Old School “Vintage Sound” : eXclusive C3a

0

Old School “Vintage Sound” 

eXclusive C3a

Stereo Preamplifier

มงคล อ่วมเรืองศรี

a

“…แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเครื่องเสียงมือสอง หรือ ของเก่าตกรุ่น แต่บางคนก็อาจยังมิเคยได้ครอบครอง หรือแม้แต่ได้เคยลองฟังเลยสักครั้งในชีวิต ดังนั้นคอลัมน์ ” Old School – Vintage Sound” นี้จึงถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อเฟ้นหาเครื่องเสียงอันมีมนต์ขลังแห่งอดีตมารับฟัง ให้ทราบถึงแก่นแท้ของเครื่องเสียงในยุคสมัยนั้น เพื่อนำเสนอสู่ท่านที่สนใจ ณ กาลปัจจุบัน…”

 

ในครั้งที่แล้ว ประเดิมเปิดตัวคอลัมน์ไปกับ marantz Model 15 สเตอริโอ โซลิด-สเตท เพาเวอร์แอมป์ขนาดกำลังขับ 60 วัตต์ต่อข้างในยุคเครื่องหลอดฯเฟื่องฟูที่ให้คุณภาพเสียงอันน่าทึ่ง ถึงขนาด Saul Marantz เจ้าของบริษัทก็ยังเลือกที่จะใช้เป็นเครื่องอ้างอิงในการฟังเพลงของเขา โดยมิได้เปลี่ยนไปสู่รุ่นใหม่ๆ ทั้งๆที่ก็สามารถกระทำได้ …มาครั้งนี้ ก็ขออนุญาตหยิบเอาปรีแอมป์ตัวเด่นดังจากทางฟากฝั่งญี่ปุ่น ซึ่งรับรองได้ว่าไม่เป็นสองรองใครมาแนะนำกัน – เอ่ยชื่อยี่ห้อออกไปบางท่านก็ร้องอ๋อ รู้ว่าฮ่อแรดขนาดไหน แต่บางท่านก็อาจจะไม่เคยได้รู้จักชื่อเลยด้วยซ้ำ

‘eXclusive’ …ชื่อนี้จริงๆแล้ว น่าจะเรียกได้ว่า มิใช่เป็นชื่อแบรนด์ หากแต่จัดเป็นซีรี่ส์ (Series) ในระดับพรีเมี่ยม เกรดของ Pioneer ที่ว่ากันว่า “ทุ่มเทสุดๆ” ทั้งในแง่ของความทันสมัยใหม่ล่าสุดในเทคโนโลยีที่ใช้ และการคัดสรรชิ้นส่วน-อุปกรณ์เกรดดีที่สุดเท่าที่จะสามารถหาได้ในเวลานั้น เพื่อให้ได้มาซึ่ง-คุณภาพเสียง-อัน “พิเศษสุดๆ” สมดังชื่อซีรี่ส์ “eXclusive” กระนั้น

Pioneer จัดตั้ง “eXclusive” ขึ้นมาเมื่อราวๆปีค.ศ.1973 โดยมีศักดิ์ศรีทัดเทียมกับ “TAD” ที่เป็นผลิตภัณฑ์ชั้นสุดยอดในกลุ่มของ Professional (มืออาชีพ) ส่วน “eXclusive” ก็จัดเป็นผลิตภัณฑ์ชั้นสุดยอดในกลุ่มของ Consumer ซึ่งก่อนหน้านั้นประมาณปีค.ศ.1967 ทาง Pioneer ก็มีผลิตภัณฑ์ดี-เด่น-ดังออกมาสร้างชื่อเสียงเป็นที่ฮือฮากันเฉพาะอย่างยิ่งกับผลิตภัณฑ์ประเภทแอมปลิฟายเออร์สำหรับกลุ่มนักฟังชั้นเซียนของญี่ปุ่น อาทิเช่น SC-100 (Preamplifier) และ SM-100 (Power Amplifier) อีกทั้งในเวลาต่อมา SPEC-1, SPEC-2, SPEC-3 และ SPEC-4 ก็ล้วนเป็นที่โจษจันท์กันไปทั่วทั้งทางฟากฝั่งยุโรปและอเมริกา (แต่ทว่าในญี่ปุ่นกลับไม่ค่อยจะโปรโมตนัก) ซึ่งว่ากันว่า แท้จริงแล้ว SPEC-1, SPEC-2, SPEC-3 และ SPEC-4 นั้นไซร้ ปรับปรุง-พัฒนาขึ้นมาจากรุ่น C-77 / M-77 และ C-73 / M-73 ที่จัดเป็นชุดพิมพ์นิยมในญี่ปุ่นเองนั่นแหละ

