Facebook : Garoonchart Bukkavesa
การมาของเทคโนโลยียุค 5G ที่เร็วแรงนั้น ย่อมทำให้สัญญาณรบกวนต่าง ๆ นับวันจะมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคลื่น Wifi, Bluetooth ฯลฯ แน่นอนว่าย่อมทำให้มีการ “รั่ว” เข้ามารบกวนการทำงานของเครื่องเสียงมากเป็นลำดับ อันจะกลายเป็นบ่อเกิดของสัญญาณรบกวน คลื่นแม่เหล็ก ฯลฯ ในระบบ ส่งผลต่อ “คุณภาพเสียง” โดยตรง โดยเฉพาะเรื่องความสะอาด เสียงอาจขุ่นมัวลงไป
การแก้ไขปัญหานั้นมีหลายวิธีการแล้วแต่สูตรของแต่ละผู้ผลิต แต่บางเครื่องอาจมีการจัดการที่ไม่เพียงพอ เมื่อมีสัญญาณรบกวนในซิสเต็ม หากปล่อยไว้เฉย ๆ ให้สัญญาณรบกวนวิ่งไปมาระหว่างเครื่องต้นทางจนถึงลำโพง วนกลับไปกลับมากว่าจะเจอจุดที่ลงกราวน์ อาจทำให้ซิสเต็มทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ นักเล่นบางคนจึงเพิ่มอุปกรณ์เสริมพวกกล่องกราวด์ เพื่อดักจับคลื่นขยะที่มีมาเก็บกักไว้ ในตลาดกล่องกราวด์พวกนี้ภายในจะบรรจุด้วยแร่ธาตุจากธรรมชาติ เช่น แผ่นทองแดง ก้อนแร่ควอทซ์ ฯลฯ ซึ่งมีผลต่อตัวแปรรอบข้าง เช่น ความชื้น สภาพอากาศ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานอาจลดลง
Nordost ผู้ผลิตเส้นสายระดับโลก มีสำนักงานอยู่ที่ 93 Bartzak Drive Holliston, MA 01746 USA เว๊บไซด์ www.nordost.com เล็งเห็นปัญหานี้เช่นกัน จึงได้ผลิตกล่องกราวด์ในชื่อ Q Kore Ground Unit โดยระบุว่าภายในเป็นอุปกรณ์ที่คิดค้นเป็นพิเศษ ไม่ได้ใช้วัสดุธรรมชาติ จึงทำงานได้เต็มประสิทธิภาพไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม
ตัวที่ทดสอบครั้งนี้เป็นเซ็ท Nordost : QKore 3 ไปติดตามการใช้กันดีกว่าว่าลงกราวด์เพิ่มเติมจะได้ผลเพียงใดครับ
คุณสมบัติพิเศษ Nordost : QKore 3 และ QKore Wire
- ตัวกล่องเป็นอลูมิเนียม
- ขั้วกราวด์ของ WBT ชุบทอง 24K จำนวน 3 อัน
- สายกราวด์โครงสร้าง Micro Mono-Filament ขนาด 16 AWG เป็นทองแดง 99.9999% แกนเดี่ยวเคลือบเงิน
- สายกราวด์สามารถเลือกหัวด้านต้นทางได้ถึง 6 แบบ คือ male-XLR, female-XLR, BNC / RCA, RJ45, USB A และ USB B ส่วนด้านปลายทางเลือกได้ 2 แบบคือ spade, banana
- ออกแบบ และผลิตในสหรัฐอเมริกา
ลักษณะทั่วไป Nordost : QKore 3
Nordost : QKore 3 ตัวกล่องเป็นอลูมิเนียมกลึง สีเงินกัดเสี้ยน ดีไซน์เหมือนมีแผงประกบ 2 ข้าง ด้านหน้ามีสกรีน QKore มีน้ำหนักค่อนข้างมาก ภายในเป็นวงจรลิขสิทธิ์ของ Nordost ด้านหลังยึดน๊อตหลายตัว ขั้วกราวด์ของ WBT ชุบทอง 24K 3 อันติดตั้งกึ่งกลางแผงหลัง
สเปคของ Nordost : QKore 3
- ขนาดตัวเครื่องกว้าง 270 x สูง 80 x ลึก 200 มิลลิเมตร
- หนัก 13.55 ปอนด์
ลักษณะทั่วไป Nordost : QKore Wire
Nordost : QKore Wire ตัวสายจะแข็ง มีความตึงตัวสูง แต่สามารถค่อย ๆ ดัดให้เป็นทรงตามต้องการเพื่อแนบ / ลัดเลาะไปได้ มีฉนวนสีเขียวอ่อน ถ้าส่องไฟจะโปร่งแสงเห็นโครงสร้างภายใน
