Old School “Vintage Sound” : AGI Model 511

0

Old School “Vintage Sound” 

AGI Model 511

“One of The Most Significant Preamps of All Time”

มงคล อ่วมเรืองศรี

 C-AGI511-1

“…แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเครื่องเสียงมือสอง หรือ ของเก่าตกรุ่น แต่บางคนก็อาจยังมิเคยได้ครอบครอง หรือแม้แต่ได้เคยลองฟังเลยสักครั้งในชีวิต ดังนั้นคอลัมน์ “ Old School – Vintage Sound” นี้จึงถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อเฟ้นหาเครื่องเสียงอันมีมนต์ขลังแห่งอดีตมารับฟัง ให้ทราบถึงแก่นแท้ของเครื่องเสียงในยุคสมัยนั้น เพื่อนำเสนอสู่ท่านที่สนใจ ณ กาลปัจจุบัน…”

 

หากย้อนอดีตกลับไปเมื่อครั้งที่ยังไม่มี CD ถือกำเนิดขึ้นมาตอนช่วงยุคปี’80 ตัวกลางในการเก็บบันทึกและก่อกำเนิดสัญญาณสำคัญที่ยอมรับกันทั่วไปว่า มีคุณภาพเสียงได้ความเป็น ไฮ-ไฟ หรือ ไฮ-ฟิเดลิตี้สูงสุด (highest hi-fidelity) ก็คือ ”แผ่นเสียง” หรือที่มักนิยมเรียกขานในยุคปัจจุบันกันว่า “vinyl” นั่นแล ซึ่งปรีแอมป์และอินติเกรทเต็ดแอมป์ทุกเครื่องที่ถูกผลิตขึ้นในยุคสมัยนั้น ล้วนต้องมีวงจรภาคขยายสัญญาณหัวเข็ม หรือ phono stage ติดตั้งมาด้วยเสร็จสรรพ อย่างน้อยก็ต้องพร้อมรองรับกับการขยายสัญญาณจากหัวเข็มแบบ ‘แม่เหล็กเคลื่อนที่’ หรือ Moving Magnet (MM) แต่หากสุดยอดกันจริงๆแล้วก็ต้องรองรับได้กับการขยายสัญญาณจากหัวเข็มแบบ ‘ขดลวดเคลื่อนที่’ หรือ Moving Coil (MC) ที่สามารถปรับค่าอิมพีแดนซ์และค่าคาปาซิแตนซ์ได้อย่างละเอียด เพื่อให้ได้มาซึ่งสมรรถนะของหัวเข็มที่นำมาใช้งานได้อย่างเต็มที่

 

ซึ่งว่ากันว่าเกือบครึ่งหรือกว่า 1 ใน 3 ของต้นทุนการผลิต จะเป็นราคาค่าตัวของภาคขยายสัญญาณหัวเข็มนั่นเลยเชียวแหละ เพราะต่างก็แข่งขันกันในเรื่องค่า “ความแม่นยำ” ของการตอบสนองช่วงความถี่เสียงตามมาตรฐานของ RIAA (RIAA response accuracy) ว่าใครจะทำได้เบี่ยงเบนไปน้อยที่สุด ซึ่งเคยถือกันว่าหากเบี่ยงเบนไปเพียง -/+ 1 ดีบีก็นับว่า เจ๋งสุดๆระดับจ้าวยุทธจักรกันแล้วเมื่อสมัยยี่สิบ-สามสิบปีที่ล่วงมา

 