ต่อมาในปีค.ศ.1971 ทาง Pioneer ก็ได้หยิบจับเอา SC-100 และ SM-100 มาทำการ “ยกระดับ” ครั้งใหญ่ไปสู่รุ่น SC-3000 และ SM-3000 …ซึ่งนี่แหละครับ คือที่มาของ –C3 & M3- “จุดเริ่มต้น” หรือ “ปฐมบท” ของ eXclusive Series ที่ออกจำหน่ายเฉพาะประเทศญี่ปุ่น (ระบบไฟฟ้า 100 โวลต์เท่านั้น) ในเวลาต่อมา – ราวๆช่วงเดือนพฤษภาคมปีค.ศ.1973 โดยทาง Pioneer ระบุไว้ชัดเจนว่า ต้องปราศจากซึ่งสิ่งจูงใจในแบบไร้สาระ (nonsense), การทำตลาดอย่างลวกๆ, การขัดแย้งกันของ lineups, รวมไปถึงเรื่องของเทคโนโลยีแบบกลวงๆที่ไร้ผลโดยรวมต่อการใช้งาน จนกระทั่ง eXclusive Series นั้นเป็นที่ฮือฮากัน เนื่องเพราะอย่างที่ได้บอกไปในตอนต้นนั่นแหละว่า Pioneer นั้นต้องการเอามันส์เอาความสาแก่ใจ โชว์ความเก๋าเกินใคร ไร้การประนีประนอมใดๆ ใช้กันได้ยืนยงข้ามยุคข้ามสมัย จึงจงใจทำ eXclusive Series ให้ดีที่สุดเท่าที่คนญี่ปุ่นจะทำได้แบบก้าวข้ามกาลเวลา-ณ ช่วงเวลานั้น (timeless design)

ราคาจำหน่ายของทั้ง C3 และ M3 นับว่า มิใช่ถูกๆเลย แต่ละเครื่องหลักเฉียดๆห้าแสนเยนเชียวละท่านในยุคสมัยนั้น นอกจากนี้ก็ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆที่สุดอลังการงานสร้างเช่นเดียวกัน ออกมาจำหน่ายอีก 2 รุ่นด้วยกันในเวลาต่อมา นั่นคือ F3 (FM Stereo Tuner) ในปีค.ศ.1975 และ P3 (Direct-Drive Turntable) ในปีค.ศ.1978 ซึ่งจากความโดดเด่นของ eXclusive Series นี่แหละทำให้นักฟังชั้นเซียนเหยียบเมฆจากทั่วโลกปรารถนาที่จะได้ครอบครอง ไม่หวั่นแม้ระบบไฟฟ้าที่ใช้นั้นปรับตั้งไว้จำเพาะที่ 100 โวลต์เท่านั้น เฉพาะอย่างยิ่งในแถบถิ่นยุโรปอย่างเยอรมัน-อิตาลีนั้นคลั่งไคล้กันมากทีเดียว