ในเซ็ทNordost : QKore 3 จะมีสายกราวด์ให้ 1 เส้น ถ้าต้องการสายกราวด์เพิ่มมากกว่านี้คุณสามารถสั่งทำสายเพิ่มได้โดยที่สามารถเลือกหัวด้านต้นทางเป็น male-XLR, female-XLR, BNC / RCA, RJ45, USB A และ USB B ส่วนด้านปลายทางเลือกได้ 2 แบบคือ spade, banana เรียกว่าครบถ้วนกระบวนความจริง ๆ
สเปคของ Nordost : QKore Wire
- ฉนวน Fluorinated Ethylene Propylene (FEP)
- โครงสร้าง Micro Mono-Filament
- ตัวนำ 1×16 AWG
- ชนิดของตัวนำ ทองแดง 99.9999% แกนเดี่ยวเคลือบเงิน
อุปกรณ์ร่วมทดสอบ Nordost : QKore 3
- แหล่งโปรแกรม ; Ayre : CX-7e, Tascam CD-RW901 MK II
- ปรีแอมป์ ; Parasound : JC2 BP
- เพาเวอร์แอมป์ ; Parasound : JC1
- ลำโพง ; Sonus Faber : Concerto Home
- สายสัญญาณ ; Western Eletric (RCA), Cardas : Golden Reference (XLR)
- สายลำโพง ; Kimber Kable : 8TC ขั้วต่อบานาน่าเป็น Monster : Power Connect 2
- สายไฟเอซี ; Shunyata Research : Anaconda Zitron, Hovland : Mainline (Marinco / Furutech), Elrod : Statement,
- ระบบไฟ ; ตัวกรองไฟ Perfect Power : HD-X one Super DC (2016) ปลั๊ก Wattgate : 381 (2 ตัว), Oyaide : R1 (3 ตัว), ฝาครอบเต้ารับ FIM : 308-1
- อุปกรณ์เสริม ; เซ็ท Nordost : QKORE GROUND UNIT SPECIFICATIONS ตัวดูดคลื่น Perfect Power : RFITrap RT-1 (4 ตัว) ชั้นวาง Audio Arts : Classic II, ชั้นหินแกรนิตเทียม ขาตั้ง Totem : T-4s, ที่รองสาย Acoustic Revive : RCI-3, Cable Elevator, Shunyata : Dark Field, Cardas : Multi Blocks, Cardas : Notched Myrtlewood Blocks ที่รองเครื่อง / ทิปโท Michael Tender Feet, JJ : Screw Cone ที่ทับเครื่อง ก้อนอิทธิเจ (8 ก้อน), VPI : HW dB-5 (4 ก้อน) อื่น ๆ Cardas : RCA Cap
- อุปกรณ์ควบคุมสภาพอคูสติก ; ASC Tube Trap 9”x4’, แผ่นซับเสียงสูตร RPG, XAV : G-Sap เบอร์ 1, เบอร์ 2, XAV : Trap + XAV : Base Trap, จิ๊กซอว์ PRS, Room Tune : Michael Green Audio + Echo Tune
ผลการลองฟัง Nordost : QKore 3
ก่อนจะเข้าเรื่องของ Nordost : QKore 3 ต้องบอกว่าผลิตภัณฑ์ Nordost : QKore ทั้งหมดมี 3 รุ่น คือ QKore 1, 3 และ 6 ซึ่งใช้งานไม่เหมือนกันซะทีเดียว
โดย QKore 1 จะออกแบบให้มีขั้วต่อกราวด์ 1 อัน แต่จะต้องเชื่อมไปยังปลั๊กลอยที่มีขั้วกราวด์ เช่น QBase ไม่ได้เชื่อมเข้าที่เครื่องโดยตรง หรือปลั๊กลอยอื่น ๆ ที่มีขั้วกราวด์ได้ ส่วน QKore 3 ออกแบบให้มีขั้วต่อกราวด์ 3 อัน รองรับการใช้งานได้ 3 เครื่อง และ QKore 6 ออกแบบให้มีขั้วต่อกราวด์ 6 ขั้วอันแรกเชื่อมไปยังปลั๊กลอยที่มีขั้วกราวด์ ขั้วที่ 2-3 เชื่อมเข้ากับเพาเวอร์แอมป์โมโนบล๊อค ขั้วที่ 4-6 เชื่อมกับเครื่องได้สูงสุด 6 เครื่อง
