New (Music Of) Hikari Ōe (โอเอะ ฮิคาริ)

0

Mongkol Oumroengsri

แผ่นซีดีที่ผมจับมานำเสนอครั้งนี้ สำหรับผมแล้ว นี่คือ ผลงานเพลงอันยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นจากผู้ประพันธ์ดนตรีที่ไม่ธรรมดา มีความแตกต่างจากผู้ประพันธ์ดนตรีทั่วไปอย่างมากทีเดียว เนื่องเพราะ Hikari Ōe มีสภาพเป็นออทิสติก (autistic) ครับ และเป็นผู้พิการทางพัฒนาการ ซึ่งเมื่อตอนแรกเกิดนั้น แพทย์ได้พยายามเกลี้ยกล่อมพ่อและแม่ให้ปล่อยให้ลูกชายตาย…

Hikari Ōe ลืมตาดูโลกเมื่อ 13 มิถุนายน 1963 โดยมีสภาพ brain herniation มาแต่กำเนิด ซึ่งก็คือ –สภาวะสมองเคลื่อน- ที่ทางการแพทย์ถือเป็นภาวะร้ายแรงมาก ที่เกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อสมองเคลื่อนจากส่วนหนึ่งของสมอง ไปยังอีกส่วนหนึ่งที่อยู่ติดกันของสมอง ทำให้เกิดอาการบวมหรือความดันภายในสมองที่ก่ออันตรายขั้นรุนแรง …แต่จากความที่ทั้งพ่อและแม่ไม่สามารถปล่อยให้ลูกชายตายได้ จึงขอร้องให้แพทย์ทำการช่วยเหลืออย่างเต็มที่โดยการผ่าตัดสมอง ทำให้ Hikari Ōe รอดพ้นจากความตาย ทว่าก็ส่งผลให้สมองของเขาเสียหายและมีสภาพเป็นออทิสติก และแม้หลังการผ่าตัด Hikari Ōe ก็ยังคงมีความบกพร่องทางสายตา มีพัฒนาการที่ล่าช้า และมักจะเป็นโรคลมบ้าหมู รวมไปถึงการประสานงานทางกายภาพที่จำกัด เขาจึงพูดได้ไม่มากนัก

Hikari Ōe เป็นบุตรชายของนักเขียนนวนิยายชาวญี่ปุ่น Kenzaburō Ōe และ Yukari Ikeuchi ผู้ภรรยา เขาจึงเป็นหลานชายของผู้กำกับ Juzo Itami / พ่อ-แม่ของ Hikari Ōe เขียนบันทึกไว้ว่า การตอบสนองครั้งแรกของเขาต่อเสียงใดเสียงหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อเขาดูทีวีกับพ่อแม่ และมีเสียงนกร้อง ซึ่ง Hikari Ōe มีการสนองตอบ พ่อ-แม่ของเขาจึงรู้สึกทึ่ง จึงได้ซื้อแผ่นเสียงพร้อมเสียงนกร้อง โดยจะมีเสียงบรรยายชื่อนกแต่ละตัวก่อนที่เสียงนกร้องนั้นๆ จะดังขึ้น

ซึ่ง Hikari Ōe ก็ได้แสดงออกถึงความสนใจในการฟังแผ่นเสียงดังกล่าว …วันหนึ่งซึ่งเป็นวันหยุด Hikari Ōe เดินไปกับพ่อ-แม่ใกล้ๆ บ้าน แล้ว Hikari Ōe ก็ได้ยินเสียงนกร้อง จากนั้น Hikari Ōe ก็พูดเลียนแบบเสียงของผู้บรรยายที่นำเสนอชื่อของนกต่างๆ ในแผ่นเสียงที่ Hikari Ōe ได้ฟัง  ซึ่งนี่เองทำให้พ่อ-แม่ของ Hikari Ōe คิดถึงวิธีที่พวกเขาจะทำการรับสมัครครูมาสอนดนตรีให้กับ Hikari Ōe