เรื่องของสเปคฯเป็นอะไรที่อาจดูไม่ต่างเท่าไหร่จากเครื่องทั่วไป แต่สำหรับในด้านเสถียรภาพการใช้งานนั้น ล้วนเรียกได้ว่า “เยี่ยมยอด” โดยแท้ ชิ้นส่วน-อุปกรณ์ที่ใช้มิใช่แค่สั่งกันจากแบรนด์ดัง แล้วเอามาตรวจวัดกันแบบธรรมดาๆ หากแต่ผ่านการใช้งานในสภาพที่เป็นจริงติดต่อกันเป็นเวลานาน ก่อนจะนำมาประเมินผลแล้วสรุปเป็นรายงานเพื่อนำมาพิจารณา และตัดสินใจร่วมกัน อีกทั้งขั้นตอนการผลิตส่วนใหญ่จะใช้ฝีมือช่างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาจัดทำด้วยมือล้วนๆ (handmade) ทำให้ eXclusive Series มีตันทุนการผลิตในระดับสูง ซึ่งอาจเป็นเหตุผลนึงที่ทำให้ Pioneer ต้อง “ยุติ” eXclusive Series ลงไปในยุคปี’90 บวกกับการต้องทำการรุกตลาดให้มากขึ้นในการแข่งขันด้านต่างๆที่กำลังประดังประเดเข้ามา อาทิ Laserdisc, CD Player เป็นต้น – ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าเสียดายมากทีเดียว

142726959953097532

รูปลักษณ์

“eXclusive C3” มีขนาดเครื่อง 468x206x342 ม.ม. (กว้างxสูงxลึก) น้ำหนักตัว 12.5 กก. โดยมีรูปลักษณ์หน้าตาออกมาในแบบเครื่องวินเทจทั้งหลาย ที่ค่อนข้างจะมีปุ่มปรับแต่งมากมาย เรียงรายอยู่บนแผงหน้าเครื่อง สืบเนื่องจากเป็นการออกแบบในยุค’70 ที่ยังค่อนข้างจะนิยมกับการมีปุ่ม BASS และ TREBLE เผื่อไว้สำหรับผู้ใช้ในการปรับแต่งลักษณะเสียงทุ้ม-แหลมให้ตรงตามรสนิยมการรับฟัง แต่สำหรับ eXclusive C3 กลับเลือกที่จะแยกปุ่ม BASS ออกเป็น 2 ปุ่ม และก็ได้แยกปุ่ม TREBLE ออกเป็น 2 ปุ่มเช่นเดียวกัน เพื่อที่จะให้ผู้ใช้สามารถทำการปรับแต่งลักษณะเสียงทุ้ม-แหลมได้อย่างละเอียดมากยิ่งขึ้นกว่าธรรมดา เฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเบสตอนต้น หรือ Lower Bass กับแหลมตอนปลาย หรือ Upper Treble

โดยได้กำหนดค่าความถี่หลักสำหรับการปรับตั้งช่วงความถี่ต่ำไว้ที่ 50 Hz กับ 100 Hz และ 10kHz กับ 20 kHz สำหรับการปรับตั้งช่วงความถี่สูง ซึ่งการมีปุ่มปรับแต่งเสียงที่ค่าความถี่ 50 Hz และ 20 kHz นั้น นับว่าให้ประโยชน์กับการปรับปรุงคุณภาพเสียงที่รับฟัง ได้ทั้งในกรณีที่ผู้ใช้รับฟัง eXclusive C3 ร่วมกับเพาเวอร์ แอมป์ผ่านทางระบบลำโพงแบบ bookshelf หรือว่าจะเป็นระบบลำโพงแบบ full-range ก็ตามที ที่อาจจะรู้สึกว่า “น่าจะ” ยกระดับช่วงความถี่เสียงต่ำ และ/หรือ ช่วงความถี่สูงขึ้นไปอีกสักนิดสักหน่อยในขณะกำลังรับฟังอะไรทำนองนี้ละครับ โดยมั่นใจได้ว่า จะไม่ไปข้องแวะกับการปรับตั้งช่วงความถี่เสียงหลัก แต่สำหรับผู้ใช้ที่ต้องการจะ “ยกเลิก” การใช้งานภาคปรับแต่งลักษณะเสียงแล้วไซร้ eXclusive C3 ก็ยังมีปุ่ม ‘Tone On/Off’ มาให้ด้วย