ตัวทดสอบ Nordost : QKore 3 นั่นหมายถึงเสียบได้ 3 เครื่อง ในชุดจะมีสายกราวด์ที่เรียกว่า Nordost : QKore Wire แบบด้านต้นทางเป็น RCA ปลายทางเป็นบานาน่า 1 เส้น
การติดตั้ง ไม่ยากเลย หาที่เหมาะ ๆ วางตัว Nordost : QKore 3 ทางผู้ผลิตแนะนำออปชั่นเสริม คือ ทิปโทจากทางค่ายเอง ที่เรียกว่า Sort Kone มี 3 รุ่นคือ AC, BC และ TC
ตอนแรกผมวางบนแผ่นไม้เพื่อยกลอยเหนือพื้น จากนั้นนำสายกราวด์เชื่อมต่อระหว่างเครื่องต่าง ๆ ซึ่งผู้ผลิตกำหนดด้านต้นทาง / ปลายทางไว้แล้ว ไม่มีการต่อผิดทิศทางแน่นอน และในคาบสุดท้ายลองใช้ทิปโท Sort Kone (AC) ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพเสียงได้อีกขั้น
สายกราวด์ Nordost : QKore Wire จุดสำคัญในการใช้คือ ควรลองไล่เสียบไปที่ขั้วต่อแต่ละจุด เพื่อจูนหาจุดที่ดีที่สุด ซึ่งไม่สามารถบอกได้เลยว่าเป็นจุดไหน / ช่องไหน
นอกจากนี้ค่อย ๆ อัพเกรดซื้อสายกราวด์เพิ่มอีก 2-5 เส้น!! แล้วแต่ความใหญ่ของซิสเต็ม ถามว่าทำไม ต้องเพิ่มถึง 5 เส้น เพราะแทนที่จะเป็นแบบ 1 จุดต่อ 1 เครื่อง เพิ่มเป็นแบบ 1 จุดต่อ 2 เครื่อง และ Nordost : QKore 3 มีขั้วต่อกราวด์ 3 อัน เราสามารถเพิ่มจุดต่อกราวด์ใช้งานได้ถึง 6 เครื่องนั่นเอง (ถ้าซิสเต็มใหญ่พอ) ถ้าใครเอาสุดๆ ซื้อ Nordost : QKore Wire เพิ่มตามจำนวนเครื่องได้เลย
ครั้งนี้ทาง Deco2000 ได้ให้สาย Nordost : QKore Wire เพิ่มมาอีก 2 เส้น โดยเป็นแบบต้นทางหัว XLR ปลายทางเป็นก้ามปู ทำให้ผมได้ลองใส่เต็มระบบ 3 เส้น มีโอกาสสลับฟังได้เต็มที่ขึ้น
ผมแนะนำดังนี้ สำหรับเครื่องเล่นซีดี ลองเสียบช่อง Digital Out กรณีไม่ต่อ DAC ภายนอก ส่วนปรีแอมป์เลือกตามสะดวก เพราะมีขั้วต่อค่อนข้างเยอะ ยกเว้นบางตัวที่มีขั้วต่อจำกัด เช่น มี 2 ชุดและใช้งานทั้งหมด แบบนี้จะลำบากหน่อย ขณะที่เพาเวอร์แอมป์ปกติส่วนมากจะมีช่องต่อแค่ชุดเดียว จึงไม่มีจุดให้ต่อ หรือบางเครื่องขั้วต่อ RCA / XLR ต่อเชื่อมกันอยู่ การนำสายกราวด์ไปพ่วงจะไม่ดี
นอกจากนี้ ถ้าคุณมี DAC หรืออินทิเกรตแอมป์รุ่นใหม่ที่มีขั้ว BNC, RJ45, USB A และ USB B แต่ไม่ได้ใช้งาน อาจลองพิจารณาเลือกสายกราวด์ที่มีหัวต่อแบบ RJ45, USB A และ USB B เพิ่มเติมเข้าไป ซึ่งการลงกราวด์ในจุดนี้อาจทำให้เสียงดีขึ้นไปได้อีก เพราะระบบดิจิตอลค่อนข้างอ่อนไหวเรื่องกราวด์ไม่น้อย
อย่างผมเองลองต่อสายกราวด์ Nordost : QKore Wire เส้นแรกจากเครื่องเล่นซีดี ช่อง Digital (AES/EBU) ขาเข้า สาย Nordost : QKore Wire เส้นที่ 2 จากปรีแอมป์ ช่อง Analog XLR ขาออก ปลายทางลากมาที่ Nordost : QKore 3 ลองฟังดู ผมคิดว่าสุ้มเสียงโดยรวมนั้นหลัก ๆ เหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่มีความสงัดขึ้น ม่านหมอกหายไป และทำให้เสียงทุ้ม / กลาง / แหลม นั้นดีขึ้น! เสียงทั้งหมดเชื่อมโยงถึงกัน แหลมนั้นสะอาด สุกสกาวขึ้น หางเสียงทอดตัวดี เสียงกลางย้ำหนักเบามีรายละเอียดดีขึ้น เบสนั้นทิ้งตัวได้ดี ไม่อั้นใด ๆ ลองจากแผ่นประจำ เช่น Rain Forest Dream (Saydisc CD-SDL 384), The Wonderful Sound of Three Blind Mice (Golden String GSCD004), Gift : The Finger Style (GMM G 0554023) และซาวด์แทรค Toys (Geffen Records GEFD 24505)