การออกแบบภาคขยายสัญญาณหัวเข็มจึงนับเป็นเรื่องที่ต้องโชว์ฝีมือกัน ด้วยว่า ในการบันทึกแผ่นเสียงนั้นเขาจะตัดกรองเอาช่วงความถี่ต่ำๆทิ้งไป เพราะร่องแผ่นเสียง (groove) นั้นขนาดของมันไม่สามารถรองรับกับขนาดความยาวช่วงคลื่นของความถี่ต่ำๆได้ ในขณะที่ค่าความถี่สูงๆก็จะถูกขับเน้นขึ้นไป เพื่อให้มีขนาดอันเหมาะสมกับร่องแผ่นเสียงและการทำงานของหัวเข็ม ตามที่มีมาตรฐานของ RIAA (Record Industries Association of America) กำหนดไว้

 i

ซึ่งเมื่อการตัดช่วงความถี่ต่ำทิ้ง และยกช่วงเสียงสูงให้มากขึ้น จำเป็นต้องกระทำในขั้นตอนการตัดแผ่น และก็จำเป็นต้องใช้วิธีการกลับกันในขั้นตอนเล่นกลับ-รับฟังเสียง ด้วยการกดช่วงเสียงสูงให้ลดลงมา ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างช่วงความถี่ต่ำนั้นขึ้นมา อย่างที่ “RIAA” ได้กำหนดไว้ก็จริง แต่สิ่งหนึ่งที่ถือว่า ท้าทายแนวคิดของนักออกแบบวงจรภาคขยายสัญญาณหัวเข็ม หรือ phono stage มันอยู่ตรงที่ว่า ใครจะทำให้ได้มาซึ่งเสียงที่ใกล้เคียงของจริงกว่ากัน ทั้งนี้ทั้งนั้นใครจะออกแบบตรงจุดนี้ได้ดีกว่ากัน …มันก็เป็นเคล็ดลับเฉพาะครับ

 

เมื่อเราเล่นแผ่นเสียงหัวเข็มจะครูดไปตามผนังร่องแผ่นเสียงทั้ง 2 ข้างเกิดเป็นสัญญาณไฟฟ้าที่มีแรงดัน (Voltage) อ่อนมาก 2 แชนแนลขึ้นมา (แชนแนลซ้าย และแชนแนลขวาในระบบเสียงสเตอริโอ) ส่งต่อให้กับภาคขยายสัญญาณหัวเข็มเพื่อทำหน้าที่ขยายแรงดันไฟฟ้าที่อ่อนมากนั้นให้แรงขึ้น ทั้งยังต้องทำการอิควอไลซ์ (equalizing) สัญญาณที่ได้นั้นให้มีความถูกต้องสมานเสมอกัน อย่างที่เรียกกันว่า “Flat” (ตรงตามมาตรฐานที่กำหนดของ RIAA) ด้วยการ “สร้าง” สัญญาณความถี่ต่ำขึ้นมาเสริม พร้อมๆกับ “กด” สัญญาณความถี่สูงลงไปอย่างพอเหมาะพอสม นี่แหละคือประการสำคัญอันเป็นที่สุดสำหรับหน้าที่ของวงจรภาคขยายสัญญาณหัวเข็ม (phono stage)

ดังนั้นผู้ออกแบบปรีแอมป์ หรือ อินติเกรตแอมป์จึงต้องมีความรู้-ความเชี่ยวชาญในเรื่องของ RIAA อย่างดีด้วยเช่นกัน เพื่อให้การเล่นแผ่นเสียงนั้นได้มาซึ่งคุณภาพเสียงที่ดีเยี่ยม ภายใต้ความถูกต้อง-แม่นยำตรงตามมาตรฐานสากล ซึ่งในยุคแผ่นเสียงเฟื่องฟูนั้น นักออกแบบปรีแอมป์ หรือ อินติเกรตแอมป์จึง “แข่งขัน” กันที่จะสร้างภาคขยายสัญญาณหัวเข็ม หรือ phono stage ที่ดีมากๆ บรรจุไว้ในตัว เพื่อสร้างแรงจูงใจในการซื้อหา

 