แต่ก็น่าแปลกที่ eXclusive C3 ซึ่งดูท่าจะได้รับการออกแบบให้เน้นไปที่ภาคขยายสัญญาณจากหัวเข็ม (Phono Input) ไว้เป็นพิเศษนั้น (ติดตั้งมาให้เลือกรับฟังได้มากถึง 3 ชุด) กลับมิได้มีชุดใดเลยที่ได้รับการออกแบบไว้ให้รองรับกับหัวเข็มแบบ MC …เรียกว่ามีมาให้ใช้งานร่วมกับหัวเข็มแบบ MM ล้วนๆโดยเฉพาะเลยละครับ ซึ่งจริงๆแล้วสำหรับนักเล่นแผ่นเสียงมือโปรฯก็จะไม่ตื่นตกใจอันใด เพราะหากว่าต้องการที่จะใช้งานร่วมกับหัวเข็ม MC แล้วไซร้ ก็เพียงแค่ต้องหาสิ่งที่เรียกว่า ‘SUT’ (Step-Up Transformer) มาต่อคั่นระหว่างกลางเท่านั้นเองละครับ และสำหรับ ‘Phono Input 2’ นั้น ยังได้รับการจัดทำมาเป็นพิเศษ ให้ผู้ใช้สามารถที่จะปรับเลือกค่าความต้านทานของหัวเข็ม MM ที่ใช้งานอยู่ได้อย่างใกล้เคียงสุดๆ โดยปรับเลือกได้ถึง 3 ค่าความต้านทาน คือที่ 25 กิโลโอห์ม, 50 กิโลโอห์ม และ 100 กิโลโอห์ม เพื่อให้ได้มาซึ่งลักษณะเสียงที่เที่ยงตรงที่สุดและเป็นธรรมชาติที่สุดสำหรับการรับฟังจากแผ่นเสียงนั่นเองละครับ นอกจากนี้ ‘Phono Input 2’ ก็ยังมีปุ่มปรับระดับเกนการขยายสัญญาณขาออก (level) ติดตั้งมาให้ด้วยนะขอรับฯพณฯท่าน

ขออนุญาตพูดถึงค่าสเปคฯสำหรับ Phono Input ไว้ตรงนี้สักนิดครับ เนื่องเพราะ eXclusive C3 ได้รับการระบุไว้การันตีว่า มีค่า RIAA curve deviations เบี่ยงเบนไปเพียงแค่ “± 0.2dB” เท่านั้นเองละครับ (ในช่วงความถี่ตอบสนองระหว่าง 30Hz ~ 15kHz) แสดงถึงความพิถีพิถันในการออกแบบวงจรและการคัดสรรการใช้อุปกรณ์อย่างจริงจังครับ …ไหนๆก็ไหนๆเมื่อพูดถึงค่าสเปคฯกันแล้ว ก็ขออนุญาตพูดถึง “ความพิเศษ” ของการออกแบบวงจรการทำงานในเจ้า eXclusive C3 กันซะเลยดีกว่า

เนื่องจากว่า โดยธรรมดาสามัญปรีแอมป์มักจะถูกออกแบบให้รองรับกับระดับแรงดันสัญญาณที่ค่าประมาณ 700 มิลลิโวลต์ หรือ 7 โวลต์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็นับว่า “เกินพอ” แต่สำหรับเจ้า eXclusive C3 นี้ไซร้ กลับได้รับการออกแบบให้มีค่าแรงดันสัญญาณในระดับ high voltage เชียวละครับ โดยออกแบบให้รองรับได้สูงถึงค่า 140 โวลต์โน่นเลยละครับ …!! เรียกว่า “เกินกว่า” ธรรมดาสามัญจริงๆ เพราะเท่ากับว่ามีค่า peak หรือ overloaded สูงเป็น 20 เท่าทีเดียวเชียวละนั่น ยิ่งกว่านั้นยังออกแบบวงจรการทำงานไว้เป็นแบบ Pure Class A operation SEPP circuits ซะด้วยนะท่าน …แจ๋วไม่แจ๋ว – เจ๋งไม่เจ๋ง คิดดูเองละกัน

