรมย์ คุณจะรับรู้ถึง “หัวเสียง” ยามที่ชิ้นดนตรีถูกดีด-เคาะ-กระทบ หรือ ฟาด อย่างแจ่มชัดในทุกๆขณะ รวมไปถึงอาการค่อยๆจางหายไปของปลายหางเสียงช่วงความถี่สูงๆอย่างเป็นธรรมชาติ พร้อมๆกับการสัมผัสได้ถึง “บรรยากาศ” อย่างที่เรียกกันว่า atmosphere ของสถานที่นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นฮอลล์ หรือ สตูดิโอ …ในยามที่คุณหยิบฟังแผ่นเพลงคลาสสิกมาฟัง การรับรู้แถวชั้นของตำแหน่งนักดนตรีในวงที่กำลังเล่นอยู่นั้น ทำได้ชัดเจนมาก ในลักษณะของ panorama (คล้ายๆรูปสี่เหลี่ยมคางหมูกลายๆ)  มิใช่เพียงแค่รูปตัว ‘V’ หรือตัว ‘U’ …!!

b

สรุปส่งท้าย                         

eXclusive M3 ได้รับการผลิตจำหน่ายตั้งแต่ช่วงปีค.ศ.1973 ยาวมาจนถึงปีค.ศ.1981 ก็ได้ยุติสายพานการผลิตรุ่นนี้ลงไป ซึ่งในระหว่างนั้นประมาณปีค.ศ.1974 ทาง Pioneer ก็ได้ออกจำหน่ายรุ่น “eXclusive M4” ที่มีระบบการทำงานแบบ pure Class A แล้วก็ตามต่อด้วย “eXclusive M4a” ในอีก 5 ปีถัดมา …เป็นที่น่าแปลกใจว่า ทำไม ? ทาง Pioneer จึงได้ยุติสายพานการผลิต “eXclusive M3” ไว้เพียงแค่นั้น โดยมิได้มีพัฒนาการไปสู่ “eXclusive M3a” ทั้งๆที่ก็ได้พัฒนาเจ้า “eXclusive C3” (ซึ่งแรกออกจำหน่ายพร้อมๆกับ eXclusive M3 นั่นแหละ) ไปเป็น “eXclusive C3a” (ในปีค.ศ.1979)

ซึ่งนี่-บอกกันตรงๆว่า มันกลายเป็นปริศนาในใจผมขึ้นมาว่า เนื่องเพราะ eXclusive M3 นั้นสมบูรณพร้อมสุดๆอยู่แล้ว จนไม่มีอะไรที่บกพร่องจนต้องหยิบจับมาทำการปรับปรุงใหม่…!! หรือเนื่องจากว่า eXclusive M3 นั้น “ห่วยแตก” จนไม่สามารถที่จะนำมาทำการอัพเกรดได้ ก็เลยจบสิ้นไว้แต่เพียงเท่านั้น – ซึ่งหากเป็นเช่นประเด็นหลังนี้ คุณคิดเหมือนผมไหมว่า ทำไม “eXclusive M3” จึงมีช่วงการผลิตจำหน่ายที่ยืนยาวได้จนถึงเกือบจะ 10 ปีกระนั้นเล่า ? (1973 จนถึง 1981) …นี่แหละครับ ทำให้ผมต้อง “หา” เจ้า “eXclusive M3” มาเก็บไว้ เคียงคู่กับ eXclusive C3a และ eXclusive M4a อย่างไงล่ะท่าน

…กับราคาแค่สามหมื่นกว่าบาทเท่านั้น สำหรับ “eXclusive M3” ณ ปัจจุบัน เทียบกับราคาเฉียดสี่แสนเยน หรือกว่าแสนบาทไทยเมื่อตอนออกจำหน่ายใหม่ๆ ผมถือว่า คุ้มค่ามากๆสำหรับสิ่งที่ได้รับ และแน่นอนว่า คุณยังพอจะหา “eXclusive M3” ได้ในตลาดมือสองของญี่ปุ่น ลองหาดูละกัน…   

 