ซึ่งดูเหมือนว่า Dave Spiegel จะมีแนวคิดที่แตกต่างจากใครๆในยุคนั้น ด้วยการออกแบบวงจรภาคขยายสัญญาณหัวเข็ม (phono stage) ในปรีแอมป์รุ่น 511 ของ AGI ให้เป็นแบบ High speed circuit โดยมีค่าความฉับไวในการตอบสนองต่อสัญญาณฉับพลัน อย่างที่เรียกกันว่า ค่าสลูว์เรท (Slew Rate) นั้นได้ “สูงมากๆ” อย่างไม่น่าเชื่อ ถึง 250v/microsec. นั่นเลยทีเดียวเชียวละ อีกทั้งเขายังออกแบบให้ phono stage นี้มีช่วงตอบสนองความถี่สัญญาณที่กว้างขวางมากเป็นพิเศษเกินหน้าใครๆในยุคนั้นเช่นกัน โดยสามารถขึ้นไปสูงได้ถึง 50MHz หรือกว่านั้น ในแบบฉบับของ ultra-wide bandwidth

 

ทว่า AGI Model 511 นั้นออกจำหน่ายในช่วงประมาณปีค.ศ.1978 – 1980 เรื่องของ ultra-wide bandwidth จึงเป็นความล้ำยุคล้ำสมัย มีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้นในขณะนั้นที่สามารถบรรลุสู่แนวทางนี้ และล้วนแล้วแต่มีราคาจำหน่ายที่สูงกว่า “AGI Model 511” นี้หลายเท่าตัว “AGI Model 511” จึงได้รับการขนานนามอย่างยกย่องว่า “Poor Man’s Mark Levinson” หรือ Mark Levinson ของคนเบี้ยน้อยหอยน้อย….

 108255704814-IMG_3792

                Dave Spiegel ก่อตั้ง AGI (Audio General Inc.) ขึ้นมาในปีค.ศ.1975 แต่ทว่า-ทำคลอด-เจ้า “Model 511” ออกมาเป็นเวอร์ชั่นแรกในปีค.ศ.1978 แล้วก็มี “Model 511A” ออกมาประมาณปีค.ศ.1980 แต่ทว่าทั้งสองเวอร์ชั่นดูไม่มีความต่างอะไรเป็นจุดสังเกตได้จากรูปลักษณ์ภายนอก ทั้งนี้ทั้งนั้น Dave Spiegel ออกแบบ “AGI Model 511” ด้วยการใช้แนวคิดหัวก้าวหน้า ไม่ยึดติดในหลักคิดเดิมๆ จากความที่เขาเป็นวิศวกรทางด้านอวกาศ (Aerospace engineer) สิ่งที่เขาออกแบบ-สร้างจึงต้องมั่นใจได้อย่างสมบูรณ์แบบ อะไรต่อมิอะไรที่เขาเลือกใช้จึงต้องเชื่อถือได้สูงมาก ระดับ aerospace standards นั่นเลยเชียวละ ว่ากันว่า “AGI Model 511” ได้ถูกจำหน่ายออกไปมากกว่า 5,000 เครื่อง ซึ่งคาดกันว่า น่าจะเกินกว่าครึ่งถูกสั่งซื้อไปขายในดินแดนอาทิตย์อุทัย – คนญี่ปุ่นนั้นถูกอกถูกใจใน “AGI Model 511” เป็นอันมาก ด้วยว่า ราคาไม่แรง แต่สามารถแซงทางโค้งปรีแอมป์แพงๆได้สบาย

 