พ่อ-แม่ของ Hikari Ōe ได้ตกลงให้ Kumiko Tamura มาเป็นครูสอนเปียโนให้แก่ Hikari Ōe ตั้งแต่อายุได้ 11 ขวบ …แต่แทนที่ Hikari Ōe จะพูด เขากลับเริ่มแสดงความรู้สึกสนองตอบต่อเสียงดนตรี และผ่านการประพันธ์เพลงคลาสสิก ซึ่งต่อมา Hikari Ōe ก็ได้รับการสอนโน้ตดนตรีให้ และแล้วในที่สุด Hikari Ōe ก็ได้สร้างงานดนตรีแชมเบอร์ (chamber music) ขึ้นมา ซึ่งได้รับการบันทึกเสียงและผลิตเป็นซีดีออกจำหน่ายในปี 1992 ผลงานทางดนตรีชุดแรกของ Hikari Ōe นี้มีชื่ออัลบั้มว่า Music Of Hikari Oe (Denon – COCO-75109) ที่ปรากฏว่า ขายได้มากกว่าหนึ่งล้านชุดในช่วงสอง-สามปีแรกของการจำหน่าย

Hikari Ōe ได้ออกอัลบั้มชุดที่สองในปี 1994 มีชื่ออัลบั้มว่า Music Of Hikari Oe 2 (Denon – CO-78953) ซึ่งก็มียอดจำหน่ายดีเช่นกัน แต่จากนั้น Hikari Ōe ก็มิได้ออกผลงานชุดที่สามตามออกมาอีก โดยว่างเว้นช่วงไปถึงเกือบสี่ปีด้วยกัน …ซึ่งซีดีแผ่นที่ผมหยิบมาแนะนำนี่แหละครับ คืออัลบั้มชุดที่สามของ Hikari Ōe ซึ่งมีชื่อชุดว่า New Hikari Oe (Denon – COCO-80835) และออกจำหน่ายในปี 1998

“New Hikari Oe” ได้ระบุชื่อนักดนตรีที่ร่วมบรรเลงในอัลบั้มชุดนี้ ดังนี้ :- Kyoko Tabe (P), Tomoko Kato (VN), Hiroshi Koizumi (FL), Kiyoshi Shomura (G), Chisato Ogino (P), Nobuko Yamazaki (VC), Ensemble Lumiere, Sei Kuwano Quartet Recording โดยมีบทเพลงทั้งสิ้น 28 เพลงด้วยกัน ส่วนใหญ่เป็นเพลงสั้นๆ หนึ่ง-สองนาทีโดยประมาณ ทว่าบทเพลงท้ายสุดนั้นกลับมีความยาวถึง 6:25 นาที (บทเพลงที่ 16 ก็มีความยาวถึง 4:31 นาที) แต่ในทุกเพลงที่รับฟังจะเป็นเพลงฟังง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ทว่าสะท้อนความรู้สึกในจิตใจของเขาออกมา แต่ละเพลงฟังเรียบๆ ลื่นไหล หากแต่ไม่ชุ่มชื่น ไม่หวานฉ่ำ ติดออกเศร้าๆ เหงาๆ …ฟังแล้วแทบจะไม่น่าเชื่อว่า นี่คือ ผลงานเพลงจากการประพันธ์ของคนที่เป็นออทิสติก

– ใช่ครับ แทบไม่น่าเชื่อ แต่ก็เป็นไปแล้ว …สมกับคำกล่าวที่คุ้นหูคนไทยมาเนิ่นนานว่า “ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก” ซึ่งอยู่ในเรื่อง “เวนิสวาณิช” พระราชนิพนธ์แปลในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จาก “The Merchant of Venice” ของ William Shakespeare โดยแท้ครับ เพราะก็ด้วยเสียงดนตรีนี่แหละที่ช่วยให้พัฒนาการของ Hikari Ōe ดีขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันได้ชื่อว่า นักประพันธ์เพลง หรือ composer