แผงวงจร หรือ PCB ที่ใช้ – ซึ่งก็แน่นอนล่ะว่า ต้องเป็นแบบเกรดสูงสุดที่เป็นประเภท glass epoxy ซึ่งนิยมใช้กันในแวดวงทหารที่ต้องการประสิทธิภาพสูงสุดอยู่แล้ว …แต่ที่สำคัญยิ่งยวดนั้น “ทางเดินสัญญาณ” อย่างที่เรียกว่า copper track กลับมีความหนามากถึง 140 ไมครอนกันเลยทีเดียวเชียวละท่าน (เทียบกับความหนา 35 ไมครอนของปกติทั่วไป) …น่าทึ่งไหมล่ะท่าน หากยังมิหนำใจ – สายสัญญาณที่เชื่อมต่อระหว่างส่วนต่างๆยังใช้เป็น OFC (oxygen-free copper) ล้วนๆนะครับฯพณฯท่าน  …เอ้า ! ว่ากันให้สุดๆไปเลยละกัน ภาคจ่ายไฟที่ป้อนให้กับแต่ละวงจรการทำงานภายใน ล้วนเป็นแบบ balanced positive/negative power supply คือ ป้อนทั้งกระแสไฟฟ้าซีกบวกและซีกลบเลยทีเดียวเชียวละท่าน มิใช่มีแต่จำเพาะซีกบวกเช่นธรรมดาทั่วไป …เป็นไงครับเจ้า eXclusive C3 นี้ไซร้ “เหนือชั้น” ใครต่อใครในยุคสมัยเดียวกันไปไกลลิบจริงๆ

“eXclusive C3” แม้จะได้รับการออกแบบมาให้ใช้งานเป็นปรีแอมป์คุณภาพสูง แต่ด้วยความที่การออกแบบนั้นได้คิดคำนึงไปถึงการรับฟังอย่างเป็นส่วนตัว (private listening) จากการใช้หูฟัง (มีช่องเสียบ Headphone ติดตั้งมาให้) จึงต้องมีสวิทช์ Output On/Off ติดตั้งมาให้ด้วย เพื่อตัดการทำงานของภาคขยายสัญญาณภายในของ eXclusive C3 ออกไป – ไม่ต้องจ่ายสัญญาณขาออกไปสู่เพาเวอร์แอมป์อย่างไงล่ะท่าน จะได้ไม่สูญเปล่าทางพลังงานในขณะใช้งานอย่างที่ว่า…

g

สมรรถนะทางเสียง

อ้าว…นี่ผมลืมบอกเรื่องสำคัญ อันเปรียบเป็น “หัวใจ” ของ eXclusive C3 ไปแล้ว รึนี่ … ขออภัยจริงๆครับ จำต้องขอวกกลับมาสักนิด – อันว่าในเรื่องของแอมปลิฟายเออร์นั้น “ความแม่นยำ” ของการปรับระดับค่าความดังเสียง (volume control) รวมถึง “การไม่ลดทอน” ในรายละเอียดเสียงต้นฉบับในทุกระดับการปรับค่าความดังเสียงนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องพิถีพิถันและให้ความสำคัญกันอย่างยิ่งยวด ซึ่งสำหรับ eXclusive C3 ได้ใส่ใจถึงขนาดเลือกที่จะใช้ ‘4-gang 22-points fixed resistor attenuator’ แบบ 50kOhm ของ Tokyo Ko-On Denpa (ค่าความแม่นยำสูงถึง ± 0.2dB เลยทีเดียว) ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปีค.ศ.1971 หรือเป็นเวลา 2 ปีก่อนที่จะถูกหยิบจับมาใช้ใน eXclusive C3