คิดไปเองหรือเปล่า? ผมลองถอดสายกราวด์เส้นที่ 2 จากปรีแอมป์ ช่อง Analog XLR ออกไป แล้วฟังซ้ำ พบว่าเสียงทั้งหมดดูสดพุ่งขึ้น ในความรู้สึกชัดแต่ “มาก” เกินไป ต้องนำสายกราวด์ที่ถอดออกกลับมาต่ออีกที เสียงจึงกลมกล่อมน่าฟังเหมือนเดิม
ผมยังมีสาย Nordost : QKore Wire เหลืออีกเส้นเป็นหัว RCA เลยต่อจากเครื่องเล่นซีดี ช่อง Analog ผลการต่อสายกราวด์ 3 เส้น! เสียงดูลงตัวขึ้นอีกนิด ทุกอย่างดีไม่ชัดเกินไป ไม่ทึบ ไทมิ่งดี จังหวะไม่เร่งหรือลดจากเดิม พื้นเสียงสะอาด มีความเป็น 3 มิติที่ดี น่าพอใจมากครับ
ทริคในการเล่น Nordost : Qkore 3
ท่านที่ตัดสินใจซื้อมาแล้ว **การลองไล่เสียบไปที่ขั้วต่อแต่ละจุด เพื่อจูนหาจุดที่ดีที่สุด** เป็นเรื่องที่ควรกระทำ เพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพสูงสุด ยกเว้นการเสียบบางเครื่อง / บางกรณี (เช่นเครื่องที่มีกราวด์ลอย Floating Ground-จะมีระบุไว้ชัดเจน) อาจเกิดปัญหากราวด์ลูปได้ ลองปรึกษากับผู้แทนฯ ให้ชัดเจนก่อน** คุณสามารถเพิ่มสาย Nordost : QKore Wire เข้าไปเพื่อเชื่อมกราวด์ได้สูงสุดถึง 6 เครื่องสำหรับ Nordost : QKore 3 นี้ น่าจะคุ้มยิ่งขึ้นสำหรับท่านที่มีเครื่องเยอะ
นอกจากนี้ยังมีออปชั่นเสริมคือ มีทิปโท Sort Kone ที่ออกแบบมาสำหรับรองใต้ Nordost : QKore 3 โดยเฉพาะ เพื่อให้ตัว Nordost : QKore 3 เป็นอิสระ ลอยอยู่กลางอากาศ ถ้าวางบนพื้นจะโดนโครงสร้างของบ้านรบกวนได้ เมื่อยกลอยจะไม่สั่นไหว ไม่ถูกรบกวนใด ๆ อีกต่อไป
บทสรุป Nordost : QKore 3
Nordost : QKore 3 สามารถอัพเกรดซิสเต็มได้น่าทึ่ง ม่านหมอกที่มีจะถูกดึงลงไปที่ตัวกล่อง ทำให้พื้นเสียงสะอาด ขณะที่โทนัลบาลานซ์ไม่เปลี่ยนแปลง มีอย่างที่ควรจะมีนั่นเอง แม้ค่าตัวจะสูงอยู่แต่ลงทุนครั้งเดียวใช้ได้ตลอดไป สำหรับท่านที่มีปัญหาเรื่องกราวด์ การเปลี่ยนสายสัญญาณ สายไฟ สายลำโพงที่มีกระเปาะ มีตัวปล่อยกระแสไฟ อาจเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ถ้าเข้าใจในจุดนี้แล้วหาทางป้องกันตั้งแต่ต้นทาง ช่วยให้สัญญาณรบกวนที่เกิดจากเครื่องเล่นที่อยู่ในระบบจะถูกดักลงกล่องกราวด์ไปโดยไม่ต้องวนลูปอยู่ในระบบอีกต่อไป ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง และเหมาะสมที่สุดครับ
ขอขอบคุณ บริษัท เดโค 2000 จำกัด โทร. 089 870 8987 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับการทดสอบในครั้งนี้