Kenzaburō Ōe ยกย่อง Hikari Ōe ผู้เป็นลูกชายของเขาว่า มีอิทธิพลต่ออาชีพวรรณกรรมของเขา ทั้งนี้ Kenzaburō เองก็พยายามให้ “เสียงพูด” (voice) ของ Hikari Ōe ผ่านงานเขียนของตนเอง โดยที่หนังสือของ Kenzaburō หลายเล่มมีตัวละครที่อิงจากลูกชายของเขา

ในปี 1994 Kenzaburō ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากหนังสือของเขาในปี 1964 เรื่อง A Personal Matter ซึ่ง Kenzaburō ได้เขียนบรรยายถึงความเจ็บปวดของเขาในการยอมรับเด็กที่สมองพิการเข้ามาในชีวิตของเขา และวิธีที่เขาบรรลุความตั้งใจที่จะอาศัยอยู่กับลูกชายของเขา ทั้งนี้  Hikari Ōe ก็โดดเด่นในหนังสือหลายเล่มที่คณะกรรมการโนเบลให้ความยกย่อง (A Personal Matter นับเป็นงานเขียนแบบซีรี่ส์ชุดแรกซึ่งบรรยายแง่มุมต่างๆ ของชีวิต Hikari Ōe)

ทุกวันนี้ Hikari Ōe ซึ่งมีไอคิววัดอยู่ที่ 65 มีความสามารถในการพูดที่จำกัด อายุจิตไม่ต่างจากเด็ก ทั้งๆ ที่เขามีอายุเกือบหกสิบปีแล้ว  และมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคลมบ้าหมูอยู่ตลอด กระนั้นการแต่งเพลงที่มีความเป็นผู้ใหญ่ (mature) และซึมซับในสำนวนคลาสสิกแบบตะวันตก ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลไปทั่วโลก รวมไปถึงนักสะสมที่ติดตามแผ่นซีดีผลงานเพลงของเขาอีกด้วย

ซึ่งนี่คือ บทพิสูจน์อันน่าทึ่งของจิตวิญญาณมนุษย์ การเผยความคิดสร้างสรรค์ของ Hikari Ōe ที่เกิดขึ้นได้จากการอุทิศตนอย่างเต็มที่ของ Kenzaburo ผู้บิดา บวกกับการดูแลเอาใจใส่อย่างต่อเนื่อง และเปี่ยมด้วยจินตนาการจาก Yukari Ikeuchi ผู้เป็นแม่ที่น่ายกย่อง

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกชื่นชมในวัฒนธรรมความเป็นญี่ปุ่นของทางสังกัด DENON ก็คือว่า DENON นั้นได้ลงทุนทำการบันทึกเสียงผลงานของ Hikari Ōe มาตั้งแต่ชุดแรกสุดด้วยกระบวนการเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ซึ่ง DENON เรียกขานว่า Master Sonic 20-bit recording เพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพการบันทึกที่ดีที่สุด มิใช่เพียงแค่การบันทึกแบบแค่ขอไปที หรือขอแค่ให้ได้สิทธิการบันทึกเสียงมาแค่นั้น ซึ่งจุดนี้ทำให้ผมมีความรู้สึกชื่นชมสปิริตตรงนี้มากๆ ทำให้ได้รับฟังคุณภาพเสียงของอัลบั้ม “New Hikari Oe”  นี้อย่างแจ่มชัด สดสะอาด …นอกจากนี้สำหรับผมแล้ว ขอบอกอีกนิดว่า DENON ยังได้สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมความเป็นญี่ปุ่นที่คนญี่ปุ่นจะให้ความเป็นพิเศษแก่คนญี่ปุ่นด้วยกัน นับถือและยกย่องความเป็นคนในชาติเดียวกันนี่แหละครับ