นับเป็นปริศนาอยู่เหมือนกัน ว่าทำไม Dave Spiegel จึงสามารถสร้างสรรค์ “AGI Model 511” ได้เยี่ยมยอดถึงปานนั้น ในขณะที่ราคาจำหน่ายกลับสวนทางกัน มิได้พุ่งพรวดพราดอย่างที่บรรดาแบรนด์ไฮ-เอ็นด์นิยมกัน ทั้งๆที่ถ้าเปิดเข้าไปดูอุปกรณ์ที่ใช้ภายในเครื่อง “Model 511” แล้วไซร้ ล้วนแล้วแต่ไม่เป็นสองรองใครเขาเลยจริงๆ นับตั้งแต่แผงวงจร หรือ PCB ก็เป็นแบบที่ดีที่สุดในช่วงยุคปี’75 จะพึงมี ไปจนถึงเรื่องของเกรดอุปกรณ์ต่างๆ ที่ล้วนเลือกใช้ระดับ Military Specification และผ่านการคัดสรรอย่างพิถีพิถัน จึงแน่นอนว่า ต้องมีสมรรถนะและค่าความแม่นยำที่เที่ยงตรงมากๆ (High Accuracy) เพราะอย่างน้อยๆก็ต้องดีพอจะตอบสนองต่อช่วงการทำงานในแบบ ultra-wide bandwidth จนส่งผลให้ “Model 511” มีค่าความผิดเพี้ยนทางเสียงในทุกประเภทที่ตำมากๆจนแทบวัดออกมาไม่ได้เอาเลยทีเดียว

 

จากนั้นอุปกรณ์ใช้งานต่างๆจะถูกจัดเรียงเสียบต่ออยู่กับแผงวงจรใหญ่ หรือ Mother board ในแบบ plug-in system ที่ขั้วเสียบต่อนั้นชุบเคลือบทองอย่างดี นี่คืออีกหนึ่งความก้าวหน้าอย่างมากในการออกแบบของ Dave Spiegel ยิ่งกว่านั้น Dave Spiegel ยังได้ออกแบบให้ “Model 511” มีค่าโหลดความต้านทานการจ่ายสัญญาณค่าออกที่ต่ำมากๆ (Low output load impedance) ทำให้ “Model 511” ไม่ได้รับความแปรผัน หรือ ส่งผลกระทบต่อเพาเวอร์ แอมป์ที่ทำงานร่วมกับมัน พูดง่ายๆว่า “ไม่เกี่ยงแอมป์” นั่นแหละ ซึ่งนี่เองที่ทำให้ “Model 511” สามารถให้คุณภาพเสียงที่โดดเด่นและคงเส้นคงวาไม่ว่าจะนำไปใช้เข้าคู่กับแอมป์อะไร จะเป็นเครื่องหลอดฯ หรือ โซลิด-สเตทก็ตาม

 

ด้วยราคาจำหน่ายที่ต่ำมากในยุคสมัยนั้น (เพียงแค่ไม่ถึง 500 ยู.เอส.ดอลล่าร์) ทำให้ (Audio General Inc.) หรือ AGI ของ Dave Spiegel ประสบปัญหาด้านการเงินจนมิอาจฝืนดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แบรนด์ “AGI” จึงเงียบหายไปจากวงการอย่างน่าเสียดายในช่วงยุค’80 และทำให้ “Model 511” กลายเป็นผลิตภัณฑ์เพียงหนึ่งเดี่ยวโดดๆ (ไม่มีผลิตภัณฑ์อื่นใดอีก) ตลอดระยะเวลาดำเนินกิจการของ AGI ที่สร้างชื่อลือเลื่องในเรื่องของสมรรถนะและคุณภาพเสียงอันยอดเยี่ยมเกินราคา ขนาดว่า J. Peter Moncrieff แห่ง International Audio / Video Review ยังได้ระบุไว้ว่า “this is the only product made that has ever challenged the residual noise floor of our test equipment”. และแม้กระทั่ง The Absolute Sound ยังจัดอันดับให้ “AGI Model 511” เป็นหนึ่งใน 12 most significant preamps of all time