‘4-gang 22-points fixed resistor attenuator’  ของ Tokyo Ko-On Denpa นี่เป็นแบบ sealed tube นะครับ ไร้ซึ่งฝุ่นผงละอองใดๆจะเล็ดรอดเข้าไปลดทอนความแม่นยำในการปรับระดับความดังเสียง รายละเอียดสัญญาณต้นฉบับจึงดำรงคงอยู่อย่างครบถ้วน ไม่ถูกลดทอนไปในแต่ละระดับความดังเสียง …นี่เป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งจริงๆสำหรับความเป็น eXclusive C3

ซึ่งแม้ว่า ในอีก 6 ปีถัดมา (ปีค.ศ.1979) ‘eXclusive C3’ จะได้รับการปรับปรุง-พัฒนาออกรุ่นใหม่มาเป็น second generation ภายใต้ชื่อรุ่นว่า “eXclusive C3a” เจ้า ‘4-gang 22-points fixed resistor attenuator’  ของ Tokyo Ko-On Denpa นี่ก็ยังคงถูกนำมาใช้อยู่เช่นเดิม (แต่ทาง Tokyo Ko-On Denpa ก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดมา) บ่งบอกได้ถึงสมรรถนะและประสิทธิภาพการใช้งาน ที่ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพเสียงที่ได้รับ

ผมเองใช้งาน “eXclusive C3a” เป็นปรีแอมป์ประจำการตัวหลัก สำหรับการฟังเทสต์เครื่อง เนื่องเพราะ “คุณภาพเสียง” ที่ได้รับจาก “eXclusive C3a” นั้น นับว่าเทียบเคียงได้ “แทบ” ไม่ต่างจากปรีแอมป์ยุคใหม่ที่มีราคาหลายแสนบาท ณ ปัจจุบันเชียวละครับ ทั้งในแง่รายละเอียดอันอุดมสมบูรณ์, ความอิ่มฉ่ำมีเนื้อมีหนังของเสียง, ความสดใส-โปร่งกระจ่าง และลื่นไหลต่อเนื่องอย่างน่าฟัง รวมถึงเรื่องของความฉับพลันทันใด และความหนักแน่น – เรี่ยวแรงปะทะ กระทั่งในด้านความสมจริงของอิมเมจและการบ่งบอกสภาพเวทีเสียง เรียกว่า “ครบเครื่อง” ในทุกสิ่งที่ต้องการ “eXclusive C3a” ล้วนมีให้อย่างครบถ้วน

…บอกกันด้วยความสัตย์จริงครับว่า ตอนแรกที่ผมได้เจ้า “eXclusive C3a” มาเข้าซิสเต็มที่ใช้งานอยู่นั้น “ปลื้มปิติ” จริงๆเลยล่ะครับ เพราะ “เนื้อเสียง” ที่ได้รับฟังนั้น มันช่างเปี่ยมในการมีตัวตน มีวิญญาณของเสียงนั้นๆเสียนี่กระไร เฉพาะอย่างยิ่งกับเสียงร้อง (vocal) ด้วยแล้ว มันส่งมอบลักษณะการขยับปาก, รูปแบบการกระดกลิ้นแตะเพดานปาก รวมทั้งบรรยากาศของการห่อปากเพื่อออกอักขระเสียงได้อย่างสมจริงมากทีเดียว ซึ่งหากจะว่าไป มันเทียบได้กับ “เนื้อเสียง” อันอบอุ่น-อิ่มเอมที่ผมรับฟังได้จากเครื่องหลอดฯกระนั้น แต่ได้รับความโปร่งกระจ่าง รวมทั้งความกระชับ-กระฉับกระเฉงในองศาที่มากขึ้น มันเป็นเสียงที่สร้างความน่าตื่นเต้นในขณะที่กำลังรับฟัง โดยมิได้มีความหยาบกร้าน-แข็งกร้าวปะปนออกมาแม้แต่น้อย ฟังได้เนิ่นนานต่อเนื่องกันโดยไม่รู้สึกล้าหู คุณจะรับรู้ถึง “หัวเสียง” ยามที่ชิ้นดนตรีถูกดีด-เคาะ-กระทบ หรือ ฟาด อย่างแจ่มชัดในทุกๆขณะ