หมายเหตุ :- …มีคนจำนวนไม่น้อยที่มักจะพูดว่า “เครื่องเก่า” นั้น มันตกสเปคฯ ไม่น่าเล่น, เชย หรือ ตกยุค, เสี่ยงต่อความเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ใช้งาน อันอาจนำพามาซึ่งความเสียหาย (อย่างร้ายแรง) ต่อซิสเต็มที่ใช้งาน, ซื้อมาใช้งานก็ไม่มีการรับประกัน (warranty) แต่อย่างใด หนำซ้ำเมื่อเครื่องเสียเพราะหมดอายุการใช้งาน อาจหาอะไหล่มาเปลี่ยนใหม่ไม่ได้ด้วยซ้ำไป – อะไรทำนองนั้น ซึ่งเหล่านั้นก็เป็นความจริง – แต่มันจริงเพียงส่วนเดียว เพราะหากพินิจ-พิจารณาไคร่ครวญดูดีๆอย่างมีเหตุผล จะพบว่า “เครื่องเก่า” ที่เขาเล่นกันนั้น มันเป็นเครื่องในระดับไฮ-เอ็นด์ในยุคสมัยนั้นทั้งสิ้น ซึ่งกาลเวลาได้พิสูจน์ให้ประจักษ์แล้วว่า “ดีจริง” แม้จะผันผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน สมรรถนะและคุณภาพเสียงก็ยังเป็นที่น่าถวิลหา อีกทั้งคนที่ชื่นชอบใน “เครื่องเก่า” หรือ…การเล่นเครื่องเสียงแนววินเทจนั้น บางครั้งเรื่องของตัวเลขต่างๆที่ระบุไว้ในสเปคฯ มิได้ถูกนำมาคิด-พิจารณาเลยด้วยซ้ำ

 

“ความชอบ” นั้นมาจาก “เสียง” ที่ได้รับฟัง-เหนือปัจจัยใดๆทั้งสิ้น-ถ้าฟังแล้วบังเกิดความน่าหลงใหล  เพราะสิ่งที่ได้รับฟังจาก “เครื่องเก่า” มักจะ-แตกต่าง-อย่างที่ “เครื่องใหม่” ซึ่งทันสมัยกว่า ตัวเลขสเปคฯก็ดูดีกว่า อาจทำได้ไม่เท่า …ผู้คนจำนวนมากทั่วโลกจึงถวิลหา “เครื่องเก่า” ที่โด่งดังในอดีตมาครอบครอง บางเครื่อง-บางรุ่นที่ยอดนิยมจริงๆนั้นถึงกับ “แย่ง” กันก็มี ทั้งๆที่ “ราคา” นั้นสูงลิบลิ่ว ยิ่งกว่าราคาตอนแรกจำหน่ายด้วยซ้ำไป นั่นเพราะว่า “มันหายากส์” ไม่ค่อยจะมีใครยอม “ปล่อย” ออกมา แม้ว่า จะขายได้ราคาดีมากๆก็ตาม

 

…บางทีคนที่มุ่งโจมตี “เครื่องเก่า” อาจต้องหันมาพิจารณาตัวเองบ้าง… ใช้เหตุและผล มิใช่ความคิดส่วนตนเป็นเครื่องตัดสินถูก-ผิด เรื่องของ “ความชอบ” หรือ “ความถูกใจ” ของคนเรา มันอยู่เหนือเหตุ-ผลใดๆ …ปล่อยให้ “เขา “ คิดกันเองบ้างดีไหม เขาก็มี “สมอง” เช่นกัน กรุณาอย่าครอบงำ หรือ ชี้นำแบบชักใบให้เรือเสีย ประเภท “เชื่อผมเถอะ ผมเป็นใคร …ทำไมถึงไม่ไว้ใจในคำชี้แนะของผมล่ะ” อะไรทำนองนั้น เพียงเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน หรือ ของใครไม่กี่คน

 

…ลองกลับไปดูตัวเองซิว่า ตัวเองน่ะมีเครื่องเก่าตกรุ่นเก็บสะสมอยู่บ้างหรือเปล่า ? แล้วนำออกมาฟังอยู่ประจำ หรือไม่ ? ซึ่งถ้าไม่ชี้โกง หรือ โป้ปดจนติดเป็นนิสัย น่าจะซาบซึ้งดีว่า เสียงที่รับฟังจาก “เครื่องเก่า” นั้น มันให้อารมณ์ร่วมได้ขนาดไหน ถามใจตัวเองดูซิว่า จริงอ๊ะปล่าว….