 731899ReparationAgi51110112012

สมรรถนะทางเสียง

แน่นอนว่า วงจรภาคขยายสัญญาณหัวเข็ม (phono stage) ในปรีแอมป์รุ่น 511 ของ AGI นี้ คือความโดดเด่นอย่างที่สุด ดังนั้นใครที่โปรดปรานการรับฟังแผ่นเสียง จึงควรหา “AGI Model 511” มาใช้งาน พยายามหาสภาพแจ๋วๆที่ยังคงความเป็น Original (ยังไม่ถูกปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ หรือ โมดิฟายด์) แล้วคุณจะรู้ว่า เสียงจากหัวเข็มที่คุณเล่นอยู่นั้นให้อะไรที่ซ่อนเร้นอยู่ในร่องเสียงได้เฉียบขาดมาก เพียงแต่ว่า ถ้าคุณกำลังเล่นหัวเข็มแบบ MC อยู่ ก็ต้องหา SUT (Step-Up Transfomer) มาต่อคั่นก่อนที่จะเสียบต่อเข้ากับเจ้า “Model 511” เนื่องเพราะ วงจรภาคขยายสัญญาณหัวเข็มของ “Model 511” นั่นเป็นแบบ MM นะครับ ที่ให้เกนขยายความแรงสัญญาณที่ระดับ 33.0dB (±0.25dB) และมีค่าเบี่ยงเบน RIAA น้อยกว่า ±0.25dB และค่าสัดส่วนสัญญาณต่อเสียงรบกวนดีกว่า 88dB โดยมีค่าโหลดความต้านทานขาเข้าอยู่ที่ 47 กิโลโอห์ม

 

“AGI Model 511” ส่งมอบลักษณะเสียงที่เป็นละอองโปร่งลอย (spacious) สามารถถ่ายทอดลักษณะ “น้ำเสียงจำเพาะ” เฉพาะตัวของสรรพเสียงนั้นๆ (timbre) ได้อย่างถูกต้องสมจริง เฉพาะอย่างยิ่งเครื่องดนตรีอะคูสติก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรีดีด-สี-ตี-เป่า อย่างเสียงไวโอลิน เสียงกีต้าร์ เสียงสลอซอซึง เสียงแซกโซโฟน เสียงขลุ่ย เสียงโอโบ เสียงเปียโน เสียงระนาด เสียงฉิ่งฉาบ เสียงเหล็กสามเหลี่ยม ฯลฯ ล้วนถูกบ่งบอก “บุคลิกเสียง” ของเครื่องดนตรีชิ้นนั้นๆออกมาได้อย่างแม่นยำ ให้ความน่าฟังยิ่งนัก

 

คุณลักษณ์ทางเสียงโดยรวมของ “AGI Model 511” มีความกลมกลืนกันของเสียงทุ้ม-กลาง-แหลมอย่างสมดุล จนทำให้เรารู้สึกเคลิบเคลิ้มเพลิดเพลินจำเริญใจตลอดเวลาของการรับฟัง หยิบจับแผ่นนี้แผ่นนั้นแผ่นโน้น… มาเปิดฟังติดต่อกันได้เรื่อยๆไป ช่วงย่านเสียงต่ำนั้นให้ความลึกล้ำ มีน้ำหนัก และเรี่ยวแรงกระแทกกระทั้น ควบคู่ความฉับไวในจังหวะจะโคน พร้อมด้วยความไหลลื่นในไดนามิดเสียง ทั้งยังทอดตัวลงไปได้ลึกมาก

 C-AGI511-2

ในขณะที่ช่วงย่านเสียงสูงก็ปลอดโปร่ง สดใส ไม่โฉ่งฉ่าง ให้ความกังวานของหางเสียงที่ยาวไกลไปสุดกู่ อีกทั้งสามารถจำแนกแยกแยะลักษณะเสียงได้แม่นยำ และยังสามารถบ่งบอกความก้องสะท้อนแผ่วเบาของสภาพอะคูสติค รวมถึงลักษณะมวลบรรยากาศอบอวลภายในคอนเสิร์ต ฮอลล์ได้อย่างสมจริงมาก เสียงก้องสะท้อนเล็กๆน้อยๆถูกบ่งบอกออกมาหมดจด เสียงขยับปรับเลื่อนเก้าอี้ เสียงพลิกกระดาษ เสียงสูดลมหายใจ-ถอนใจก็รับฟังได้ถนัดชัดเจน

 