เฉพาะอย่างยิ่งกับการรับฟังจากแผ่นเสียง ด้วยการใช้หัวเข็ม MC (อย่างเช่น DENON DL-103M) ร่วมกับ SUT ชั้นดี (อย่างเช่น หม้อแดงของ Peerless) ต่อผ่านเข้าสู่ช่องเสียบ Phono Input 2 ซึ่งกดเลือกค่า impedance ไว้ที่ 25 kOhm และปรับระดับเกนขยายสัญญาณ (level) เอาไว้ที่ประมาณ 16 นาฬิกา – รับรองว่า ต่อให้คุณมีปรีแอมป์ยุคใหม่ราคาเรือนแสน แต่สิ่งที่คุณกำลังได้รับฟังจาก “eXclusive C3a” จะทำให้คุณต้องอึ้งก็ละกัน ผมรับรอง แม้ว่า “eXclusive C3a” จะมีอายุอานามปาเข้าไปร่วมๆ 40 ปีแล้วก็ตาม

c3a

สรุปส่งท้าย

“eXclusive C3a” มีบุคลิกเสียงที่หนักแน่น เนียนนุ่ม อิ่มฉ่ำ ฟังแล้วชุ่มชื่นใจ ฟังอะไรก็ไพเราะเสนาะหู ด้วยความกลมกล่อม มีน้ำมีนวลราวต้องเสน่ห์ชวนฟัง เป็นเสียงที่น่าเคลิบเคลิ้ม ให้ความผ่อนคลาย ฟังได้ไม่รู้หน่าย ทั้งยังช่วยให้คุณได้รับรู้อะไรต่อมิอะไรในสิ่งที่แตกต่างจากที่เคยได้ฟังอย่าง “มิใช่เกินจริง”

“eXclusive C3a” ให้เสียงที่ผุดโผล่อย่างฉับพลันทันใด รวมทั้งให้อาณาบริเวณเสียงที่มีตัวมีตน ระบุตำแหน่งได้ชัดเจน ไม่เบียดบังซ้อนทับกัน ทั้งยังมีความกังวานไกลในปลายอณูเสียง ไม่หดห้วนอัดอั้น เสียงทุกเสียงตลอดทั้งช่วงย่านตั้งแต่เสียงต่ำยันเสียงสูงล้วนเปี่ยมพลัง บ่งบอก “หัวเสียง” รวมทั้งเรี่ยวแรงกระทบ-ปะทะอย่างชัดแจ้ง และยังให้ความพละพลิ้ว-ไหลลื่นอันสมจริงเป็นธรรมชาติมากจริงๆ

…กับราคาแค่สามหมื่นกว่าบาทสำหรับ “eXclusive C3a” ณ ปัจจุบัน เทียบกับราคาเฉียดสี่แสนเยน หรือกว่าแสนบาทไทยเมื่อตอนออกจำหน่ายใหม่ๆ ที่ผมถือว่า คุ้มค่ามากๆสำหรับสิ่งที่ได้รับ และแน่นอนว่า คุณยังพอจะหา “eXclusive C3a” ได้ในตลาดมือสองของบ้านเรา ซึ่งผมก็ขอยืนยัน-นั่งยัน-นอนยันเลยล่ะครับว่า “อย่าพลาด” เป็นอันขาดในโอกาสของการครอบครอง…

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..