ความฉับพลันทันใดของสรรพเสียงนับเป็น “จุดเด่น” ที่ “AGI Model 511” ทำได้อย่างน่าประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นการรับฟังจากเพลงร็อกที่ท่วงทำนองเร่งเร้า ดุดัน หรือจากเพลงคลาสสิกที่กำลังประโคม โหมกระหน่ำ “AGI Model 511” ให้เสียงที่เต็ม-แน่น ไม่มีอ่อนแรง หรือ พร่ามัว แม้ในยามที่สารพัดชิ้นดนตรีประโคมโหมกระหน่ำจากบทเพลง 1812 Overture ของ Tchaikovsky นอกจากนี้ “AGI Model 511” ยังส่งมอบ “ความเป็นดนตรี” ออกมาได้อย่างสมจริง เป็นเสียงที่ให้ความน่าฟัง ฟังแล้วเป็นสุข ปลอดโปร่งสบายใจ คลายความเครียด เปี่ยมด้วยความฉับไวในการนำเสนอต่อทุกสรรพเสียงที่ได้รับฟัง

 

“AGI Model 511” จะทำให้คุณต้องอึ้ง… และทึ่ง… กับการรับรู้ได้ถึงความเป็น 3 มิติของสภาพเวทีเสียง (soundstage) ที่ครบถ้วนทั้งด้านกว้าง ด้านสูง และความลึก สามารถสัมผัสรับรู้ได้ถึงการแผ่กว้างของเสียงที่แทบจะโอบล้อมตัวเรา รวมถึงระดับความสูงของเสียงที่มิได้จำกัดอยู่เพียงแค่ไม่เกินความสูงของตู้ลำโพง และความลึกที่ให้การรับรู้ว่า ถอยเข้าไปหลังแนวตำแหน่งตั้งวางลำโพงอย่างเป็นแถว-ชั้น (Layered) มีระยะห่างชัดเจน ….ลองหาโอกาสรับฟังเจ้า “AGI Model 511” ให้ได้สักครั้ง แล้วคุณจะพบกับ “ความแตกต่าง” จนอาจกลายเป็นความประทับใจไม่รู้ลืม !!

model511

สรุปส่งท้าย

ภายใต้ขนาดตัวเครื่อง 354x132x243 ม.ม. (กว้างxสูงxลึก) และน้ำหนัก 6 กก. ของ “AGI Model 511” นี้ นี่คือ SS หรือ Solid-State Preamp นะครับ มิใช่เครื่องหลอดฯ แต่สามารถส่งมอบคุณลักษณ์ทางเสียงที่ใกล้เคียงความเป็นหลอดฯ (Tube sound) อย่างมากๆ “AGI Model 511” ให้เสียงที่อบอุ่น มีตัวตน มีมิติอันแน่นอนมั่นคง ช่วงการตอบสนองความถี่เสียงกว้างขวาง ไร้อาการบีบรัดการแผ่ขยายของเสียง ฟังแล้วได้ความปลอดโปร่ง สบายใจ ให้ทั้งความนวลเนียน และละมุนละไม รายละเอียดเสียงที่เต็มเปี่ยมด้วยรายละเอียดระยิบระยับ เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงย่านเสียงกลาง-สูงนั้นต้องยอมรับว่า”เยี่ยมยอดมาก” สมบูรณ์พร้อมด้วยความละเมียด ละไม หางเสียงที่พละพลิ้ว และกังวานทอดยาวไกล ให้ความมีชีวิตชีวามีตัวตนอันสมจริง

 

 

หมายเหตุ :- …มีคนจำนวนไม่น้อยที่มักจะพูดว่า “เครื่องเก่า” นั้น มันตกสเปคฯ ไม่น่าเล่น, เชย หรือ ตกยุค, เสี่ยงต่อความเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ใช้งาน อันอาจนำพามาซึ่งความเสียหาย (อย่างร้ายแรง) ต่อซิสเต็มที่ใช้งาน, ซื้อมาใช้งานก็ไม่มีการรับประกัน (warranty) แต่อย่างใด หนำซ้ำเมื่อเครื่องเสียเพราะหมดอายุการใช้งาน อาจหาอะไหล่มาเปลี่ยนใหม่ไม่ได้ด้วยซ้ำไป – อะไรทำนองนั้น ซึ่งเหล่านั้นก็เป็นความจริง – แต่มันจริงเพียงส่วนเดียว เพราะหากพินิจ-พิจารณาไคร่ครวญดูดีๆอย่างมีเหตุผล จะพบว่า “เครื่องเก่า” ที่เขาเล่นกันนั้น มันเป็นเครื่องในระดับไฮ-เอ็นด์ในยุคสมัยนั้นทั้งสิ้น ซึ่งกาลเวลาได้พิสูจน์ให้ประจักษ์แล้วว่า “ดีจริง” แม้จะผันผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน สมรรถนะและคุณภาพเสียงก็ยังเป็นที่น่าถวิลหา อีกทั้งคนที่ชื่นชอบใน “เครื่องเก่า” หรือ…การเล่นเครื่องเสียงแนววินเทจนั้น บางครั้งเรื่องของตัวเลขต่างๆที่ระบุไว้ในสเปคฯ มิได้ถูกนำมาคิด-พิจารณาเลยด้วยซ้ำ

 

“ความชอบ” นั้นมาจาก “เสียง” ที่ได้รับฟัง-เหนือปัจจัยใดๆทั้งสิ้น-ถ้าฟังแล้วบังเกิดความน่าหลงใหล  เพราะสิ่งที่ได้รับฟังจาก “เครื่องเก่า” มักจะ-แตกต่าง-อย่างที่ “เครื่องใหม่” ซึ่งทันสมัยกว่า ตัวเลขสเปคฯก็ดูดีกว่า อาจทำได้ไม่เท่า …ผู้คนจำนวนมากทั่วโลกจึงถวิลหา “เครื่องเก่า” ที่โด่งดังในอดีตมาครอบครอง บางเครื่อง-บางรุ่นที่ยอดนิยมจริงๆนั้นถึงกับ “แย่ง” กันก็มี ทั้งๆที่ “ราคา” นั้นสูงลิบลิ่ว ยิ่งกว่าราคาตอนแรกจำหน่ายด้วยซ้ำไป นั่นเพราะว่า “มันหายากส์” ไม่ค่อยจะมีใครยอม “ปล่อย” ออกมา แม้ว่า จะขายได้ราคาดีมากๆก็ตาม

 

…บางทีคนที่มุ่งโจมตี “เครื่องเก่า” อาจต้องหันมาพิจารณาตัวเองบ้าง… ใช้เหตุและผล มิใช่ความคิดส่วนตนเป็นเครื่องตัดสินถูก-ผิด เรื่องของ “ความชอบ” หรือ “ความถูกใจ” ของคนเรา มันอยู่เหนือเหตุ-ผลใดๆ …ปล่อยให้ “เขา “ คิดกันเองบ้างดีไหม เขาก็มี “สมอง” เช่นกัน กรุณาอย่าครอบงำ หรือ ชี้นำแบบชักใบให้เรือเสีย ประเภท “เชื่อผมเถอะ ผมเป็นใคร …ทำไมถึงไม่ไว้ใจในคำชี้แนะของผมล่ะ” อะไรทำนองนั้น เพียงเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน หรือ ของใครไม่กี่คน

 

…ลองกลับไปดูตัวเองซิว่า ตัวเองน่ะมีเครื่องเก่าตกรุ่นเก็บสะสมอยู่บ้างหรือเปล่า ? แล้วนำออกมาฟังอยู่ประจำ หรือไม่ ? ซึ่งถ้าไม่ชี้โกง หรือ โป้ปดจนติดเป็นนิสัย น่าจะซาบซึ้งดีว่า เสียงที่รับฟังจาก “เครื่องเก่า” นั้น มันให้อารมณ์ร่วมได้ขนาดไหน ถามใจตัวเองดูซิว่า จริงอ๊ะปล่าว….

 

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..